หากเป็นไปตามที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ลั่นวาจาไว้
สิ้นปีนี้ประเทศไทยจะได้สัมผัสประสบการณ์ความเร็วเหนือระดับกับเทคโนโลยี 3.9จี
โดย...ณัฐวรรณ ฉลองขวัญ
หากเป็นไปตามที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ลั่นวาจาไว้
สิ้นปีนี้ประเทศไทยจะได้สัมผัสประสบการณ์ความเร็วเหนือระดับกับเทคโนโลยี 3.9จี
หลังจากที่ 3จี ล่าช้าเกินความจำเป็นและทำให้ไทยเกือบตกขอบในภูมิภาคอาเซียน
ดังนั้น เมื่อ กทช. ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ทั้งที จึงถึงเวลาที่ไทยจะขยับจากรั้งท้ายก้าวสู่การเป็นผู้นำกับเขาบ้าง
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ หนึ่งใน กทช. ที่เป็นหัวหอกหลักรับผิดชอบเรื่องนี้ อธิบายถึงที่มาที่ไปของ 3.9จี ว่า
จริงๆ แล้วก็คือคลื่นความถี่เดียวกับ 3จี คือ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ เพียงแต่แทนที่จะติดตั้งอุปกรณ์ 3จี ก็อัพเกรดเป็น 3.9จี
ซึ่งกำลังเป็นเทคโนโลยีมาแรงในทั่วโลก และทำให้เม็ดเงินลงทุนถูกลง เนื่องจาก 3.9จี เร็วและแรงกว่า 3จี
การติดตั้งอุปกรณ์ตามสถานีฐานจึงไม่ต้องถี่มากเหมือน 3จี
การเปลี่ยนรูปแบบใบอนุญาตให้บริการ (ไลเซนส์) สู่ 3.9จี ครั้งนี้ ยังรวมถึงการจัดสรรช่วงคลื่นใหม่
จากเดิมที่ กทช. ชุดเดิมทำไว้ คือ ไลเซนส์ 4 ใบ แบ่งเป็น 15 เมกะเฮิรตซ์ 3 ใบ และ 10 เมกะเฮิรตซ์ 1 ใบ
ราคาเริ่มต้นที่ 5,200 ล้านบาท และ 4,600 ล้านบาท เป็นไลเซนส์ 3 ใบ ที่ 15 เมกะเฮิรตซ์เท่ากัน เพื่อให้เหมาะสมกับการพัฒนาเป็น 3.9จี
เพราะช่วงคลื่นเพียง 10 เมกะเฮิรตซ์ นั้นไม่เพียงพอ โดยราคาเริ่มต้นจะอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท
แม้จะถูกมองว่าราคาไลเซนส์ใหม่แพงกว่าถึง 2 เท่า แต่ พ.อ.นที กล่าวว่า การกำหนดราคานั้นไม่ได้เกิดขึ้นตามอำเภอใจของ กทช.
แต่อิงจากผลศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาถึง 4 บริษัท และพบว่าราคาไลเซนส์จะอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท หากเริ่มราคากลางที่ 86%
ราคาที่ประมูลได้จะเป็น 100% ซึ่งก็จะเท่ากับราคาที่ควรจะเป็นพอดี
จากราคาที่ค่อนข้างสูงนั้น กทช. แบ่งการจ่ายเงินเป็น 3 งวด สำหรับผู้ประมูลได้ คือ มัดจำก่อนได้ไลเซนส์ 50% และจ่าย 25% ในปีที่ 2
และอีก 25% หลังครบ 2 ปี ภายใต้ข้อกำหนดที่ว่า ผู้ที่ประมูลได้นั้นต้องเปิดให้บริการได้ในปีแรกของการประมูล
สามารถให้บริการครอบคลุม 50% ของประชากรได้ภายในปีที่ 2 และ 80% ภายในปีที่ 4 รวมทั้งต้องจ่ายค่าธรรมเนียมไลเซนส์ให้ กทช.
ในอัตราปีละ 4-5% ของรายได้
นอกจากนี้ ผู้ให้บริการที่ประมูลได้จะต้องเปิดให้ใช้โครงข่ายร่วมกันได้ (Infrastructure Sharing) ซึ่งจุดนี้เองจะเป็นจุดสำคัญ
ที่ทำให้หน่วยงานของรัฐอย่าง ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม ไม่ถูกทำลายให้ล้มหายตายจากไปจากอุตสาหกรรมนี้
หากทั้งสององค์กรรู้จักปรับตัวสู่การเป็นผู้ให้บริการโครงข่าย (Network Provider) ซึ่งส่งผลในเชิงบวกด้านรายได้
และความอยู่รอดของทั้งสองแห่งนี้อย่างแน่นอน
พ.อ.นที กล่าวอีกว่า ไม่เพียงแต่การออกไลเซนส์ 3.9จี เท่านั้นที่จะได้เห็นใน กทช. ชุดนี้ หากแต่ยังมีโครงการสำคัญๆ หลายเรื่อง
ที่ต้องเร่งผลักดัน คือ อินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง (ไวแมกซ์) บริการคงสิทธิเลขหมาย (นัมเบอร์พอร์ทิบิลิตี) และโทร.ในโครงข่าย
และนอกโครงข่ายอัตราเดียวกัน ซึ่งกำลังจะมีผลบังคับใช้แล้ว รวมไปถึงโฉมใหม่ของบริการสาธารณะแบบทั่วถึง (ยูเอสโอ)
ซึ่งที่ผ่านมาถูกตั้งข้อกังขาอย่างหนักว่า กทช. นำเงินส่วนนี้ไปขยายบริการให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลจริงๆ หรือถูกใช้ไปอย่างทิ้งๆ ขว้างๆ
กับการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมากมาย แต่ท้ายสุดผู้บริโภคก็ไม่เคยสัมผัสได้ว่า กทช. มีหน้าที่ทำอะไรบ้าง
“จะเห็นชัดเจนว่า กทช. ชุดนี้ขับเคลื่อนหลายอย่างรวดเร็วมาก เพราะล้วนแต่มีประสบการณ์มาแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเข้ามา
อย่างตัวผมเอง ท่านพนา ทองมีอาคม ก็เคยเป็นคณะอนุกรรมการวิทยุชุมชนและเคเบิลทีวีมาก่อน ส่วนท่านสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร
ก็เคยเป็นเลขาฯ จึงทำให้ทุกอย่างไปได้เร็วขึ้น ซึ่งทุกอย่างที่ กทช. ทำนั้นมีการศึกษาแล้วชัดเจน ไม่ใช่ทำเพราะไม่รู้ หรือไร้จิตสำนึก
และ กทช. ไม่ได้มีผลประโยชน์แอบแฝงจากสิ่งที่ทำ แต่ต้องการให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าได้เร็วกว่าเดิม” พ.อ.นที กล่าว
ส่วนกระแสในโลกโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กที่ว่า “มั่นใจว่าคนไทยเกิน 1 ล้านคน ต้องการให้ยุบ กทช.” พ.อ.นที ไม่ได้โกรธเคือง
หรือมีท่าทีใดๆ แต่กลับกล่าวติดตลกว่า
“ที่ผ่านมาคนไทยอาจยึดติดกับ กทช. ที่หมายถึง กูทำช้า แต่มั่นใจว่า กทช. ชุดใหม่นี้เป็นยุค กูทำชัวร์ และขอให้รอดูความเปลี่ยนแปลง
ที่เกิดขึ้นแบบติดจรวดใน 6 เดือนต่อจากนี้”
ที่มา :
http://www.posttoday.com/ดิจิตอลไลฟ์/โทรมือถือ/32505/าก3จีสู่3-9จีถึงเวลาประเทศไทยล้ำหน้ารอดูกันต่อไป!!!