รสชาติของชีวิต
ใครคนหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งคนไทยไปท่องฝรั่งเศส เข้าภัตตาคารและสั่งอาหารมาทาน เมื่อบริกรยกอาหารมาเสิร์ฟ คนไทยก็ควักเครื่องปรุงสารพัดที่เตรียมมาทำการปรุงรสเป็นการใหญ่
พ่อครัวฝรั่งเศสตะลึงและโกรธมาก บอกว่าอาหารที่เขาทำมาดีที่สุดแล้ว การใส่เครื่องปรุงโดยไม่รู้ความเป็นการทำลายรสอาหาร
เชื่อว่าพ่อครัวฝรั่งเศสคงไม่ได้โมโหคนกินที่ไม่รู้จักมารยาทและวัฒนธรรมของเขา แต่คงอยากตั้งคำถามว่า "รู้ไหมว่าอะไรคือรสชาติที่ดีที่สุด?"
พ่อครัวหลายคนไม่คิดว่าอาหารเป็นเพียงอาหาร แต่เป็นศิลปะด้วย ออกแบบทั้งหน้าตาและรสชาติอาหารมาเสร็จสรรพ
การปรุงรสก่อนกินจึงเป็นการดูถูกฝีมือของคนปรุง เหมือนกับการปรับสีผิวของ โมนาลิซา เพื่อตามใจความชอบของตนเอง หรือแต่งหน้ารูปปั้น เดวิด ให้มีเค้าไทยมากขึ้น
วัฒนธรรมการปรุงรสก่อนกินเป็นสิ่งที่ทำให้ผมทึ่งมานานแล้ว
พวกเขาตักพริกป่น 2-3 ช้อน น้ำตาล 2-3 ช้อน น้ำส้มหนึ่งช้อน ถั่วป่นอีกหนึ่งช้อน ปฏิบัติเช่นนี้กับอาหารแทบทุกเมนูโดยเท่าเทียมกัน ตั้งแต่ก๋วยเตี๋ยวน้ำใส เส้นหมี่ต้มยำ ไปจนถึงบะหมี่น้ำเป็ด ทำให้อดตั้งคำถามมิได้ว่า ไฉนแม่ครัวไม่ปรุงรสตามที่ลูกค้าส่วนใหญ่กระทำไปเสียเลย น่าจะช่วยประหยัดเวลาไปได้มาก
บางครั้งผมก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า พวกเขาชอบปรุงเพราะติดนิสัยปรุงรสก่อนชิม หรือเพราะความจำเป็น?
เนื่องจากปริมาณพริก น้ำตาล น้ำส้มสายชู ถั่ว มากเช่นนั้นกลบรสชาติดั้งเดิมของอาหารหมด หรือทำให้แยกความแตกต่างระหว่างรสชาติอาหารสองชนิดไม่ออก
ปรมาจารย์การครัวชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 Anthelme Brillat-Savarin เชี่ยวชาญการกินมากจนสามารถเอ่ยคำพูดว่า "บอกผมสิว่าคุณกินอะไร แล้วผมจะบอกว่าคุณเป็นคนยังไง" อาหารบ่งบอกที่มาของคนคนนั้น
ชีวิตก็เหมือนอาหาร บางช่วงจืด บางช่วงหวาน บางครั้งก็เค็ม เผ็ด
ทุกรสมีความหมายของมัน
เราไม่สามารถที่จะใช้ชีวิตทุกรสในเวลาเดียวกันได้ บางครั้งสุขด้วยรสหวานของรัก บางทีขมด้วยความผิดหวัง เค็มด้วยหยาดเหงื่อของความอดทน เผ็ดด้วยการทดลองทำสิ่งที่ไม่เคยกล้าทำมาก่อน
ชีวิตเป็นการปรับตัวไปตามสถานการณ์ ความสนุกอยู่ที่เราไม่รู้ว่ามีอะไรรอเราอยู่
การปรุงรสชีวิตก่อนก็เหมือนไม่ทันกินอาหาร ก็ปรุงรสเป็นการใหญ่
จะทำอะไรก็วางแผนว่าอย่างนั้นอย่างนี้ล่วงหน้านานเป็นปีๆ จะต้องเป็นเศรษฐีก่อนวัยสามสิบ จะมีแฟนเป็นคนแบบนั้นแบบนี้
แต่ความจริงชีวิตไม่เคยสั่งการได้
เมนูชีวิตเป็นหน้าว่างเปล่าที่รอให้เราเขียนเอง
บางทีชีวิตอาจจะน่าสนุกกว่าหากเราชิมรสของมันให้ครบรส เข้าใจสภาวะและคุณค่าของแต่ละช่วงชีวิต
ที่มา
www.winbookclub.com