"ความรู้สึกตัวที่แท้จริง...คือ การเข้าถึงตัวจิต"
23 เมษายน 2012 เวลา 18:46 น.
สนทนาธรรมกับท่านอ.กำพล ทองบุญนุ่ม
23 เมษายน 2555
ปุจฉา : "ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เมื่อเราประสบผัสสะต่างๆ ยกตัวอย่าง คำพูดที่เราไม่พอใจ ไม่อยากยินฟัง หรือแม้แต่สิ่งที่ไม่พึงใจทั้งหลาย แล้วเราส่องกลับดูใจตนเองขณะนั้น เมื่อเห็นการทำงานของจิตใจแล้ว เราก็วางเรื่องราวลงได้ โดยใจไม่เกี่ยวข้อง มีสองอาการที่ปรากฏให้เห็นจากการนำใช้ค่ะ ประการแรก คือ มันพิจารณาธรรมลงไปขณะนั้นว่า เสียงได้จบลงแล้ว เรากำลังเข้าไปอยู่ในบัญญัติของเรื่องราว แล้วก็จบลงไป วางลงไป ในขณะที่บางครั้ง จิตก็วางลงเลย เนื่องจากเห็นเป็นสิ่งธรรมดา เพราะมันชินกับสภาวะนั้นๆ อาจจะเพราะผัสสะแบบนี้เข้ามากระทบบ่อยจนรู้สึกเป็นธรรมดา อย่างนี้ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยให้ความกระจ่างว่า มันเป็นเรื่องของปัญญาหรือไม่ อย่างไรคะ?”
อ.กำพล : “ปัญญาที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวันมีหลากหลาย สุดแท้แต่ความถนัดของผู้นำมาใช้ ปัญญาอันแรกคือ การใคร่ครวญพิจารณาธรรม เป็นปัญญาขั้นต้น เป็นเรื่องของการวางใจ ทำให้ทุกข์จบกระบวนการลงได้ แต่ไม่เด็ดขาด เป็นเรื่องชั่วครั้งชั่วคราว ส่วนปัญญาขั้นที่เห็นชินจนเป็นธรรมดา ก็ถือเป็นเรื่องของ ประสบการณ์ เรื่องที่เราจะพิจารณากันในแง่ปัญญาคือ มันดับทุกข์ได้ ปัญญาในการดับทุกข์ พูดให้ง่ายคือ อยู่ที่ใจยอมรับ เมื่อไม่เห็นประโยชน์ ไม่เห็นเป็นสาระของการไปยึดมั่นในอารมณ์ ใจก็วางได้เร็ว ”
ปุจฉา : “ซึ่งจะเห็นว่า มันเลือกไม่ได้ เป็นการทำงานของมันเอง อย่างแรก มันผ่านความคิดแต่อย่างหลังเหมือนใช้โดยไม่ทันได้ผ่านความคิดค่ะ เลยสังเกตว่า อย่างหลังมันวางเร็วกว่านักค่ะ นี่กระมังที่เป็นเหตุของการหยิบธรรมนำใช้ จะช้าเร็วจะมีประสิทธิภาพแค่ไหนแล้วแต่เหตุปัจจัย และสภาพจิตขณะนั้น กำหนดไม่ได้”
อ.กำพล : “มันเป็นเรื่องของการฝึกฝนอบรม ใช้คำว่า “ฐานของจิตมีกำลัง”
ปุจฉา : “อย่างนั้นมันเชื่อมโยงกันอย่างไรระหว่าง เวลาปฏิบัติในรูปแบบที่ซ้อมยกมือทำความรู้สึกตัวอยู่ในรูปแบบ คือเอาสติไปกำหนดอยู่ที่ฐานกาย แต่เวลาใช้จริงๆ ในชีวิตประจำวัน กลายเป็นไปจัดการที่จิตเลย คือเวลาผัสสะเข้ามา ไม่เคยไปใช้ฐานกายกำหนดช่วยหน้างาน อย่างนี้อาจารย์ช่วยโยงความเข้าใจได้ไหมคะ สองอย่างนี้มันเชื่อมกันอย่างไร?”
อ.กำพล : “ถูกแล้ว...นั่นแหละ เวลาเราซ้อมแบบนักมวย ซ้อมชกกระสอบทราย เราชกไป ชกไป ยังไม่เก่ง ยังไม่แคล่วคล่องถึงเมื่อขึ้นชกคู่ต่อสู้จริง แต่ชกกระสอบทรายก็จำเป็น เพราะกระสอบทรายเป็นเป้านิ่ง ให้เราจัดการง่าย เหมือนร่างกายเรา มันไม่ได้โต้ตอบอะไร เราก็รู้มันไปให้ต่อเนื่อง ให้กำลังมันแน่นหนา แต่เวลานำใช้จริง มันจะพุ่งไปที่จิตเลย เพราะอะไร เพราะกิเลสและความทุกข์เกิดที่จิต ไม่ได้เกิดที่กาย มันเป็นไปโดยอัตโนมัติเวลานำใช้ เป็นผลจากการปฏิบัติในรูปแบบ”
ปุจฉา : “แม้ในการปฏิบัติในรูปแบบ จะรู้สึกว่า เอ...มันไม่เข้าใจ มันไม่เหมือนเราพิจารณาธรรมะ เราใช้ความเข้าใจ ใจมันชอบ แต่มันปรุงแต่ง มันคิด ใจเราชอบ เพลินๆ แต่เวลาเอาใจมารู้กาย มันจดจ้อง มันตั้งใจ มันเพ่งก็ว่าได้ เรียกว่า เห็นจิตมันแวปแฉลบออกจากกายตลอด เผลอไปคิดทุกครั้ง จนเหมือนการปฏิบัติในรูปแบบของเราคือ การยื้อยุดเจ้าความคิดกับความรู้สึกตัวอย่างนั้น มันยังฝืนๆ ค่ะ เพราะไม่เป็นธรรมชาติเหมือนเวลานำใช้หน้างานเลย”
อ.กำพล : “มันต้องอย่างนั้นแหละ ต้องซ้อมให้จิตมีกำลัง ถ้าไม่มีกำลัง มันจะไปอยู่ในเรื่องราว ไปข้างยินดี ยินร้ายตลอด จิตคนเราทั่วไปก็เป็นอย่างนี้ทุกคน คือมัน “ยังไม่ถึงตัวจิต” ยังไม่ถึงตัวจิตที่เป็นกลาง ยังถูกครอบงำด้วยความอยาก ความโกรธ ความหลง แต่ละคนมีมากน้อยไม่เหมือนกันนะ คนที่โลภะมาก สังเกตจะโทสะแรง เพราะเวลาไม่เป็นดังใจมันจะโกรธแรง บางคนจิตดี เขาไม่เป็นไรเลย บางคนอะไรก็ไม่พอใจ ขุ่นใจได้ทุกเรื่อง พวกหลงก็ไปผิดๆ ตามของเขา”
ปุจฉา : “งั้นการฝึกในรูปแบบเยอะๆ เพียงพอ จะมีผลแน่นอนต่อการนำมาใช้ เรียกว่างานสำคัญ ถ้าอย่างนั้น ระดับท่านอาจารย์ เป็นผู้เจริญสติจนมีกำลังความรู้สึกตัวมาก เป็นผลแล้ว ก็สามารถควบคุมความคิดได้ อะไรไม่อยากคิด เรียกว่า เรื่องลักคิด เรื่องฟุ้งซ่าน อาจารย์ก็ไม่ต้องถูกรบกวน แต่เรื่องที่เราอยากคิด เรื่องการงาน เรื่องธรรมะ เราก็ใส่ใจคิดได้ อย่างนี้หรือเปล่าคะ?”
อ.กำพล : “ผมไม่ได้ไปควบคุมความคิด แต่เมื่อมีความรู้สึกตัวชัดเจน มันแยกแยะว่า อะไรควรคิดอะไรไม่ควรคิด อย่างร่างกายผมนี่ ผมใช้มันมาเหน็ดเหนื่อย ช่วงเวลาเย็น ผมจะไม่คิดอะไรแล้ว มีคนให้หัวข้อธรรมะมาบรรยาย ผมก็รับไว้ ไม่คิด ไม่ตั้งประเด็น เพราะรู้ว่า จะไม่เอาความคิดมาให้วุ่นวาย จิตต้องการวางแล้ว ก็ไม่คิดเลย พอพักผ่อนเพียงพอกลางดึก ตีสามผมตื่นมา ทำความรู้สึกตัวยืดเส้นยืดสาย ผมก็คิดเรื่องธรรมะเอง เอ้า จิตมันคิดเอง มันพร้อม ก็เป็นเรื่องของมัน แผล็บเดียว ตลอดสาย”
ปุจฉา : “เรียกว่า อาจารย์ใช้ความคิด แต่ไม่ถูกความคิดใช้”
อ.กำพล : 555 อย่างนั้น
ปุจฉา : “อาจารย์คะ เวลาที่เราพิจารณาธรรมนำใช้ บางเวลาที่ผัสสะเกิด แล้วเราพิจารณาได้ทันว่า มันไม่ใช่ตัวเรา แต่ไม่ใช่ด้วยการเห็นแจ้งอริยสัจ เพียงแต่ความรู้มันไปถึง เราก็วางมันลงได้ง่ายๆ คือไม่ไปแบกเรื่องอะไร เราจะใช้วิธีการนี้เพื่อไปสู่ความเห็นแจ้งสภาวะต่อไปได้หรือไม่คะ ถามให้ชัดเจนลงไปเลยคือ เราจะเดินต่อวิธีการนี้ควบคู่ไปได้หรือไม่”
อ. กำพล : “ถ้าจะใช้วิธีการนี้ ดับทุกข์ได้ แต่ได้ชั่วครั้งชั่วคราว เป็นปัญญาระดับหนึ่ง แต่ “ความรู้อภิธรรม” อย่างเดียว ไม่มีทางหลุดพ้น”
ปุจฉา : “กราบเรียนถามตรงๆ เลยนะคะว่า เราจะอบรมเจริญปัญญากันไปเลยว่า ขณะนี้นามรูป เกิดดับนับไม่ถ้วน สติเข้าไปจับสภาวะตามความเป็นจริงด้วยปัญญาจากการอบรม ด้วยความเข้าใจถึงสภาพปรมัติธรรม เรียกใช้แนวอภิธรรมนำปฏิบัติเลย จะนำไปสู่ทางหลุดพ้นได้หรือไม่คะ”
อ. กำพล : “ไม่มีทางแน่นอน”
ปุจฉา : “เพราะเป็นการคิด เป็นการปรุงแต่งใช่หรือเปล่าคะ?”
อ.กำพล : “ก็นั่นซี คุณต้องรู้สึกตัวอย่างแท้จริง จนไม่เหลือความคิดปรุงแต่งหลงเหลืออยู่ นั่นแหละ จะถึงตัวจิต ไม่ใช่เอาจิตไปคิด จิตไปรู้ ต้องเป็นการ "เข้าถึงจิต”
ข้าพเจ้าต้องกราบสาธุธรรม
ท่านอาจารย์กำพล ทองบุญนุ่มเป็นอย่างยิ่ง
ในเมตตาธรรมของท่านอาจารย์
ในการไปกราบท่านครั้งนี้และทุกครั้งที่ผ่านมา ข้าพเจ้าสังเกตได้ถึงความสดชื่นของท่านในทุกครั้ง หากเมื่อสนทนากันในเรื่องสารทุกข์สุขดิบ เรื่องครอบครัว เรื่องทั่วไป เรื่องสุขภาพ ท่านมักจะสนทนาอย่างสนุกสนานเป็นกันเอง
แต่ยามใดที่ข้าพเจ้าและญาติธรรมท่านอื่นๆ เข้าถึงคำถามหรือมีข้อสงสัยในข้อธรรมปฏิบัติ ท่านจะเมตตาเต็มใจตอบอย่างชัดเจนที่สุด โดยมิมีเบื่อหน่าย ดูใบหน้าท่านจะส่องประกายรัศมีผุดผ่องมากอย่างเด่นชัดค่ะ
อันนี้แม้คนข้างๆ ข้าพเจ้าก็ยังสังเกตเห็น ยังให้ข้าพเจ้าเกิดปีติใจทุกครั้งของการได้เข้าหา สนทนา และใกล้ชิดท่าน คำสอนของท่านได้ถูกบันทึกจดจำมิลืมเลือน ในโอกาสนี้ ขออนุญาตนำมาแบ่งปันเพื่อนฝูง หากจะเป็นประโยชน์ก็ขออนุโมทนาต่อท่านอาจารย์และทุกท่าน ส่วนหากผิดพลาดประการใดจากการถอดใจถอดความครั้งนี้ ข้าพเจ้าขออโหสิกรรมด้วยค่ะ : )
เครดิตน้องเอ๋