ท่านพุทธทาสเขียนหนังสือเรื่อง สูตรเว่ยหล่าง หลายคนอาจไม่รู้ว่าเว่ยหล่างคือใคร สำคัญอย่างไร
เว่ยหล่างก็คือฮุ่ยเหนิง คนคนเดียวกัน เป็นสังฆปริณายกคนสำคัญที่สุดองค์หนึ่งของเซน
ฮุ่ยเหนิงเกิดในตระกูลยากไร้ แช่ลู่ พ่อเป็นข้าราชการที่ถูกถอดออกจากตำแหน่งและถูกเนรเทศไปอยู่ในพื้นที่ป่าดอยหลิงหนานที่กวางโจว และตายไปตั้งแต่เขาอายุสามขวบ ทิ้งครอบครัวให้ตกทุกข์ได้ยาก เขาจึงไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ ต้องทำงานตัดฟืนเลี้ยงแม่
จวบจนอายุได้ยี่สิบสอง วันหนึ่งขณะที่ฮุ่ยเหนิงกำลังส่งฟืนไปยังร้านค้าแห่งหนึ่ง เขาได้ยินชายคนหนึ่งกำลังบริกรรมพระสูตรบทหนึ่งอยู่หน้าร้าน ความว่า "ความคิดควรผุดขึ้นจากสภาวะแห่งการไม่ยึดติด..."
เรื่องท่อนนี้มีหลายเวอร์ชั่น บ้างว่าแขกคนนั้นท่องว่า "ถ้าโพธิสัตว์หรือผู้แสวงธรรมยังมีจิตยึดมั่นผูกมั่นกับตัวตนบุคคลแล้วไซร้ เขาก็ยังหาใช่พระโพธิสัตว์แท้จริงไม่ พุทธะคือผู้ที่เป็นอิสระแล้วจากความคิดทั้งปวง แม้แต่การบรรลุธรรมนี้ แท้จริงแล้วมิได้มีการบรรลุเลย จึงเรียกว่า บรรลุธรรม..."
ฮุ่ยเหนิงได้ยินแล้วรู้สึกดื่มด่ำในคำนั้นทันที ถามว่า "สิ่งที่ท่านกำลังอ่านอยู่คือหนังสืออะไร?"
ชายคนนั้นตอบว่า "วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร"
"ขอเรียนถามว่าเป็นพระสูตรจากที่ใด?"
"นี่คือพระสูตรที่ข้าพเจ้าได้ฟังมาจากอาจารย์หงเริ่นแห่งวัดตังซาน เจ้าก็สนใจในบทธรรมด้วยรึ?"
หลังจากสนทนากับหนุ่มบ้านป่าพักใหญ่ ชายผู้นั้นก็ยิ่งแปลกใจที่ฮุ่ยเหนิงผู้ซึ่งพูดจาราวคนที่ศึกษาธรรมมานานปีกลับไม่รู้หนังสือ
"เจ้าแซ่อะไร?"
"ข้าพเจ้าแช่ลู่"
"ท่าทางเจ้าเลื่อมใสทางสายพุทธะอย่างใหญ่หลวง เจ้าน่าจะไปฝากตัวเป็นศิษย์วัดตังซาน"
"ข้าพเจ้าก็อยากทำเช่นนั้น แต่ติดขัดที่ครอบครัวข้าพเจ้าขัดสนยิ่ง อีกประการหนึ่ง ข้าพเจ้ายังมีภาระต้องเลี้ยงดูแม่"
"นอกจากมีปัญญาแล้ว เจ้ายังมีความกตัญญูยิ่ง"
ด้วยความเมตตา แขกผู้นั้นมอบเงินสิบตำลึงให้เขา มากพอที่จะให้แม่ของเขาดูแลตัวเองได้
แล้วฮุ่ยเหนิงก็เดินไปตามทางสายธรรมที่นอกจากจะเปลี่ยนชีวิตของเขาอย่างสิ้นเชิง ยังเปลี่ยนทิศทางของประวัติศาสตร์เซนด้วย
………………
ฮุ่ยเหนิงเดินทางด้วยเท้านานสามสิบวัน ก็ถึงวัดบนภูเขาในสภาพเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า เขาขออนุญาตเข้าพบเจ้าอาวาส
อาจารย์หงเริ่นถามเขา "เจ้ามาจากที่ใด? กำลังแสวงหาสิ่งใด?"
"ข้าพเจ้ามาจากหลิงหนาน ในมณฑลกวางตุ้ง ข้าพเจ้าเดินทางมาไกลมากเพื่อจะเรียนรู้วิถีแห่งพุทธะ"
หลิงหนานเป็นพื้นที่ที่ชนเผ่าพื้นเมืองอยู่ร่วมกันกับคนจีน จัดเป็นพื้นที่ป่าดอย
อาจารย์หงเริ่นกล่าวยิ้ม ๆ นัยน์ตาเป็นประกาย "อา! เจ้ามาจากทางใต้ ย่อมเป็นคนป่า คนจากหลิงหนานนั้นไม่มีธรรมชาติแห่งพุทธะ เช่นนั้นเจ้าจะบรรลุพุทธภาวะได้อย่างไร?"
"ธรรมชาติแห่งพุทธะไม่มีทิศเหนือหรือใต้ สังขารของคนป่าอาจแตกต่างจากสังขารของท่านเจ้าอาวาส แต่ธรรมชาติแห่งพุทธะไหนเลยมีความแตกต่าง"
อาจารย์หงเริ่นซ่อนยิ้ม รู้ว่าผู้มาใหม่เข้าใจความหมายของคำพูดที่ท่านเอ่ยทุกประการ
ประมาณห้าร้อยปีต่อมา เอเฮ โดเก็น (1200-1253) ปรมาจารย์เซนแห่งญี่ปุ่นอธิบายความเรื่องนี้ว่า "เมื่ออาจารย์หงเริ่นเอ่ยว่า 'คนจากหลิงหนานนั้นไม่มีธรรมชาติแห่งพุทธะ' มิได้แปลว่าคนจากหลิงหนานนั้นไม่มีธรรมชาติแห่งพุทธะ และก็มิได้หมายความว่าคนจากหลิงหนานนั้นมีธรรมชาติแห่งพุทธะ มันหมายถึง 'ความไม่มีของธรรมชาติแห่งพุทธะของคนจากหลิงหนาน' "
นี่คือความหมายสำคัญของธรรมชาติแห่งพุทธะ ความไม่มีของธรรมชาติแห่งพุทธะคือรากฐาน เพราะแก่นแท้ของธรรมชาติแห่งพุทธะก็คือความว่างเปล่า
และประโยค "เจ้ามาจากที่ใด?" นี้ ฮุ่ยเหนิงก็ใช้ถามศิษย์อื่น ๆ ต่อมาอีกหลายครั้งหลายครา
อาจารย์หงเริ่นแลเห็นประกายของเพชรในตมที่ซ่อนในคราบหนุ่มชาวป่าร่างกายมอมแมม ทว่ายามนี้หาใช่เวลาอันเหมาะสมที่จะเจียระไนเพชรเม็ดนี้ให้เปล่งประกายไม่ ท่านกล่าวตัดบทว่า "อย่าเอ่ยอีกเลย จงไปทำงานในโรงตำข้าว"
และที่นั่น ฮุ่ยเหนิงผ่านเวลาแปดเดือนไปกับการผ่าฟืนและตำข้าว
………………
อาจารย์หงเริ่นรู้ดีว่า ไม่ช้าก็เร็วต้องหาคนที่มาสืบสายตำแหน่งพระสังฆปริณายกองค์ต่อไป จึงได้ทดสอบคุณสมบัติศิษย์ในวัดเพื่อหาผู้ที่มาสืบตำแหน่งนี้ต่อไป สั่งให้ศิษย์เขียนความเข้าใจเรื่องธรรมในรูปของโศลกคนละบทมาให้
ศิษย์ทั้งหลายก็คิดว่าไม่จำเป็นต้องเขียนให้เสียเวลา เพราะเขียนอย่างไรก็คงสู้เสินซิ่วศิษย์เอกผู้ที่เฉลียวฉลาดที่สุดในวัดมิได้ และก็เป็นจริงตามนั้น เพราะโศลกของเสินซิ่วจับใจทุกคนที่อ่าน
เสินซิ่วเขียนโศลกไว้ดังนี้
กายนั้นคือต้นโพธิ์
จิตคือกระจกเงา
หมั่นเช็ดถูอยู่เสมอ
อย่าให้ฝุ่นละอองลงจับ
คำว่า 'โพธิ์' ในทางเซนมีความหมายถึงการตรัสรู้หรือการรู้แจ้ง สัญลักษณ์การตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์ของพระพุทธเจ้า ส่วนการเปรียบจิตเป็นกระจกเงามีรากมานานตั้งแต่โบราณ จวงจื่อ ปรมาจารย์แห่งลัทธิเต๋า เขียนไว้ว่า "มนุษย์ที่แท้ใช้จิตของเขาเช่นกระจกเงา"
เสินซิ่วเขียนแล้วก็ไม่กล้าให้อาจารย์อ่าน เพราะกลัวยังไม่ดีพอ เขาพยายามจะส่งงานที่เขียนให้อาจารย์หลายครั้ง แต่ทุกครั้งที่เดินไปหาอาจารย์ก็ใจเต้นและถอยกลับ ภายในเวลาสี่วัน เสินซิ่วพยายามจะส่งงานให้อาจารย์ถึงสิบสามครั้ง แต่ในที่สุดก็เปลี่ยนใจ เขาคิดว่า เขียนบนฝาผนังช่องทางเดินให้อาจารย์ผ่านมาเห็นเองดีกว่า หากถูกใจท่าน ก็ค่อยออกมารับหน้า หากไม่ถูกใจท่าน ก็แสดงว่าเซนที่เรียนมาหลายปีนี้สูญเปล่า
เมื่ออาจารย์หงเริ่นอ่านโศลกบทนี้แล้วก็หยั่งรู้ว่า เสินซิ่วยังไม่ได้เข้าใกล้จิตเดิมแท้ แต่กระนั้นมันก็ยังเป็นโศลกที่ดี สั่งให้ศิษย์นำธูปเทียนมาบูชา และให้ศิษย์นำไปท่องบ่นเพื่อที่จะได้พิจารณาให้เห็นจิตเดิมแท้
ทว่ายามเที่ยงคืน อาจารย์หงเริ่นก็ให้คนไปตามเสินซิ่วมาที่หอ ถามว่า "โศลกบทนั้นเจ้าเป็นผู้เขียนใช่หรือไม่?"
"ใช่"
"โศลกบทนี้ของเจ้าแสดงว่าเจ้ายังไม่เข้าใจเรื่องจิตเดิมแท้ เจ้าก้าวไปถึงปากประตูแล้ว แต่ยังไม่ได้เปิดเข้าไป"
เสินซิ่วคารวะอาจารย์ เอ่ยว่า "ศิษย์จะขอไปสำรวจตัวเองอีกครั้ง"
ฝ่ายลูกวัดพากันเอ่ยท่องโศลกบทนี้ ฮุ่ยเหนิงได้ยินเข้าก็นึกอยากจะเขียนโศลกบ้าง แต่เนื่องจากตนเองไม่รู้หนังสือ ก็บอกให้พระรูปหนึ่งช่วยเขียนโศลกบทหนึ่งบนกำแพง
พระรูปนั้นกล่าวว่า "เจ้าไม่รู้หนังสือ ไยคิดเขียนโศลก?"
ฮุ่ยเหนิงตอบว่า "คนต่ำต้อยที่สุดก็อาจมองไกลได้"
พระรูปนั้นจนคำ จึงเขียนคำตามคำบอกของฮุ่ยเหนิงดังนี้
โพธิ์นั้นไม่มีต้น
กระจกเงาก็ไม่มี
สรรพสิ่งแต่แรกมาคือความว่างเปล่า
ฝุ่นละอองจะลงจับบนสิ่งใด
ลูกวัดที่อ่านโศลกบทนี้พากันคุยว่า เป็นถ้อยคำที่ลึกซึ้งยิ่ง เสียงโจษจันมาถึงหูเจ้าอาวาสอย่างรวดเร็ว อาจารย์หงเริ่นเดินไปหยุดที่หน้ากำแพงที่จารึกโศลกบทนี้ กล่าวกับลูกวัดเพียงว่า "ผู้ที่เขียนโศลกนี้ยังหาได้พบทางแห่งพุทธะไม่" ว่าแล้วก็ถอดรองเท้าลบข้อความบนกำแพงทิ้ง ด้วยรู้ดีว่า ความอิจฉาริษยาของพระหลายรูปในวัดที่มีต่อความสามารถของฮุ่ยเหนิงจะเป็นอันตรายต่อเขา
ความแตกต่างของโศลกสองบทนี้แสดงให้เห็นสองแนวทางของเซนอย่างชัดเจน บทกวีของเสินซิ่วสะท้อนมุมมองของการฝึกเซนซึ่งเป็นที่นิยมทั่วไป เป็นแบบของการนั่งสมาธิเพื่อชำระใจ มองว่าจิตนั้นสามารถชำระล้างให้สะอาดขึ้นได้โดยผ่านการเพ่งแน่วแน่ เพื่อทำให้ความคิดและสิ่งปรุงแต่งสูญไป นี่เป็นมุมมองว่า สภาวะสูงสุดของสติสำนึกคือสติสำนึกที่ว่างเปล่าจากทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความคิดอ่าน ความรู้สึก และอารมณ์ นี่ก็คือ สมาธิ
ส่วนมุมของฮุ่ยเหนิงนั้นมองว่าคนที่มีสติสำนึกที่ว่างเปล่าจากทุกอย่างก็ไม่ต่างอะไรจากท่อนไม้หรือก้อนหิน ฮุ่ยเหนิงเห็นว่าการชำระจิตให้สะอาดเป็นเรื่องที่ไม่ตรงจุดและทำให้สับสนเปล่า ๆ เพราะจิตของมนุษย์นั้นโดยพื้นฐานแล้วก็คือความไร้จิต (no-mind) จึงไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน การพยายามชำระจิตก็คือการทำให้มันแปดเปื้อนด้วยความบริสุทธิ์! นี่ก็คือแนวคิดแบบเต๋าซึ่งมองว่า เราจะยังไม่สามารถปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระหากยังไปหมกมุ่นกับกฎเกณฑ์ปลอม ๆ เพราะมันเป็นความบริสุทธิ์ปลอม ๆ ความใสกระจ่างปลอม ๆ
แนวคิดของฮุ่ยเหนิงคือ แทนที่จะไปชำระจิตให้สะอาดหรือทำให้มันว่างเปล่า ก็แค่ปล่อยจิตไป เพราะจิตมิใช่สิ่งที่จะจับต้องได้ การปล่อยจิตไปก็เท่ากับเป็นการปลดปล่อยความคิดความรู้สึกทั้งหลายที่วนเวียนในจิตไปโดยปริยาย วิถีเซนที่แท้คือการพบว่าธรรมชาติของแต่ละคนก็เหมือนที่ว่างที่ความคิดความรู้สึกทั้งหลายผ่านมาและผ่านไปในจิตเดิมแท้
………………
วันนั้นอาจารย์หงเริ่นเดินไปที่โรงตำข้าว ถามฮุ่ยเหนิงว่า "เจ้าเป็นผู้เขียนโศลกบทนั้นบนกำแพงหรือ?"
"ใช่แล้วขอรับ"
อาจารย์เงียบไปนาน กวาดตาดูเมล็ดข้าวในห้องนั้น กล่าวเบา ๆ ว่า " 'ข้าว' ได้ที่แล้วหรือ?"
"ได้ที่มานานแล้ว เพียงรอ 'ตะแกรง' สำหรับร่อนเท่านั้น"
อาจารย์ได้ยินแล้วก็เคาะครกตำข้าวสามครั้ง ก่อนเดินจากไป
การเคาะครกสามครั้งคือรหัสของเวลายามสามของคืนนั้น ดังนั้นฮุ่ยเหนิงก็ลอบไปหาอาจารย์ในหอในคืนนั้น อาจารย์ใช้จีวรขึงบังไม่ให้ใครเห็น แล้วเริ่มอธิบายความในวัชรสูตรแก่ฮุ่ยเหนิง เมื่อเอ่ยถึงประโยค"คนเราควรจะใช้จิตของตนในวิถีทางที่จิตเป็นอิสระได้จากเครื่องข้องทั้งหลาย" (หมายความว่า คนเราควรใช้จิตของเราโดยให้มันเป็นอิสระไม่เกาะยึดกับอะไร) ฮุ่ยเหนิงก็มองเห็นสภาวะจิตเดิมแท้ของตน เข้าใจว่าสรรพสิ่งในจักรวาลเป็นเนื้อแท้แห่งจิต หรือจิตเดิมแท้ (essence of mind) เท่านั้น รู้แจ้งในคืนนั้นเองว่า ที่แท้ทุก ๆ สิ่งในสากลโลกก็คือตัวจิตเดิมแท้นี่เอง มิใช่สิ่งอื่นใด
และในราตรีแห่งธรรมนั้นเอง อาจารย์หงเริ่นก็มอบบาตร จีวร สังฆาฏิที่สืบทอดมาจากพระโพธิธรรมให้ฮุ่ยเหนิงเป็นพระสังฆปริณายกองค์ต่อไป
แต่เนื่องจากสถานะที่ต่ำต้อยของฮุ่ยเหนิง และมองเห็นผลกระทบจากความอิจฉาของศิษย์วัดที่ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจนี้ อาจารย์หงเริ่นจึงสั่งให้ฮุ่ยเหนิงหนีไปจากวัด ลี้ภัยลงไปทางใต้เสีย
………………
อาจารย์หงเริ่นไปส่งฮุ่ยเหนิงที่ริมฝั่งแม่น้ำแยงซี ตั้งใจจะแจวเรือส่งศิษย์ข้ามฟาก ทว่าฮุ่ยเหนิงคารวะอาจารย์ กล่าวเบา ๆ ว่า "ขอให้ศิษย์ของท่านเป็นผู้แจวเรือเถิด"
"ควรเป็นหน้าที่ของอาจารย์ที่ส่งศิษย์ข้ามฟาก" (หมายถึงทะเลแห่งการเกิดการตาย)
"ในสภาวะแห่งความไม่รู้ อาจารย์เป็นผู้แจวเรือข้ามฟาก ในสภาพตื่นรู้ ผู้ข้ามฟากเป็นผู้แจวเรือเอง"
การข้ามห้วงมหรรณพแห่งวัฏสงสารก็เช่นการข้ามแม่น้ำ คนแจวเรือส่งผู้โดยสารได้เพียงถึงจุดจุดหนึ่งเท่านั้น
หนทางที่เหลือ ผู้โดยสารต้องเดินไปด้วยตนเอง
………………
จาก มังกรเซน
วินทร์ เลียววาริณ
เฟซบุ๊ค
https://www.facebook.com/winlyovarin/