จิต คือ ผู้รู้
=========
ธรรมข้อนี้ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เคยสอนแบบพิสดารว่า...
“ท่านเห็นกระจกไหม (หลวงพ่อ ตอบว่า เห็นครับ)
ท่านเห็นตัวที่อยู่ในกระจกไหม (หลวงพ่อ ตอบว่า เห็นครับ)
หลวงปู้ดูลย์ สรุปความเลยว่า ทั้งตัวที่เห็น และตัวที่ถูกเห็นในกระจกนี่ละตัวเกิด
นิพพานอยู่ตรงกลางระหว่างตัวรู้กับตัวถูกรู้ นั่นละ”
=========
มีผู้ถามว่า การที่จิตวิ่งออกมาไปจับตัวที่ถูกรู้ อาการเช่นนี้ ปฏิบัติได้หรือไม่?
ในการปฏิบัตินั้น หากจิตมีการเคลื่อนออกมา นั้นคือ จิตวิ่งออกมาจากฐานมาเสวยอารมณ์อันเนื่องมาจากเผลอ สติไม่ทัน
แบบนี้ละที่สายดูจิตอื่นพลาดไป เพราะไปตามอารมณ์แล้ว คิดว่านั้นคือการดูจิต
แต่ที่ถูกต้องแล้วหลวงพ่อ
ท่านมีปกติสอนเสมอๆว่า จิตที่จะข้ามภพข้ามชาติได้นั้น จะต้องเป็นจิตหนึ่ง
กล่าวคือ มีตัวรู้อยู่เป็นหนึ่งในอารมณ์เดียว ไม่เป็นสอง
ปกติของปุถุชน มักจิตส่งออกนอก โดยไม่เคยรู้เนื้อรู้ตัวเลย
แต่ผู้ที่ปฏิบัติมาบ้าง มักเผลอสติ ส่งจิตออกนอกโดยไม่ตั้งใจ เนื่องมาจากความไม่รู้นั่นเอง
แท้จริงแล้ว สิ่งที่ถูกรู้นั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเผลอสติ ทั้งแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจ
นักปฏิบัติโดยมากมักขาดสติ จึงนิยมไปตามสิ่งที่ถูกรู้ จนลืมตัวผู้รู้
แต่ในทางการปฏิบัตินั้น หลวงพ่อเยื้อนท่านสอนลงรายละเอียดมากยิ่งกว่านั้น
กล่าวคือ ทั้งตัวรู้ และถูกรู้ ก็ไม่หมายเอาทั้งคู่
เพราะ ทั้งสองสิ่งนี้ ขนสัตว์โลก พาเวียนเกิดเวียนตายมาแล้ว นับภพนับชาติไม่ได้
ธรรมข้อนี้ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เคยสอนแบบพิสดารว่า...
“ท่านเห็นกระจกไหม (หลวงพ่อ ตอบว่า เห็นครับ)
ท่านเห็นตัวที่อยู่ในกระจกไหม (หลวงพ่อ ตอบว่า เห็นครับ)
หลวงปู้ดูลย์ สรุปความเลยว่า ทั้งตัวที่เห็น และตัวที่ถูกเห็นในกระจกนี่ละตัวเกิด
นิพพานอยู่ตรงกลางระหว่างตัวรู้กับตัวถูกรู้ นั่นละ”
ดังนั้น สิ่งที่ผู้สนใจปฏิบัติพึงมี คือ ควรพยายามทำจิตให้เป็นหนึ่ง(เอกัคคตารมณ์)
ก่อนอันดับแรก เพื่อไม่หลงไหลไปตามสิ่งที่ถูกรู้
ปฏิบัติให้รู้จนมีสติเกิดขึ้นกับตัวรู้จนเด่นชัดด้วยอำนาจของสติ
กล่าวสรุปคือ...
“หากผู้รู้อยู่ไหน ก็ให้มีสติตามไปที่นั้น”
เมื่อถึงตรงนี้แล้ว ผู้ปฏิบัติจะพบทางว่า การเรียนรู้จากตัวจิต คือการเรียนรู้จากผู้รู้นี่เอง
เป็นการเรียนลงไปในสิ่งที่เป็นสัจจะ คือของจริงที่มีประจำโลก ไม่เคยหายไปไหน
ทั้งพระพุทธเจ้า และหมู่สัตว์ก็มีของจริง คือ จิตดวงนี้เสมอเหมือนกันทุกนาม
การเรียนจากของจริงเช่นว่านั้น ไม่ใช่เรียนจากสิ่งจิตปรุงหลอก หรือที่บางท่านเรียกว่า เงาของจิตนั่นเอง
เมื่อถึงตรงนี้แล้ว ท่านผู้ปฏิบัติจะค้นพบสัจธรรมอันเป็นความจริงได้เองว่า
ผู้รู้ก็คือ จิต นั่นเอง
ผู้รู้อยู่ที่ใด นั่นก็เรียกได้ว่า จิตก็อยู่ที่นั้นละ
หากเมื่อผุ้ปฏิบัติสามารถเข้าถึงจิตหนึ่งได้แล้ว
ในขั้นนี้ จิตผู้รู้จะเริ่มทวนเข้าหาจิตเอง เนื่องจากอารมณ์ สังขาร สัญญา ภายนอกออกแล้ว
จิตจะสามารถแตกขันธ์ ออกได้เองว่า สิ่งใดเป็นจิต สิ่งใดเป็นสิ่งที่จิตปรุงขึ้น
แต่ขั้นนี้ เราอาจจะวางไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะจิตยังคงไม่มีกำลังในการพิจารณา และวางสิ่งเหล่านั้นลง
แต่จิตจะเริ่มทวนกระแสเข้าไปรับรู้สิ่งต่างๆ โดยสักแต่ว่ารู้ เห็น แล้ววาง
จิตนั้นจะเริ่มเป็นปัจจุบัน เพราะ จะวางสิ่งที่พะรุงพะรัง ไม่กลับหวนนึกถึงอดีต และไม่มีความกังวลกับอนาคต
แต่จิตจะดิ่งไปสู่ปัจจุบัน เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น โดยไม่ยึดถือ
จิตจะวางเอง เพราะเห็นสิ่งที่เป็นจริงแล้ว สิ่งใดที่เป็นเงาของจิต เป็นอารมณ์ เป็นสัญญา เป็นสังขาร ที่รกรุงรัง จิตจะไม่ให้ความสนใจอีก
ดังนั้น ที่ว่าดูจิตๆ บางครั้งนักภาวนามักหลงเข้าไปไปดูอาการของจิต เช่น รู้ว่าโกรธ รู้ว่าฟุ้งซ่าน รู้ว่าดีใจ เสียใจ สิ่งเหล่านี้คือไปรู้สิ่งที่ถูกรู้ทั้งสิ้น ไม่ใช่จิต
เหตุที่เราไปหลงดูเงาในกระจกแบบนี้ ก็เพราะขาดสตินั้นเอง
หากจะกล่าวโดยธรรมดา ก็อาจจะกล่าวได้ว่า จิตเกิดสามารถเกิดนอกฐานที่ตั้งจิตก็ได้ จะไปตั้งที่ไหนก็ได้
แต่เราไม่พึงปฏิบัติเช่นนั้น เพราะจิตเป็นนามธรรม จิตที่สามารถจรไปจรมา นั่นคือ จิตที่วุ่นวาย เร่ร่อน ไม่เป็นหลักเเหล่ง
จิตแบบนี้เองที่ไม่มีกำลัง ไม่สามารถสงบเป็นสมาธิได้ เมื่อไม่มีสมาธิเป็นฐาน ปัญญาก็ไม่เคยเกิด
เหตุที่ต้องสมมติฐานที่ตั้งของจิต ขึ้นมา ก็เพื่อให้ทราบตำแหน่งที่แน่นอนของจิตนั่นเอง
แต่เหตุที่เราต้องสร้างฐานให้จิตอยู่ทีเดิม ก็เหมือนกับสร้างบ้านให้จิตอยู่ ก็เป็นเสมือนฐานที่ตั้งให้จิตมั่นคง
เป็นการสร้างฐานกำลังของจิตที่เรียกว่าสมาธิ เมื่อเรามีบ้านอยู่หลักแหล่งแล้ว เราจึงเรียกให้ยาม คือ สติสัมปชัญญะ นั่นครับมาเฝ้ารักษาบ้านเราได้
เมื่อจิตไม่เร่ร่อน จนมีความมั่นใจในความปลอดภัย เมื่อนั่น จิตจะตั้งใจเอง
โดยไม่ต้องกำหนดใจให้เป็นสมาธิ นี่คือ สมาธิที่แท้จริง
สมาธิที่ต้องเข้าๆออกๆ ไม่ใช่สัมมาสมาธิ...
สัมมาสมาธิ เป็นสมาธิที่เกิดโดยธรรมชาติ ปราศจากความตั้งใจ แต่เป็นภาวะของจิตที่ตั้งมั่น มั่นคงด้วยสติ สติสัมปชัญญะ เป็นสมาธิโดยธรรมชาติ
เหตุผลง่ายๆของการระลึกฐานที่ตั้งของจิต ก็เพื่อ สมมติให้จิตมีที่อยู่ มีที่ตั้งแน่นอน และเป็นเครื่องหมายของการกำหนดสติของเราเท่านั้นเอง
เมื่อถึงขั้นนี้แล้ว จิตที่ตั้งมั่นอยุ่ในฐานที่ตั้งมั่นของจิต จิตจะมีสติกำหนดจิตอยู่ในฐานที่ตั้งดังกล่าว หากผูรับฟังสัมผัสทางหู
หูก็จะรับหน้าที่รับเสียงไป แต่จิตอยู่ในฐานไม่ออกมารับ หากตาเห็นรูป ตาก็มีหน้าที่รับภาพไป แต่จิตไม่ส่งออกมารับ
ผู้ปฏิบัติถึงขั้นนี้แล้ว จะค้นพบว่า จิตมันเหมือนมีชีวิต อีกชีวิตหนึ่งที่ไม่ข้องกับร่างกาย ร่ายกายทำไรๆทำไป แต่ใจก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่สนใจ
เมื่อถึงตอนนี้ เราจะแยกออกได้แล้วว่า จิตนั้นมีหน้าที่รับรู้ ส่วนสังขารเค้าก็มีหน้าที่ปรุงแต่ง สัญญาก็มีหน้าที่จำได้หมายรู้
ทุกอย่างทำงานปกติ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับจิต ต่างแยกหน้าที่กันทำ อยู่ด้วยกันแต่ไม่กระทบกัน
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ หากจะกล่าวการเริ่มต้น ก็คงไม่พ้นการกินน้ำเย็น ตามแบบฉบับของหลวงพ่อเยื้อน ขันติพโล
เพื่อให้นักปฏิบัติสามารถกำหนดฐานที่ตั้งของจิตให้ได้ แน่นหนามั่นคง
จนกลายเป็นจิตหนึ่งนั่นเอง
ส่วนที่เป็นรายละเอียดต่างๆ นั่น คือ ผลมาจากการที่ผู้รู้สอนเรานั่นเอง
อัศจรรย์ของจิต ที่พระพุทธเจ้าท่านสั่งท้าทายว่า ท่านจงลองมาดูเถิด นับเป็นเวลากว่า 2556 แล้ว บัดนี้ ยังคงทรงพุทธานุภาพไม่เสื่อมสลายไปตามกาล
ธรรมย่อมประจักษ์แจ้งแก่ผู้ลงมือปฏิบัติตตามมรรคผลเสมอ ไม่เสื่อมคลาย...
พระพิศาลศาสนกิจ (พระอาจารย์เยื้อน ขนติพโล)
เจ้าคณะ จังหวัดสุรินทร์ วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร
Cr...FB คณะศิษย์พระอาจารย์เยื้อน...เขมปัญโญคฤหัสถ์ บันทึก....