สวัสดีครับ ชาวซีมะโด่ง ที่รักทุกท่าน
รู้ธรรมวันละนิดวันนี้ ผมขอเสนอเรื่องของพระสารีบุตรเถระ ให้ทุกท่านได้ลองศึกษาประวัติของท่านโดยสังเขป สิ่งที่เราจะได้คือ จะรู้ว่าท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์ด้วยธรรมอันใด และท่านมีคติธรรมประจำตัวท่านอย่างไร น่าศึกษาและรู้ไว้นะครับ ในฐานะที่เราเป็นพุทธศษสนิกชน ครับ
ลองอ่าน พิจารณาดูด้วยปัญญาของท่าน ครับ
สวัสดี
รู็ธรรมวันละนิด จิตผ่องใส
ตอน
ประวัติพระอรหันต์ พระภิกษุสาวกผู้เป็นเอตทัคคะ ลำดับที่ ๓
พระสารีบุตรเถระ
เอตทัคคะในทางผู้มีปัญญา
• ในสมัยนั้นไม่ห่างไกลจากกรุงราชคฤห์มากนัก ที่ตำบลนาลันทา มีหมู่บ้านพราหมณ์ ๒ หมู่บ้าน ชื่อ อุปติสสคาม และโกลิตคามในหมู่บ้านอุปติสสคาม มีหัวหน้าหมู่บ้านชื่อว่า วังคันตะ ภารยาชื่อว่า นางสารี มีบุตร ชื่อว่า อุปติสสะ แต่เพราะเป็นบุตรของนางสารี จึงนิยมเรียกกันว่า สารีบุตร ในหมู่บ้านโกลิตคาม มีภารยาของหัวหน้าหมู่บ้านชื่อว่า นางโมคคัลลี มีบุตรชื่อว่า โกลิตะ แต่นิยมเรียกกันว่า โมคคัลลานะ ตามชื่อของมารดา ทั้งสองตระกูลนี้ มีความเกี่ยวข้องเป็นสหายกันมานานถึง ๗ ชั่วอายุคนดังนั้น มาณพทั้งสอง จึงเป็นสหายกันดุจบรรพบุรุษ มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เข้าศึกษาศิลปะวิทยาในสำนักของาจารย์คนเดียวกันเมื่อจบการศึกษาก็เป็นเพื่อเที่ยวร่วมสุขร่วมทุกข์ หาความสนุกความสำราญ ดูการเล่นมหรสพตามประสาวัยรุ่น และให้รางวัลแก่ผู้แสดงบ้างตามโอกาสอันควร
•
เบื่อโลกจึงออกบวช วันหนึ่งสหายทั้งสองพร้อมด้วยบริวาร ไปดูมหรสพด้วยกันเช่นเคย แต่ครั้งนี้มิได้มีความสนุกยินดี เบิกบานใจเหมือนครั้งก่อน ๆ เลย ทั้งสองมีความคิดตรงกันว่า “ทั้งคนแสดงและทั้งคนดู ต่างก็มีอายุไม่ถึงร้อยปีก็จะตายกันหมด ไม่เห็นมีประโยชน์อะไรเลยกับการหาความสุขความสำราญแบบนี้ เราควรแสวงหาโมกขธรรม จะประเสริฐกว่า” ทั้งสองเมื่อทราบความรู้สึกและความประสงค์ของกันและกันแล้ว จึงตกลงกันนำบริวารฝ่ายละครึ่ง รวมได้ ๕๐๐ คนออกบวช และปรึกษากันว่า “พวกเราควรจะไปบวชในสำนักของใคร และอาจารย์ไหนจึงจะดี”
สมัยนั้น สญชัยปริพาชก เป็นอาจารย์เจ้าสำนักใหญ่ในเมืองราชคฤห์ มีคนเคารพนับถือและมีศิษย์ มีบริวารมากมาย มาณพทั้งสองจึงพากันเข้าไปขอบวช ฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษาศิลปะวิทยาในสำนักนี้ สำนักของ สญชัยปริพาชก ตั้งแต่มาณพทั้งสองมาบวชอยู่ด้วยแล้วก็เจริญรุ่งเรืองด้วยลาภสักการะ และคนเคารพนับถือมากขึ้น มาณพทั้งสองศึกษาอยู่ในสำนักนี้ไม่นาน ก็สิ้นความรู้ของอาจารย์ เมื่อถามถึงวิทยาการที่สูงขึ้นไปอีก อาจารย์ก็ไม่สามารถจะสอนให้ได้ จึงปรึกษากันว่า:-
“การบวชอยู่ในสำนักนี้ไม่มีประโยชน์อะไร ลัทธินี้มิใช่ทางเข้าถึง โมกขธรรม เราควรพยายามแสวงหาอาจารย์ ผู้สามารถแสดงโมกขธรรมแก่เราได้” ดังนั้น ทั้งสองจึงทำสัญญาต่อกันว่า “ในระหว่างเราทั้งสอง ถ้าผู้ใดได้อมตธรรมก่อน ผู้นั้นจงบอกแก่กันให้รู้ด้วย”
วันหนึ่ง พระอัสสชิ ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนพระปัญจวัคคีย์ ที่พระพุทธองค์ทรงส่งไป ประกาศพระศาสนา ได้จาริกมาถึงกรุงราชคฤห์ และเข้าไปบิณฑบาตในเมือง อุปติสสปริพาชกออกจากอารามมาด้วยกิจธุระภายนอกเห็นท่านแสดงออกซึ่งปฏิปทาอันน่าเลื่อมใส จะก้าวไปหรือถอยกลับ จะเหยียดแขนหรือพับแขน จะเหลียวซ้ายแลขวา ดูน่าเลื่อมใสเรียบร้อยไปทุกอิริยาบถ ทอดจักษุแต่พอประมาณ มีอาการแปลกจากบรรพชิต ที่เคยเห็นมาแต่กาลก่อน อยากจะทราบว่า ท่านบวชในสำนักของใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน แต่ก็มิอาจถามท่านได้เพราะมิใช่กาลเวลาอันสมควร จึงเดินตามไปห่าง ๆ เมื่อพระเถระได้รับอาหารพอสมควรแล้วจึงออกไปสู่ที่แห่งหนึ่งเพื่อทำภัตตกิจ อุปติสสปริพาชก จึงได้จัดปูลาดอาสนะ ถวายน้ำใช้น้ำฉัน และคอยเฝ้าปฏิบัติอยู่ เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว จึงกราบเรียนถามด้วยความเคารพว่า:-
“ข้าแต่ท่านผู้มีอายุ อินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก ผิวพรรณของท่านก็หมดจดผ่องใส ท่านบวชในสำนักของใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน และท่านชอบใจธรรมของใคร?”
พระเถระตอบว่า “ปริพาชกผู้มีอายุ เราบวชจำเพาะพระมหาสมณะศากยบุตรผู้เสด็จออกจากศากยสกุล พระองค์เป็นศาสดาของเรา เราชอบใจธรรมของท่าน”
“พระศาสดาของท่านสอนว่าอย่างไร?"
พระเถระคิดว่า “ธรรมดาปริพาชกทั้งหลาย ย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อพระศาสนา ควรที่เราจะแสดงความลึกซึ้งคัมภีร์ภาพแห่งพระธรรม” จึงกล่าวว่า:-
“ผู้มีอายุ เราเป็นผู้บวชใหม่ มาสู่พระธรรมวินัยนี้ไม่นาน ไม่สามารถจะแสดงธรรมแก่ท่านโดยพิสดารได้ เราจักกล่าวแก่ท่านแต่โดยย่อพอรู้ความ”
“ท่านสมณะ ท่านจงกล่าวแต่เนื้อความเถิด ข้าพเจ้าต้องการเฉพาะเนื้อความเท่านั้น”
พระอัสสชิเถระ ได้ฟังคำของอุปติสสปริพาชกแล้ว จึงกล่าวหัวข้อธรรมมีใจความว่า:-
เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุ ? ตถาคโต
เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํวาที มหาสมโณฯ
“ธรรมเหล่าใด มีเหตุเป็นแดนเกิด (เกิดแต่เหตุ)
พระตถาคตเจ้า ทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะ ตรัสอย่างนี้”
อุปติสสะ เพียงได้ฟังหัวข้อธรรมนี้จากพระเถระเท่านั้นก็สำเร็จเป็นพระโสดาบัน เกิดธรรมจักษุ คือ ดวงตาเห็นธรรมว่า:-
“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา” ดังนี้แล้วถามว่า
“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เวลานี้พระบรมศาสดาของเราประทับอยู่ที่ไหน ขอรับ?"
“ผู้มีอายุ พระองค์ประทับอยู่ที่พระเวฬุวันมหาวิหาร”
“ถ้าอย่างนั้น นิมนต์พระคุณเจ้าไปก่อนเถิด ข้าพเจ้าจะกลับไปหาสหายก่อน และจะพากันไปเฝ้าพระบรมศาสดาต่อภายหลัง”
อุปติสสะ กราบลาพระเถระแล้ว ทำประทักษิณ ๓ รอบแล้วรีบกลับไปสู่สำนักปริพาชก
ส่วน โกลิตะ ผู้เป็นสหาย เห็นอุปติสสะเดินมาแต่ไกลด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ผิวพรรณมีสง่าราศีกว่าวันอื่น ๆ จึงคิดว่า “วันนี้ สหายของเรา คงได้พบอมตธรรมเป็นแน่” เมื่อสหายเข้ามาถึงจึงรีบสอบถาม ก็ได้ความตามที่คิดนั้น และเมื่ออุปติสสะแสดงหัวข้อธรรมให้ฟัง ก็ได้ดวงตาเห็นธรรมบรรลุเป็น พระโสดาบันเช่นเดียวกัน สองสหายตกลงที่จะพาบริวารไปเฝ้าพระบรมศาสดา จึงเข้าไปหาอาจารย์สญชัยปริพาชกชักชวนให้ร่วมเดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคด้วยกันแต่อาจารสญชัยปริพาชก ผู้มีทิฏฐิแรงกล้าถือตนว่าเป็นเจ้าสำนักใหญ่มีคนเคารพนับถือมากมาย ไม่สามารถที่จะลดตัวลงไปเป็นศิษย์ใครได้จึงไม่ยอมไปด้วย ปล่อยให้สองสหายพาศิษย์ของตนไปเฝ้าพระบรมศาสดาแต่พอเห็นศิษย์ในสำนักออกไปคราวเดียวกันมากขนาดนั้น เห็นสำนักเกือบจะว่างเปล่า เหลือศิษย์อยู่เพียงไม่กี่คน จึงเกิดความเสียใจอย่างแรง และถึงแก่มรณีกรรมในเวลาต่อมา
อุปติสสะ และ โกลิตะ พร้อมด้วยบริวารพากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่ท่ามกลางบริษัทสี่ ได้ทอดพระเนตรเห็นสองสหายพร้อมด้วยบริวาร เดินมาแต่ไกล จึงตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ปริพาชกสองสหายที่กำลังเดินมานั้น คือ คู่อัครสาวก ของตถาคต”
เมื่อปริพาชกทั้งสองพร้อมด้วยบริวารมาถึงที่ประทับ กราบถวายบังคมแล้วนั่งในที่อันสมควร ได้สดับพระธรรมเทศนาจบลงแล้ว บรรดาบริวารทั้งหมดได้บรรลุพระอรหัตผล เว้นอุปติสสะและโกลิตะ ผู้เป็นหัวหน้า ต่อจากนั้นพระพุทธองค์ประทานการอุปสมบทแก่พวกเธอทั้งหมดด้วยวิธี “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” และทรงบัญญัตินามให้ท่านอุปติสสะว่า “พระสารีบุตร” และให้ท่านโกลิตะว่า “พระโมคคัลลานะ” ตามมงคลนามของมารดา
พระสารีบุตร หลังจากอุปสมบทแล้วได้ ๑๕ วัน ได้ติดตามพระพุทธองค์ ซึ่งเสด็จไปประทับพักที่ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์ วันหนึ่งขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ที่ถ้ำสุกรขาตา ที่ภูเขาคิชกูฏนั้น ปริพาชกผู้หนึ่งนามว่า ทีฆนขะ ซึ่งเป็นอัคคิเวสนโคตร และเป็นหลานชายของพระสารีบุตร เที่ยวติดตามหาลุงจนพบ ได้เข้าเฝ้ากราบทูลถามถึง ทิฏฐิ คือ ความเห็นของตนต่อ พระผู้มีพระภาคเข้าว่า:-
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่ข้าพระองค์ ๆ ไม่ชอบใจหมดทุกสิ่ง”
“ดูก่อนปริพาชก ถ้าอย่างนั้น ทิฏฐิ คือความเห็นเช่นนั้น ก็ต้องไม่ควรแก่ปริพาชกด้วยและปริพาชก ก็ต้องไม่ชอบ ทิฏฐิ นั้นด้วยเหมือนกัน”
ลำดับต่อจากนั้น พระพุทธองค์ ทรงแสดงพระธรรมเทศนาชื่อวา “เวทนาปริคคหสูตร” ทรงแสดงถึงเวทนาทั้ง ๓ คือ:-
ในเวลาใด เมื่อบุคคลเสวยสุขเวทนา เวลานั้น ย่อมไม่ได้เสวยทุกขเวทนา หรือ
อทุกขมสุขเวทนา (อุเบกขาเวทนา)
ในเวลาใด เมื่อบุคคลเสวยทุกขเวทมนา เวลานั้น ย่อมไม่ได้เสวยสุขเวทนา หรือ
อทุกขมสุขเวทนา
ในเวลาใด เมื่อบุคคลเสวยอทุกขมสุขเวทนา เวลานั้น ย่อมไม่ได้เสวยสุขเวทนา หรือ
ทุกขเวทมนา
ขณะที่พระบรมศาสดา ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรด ทีฆนขะ อยู่นั้น พระสารีบุตร ได้นั่งถวายงานพัดอยู่เบื้องหลังพระศาสดา พัดไปพลาง ฟังไปลาง ส่งจิตพิจารณาไปตามกระแสพระธรรมเทศนานั้น จิตก็หลุดพ้นจากอาสวกิเลส ที่บุคคลจัดให้คนอื่น ส่วน ทีฆนขะ ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล แสดงตนเป็นอุบาสก ในพระพุทธศาสนา
•
ได้รับยกย่องในทางผู้มีปัญญา เมื่อพระสารีบุตร ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ปรากฏว่าเป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด สามารถแสดงพระธรรมจักรกัปวัตนสูตร และอริยสัจ ๔ ได้เหมือนพระพุทธองค์ และเป็นกำลังสำคัญของพระบรมศาสดา ในการประกาศเผยแผ่พระศาสนา ดังนั้น ขณะที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่กรุงราชคฤห์นั้น ได้ทรงประกาศยกย่อง พระสารีบุตร ในท่ามกลางสงฆ์ ทรงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทาง ผู้มีปัญญา และทรงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง พระอัครสาวงเบื้องขวา
นอกจากนี้ พระพุทธองค์ยังทรงยกย่องพระสารีบุตรเถระ อีกหลายประการกล่าวคือ
๑. เป็นผู้มีปัญญาอนุเคราะห์เพื่อนบรรพชิตด้วยกัน เช่น สมัยที่พระบรมศาสดาประทับอยู่ที่เมืองเทวทหะ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลลาไปปัจฉาภูมิชนบททรงรับสั่งให้ไปลาพระสารีบุตรก่อน เพื่อท่านจะได้แนะนำสั่งสอน มิให้เกิดความเสียหายในระหว่างการเดินทางและในสถานที่ที่ไปนั้นด้วย
๒. ยกย่องท่านเป็น “พระธรรมเสนาบดี” ซึ่งคู่กับ “พระธรรมราชา” คือ พระองค์เอง
๓. ยกย่องท่านเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที เป็นเลิศ เช่น ท่านนับถือ พระอัสสชิเป็นอาจารย์ เพราะท่านเข้ามาสู่พระพุทธศาสนาด้วยการฟังธรรมจากพระอัสสชิ ทุกคืนก่อนที่ท่านจะนอน ท่านได้ทราบข่าวว่าพระอัสสชิอยู่ทางทิศใด ท่านจะนมัสการไปทางทิศนั้น ก่อนแล้วจึง
นอนหันศีรษะไปทางทิศนั้น อีกเรื่องหนึ่ง คือ พราหมณ์ชราชื่อ ราธะ มีศรัทธาจะอุปสมบท แต่ไม่มีภิกษุรูปใดรับเป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้ พระพุทธองค์ตรัสถามในที่ประชุมสงฆ์ว่า “ผู้ใดระลึกถึงอุปการคุณของพราหมณ์นี้ได้บ้าง” พระสารีบุตรเถระกราบทูลว่า “ระลึกได้ คือ ครั้งหนึ่งราธพราหมณ์ผู้นี้
ได้เคยใส่บาตร ด้วยข้าวสุกแก่ท่านหนึ่งทัพพี” พระพุทธองค์จึงทรงมอบให้ท่านสารีบุตร เป็นพระอุปัชฌาย์อุปสมบทให้แก่ ราธพราหมณ์
•
ถูกภิกษุหนุ่มฟ้อง พระเถระนับว่าเป็นผู้มีขันติธรรมความอดทนสูงยิ่ง มีจิตสงบราบเรียบ ไม่หวั่นไหว ด้วยอารมณ์ต่าง ๆ ดังเรื่องในคัมภีร์อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต และในธรรมบทว่า:-
สมัยหนึ่ง พระเถระ เมื่อออกพรรษาแล้วมีความประสงค์จะเที่ยวจาริกไปยังชนบทต่าง ๆ กราบทูลลาพระผู้มีพระภาคแล้ว ออกจากพระเชตวนาราม พร้อมกับภิกษุผู้เป็นบริวารของท่าน ขณะนั้น ก็มีภิกษุอีกจำนวนมากออกมาส่งพระเถระ และพระเถระก็ทักทายปราศรัยกับภิกษุเหล่านั้น ด้วยอัธยาศัยไมตรีก่อให้เกิดความปีติยินดีแก่พวกเธอเป็นอย่างยิ่ง แต่มีภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งพระเถระไม่ทันได้สังเกตเห็นจึงมิได้ทักทายด้วย ก็เกิดความน้อยใจและโกรธพระเถระบังเอิญชายฝ้าสังฆาฏิของพระเถระ ไปกระทบภิกษุรูปนั้นเข้า โดยที่พระเถระไม่ทราบ ภิกษุรูปนั้นจึงถือเอาเหตุนี้เข้าไปกราบทูลฟ้องต่อพระบรมศาสดาว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระสารีบุตรเถระ เดินกระทบข้าพระองค์แล้วไม่กล่าวขอโทษเพราะด้วยสำคัญว่าตนเป็นอัครสาวกของพระพุทธองค์พระเจ้าข้า”
พระพุทธองค์ แม้จะทรงทราบเป็นอย่างดี แต่เพื่อให้เรื่องนี้ปรากฏแก่ที่ประชุมสงฆ์ จึงรับสั่งให้พระเถระเข้าเฝ้าแล้วตรัสถามเรื่องราวโดยตลอด
เปรียบตนด้วยอุปมา ๙ อย่าง พระเถระมิได้กราบทูลปฏิเสธโดยตรงในที่ประชุมสงฆ์นั้น แต่ได้อุปมาเปรียบเทียบตนเองเหมือนสิ่งของ ๙ อย่าง คือ:-
๑. เหมือนดิน-น้ำ-ไฟ-ลม ซึ่งถูกของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้างทิ้งใส่ แต่ก็ไม่รังเกียจไม่เบื่อหน่าย ไม่หวั่นไหว
๒. เหมือนเด็กจัณฑาล ที่มีความสงบเสงี่ยมเจียมตัวอยู่เสมอเวลาเข้าไปยังสถานที่ต่าง ๆ
๓. เหมือนโค ที่ถูกตัดเขา ฝึกหัดมาดีแล้ว ย่อมไม่ทำร้ายใคร ๆ
๔. เหมือนผ้าขี้ริ้ว สำหรับเช็ดฝุ่นละอองของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง
๕. เบื่อหน่ายอึดอัดกายของตน เหมือนซากงู (ลอกคราบ)
๖. บริหารกายของตน เหมือนคนแบกหม้อน้ำมันที่รั่วทะลุ จึงมีน้ำมันไหลออกอยู่
เมื่อพระเถระ กราบทูลอุปมาตนเองเหมือนเด็กจัณฑาล เหมือนผ้าชี้ริ้ว เป็นต้น ภิกษุ ปุถุชนถึงกับตื้นตัน ไม่อาจอดกลั้นน้ำตาได้ พระขีณาสพก็เกิดธรรมสังเวช ส่วนภิกษุผู้กล่าวฟ้อง ก็เกิดความเร่าร้อนขึ้นในกาย หมอบกราบลงแทบพระบาทของพระศาสดา แล้วกล่าวขอขมาโทษต่อพระเถระ
•
พระเถระถูกพราหมณ์ตี พระเถระผู้เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติคุณธรรมต่าง ๆ ชื่อเสียงฟุ้งขจรไปทั่วชมพูทวีป หมู่มนุษย์ทั้งหลายพากันยกย่องสรรเสริญในจริยาวัตรของท่าน คุณธรรมอันเป็นเลิศอีกประการหนึ่งของพระเถระก็คือ ความไม่โกรธ ไม่มีใครจะสามารถทำให้ท่านโกรธได้ แม้ท่านจะถูกพวกมิจฉาทิฏฐิตำหนิ ด่าหรือตีท่านก็ไม่เคยโกรธ ได้มีพราหมณ์คนหนึ่งต้องการจะทดลองคุณธรรมของท่านว่าจะสมจริงดังคำร่ำลือหรือไม่ วันหนึ่ง พระเถระ กำลังเดินบิณฑบาตในหมู่บ้าน พราหมณ์นั้นได้โอกาสจึงเดินตามไปข้างหลังแล้วใช้ฝ่ามือตีเต็มแรงที่กลางหลังพระเถระ
พระเถระ ยังคงเดินไปตามปกติ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่แสดงอาการแม้สักว่าเหลียวกลับมามองดูขณะนั้น ความเร่าร้อนเกิดขึ้นทั่วสรีระของพราหมณ์นั้น เขาตกใจมากรีบหมอบกราบลงแทบเท้าของพระเถระ พร้อมกับกล่าววิงวอนให้พระเถระ ยกโทษให้ พระเถระจึงถามว่า:-
“ดูก่อนพราหมณ์ นี่อะไรกัน ?"
“ข้าแต่พระคุณเจ้า กระผมตีท่านที่ข้างหลังเมื่อสักคู่นี้ ขอรับ”
“ดูก่อนพราหมณ์ เอาล่ะ ช่างเถิด เรายกโทษให้”
“ข้าแต่พระคุณเจ้า ถ้าท่านยกโทษให้กระผมจริง ก็ขอให้ท่านเข้าไปฉันภัตตาหารในบ้านของกระผมด้วยเถิด”
พระเถระ ส่งบาตรให้พราหมณ์นั้นแล้วเดินตามเข้าไปฉันภัตตาหารในบ้านของพราหมณ์ ตามคำอาราธนา คนทั้งหลายเห็นพราหมณ์ตีพระเถระแล้ว ก็รู้สึกโกรธ จึงพากันมายืนรอโอกาสเพื่อจะทำร้ายพราหมณ์นั้น พระเถระเมื่อเสร็จภัตกิจแล้วส่งบาตรให้พราหมณ์ถือเดินตามออกมา คนทั้งหลายเห็นพราหมณ์นั้นถือบาตรเดินตามพระเถระออกมาก็ไม่กล้าทำอะไร ได้แต่พากันพูดว่า “พระเถระถูกพราหมณ์ตีแล้วยังเข้าไปฉันภัตตาหารในบ้านของเขาอีก” พระเถระเห็นหมู่คนมีท่อนไม้ในมือยืนรอกันอยู่จึงถามว่า:-
“ดูก่อนท่านทั้งหลาย นี่เรื่องอะไรกัน ?”
“ข้าแต่พระคุณเจ้า พราหมณ์ผู้นี้ตีท่าน ดังนั้น พวกเราจะทำร้ายเขาเพื่อเป็นการทำโทษเขา ขอรับ”
“ก็พราหมณ์ผู้นี้ ตีพวกท่านหรือตีอาตมาเล่า ?”
“ตีพระคุณเจ้า ขอรับ”
“เมื่อเขาตีอาตมา และอาตมาก็ยกโทษให้เขาแล้ว ดังนั้น โทษคือความผิดของเขาจึงไม่มี พวกท่านจะทำโทษเขาด้วยเรื่องอะไร ?” พวกคนเหล่านั้น ฟังคำของพระเถระแล้ว ไม่มีคำพูดอะไรที่จะนำมาโต้แย้งได้ จึงพากันหลีกไป
•
พระเถระถูกนันทกยักษ์ทุบ สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดาประทับอยู่ที่พระเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ ส่วนพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานเถระ อัครสาวกทั้งสองได้ปลีกตัวจาริกไปอยู่ ณ กโปตกันทราวิหาร (วิหารที่สร้างใกล้ซอกเขาซึ่งเป็นที่อยู่ของนกพิราบ)
ในดิถีคืนเดือนเพ็ญพระจันทร์เต็มดวง พระสารีบุตรเถระซึ่งปลงผมใหม่ ๆ นั่งเข้าสมาธิอยู่ในที่กลางแจ้ง ขณะนั้นมียักษ์ ๒ ตน ผ่านมาทางนั้น ยักษ์อีกตนหนึ่ง เป็นสัมมาทิฏฐิ เคารพเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ยักษ์นันกะ เห็นพระเถระแล้วนึกอยากจะตีที่ศีรษะของท่านจึงบอกความประสงค์ของตนกับสหาย แม้ยักษ์ผู้เป็นสหายจะกล่าวห้ามปรามถึง ๓ ครั้งว่า:-
“อย่าเลยสหาย อย่าทำร้ายสมณศากยบุตรพุทธสาวกเลย สมณะรูปนี้มีคุณธรรมสูงยิ่งนักมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก” ยักษ์นันทกะ ไม่เชื่อคำห้ามปรามของสหาย ใช้ไม้กระบองตีพระเถระ ศีรษะอย่างเต็มแรง ซึ่งความแรงนั้นสามารถทำให้ช้างสูง ๘ ศอก จมดินได้ หรือสามารถทำลายยอดภูเขาขนาดใหญ่ให้ทลายลงได้ และในทันใดนั้นเอง เจ้ายักษ์มิจฉาทิฏฐิ ตนนั้นก็ร้องลั่นว่า “โอ๊ย ! ร้อนเหลือเกิน” พอสิ้นเสียงร่างของมันก็จมลงในแผ่นดิน เข้าไปสู่ประตูมหานรกอเวจี ณ ที่นั้นเอง เหตุการณ์ครั้งนี้ พระมหาโมคคัลลานเถระ ได้เห็นโดยตลอด ด้วยทิพยจักษุ รุ่งเช้าจึงเข้าไปหาพระสารีบุตรแล้วถามว่า:-
“ท่านสารีบุตร ยังสบายดีอยู่หรือ ที่ยักษ์ตีท่านนั้น อาการเป็นอย่างไรบ้าง ?”
“ท่านโมคคัลลานะ ผมสบายดี แต่รู้สึกเจ็บที่ศีรษะนิดหน่อย”
พระมหาโมคคัลลานะ ได้ฟังแล้วก็กล่าวว่า “น่าอัศจรรย์จริง ๆ ไม่เคยเห็นมาก่อนเลย ท่านสารีบุตรนี่มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากจริง ๆ ถูกยักษ์ตีรุนแรงขนาดนี้ ยังบอกว่าเพียงแต่เจ็บที่ศีรษะนิดหน่อย”
ส่วนพระสารีบุตร ก็กล่าวชมพระมหาโมคคัลลานะว่า “ช่างน่าอัศจรรย์ เช่นกัน ท่านโมคคัลลานะ ท่านก็มีฤทธานุภาพมากหาผู้เสมอเหมือนมิได้ ท่านเห็นแม้กระทั่งยักษ์ ส่วนผมเองแม้แต่ปีศาจคลุกฝุ่นสักตน ก็ยังไม่เคยเห็นเลย”
พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงสดับเสียงการสนทนาของพระเถระทั้งสอง ด้วยพระโสตทิพย์ จึงทรงเปล่งพุทธอุทานนี้ว่า:-
“ผู้ใดมีจิตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวดุจภูเขา ไม่กำหนัดในอารมณ์อันชวนให้กำหนัด ไม่ขัดเคืองในอารมณ์อันชวนให้ขัดเคือง ผู้อบรมจิตได้อย่างนี้ ความทุกข์จะมีได้อย่างไร”
•
เป็นต้นแบบการทำสังคายนา สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เมืองปาวา ของเจ้ามัลละทั้งหลาย พระพุทธองค์รับสั่งให้พระสารีบุตรแสดงธรรมแก่หมู่ภิกษุสงฆ์ที่มากระชุมกัน พระเถระเห็นเป็นโอกาสอันเหมาะสม จึงยกเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นแก่พวกนิครนถ์ ซึ่งทะเลอะวิวาทกันด้วยเรื่องความเห็นไม่ ลงรอยกันเกี่ยวกับคำสอนของอาจารย์ผู้ล่วงลับไปแล้ว ขึ้นมาเป็นมูลเหตุ แล้วกล่าวแก่พระสงฆ์ในสมาคมนั้นว่า
“ดูก่อนท่านทั้งหลาย บรรดาธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ท่านทั้งหลายถึงร้อยกรองให้เป็นหมวดหมู่ ไม่ควรทะเลอะวิวาทกันด้วยธรรมนั้น เพื่อให้พรหมจรรย์อยู่ยั่งยืนตลอดกาลนาน อันจะนำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่ชนหมู่มาก เป็นการอนุเคราะห์แก่สัตว์โลก” แล้วพระเถระ ก็จำแนกหัวข้อธรรมออกเป็นหมวดใหญ่ ๆ ได้ ๑๐ หมวด สะดวกแก่การจดจำและสาธยาย และจัดเป็นหมวดย่อย ๆ อีกเพื่อมิให้สับสนแก่พุทธบริษัทในการที่จะนำไปปฏิบัติ นับว่าพระเถระ เป็นผู้มองการณ์ไกล ป้องกันความสับสนแตกแยกของพุทธบริษัทในภายหลัง และการกระทำของพระเถระ ในครั้งนี้ ได้เป็นแบบอย่างของการทำสังคายนาหลังพุทธปรินิพพานสืบต่อมา
•
พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรนิพพาน ในปัจฉิมโพธิกาล ขณะที่พระบรมศาสดาประทับ ณ พระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี พระสารีบุตรถวายวัตปฏิบัติแด่พระบรมศาสดาแล้ว กราบทูลลาไปสู่ที่พักของตนนั่งสมาธิเข้าสมาบัติ เมื่อออกจากสมาบัติแล้วพิจารณาตรึกตรองว่า “ธรรมดาประเพณีแต่โบราณมา พระบรมศาสดาทรงนิพพานก่อน หรือพระอัครสาวกนิพพานก่อน” ก็ทราบแน่ชัดในใจว่า “พระอัครวาวกนิพพานก่อน”
จากนั้นได้พิจารณาอายุสังขารของตนเองก็ทราบว่า “จะมีอายุดำรงอยู่ได้ อีก ๗ วัน เท่านั้น” จึงพิจารณาต่อไปว่า “เราควรจะไปนิพพานที่ไหนดีหนอ และพระเถระ ก็นึกถึงพระราหุลว่า พระราหุล ไปนิพพานที่ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ที่ดาวดึงส์เทวโลก พระอัญญาโกณฑัญญะ ไปนิพพานที่สระฉัททันต์ ป่าหิมพานต์”
ลำดับนั้น พระเถระได้ปรารภถึงมาดาของตนว่า:-
“มารดาของเรานี้ ได้เป็นมารดาของพระอรหันต์ถึง ๗ องค์ ถึงกระนั้นก็ยังไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย แล้วอุปนิสัยมรรคผลจะพึงมีแก่มารดาของเราบ้างหรือไม่หนอ”
ครั้นพระเถระพิจารณาไปก็ได้ทราบว่า “มารดานั้นมีอุปนิสัยแห่งพระโสดาบัน” จึงตกลงใจที่จะไปนิพพานที่บ้านของตน เพื่อโปรดมารดาเป็นวาระสุดท้าย
เมื่อคิดดังนี้แล้ว พระเถระได้สั่งให้พระจุนทะ ผู้เป็นน้องชาย ให้ไปแจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นศิษย์ว่า “จะไปเยี่ยมมารดาที่นาลันทา ขอให้ภิกษุทั้งหลายเตรียมบริขารให้พร้อม เพื่อเดินทางไปด้วยกัน” จากนั้นพระเถระ ก็ทำความสะอาดปัดกวาดกุฏิที่พักอาศัยของตน แล้วออกมายืนดูข้างนอก พลางกล่าวว่า “การได้เห็นที่พักอาศัยครั้งนี้เป็นปัจฉิมทัศนา โอกาสที่จะได้กลับมาเห็นอีกนั้นไม่มีอีกแล้ว” เมื่อพระสงฆ์มาพร้อมกันแล้ว พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ก็พาพระสงฆ์เหล่านั้นไปเฝ้าพระบรมศาสดา กราบทูลลาว่า:-
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บัดนี้ ชีวิตของข้าพระองค์เหลืออีก ๗ วัน เท่านั้น ข้าพระองค์ขอถวายบังคมลาปรินิพพาน ขอพระองค์ทรงพระกรุณาอนุญาตให้ข้าพระองค์สละอายุสังขารในครั้งนี้ด้วยเถิด พระเจ้าข้า”
“สารีบุตร เธอจะไปนิพพานที่ไหน ?”
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์จะไปนิพพาน ณ ห้องที่ข้าพระองค์เกิดในเมืองของมารดา พระเจ้าข้า”
“สารีบุตร เธอจงกำหนดการนั้นโดยควรเถิด สารีบุตร บรรดาภิกษุน้อย ๆ ของเธอ จะได้เห็นพี่ชายดุจเธอนั้นได้ยากยิ่ง เธอจงแสดงธรรมอันเป็นที่ต้องแห่งความระลึกแก่ภิกษุน้อง ๆ ของเธอเหล่านั้นเถิด”
พระเถระเมื่อได้รับพุทธประทานโอกาสเช่นนั้น จึงแสดงปาฏิหาริย์ เหาะขึ้นไปบนอากาศสูง ๑ ชั่วลำตาล จนถึง ๗ ชั่วลำตาลโดยลำดับ แล้วกลับลงมาถวายบังคมพระบรมศาสดา ในแต่ละครั้ง จากนั้นจึงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ณ ท่ามกลางอากาศแล้วลงมาถวายบังคมลา พระผู้มีพระภาค คลานถอยออกจากพระคันธกุฎี
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จลุกออกมาส่งพระเถระ ถึงหน้าพระคันธกุฎี พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร กระทำประทักษิณเวียน ๓ รอบ ประคองอัญชลี นมัสการทั้ง ๔ ทิศ พลางกราบทูลลาว่า:-
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ในที่สุดอสงไขยแสนกัปล่วงมาแล้ว ข้าพระองค์ได้หมอบลงแทบพระบาทแห่งอโนมทัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตั้งปณิธานปรารถนาพบพระองค์ และแล้ว มโนรถของข้าพระพุทธเจ้า ก็สำเร็จสมประสงค์ ตั้งแต่ได้เห็นพระองค์เป็นปฐมทัศนา บัดนี้ การได้เห็นพระองค์ ผู้เป็นนาถะของข้าพระพุทธเจ้าเป็นปัจฉิมทัศนา โอกาสที่จะได้เห็นพระองค์ ไม่มีอีกแล้ว”
พระเถระ กราบทูลเพียงเท่านี้แล้ว ถวายบังคมออกไปได้ระยะพอสมควรก้มกราบนมัสการลงที่พื้นพสุธา บ่ายหน้าออกจากพระเชตะวันมหาวิหารพร้อมด้วยภิกษุผู้เป็นบริวาร ๕๐๐ องค์ ท่านพระเถระเดินทาง ๗ วัน ก็ถึงบ้านนาลันทา หยุดพักภายใต้ร่มไม้ใกล้หมู่บ้านนั้นและในเย็นวันนั้น อุปเรวัตตกุมาร ผู้เป็นหลานชายของท่าน ออกมานอกบ้านพบท่านแล้วจึงเข้าไปนมัสการ พระเถระสั่งหลานชายให้ไปแจ้งแก่โยมมารดาให้ทราบว่า “ขณะนี้ท่านมาพักอยู่นอกบ้าน ให้จัดห้องที่ท่านเกิดไว้ให้ท่านด้วย”
ฝ่ายนางพราหมณี มารดาของพระเถระได้ทราบข่าวก็ดีใจคิดว่า “ลูกชายบวชตั้งแต่หนุ่มคงจะเบื่อหน่ายแล้วมาสึกเอาตอนแก่” จึงสั่งให้คนรีบจัดห้องให้พระลูกชายพัก และสถานที่สำหรับพระสงฆ์ที่ติดตามมาด้วยเหล่านั้น เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงให้อุปเรวัตตกุมารไปนิมนต์พระเถระพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์เข้ามาในบ้าน
•
เทศน์โปรดโยมแม่แล้วนิพพาน ในราตรีนั้น พระเถระเกิดอาพาธอย่างแรงกล้า ถึงกับอาเจียนและถ่ายออกมาเป็นโลหิต แต่ก็อดกลั้นด้วยขันติธรรม ได้แสดงธรรมโปรดมารดาพรรณา พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ ยังมารดาให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา ได้ชื่อว่ากระทำปฏิการะสนองคุณมารดาดังที่ตั้งใจมา ปิดประตูนรก เปิดประตูสวรรค์ ให้แก่มารดาได้สำเร็จ
ลำดับนั้น พระเถระบอกให้โยมมารดาออกไปข้านอกแล้วถามพระจุนทะน้องชายว่า
“ขณะนี้เวลาล่วงราตรีสู่ยามที่เท่าไร ?” พระจุนทะน้องชายตอบว่า
“ใกล้รุ่งสว่างแล้ว” จึงสั่งให้ไปบอกแก่ภิกษุทั้งหลายให้มาประชุมพร้อมกัน
เมื่อทุกท่านมาพร้อมแล้ว ขอให้พระจุนทะช่วยพยุงกายลุกขึ้นนั่งแล้วกล่าวว่า:-
“ดูก่อนอาวุโส ท่านทั้งหลายติดตามข้าพเจ้ามาเป็นเวลา ๔๔ พรรษา แล้ว กายกรรม และวจีกรรมอันใดของเรา ที่ท่านทั้งหลายมิชอบใจหากจะพึงมีขอท่านทั้งหลาย จงงดอดโทษกรรมอันนั้นแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด”
ภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นศิษย์ ตอบพระเถระว่า:-
“ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าทั้งหลาย ติดตามท่านดุจเงาตามตัว มาตลอดกาลประมาณเท่านี้ กรรมอันใดของท่านที่มิชอบใจแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายนั้นไม่มีเลย แต่หากว่าข้าพเจ้าทั้งหลายมีความประมาทพลาดพลั้ง ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งต่อพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ขอท่านจงงดอดโทษานุโทษนั้นแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วยเถิด”
เมื่อแสงเงินแสงทอง อันเป็นสัญญาณแห่งรุ่งอรุณปรากฏขึ้น พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ก็ดับขันธปรินิพพาน ในวันปุรณมีขึ้น ๑๕ ค่ำ เพ็ญเดือน ๑๒
ครั้นเมื่อสว่างดีแล้ว พระจุนทะพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์และหมู่ญาติ ประกอบพิธีคารวะศพพระเถระแล้วนำไปสู่เชิงตะกอนทำพิธีฌาปนกิจ เมื่อเพลิงดับแล้วพระจุนทะได้นำอัฐิธาตุ และบริขารคือบาตรและจีวรของพระสารีบุตร ไปถวายแด่พระพุทธองค์ ซึ่งก็รับสั่งให้สร้างเจดีย์บรรจุอัฐิพระเถระที่ซุ้มประตู แห่งพระเชตะวันมหาวิหารนั้น