สวัสดีครับ ชาวซีมะโด่ง ที่รักทุกท่าน
เพื่อให้ทุกท่านได้ทำบุญ อย่างใจมีปีติ ผมจึงนำเรื่องบุญกิริยา มานำเสนอให้ทุกท่านได้พิจารณาด้วยปัญญาของท่านเองครับ และขอให้ทุกท่านที่จะเดินทางไปทำบุญตามวันต่างๆ นั้น เดินทางด้วยความปลอดภัยทุกท่านครับ
สวัสดี
รู้ธรรมวันละนิด จิตผ่องใส
ตอน
บุญกิริยา
บุญ เพื่อสร้างสรรค์ชีวิตและชุมชน
พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
หลักการให้ที่ต้องรู้ไว้เพื่อทำบุญให้ถูกต้อง
“บุญ” เป็นคำสื่อธรรมที่สำคัญคำหนึ่งในพระพุทธศาสนา ยิ่งเมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามารุ่งเรืองในสังคมไทย คำว่า “บุญ” ก็ยิ่งมีความสำคัญโดดเด่นเป็นพิเศษ แม้เมื่อสังคมเหินห่างออกไปจากเนื้อหาสาระของพระพุทธศาสนา คนทั่วไปไม่มีโอกาสศึกษาขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักธรรมโนพระพุทธศาสนา แต่คำว่า “บุญ” ก็ยังเป็นคำสามัญในสังคมไทย ที่คุ้นปากชินใจและถูกนำมาใช้นำมาอ้างกันอยู่เสมอ แม้ว่าความหมายที่เข้าใจนั้น อาจจะลางเลือนหรือคลาดเคลื่อนออกไปจากหลักการที่แท้จริง
เมื่อมีโอกาสจึงควรทบทวนหรือชำระสะสางความรู้ความเข้าใจให้ถูกต้องตรงตามหลักจึงเป็นแหล่งที่มาตัวจริง เพื่อว่าเราจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องและได้รับประโยชน์จาก “บุญ” อย่างเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งก็หมายความว่าจะเข้าถึงคุณค่าที่แท้ของพระพุทธศาสนา อย่างน้อยไม่ปฏิบัติผิดพลาดจนกลายเป็นว่าจะทำบุญแต่กลับสร้างบาป
คนไทยที่ใกล้วัดสักหน่อยจะจำได้แม่นว่า การทำบุญ มี 3 ทาง คือทาน ศีล ภาวนา แต่ความเข้าใจเกี่ยวกับคำทั้ง 3 นั้น อาจจะไม่ชัดเจนและไม่กว้างขวางเพียงพอ
พุทธพจน์สำคัญแห่ง ซึ่งเป็นที่มาของหลักการทำบุญ 3 อย่างนี้ มีว่า
“ภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุ(หลักแห่งบุญกิริยา คือการทำบุญ) มี3 อย่าง ดังนี้ กล่าวคือ
1. ทานมัย บุญกิริยาวัตถุ (หลักการทำบุญ คือทาน )
2. ศีลมัย บุญกิริยาวัตถุ (หลักการทำบุญ คือ ศีล)
3. ภาวนามัย บุญกิริยาวัตถุ (หลักการทำบุญคือ ภาวนา)
1. ทาน ได้แก่ การให้ การเผื่อแผ่แบ่งปัน
2. ศีล ได้แก่ ความประพฤติสุจริต มีกาย วาจาที่เกื้อกูล ไม่เบียดเบียนกัน
3. ภาวนา ได้แก่ การฝึกอบรมพัฒนาจิตใจเจริญ ปัญญา
หลักการทำบุญ 3 อย่างนี้ มีความหมายและขอบเขตที่กว้างขวางมาก เกินความหมายของคำว่า"จริยธรรม" อย่างที่เข้าใจกันในปัจจุบัน พูดสั้นๆ ว่าครอบคลุมกระบวนการพัฒนามนุษย์ทั้งหมด แต่ในขั้นต้น จะเห็นความหมายพื้นฐานได้จากพุทธพจน์ที่ตรัสเป็นคาถาสรุปหลักการทำบุญ 3 อย่างข้างต้นนั้นว่า
ปุญฺญเมว โส สกฺเขยฺย อายตคฺคํ สุขุทฺรยํ
ทานญฺจ สมจริยญฺจ เมตฺตจิตฺตญฺจ ภาวเย
เอเต ธมฺเม ภาวยิตฺวา ตโย สุขสมุทฺทเย
อพฺยาปชฺฌํ สุขํ โลกํ ปณฺฑิโต อุปปชฺชติ ฯ
แปลว่า : “คนผู้ใฝ่ประโยชน์ ควรศึกษาบุญนี่แหละ ซึ่งมีผลกว้างขวางยิ่งใหญ่ อำนวยสุขให้ คือควรเจริญทาน ควรพัฒนาความประพฤติที่ชอบธรรมและควรเจริญเมตตาจิต ครั้นเจริญธรรม 3 ประการนี้อันเป็นแหล่งที่ก่อเกิดความสุขแล้ว บัณฑิตย่อมเข้าถึงโลกที่เป็นสุข ไร้การเบียดเบียน”
มีข้อควรสังเกตในคาถาพุทธพจน์นี้ อย่างน้อย 3 ประการ
1) ตรัสว่า “ควรศึกษาบุญ” คือ ควรฝึกควรหัด ควรหมั่นทำ แสดงว่าบุญเป็นคุณสมบัติที่ควรศึกษา คือ ควรพัฒนาก้าวหน้าสูงขึ้นไป ไม่ใช่หยุดอยู่แค่เดิมและขั้นเดิม (ใน 3 ขั้นนั้น)
2) การทำบุญทั้ง 3 ขั้นนั้น ว่าโดยภาพรวมจะเห็นว่าทรงเน้นการอยู่ร่วมกันด้วยดี ด้วยการเกื้อกูลกันในสังคม เป็นพื้นฐานก่อน โดยเผื่อแผ่แบ่งปันกัน(ทาน) ไม่เบียดเบียนกัน (ศีล) และในขั้นภาวนา ทรงเน้นให้เจริญเมตตา คือความรักความหวังดี อยากให้คนอื่นเป็นสุข ให้ทำประโยชน์แก่กัน (เมตตา)
3) ผลจากการศึกษา คือพัฒนาบุญทั้ง 3 นี้ ก็จะเข้าถึงโลกที่เป็นสุข ไร้การเบียดเบียน
ทำไมบุญจึงเน้นทาน และเริ่มด้วยทาน
ว่าที่จริง การที่พระพุทธเจ้าตรัสยก “ทาน” ขึ้นเป็นหลักการทำบุญข้อแรก ก็แสดงอยู่ในตัวแล้วว่าทรงเน้นการเกื้อกูลกันในสังคม แต่ก็ต้องถามต่อไปอีกว่าเหตุใดการเกื้อกูลกันในสังคม จึงต้องเริ่มต้นด้วยทาน
ด้วยการยกทานขึ้นตั้งเป็นข้อแรก พระพุทธศาสนาเน้นความสำคัญของวัตถุ
แต่พร้อมกันนั้น การที่พระพุทธเจ้าตรัสทานนั้นไว้ในหลักบุญกิริยา 3 ที่รวมกันเป็นชุด โดยมีศีล และภาวนามาต่อ ก็เป็นการบอกถึงขอบเขตความสำคัญของวัตถุ พร้อมทั้งสอนให้รู้จักใช้ประโยชน์จากวัตถุให้ถูกต้องด้วย
วัตถุหลากหลาย โดยเฉพาะปัจจัย 4 เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ และเป็นพื้นฐานที่มนุษย์ต้องอาศัยเพื่อก้าวต่อไปในการสร้างสรรค์สิ่งดีงามที่สูงขึ้นไป สังคมที่ดีจึงต้องวางระบบจัดสรรเพื่อเป็นหลักประกันให้มนุษย์ทุกคนที่เป็นสมาชิกของสังคมนั้นมีวัตถุโดยเฉพาะปัจจัย 4 นั้น เพียงพอแก่ความเป็นอยู่และเป็นพื้นฐานที่จะพัฒนาชีวิตให้ก้าวสูงขึ้นไป
ในหลักการของพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า“ธรรมวินัย” นั้น ส่วนที่เรียกว่า วินัย ของพระภิกษุได้ให้ความสำคัญอย่างมากแก่การจัดสรรและปฏิบัติต่อวัตถุ โดยเฉพาะปัจจัย 4 นี้
ส่วนในสังคมใหญ่ของชาวบ้าน “ทาน” ก็เข้ามา ณ จุดนี้ด้วยเหตุผล 2 ประการ
1) ด้านบุคคล : เนื่องจากความเป็นในการที่จะอยู่รอดและหาความสุข มนุษย์ทั้งหลายต่างก็ดิ้นรนแสวงหาวัตถุเสพบริโภคให้แก่ตน เมื่อทำเช่นนั้นอยู่เสมอก็จะเกิดความเคยชินของจิตใจที่มุ่งจะหาและคิดจ้องแต่จะได้จะเอา ตอกย้ำความเห็นแก่ตัว และถ้าทุกคนเป็นอย่างนั้น ก็จะมีแต่ความขัดแย้งแย่งชิงเบียดเบียนกัน
เพื่อสร้างดุลยภาพขึ้นในจิตใจของคน ให้มีความคิดที่จะให้ขึ้นมาคู่กับความคิดที่จะได้จะเอา จึงให้มีหลัก “ทาน” ขึ้นมา เป็นการฝึกฝนขัดเกลาพฤติกรรมและจิตใจของมนุษย์ พร้อมกันนั้นก็เป็นการสร้างดุลยภาพขึ้นในสังคมไปพร้อมกันด้วย
2) ด้านสังคม :ในการแสวงหาวัตถุ เซ่นปัจจัย 4นั้น มนุษย์มีโอกาส มีกำลัง มีสติปัญญาความสามารถไม่เท่ากัน เมื่อต่างคนต่างมุ่งแต่จะหาจะได้จะเอาคนที่มีโอกาส-กำลัง-ความสามารถมากกว่า ก็จะได้เปรียบ กอบโกยเอามาให้แก่ตน ตลอดจนข่มเหง รังแกครอบงำผู้อื่น ส่วนคนที่ด้อยโอกาส-กำลัง-ความสามารถ ก็จะขาดแคลนอดอยากแร้นแค้น มีความทุกข์มากและก็ต้องคอยหาทางแอบแฝงแย่งชิงเอาจากคนที่มีมากกว่า และคนที่มั่งมีนั้น ก็หาเป็นสุขได้จริงไม่ เมื่อมองโดยรวม ก็คือ เป็นสังคมแห่งการเบียดเบียน
ด้วยเหตุนี้ นอกจากจะต้องมีการจัดตั้งวางระบบระเบียบในการอยู่ร่วมและสัมพันธ์กัน ไม่ให้คนละเมิดต่อกัน ด้วยกฎหมาย ข้อบังคับ หรือกติกาต่างๆ คือวินัยในขั้นของศีลแล้ว สิ่งที่เป็นพื้นฐานยิ่งกว่านั้น ก็คือ การปฏิบัติต่อวัตถุ เช่น ปัจจัย 4 นั้นเอง ให้เป็นเครื่องเกื้อหนุนความอยู่ดีร่วมกัน แทนที่จะให้วัตถุกลายเป็นเหตุแห่งการเบียดเบียนกัน ดังนั้น “ทาน” จึงเข้ามาทำหน้าที่นี้ เพื่อให้มีการแบ่งปันวัตถุแก่กัน ช่วยให้ผู้ด้อยโอกาส-กำลัง-ความสามารถ ก็เป็นอยู่ได้ และผู้มั่งมีก็อยู่เป็นสุขไม่ต้องหวาดระแวง ทำให้สังคมร่มเย็น มีสันติสุข
ทานในระบบของการทำบุญ
อย่างไรก็ดี ความจำเป็นและความสำคัญของวัตถุ ก็มีขอบเขตที่ต้องสำนึกตระหนักไว้ การมีวัตถุเพียงพอ หรือพรั่งพร้อมเท่านั้น ยังไม่พอที่จะให้ชีวิตและสังคมดีงาม ถ้าไม่มีระบบการพัฒนามนุษย์ที่ถูกต้องวัตถุแม้แต่ที่พรั่งพร้อมก็จะเป็นโทษแก่มนุษย์เองอย่างน้อยก็ทำให้จมอยู่กับความฟุ้งเฟ้อลุ่มหลงมัวเมาประมาท และใช้วัตถุในทางที่ก่อผลร้าย
การปฏิบัติที่ถูกต้องต่อวัตถุ คือ ให้มันเป็นพื้นฐานที่เราจะได้อาศัยในการที่จะนำชีวิตและสังคมก้าวขึ้นสู่ความดีงามและการสร้างสรรค์ที่สูงขึ้นไป ดังที่ทางพระเรียกวัตถุทั้งหลายว่า "ปัจจัย” บ้าง “นิสสัย” บ้าง คือมิใช่ให้ความพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจเป็นจุดหมาย แต่ให้เป็นเครื่องอาศัยเกื้อหนุน หรือเป็นตัวเอื้อต่อการพัฒนาชีวิตที่ประเสริฐ และการสร้างสรรค์สังคมที่เป็นสุข
ที่พูดตรงนี้สำคัญมาก จะต้องย้ำกันให้มากว่าเราจะต้องมองวัตถุหรือความเจริญพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัย คือเป็นเครื่องเกื้อหนุนให้เราก้าวขึ้นสู่ประโยชน์สุขความดีงามที่สูงขึ้นไป ไม่ใช่เป็นจุดหมาย
ถึงตอนนี้ ทาน จึงเข้ามาอยู่ในระบบการพัฒนามนุษย์ที่มีองค์ร่วม 3 ซึ่งเรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ โดยมีบุญกิริยาข้อที่ 2 และ 3 มาประสานและรับช่วงต่อ
ทาน เป็นบุญกิริยา คือ การทำบุญ ซึ่งแปลง่ายๆก็คือการทำความดี เพราะบุญ แปลว่า ความดี แต่โดยตัวศัพท์เอง “บุญ” แปลว่า
1) เครื่องชำระ สิ่งที่ทำให้สะอาด หรือคุณสมบัติที่ทำให้บริสุทธิ์
2) คุณสมบัติที่ทำให้เกิดภาวะที่น่าบูชา คือ ควรยกย่องนับถือ.
ทาน คือ การให้ หรือแบ่งปัน เป็นเครื่องชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ในระดับหนึ่ง คือชำระล้าง หรือกำจัดกิเลส โดยเฉพาะความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความมีใจคับแคบ ตระหนี่ และความเป็นทาสของวัตถุ พร้อมทั้งทอนกำลังของความยึดติดถือมั่นในตัวตนให้เบาบางลดน้อยลง ทำให้ใจเปิดกว้างและเป็นอิสระมากขึ้น จึงเป็นการเตรียมจิตใจให้พร้อม ที่จะบ่มเพาะเพิ่มพูนคุณความดีและการทำบุญอื่นๆ ที่สูงขึ้นไป
ดังนั้น ทาน นอกจากเป็นเครื่องเกื้อหนุนสังคมในทางวัตถุด้วยการกระจายผู้บริโภคให้ทั่วถึงกัน ลดความกดดันในสังคม และยึดเหนี่ยวสังคมให้มีเอกภาพให้คนเป็นอยู่โดยไม่ต้องเบียดเบียนแย่งชิงกัน เป็นเครื่องสนับสนุน "ศีล" แล้ว ก็ช่วยให้ก้าวต่อไปใน "ภาวนา" ด้วย เริ่มด้วยเป็นปัจจัยต่อกันกับเมตตา พร้อมกับพัฒนาความสุข
เมื่อคิดจะได้จะเอา เราจะมองหรือจ้องไปที่วัตถุแล้วพร้อมกันนั้นก็จะเกิดความรู้สึกหวาดระแวงต่อคนอื่น ทำให้เกิดทัศนคติต่อเพื่อนมนุษย์แบบเป็นคู่แข่งหรือเป็นปฏิปักษ์ การคิดจะได้จะเอา จึงเป็นปัจจัยแก่โทสะ ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้ง แล้วทุกข์และปัญหาก็ตามมา
แต่เมื่อคิดจะให้ เราจะมองไปที่คน จะเห็นหน้าตา เห็นสุขทุกข์ และความต้องการของเขา ความเข้าใจเห็นใจจะเกิดขึ้น แล้วก็จะเกิดเมตตา (ความต้องการให้เขาเป็นสุข) และกรุณา (ความต้องการให้เขาพ้นจาก ทุกข์ )
เมื่อเกิดความต้องการใหม่นั้น คือ ความต้องการให้คนอื่นพ้นจากทุกข์ (กรุณา) และความต้องการให้เขาเป็นสุข (เมตตา) เราก็หาทางสนองความต้องการนั้นของเรา ด้วยการพยายามช่วยให้เขาพ้นจากทุกข์และมีความสุข และเมื่อนั้น การให้แก่เขาก็กลายเป็นการสนองความต้องการของเรา แต่เป็นความต้องการที่เป็นบุญเป็นกุศล ที่เรียกว่า เมตตากรุณา และเมื่อได้สนองความต้องการนั้นแล้ว เราก็มีความสุข ถึงตอนนี้การให้ก็กลายเป็นความสุข
โดยนัยนี้ ทานบุญกิริยา คือ การทำบุญด้วยการให้ จึงเป็นปัจจัยแก่ภาวนา ในด้านการพัฒนาจิตใจชึ่งทำให้เกิดทั้งเมตตา กรุณา และความสุข และความสุขนั้นก็เป็นความสุขแบบประสานทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งผู้รับก็เป็นสุข และผู้ให้ก็มีความสุข เสริมสร้างไมตรีระหว่างกัน ต่างจากความสุขจากการได้ ชึ่งเป็นความสุขแบบแบ่งแยกและแก่งแย่ง ทีฝ่ายหนึ่งได้ อีกฝ่ายหนึ่งก็เฉยหรืออด ฝ่ายหนึ่งสุข อีกฝ่ายหนึ่งทุกข์
เมื่อทั้งสองฝ่ายเป็นสุขด้วยกัน ก็คือโลกนี้เป็นสุขบุญจึงเป็นคุณสมบัติที่นำมาซึ่งความสุข ดังพุทธพจน์ว่า
สุขสฺเสตํ ภิกฺขเว อธิวจนํ อิฏฺฐสฺส กนฺตสฺส
ปิยสฺส มนาปสฺส ยทิทํ ปุญฺญานิฯ
แปลว่า : “ภิกษุทั้งหลาย คำว่าบุญนั้นเป็นชื่อของความสุข ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่ารัก น่าพอใจ”
พร้อมกันนั้น บุญขั้นภาวนา ซึ่งในกรณีนี้ คือเมตตากรุณาและความสุข ก็ย้อนกลับมาเป็นปัจจัยแก่ทาน ทำให้เต็มใจและมีความพร้อมที่จะให้ยิ่งขึ้น
จะเห็นว่า การทำบุญที่เรียกว่าทานนี้ ก็คือการช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้านปัจจัยยังชีพและวัตถุเครื่องใช้สอยต่างๆ แก่เพื่อนมนุษย์ ตลอดจนสัตว์ร่วมโลกทั้งหลาย ซึ่งเป็นการยึดเหนี่ยวสังคม (=สังคหะ/ทำให้สังคมมั่นคงและมีเอกภาพ) พร้อมกันไปกับการฝึกฝนพัฒนาตนเอง (=สิกขา/ศึกษา)
บุญในข้อทานนี้โดยทั่วไป จะทำใน 2 กรณี คือ
1. เพื่ออนุเคราะห์คือ ช่วยเกื้อหนุนคนตกทุกข์ได้ยาก อดอยาก ยากไร้ ขาดแคลน หรือประสบภัยพิบัติให้เขามีโอกาสเป็นอยู่และตั้งตัวขึ้นมา
2. เพื่อบูชาคุณ คือ ให้เพื่อยกย่องเชิดชูผู้มีพระคุณ เริ่มแต่พ่อแม่ หรือผู้มีคุณธรรมความดี ที่จะนำคนก้าวไปในการทำความดี และเป็นแบบอย่างแก่สังคม และสนับสนุนผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้มีกำลังที่จะทำความดีได้ยิ่งขึ้นไป
นอกเหนือจากนี้ไปก็เป็นการให้เพื่อแสดงน้ำใจสงเคราะห์กันตามปกติ ด้วยเมตตาไมตรี เช่นชาวบ้านแต่ก่อน วันไหนทำกับแกงแปลกๆ ก็แบ่งเอาไปให้เพื่อนบ้าน ใกล้เคียง
ในสมัยโบราณ บางท่านถึงกับถือเป็นวัตร (ข้อปฏิบัติที่ต้องทำเพื่อฝึกตนเป็นประจำ) ว่า ทุกวันตื่นนอนขึ้นมาแล้ว ถ้ายังไม่ได้ให้อะไรแก่ใคร จะยังไม่รับประทานอาหาร (ถ้าถืออย่างจริงจัง จะเป็นส่วนหนึ่งของการบำเพ็ญบารมี)