สวัสดียามเช้าครับ ชาวซีมะโด่ง ที่รักทุกท่าน
เช้านี้ท่านออกกำลังกาย หรือเจริญสติหรือยังครับ
พี่สิงห์ตื่นตีห้ามานั่งเจริญสติ ดูกาย - ดูใจตนเอง ให้รู้ตัวทั่วพร้อม ไม่ส่งจิตออกนอก และคอยสำรวจใจตัวเอง ตลอดเวลา พอหกโมงเช้าก็อาบน้ำแต่งตัวเดินทางมาที่สนามบินดอนเมือง รับประทานอาหารเช้าที่ร้านสีลมวิลเลียจ นั่งคอยเครื่องบินขึ้น ก็เปิดเครื่อง Computer เพื่อจะอ่านพระสูตรของปรมาจารย์สังฆปรินายก เว่ยหล่าง ครั้งที่สาม เพราะไม่มีอะไรจะอ่าน เป็นการฆ่าเวลา และนั่งเจริญสติไปด้วย
พี่สิงห์นำพระสูตร หมวดที่ ๒ มาลงไว้ให้อ่านกัน ค่อยๆอ่านแบบใช้ปัญญา นะครับ
สวัสดี
พระสูตรเว่ยหล่าง
พุทธทาสภิกขุแปล
หมวดที่ 2
ว่าด้วย-ปรัชญา
***********
วันต่อมา ข้าหลวงไว่ ได้นิมนต์ขอให้พระสังฆปริณายกแสดงธรรมอีก เมื่อพระสังฆปริณายกได้ขึ้นธรรมาสน์ และได้ขอร้องให้ที่ประชุมทั้งสิ้นทำจิตให้ผ่องใสและสวดข้อความแห่งมหาปรัชญาปารมิตาสูตรดัง ๆ พร้อมกันจบลงแล้ว ท่านได้แสดงธรรมด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้:-
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย ปัญญาทำสัตว์ให้ลุถึงการตรัสรู้นั้น มีอยู่ในตัวเราทุกๆ คนแล้ว แต่เป็นเพราะมีอวิชชาความมืดบอดที่ครอบงำใจของเราไว้ เราจึงไม่มองเห็นมันด้วยตนเอง จนเราต้องเที่ยวเสาะแสวงคำแนะนำตักเตือนจากผู้อื่น ที่เขาได้เห็นแจ้งแล้วก่อนหน้าที่เราจะรู้จัก จิตเดิมแท้ ของเราเอง ท่านทั้งหลายควรจะทราบเอาไว้ว่า ถ้าธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ ยังถูกห่อหุ้มเกี่ยวพันอยู่เพียงใดแล้ว มันไม่มีความแตกต่างอะไรกันระหว่างผู้ที่เห็นแจ้งกับผู้ที่มืดบอด ข้อที่แตกต่างกันนั้น มันอยู่ที่คนหนึ่งได้ตรัสรู้แจ่มแจ้ง (เพราะพุทธสภาวะอันเกี่ยวกับผู้นั้นถูกเพิกถอนเครื่องห่อหุ้มได้หมดจดแล้ว) ส่วนอีกคนหนึ่งยังมืดมิดอยู่ เอาละ บัดนี้อาตมาจะได้กล่าวถึงเรื่อง มหาปรัชญาปารมิตากะท่านทั้งหลาย เพราะท่านทุกๆ คนสามารถบรรลุถึงปัญญาอันนั้น.
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย บรรดาพวกคนที่สวดร้องถึงคำว่า "ปรัชญาๆ" (*5) อยู่ตลอดทั้งๆ วัน ก็ดูเหมือนว่าเขาเหล่านั้นไม่ได้ทราบเลยว่าปรัชญานั้น
*5 คำว่าปรัชญา เป็นคำสันสกฤต ตรงกับคำว่า ปัญญา ในภาษาบาลี หรือภาษาไทย แต่ในภาษาไทยนำคำนี้ไปใช้มีความหมายเป็นอย่างอื่นจากคำว่าปัญญา ตามที่ใช้กันอยู่โดยมากใช้หมายถึงหลักความคิด ที่แสดงภูมิแห่งปัญญาอันสูงสุดสายใดสายหนึ่ง แล้วแต่เรียกว่าปรัชญาอะไร หรือปรัชญาของใคร แต่ในสูตรนี้ใช้คำนี้ หมายถึงปัญญาชนิดที่เพียงพอในการที่จะช่วยตัวให้พ้นทุกข์ทั้งปวง และถือว่าปรัชญานั้น มีตามธรรมชาติติดมาในคนทุกๆ คนแล้วแต่ดั้งเดิม หากแต่ว่ามีโมหะมาปกคลุมเสีย คนจึงไม่รู้จักปัญญาชนิดนี้ของตนเอง ทั้งที่มีอยู่แล้ว กลับไปหลงหาปัญญาจากภายนอก ซึ่งเปรียบกับปัญญานี้ไม่ได้ (ผู้แปลไทย พุทธทาส)
มันมีอยู่ในธรรมชาติเดิมของเขาเองแล้ว ก็การที่เพียงแต่พูดกันถึงอาหาร ย่อมไม่อาจบำบัดความหิวได้ฉันใด ในกรณีของบุคคลผู้เอ่ยถึงปรัชญาแต่ปาก ก็ไม่อาจขจัดความมืดบอดได้ฉันนั้น เราอาจพูดกันถึงเรื่องศูนยตา(ความว่าง) เป็นเวลาตั้งแสนกัลป์ก็ได้ แต่ว่าลำพังการพูดอย่างเดียว ไม่สามารถทำให้เราเห็นแจ่มแจ้งในจิตเดิมแท้ได้ และในที่สุดก็ไม่ได้อะไร ตามที่ตนประสงค์เลย
คำว่า "มหาปรัชญาปารมิตา" นี้ เป็นคำสันสกฤต มีความหมายว่า "ปัญญาอันใหญ่หลวง เพื่อให้ลุถึงฝั่งฟากโน้น (แห่งทะเลสังสารวัฏ) สิ่งที่เราต้องทำนั้น คือต้องปฏิบัติมันด้วยใจของเรา จะท่องบ่นมันหรือไม่นั้นไม่ใช่ข้อสำคัญ การท่องบ่นกันเฉยๆ โดยปราศจากการปฏิบัติด้วยใจนั้น จะได้ผลเหมือนกะเราไปเล่นกับอสูรกาย หรือเหมือนกับหยาดน้ำค้างตามใบหญ้า แต่อีกทางหนึ่งนั้น ถ้าเราทำทั้งสองอย่าง(คือทั้งท่องบ่นและปฏิบัติด้วยใจ) แล้วใจของเราก็จะประเสริฐสมคล้อยกับสิ่งที่ปากของเรากำลังท่อง ธรรมชาติแท้ของเรานั้น คือธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ และนอกไปจากธรรมชาติอันนี้แล้วหามีพุทธะที่ไหนอีกไม่เลย
คำว่า "มหา" หมายความว่าอะไร? หมายความว่า "ใหญ่หลวง" ขนาดใจนั้นใหญ่หลวงเหมือนกันกับอวกาศ(*6) มันเป็นสิ่งบัญญัติไม่ได้คือมันไม่ใช่
*6 อวกาศ (space) ในสูตรนี้ หมายถึงเนื้อที่ทั้งหมด ที่สกลจักรวาลนี้ไปบรรจุอยู่ และรวมทั้งที่ยังมีเหลือเป็นที่ว่างเปล่า เช่นท้องฟ้าระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวทั้งหลายเป็นต้น หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง เท่ากับเนื้อที่ของพาหิรากาศ(Ether) ทั้งหมดนั่นเอง (ผู้แปลไทย พุทธทาส)
ของกลมหรือของเป็นเหลี่ยม ไม่ใช่ของซึ่งมีบนมีล่าง ไม่ใช่ของสั้นหรือยาว ไม่ใช่ความชังหรือความชื่น ไม่ใช่ความถูกหรือความผิด ไม่ใช่ของดีหรือของชั่ว ไม่ใช่ของอันแรกหรือของอันสุดท้าย พุทธเกษตร(คือขอบเขตของพุทธะหนึ่งๆ) ทุกๆเกษตรนั้น ว่างเหมือนกันกับอวกาศ อย่างที่จะเป็นอื่นไปไม่ได้เลย แม้ธรรมชาติ (แห่งความเป็นพุทธะ) อันประเสริฐของเรา ก็ว่างเช่นเดียวกัน และไม่ใช่เป็นภูมิธรรมอันเดียวเรื่องเดียวนี้เท่านั้น ที่เราลุถึงด้วยการตรัสรู้ (เพราะว่าธรรมชาติอันนั้น) มันเป็นของสิ่งเดียวกันกับจิตเดิมแท้ ซึ่งเป็นภาวะแห่ง "ความว่างเด็ดขาด" (กล่าวคือความว่างของสิ่งซึ่งมีอยู่แท้ๆ)
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย เมื่อท่านทั้งหลายได้ฟังอาตมากล่าวถึงความว่างอันนั้น ขอท่านทั้งหลายอย่าเข้าใจดิ่งไปจับเอาลัทธิที่ว่าขาดสูญไม่มีอะไรขึ้นมาว่าเป็นอันเดียวกัน (เพราะว่าความเห็นว่า ขาดสูญเช่นนั้น รวมอยู่ในมิจฉาทิฏฐิ พวกอุจเฉททิฏฐิ) มันเป็นสิ่งสำคัญอย่างที่สุด ที่เราจะต้องไม่ตกดิ่งลงไปในมิจฉาทิฏฐิอันนี้ เพราะว่าเมื่อคนเรานั่งอยู่เงียบๆ ทำใจของเขาให้ว่างๆ เขาก็จะตั้งอยู่ในภาวะแห่ง "ความว่างเพราะว่างเฉย" ได้เหมือนกัน
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย ความว่างอันไม่มีขอบเขตจำกัดของสกลจักรวาล เป็นสิ่งที่มีความจุมากพอที่จะรวมเอาสิ่งต่างๆ ตั้งแสนๆ สิ่ง ซึ่งมีรูปและสัณฐานแปลกๆ กันเข้าไว้ในตัวมันได้ สิ่งเหล่านั้น เช่น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวทั้งหลาย ภูเขา แม่น้ำ แผ่นดิน น้ำพุ ลำธาร พุ่มไม้ ป่าไม้ คนดี คนชั่ว ธรรมะฝ่ายดี ธรรมะฝ่ายชั่ว เมืองสวรรค์ เมืองนรก มหาสมุทร ภูเขาทั้งหลายในเทือกเขามหาเมรุ(หิมาลัย) อวกาศนั้น ซึมเข้าไปมีอยู่ทั่วในสิ่งต่างๆ ที่กล่าวนามมาแล้วทั้งหมดนี้ และ "ความว่าง" แห่งธรรมชาติแท้ของเรา ก็เข้าไปมีอยู่ในสิ่งต่างๆ อย่างเดียวกัน เรากล่าว จิตเดิมแท้ ว่าเป็นใหญ่หลวง ก็เพราะว่ามันรวมสิ่งต่างๆเข้าไว้หมด โดยที่สิ่งทุกสิ่งนั้นมันอยู่ในตัวธรรมชาติแท้ของเรา เมื่อเราพบเห็นความดี หรือความชั่วก็ตามของบุคคลอื่น เราไม่ถูกดึงดูดให้ชอบ หรือไม่ถูกมันผลักดันให้ชัง หรือเราไม่เกาะเกี่ยวกับมัน เมื่อนั้นลักษณะแห่งจิตใจของเราเป็นของว่างเท่ากันกับอวกาศ ด้วยเหตุนี้เราจึงกล่าวว่า ใจของเราใหญ่หลวง (ไม่มีขอบเขตเหมือนอวกาศ) เพราะฉะนั้น เราจึงเรียกมันว่า "มหา"
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย สิ่งใดที่พวกคนเขลาพากันเพียงแต่พูดถึง เปล่าๆ ปลี้ๆ สิ่งนั้นคนมีปัญญาได้นำเอามาปฏิบัติด้วยจิตใจของเขาเกิดมรรคเกิดผลจนได้ ยังแถมมีคนเขลาอีกพวกหนึ่ง ซึ่งนั่งนิ่งๆเงียบๆและพยายามที่จะทำจิตให้ว่าง เขาเว้นการคิดถึงสิ่งใดๆหมด แล้วก็เรียกตัวเขาเองว่า "มหา" เมื่อเขามีความเห็นนอกลู่นอกทางเช่นนี้ ก็เป็นการยากที่เราจะกล่าวถึงเขาว่าอย่างไรให้ถูกตรงได้
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย ท่านควรจะทราบไว้ว่า ใจนั้นมีขนาดแห่งความจุอันใหญ่หลวง โดยเหตุที่ใจนั้นสิงซึม (*7) (ติดเนื่องเป็นอันเดียวกันอยู่
*7 คำว่าใจในสูตรนี้ หมายถึงวิญญาณธาตุที่ประจำอยู่ในที่ทั่วไป มีอยู่ทั่วไปทำนองเดียวกับที่ฝ่ายรูปธาตุ ย่อมถือว่า มีอีเธ่อร์อยู่ในที่ทั่วไป ไม่ว่าในที่นั้นกำลังมีแต่อวกาศหรือมีวัตถุอื่นใดตั้งอยู่ด้วย โดยถือว่าสรรพสิ่งตั้งอยู่ในอีเธ่อร์อีกทีหนึ่ง ใจในสูตรนี้ทำหน้าที่เหมือนกับอีเธ่อร์โดยเปรียบเทียบ (ผู้แปลไทย พุทธทาส)
ทั่วไป) ตลอดสากลธรรมธาตุ (คือวงแห่งธรรมาณาจักร กล่าวคือสกลจักรวาล) เมื่อเรานำมันมาใช้ เราก็สามารถจะทราบอะไรได้หลายสิ่งจากบรรดาสิ่งที่มีอยู่ทั้งหมด แต่เมื่อใดเราใช้มันเต็มขนาดของมัน เมื่อนั้นเราก็ทราบได้สารพัดสิ่งไม่มีอะไรเหลือ รู้ทุกๆ สิ่งภายในสิ่งหนึ่ง และหนึ่งสิ่งภายในทุกๆสิ่ง เมื่อใดใจของเราทำหน้าที่ของมันโดยไม่ติดขัด และเป็นอิสระที่จะ "ไป" หรือ "มา" เมื่อนั้นชื่อว่ามันอยู่ภาวะแห่ง "ปรัชญา"
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย ปรัชญาทั้งสิ้นย่อมมาจากจิตเดิมแท้ และมิได้มาจากวิถีภายนอกเลย ท่านทั้งหลายจงอย่างได้มีความเข้าใจผิดในเรื่องนี้ ข้อนี้เรียกว่า "การใช้ประโยชน์ในตัวมันเอง" ของสิ่งที่เป็นตัวธรรมชาติเดิมแท้" ตถตา (ความเป็นแต่อย่างนั้นอย่างเดียวเท่านั้น เป็นอย่างอื่นไม่ได้ กล่าวคือจิตเดิมแท้) ปรากฏขึ้นครั้งเดียวเท่านั้น แก่ผู้นั้นแล้วเขาก็เป็นอิสระจากโมหะ ไปชั่วนิรันดร.
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย เพราะเหตุที่ใจนั้นมีรัศมีทำงานกว้างขวางใหญ่หลวง เราจึงไม่ควรใช้มันทำงานกะจิริดไร้เดียงสา (เช่นการนั่งเงียบๆ ทำใจว่างๆเฉย) อย่างพูดกันถึง "ความว่าง" เป็นวันๆ โดยไม่ได้ทำจิตให้พบกับความว่างนั้น คนที่ (พร่ำแต่ปากว่าว่างๆ แต่จิตไม่ได้สัมผัสความว่างจริงๆ เลย) ทำเช่นนี้ ควรถูกเปรียบกันกับคนที่ประกาศตั้งตัวเองเป็นกษัตริย์ด้วยปากของเขา แต่ที่จริงเขาก็เป็นราษฎรธรรมดา โดยวิถีทางปฏิบัติเช่นนี้จะไม่ได้ลุถึงปรัชญาเลย และผู้ที่ปฏิบัติทำนองนี้ จะเรียกว่าเป็นศิษย์ของอาตมาไม่ได้.
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย คำว่า ปรัชญา หมายความว่าอะไร? คำนี้หมายถึง "ปัญญาความรู้รอบแจ้งชัด" คือเมื่อใดเราสามารถรักษาจิตของเรา ไม่ให้ถูกพัวพันด้วยความทะเยอทะยานอันโง่เขลาได้ทุกกาละเทศะ ทำอะไรด้วยความฉลาดไปทุกโอกาส เมื่อนั้นชื่อว่าเรา กำลังประพฤติอบรมปรัชญาอยู่ ทีเดียว ความรู้สึกที่โง่เขลาข้อเดียวเท่านั้น ก็สามารถผลักปรัชญาให้หายวับไป แต่ความคิดที่ปรีชาฉลาด เป็นสิ่งที่อาจดึงเอาปรัชญากลับมาได้อีก บุคคลพวกที่ตกอยู่ใต้อำนาจอวิชชา หรือโมหะ ย่อมไม่มองเห็นปรัชญา เขาพูดถึงปรัชญาด้วยลิ้น (ไม่ใช่พูดด้วยใจ) ส่วนในใจของเขานั้นยังคงงมงายอยู่ตามเดิม เขาพูดเสมอไปว่า เขาประพฤติปรัชญา และพูดถึง "ความบาดสูญ(อุจเฉทะ) ไม่หยุดปาก แต่เขาไม่ได้ทราบถึง "ความว่างเปล่าเด็ดขาด" (ศูนยตา) เลย "หฤทัยแห่งความรอบรู้ชัดแจ้ง" นั้นแหละคือตัวปรัชญาอันเป็นสิ่งที่ไม่มีรูปร่าง ไม่มีท่าทางเครื่องให้สังเกตเสียเลย ถ้าเราตีความหมายของคำว่าปรัชญากันโดยทำนองนี้ เมื่อนั้นชื่อว่าพูดกันถึงความรอบรู้แจ้งชัดของปรัชญาตัวจริง. อย่างถูกแท้
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย คำว่า ปารมิตา หมายความว่าอะไร? คำนี้เป็นสันสกฤต มีความหมายว่า "สู่ฝั่งข้างโน้น" โดยกิริยาจริงมันหมายถึง "พ้นการเกิดและการดับ" โดยอุปทานการยึดถือในขันธ์ทั้งหลาย อันเป็นวัตถุที่ตั้งของความรู้สึกทางวิญญาณ เมื่อนั้นย่อมมีความเกิด และมีความดับผลุบโผล่เหมือนทะเลที่มีคลื่น ภาวะเช่นนี้ เราเรียกโดยอุปมาว่า "ฝั่งข้างนี้" แต่เมื่อใดตัดอุปทานเสียได้เด็ดขาด และลุถึงภาวะที่พ้นจากการเกิดและการตาย สงบเงียบเหมือนน้ำไหลนิ่ง นั่นแหละเรียกว่า "ฝั่งโน้น" การพ้นจากการเกิดและการดับนี้แหละ ที่ทำให้ปรัชญานี้ได้นามว่า "ปารมิตา"
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย คนเป็นอันมาก ซึ่งอยู่ภายใต้โมหะ พากันท่องบ่น "มหาปรัชญาปารมิตา" ด้วยลิ้นเท่านั้น และเมื่อเขากำลังท่องอยู่นั้นความคิดที่งมงายเป็นอกุศลกลับเกิดขึ้นแก่เขา แต่ถ้าเขาจะได้ปฏิบัติมันด้วยใจโดยไม่หยุดหย่อน ดังกล่าวจริงๆ เขาย่อมเห็นประจักษ์ชัดซึ่ง "ตัวจริง" ของมหาปรัชญาปารมิตา การรู้ธรรมะอันนี้ ก็คือการรู้ธรรมชาติของปรัชญา การปฏิบัติธรรมะอันนี้ ก็คือการปฏิบัติปรัชญา ผู้ที่ไม่ประพฤติธรรมะอันนี้ คือปุถุชน บุคคลผู้ตั้งจิตจดจ่อเพื่อปฏิบัติธรรมะอันนี้ แม้เพียงชั่วขณะหนึ่ง เขาเป็นผู้เทียบเท่ากับพุทธะ
คนสามัญนี้เอง คือพระพุทธเจ้า และกิเลส ก็คือโพธิ (ปัญญาสำหรับการตรัสรู้) (*
ความคิดที่โง่เขลา ที่ผ่านเข้าออกทางจิตนั้น ทำให้คนเป็นคน
*8 คนธรรมดาคือพุทธะ กิเลสคือโพธิ เช่นนี้ เป็นอภิโวหารของนิกายนี้ ซึ่งพยายามอธิบายว่าความเป็นพระพุทธเจ้านั้น มีอยู่แล้วในทุกๆคน หากแต่ว่าของคนส่วนมากนั้น ถูกความมืดห่อหุ้มเสีย หรือยังไม่ได้เจียรนัยออกมา ทำนองเพชรทุกเม็ดมีน้ำเพชรมาแล้วด้วยกันทั้งนั้น แต่บางเม็ดไม่มีโอกาสได้เจียระไน เพชรทุกเม็ดทั้งที่เจียระไนแล้ว และยังไม่ได้เจียระไนแล้วก็ตาม ล้วนแต่เป็นเป็นเพชรเหมือนกัน ทำนองเดียวกับที่คนทุกคนเป็นพระพุทธเจ้าได้ด้วยกันทั้งสิ้น เป็นแต่บางคน เจ้าตัวไม่มีโอกาสทำให้ปรากฏออกมาได้ในเวลานี้ (ผู้แปลไทย พุทธทาส)
ธรรมดาสามัญ แต่ความคิดที่หายโง่ ประกอบด้วยความแจ่มแจ้งที่ตามมาทีหลัง ทำให้คนเป็นพระพุทธเจ้า ความคิดที่ผ่านเข้าออก ที่ทำจิตให้ติดในอารมณ์นั้นคือกิเลส แต่ความคิดที่มาเปลื้องจิตเสียจากความติดแน่น อันเป็นความคิดซึ่งเกิดทีหลัง นั้นคือโพธิ.
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย มหาปรัชญาปารมิตา (กล่าวคือปัญญาอันใหญ่หลวง ที่ทำสัตว์ ให้ข้ามถึงฝั่งโน้น) นั้นเป็นของสูงสุด ใหญ่ยิ่ง และเด่นดวง มันไม่หยุด ไม่ไป และไม่มา โดยอำนาจของปัญญา อันชื่อว่า มหาปรัชญาปารมิตานี้เอง ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายในปัจจุบัน ในอดีต และในอนาคต ได้บรรลุถึงความเป็นพระพุทธเจ้า เราควรใช้ปัญญาอันสูงสุดดวงนี้ เพื่อทำลาย (ความยึดถือใน) ขันธ์ทั้งห้าเสีย (*9) เพราะเหตุว่าการทำเช่นนี้ย่อมช่วยให้การ
*9คำว่า ใช้ปัญญาทำลายความยึดถือในขันธ์ทั้งห้าเสีย ประโยคนี้ มักพูดกันสั้นๆ แต่เพียงว่า ทำลายขันธ์ทั้งห้าเสีย แม้ในต้นฉบับเดิมของสูตรนี้ก็ใช้สั้นๆ เช่นนั้นเหมือนกัน จงเติมเข้าให้ความชัด กันความเข้าใจผิดสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับคำประเภทนี้ (ผู้แปลไทย พุทธทาส)
ได้บรรลุถึงพุทธภูมิ เป็นสิ่งที่แน่นอน แล้วอกุศลมูลทั้งสาม (โลภะ โทสะ โมหะ) ก็จะกลายเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา ไปเอง
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย ตามวิถีปฏิบัติแบบของอาตมานี้ ปัญญาดวงเดียวเท่านั้น จะสร้างความรอบรู้ขึ้นถึงแปดหมื่นสี่พันวิถี คือเท่ากับจำนวนของกิเลสที่เราจะต้องผจญ แต่ว่าเมื่อผู้ใดพ้นจากอำนาจของกิเลส. ปัญญาย่อมแสดงตัวปรากฏให้เห็นเอง ที่ตัว จิตเดิมแท้ ไม่แยกจากกันได้ ผู้ใดเข้าใจหลักธรรมปฏิบัติอันนี้ ผู้นั้นจะมีจิตปราศจากความคิดอันท้อแท้ เฉื่อยชาการเป็นอิสระ จากการหลงรักเพราะความคิดหมกมุ่น สยบจากการยึดติดในอารมณ์อันเร้าจิตให้ทะเยอทะยาน และจากสิ่งอันเป็นของหลอกลวงมายา การให้ตัวตถตา (ความคงที่แต่อย่างนั้น เท่านั้น เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้) ทำหน้าที่ของมัน การใช้ปัญญาพิจารณาหาความจริงในสิ่งทั้งปวง และการมีท่าทีที่ (อันสงบ) ซึ่งไม่เป็นทั้งการผลักดัน หรือดึงดูดต่อสรรพสิ่งทั้งมวล เหล่านี้ คือการรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งตัว จิตเดิมแท้ เพื่อ การบรรลุถึงพุทธภูมิ (ความเป็นพุทธะ)
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย ถ้าท่านปรารถนาจะแทงตลอดความลึกซึ้งของธรรมธาตุ และสมาธิที่เป็นฝ่ายปัญญา ท่านจะต้องอบรมปรัชญาโดยการท่องบ่น และศึกษาไตร่ตรองในวัชรัจเฉทิกสูตร อันเป็นพระสูตรที่สามารถทำให้รู้แจ้งแทงตลอดซึ่งจิตเดิมแท้ ท่านควรจะทราบไว้ว่า กุศลผลความดีอันเกิดจากการศึกษาพระสูตรนี้ ตามที่ปรากฏชัดเจนอยู่ในพระบาลีนั้นมีมากเหลือประมาณ ไม่มีขอบเขตจำกัด ไม่สามารถพรรณาให้ละเอียด พระสูตรๆนี้เป็นของฝ่ายนิกายสูงสุดในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าตรัสพระสูตรนี้ เฉพาะแก่บุคคลที่มีปัญญาแก่กล้า และสามารถเข้าใจอรรถอันลึกได้ในทันที (*10) ถ้า
*10 ทางฝ่ายมหายาน ยึดเป็นหลักอันแน่นแฟ้นว่า พระสูตรบางพระสูตร ตรัสเฉพาะแก่บุคคลพวกอุคคติตัญญู คืออาจเข้าใจได้ในทันทีทันใดนั้น แม้ในฝ่ายเถรวาท หรือหินยาน ก็ยอมรับหลักอันนี้ เช่นอนุปุพพิกถา ตรัสเฉพาะผู้จะบรรลุโสดาในที่นั่งอันนั้นเอง ไม่ตรัสแก่คนที่ยังหนาเป็นปุถุชนเกินไปเป็นต้น ด้วยเหตุนี้เอง นิกายบางนิกายจึงยืนยันหลักธรรมของตน ว่าเป็นคำที่ตรัสเฉพาะคนพวกหนึ่งประเภทหนึ่ง (ผู้แปลไทย พุทธทาส)
หากว่าคนมีปัญญาน้อย และทึบต่อการเข้าใจอรรถอันลึก เผอิญมาได้ฟังพระสูตรชนิดนี้เข้า เขาจะเกิดความสงสัยไม่เชื่อข้อความในพระสูตรนั้น ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? ข้อนี้อุปมาได้ว่า ถ้าหากว่าเกิดฝนตกหนักในชมพูทวีปนี้ ด้วยอำนาจพญานาคในสวรรค์แล้ว นคร เมือง และหมู่บ้าน จะพากันไหลลอยไปตามกระแสน้ำ เช่นเดียวกับใบของต้นอินทผลัม แต่ถ้าหากว่า ฝนนั้นไปตกในมหาสมุทร โดยทั่วๆ ไป ก็เหมือนกับไม่ได้รับความกระทบกระเทือนอะไรเลย เมื่อนักศึกษาฝ่ายมหายาน ได้ฟังพระสูตรชื่อวัชรัจเฉทิกนี้แล้ว ใจของเขาจะใสสว่าง เขาทราบได้ว่าปัญญา (ที่จะทำให้สัตว์ลุถึงฝั่งโน้น) นั้น มีอยู่ใน จิตเดิมแท้ ของเขาแล้ว และเชื่อตัวเองว่า เขาไม่ต้องอาศัยพระไตรปิฎก เพราะว่าเขาสามารถใช้ปัญญาในตัวเขาเอง ให้เป็นประโยชน์ โดยการเจริญวิปัสสนาภาวนาเป็นนิจ นั่นเอง
ปรัชญาซึ่งมีประจำอยู่ใน จิตเดิมแท้ ของทุกๆ คนนั้นแล้ว อาจจะเปรียบกันได้กับฝน ซึ่งความชุ่มชื่นของมัน ย่อมทำความสดชื่นให้แก่สิ่งที่มีชีวิตทุกๆสิ่ง รวมทั้งต้นไม้และพืชพันธุ์ธัญญาหาร ตลอดถึงสัตว์ทุกชนิด เมื่อแม่น้ำและลำธารไหลไปถึงทะเล น้ำฝนที่มันพาไป ย่อมผสมเป็นอันเดียวกันกับน้ำในมหาสมุทร นี่คือข้ออุปมาอีกข้อหนึ่ง ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย ที่นี้หากว่าฝน (ที่ทำความสดชื่นให้แก่สิ่งมีชีวิตนั่นเอง) ได้ตกกระหน่ำลงมาขนาดใหญ่ต้นไม้ซึ่งมีรากไม่ลึกพอ ก็จะถูกน้ำพัดชะถอนรากขึ้นลอยตามน้ำ และสูญหายไปในที่สุดไม่มีเหลือ ข้อนี้เปรียบกันได้กับคนที่มีปัญญาทึบเข้าใจอะไรได้ยาก ที่ได้ฟังคำสอนของชั้น "นิกายฉับพลัน" แท้ที่จริง ปรัชญาซึ่งมีอยู่ในบุคคลจำนวนนี้ ก็เป็นอย่างเดียวกันกับที่มีอยู่ในบุคคลจำพวกปัญญาไว หากแต่ว่าเขาไม่สามารถทำตนให้ตรัสรู้ได้ ในขณะที่มีผู้สอนเขาด้วยธรรมะนั้น เพราะเหตุใด? เพราะว่าเขาถูกปกคลุมเสียหนาแน่น ด้วยความคิดเห็นผิด และกิเลสซึ่งได้ลงรากลึกแล้ว ทำนองเดียวกับดวงอาทิตย์ถูกบดบังด้วยเมฆ ไม่สามารถส่องแสงของตนลงมา (ทั้งที่แสงนั้นมีอยู่) จนกว่าจะมีลมมากวาดเอาเมฆนั้นไปเสีย ฉันใดก็ฉันนั้น
ปรัชญานั้น ไม่แตกต่างกัน แม้ว่าตัวบุคคลจะแตกต่างกัน ข้อที่แตกต่างกันนั้น อยู่ตรงที่ว่าใจของเขาสว่างไสว หรือมืดมนเท่านั้นเอง คนที่ไม่รู้จักจิตเดิมแท้ ของตนเอง และยังแถมมีความเขลาไปว่า การบรรลุพุทธธรรมนั้น มีได้ด้วยศาสนาพิธีต่างๆ ที่กระทำกันทางภายนอก (ไม่เกี่ยวกับจิต) นี้แหละ คือคนจำพวกที่เข้าใจอะไรได้ยาก คนจำพวกที่เข้าใจคำสอนของ "นิกายฉับพลัน" ไม่รู้ลึกว่าพิธีรีตองต่างๆ เป็นของสำคัญ และใจของเขาก็ทำหน้าที่พิจารณาอยู่ด้วยสัมมาทิฏฐิอย่างเดียว จนกระทั่งเขาหลุดพ้นเด็ดขาดจากกิเลสหรือมลทินต่างๆ คนชนิดนี้แหละกล่าวว่า เป็นผู้ทีได้รู้จัก จิตเดิมแท้ ของตนเองแล้ว
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าใจ เป็นสิ่งที่ควรได้รับการจัดวางไว้ในกรอบของการปฏิบัติ ชนิดที่มันจะเป็นอิสระจากอารมณ์ ทั้งที่เป็นภายนอกและภายใน ให้มีอิสระที่จะมาหรือจะไป ไม่ถูกพัวพัน และใสสว่างโดยทั่วถึงปราศจากสิ่งบดบังแม้แต่นิดเดียว บุคคลที่สามารถทำได้เช่นนี้ ถือว่าดีถึงขนาดที่บัญญัติไว้ในสูตรทั้งหลายของนิกายมหาปรัชญาปารมิตา
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย สูตรและปิฎกทั้งสิ้น ทั้งฝ่ายมหายานและหินยาน รวมทั้งคัมภีร์อรรถกถาทั้งสิบสองภาค ทั้งหมดถูกจำแนกไว้เป็นชั้นๆ ก็เพื่อให้เหมาะกับความต้องการและอุปนิสัย ของบุคคลผู้มีอินทรีย์ยิ่งหย่อนกว่ากันเป็นชั้นๆนั่นเอง โอวาทต่างๆ มีสอนที่อยู่ในพระคัมภีร์เหล่านั้น บัญญัติขึ้นมาโดยยึดหลักใหญ่ว่า ตัวปรัชญามีแฝงอยู่ภายในบุคคลทุกคนแล้ว ถ้าไม่มีคน ก็ไม่จำเป็นต้องมีธรรมะ เหตุนั้น เราจึงทราบได้ว่าธรรมะนั้นๆ บัญญัติขึ้นสำหรับคนโดยตรง และสูตรต่างๆ นั้น เกิดขึ้นเพราะศาสดาผู้ประกาศสูตรนั้นๆ นั่นเอง เพราะเหตุที่คนบางพวกเป็นคนฉลาด ซึ่งเราเรียกกันว่า คนเด่น และคนบางพวกเป็นคนโง่เขลา ในเมื่อคนเขลาประสงค์จะให้สอนด้วยการทำเช่นนี้ คนเขลาก็อาจลุถึงความสว่างไสวชนิดรวดเร็วได้ และใจของเขาก็แจ่มแจ้งได้ด้วยเหตุนั้น แล้วคนเขลาเหล่านั้น ก็ไม่มีอะไรแตกต่างจากคนฉลาดอีกต่อไป
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย ถ้าเอาการตรัสรู้ออกเสียแล้ว ก็ไม่มีอะไรแตกต่างกันระหว่างพระพุทธเจ้ากับคนสามัญอื่นๆ ความสว่างไสววาบเดียวเท่านั้น ก็เพียงพอแล้ว ที่จะทำใครก็ได้ให้กลายเป็นคนเสมอกันกับพระพุทธเจ้า เพราะเหตุที่ธรรมะทั้งหลาย เป็นของมีประจำอยู่ในใจของเราแล้ว จึงไม่มีเหตุผลในข้อที่ว่า เราไม่สามารถเห็นซึมซับแจ้งชัด ในสภาวะแท้ของ ตถตา (สภาพที่มีแต่ความเป็นเช่นนั้น จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ) มีข้อความกล่าวไว้ในสูตรชื่อ โพธิสัตว์ศีลสูตร ว่า "จิตเดิมแท้ของเรา เป็นของบริสุทธิ์โดยเด็ดขาด และถ้าเราได้รู้จักใจของเราเอง และรู้แจ้งชัดว่าตัวธรรมชาติแท้ของเราคืออะไรแล้ว เราจะลุถึงพุทธภาวะได้ทุกๆคน (ที่มีความรู้เช่นนั้น)" ข้อความในสูตรชื่อ วิมลกิรตินิเทศสูตร ก็ได้กล่าวว่า "ทันใดนั้น เขาตรัสรู้แจ่มแจ้งสว่างไสว และได้รับใจของเขาเองกลับคืนมา" (*11)
*11 คำว่าได้รับใจของเขาเองกลับคืนมา นี้หมายความว่า ใจเดิมที่บริสุทธิ์และสว่างไสว ไม่ได้ถูกกิเลสหุ้มห่อ นั้นเรียกว่าใจของเขาแท้ ในปัจจุบันนี้ กิเลสหุ้มห่อจนไม่เป็นใจของเขาเสียแล้ว เขาสู้รบกับกิเลส กันเอากิเลสออกไปเสีย และเอาใจของเขาแท้กลับคืนมาได้ (ผู้แปลไทย พุทธทาส)
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย เมื่อพระสังฆปริณายกองค์ที่ห้า ได้เทศน์ให้อาตมาฟัง อาตมาได้เกิดความรู้แจ้งสว่างไสว ตรัสรู้ข้อธรรมะนั้น ในทันทีที่ท่านพูดจบ และทันใดนั้นเอง ได้เห็นแจ้งประจักษ์ชัดในตัวธรรมชาติแท้ของ ตถตา ด้วยเหตุนี้เอง อาตมาจึงมีความมุ่งหมายโดยเฉพาะ ในการที่จะประกาศคำสอนแห่ง "นิกายฉับพลัน" นี้ต่อไป เพื่อว่าผู้ศึกษาจะได้ประสบกับโพธิ และเห็นแจ้งชัดในตัวธรรมชาติแท้ของตนเอง ด้วยการอบรมจิตในวิปัสสนาภาวนา
ถ้าหากว่า เขาไม่สามารถช่วยตัวเองให้เกิดความสว่างไสวได้ เขาก็จะได้ขอร้องต่อเพื่อนพุทธบริษัทผู้คงแก่เรียนและใจอารี ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจคำสั่งสอนของสำนักชั้นสูง ให้ช่วยชี้หนทางถูกให้แก่เขา สำนักหลักแหล่งของพุทธบริษัทผู้คงแก่เรียนและมีใจอารี ทำหน้าที่นำจูงผู้อื่นให้เห็นแจ้งในจิตเดิมแท้นั้น เป็นสำนักซึ่งอยู่ในตำแหน่งสูงสุด ด้วยความช่วยเหลือของบุคคลชนิดนี้ผู้อื่นจะถูกชักจูงเข้ามาสู่ธรรมะอันเป็นฝ่ายกุศลทุก ๆ ประการ บรรดาปัญญาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต รวมทั้งความรู้ที่เป็นหลักคำสอน ในพระคัมภีร์ทั้งสิบสองหมวดนั้น ล้วนแต่เป็นสิ่งที่มีอยู่ในใจของเรามาแต่เดิมแล้ว ในกรณีที่เราเองไม่สามารถปลุกให้สว่างไสวขึ้นมาได้ด้วยตนเองนั้น เราจำต้องแสวงคำแนะนำจากบุคคลผู้คงแก่เรียน และมีใจอารีเหล่านั้น แต่ในทางที่ตรงกันข้าม พวกที่ทำความสว่างไสวให้แก่ตนเองได้โดยลำพังนั้น ย่อมไม่ต้องการความช่วยเหลือจากภายนอก มันเป็นของผิดในการที่จะไปถือคติว่า ถ้าปราศจากคำแนะนำของผู้คงแก่เรียน และมีใจอารีแล้ว เราไม่สามารถจะลุถึงวิมุติ เพราะเหตุไร? เพราะเหตุว่า มันเป็นเพราะปัญญาภายในของเราเองต่างหาก ที่ทำให้เราเกิดความสว่างไสวได้ ถึงแม้ความช่วยเหลือจากบุคคลภายนอก และคำพร่ำสอนของเพื่อนผู้คงแก่เรียน และใจอารี ก็ยังอาจเป็นหมันไร้ประโยชน์ได้เหมือนกัน ถ้าหากว่าเราทำถูกหลงงมงายเสียแล้วโดยคำสอนที่ผิดและความเห็นผิด เราควรเพ่งจิตของเราด้วยปัญญาตัวจริง ความเห็นผิดทั้งมวลก็จะถูกเพิกถอนไปในขณะนั้น และในทันทีทันใดที่เราได้รู้จักตัว จิตเดิมแท้ เราย่อมลุถึงสถานะแห่งความเป็นพุทธะในทันใดนั้น
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย เมื่อเราใช้ปรัชญา (ปัญญาดั้งเดิม) ของเราในการเพ่งพิจารณาในภายใน เราย่อมมีความสว่างแจ่มแจ้ง ทั้งภายในและภายนอก และเราอยู่ในฐานะที่จะรู้จักใจของเราเอง การรู้จักใจของเราเองคือการลุถึงวิมุติ (การหลุดเป็นอิสระ) การลุถึงวิมุติ ก็คือการลุถึงสมาธิฝ่ายปรัชญา ซึ่งเป็น "ความไม่ต้องคิด" "ความไม่ต้องคิด" คืออะไร? "ความไม่ต้องคิด" คือการเห็นและการรู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวง (ตามที่เห็นจริง) ด้วยใจที่ไม่มีอะไรห่อหุ้มพัวพัน เมื่อเราใช้มัน มันแทรกเข้าไปได้ในทุกสิ่งแต่ไม่ติดแจอยู่ในสิ่งใดเลย สิ่งที่เราจะต้องทำนั้น มีเพียงการชำระจิตให้ใสกระจ่าง เพื่อว่าวิญญาณทั้งหกเมื่อแล่นไปตามอายตนะทั้งหก (*12) จะไม่ถูกทำให้เศร้าหมองโดยอารมณ์ทั้งหก เมื่อใดใจของเราทำหน้าที่ของมันได้โดยอิสระ
*12 วิญญาณทั้งหกคือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ ได้แก่จิตส่วนที่ไปทำหน้าที่รู้สึกตามทวารต่างๆ คือ ตา หู เป็นต้น
อายตนะหก หมายถึง ตา หู จมูก ลิ้น กาย มโน ที่ยังมีประสิทธิภาพ คือให้วิญญาณทำหน้าที่ได้ เป็นสื่อระหว่างวิญญาณกับอารมณ์
อารมณ์หก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ได้แก่ของข้างนอก ที่จะเข้าไปพบของข้างใน คือวิญญาณโดยอาศัยอายตนะเป็นสนาม (ผู้แปลไทย พุทธทาส)
ปราศจากอุปสรรค และอยู่ในสถานะที่จะ "มา" หรือ "ไป" ได้โดยอิสระเมื่อนั้น ชื่อว่าเราได้บรรลุ สมาธิฝ่ายปรัชญา หรืออิสรภาพ สถานะเช่นนี้มีนามว่า การทำหน้าที่ของ "ความไม่ต้องคิด" แต่ว่า การหักห้ามความคิดถึงสิ่งใดๆ ให้ความคิดทั้งหมดถูกกดเอาไว้ ย่อมเป็นการกดธรรมะไว้ (ไม่ให้ปรากฏหรือเป็นไปตามที่ควรจะเป็นไป) และข้อนี้ย่อมเป็นความเห็นผิด
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย บรรดาบุคคลผู้เข้าใจในวิถีทางแห่ง "ความไม่ต้องคิด" เหล่านั้น จะรู้แจ้งสิ่งทั้งหลายทั้งปวงทุกสิ่ง จะได้ดื่มรสที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ได้เคยดื่มมาแล้ว และย่อมบรรลุถึงความเป็นพระพุทธเจ้า ในกาลข้างหน้าต่อไป ถ้าหากผู้ที่ได้รับคำสอนจากสำนักของอาตมาคนใด จะให้สัจจปฏิญาณในท่ามกลางหมู่เพื่อนศิษย์ด้วยกันว่าจะอุทิศชีวิตของตนทั้งหมดเพื่อปฏิบัติตามคำสอนแห่ง "สำนักฉับพลัน" นี้ โดยไม่ย่อท้อถอยหลัง ตั้งใจขนาดเดียวกันกับความตั้งใจที่จะปรนนิบัติรับใช้พระพุทธเจ้าแล้วไซร้ เขาก็จักลุถึงวิสุทธิมรรคา โดยไม่มีการล้มเหลวเป็นแน่แท้ เขาจักถ่ายทอดคำสอนที่พระสังฆปริณายกองค์หนึ่ง ได้มอบหมายลงมายังพระสังฆปริณายกองค์ต่อๆ มา ออกจากดวงใจของเขา แล้วส่งลงไปยังดวงใจของบุคคลอื่น ซึ่งสมควรแก่การนี้เป็นช่วงๆ กันไป และพยายามที่จะไม่ปิดบังซ่อนเร้นคำสอนที่ถูกต้องไว้แม้แต่น้อย สำหรับบุคคลพวกที่อยู่ในสำนักอื่นในนิกายอื่น ซึ่งความเห็นและจุดมุ่งหมายของเขาผิดไปจากของพวกเรานั้น ไม่ควรจะถ่ายทอดหลักธรรมะอันนี้ไปให้เลยเพราะจะมีแต่ผลร้ายโดยประการต่างๆ ไม่มีผลดี การที่มีข้อยกเว้นไว้ดังนี้ ก็โดยเกรงว่า พวกคนเขลาซึ่งไม่สามารถเข้าใจหลักคำสอนอย่างของเรา จะมีคำกล่าวตู่ป้ายร้ายให้แก่คำสอนระบอบนี้ และข้อนั้นเองจะเป็นการทำลายเมล็ดพืชแห่งความเป็นพุทธะ ซึ่งมีอยู่ในคนพวกนั้นให้เหือดแห้งเป็นหมันไป ตลอดเวลาหลายร้อยกัลป์พันชาติ
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย อาตมามีโศลกอันกล่าวถึง "นิรรูป"(*13)อยู่หมวดหนึ่ง สำหรับท่านทั้งหลายท่องบ่นกัน ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตควรปฏิบัติตามคำสอนซึ่งมีอยู่ในโศลกนั้น ซึ่งถ้าปราศจากการปฏิบัติเสียแล้วมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ในการที่จะจำเอาถ้วยคำของอาตมาไปเปล่าๆ ท่านทั้งหลายจงคอยฟังโศลก ดังต่อไปนี้:-
"อาจารย์ผู้บัญญัติคัมภีร์พุทธธรรม รวมทั้งคำสอนในสำนักนิกายธยานนี้ด้วย
อาจเปรียบกันได้กับดวงอาทิตย์ ซึ่งกำลังแผดแสงจ้า อยู่ ณ กึ่งกลางนภากาศ
บุคคลเช่นนี้จักไม่สอนอะไร นอกจากธรรมะเพื่อให้เห็นแจ้ง จิตเดิมแท้ อย่างเดียว
และความมุ่งหมายในการที่ท่านมาสู่โลกนี้ ก็เพื่อขจัดพรรคมิจฉาทิฏฐิฯ
เราจะแบ่งแยกธรรมปฏิบัติ ออกเป็นชนิด "ฉับพลัน" และชนิด "เชื่องช้า" ได้โดยยากก็จริง
แต่ก็ยังมีคนบางพวก ที่จะรู้แจ้งได้เร็วกว่าคนพวกอื่นมากฯ
ตัวอย่างเช่นธรรมปฏิบัติระบอบนี้ ที่สอนมุ่งให้เห็นแจ้งจิตเดิมแท้เป็นระบอบที่คนโฉดเขลา จะเข้าใจไม่ได้ฯ
เราอาจจะอธิบายหลักธรรมะระบอบนี้ได้โดยวิธีต่างๆ ตั้ง 10,000วิธี
แต่ว่าคำอธิบายทั้งหมดนั้น อาจจะลากให้หวนกลับมาสู่หลักดุจเดียวกันได้ฯ
การที่จะจุดไฟให้สว่างขึ้น ในดวงหฤทัยอันมืดมัว เพราะเกรอะกรังไปด้วยกิเลสนั้น
เราจักต้องดำรงแสงสว่างแห่งปรัชญา ไว้เนืองนิจฯ
มิจฉาทิฏฐิ ย่อมทำเราให้ติดจมอยู่ในห้วงกิเลสฯ
ส่วนสัมมาทิฏฐิ ย่อมเปลื้องเราออกจากกองกิเลสนั้นฯ
แต่เมื่อใด เราอยู่ในฐานะที่เหนือไปกว่าทิฏฐิทั้งสองอย่างนี้
เมื่อนั้น เราย่อมบริสุทธิ์ โดยเด็ดขาดฯ
โพธิ เป็นสิ่งมีประจำอยู่แล้วภายใน จิตเดิมแท้ ของเรา
การพยายามมองหาโพธิจากที่อื่นนั้น เป็นความเขลาฯ
จิตที่บริสุทธิ์นั้น จะหาพบได้ภายในจิตอันไม่บริสุทธิ์ของเรา นั่นเอง
ในทันใดที่เราดำรงจิตถูกต้อง เราย่อมเป็นอิสระจากสิ่งบดบัง 3 ประการ
( คือ กิเลส บาปกรรม และการต้องทนใช้บาปอยู่ในนรก)
ถ้าเราเดินอยู่ในมรรคาแห่งการตรัสรู้
เราไม่จำต้องกลุ้มใจด้วยสิ่งที่จะทำให้เราสะดุดล้มฯ
ถ้าเราคอยสอดส่ายตา ระวังความผิดของเราเองอยู่เสมอ
เราก็เดินไถลออกไปนอกหนทางที่ถูกไม่ได้ฯ
เพราะเหตุที่ชีวิตทุกๆแบบ ย่อมมีวิถีทางแห่งความรอดพ้นเฉพาะของมันเอง ทุกแบบ
ฉะนั้น ชีวิตทั้งหลายจะไม่ก้าวก่าย หรือกระทบกระทั่งซึ่งกันและกันฯ
แต่ถ้าเราผละไปจากทางชนิดที่เป็นของเรา ไปแสวงหาทางอื่นเพื่อจะรอดพ้น
เราจะไม่พบความรอดพ้นได้เลย
แม้ว่าเราจะหาเรื่อยไป จนกระทั่งความตายมาถึงเราก็ดี
ในที่สุด เราจะพบแต่ความรู้สึกเสียใจภายหลังว่า เราทำพลาดไปแล้วฯ
ถ้าท่านปรารถนาจะค้นหางทางที่ถูกต้อง
การทำให้ถูกวิธีจริงๆ เท่านั้น ที่จะนำท่านดิ่งไปถึงได้
แต่ถ้าท่านไม่มีการดิ้นรนเพื่อลุถึงพุทธภูมิ
ท่านก็จะมัวคลำคว้าอยู่ในที่มืด และไม่มีโอกาสพบเลยฯ
ผู้ที่ด่วนเดินมุ่งแน่วไปตามทางที่ถูกต้องนั้น
ย่อมไม่มองเห็นความผิดต่างๆ ในโลกนี้
ถ้าเราพบความผิดในบุคคลอื่น
เราเองก็ตกอยู่ในความผิดนั้นด้วยเหมือนกันฯ
เมื่อผู้อื่นทำผิด เราไม่จำต้องเอาใจใส่
เพราะมันจะเกิดความผิดขึ้นแก่เราเอง ในการที่จะไปรื้อหาความผิดฯ
โดยการสลัดนิสัยที่ชอบค้นหาความผิดของคนอื่น ออกไปเสียจากสันดาน
เราย่อมตัดวิถีทางการมาของกิเลส ได้เป็นอย่างดีฯ
เมื่อใดความชัง (คนเกลียด) และความรัก (คนรัก) ไม่กล้ำกรายใจของเรา
เราหลับสบายฯ
บุคคลใด ตั้งใจจะเป็นครูสอนคนอื่น
เขาเองควรจะมีความคล่องแคล่วในวิธีเหมาะสมนานาประการ ที่จะนำผู้อื่นเข้าถึงความสว่างฯ
เมื่อศิษย์พ้นจากความสงสัยสนเท่ห์ โดยประการทั้งปวง
มันย่อมแสดงว่า เขาได้พบ จิตเดิมแท้ ของเขาแล้วฯ
จักรวรรดิของพระพุทธเจ้า(*13) อยู่ในโลกนี้
*13 จักรวรรดิของพระพุทธเจ้า หรือ Kingdom of the Buddha หมายถึงพุทธเกษตร หรือเขตที่อยู่ในอำนาจของพระพุทธเจ้า ในการที่สิ่งทั้งหลายจะได้เป็นไปตามกฎแห่งธรรมะ เช่นปฏิบัติเช่นนี้ ได้ผลเช่นนี้ ปฏิบัติถึงนิพพาน ได้ผลถึงนิพพานเป็นต้น ซึ่งเป็นเครื่องรับประกันให้หายห่วง ในการที่จะเกิดกลัวไปว่ากรรมจะไม่ให้ผลเป็นต้น หรือคำสอนของพระองค์ใช้ไม่ได้ในที่นี้ (ทำนองกฏหมายในเมืองไทย ใช้บังคับที่เมืองจีนไม่ได้เป็นต้น) แม้ว่าจะมีคำกล่าวในที่อื่น ว่าพุทธเกษตรมีหลายเกษตรเพราะพระพุทธเจ้ามีหลายองค์ แต่ในที่นี้พิจารณากันแต่ในแง่ว่า พระพุทธเจ้าทุกองค์มีปัญญาอย่างเดียวกัน ตรัสรู้และสอนอย่างเดียวกัน หรือเป็นองค์เดียวกัน นั่นเอง การแบ่งเป็นองค์ๆ เป็นความเข้าใจผิด หรือมิฉะนั้นก็เป็นการกล่าวอย่างสามัญตามสมมุติ ผู้แปลไทยพุทธทาส)
ซึ่งเราจะพบความสว่างไสวได้ ในเขตนั้นฯ
การเสาะแสวงหาความสว่างไสว ในที่อื่นจากโลกนี้
เป็นของพิลึกกึกกือ เหมือนการเที่ยวหาเขากระต่ายฯ
สัมมาทิฏฐิ เป็นสิ่งที่ถูกขนานนามว่า "เลิศเหนือโลก"
มิจฉาทิฏฐิ เป็นสิ่งที่ถูกขนานนามว่า "ข้องอยู่ในโลก"
เมื่อใดทิฏฐิทั้งสองอย่าง ไม่ว่าสัมมาหรือมิจฉา ถูกสลัดพ้นออกไป
เมื่อนั้นโพธิแท้ ย่อมปรากฏ ฯ
โศลกนี้มีไว้สำหรับพวก "นิกายฉับพลัน"
และโศลกนี้ ยังถูกขนานนามว่า "มหาธรรมนาวา" (เพื่อแล่นข้ามฝั่งสังสารวัฏ)
กัลป์แล้วก็กัลป์เล่า คงตกอยู่ภายใต้ความมืดบอด
แต่ครั้นถึงคราวตรัสรู้ มันกินเวลาแวบเดียวเท่านั้น เขาก็เข้าถึงพุทธภูมิฯ
ก่อนจบเทศนา พระสังฆปริณายกได้กล่าวเพิ่มเติมว่า "บัดนี้ในวิหารแห่งไทฟันนี้ อาตมาได้แสดงธรรมให้ท่านฟัง ถึงคำสอนแห่ง "นิกายฉับพลัน" แล้ว ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงซึ่งล้วนแต่มีธรรมธาตุอันนั้นประจำอยู่ ในตัวทุกคนแล้วจงเข้าใจธรรมะนี้ และลุถึงความเป็นพุทธะเถิด"
เมื่อได้ฟังธรรมกถาที่พระสังฆปริณายากล่าวจบลงแล้ว ข้าหลวงไว่ แห่งชิวเจา พวกข้าราชการ นักศึกษาฝ่ายเต๋า และชาวบ้านเหล่านั้นได้เข้าถึงความสว่างไสว ทั่วถึงกัน เขาเหล่านั้น พร้อมกันทำความเคารพและออกอุทานเป็นเสียงเดียวกันว่า "สาธู สาธุ ใครจะนึกไปถึงว่า พระพุทธเจ้าได้มาอุบัติขึ้นในนครกวางตุ้ง"