วันที่สามของการจาริกแสวงบุญพุทธสถาน ๔ แห่ง
คืนแรกที่พักค้างคืนที่วัดไทยมคธพุทธวิปัสสนา อากาศหนาวมาก ๆ ครับแทบจะอาบน้ไไม่ได้เลยทั้งตอนเย็นและตอนเช้า ต้องตั้งสติ ตัดเวทนาทิ้งไปจึงสามารถอาบน้ำได้ อุณหภูมิน่าจะประมาณ 12 องศาเซียลเซียส วันนี้คณะต้องไปหลายที่ คือคณะจะไปกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ของพระเจ้าพิมพิศาล ที่พระพุทธเจ้ารับปากกับพระเจ้าพิมพิศาลว่า ถ้าพระองค์ตรัสรู้แล้วขอให้กลับไปโปรดท่านด้วย แคว้นมคธเป็นแคว้นใหญ่ มีอำนาจทางทหาร เป็นเมืองใหญ่ที่มีพ่อค้ามาติดต่อค้าขายเป็นจำนวนมาก พระพุทธเจ้าจึงเห็นสมควรที่จะมาประดิษฐานพระพุทธศาสนาไว้ที่นี่ เพื่อความมั่นคงของพรพุทธศาสนา และพระเจ้าพิมพิศาลก็ได้ทรงขอร้องไว้ด้วย พระองค์จึงเสด็จมาแคว้นมคธ กรุงราชคฤห์นี้
ในภาพคือลอยเกวียนของท่านอณาบิณฑิกเศรษฐี ที่จมลึกในหินแสดงว่าเกวียนมีจำนวนมากและบรรทุกสินค้าหนักมาด้วย ท่านอณาบิณฑิกเศรษฐีอยู่แคว้นโกศล แต่มาค้าขายแคว้นมคธ
กรุงราชคฤห์นั้นมีภูเขาล้อมรอบห้าลูก ประตูเมืองอยู่ระหว่างภูเขาสองลูก และเป็นช่องเขามีทางเข้าทางเดียว ตรงตามที่ระบุไว้ในพระไตรปิฎกทุกประการ
เชิญชมภาพ
ราชคฤห์
*****
ที่ตั้งกรุงราชคฤห์
กรุงราชคฤห์ ในสมัยพุทธกาล เป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธ ตั้งอยู่ทางทิศบูรพาแห่งชมพูทวีป เป็นแหล่งรุ่งเรืองด้วยอำนาจ และการค้าขาย พระพุทธองค์ได้เสด็จแวะเวียนมาประทับ ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร ๖ พรรษา มีเรื่องราวปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาอยู่มาก
ปัจจุบันเป็นตำบลหนึ่งของจังหวัดนาลันทา อยู่ห่างจากพิหารชะรีฟ (Bihar Sharif) ซึ่งเป็นที่ตั้งจังหวัดนาลันทา ๒๖ กิโลเมตร อยู่ห่างจากเมืองนาลันทา ๑๒ กิโลเมตร ห่างจากพุทธคยา ๘๗ กิโลเมตร อยู่ห่างจากเมืองปัตนะ ๑๐๓ กิโลเมตร กรุงราชคฤห์เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เบญจคีรีนคร, คิริบรรพชนคร, หรือภัททิยนคร เป็นเมืองที่มีแนวสันกำแพงเป็นเทือกเขา ๕ ลูกล้อมรอบ คือ ภูเขาเวภาระ, เวปุลละ, ปัณฑวะ, คิชฌกูฎ, อิสิคิลิ ปัจจุบันเรียกว่า “ราชคีร์ (Rajgir)”
แต่ในปัจจุบัน ภูเขา ๕ ลูก ซึ่งบางลูกได้ถูกเปลี่ยนไปเช่น ภูเขาอิสิคิลิ เปลี่ยนเป็น ภูเขาโสนา ภูเขาปัณฑวะ เปลี่ยนเป็น ภูเขาอุทัย และภูเขาคิชฌกูฏ กลายเป็นภูเขา ๓ ยอด คือ ยอดที่หนึ่ง ภูเขารัตนคีรี ยอดที่สอง ภูเขาฉัฏฐา และยอดที่สาม ภูเขาเศละ
ปัจจุบันประชาชนทั่วไปเขาเรียกภูเขา ๕ ลูก เป็นภูเขา ๗ ลูก หรือ สัตตคีรีนคร คือพระนครที่มีภูเขา ๗ ยอดแวดล้อม คือ เวภาระ วิปุละ รัตนะ ฉัฏฐา เศละ อุทัย และโสนา
ในสมัยพุทธกาลมีการปกครองโดยพระเจ้าพิมพิสาร ช่วงท้ายพุทธกาลคือ พระเจ้าอชาติศัตรู เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร และเป็นเมืองที่มีความสำคัญหลาย ๆ ด้าน คือ
ด้านการเมืองการปกครอง
พระเจ้าพิมพิสาร ทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรม เป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์มั่งคั่ง และมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดแบบบ้านพี่เมืองน้องกับเมืองสาวัตถี คือพระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๒ ต่างก็ทรงอภิเษกสมรสกับกนิษฐภคินีของกันและกัน ทั้งพระเจ้าแผ่นดินและประชาชนต่างก็เคารพในกฎหมาย ใครจะละเมิดกฎหมายมิได้ เช่น พอเวลาพลับค่ำ จะต้องปิดประตูเมืองห้ามคนเข้าออกเด็ดขาด แม้แต่พระเจ้าพิมพิสารเองก็ดี หมอชีวกก็ดี พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ดี ยังเคยนอนนอกวังหรือนอกเมืองมาแล้วเพราะมาไม่ทันเวลาประตูเมืองปิดเสียก่อน
กรุงราชคฤห์มีประตูเมืองขนาดใหญ่ ๆ ๓๒ ประตู มีประตูขนาดเล็ก ๆ อีก ๖๔ ประตู มีประชากรหนาแน่น ประมาณ ๑๘ โกฏิ
นอกนั้นราชคฤห์ ยังเป็นเมืองหลวงของ ๒ แคว้น คือ แคว้นอังคะ และแคว้นมคธ มีพระเจ้าแผนดินองค์เดียวกัน
ด้านศาสนา
กรุงราชคฤห์ เป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนา ณ กรุงราชคฤห์ ที่วัดเวฬุวันแห่งนี้ ได้เป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา พระองค์ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งประชุมสงฆ์ครั้งใหญ่ถึง ๑,๒๕๐ รูป (สถานที่เกิดแห่งวัน มาฆบูชา) และบริเวณที่พระเจ้าพิมพิสารพบพระโพธิสัตว์ก่อนเข้าเมืองราชคฤห์
ทรงประกาศคำสอนและคุณสมบัติของพระภิกษุผู้ที่จะไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา แล้วค่อยแผ่ไปยังแคว้นต่าง ๆ ต่อไปจนทั่วทั้ง ๑๖ แคว้น ในสมัยนั้น ทำให้ผู้คนมีความนับถือเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และเข้ามาบรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุ - ภิกษุณีมากมายสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้
นอกจากนั้นราชคฤห์ยังเป็นที่ชุมนุมของเจ้าลัทธิมากมาย มีคณาจารย์ใหญ่ ๒ ท่านคือท่าน อาฬารดาบส และอุทกดาบส และมีลัทธิครูทั้ง ๖ เช่น ปูรณะกัสสปะ มักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร และนิครนถ์นาฏบุตรหรือศาสดามหาวีระ ซึ่งแต่ละท่านมีประชาชนได้ให้ความเคารพนักถือเป็นจำนวนมาก
ด้านเศรษฐกิจ
กรุงราชคฤห์ เป็นเมืองที่เป็นศูนย์กลางติดต่อทำการค้าขายกับแคว้นต่าง ๆ ในขณะนั้น ดังมีรอยเกวียนปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน ท่านอนาถบิณฑิกะเศรษฐีก็เคยมาทำการค้าขายที่เมืองนี้ จนพบพระพุทธเจ้า และกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จไปโปรดประชาชนชาวเมืองสาวัตถีด้วย เป็นต้น
สมัยพุทธกาลในพระนครแห่งนี้เคยมีมหาเศรษฐี ๕ ท่าน คือ ราชคหเศรษฐี ปุณณเศรษฐี โชติกเศรษฐี เมณฑกเศรษฐี ธนัญชัยเศรษฐี
ด้านการทหาร
กรุงราชคฤห์ เป็นภูมิประเทศที่มีภูเขา ๕ ลูกล้อมรอบเป็นกำแพง เมืองให้อย่างดี ยากแก่การที่ข้าศึกจะมาโจมตีได้ ปัจจุบันยังมีกำแพงเมือง ปรากฏอยู่บนยอดเขาตรงทางเข้าเมืองราชคฤห์ ทั้งทางด้านทิศเหนือและทิศใต้
พุทธสถานและสถานที่สำคัญ
๑. ธัมมิกราชสถูป
เป็นสถานที่ที่พระเจ้าพิมพิสารเสด็จมาพบพระบรมโพธิสัตว์ครั้งแรก ที่พระองค์ได้เสด็จออกบรรพชา แล้วเดินทางพักแรมอยู่อนุปิยอัมพวัน แขวงมัลลชนบท จากนั้นเสด็จมายังกรุงราชคฤห์และทรงรับบิณฑบาตมีประชาชนได้พบเห็นจนได้ทราบถึงพระเจ้าพิมพิสารแล้วเสด็จมาพบพระองค์ ปัจจุบันเห็นสถูปปากทางเข้ากรุงราชคฤห์ ที่ทางการได้ค้นพบ ก่อนถึงรอยทางเกวียน
๒. วัดเวฬุวันมหาวิหาร (สวนเวฬุวัน)
เวฬุวนาราม วัดป่าไผ่ล้อม หรือวัดไผ่ล้อม เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่ใกล้เชิงเขา เวภารบรรพต ด้านใต้จรดตโปธาราม วัดธารน้ำร้อน ซึ่งมีแม่น้ำสรัสสวดีไหลผ่าน ซี่งพระเจ้าพิมพิสารเมื่อได้สดับพระธรรมเทศนาแล้ว ทรงเลื่อมใสพร้อมแสดงตนเป็นพุทธมามกะ จากนั้นได้อาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุทั้งหลายเข้าไปยังพระราชนิเวศน์ แล้วทรงถวายสวนเวฬุวันให้เป็นพระอารามหลวงแห่งแรกในพระพุทธศาสนา และเป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่พระพุทธองค์ตรัสกับท่านพระอานนท์ว่าเป็นสถานที่น่าอยู่น่ารื่นรมย์
พระพุทธองค์ทรงประทับจำพรรษาถึง ๖ พรรษาและพระพุทธองค์ได้อัครสาวกทั้ง ๒ คือ พระมหาโมคคัลลานะ กับพระสารีบุตร ที่เป็นกำลังสำคัญยิ่งในการเผยแผ่พระศาสนา และสถานที่แห่งนี้เป็นที่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย พระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นเอหิภิกษุอุปสัมปทา และเป็นวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๓ ซึ่งเป็นวันมาฆบูชา เรียกอีกอย่างว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต” ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่ภิกษุทั้งหลาย คือไม่ให้ทำความชั่ว ให้ทำแต่ความดี และทำจิตใจให้ผ่องใส
ปัจจุบัน ยังมีซากมูลคัณธกุฎีที่ประทับของพระบรมศาสดา ซึ่งอยู่ทางด้านใต้สุดของตัววัด และมีสระใหญ่ชื่อว่า กลันทกนิวาปะ สระที่ให้เหยื่อกระแตตั้งอยู่ตรงกลางทางด้านเหนือของมูลคันธกุฎี
๓. ศาลาไทยในสวนเวฬุวัน
เป็นศาลาทรงไทย ตั้งอยู่ในสวนเวฬุวัน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ สร้างขึ้นในสมัยที่พระธรรมราชานุวัตร (บุญเลิศ ทตฺตสุทฺธิ ป.ธ.๘) อดีตเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยาสมัยนั้น ตำแหน่งสมณศักดิ์ก่อนมรณภาพคือ พระสุเมธาธิบดี อดีตอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ สร้างไว้เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชา ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร โดย ฯพณฯ เอกอัครทูตเป็นผู้มอบให้รัฐบาลอินเดีย และเป็นสถานที่ทำสังฆกรรม และพิธีกรรมต่าง ๆ ของผู้ที่มาแสวงบุญตลอดมา โดยการประสานงานของนักศึกษาไทยสมัยนั้น คือพระมหานคร เขมปาลี (สมณะศักดิ์ครั้งสุดท้าย พระราชรัตนโมลี มรณภาพ ๒๙ พ.ค. ๕๑) อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ คณะ ๓ และอดีตเลขาธิการ อธิการบดี ประธานที่ปรึกษาอธิการบดี อุปนายก มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และพระภิกษุวิเวกานันทะ (พระสหัส ปริสุทฺโธ/นาคะสิริ) หรือ พระ ดร.วิเวกานันทะ (ปัจจุบันมรณภาพแล้วที่อเมริกา ๒๖ ตุลาคม ๔๘)
๔. ตโปธาราม
ตโปธาราม วัดธารน้ำร้อน อยู่ติดกับสวนเวฬุวัน ตโปธาราม มีบ่อน้ำร้อนอยู่เชิงเขาเวภาระบรรพตด้านตะวันออกโดยมีแม่น้ำสรัสสวดีสายเล็กๆ ขึ้นอยู่ เป็นวัดที่น่ารื่นรมย์ และที่นี่เป็นที่บัญญัติให้พระภิกษุสรงน้ำได้ ๑๕ วันต่อครั้ง สมัยพุทธกาลทั้งพระสงฆ์และพระเจ้าพิมพิสาร ก็ใช้ที่แห่งนี้ในการอาบน้ำปัจจุบันเป็นที่บำเพ็ญบุญของชาวฮินดู ข้างในจะมีขั้นอาบน้ำ ตามฐานะแห่งวรรณะของตน ทุกวันจะมีชาวอินเดียมาอาบน้ำอย่างมากมาย เพราะเขาเชื่อกันว่าสามารถรักษาโรคภัยให้ทุเลาหายได้
ปัจจุบันบริเวณนี้ มีวัดพระศิวะสร้างเต็มไปหมดตั้งอยู่ตรงกลาง ส่วนด้านรอบข้าง ทำเป็นท่อและบ่อน้ำร้อนจัดไว้บริการสำหรับผู้ประสงค์จะอาบน้ำและดื่ม
๕. กัสสปารามหรือถ้ำปิปผลิคูหา
วัดกัสสปาราม หรือถ้ำปิปผลิคูหา ที่ได้ชื่ออย่างนั้นเพราะท่านกัสสปะเศรษฐีได้สร้างถวายพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ตั้งอยู่ที่เชิงเขาด้านเหนือของภูเขาเวภารบรรพต ที่พระมหากัสสปะเถระเคยพำนักอยู่ ท่านเป็นพระสาวกที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายด้วยคุณแห่งการถือธุดงค์ ๑๓ ข้อตลอดชีวิต เมื่อเรามองขึ้นไปจากวัดนี้ สามารถมองเห็นถ้ำสัตตบรรณได้ และครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ได้เคยเสด็จมาเยี่ยมพระอัสสชิ ซึ่งกำลังอาพาธซึ่งพักรักษาตัวอยู่ที่นี่
๖. สีตะวัน
สีตะวัน หรือวัดป่าพญาเย็น ตั้งอยู่ในตัวเมืองทางตะวันออกของภูเขาเวภารบรรพตจรดถึงเงื้อมผาสัปปโสณิกะ ขณะที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ สถานที่นี้ ท่านอนาถบิณฑิกะเศรษฐีมาทำธุรกิจค้าขายพักอยู่ที่บ้านราชคหเศรษฐี เมื่อทราบว่า พระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นแล้วในโลกนี้ จึงขออนุญาตท่านราชคหเศรษฐีไปเฝ้าพระพุทธองค์ พร้อมได้ฟังธรรมเทศนาและได้บรรลุโสดาปัตติผล พร้อมกันนั้นได้กราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาไปโปรดชาวเมือง ณ เมืองสาวัตถี
๗. สัตตบรรณคูหา
สัตตบรรณคูหา วัดถ้ำ ๗ ถ้ำ หรือวัดถ้ำ ๗ ใบ ตั้งอยู่บนหน้าผาด้านทิศเหนือแห่งยอดเขาเวภารบรรพต เป็นวัดแห่งหนึ่งที่พระพุทธองค์ตรัสกับพระอานนท์ว่าเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ หลังจากพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วได้ ๓ เดือน พระอริยสงฆ์จำนวน ๕๐๐ องค์ ซึ่งมีพระมหากัสสปะเป็นประธาน ได้คัดเลือกและได้เลือกทำสังคายนาพระธรรมวินัย ณ สัตตบรรณคูหานี้ เป็นเวลา ๗ เดือนจึงเสร็จ โดยมีพระเจ้าอชาตศัตรูรับเป็นผู้อุปถัมภ์
ปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ทำให้ถ้ำ ๓ ถ้ำจึงพังทลาย เหลือเพียง ๔ ถ้ำ และเมื่อปีฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ทางรัฐบาลอินเดีย ซึ่งมี ฯพณฯ เยาวหราล เนห์รู นายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้จัดการทำถนนอย่างดี ตั้งแต่วัดตโปธาราม ผ่านถ้ำปิปผลิ จนถึงถ้ำ ๔ ถ้ำ
๘. สัปปโสณฑิกปัพภาร
สัปปโณฑิกปัพภาร วัดเงื้อมผาพญางูแผ่พังพาน ตั้งยู่ใกล้กับวัดป่าพญาเย็นด้านใต้ ณ เชิงภูเขา เวภารบรรพต พระพุทธองค์ตรัสกับพระอานนท์ว่าเป็นน่ารื่นรมย์
ภายในเงื้อมผาแห่งนี้ มีถ้ำอยู่สองถ้ำ ตั้งอยู่ติดกัน ถ้ำลูกด้านเหนือ หลังคาพังทลาย และภายในถ้ำมีรูปแกะสลักพระเชนติดอยู่กับฝาผนังถ้ำ ๔ องค์ ส่วนถ้ำลูกด้านใต้ มีลักษณะที่สมบูรณ์ มีประตูเข้าออก ๑ ประตู และมีช่องหน้าต่างเล็กอยู่ ๑ ช่อง ส่วนภายในเป็นห้องโถงขนาดปานกลาง และมีฝาผนังด้านในถ้ำมีคำจารึกเป็นอักษรโบราณจารึกเป็นปริศนาไว้ใกล้ๆ บานประตู เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลถ้ำอธิบายให้ฟังว่า “ถ้าใครอ่านออกและตีปริศนานี้ได้ ประตูด้านในจะเปิดออกโดยอัตโนมัติ และทรัพย์สมบัติต่างๆ มีอยู่ในถ้ำทั้งหมดต้องเป็นของผู้นั้น”
๙. โจรปปาตะ หรือเหวทิ้งโจร
โจรปปาตะ หรือเหวทิ้งโจร ตั้งอยู่ใกล้ยอดเขารัตนคีรี เดิมยอดเขานี้เรียกว่า คิชฌกูฏ ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับมัททกุจฉิทายวันและเป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่พระพุทธองค์ตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า เป็นสถานที่น่าอยู่น่ารื่นรมย์ ท่านพระวักกะลิ หลังจากถูกพระพุทธองค์อเปหิออกจากสำนัก เพราะมัวแต่ฝักใฝ่ดูแด่พระรูปพระโฉมของพระพุทธเจ้า ไม่เอาใจใสในการปฏิบัติธรรม ได้หนีมาที่นี่เพื่อจะปลงชีวิตด้วยการกระโดดภูเขาตาย และเป็นที่นางภัททาบุตรีราชคหเศรษฐี ได้ผลักสามีผู้เป็นโจรทรยศที่คิดคดจะฆ่านางให้วอดวายตกลงไปตาย ณ เหวแห่งนี้
ปัจจุบัน มีการสร้างกระเช้าไฟฟ้า มีเก้าอี้นั่งอย่างนี้ ตั้งบริการอยู่ที่เชิงเขา เพื่อไปนมัสการวิศวศานติสถูป เป็นเจดีย์สร้างโดยหลวงพ่อฟูจิ นิกายเชนชาวญี่ปุ่น โดยการสนับสนุนจากรัฐบาลอินเดีย
๑๐. มัททกุจฉิทายวัน
วัดมัททกุจฉิทายวัน ตั้งอยู่ที่เชิงเขาภูเขาคิชฌกูฏ เป็นสถานที่พระนางเวเทหิ ทรงรัดพระครรภ์ เพื่อหวังทำลายพระครรภ์ด้วยคำทำนายของโหราจารย์ว่าเด็กที่เกิดมาจะทำ ปิตุฆาต คือฆ่าบิดา แต่พระเจ้าพิมพิสารทรงห้ามไว้ เลยสร้างไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระนางเวเทหิ เอกอัครมเหสีที่ทรงให้อภัยในการไม่ทรงทำแท้ง
ระหว่างทางที่ขึ้นจนถึงเขาคิชฌกูฎมีอนุสรณ์เจดีย์สถานที่เป็นวัตถุโบราณต่างๆ โดยพระเจ้าอโศกมหาราชได้สร้างไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระเจ้าพิมพิสาร ตามเส้นทางคือ
๑. พระเจดีย์องค์ที่หนึ่ง ตั้งอยู่ถัดขึ้นไปจากวัดมัททกุฉิทายวัน เป็นสถานที่พระเจ้าพิมพิสารได้เสด็จลงจากพระราชพาหนะ ซึ่งมากจากพระราชวังแล้วได้เสด็จขึ้นพระเสลี่ยงให้พนักงานนำเสด็จไป
๒. พระเจดีย์องค์ที่สอง เป็นสถานที่พระเจ้าพิมพิสารได้เสด็จลงจากเสลี่ยง แล้วทรงพระราชดำเนินด้วยพระบาทขึ้นไป
๓.พระเจดีย์องค์ที่สาม เป็นสถานที่พระเจ้าพิมพิสารได้ให้พวกข้าราชบริวารที่ติดตามให้รอคอยอยู่ และจากนั้นพระองค์กับทหารองครักษ์เสด็จขึ้นไปเฝ้าพระพุทธองค์บนยอดเขาคิชฌกูฏ ณ มูลคัณธกุฎีที่ประทับ
๑๑. ถ้ำพระมหาโมคคัลลานะ
ถ้ำพระมหาโมคคัลลานะ เป็นถ้ำที่พระมหาโมคคัลลานะเคยอยู่ ในช่วงพระพุทธเจ้าจำพรรษา ณ กรุงราชคฤห์นี้ ซึ่งปัจจุบันนี้จะมองเห็น เพียงเพิงหินเล็ก ๆ เท่านั้น
๑๒. ถ้ำสุกรขาตา
ก่อนจะถึงยอดเขาคิชฌกูฏ จะพบถ้ำมีหินชะโงกเป็นง่อนผา สามารถหลบแดด หลบฝนได้มีลักษณะเป็นคางหมู ในสมัยพุทธกาลเรียกว่า “สุกรขาตา” ที่พระพุทธองค์ทรงใช้เป็นที่แสดงธรรมโปรด ทีฆนขปริพาชก หลานของท่านพระสารีบุตร ซึ่งขณะที่ท่านพระสารีบุตรกำลังถวายงานพัดอยู่ด้วยนั้น ท่านก็ได้ฟังธรรมและสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในขณะนั้นเอง หลังจากอุปสมบทแล้ว ๑๕ วัน ระหว่างทางก่อนจะถึงถ้ำสุกรขาตา จะผ่านสถานที่ที่พักของไพร่พลทหาร และสถานที่ที่พระเจ้าพิมพิสารลงจากหลังช้าง สถานที่ที่เปลื้องเครื่องทรงของกษัตริย์ออก ก่อนจะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าทุกครั้ง
๑๓. ภูเขาคิชกูฎ
คิชฌกูฏ วัดยอดเขานกแรง ที่เรียกอย่างนั้นเพราะในอดีตกาลเคยมีฝูงนกแร้งอาศัยอยู่ หรือภูเขาลูกนี้มียอดเขาคล้ายนกแร้ง
ที่เขาคิชฌกูฏ พระพุทธองค์ไม่เคยได้เสด็จมาจำพรรษา แต่ได้เสด็จมาประทับเป็นประจำ เพราะเขาคิชฌกูฏไม่สูงนัก พอเสด็จขึ้นและลงได้ บนยอดเขามีที่ประทับและที่กว้างพ่อสำหรับรับแขก ทั้งสงบอากาศบริสุทธิ์เย็นสบาย และประกอบกับพระเจ้าพิมพิสาร องค์เอกอัครมัคคนายกได้ทรงให้คระวิศวกรทำถนนเป็นขั้นบันไดสำหรับเสด็จพุทธดำเนินขึ้นไป เริ่มตั้งแต่วัดมัททกุจฉิทายวันจนถึงที่พระพุทธองค์ประทับ และทั้งองค์พระมหากษัตริย์เองก็ได้เสด็จขึ้นไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อสนทนาปัญหาประจำ ฉะนั้น ถนนพระเจ้าพิมพิสารในกาลต่อมา
๑๔. มูลคัณธกุฏี
มูลคัณธกุฏี อยู่บนยอดเขาคิชฌกูฏ จากถ้ำสุกรขาตาจะมีบันไดเดินขึ้นไปแล้ว จะพบกุฏีของพระอานนท์พุทธอุปัฏฐาก อยู่ทางขวามือ ถัดไปคือ มูลคันธกุฎี ตั้งอยู่บนชะง่อนผาที่สูงชัน มีความกว้างประมาณ ๗ คูณ ๑๒ ฟุต ปัจจุบันจะเหลือเป็นซากกำแพงอิฐเท่านั้น นั่นแหละคือมูลคัณธกุฏีที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทับอยู่ และได้ประดิษฐานพระพุทธศาสนา จนมั่นคงในแคว้นมคธ โดยมีกรุง ราชคฤห์เป็นศูนย์กลาง และข้างๆ ยังมีกุฏิพระอานนท์
๑๕. เรือนคุมขังพระเจ้าพิมพิสาร
เป็นที่คุมขังพระเจ้าพิมพิสาร โดยพระเจ้าอชาติศัตรูพระราชโอรส ได้จับพระราชบิดามาคุมขังไว้ตรงนี้ เพื่อตัวเองจะได้ครองราชย์สมบัติแทน เพราะอยากเป็นใหญ่ด้วยเหตุที่ไปคบกับพระเทวทัต จนสุดท้ายพระเจ้าพิมพิสารถึงแก่สวรรคต เพราะแรงแห่งกรรมที่ตัวเองได้เคยทำไว้ในอดีตนั้นเอง ปัจจุบันเหลือแต่ซากกำแพงหินหนาประมาณ ๖ ฟุต ล้อมรอบบริเวณ ณ จุดนี้จะสามารถมองเห็นเข้าคิชฌกูฏได้ ซึ่งพระเจ้าพิมพิสารเคยประทับยืนทอดพระเนตรชายจีวรของพระพุทธองค์ พร้อมได้เสด็จเดินจงกรมจนพระองค์สิ้นพระชนม์
๑๖. วัดชีวกัมพวัน
วัดชีวกัมพวัน หรือพระอารามสวนมะม่วง เป็นสถานที่หมอชีวกโกมารภัจจ์ นายแพทย์ผู้มีชื่อเสียง จบการศึกษาจากตักศิลา เป็นแพทย์หลวงประจำพระองค์พระเจ้าพิมพิสารและได้รับความไว้วางใจจากแพทย์สภา ให้เป็นแพทย์ประจำองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย ได้มีศรัทธาถวายป่ามะม่วงให้เป็นพระอารามหลวง หรือเรียกว่า ชีวการาม ถือว่าเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในพระพุทธศาสนาด้วย เพราะเคยเป็นที่ปฐมพยาบาลพระพุทธองค์ เมื่อครั้งถูกสะเก็ดหินที่พระเทวทัตต์ลอบกลิ่งหินหวังทำร้ายพระพุทธองค์ที่บริเวณทางขึ้นเขาคิชฌกูฏ ทำเกิดโลหิตุปบาท และเป็นที่แสดงสามัญญผลสูตร แก่พระเจ้าอชาตศัตรูจนทำให้พระองค์ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ปัจจุบันจะเห็นวัตถุก่อสร้างเป็นโครงซากหินมีรั้วล้อมรอบอยู่ริมทางเชิงคิชฌกูฏ
๑๗. มณียามัส
มณียามัส สันนิษฐานว่าเป็นเสาหลักเมืองของกรุงราชคฤห์ และเคยเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุในสมัยพระเจ้าอชาติศัตรู
๑๘. วิศวะศานติสถูป
เป็นสถูปที่สร้างโดยพุทธศาสนิกชนชาวญี่ปุ่น ตั้งอยู่บนยอดเขา รัตนคีรี องค์สถูปสีขาว มีพระพุทธรูปแบบญี่ปุ่นประดิษฐานอยู่ และมีสำนักสงฆ์ของญี่ปุ่นตั้งอยู่ด้วย ทุกวันนี้จะมีกระเช้าไฟฟ้าขึ้นลงได้อย่างสะดวก
๑๙. ลัฏฐิวโนทยาน
ลัฏฐิวัน สวนตาลรุ่น หรือสวนตาลหนุ่ม ตั้งอยู่ใกล้กับภูเขาอิสิคิลิ ซึ่งเป็นสถานที่พระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระอริยสงฆ์ ๑,๐๐๓ องค์ ได้พบกับพระเจ้าพิมพิสารพร้อมบริวารและคฤหบดี ๑๒๐,๐๐๐ คน ที่เสด็จไปเฝ้าพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ได้ตรัสเทศนาเรื่องมหานารทชาดกโดยพิสดาร อนุปุพพิกถาและจตุราริยสัจ พอจบลงพระเจ้าพิมพิสารพร้อมกับพราหมณ์และคฤหบดี ๑๑ หมื่น บรรลุโสดาปัตติผล ส่วนที่เหลืออยู่อีก ๑ หมื่น ตั้งอยู่ในไตรสรณาคมน์เป็นอุบาสกอุบาสิกาในพระพุทธศาสนา ปัจจุบันจะเห็นต้นตาลอยู่ประจำประปราย มีพระพุทธรูป ๑ องค์ ประดิษฐานอยู่บนวิหารที่ทางสมาคมนักศึกษาญี่ปุ่นได้สร้างศาลาถวายไว้ ห่างจากพระราชวังเก่าไปทางทิศตะวันตก ประมาณ ๑๒ กิโลเมตร
๒๐. กาฬสิลา
กาฬสิลา วัดถ้ำหินดำ ตั้งอยู่ข้างภูเขาอิสิคิลิ ด้านทิศใต้ของเมืองราชคฤห์ ในสังยุตตนิกาย กล่าวว่า พระพุทธองค์พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป มีท่านพระมหาโมคคัลลานะและท่านพระวังคีสะ เป็นต้น ได้เคยเสด็จมาประทับที่วัดนี้และเป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่พระพุทธองค์ตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ และพระอริยสาวก ๒ ท่าน คือพระมหาโมคคัลลานะ ซึ่งได้ถูกพวกเหล่าโจรทำร้ายทุบตี แต่ได้มาอธิษฐานการนิพพานที่นี่และพระโคริกะก็ได้มานิพพาน ณ สถานที่แห่งนี้
นอกจากนั้น สถานที่นี้พระทัพพะมัลลบุตรเคยได้จัดให้เป็นสถานที่พักของพระภิกษุทั้งหลายที่เดินทางมาจากจตุรทิศเพื่อจะมาเฝ้าพระพุทธองค์ตามที่พระมหาเถรานุเถระเหล่านั้นประสงค์ใคร่จะพัก
๒๑. อินทสาลคูหา
อินทสาลคูหา วัดถ้ำช้างน้าว ตั้งอยู่ระหว่างภูเขาเวทยิกะ ทางด้านทิศตะวันออกของเมืองราชคฤห์ ซึ่งอยู่ถัดภูเขาคิชฌกูฏไปประมาณ ๖ กม. ที่ได้ชื่อว่า วัดถ้ำช้างน้าว เพราะที่หน้าประตูถ้ำมีตนช้างน้าวขึ้นอยู่
ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ วัดถ้ำช้างน้าวนี้ ท้าวสักกเทวราช พร้อมด้วยหมู่เทพชั้นดาวดึงส์ โดยการน้ำของปัญจสิขคนธรรพ์เทพบุตรได้เสด็จลงมาเฝ้าและทูลถามปัญหา พอจบพระธรรมเทศนา ท้าวสักกเทวราชพร้อมด้วยหมู่เทพเทวาได้ดวงตาเห็นธรรมกันถ้วนหน้า
๒๒. อันธกวินทะ
อินธกวินทะ เป็นวัดหนึ่งในมหาวิหาร ๑๘ ตำบล ซึ่งอยู่ในบริเวณกรุงราชคฤห์ ซึ่งได้กล่าวว่า ท่านพระมหากัสสปะ เป็นประธาน พร้อมด้วยพระอริยสงฆ์ ๕๐๐ องค์ ได้เคยมาจำพรรษาอยู่ ในอรรถกถาจารย์ได้กล่าวว่า ในวันหนึ่งเป็นวันลงพระอุโบสถ เพื่อฟังพระปาฏิโมกข์เป็นระยะทางถึง ๔ กม. (๑ คาวุต)
๒๓. ปาสาณกเจดีย์
เป็นสถานที่มาณพ ๑๖ คน ซึ่งเป็นศิษย์เอกของพราหมณ์พาวรี เข้าเฝ้าพระพุทธองค์และทูลถามปัญหาต่าง ๆ ที่พราหมณ์พาวรีแต่งให้ เมื่อศิษย์ทั้ง ๑๖ คนได้ถามปัญหาจากพระพุทธองค์ และพระองค์ทรงได้เฉลยปัญหาจบลง บรรดาศิษย์ ๑๕ คนได้บรรลุพระอรหัตตผลทันที เหลือปิงคิยะมาณพคนเดียวเท่านั้นที่ได้บรรลุเพียงโสดาปัตติผล เพราะใจไปมัวกังวลถึงอาจารย์
๒๔. ทักขิณาคิรีวิหาร
ทักขิณาคิริวิหาร ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของกรุงราชคฤห์ อยู่ใกล้กับภูเขาอิสิคิลิและภูเขาปัณฑวะ ประมาณ ๕๐๐ เมตร
เนื่องจากถนนจากเมืองสาวัตถีมายังกรุงราชคฤห์นั้น ต้องผ่านมาที่วัดทักขิณคิรีพอดี ดังนั้นพระพุทธองค์ในคราวที่เสด็จมาประทับทุกครั้งที่พระองค์เสด็จไปและกลับระหว่างกรุงสาวัตถีกับกรุงราชคฤห์
ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ได้เสด็จมาที่วัดแห่งนี้ ตามเส้นทางที่ได้ทอดพระเนตรเห็นแปลงนาของชาวมคธ พูนดินทำเป็นตารางรูปสี่เหลี่ยมเล็กใหญ่ได้สัดส่วนทั้งด้านยาวและด้านกว้าง จึงรับสั่งให้พระอานนท์ตัดแต่งจีวรให้เป็นรูปตารางสี่เหลี่ยมคล้ายเขตแปลงนางของชาวมคธ
๒๕. หมู่บ้านเอกนาลา
เอกนาลา เป็นชื่อหมู่บ้านพราหมณ์ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับทักขิณาคิรีวิหาร ทางทิศด้านใต้ของเมือง ราชคฤห์ ซึ่งในครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ หมู่บ้านนี้ ในตอนเช้าวันหนึ่ง กสิภารทวาชพราหมณ์กำลังเตรียมการไถนาและหว่านข้าว เห็นพระองค์เสด็จมาเพื่อบิณฑบาต จึงกราบทูลเป็นทำนองแนะนำพระพุทธเจ้าแนะนำพระพุทธองค์ว่า “ข้าพระองค์ย่อมไถและหว่านครั้นไถและหว่านแล้ว จึงค่อยเสวยเถิด” จากนั้นพระองค์ได้ทรงเทศนาตามนัย คือถาม – ตอบ ที่ชื่อ กสิภารทวาชสูตร พอจบพระธรรมเทศนา ภารทวาชพราหมณ์ทูลขอบรรพชาและอุปสมบท ตั้งใจปฏิบัติตามที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไม่นานนักท่านก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล และพรรษาที่ ๑๑ นี้ พระทศพลก็ได้ทรงจำพรรษา ณ เอกนาลาวิหารปัจจุบันยังไม่ทราบว่าอยู่ตรงจุดไหน
๒๖. อัมพลัฏฐิกา
เป็นสถานที่พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เดินทางอยู่ระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาลันทา มีปริพพาชก ( นักบวชนอกศาสนา) ชื่อสุปปิยะ พร้อมด้วยศิษย์ชื่อพรหมทัตมาณพ เดินทางมาข้างหลัง สุปปิยะปริพพาชก ติเตียนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ศิษย์กล่าวสรรเสริญ เมื่อถึงเวลากลางคืนภิกษุทั้งหลายได้สนทนากันถึงเรื่องศิษย์อาจารย์กล่าวแย้งกันเรื่องสรรเสริญ ติเตียนพระรัตนตรัย พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงตรัสเตือนมิให้โกรธเมื่อมีผู้ติเตียนพระรัตนตรัย มิให้ยินดีหรือเหลิงเมื่อมีผู้สรรเสริญ แล้วตรัสว่า คนอาจกล่าวชมเชยพระองค์ด้วยศีล ๓ ชั้น คือศีลอย่างเล็กน้อย ศีลอย่างกลาง ศีลอย่างใหญ่
ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคทรงแสดงถึงความคิดเห็น ๖๒ ประการของสมณพราหมณ์ในครั้งนั้น คือพวกที่มีความเห็นปรารภเบื้องตั้นของสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นมาอย่างไร และสิ่งต่างๆ จะลงสุดท้ายอย่างไร
๒๗. วัดไทยสิริราชคฤห์
วัดไทยสิริราชคฤห์ ตั้งอยู่เมืองราชคฤห์ อำเภอนาลันทา รัฐพิหาร วางศิลาฤกษ์เมื่อปี ๒๕๔๖ โดยพระพุทธิวงศมุนี (บุญมา ทีปธมฺโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส จัดซื้อที่ดินในนามวัดไทยพุทธ คยา โดยการประสานงานของพระเทพโพธิวิเทศ (ทองยอด ภูริปาโล/บุณยเนตร) และพระครูปลัด ดร.ฉลอง จนฺทสิริ วัดไทยพุทธคยา มีวัตถุประสงค์เพื่อบูชาคุณของพระรัตนตรัย พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าอโศกมหาราช หมอชีวกโกมารภัจจ์ พระเจ้าอชาติศัตรู พระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ โดยการอุปถัมภ์คณะพุทธบริษัทชาวไทย ตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับถ้ำสัตตบรรณคูหามีทางเข้าทางด้านข้างของวัดเวฬุวัน (อยู่ในช่วงดำเนินการก่อสร้าง) โดยมีพระครูปลัดสุวัฒนพุทธิคุณ (พ.ม.วิเชียร วชิรวํโส Ph.D.) เป็นประธานสงฆ์ มีเนื้อที่ ๙ ไร่
สถานที่ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม
๑. พหุปุตตกนิโครธ
เป็นสถานที่ที่พระมหากัสสปะพบกับพระพุทธองค์และได้รับการแสดงธรรมพร้อมการบรรลุธรรมและได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธองค์
๒. โคตมนิโครธ
โคตมนิโครธ หรือนิโครธาราม ยังไม่มีข้อมูลว่าอยู่ ณ จุดไหนในเมืองราชคฤห์ แต่เป็นสถานที่แห่งหนึ่งใน ๑๐ แห่ง ที่พระพุทธองค์ตรัสกับท่านอานนท์ในคราวแสดงโอภาสนิมิตว่าเป็นสถานที่น่าอยู่น่ารื่นรมย์ และเป็นสถานที่แห่งหนึ่งเช่นกันที่พระทัพพมัลลบุตร ได้เคยจัดให้เป็นสถานที่พักของพระภิกษุสงฆ์ที่มาจากจตุรทิศ เพื่อรอเฝ้าพระพุทธเจ้า
๓. วิหาร ๑๘ ตำบล
ในกรุงราชคฤห์และเขตรอบ ๆ เมืองราชคฤห์มีปรากฏวิหารเกิดขึ้น ๑๘ ตำบล หรือที่เรียกว่า วิหาร ๑๘ ตำบล ดังนี้
๑. เวฬุวนาราม ๒. ตโปธาราม ๓. สัตตบรรณคูหา ๔. กัสสปาราม
๕. สีตะวัน ๖. เงื้อมผาสัปปโสณฑิกะ ๗. อันธกวินทะ ๘. ชีวกัมพวัน
๙. เหวทิ้งโจร ๑๐. มัททกุจฉิทายวัน ๑๑. คิชฌกูฏ ๑๒.อินทสาลคูหา
๑๓. กาฬสิลา ๑๔. ลัฏฐิวัน ๑๕. ทักขิณาคีรี ๑๖. หมู่บ้านเอกนาลา
๑๗. โคตมนิโครธ ๑๘. ปาสาณกเจดีย์