ธรรมะจากพระดี
“หลักมนุษย์”
เนื้อหาของธรรมะเรื่องนี้เรียบเรียงมาจากพระธรรมเทศนาเรื่อง “อัปปมาทกถา” ของพระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตฺโต) ซึ่งแสดงถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี(สมเด็จย่า) เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๓๙ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง
คนเราทุกคนย่อมต้องการให้ชีวิตของตนเองมีความสุขทั้งทางโลก คือในด้านการเรียน การทำงาน ฯลฯ มีความเจริญก้าวหน้า ประสพผลสำเร็จตามที่ตั้งใจ และมีความสุขในทางธรรม คือมีจิตใจที่ผ่องใส สงบ สดชื่น ลดความโลภ โกรธ หลง ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
การจะไปสู่ชีวิตที่สมบูรณ์ดังกล่าวได้ เราจะต้องไม่ตกลงไปใน “หลุมดักมนุษย์” ซึ่งทำให้เราหยุดนิ่งไม่พัฒนาตนเอง เพราะมัวไปหลงมัวเมาอยู่กับบางสิ่งบางอย่าง พระธรรมปิฎก ได้แสดงธรรมที่จะเป็นเคล็ดลับของการมีชีวิตอยู่เหนือ “หลุมดักมนุษย์” ไว้อย่างน่าสนใจ ผู้จัดพิมพ์จึงนำมาเสนอให้ผู้อ่าน ได้มีโอกาสศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าที่พระเดชพระคุณท่านนำมาแสดงไว้ และเราเชื่อว่า การที่พระเดชพระคุณท่านดำรงความเป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ(สุปฏิปันโน) มาได้โดยยาวนาน ก็เนื่องจากท่านมหาเถระเป็นผู้ที่มีธรรมะในข้อนี้อยู่ตลอดเวลา จึงมีความก้าวหน้าเจริญในธรรม มาอย่างต่อเนื่องมั่นคง
ในสังคมที่เรียกว่าเจริญนี้ มีเครื่องกล่อมจิตและผ่อนคลายชีวิตมากมาย หากไม่ระวัง ทำให้ถูกต้องและพอดี จะมีโทษ ทำให้เกิดความประมาท นำความพินาศมาให้ตนเองและคนอื่นได้ “สิ่งกล่อม” หมายถึงสิ่งที่ประโลมใจให้ชุ่มชื่น ช่วยให้พักใจ ลืมทุกข์ หลบปัญหาได้ชั่วคราว แต่สิ่งกล่อมนี้ไม่ได้แก้ปัญหาหรือความทุกข์ที่สาเหตุอันแท้จริง จึงไม่ทำให้ทุกข์และปัญหาต่างๆ หมดไป หากมัวติดเพลิดเพลินกับสิ่งกล่อมก็กลายเป็นความประมาท ทำให้เกิดความเสื่อมและพินาศในที่สุดได้
สิ่งกล่อมบางอย่างมีโทษร้ายแรง หาประโยชน์ยาก เช่น อบายมุข สุรา ยาเสพติดทั้งหลาย ความเพลิดเพลินในการพนัน การหมกมุ่นสำส่อนทางเพศ การมั่วสุมต่างๆ
สิ่งกล่อมบางอย่างมีประโยชน์บ้าง ถ้ารู้จักใช้ให้ถูกต้อง จำกัดให้พอดี เช่น การสนุกสนาน บันเทิง รวมทั้งดนตรี กีฬา ที่ไม่เป็นพิษภัยหรือก่อความเดือดร้อนแก่ใคร ก็อาจช่วยพักใจคลายทุกข์ได้ชั่วคราว และพัฒนาร่างกาย ส่งเสริมสติปัญญาได้ แต่ต้องอยู่ในขอบเขตไม่เกินพอดี
ความเชื่อทางศาสนา บางครั้งกลายเป็นสิ่งกล่อมจิตอย่างหนึ่งไปได้ เพราะทำให้คลายทุกข์ เช่น ความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือการพึ่งคนอื่น ฯลฯ สิ่งกล่อมนี้ต้องปฏิบัติด้วยความระมัดระวังมาก ถ้าติดเพลินหมกมุ่น จะทำให้จิตใจอ่อนแอ หวังพึ่งแต่ภายนอกให้ช่วย ไม่คิดแก้ไขสาเหตุของทุกข์ที่แท้ ไม่สู้ปัญหา ลักษณะแบบนี้จะทำให้ศาสนากลายเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจแบบเหนี่ยวดึง “ลง” จนกระทั่งคนเราไม่พัฒนาตนเอง
แม้แต่สมาธิ หรือสิ่งดีงามประเสริฐ หากใช้ผิดจุดมุ่งหมาย ก็อาจกลายเป็นสิ่งกล่อมที่นำไปสู่ความประมาท เช่น สมาธิ ที่นำมาใช้เพื่อให้เกิดความสุข สงบใจ ลืมทุกข์ ลืมปัญหาไปชั่วคราว ก็อาจกลายเป็นสิ่งกล่อมที่ทำให้หยุดจมอยู่ในความประมาท ไม่คิดแก้ไขปัญหาที่เป็นสาเหตุอันแท้จริงให้หมดไป เช่นเดียวกับการปลงอนิจจัง(ปล่อยวาง) ก็อาจกลายเป็นสิ่งกล่อมให้สบายใจชั่วคราว โดยไม่คิดแก้ไขปัญหาที่แท้จริงเช่นกัน
ดังนั้นการปฏิบัติสิ่งที่ดีงามทั้งหลาย จะต้องเป็น “สัมมาปฏิบัติ” คือทำให้ถูกต้อง จำกัดขอบเขตให้พอดีด้วย เช่นใช้เพื่อฟื้นฟูจิตใจ พักใจชั่วคราว เมื่อมีเรี่ยวแรง เข้มแข็งมากขึ้นแล้ว ก็ต้องเดินทางให้ก้าวหน้าต่อไป สู่จุดหมายที่ถูกต้อง ไม่ใช่ไปตกหลุมดักอยู่กับสิ่งกล่อมนั้นๆ จนไม่ไปไหน
สรุปก็คือ “หลุมดักมนัษย์” ที่ทำให้คนเราแม้แต่คนดี คนประเสริฐ ตกลงไปในความประมาทมี ๓ อย่าง คือ
• ความสุข
• ความสำเร็จ
• ความดีงาม
ผู้ที่มีความสุขแล้ว ก็มักจะติดเพลินในความสุขนั้นๆ ชอบผัดผ่อน ไม่คิดจะลุกขึ้นมาขวนขวายทำอะไรให้ก้าวหน้าอีก เพราะติดความสุขสบายนั้น
ผู้ที่มีความสำเร็จแล้ว คือประสพความสำเร็จ ได้ลาภ ยศ ร่ำรวย มีตำแหน่ง ฯลฯ บางคนก็เกิดความเฉื่อยชา หยุดรอเสวยผลสำเร็จนั้น ไม่คิดทำอะไรอีก บางคนเกิดความลำพองมัวเมาในความสำเร็จ ใช้ทรัพย์หรืออำนาจไปข่มขู่คุกคาม เบียดเบียนคนอื่นให้ทุกข์ร้อน
ผู้ที่ก้าวหน้าไปในความดี ก็มักเกิดความภูมใจและพอใจในความดีงามที่ตนเองไปถึงหรือมี ทำให้หยุด ไม่พัฒนาตนเองไปสู่ความดีงามที่สูงยิ่งๆขึ้นไป
พระพุทธเจ้าได้สอนให้คนเราไม่ประมาท คือเมื่อ ประสบความสุข สำเร็จ มีความก้าวหน้าดีงาม ก็ให้รู้เท่าทันความไม่แน่นอน และรู้ว่าสิ่งที่ได้มานั้น เป็นเพียงเครื่องมือ และโอกาสที่ตนเองจะสร้างประโยชน์เพื่อทำสิ่งที่ดีงามแก่ตนเองและผู้อื่นให้เพิ่มพูนยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่ไปติดกับ หรือตกหลุม หยุดอยู่กับที่ ไม่ยอมไปไหน
ลักษณะสำคัญของความไม่ประมาท คือ “เป็นอยู่อย่างไม่ขาดสติ” มีความระลึก ตื่นตัว อยู่ในสิ่งที่ดีงาม ระวังไม่ยอมให้จิตใจ ไถลออกไปกับความชั่ว ที่จะทำให้เกิดความเสียหาย และไม่ทิ้งโอกาสแห่งการสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้างอกงามให้แก่ตนเองและผู้อื่น
ความไม่ประมาทนั้น แสดงเด่นชัดที่การรู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ไม่ปล่อยเวลาแม้แต่ขณะเดียวให้ผ่านไปอย่างเปล่าประโยชน์เวลาแต่ละวันอย่าให้ผ่านไปเปล่า ไม่มากก็น้อยต้องให้ “ได้” อะไรบ้าง
สิ่งที่ “ได้” นั้น มีหลายอย่าง ตั้งแต่ได้วัตถุสิ่งของ เงินทองการงาม ได้บำเพ็ญประโยชน์ ทำบุญทำทาน ได้ความรู้ ได้เพิ่มพูนคุณธรรม ได้ความสุขสบายใจ ได้ปัญญามองเห็นโลก เข้าใจชีวิตอย่างรู้เท่าทัน สรุปคือ ได้พัฒนาชีวิต จิตใจ และทำปัญญาให้เจริญงอกงามและได้ทำประโยชน์ตนและแก่ผู้อื่น ถ้าทำทุกวัน แม้ไม่มาก ก็จะค่อยๆเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา ก็ถือว่าเวลาไม่สูญเปล่า บุคคลคนนั้นก็เป็นผู้ “ไม่ประมาท”
ส่วนผู้ประมาทนั้น แสดงออกหลายอย่าง เช่น ขี้เกียจ เห็นแก่ความสะดวกสบาย เอาแต่ที่ง่ายๆ ลุ่มหลงหมกมุ่นในความสุข ตามใจตนเองอยู่เรื่อย การแสดงออกเหล่านี้ เนื่องจากมองข้ามความสำคัญของเวลา ก็เลยผัดวันประกันพรุ่งอยู่เรื่อย
บ้างก็เมาวัย เมาในความไร้โรค เมาชีวิต คิดว่าตัวเองยังเด้ก หนุ่มสาว ร่างกายแข็งแรง หรือคิดว่าชีวิตจะอยู่ได้ตลอดไป ไม่รู้จักตาย ก็เลยปล่อยตัวปล่อยใจ ปล่อยเวลา มารู้เอาก็เมื่อสายเกินไปเสียแล้ว
เรื่องความไม่ประมาทนี้จึงสำคัญนัก ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน(ไม่เวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป) เรื่องที่ทรงกล่าวสั่งเสียครั้งสุดท้าย ที่เรียกว่า “ปัจฉิมโอวาท” ก็คือเรื่อง “ความไม่ประมาท”