พระสูตรเว่ยหล่าง
หมวดที่ 10
คำสอนสุดท้าย
***********
วันหนึ่งพระสังฆนายก สั่งให้ตามตัวสานุศิษย์ของท่าน คือ ฟัตห่อย, ชีชิง, ฟัตตัด, ชินวุย, ชิชิว, ชิตุง, ชิโช, ชิต่าว, ฟัตจุน, ฟัตอู, ฯลฯ และได้กล่าวกับท่านเหล่านั้นว่า
ท่านทั้งหลาย ผิดกับคนอื่นๆ ที่เหลือ เมื่อฉันเข้าปรินิพพานไปแล้วพวกท่านแต่ละคนจะได้เป็นอาจารย์ธยานคนละเมือง ฉะนั้นฉันจะให้คำเตือนแก่พวกท่านในเรื่องการสั่งสอน เพื่อท่านจะได้รักษาธรรมเนียมแห่งสำนักของเรา
ครั้งแรกจงกล่าวธรรมสามประเภท ต่อไปก็กล่าวถึงสิ่งที่เป็นของคู่ประเภทตรงข้าม 36 คู่ อันเป็นอาการไหวตัวของภาวะที่แท้แห่งจิต จากนั้นก็สอนวิธีหลีกเลี่ยงความสุดโต่งทั้งสองข้าง ในการเข้ามา หรือการออกไป การสอนทุกคราว อย่าเบนออกไปจากภาวะที่แท้แห่งจิต เมื่อใครถามปัญหาท่านจงตอบเขาไปในลักษณะตรงข้าม เพื่อให้เกิดเป็นคำคู่ประเภทตรงข้าม เช่นการมาและการไป ก็เป็นเหตุเป็นผลต่อกันและกัน เมื่อเพิกถอนการอ้างอิงต่อกันและกันของคู่คำนี้โดยสิ้นเชิงแล้ว ก็จะเหลือเป็นความหมายอันเฉียบขาดคือ ไมใช่การมา และไม่ใช่การไป
ธรรม 3 ประเภทนั่นคือ
ขันธ์ (กองหรือหมวดหมู่)
อายตนะ (ที่ประชุมกันหรือที่พบกัน)
ธาตุ (ตัวประกอบของวิญญาณ)
ขันธ์ 5 ได้แก่ รูป (สสารหรือวัตถุ) เวทนา (การรับอารมณ์หรือการเสวยอารมณ์) สัญญา (ความจำได้หรือความสำเหนียกรู้ในอารมณ์) สังขาร (ความเจตนนาของจิต) และวิญญาณ (ความรู้ในอารมณ์)
อายตนะ 12 ได้แก่ อายตนะภายนอก (วัตถุแห่งอารมณ์ 6 ประการ คือ วัตถุทางรูป (รูปายตนะ) วัตถุทางเสียง (สัททายตนะ) วัตถุทางกลิ่น (คันธายตนนะ วัตถุทางรส วัตถุทางรสายตนะ) วัตถุทางสัมผัส (โผฏฐัพพาตยตนะ) วัตถุทางความคิด (ธัมมายตนะ)
อายตนะภายใน (อวัยวะรับอารมณ์) 6 ประการ อวัยวะทางตา (จักขวายตนะ) อวัยวะหู (โสตายตนะ) อวัยวะจมูก (ฆานายตนะ) อวัยวะลิ้น (ชิวหายตนะ) อวัยวะกาย (กายายตนะ) อวัยวะใจ (มนายตนะ)
ธาตุ 18 ได้แก่ วัตถุแห่งอารมณ์ 6 อวัยวะรับอารมณ์ 6 และ วิญญาณซึ่งรู้ในอารมณ์ 6
"เนื่องจาก ภาวะที่แท้แห่งจิต" เป็นสิ่งก่อกำเนิดธรรมทั้งหลาย จึงเรียกว่าวิญญาณคลัง (อาลยะ) ในทันทีที่เริ่มวิถีแห่งความคิดนึก หรือวิถีแห่งการหาเหตุผล ภาวะที่แท้แห่งจิตก็กลายรูปเป็นวิญญาณประเภทต่างๆ เมื่อวิญญาณซึ่งรับรู้ในอารมณ์ทั้ง 6 เกิดขึ้น ก็จะสำเหนียกรู้ในวัตถุแห่งอารมณ์ทั้ง 6 นั้นจากทวารทั้ง 6 ดังนั้น กิจของธาตุ 18 จึงเนื่องมาจากแรงกระตุ้นของภาวะที่แท้แห่งจิต ไม่ว่าบุคคลนั้นจะปฏิบัติกิจในทางชั่ว หรือปฏิบัติกิจในทางดี ก็แล้วแต่ว่าภาวะที่แท้แห่งจิต จะอยู่ในอารมณ์ใด อารมณ์ชั่วหรืออารมณ์ดี กิจอันชั่วก็เป็นลักษณะของสามัญชน กิจอันดีเป็นลักษณะของพุทธะ เพราะมีความรู้สึกที่เป็นของคู่ประเภทตรงกันข้าม ฝังติดเป็นนิสัยอยู่ในภาวะที่แท้แห่งจิต
สิ่งที่เป็นของคู่ประเภทตรงข้าม 36 ประการ ได้แก่
วัตถุภายนอก 5 ประการ คือ ฟ้าและดิน อาทิตย์และจันทร์ แสงสว่างและความมืด ธาตุบวกและธาตุลบ ไฟฟ้าและน้ำ
ธรรมลักษณะ 12 ประการ คือ คำพูดและธรรม การรับและการปฏิเสธ สาระและไม่เป็นสาระ รูปและปราศจากรูป ความแปดเปื้อนและความไม่แปดเปื้อน ความมีอยู่และความว่างเปล่า ความเคลื่อนไหวและความสงบนิ่ง ความบริสุทธิ์และมลทิน สามัญชนและปราชญ์ พระสงฆ์และฆราวาส คนแก่และคนหนุ่ม ความใหญ่และความเล็ก
กิจของภาวะที่แท้แห่งจิต 19 คู่ คือ ยาวและสั้น ดีและชั่ว อวิชชาและปัญญา โง่และฉลาด กระวนกระวายและสงบนิ่ง กรุณาและชั่วช้า ศีลและไม่มีศีล ตรงและคต เต็มและว่าง ชันและระดับ กิเลสและโพธิ ถาวรและไม่ถาวร เมตตาและโหดร้าย สุขและโกรธ อ่อนโยนและหยาบช้า ไปข้างหน้าและถอยหลัง มีอยู่และไม่มีอยู่ ธรรมกายและกายเนื้อ สัมโภคกายและนิรมานกาย
"ผู้รู้จักวิธีใช้สิ่งทั้ง 36 คู่เหล่านี้ ย่อมตระหนักชัดถึง หลักการที่แผ่ซ่านไปในทุกสิ่ง ซึ่งกล่าวไว้ทั่วไปในพระสูตรทั้งหลาย ไม่ว่าเขาจะเข้ามาหรือออกไป เขาย่อมสามารถหลีกเลี่ยงความสุดโต่งทั้งสองข้างนี้ได้
"ในการปฏิบัติกิจของภาวะที่แท้แห่งจิต และ ในการสนทนากับผู้อื่น ทางภายนอกเราควรเปลื้องตัวเสียจากการยึดติดอยู่กับวัตถุ เมื่อจะต้องเกี่ยวข้องกับวัตถุนั้นๆ ส่วนภายในตามคำสอนถึงความว่างเปล่า เราควรเปลื้องตนออกจากความคิดที่ว่าขาดสูญ การเชื่อว่า วัตถุทั้งหลายมีความจริงแท้ หรือเชื่อว่าขาดสูญ ย่อมก่อให้เกิดมิจฉาทิฏฐิอย่างฝังรากลึก หรือพอกพูนอวิชชาให้หนาแน่นยิ่งขึ้น"
"ผู้ที่เชื่ออย่างยึดมั่นในลัทธิขาดสูญ ย่อมดูหมิ่นพระสูตรทั้งหลาย ในแง่ที่ว่าภาษานั้นไม่จำเป็น ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว พวกเราก็ผิดในการที่พูด เพราะคำพูดย่อมก่อให้เกิดเนื้อหาทางภาษา และเขาก็อาจแย้งได้อีกว่า สำหรับวิธีตรงนั้นภาษาเป็นอันยกเลิกได้ แต่เขาจะพอใจกับคำว่า ยกเลิก ซึ่งก็เป็นภาษาเช่นกัน ฉะนั้นหรือ? เมื่อได้ยินผู้อื่นกล่าวถึงพระสูตร คนเช่นนี้จะตำหนิผู้พูดในทำนองว่า ติดอยู่กับตำรา มันเป็นความชั่วอย่างพอตัวทีเดียว ที่ยึดถือความคิดเห็นผิดๆเช่นนี้ไว้กับตน พวกท่านควรรู้ว่า การกล่าวร้ายต่อพระสูตร เป็นความผิดอย่างมหันต์ เพราะผลลัพธ์ที่จะได้นั้นหนักมากทีเดียว
"ผู้ที่เชื่อในความจริงแท้ของวัตถุภายนอก ก็พยายามค้นหารูปนั้นด้วยการปฏิบัติในลัทธิบางอย่าง เขาอาจจัดห้องบรรยายไว้อย่างกว้างขวาง เพื่อถกเถียงกันถึงลัทธิเที่ยงแท้และลัทธิขาดสูญ แต่คนเช่นนี้ แม้อีกมากมายหลายกัลป์ ก็ไม่อาจตระหนักชัดถึงภาวะที่แท้แห่งจิตได้"
"เราควรเดินทางไปตามคำสอนของพระธรรม อย่าปล่อยใจให้เฉื่อยชาเพราะจะเกิดอุปสรรคแก่ความเข้าใจในหลักธรรมได้ การสอนหรือการฟังพระธรรมโดยไม่ได้ปฏิบัติตามย่อมเป็นการเปิดช่องให้เกิดมิจฉาทิฏฐิ ฉะนั้น เราควรเดินทางไปตามคำสอนของพระธรรม และในการเผยแพร่ธรรม ก็ไม่ควรให้ความคิดเห็นถึงคามจริงแท้แห่งวัตถุ มาชักน้ำเราไป"
"ถ้าท่านเข้าใจสิ่งที่ฉันพูด และนำไปใช้ในการสั่งสอน ในการปฏิบัติและในชีวิตประจำวัน ท่านจะสามารถจับความสำคัญของสำนักเราได้"
เมื่อมีปัญหาถามมา จงตอบไปในทำนองปฏิเสธ ถ้าเป็นปัญหากล่าวปฏิเสธ จงตอบในทำนองบอกรับ ถ้าถูกถามถึงสามัญชน จงตอบเรื่องของปราชญ์จากการเปรียบเทียบกันหรืออ้างอิงก้นระหว่างสิ่งตรงข้ามทั้งคู่ จะทำให้ผู้ฟังเข้าใจใน ทางสายกลาง ได้ ถ้าปัญหาต่างๆ ถามมาในทำนองนี้ ท่านจงอย่าตอบให้ผิดไปจากสัจจะ"
"สมมุติมีคนถามท่านว่า ความมืดคืออะไร ท่านก็ตอบเขาไปว่า ความสว่างเป็นเหตุ ความมืดเป็นปัจจัย เมื่อความสว่างหายไป ความมืดก็ตามมาสองสิ่งนี้อยู่ในลักษณะเปรียบเทียบต่อกันและกัน จากการเปรียบเทียบกันหรือ อ้างอิงกัน ระหว่างสิ่งตรงข้ามทั้งคู่ ก็จะเกิด ทางสายกลาง ขึ้น
จงตอบปัญหาอื่นๆ ทั้งปวงในทำนองเดียวกันนี้ ในการถ่ายทอดธรรมให้สานุศิษย์ของท่าน ท่านควรมอบคำสอนนี้ต่อๆกันไป ตามอนุชนแต่ละชั้นเพื่อเป็นเครื่องประกันความถาวรแห่งเป้าหมายและจุดประสงค์ของสำนักเรา"
ในเดือนเจ็ด แห่งปีเยนซี อันเป็นปีที่หนึ่ง แห่งรัชสมัยไตกิ๊กหรือเยนโว พระสังฆนายกได้สั่งให้ศิษย์บางท่านไปสร้างสถูปไว้แห่งหนึ่ง ในวัดกว็อกเยน ที่ชุนเจา และกำชับให้แล้วเสร็จโดยด่วน พอจวนสิ้นฤดูร้อนในปีต่อมา สถูปนั้นก็แล้วเสร็จเรียบร้อย
ครั้นถึง วันขึ้นหนึ่งค่ำ เดือนเจ็ด พระสังฆนายก ประชุมสานุศิษย์ของท่าน และกล่าวว่า:-
"ฉันจะจากโลกนี้ไปในเดือนแปด หากใครยังมีข้อสงสัยอันใด เกี่ยวกับหลักธรรมแล้ว จงถามเสียให้ทันเวลา เพื่อท่านจะได้เข้าใจให้กระจ่าง เพราะท่านอาจไม่พบใครที่จะสอนท่านอีก เมื่อฉันจากไปแล้ว" ข่าวร้าย ทำให้ท่านฟัตห่อยและสานุศิษย์อื่นๆ น้ำตาไหล ส่วนท่านชินวุยนั้น ตรงกันข้าม คงสงบนิ่ง พระสังฆนายกกล่าวชมเชยท่านชินวุยว่า "อาจารย์หนุ่มชินวุยคนเดียวเท่านั้นในที่นี้ ที่ได้บรรลุถึงฐานะของจิต ที่ไม่ยินดีหรือยินร้ายต่อความดีหรือความชั่ว ไม่รู้จักความดีใจหรือเสียใจ และไม่ไหวสะเทือนต่อคำเยินยอหรือติฉิน แต่ท่านอบรมอยู่ในภูเขานี้ก็หลายปีแล้ว ท่านได้รับความก้าวหน้าบ้าง ขณะนี้ท่านร้องไห้ทำไม ท่านกังวลต่อฉัน เพราะฉันไม่รู้ว่าฉันจะไปที่ไหนกระนั้นหรือ? แต่ฉันรู้ มิฉะนั้น ฉันคงบอกท่านล่วงหน้าไม่ได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้น เรื่องที่ทำให้ท่านร้องไห้ก็คือ ท่านไม่รู้ว่าฉันจะไปที่ไหน ถ้าท่านร้องไห้เพราะเหตุนั้นก็ไม่น่าจะร้อง ในสภาพแห่งความเป็นเช่นนั้น โดยเนื้อแท้แล้ว ย่อมไม่มีการมาหรือการไป ไม่มีการเกิดหรือการดับ นั่งลงเถิดทุกๆท่าน ฉันจะกล่าวโศลกว่าด้วย ความจริงแท้และความลวง กับโศลกว่าด้วย ความเคลื่อนไหวและความสงบนิ่ง ให้ท่านฟัง จงนำไปศึกษา แล้วความเห็นของท่านก็จะอยู่ในแนวเดียวกับความเห็นของฉัน จงนำไปปฏิบัติ แล้วท่านจะทราบถึงเป้าหมายและจุดประสงค์แห่งสำนักของเรา"
ที่ประชุมต่างทำความเคารพและขอฟังโศลกนั้น:-
ในสรรพสิ่งทั้งหลายย่อมไม่มีอะไรจริงแท้
ดังนั้นเราควรเปลื้องตน ออกเสียจากความคิดเห็น ถึงความจริงแท้แห่งวัตถุเหล่านั้น
ใครที่เชื่อ ในความจริงแท้ของวัตถุ
ย่อมถูกพันธนาการอยู่ด้วยความคิดเห็นเช่นนั้นซึ่งล้วนเป็นสิ่งลวง
ใครที่ตระหนักชัดถึงความจริงแท้ในตัวเขาเอง
ย่อมรู้ว่า จิตที่แท้ต้องค้นหาต่างที่กับปรากฏการณ์ที่ผิด
ถ้าจิตของใครถูกพันธนาการไว้ด้วยปรากฏการณ์ที่เป็นความลวงแล้ว
จะไปหาความจริงแท้ได้ที่ไหน ในเมื่อปรากฏการณ์ทั้งหลายไม่ใช่ความจริงแท้
สัตว์ทั้งหลายย่อมเคลื่อนไหว
วัตถุทั้งปวงย่อมหยุดนิ่ง
ใครฝึกตนให้เป็นผู้ไร้ความเคลื่อนไหว ย่อมไม่ได้ประโยชน์อะไร นอกจากทำตนให้แน่นิ่งอย่างวัตถุ
ถ้าท่านจะหาความสงบนิ่งที่ถูกแบบ ก็ควรสงบนิ่งภายในการเคลื่อนไหว
ความสงบนิ่ง (เหมือนอย่างวัตถุ) ก็เป็นเพียงความสงบนิ่ง (ไม่ใช่ธยาน)
ในสรรพวัตถุทั้งหลายนั้น ท่านจะไม่พบเมล็ดพืชแห่งความเป็นพุทธะ
ท่านผู้เชี่ยวชาญในการจำแนกธรรมลักษณะต่างๆ ย่อมพำนักอยู่อย่างสงบนิ่งในหลักธรรมลักษณะต่างๆ
ย่อมพำนักอยู่อย่างสงบนิ่งในหลักธรรมเบื้องแรก
ด้วยเหตุนี้ท่านจึงสำเหนียกรู้ในสิ่งทั้งหลาย นี่แหละคือหน้าที่ของตถตา บรรดาผู้ที่ดำเนินไปตามมรรค
จงกระตุ้นเตือนตนเอง และคอยหมั่นระวัง
ในฐานะที่เป็นสานุศิษย์ของสำนักมหายาน จงอย่ารวบรัดเอาความรู้ ประเภทที่จะผูกพันท่านไว้กับกงจักร แห่งการเกิดและตาย
สำหรับบุคคลที่มีความรู้สึกสอดคล้องกัน จงอธิบายกันในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
ส่วนบุคคลที่มีทัศนะต่างจากเรา
จงปฏิบัติต่อเขาอย่างสุภาพ ซึ่งเป็นการอำนวยความสุขให้กับเขา
เรื่องการโต้เถียงไม่ใช่วิธีการของสำนักเรา
เพราะเป็นการขัดแย้งกับหลักธรรม
การยึดมั่นหรือขัดแย้งกับสิ่งอื่น โดยไม่คำนึงถึงหลักข้อนี้
ย่อมเป็นการผลักไสให้ภาวะที่แท้แห่งจิตของตน ตกไปสู่ความขมขื่นแห่งโลกียภูมิ
เมื่อได้ฟังโศลกบทนี้ ที่ประชุมต่างกราบนมัสการพระสังฆนายกพร้อมกันทุกคนต่างสำรวมใจปฏิบัติตามโศลกอย่างจริงจัง และละเว้นการขัดแย้งก้นในทางศาสนา
เมื่อเห็นว่าพระสังฆนายกจะจากไปในไม่ช้า ท่านฟัตห่อย ผู้อาวุโส ได้หมอบกราบพระสังฆนายกสองครั้งแล้วถามว่า "เมื่อพระคุณท่านเข้าปรินิพพานแล้วใครจะเป็นผู้ได้รับมอบบาตรจีวรและธรรมต่อไป"
พระสังฆนายกตอบว่า "สำหรับคำสอนของฉันทั้งหมด นับแต่ได้กล่าวเทศนาในวัดไทฟันตราบจนบัดนี้ จงคัดลอกเป็นเล่มแล้วแจกกจ่ายกันไปก็ได้ แต่ให้ชื่อว่า สูตรอันประกาศบนมหาบัลลังก์แห่งธรรมรถ จงทะนุถนอม ไว้ให้ดี แล้วมอบต่อกันไปตามอนุชนแต่ละรุ่น เพื่อช่วยเหลือสัตว์ทั้งปวง บุคคลที่สั่งสอนตามคำสอนนี้ เป็นผู้ที่สั่งสอนตามธรรมแท้
พอแล้วสำหรับธรรม ส่วนการรับช่วงจีวรนั้น ถือว่าเป็นการสิ้นสุดกัน เพราะเหตุใดหรือ? เพราะว่าท่านทั้งหลายต่างก็ศรัทธาต่อคำสอนของฉันโดยพร้อมมูล ทั้งท่านก็ปราศจากความเคลือบแคลงสงสัยใดๆ แล้ว ท่านย่อมสามารถสืบต่อจุดประสงค์อันสูงยิ่งของสำนักเราให้ลุล่วงไปได้ นอกจากนั้นตามความหมายในโศลกของท่านโพธิธรรม พระสังฆนายกองค์แรกผู้ถ่ายทอดพระธรรมและบาตรจีวรท่านก็ไม่ประสงค์จะให้มอบแก่ใครต่อไปอีก โศลกนั้นคือ:-
จุดประสงในการมาดินแดนนี้
ก็เพื่อถ่ายทอดพระธรรม สำหรับปลดปล่อยสัตว์ที่ถูกครอบงำไว้
ด้วยความหลงผิด
เมื่อมีกลีบครบห้ากลีบ ดอกไม้นั้นก็สมบูรณ์
หลังจากนั้นไป ผลจะปรากฏขึ้นเองตามธรรมชาติ
พระสังฆนายกกล่าวเสริมต่อไปว่า "ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย จงชำระจิตของท่านให้บริสุทธิ์และฟังฉันพูด ใครที่ปรารถนาจะบรรลุปัญญาของพุทธะ ซึ่งรู้ไปในทุกๆสิ่ง เขาก็ควรรู้จัก สมาธิเฉพาะวัตถุประสงค์ และ สมาธิเฉพาะแบบ ในทุกๆกรณี เราควรเปลื้องตนออกเสียจากความผูกพันในวัตถุทั้งหลาย และวางท่าทีต่อสิ่งเหล่านั้นให้เป็นกลาง ไม่ยินดียินร้าย อย่าปล่อยให้ชัยชนะหรือความปราชัย และการได้มาหรือการสูญเสียก่อความกังวลแก่เราได้ จงสงบและเยือกเย็น จงสุภาพและอารีอารอบ จงซื่อตรงและเที่ยงธรรมสิ่งเหล่านั้นคือ สมาธิเฉพาะวัตถุประสงค์ ในทุกๆ โอกาส ไม่ว่าเราจะยืน เดิน นั่งหรือนอน จงเป็นคนตรงแน่ว เราก็จะดำรงอยู่ในสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์และไม่ต้องเคลื่อนไหวแม้สักน้อย เราก็เสมือนกับอยู่ในอาณาจักรแห่งดินแดนอันบริสุทธิ์ สิ่งเหล่านี้คือ สมาธิเฉพาะแบบ.
ผู้ที่ปฏิบัติตามสมาธิทั้งสองอย่างนี้ ได้ครบถ้วนแล้ว ก็เสมือนกันเนื้อนาที่ได้หว่านเมล็ดพืชลงไป แล้วกลบไว้ด้วยโคลน เมล็ดพืชจึงได้รับการบำรุงและเจริญเติบโต ตราบจนกระทั่งผลิผล."
คำสอนของฉันขณะนี้ ไม่ผิดอะไรกับฝนตกตามฤดูกาล ซึ่งจะนำความชุ่มชื่นมาสู่ผืนแผ่นดินอันกว้างใหญ่ ธรรมชาติแห่งพุทธะซึ่งมีอยู่ภายใน เหมือนกับเมล็ดพืชที่ได้รับความชุ่มชื่นจากสายฝน ย่อมจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ใครที่ปฏิบัติตามคำสอนของฉัน ย่อมจะได้บรรลุถึงโพธิอย่างแน่นอน ใครที่ดำเนินตามคำสอนของฉัน ย่อมจะได้รับผลอันสูงเลิศเป็นแน่แท้ จงฟังโศลกดังนี้:-
"เมล็ดพันแห่งพุทธะ แฝงอยู่ในจิตของเรา
ย่อมงอกตามสายฝน ที่ซึมซาบไปในทุกสิ่ง
ดอกไม้แห่งหลักธรรม เมื่อได้ผลิออกมาด้วยปัญญาญาณ
ผู้นั้นย่อมแน่แท้ ที่จะเก็บเกี่ยวผลแห่งการตรัสรู้
จากนั้นพระสังฆนายกได้เสริมต่อไปว่า "ธรรมนั้นไม่เป็นของคู่ และจิตก็ฉันนั้น มรรคนั้นบริสุทธ์ และอยู่เหนือรูปทั้งมวล ฉันขอเตือนท่าน อย่าปฏิบัติสมาธิในเรื่องความเงียบสงบ หรืออย่าทำจิตให้ว่างเปล่า จิตนั้นบริสุทธิ์อยู่แล้ว โดยธรรมชาติ ดังนั้น จึงไม่มีอะไร ที่เราจะต้องไปใฝ่หา หรือ ยกเลิก แต่ละท่านจงปฏิบัติให้ดีที่สุด และไปในที่ทุกแห่งตามแต่เหตุการณ์จะนำไป"
จากนั้นสานุศิษย์ทั้งหลายต่างกราบนมัสการและเลิกประชุม
ครั้นถึงวันขึ้นแปดค่ำ เดือนเจ็ด พระสังฆนายกสั่งให้สานุศิษย์ของท่านจัดเรือโดยด่วน เพื่อท่านจะกลับไปชุนเจา เมืองเกิดของท่าน บรรดาสานุศิษย์ทั้งหลายโดยพร้อมกันวิงวอนท่านอย่างร้อนรนและน่าสังเวช ขอให้ท่านอยู่ต่อไป
พระสังฆนายกกล่าวว่า "เป็นธรรมดาเหลือเกิน ที่ฉันควรจะไป เพราะความตาย เป็นผลอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้นของความเกิด แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลายซึ่งพระองค์เสด็จมาในโลกนี้ ก็ต้องผ่านการตายทางโลกีย์ ก่อนที่จะเสด็จเข้าสู่พระมหาปรินิพพาน เรื่องนี้ก็ไม่มีข้อยกเว้น สำหรับกายอันเป็นเนื้อหนังของฉันซึ่งจะต้องเหยียดยาวลง ณ ที่ใดที่เหนึ่ง"
ที่ประชุมต่างวิงวอนว่า "เมื่อท่านได้เยี่ยมชุนเจาแล้ว จะเร็วหรือช้าก็ตามขอได้โปรดกลับมาที่นี่เถิด"
พระสังฆนายกตอบว่า "ใบไม้ที่หล่นจากต้นแล้ว ย่อมกลับคืนไปสู่รากเมื่อฉันมาที่นี่ครั้งแรก ฉันก็ไม่ได้บอกใคร"
ที่ประชุมถามว่า "ใครครับ พระคุณท่าน ที่ท่านได้ถ่ายทอดขุมกำเนิดแห่งดวงตาของธรรมแท้?"
พระสังฆนายกตอบว่า "มนุษย์ในหลักธรรมย่อมได้รับ และบรรดาผู้ซึ่งหลุดพ้นแล้วจากความคิดเห็นอันเฉียบขาด ย่อมเข้าใจ"
ที่ประชุมถามต่อไปว่า "จะมีเหตุวิบัติเกิดขึ้นแก่ท่านบ้างหรือไม่ หลังจากนั้น?"
พระสังฆนายกตอบว่า "ห้าหรือหกปีหลังจากที่ฉันได้จากไปแล้ว จะมีคนผู้หนึ่งมาตัดศีรษะฉัน ฉันได้กำหนดคำทำนายไว้แล้วดังนี้:-
สิ่งสักการะ ได้เทอดทูนไว้เหนือศีรษะของบิดามารดา
เพื่อเป็นการเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง
เมื่อเหตุวิบัติได้บังเกิดขึ้นแก่มุนี
ยังและหลิวจะได้เป็นขุนนาง"
จากนั้น ท่านกล่าวเสริมต่อไปว่า "เมื่อฉันจากไปแล้วเจ็ดสิบปี จะมีพระโพธิสัตว์สององค์มาจากทางตะวันออก องค์หนึ่งเป็นฆราวาส อีกองค์หนึ่งเป็นพระภิกษุ มาสั่งสอนธรรมในเวลาเดียวกัน จะเผยแพร่พระธรรมออกไปอย่างกว้างขวาง จะเสริมสร้างสำนักของเราให้มีรากฐานมั่นคง ปฏิสังขรณ์วัดของเรา และถ่ายทอดหลักธรรมให้แก่ผู้สืบทอดที่มีชื่อเสียงอีกมากมาย
สานุศิษย์ทั้งหลายถามว่า "ท่านจะให้พวกข้าพเจ้าทราบได้ไหมว่า ธรรมนี้ได้ถ่ายทอดกันมากี่ชั่วคนแล้ว นับจากพระพุทธเจ้าพระองค์แรกเป็นต้นมา?"
พระสังฆนายกตอบว่า "พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาในโลกนี้ มีจำนวนมากมายจนนับไม่ถ้วนพระองค์ ขอให้เรากล่าวนามของพระองค์ เพียงเจ็ดพระองค์หลังเถิด คือ
พระพุทธเจ้า วิปัสสิน กัปป์ที่แล้ว(อาลัมกรกัลป์)
พระพุทธเจ้า สิขิน กัปป์ที่แล้ว(อาลัมกรกัลป์)
พระพุทธเจ้า เวสสภู กัปป์ที่แล้ว(อาลัมกรกัลป์)
พระพุทธเจ้า กกุสันธ กัลป์ปัจจุบัน (ภัทรกัลป์)
พระพุทธเจ้า โกนาคมน กัลป์ปัจจุบัน (ภัทรกัลป์)
พระพุทธเจ้า กัสสป กัลป์ปัจจุบัน (ภัทรกัลป์)
พระพุทธเจ้า โคตม กัลป์ปัจจุบัน (ภัทรกัลป์) จากพระพุทธเจ้าโคตม พระธรรมได้ถ่ายทอดมาสู่
พระสังฆนายกที่ 1 พระอารยะ มหากัสสปะ
พระสังฆนายกที่ 2 พระอารยะ อานนท์
พระสังฆนายกที่ 3 พระอารยะ สันวส
พระสังฆนายกที่ 4 พระอารยะ อุปคุปต
พระสังฆนายกที่ 5 พระอารยะ ธริตก
พระสังฆนายกที่ 6 พระอารยะ มิฉก
พระสังฆนายกที่ 7 พระอารยะ วสุมิตร
พระสังฆนายกที่ 8 พระอารยะ พุทธนันทิ
พระสังฆนายกที่ 9 พระอารยะ พุทธมิตร
พระสังฆนายกที่ 10 พระอารยะ ปาสว
พระสังฆนายกที่ 11 พระอารยะ ปุนยยสัส
พระสังฆนายกที่ 12 พระโพธิสัต์ อัศวโฆษ
พระสังฆนายกที่ 13 พระอารยะ กปิมล
พระสังฆนายกที่ 14 พระโพธิสัตว์ นาคารชุน
พระสังฆนายกที่ 15 พระอารยะ คนเทว
พระสังฆนายกที่ 16 พระอารยะ ราหุลต
พระสังฆนายกที่ 17 พระอารยะ สังฆนันทิ
พระสังฆนายกที่ 18 พระอารยะ สังฆยสัส
พระสังฆนายกที่ 19 พระอารยะ กุมารต
พระสังฆนายกที่ 20 พระอารยะ ขยต
พระสังฆนายกที่ 21 พระอารยะ วสุพันธุ
พระสังฆนายกที่ 22 พระอารยะ มนูร
พระสังฆนายกที่ 23 พระอารยะ อักเลนยสัส
พระสังฆนายกที่ 24 พระอารยะ สินห
พระสังฆนายกที่ 25 พระอารยะ วิสอสิต
พระสังฆนายกที่ 26 พระอารยะ ปุนยมิตร
พระสังฆนายกที่ 27 พระอารยะ ปรัชญาตาระ
พระสังฆนายกที่ 28 พระอารยะ โพธิธรรม (พระสังฆนายกองค์ที่ 1 ของจีน (ตั้กม้อ))
พระสังฆนายกที่ 29 พระอาจารย์ เว่ยโห
พระสังฆนายกที่ 30 พระอาจารย์ ซังซาน
พระสังฆนายกที่ 31 พระอาจารย์ ตูชุน
พระสังฆนายกที่ 32 พระอาจารย์ ฮวางยาน
และฉันเป็นพระสังฆนายกที่ 33 จากการสืบต่อทางสานุศิษย์ ที่พระธรรมได้ถ่ายทอดจากพระสังฆนายกองค์หนึ่งไปยังอีกองค์หนึ่ง นับจากนี้ไป ท่านทั้งหลายควรถ่ายทอดต่อไปให้คนรุ่นหลัง จากอนุชนรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง เพื่อเป็นการรักษาประเพณีเอาไว้.ในวันขึ้นสามค่ำ เดือนแปด แห่งปีไกวเซา นับเป็นปีที่สองในรัชสมัย ซินติน หลังจากฉันอาหารที่วัดกว๊อกเยนแล้ว พระสังฆนายกได้กล่าวแก่สานุศิษย์ว่า "โปรดนั่งลงตามลำดับอาวุโส เพราะฉันกำลังจะกล่าวลาท่าน"
ทันใดนั้น ท่านฟัตห่อยได้กล่าวกับพระสังฆนายกว่า "พระคุณท่านได้โปรดกรุณาให้คำสอนที่กำจัดความไว้อย่างแน่นอนแก่คนรุ่นหลังๆ เพื่อมหาชน ผู้หลงผิด จะได้ตระหนักชัดถึงธรรมชาติแห่งพุทธะ"
พระสังฆนายกตอบว่า "ไม่ใช่ว่า จะเป็นการเหลือวิสัยสำหรับคนเหล่านี้ที่จะตระหนักชัดถึงธรรมชาติแห่งพุทธะ ถ้าหากว่าเขาจะทำตนให้เคยชินกับธรรมชาติของสามัญสัตว์ แต่ว่าการค้นหาความเป็นพุทธะโดยปราศจากความรู้ ดังกล่าว ย่อมเป็นการไร้ผล แม้เขาจะใช้เวลาเป็นกัลป์ๆเที่ยวค้นหาก็ตาม"
เอาละ ฉันจะบอกให้ท่านทราบ ถึงวิธีที่จะทำตนให้เคยชินกับธรรมชาติของสัตว์ภายในจิตของท่านเอง และโดยวิธีนี้ ท่านจะตระหนักชัดถึงธรรมชาติแห่งพุทธะซึ่งแฝงอยู่ในนั้น การรู้จักพุทธะ ไม่ได้หมายถึงอะไรนอกไปจากรู้จักสัตว์ทั้งหลาย เพราะสัตว์ทั้งหลายไม่รู้ว่าตนเป็นพุทธะโดยอานุภาพ ส่วนผู้ที่เป็นพุทธะ ย่อมไม่เล็งเห็นความแตกต่างระหว่างท่านเองกับสัตว์ทั้งหลายอื่น เมื่อสัตว์ทั้งหลายตระหนักชัดถึงภาวะที่แท้แห่งจิต เขาก็เป็นพุทธะ ถ้าพุทธะถูกครอบงำด้วยความหลงผิดอยู่ในภาวะที่แท้แห่งจิต เขาก็เป็นสามัญสัตว์ ความบริสุทธิ์ในภาวะที่แท้แห่งจิต ทำให้สามัญสัตว์เป็นพุทธะ ความไม่บริสุทธิ์ในภาวะที่แท้แห่งจิต ย่อมเปลี่ยนพุทธะให้เป็นสามัญสัตว์ เมื่อจิตของท่านคิดหรือเศร้าหมอง ท่านก็เป็นสามัญสัตว์ซึ่งมีธรรมชาติแห่งพุทธะแฝงอยู่ภายใน ตรงกันข้าม ถ้าท่านทำจิตให้บริสุทธิ์และตรงแน่ว แม้เพียงชั่วขณะเดียว ท่านก็เป็นพุทธะ"
ภายในจิตของเรามีพุทธะ และพุทธที่อยู่ภายในนั้น เป็นพุทธะที่แท้จริงได้จากไหน? อย่าสงสัยเลย เรื่องพุทธะภายในจิตของท่าน นอกจากที่นั่นแล้วไม่มีอะไรจะปรากฏขึ้นได้ เนื่องจากปรากฏการณ์หรือสรรพสิ่งทั้งหลาย เป็นผลิตผลมาจากจิตของเรา ในพระสูตรจึงกล่าวว่า เมื่ออาการของจิตเริ่มขึ้น สิ่งต่างๆ ก็ปรากฏ เมื่ออาการของจิตดับลง สรรพสิ่งทั้งหลายก็ดับ ก่อนที่จะจากท่าน ฉันจะกล่าวโศลกให้ท่านฟัง ชื่อว่า พุทธะอันแท้จริงของภาวะที่แท้แห่งจิต อนุชนรุ่นต่อไปในอนาคต ผู้เข้าใจในความหมายนี้ จะได้ตระหนักชัดถึงภาวะที่แท้แห่งจิต และบรรลุความเป็นพุทธะตามนัยนี้?
ภาวะที่แท้แห่งจิต หรือตถตา เป็นพุทธะอันแท้จริง
ส่วนมิจฉาทิฏฐิและธาตุอันเป็นพิษร้าย 3 ประการเป็นพญามาร
การบรรลุธรรมด้วยสัมมาทิฏฐิ เรามุ่งไปสู่พุทธะภายในตัวเรา
เมื่อธรรมชาติของเราถูกครอบงำด้วยธาตุอันเป็นพิษร้าย สามประการ อันเป็นผลมาจากมิจฉาทิฏฐิ
เราก็มีชื่อว่า อยู่ภายใต้อำนาจพญามาร
เมื่อสัมมาทิฏฐิได้ขจัดธาตุอันเป็นพิษร้ายเหล่านี้ ไปจากจิตของเรา
พญามารก็กลายร่างเป็นพุทธะอันแท้จริง
ธรรมกาย สัมโภคกาย และนิรมานกาย
กายทั้งสามนี้ย่อมกำเนิดมาจากสิ่งหนึ่ง คือภาวะที่แท้แห่งจิต
ใครที่สามารถตระหนักชัดถึงความจริงข้อนี้ได้ด้วยปัญญาญาณ
ย่อมหว่านเมล็ดพืช และจะเก็บเกี่ยวผลถึงการตรัสรู้
จากนิรมานกายนี้แหละ ที่ธรรมชาติอันบริสุทธิ์ของเราได้ถือกำเนิดภายในนิรมานกายนั้นแหละ
จะพบธรรมชาติอันบริสุทธิ์และภายใต้การนำของธรรมชาติอันบริสุทธิ์นั่นเอง นิรมานกายจะดำเนินไปตามมรรคอันถูกต้อง
ซึ่งวันหนึ่งจะได้บรรลุถึงสัมโภคกายอย่างสมบูรณ์และไพศาล
ธรรมชาติอันบริสุทธิ์ก็ถือกำเนิดมาจากสันดานในทางกามคุณ
เมื่อกำจัดความปรารถนาในทางกามคุณเสียได้ เราก็บรรลุธรรมกายอันบริสุทธิ์
เมื่ออารมณ์ของเราไม่เป็นทาษของวัตถุแห่งกามทั้งห้าอีกต่อไป
และเมื่อเราได้ตระหนักชัดถึงภาวะที่แท้แห่งจิตแม้เพียงขณะเดียว
เมื่อนั้นเราก็แจ้งในสัจจะ
เมื่อเรามีโชคที่ได้ มาเป็นสานุศิษย์ของสำนักฉับพลันในชาตินี้
เราย่อมพบพระภควาของภาวะที่แท้แห่งจิตได้ในทันใด
ใครที่ค้นหาพุทธะ ด้วยการปฏิบัติตามลัทธิอื่น
ย่อมไม่ทราบว่าจะพบพุทธะที่แท้จริงได้ที่ไหน
ใครที่สามารถตระหนักชัดถึงสัจจะ ภายในจิตเขาเอง
ย่อมเป็นผู้หว่านเมล็ดพืชแห่งพุทธะ
ใครที่ไม่ตระหนักชัดถึงภาวะที่แท้แห่งจิต และค้นหาพุทธะจากภายนอก
ย่อมเป็นคนโง่ที่มีความปรารถนาผิดเป็นเครื่องกระตุ้น
โดยนัยนี้ ฉันได้มอบคำสอนขอสำนักฉับพลัน ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังแล้ว
เพื่อเป็นการช่วยเหลือมวลสัตว์ ที่สนใจจะปฏิบัติธรรม
โปรดฟังฉัน บรรดาสานุศิษย์ในอนาคต
เวลาของท่านจะสิ้นไปอย่างเปลือยเปล่า ถ้าท่านเพิกเฉยไม่นำคำสอนนี้ไปปฏิบัติ
เมื่อโศลกจบลงแล้ว พระสังฆนายกกล่าวต่อไปว่า "จงรักษาตัวให้ดีเมื่อฉันเข้าปรินิพพานแล้วจงอย่างเอาอย่างธรรมเนียมโลก อย่าร้องไห้ หรือโศกเศร้า ไม่ควรปล่อยให้เกิดความเสียใจหรือคร่ำครวญ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องตรงข้ามกับคำสอนที่แท้ ใครที่ทำเช่นนี้ ย่อมไม่ใช่ศิษย์ของฉัน สิ่งที่ควรทำก็คือ จงรู้จักจิตของท่านเอง และตระหนักชัดถึงธรรมชาติแห่งพุทธะของท่าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สงบนิ่งและไม่เคลื่อนไหว เป็นสิ่งที่ไม่เกิดและไม่ดับ เป็นสิ่งที่ไม่มาและไม่ไป เป็นสิ่งที่ไม่รับและไม่ปฏิเสธ เป็นที่สิ่งที่ไม่คงอยู่และไม่จากไปมิฉะนั้นแล้วจิตของท่านจะถูกครอบงำด้วยความหลงผิด ทำให้ไม่อาจเข้าใจความหมายได้ ฉันทบทวนเรื่องนี้กับท่าน เพื่อทำตามคำสอนขอฉันและนำไปปฏิบัติ การที่ฉันจากไปก็ไม่เป็นข้อประหลาดอย่างใดตรงกันข้าม ถ้าท่านฝ่าฝืนคำสอนของฉัน แม้ฉันจะอยู่ต่อไปก็ไม่เกิดคุณประโยชน์อันใด แล้วพระสังฆนายกก็กล่าวโศลกต่อไปว่า:-
ด้วยความเยือกเย็นและไม่กระวนกระวาย บุคคลชั้นเลิศไม่ต้องปฏิบัติความดี
ด้วยความเที่ยงธรรมเป็นตัวของตัวเอง ท่านไม่ต้องกระทำบาป
ด้วยความสงบและสงัด ท่านเพิกเฉยการดูและการฟัง
ด้วยความเสมอภาคและเที่ยงตรง จิตของท่านไม่ได้พำนัก ณ ที่ใด"
เมื่อจบโศลกแล้ว พระสังฆนายกก็นั่งสงบนิ่งจนกระทั่งยามสามของคืนนั้น ทันใดนั้น ท่านกล่าวแก่สานุศิษย์อย่างสั้นๆ ว่า "ฉันจะไปเดี๋ยวนี้" แล้วท่านก็เข้าปรินิพพานไปในขณะนั้น กลิ่นหอมอันประหลาดคลุ้งไปทั่วห้อง รุ้งจากแสงจันทร์ผุดขึ้นประดุจเชื่อมฟ้ากับดิน พรรณไม้ในป่ากลายเป็นสีขาว นกและสัตว์จตุบาทส่งเสียงระงม
ครั้นถึงเดือนสิบเอ็ด ในปีเดียวกันนั้น ปัญหาว่า จะเก็บพระสรีรร่างของพระสังฆนายกไว้ที่ไหน กลายเป็นข้อพิพาทระหว่างข้าราชการแห่งเมืองกวางเจา ชิวเจาและชุนเจา ต่างฝ่ายต่างต้องการให้เก็บไวในเมืองของตน แม้สานุศิษย์ของพระสังฆนายก รวมทั้งภิกษุและฆราวาสอื่นๆ ก็เข้าร่วมโต้แย้งในการนี้ด้วย เมื่อไม่อาจปรองดองกันได้ จึงพร้อมใจกันจุดเครื่องหอมและอธิษฐานขอให้พระสังฆนายกบอกทิศทาง โดยการถือเอาการลอยของควันเป็นเกณฑ์ ควันนั้นลอยไปทางโซกาย ฉะนั้นในวันขึ้นสิบสามค่ำ เดือนสิบเอ็ดจึงได้อัญเชิญพระสรีรร่างพร้อมด้วยบาตรและจีวรของท่านไปยังโซกาย
ในปีรุ่งขึ้น วันแรมสิบค่ำ เดือนเจ็ด มีการอัญเชิญพระศพของท่านออกจากสถูป ท่านฟองปิน สานุศิษย์องค์หนึ่งของพระสังฆนายก ได้หุ้มร่างของท่านไว้ด้วยดินหอม เมี่อระลึกถึงคำทำนายของท่านว่า จะมีคนนำพระเศียรของท่านไปบรรดาสานุศิษย์จึงพร้อมใจกันเอาแผ่นเหล็กมาหุ้มคอของท่านไว้และพันร่างท่านด้วยผ้าอาบน้ำยา ก่อนจะอัญเชิญเข้าไว้ในสถูปตามเดิม ทันใดนั้นเกิดเป็นแสงสว่างสีขาวพวยพุ่งขึ้นจากสถูปสู่ท้องฟ้า เป็นเวลาสามวันจึงหายไป บรรดาข้าราชการ แห่งเมือชิวเจา จึงได้กราบทูลรายงาต่อพระมหาจักรพรรดิ พระมหาจักรพรรดิมีพระบรมราชโองการ ให้สร้างแผ่นจารึกบันทึกชีวประวัติของพระสังฆนายก
พระสังฆนายกได้รับมอบจีวรและบาตรเมื่ออายุ 24 ได้อุปสมบทเมื่ออายุ 39 และเข้าปรินิพพานเมื่ออายุ 76 ท่านได้เทศนาธรรม เพื่อประโยชน์แก่มวลสัตว์เป็นเวลา 37 ปี สานุศิษย์ของท่าน 43 องค์ ได้รับมอบธรรมและได้เป็นผู้สืบทอดจากท่านด้วยกรรมวาจา ส่วนผู้ที่เห็นแจ้งในธรรมจนละฆราวาสวิสัยนั้นมากมายเหลือคณานับ
จีวรและบาตรอันเป็นเสมือนสัญญลักษณ์แห่งความเป็นพระสังฆนายก ซึ่งพระโพธิธรรมท่านได้มอบตกทอดมา ตลอดจนจีวรโมลาและบาตรผลึก ซึ่งพระมหาจักรพรรดิจุงจุงได้ส่งมาถวาย ภาพสลักของพระสังฆนายกโดยท่านฟองปินและสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆนั้น อยู่ความพิทักษ์รักษาของผู้เฝ้าสถูป เป็นสิ่งซึ่งจะต้องรักษาไว้ในวัดโปลัมชั่วกาลนาน เพื่อเป็นสวัสดิมงคลแก่วัด พระสูตรที่ท่านได้เทศนา ก็นำมาพิมพ์และแจกจ่ายทั่วกัน เพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงหลักการและจุดประสงค์ของสำนักธรรม งานต่างๆเหล่านี้ ได้จัดทำไป ก็เพื่อความรุ่งเรืองสถาพรของพระรัตนตรัย และเพื่อสวัสติมงคลทั่วไปแก่มวลสัตว์
จบพระสูตร
ผมหวังว่าทุกท่านที่ติดตามอ่านพระสูตร
คงได้หลักธรรมดีดี เอาไปปฏิบัติเพื่อให้ถึงซึ่ง "พุทธ" หรือ "จิตเดิมแท้ ที่มีแต่ความว่างเปล่า" ครับ
ขอบคุณมากที่ติดตามอ่านจนจบพระสูตร ครับ
สวัสดี