สวัสดีครับ ชาวซีมะโด่งที่รัก ทุกท่าน
สองวันมานี้พี่สิงห์ทำ Big Cleaning Day ที่บ้านกับหลานสาว เพราะหลานสาวจะมาอยู่ด้วยเพื่อเรียนต่อแผนกวิชาสาขาปฐมวัยย์ ระดับปริญญาโท ที่คระครุศาสตร์ จุฬาฯ และก็ถึงเวาลที่จะต้องทิ้งหนังสือและสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงค์ชีวิตของพี่สิงห์แล้ว ตัดได้บ้างแล้ว ทไใจที่จะต้องทิ้งได้แล้ว เพราะไม่ได้ใช้แล้ว ไม่รู้จะเก็บไว้ทำไม โดยเฉพาะ เทป CD เพลง หนังสือ CDรูป อื่นๆอีกมาก ไม่ก่อประโยชน์ทั้งสิ้น รกเปล่าๆ เลยทิ้งหมด เพราะถ้าคัดแยก จะตกอยู่ในวังวลรู้สึกเสียดายขึ้นมา เลยทำใจปล่อยวางทิ้งทั้งหมดดีกว่า จะได้ไม่มีเชื้อแห่งการอาลัย
วันนี้พี่สิงห์ต้องเดินทางไปทำงานที่นครศรีธรรมราช ครับ
เช้านี้เลยเอา พระสูตรของพระสังฆปรินายก องค์ที่หก : ปรมาจารย์เว่ยหล่าง มาให้ทุกท่านได้ศึกษาต่อ อย่าลืมนี่เป็นนิกายเซ็น ท่านต้องอ่านด้วยปัญญาของจิตเดิมแท้ แล้วท่านจะ "รู้-เข้าใจ" ด้วยตัวท่านเอง แต่การจำได้นั้นเป็น ความรู้จากการอ่านซึ่งยากแก่การจำ ต้องอ่านหลายๆเที่ยวครับ โชคดีทุกท่านครับ
สวัสดี
พระสูตร ของพระสังฆปรินายก องค์ที่ หก : ปรมาจารย์เว่ยหล่าง
หมวดที่ 8
สำนักฉับพลัน และ สำนักเชื่องช้า
************
หมายเหตุ หมวดที่ 8-10 เป็นคำแปลไทยของประวิทย์ รัตนเรืองศรี โดยได้รับความเห็นชอบ จาก ท่านพุทธทาสแล้ว
ขณะที่พระสังฆนายกพำนักอยู่ที่วัดโปลัมนั้น อาจารย์ชินเชาก็สั่งสอนธรรมอยู่ที่วัดยุกชวน ในเมืองกิ่งหนำ ขณะนั้นสำนักทั้งสอง คือสำนักของท่านเว่ยหล่างซึ่งอยู่ทางใต้ และสำนักของท่านชินเชาซึ่งอยู่ทางเหนือ ต่างก็รุ่งโรจน์ทัดเทียมกัน เนื่องจากสำนักทั้งสองนี้มีชื่อต่างกันคือ "ฉับพลัน"(ฝ่ายใต้) และ "เชื่องช้า"(ฝ่ายเหนือ) จึงเกิดปัญหาขึ้นแก่พุทธศาสนิกชนสมัยนั้นว่า ตนจะเป็นสานุศิษย์สำนักไหนดี
เมื่อเห็นเช่นนั้น พระสังฆนายกจึงกล่าวในที่ประชุมว่า:-
"ในส่วนที่เกี่ยวกับธรรม ย่อมมีเพียงสำนักเดียว ถ้าจะมีต่างสำนักกันขึ้นก็ตรงที่ ผู้สถาปนาสำนักหนึ่งเป็นชาวเมืองเหนือ และผู้สถาปนาอีกสำนักหนึ่งเป็นชาวใต้ แม้มีหลักธรรมอยู่เพียงอย่างเดียว แต่สานุศิษย์บางท่านก็เข้าใจธรรมได้ดีกว่าผู้อื่น เหตุที่มีคำว่า "ฉับพลัน" และ เชื่องช้า" ก็เพราะสานุศิษย์บางคนมีสติปัญญาเฉียบแหลมกว่ากันเท่านั้น สำหรับธรรมแล้วความแตกต่างกันระหว่าง "ฉับพลัน" กับ "เชื่องช้า" ย่อมไม่มี
ทั้งๆที่พระสังฆนายกได้กล่าวไปเช่นนั้น สานุศิษย์ของชินเชาก็ยังกล่าว ตำหนิพระสังฆนายกอยู่เสมอ พวกนี้กล่าวดูหมิ่นท่านว่า เป็นคนไร้การศึกษาไม่อาจดำรงตนให้คู่ควรแก่การเคารพใดๆได้.
ตรงกันข้าม สำหรับชินเชาเองนั้น ท่านยอมรับว่า ท่านมีภูมิปัญญาต่ำกว่าพระสังนายก ยอมรับว่า พระสังฆนายกได้บรรลุปัญญา โดยไม่ต้องมีอาจารย์แนะนำช่วยเหลือ และยังเข้าใจถึงคำสอนของสำนักมหายานอย่างปรุโปร่ง ท่านชินเชายังได้กล่าวเสริมต่อไปอีกว่า "อาจารย์ของเรา พระสังฆนายกองค์ที่ห้า คงไม่มอบจีวร และบาตรแก่ท่านผู้นี้ อย่างปราศจากเหตุผลอันควร เราเสียใจที่เราเองไม่คู่ควรแก่พระบรมราชูปถัมภ์ของพระมหาจักรพรรดิ และเราก็ไม่สามารถเดินทางได้ไกล เพื่อไปรับคำสอนจากท่านผู้นี้ด้วยตนเอง พวกท่านทั้งหลายควรไป เพื่อไต่ถามธรรมจากท่านที่โซกาย"
วันหนึ่ง ชินเชา กล่าวแก่ศิษย์คนหนึ่ง ชื่อ ชีชิง ว่า "เธอเป็นคนรอบรู้และปัญญาเฉียบแหลม ฉันขอให้เธอไปโซกายเพื่อฟังคำสอนที่นั่น เมื่อได้เรียนอะไรแล้ว ขอให้พยายามจำไว้ให้มากที่สุด และกลับมาเล่าให้ฉันฟัง"
ชีชิงได้ไปยังโซกายตามคำสั่งของอาจารย์ตน เขาปะปนเข้าไปกับฝุงชน เพื่อฟังธรรม โดยไม่ได้บอกกล่าวว่าเขามาจากไหน.
พระสังฆนายกกล่าวขึ้นในที่ประชุม "มีคนซ่อนตัวเข้ามาในนี้เพื่อเลียนแบบคำสอนของเรา" ทันใดนั้นชีชิงก็ก้าวออกมาข้างนอก ทำความเคารพพระสังฆนายก และบอกกับท่านว่า เขามาจากสำนักไหน.
พระสังฆนายกถามว่า "ท่านมาจากวัดยุกชวนใช่ไหม? ถ้าอย่างนั้น ท่านต้องเป็นคนสอดแนม"
ชีชิงตอบว่า "เปล่าครับ ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นคนสอดแนม"
พระสังฆนายกถามว่า "ทำไมไม่ใช่"
ชีชิงตอบว่า "ถ้าข้าพเจ้าไม่ได้บอกอะไรกับท่าน นั่นสิ ข้าพเจ้าจึงจะเป็นคนสอดแนม แต่นี่ข้าพเจ้าก็ได้บอกกับท่านหมด จึงไม่ใช่"
พระสังฆนายกถามว่า "อาจารย์ของท่าน สอนลูกศิษย์ว่าอย่างไรบ้าง?"
ชีชิงตอบว่า "ท่านอาจารย์สอนให้พวกข้าพเจ้าทำสมาธิในความบริสุทธิ์ ให้นั่งขัดสมาธิอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้นอน"
พระสังฆนายกกล่าวว่า "การทำสมาธิ ในความบริสุทธิ์นั้น ไม่แน่วแน่ และไม่ใช่สมาธิ การกักตัวเองให้นั่งสมาธิอยู่ตลอดเวลานั้น ตามหลักแห่งเหตุและผลแล้วไม่เกิดผลดีอะไรขึ้นมา จงฟังโศลกของฉัน:-
คนเป็นย่อมจะนั่ง และไม่นอนตลอดเวลา
ส่วนคนตายนั้น นอนและไม่
สำหรับร่างกายอันเป็นเนื้อหนังของเรานี้
ทำไมเราจะต้องคอยนั่งขัดสมาธิ
เมื่อได้ทำความเคารพพระสังฆนายกอีกเป็นครั้งที่สอง ชีชิงจึงกล่าวว่า "แม้ว่า ข้าพเจ้าจะได้ศึกษาพระพุทธศาสนาจากท่านอาจารย์ชินเชา มาเป็นเวลา 9 ปีแล้ว ข้าพเจ้าก็ยังไม่เคยบรรลุธรรมเลย แต่พอได้ฟังคำพูดของท่านเท่านั้น ดวงจิตของข้าพเจ้าก็สว่างไสว และเนื่องจากปัญหาแห่งการเวียนเกิดโดยไม่จบสิ้น เป็นปัญหาเฉพาะหน้า ฉะนั้นขอท่านได้โปรดเมตตาข้าพเจ้า โดยสั่งสอน ข้าพเจ้าต่อไปด้วย"
พระสังฆนายกกล่าวว่า "ฉันรู้ว่าอาจารย์ของท่าน สอนพวกลูกศิษย์ทาง ศีล สมาธิ และปรัชญา ลองบอกทีซิว่า เขาอธิบายความหมายของคำเหล่านี้ไว้ว่าอย่างไร"
ชิชิงตอบว่า "ตามคำสอนของท่านอาจารย์นั้น การละเว้นจากการกระทำชั่วทั้งปวง เรียกว่า ศีล การปฏิบัติแต่ความดี เรียกว่า ปรัชญา และการชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ เรียกว่า สมาธิ ท่านอาจารย์สอนพวกข้าพเจ้าในแนวนี้แหละครับ ขอท่านได้โปรดให้ข้าพเจ้าได้ทราบหลักการสอนของท่านบ้าง"
พระสังฆนายกกล่าวว่า "ถ้าฉันบอกท่านว่าฉันมีหลักการในเรื่องธรรมสำหรับ สอนผู้อื่นแล้ว ก็เท่ากับว่าฉันหลอกลวงท่าน วิธีที่ฉันสอนลูกศิษย์ของฉัน ก็ปลดปล่อยเขาให้พ้นจากความเป็นทาษของตัวเขาเองด้วยวิธีต่างๆ แล้วแต่จะเห็นควร การเรียกชื่อเป็นอย่างนี้ อย่างนั้น ไม่เกิดอะไรดีขึ้นมา นอกจากเป็นเพียงเครื่องมือที่นำมาใช้แทนเพียงชั่วคราวเท่านั้น ภาวะแห่งการหลุดพ้นนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นสมาธิ วิธีที่อาจารย์ของท่านสอน ศีล สมาธิ และปรัชญา เป็นวิธีที่ดีวิเศษ แต่วิธีของฉันเป็นคนละอย่าง"
ชีชิงถามว่า "มันจะต่างกันได้อย่างไรครับ พระคุณท่าน ในเมื่อศีล สมาธิ และปรัชญา ต่างก็มีอยู่แบบเดียวเท่านั้น?"
พระสังฆนายกตอบว่า "คำสอนของอาจารย์ท่าน ใช้สำหรับสั่งสอนแนะนำสานุศิษย์แห่งสำนักมหายาน ส่วนคำสอนของฉันใช้สำหรับสอนสานุศิษย์แห่งสำนักสูงเลิศ ความจริงนั้นก็อยู่ที่ว่า บางคนรู้แจ้งพระธรรมได้รวดเร็วและลึกซึ้งกว่าผู้อื่น ทั้งนี้ก็เนื่องจากเราตีความหมายในพระธรรมนั้นต่างกัน ท่านคงเคยได้ยินและเคยทราบแล้วว่า คำสอนของฉันเหมือนกับของอาจารย์ของท่านหรือไม่ ในการอธิบายธรรม ฉันไม่เคยเหออกไปจากภาวะที่แท้แห่งจิต ฉันพูดในสิ่งที่ฉันตระหนักรู้ได้ด้วยปัญญาญาณ หากพูดเป็นอย่างอื่นแล้ว ก็แสดงว่า ภาวะที่แท้แห่งจิตของผู้อธิบายยังมืดมัว และแสดงว่า เขาสามารถแตะต้องได้เพียงเปลือกนอกของธรรมเท่านั้น คำสอนที่แท้สำหรับศีล สมาธิ และปรัชญานั้น ควรจะยึดหลักที่ว่า อาการของสิ่งทั้งหลายได้แรงกระตุ้นมาจากภาวะที่แท้แห่งจิต จงฟังโศลกของฉันดังนี้:-
การทำจิตให้เป็นอิสระจากมลทินทั้งปวง คือ ศีลของภาวะที่แท้แห่งจิต
การทำจิตให้เป็นอิสระจากความกระวนกระวายทั้งหลาย คือ สมาธิของภาวะที่แท้แห่งจิต
สิ่งที่ไม่เพิ่มขึ้นหรือลดลง นั้นแหละคือ วัชร (วัชร หมายถึงภาวะที่แท้แห่งจิต)
การมา และการไป เป็นสมาธิในขั้นต่างๆ
เมื่อได้ฟังเช่นนี้ ชีชิงจึงกล่าวขออภัยที่ได้ถามปัญหาโง่ๆออกไป และกล่าวขอบคุณในคำสอนของพระสังฆนายก พร้อมกับกล่าวโศลกต่อไปว่า:-
ความเป็นตัวตนนั้นไม่ใช่อะไร นอกจากเป็นภาพลวง
อันเกิดจากการประชุมกันของขันธ์ห้า
และ ภาพลวงนี้ก็ไม่มีอะไรที่จะเกี่ยวข้องกับความจริงแท้
การยึดมั่นว่า มีตถคาสำหรับเราที่จะยึดหมาย หรือมุ่งไปสู่
ย่อมเป็นธรรมที่ไม่บริสุทธิ์อย่างหนึ่ง
เมื่อได้กล่าวรับรองโศลกของชีชิงแล้ว พระสังฆนายกจึงกล่าวต่อไปว่า "คำสอนของอาจารย์ท่านในเรื่อง ศีล สมาธิ ปรัชญา นั้นใช้กับคนฉลาดในประมาณด้อย ส่วนของฉันนั้นใช้สำหรับคนฉลาดในประเภทเด่น ใครที่ตระหนักชัดถึงภาวะที่แท้แห่งจิต ก็อาจเลิกใช้ลัทธิเหล่านี้ได้ เช่น โพธิ นิพพาน และวิชาแห่งความหลุดพ้น ผู้ที่ไม่ได้รับมอบหลักธรรมหรือไม่มีหลักธรรมสักอย่างเดียวเท่านั้น ที่สามารถวางหลักเกณฑ์ในธรรมทั้งปวงได้ และผู้ที่เข้าใจความหมายของคำที่ชัดกันเองเหล่านี้เท่านั้น จึงอาจใช้คำเหล่านี้ได้ ผู้ที่ได้ตระหนักชัดถึงภาวะที่แท้แห่งจิตแล้ว ย่อมไม่มีอะไร ที่เห็นว่าแตกต่างกัน ไม่ว่าเขาจะวางหลักเกณฑ์ในธรรมทั้งปวงหรือไม่ก็ตาม เขาย่อมเป็นอิสระที่จะมาหรือไป (เขาอาจอยู่ในโลกนี้หรือจากโลกนี้ไปได้ตามประสงค์) และเป็นอิสระจากอุปสรรคหรือเครื่องข้องทั้งมวล เขาจะปฏิบัติการตามความเหมาะสมกับเหตุ การที่ควรเป็น เขาจะตอบคำถามตามอัธยาศัยของผู้ถาม เพียงแต่ชำเลืองดูเท่านั้น เขาก็จะเข้าใจดีว่า นิรมานกายทั้งหมดเป็นส่วนเดียวกับภาวะที่แท้แห่งจิต เขาบรรลุความเป็นอิสระ อภิญญา และสมาธิ ซึ่งทำให้เขาสามารถช่วยเหลือมนุษย์ชาติอันเป็นงานแสนลำบากได้อย่างง่ายดาย เสมือนกับว่าเป็นการเล่นสนุกของเขา บุคคลเหล่านี้ล้วนเป็นคนที่ได้ตระหนักชัดถึงภาวะที่แท้แห่งจิตมาทั้งนั้น"
ชีชิงถามต่อไปว่า "พวกข้าพเจ้าจะใช้หลักการอะไร สำหรับยกเลิกหลักธรรมทั้งปวง"
พระสังฆนายกตอบว่า "เมื่อภาวะที่แท้แห่งจิตของเราปราศจากมลทิน ปราศจากความโง่ และปราศจากความกระวนกระวาย เมื่อเราตรวจตราภายในจิตของเราด้วยปรัชญาอยู่ทุกขณะโดยไม่ว่างเว้น เมื่อเราไม่ยึดติดอยู่กับสิ่งทั้งหลาย และไม่ยึดติดอยู่กับวัตถุที่ปรากฏ เราก็เป็นอิสระและเสรี เราจะวางหลักเกณฑ์ในธรรมไปทำไม เมื่อเราอาจบรรลุจุดประสงค์ได้โดยไม่มีปัญหา ไม่ว่าเราจะเหลียวซ้ายหรือแลขวา ทั้งนี้ เนื่องจากความพยายามของเราเองที่เราตระหนักชัดถึงภาวะที่แท้แห่งจิต และเนื่องจากตระหนักชัดกับการปฏิบัติธรรมนั้น เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติพร้อมกันไป ไม่ใช่ค่อยทำค่อยไปทีละขั้น การวางหลักเกณฑ์ในธรรมจึงไม่จำเป็น เพราะธรรมทั้งหลาย ย่อมมีลักษณะเป็นนิพพานอยู่แล้วในเนื้อหา เราจะสามารถไปกำหนดเป็นขีดขั้นได้อย่างไร?"
ชีชิงได้ทำความเคารพ และขอฝากตัวเป็นศิษย์ของพระสังฆนายก ในหน้าที่นั้น เขาได้ปรนนิบัติท่านทั้งกลางวันและกลางคืน
***********
ภิกษุซีไซ เมื่อยังเป็นฆราวาส มีนามว่า จางฮางจง เป็นชาวเมื่องเกียงสี ในวัยหนุ่มเขาชอบการผจญภัย
เนื่องจาก สำนักปฏิบัติธรรมสองสำนักนี้ต่างรุ่งโรจน์ทัดเทียมกัน คือ ท่านเว่ยหล่างแห่งสำนักฝ่ายใต้ และชินเชาสำนักฝ่ายเหนือ พวกสานุศิษย์บางคนที่หัวรุนแรงในทางถือพวกถือคณะ ทั้งๆที่ อาจารย์ทั้งสองเอง ต่างก็มีใจโอนอ่อนผ่อนตามกัน ไม่ได้ยึดถือเป็นเขาเป็นเรา แต่พวกสานุศิษย์เหล่านี้กลับเรียกอาจารย์ของตนนั้น คือท่านชินเชาว่า เป็นพระสังฆนายกที่หก ทั้งๆที่อาจารย์ตนนั้น ไม่มีสิทธิอะไรมากไปกว่าพวกเขาเอง พวกสานุศิษย์สำนักฝ่ายเหนือ ปกติชอบอิจฉาพระสังฆนายก ซึ่งท่านเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์ในตำแหน่งนั้น อันใครจะปฏิเสธไม่ได้ เพราะท่านเป็นผู้ได้รับมอบบาตรและจีวร ดังนั้นเพื่อที่จะกำจัดพระสังฆนายกเสีย พวกนี้จึงจ้างจางฮางจง ซึ่งในครั้งนั้นยังเป็นฆราวาส ให้มาฆ่พระสังฆนายกเสีย
ด้วยอำนาจอภิญญา ที่สามารถอ่านกระแสจิตของผู้อื่นได้ พระสังฆนายกจึงทราบแผนการต่างๆ ล่วงหน้า ท่านเตรียมตัวไว้พร้อม ที่จะรับการฆาตกรรมครั้งนี้แล้ว ท่านก็นำเงินสิบตำลึงมาวางไว้ข้างๆ อาสนะ จางฮางจงเมื่อมาถึงวัด ในเย็นวันหนึ่ง ก็ย่องเข้าไปในห้องของพระสังฆนายกเพื่อทำฆาตกรรม พระสังฆนายกจึงยื่นคอออกไปให้ฟันถึงสามครั้ง แต่ฟันไม่เข้า ท่านจึงกล่าวว่า
ดาบที่ตรง ย่อมไม่คด
แต่ดาบคต ย่อมไม่ตรง
ฉันเป็นหนี้ท่าน ก็เพียงเงินเท่านั้น
แต่ชีวิต ฉันไม่ได้เป็นหนี้ท่านเลย
จากฮางจง ตกใจสุดขีด เขาเป็นลมสลบไปเป็นเวลานานจึงฟื้น เขาเสียใจมากและสำนึกผิด จึงอ้อนวอนขอความเมตตาต่อพระสังฆนายก และ ขอบวชทันที พระสังฆนายกมอบเงินสิบตำลึงให้เขา และกล่าวว่า "ท่านอย่าอยู่ที่นี่เลย เพราะลูกศิษย์ของฉันคงจะทำร้ายท่าน ไปเสียก่อน แล้วเวลาอื่นค่อยปลอมตัวมาหาฉันใหม่ ฉันจะดูแลความปลอดภัยให้ท่าน"
เมื่อได้รับคำสั่งเช่นนั้น เขาก็หนีไปในคืนวันนั้น ภายหลังต่อมาได้บวชเป็นพระภิกษุ ครั้นได้รับการอุปสมบทโดยสมบูรณ์แล้ว เขาก็ปฏิบัติตนเป็นพระที่มีความเพียรยิ่ง
วันหนึ่งเมื่อระลึกถึงคำกล่าวของพระสังฆนายกได้ เขาจึงเดินทางรอนแรมมาเป็นระยะทางไกล เพื่อเข้าพบและนมัสการพระสังฆนายก พระสังฆนายกกล่าวว่า "ทำไมจึงได้มาจนล่าช้าเช่นนี้? ฉันคิดถึงท่านตลอดเวลา"
จางกล่าวว่า "เนื่องจากวันนั้น ท่านได้อภัยความผิดของข้าพเจ้าด้วยความเมตตาอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ ข้าพเจ้าจึงได้บวชเป็นภิกษุและศึกษาพระพุทธศาสนาเรื่อยมาด้วยความพากเพียร แม้กระนั้น ก็ยังรู้สึกว่ายากที่จะตอบแทนพระคุณท่านได้เพียงพอ นอกจากข้าพเจ้าจะสามารถแสดงความกตัญญูได้ด้วยการเผยแพร่ธรรมเพื่อความหลุดพ้นแก่สามัญสัตว์ทั้งหลายเท่านั้น ในการศึกษามหาปรินิพพานสูตรนั้น ข้าพเจ้าพยายามอ่านอยู่เสมอ แต่ก็ไม่เข้าใจถึงความหมายของคำว่า "ถาวร" และ "ไม่ถาวร" ขอพระคุณท่าน ได้โปรดกรุณาอธิบายย่อๆ ให้ข้าพเจ้าด้วย
พระสังฆนายกตอบว่า "สิ่งที่ไม่ถาวรก็คือธรรมชาติแห่งพุทธะ สิ่งที่ถาวรก็คือจิตใจที่มีลักษณะต่างๆไป ตลอดจนธรรมที่เป็นกุศล และธรรมที่เป็นอกุศลด้วย"
จางกล่าวว่า "ท่านครับ พระคุณท่านอธิบายค้านกับพระสูตรเสียแล้ว"
พระสังฆนายกตอบว่า ฉันไม่กล้าทำเช่นนั้นดอก เพราะฉันได้รับมอบหัวใจแห่งธรรมของสมเด็จพระพุทธองค์"
จางกล่าวว่า "ตามความในพระสูตรนั้น ธรรมชาติแห่งพุทธะย่อมถาวร ส่วนธรรมที่เป็นกุศลและอกุศลทั้งมวลรวมทั้งโพธิจิต (จิตแห่งปัญญา) ไม่ถาวร แต่ท่านกล่าวเป็นอย่างอื่นเช่นนี้ จะไม่เป็นการค้านหรือ? คำอธิบายของท่านยิ่งสร้างความสงสัยและสับสนให้แก่ข้าพเจ้ายิ่งขึ้น"
พระสังฆนายกตอบว่า "ครั้งหนึ่ง ฉันได้ให้ภิกษุณีชื่อวูจุงจอง อ่านมหาปรินิพพานสูตรให้ฉันฟังตลอดทั้งเล่ม เพื่อฉันจะได้อธิบายให้เธอฟังได้ ทุกๆคำพูดและทุกๆความหมายที่ฉันได้อธิบายไปในครั้งนั้น ก็ตรงกับคัมภีร์ทั้งสิ้น และที่ฉันกำลังอธิบายให้ฟังขณะนี้ ก็อย่างเดียวกัน ไม่มีอะไรแตกต่างไปจากคัมภีร์เลย"
จางกล่าวว่า "เนื่องจากปัญญาของข้าพเจ้าทึบ ท่านกรุณาอธิบายอย่างอะเอียดและพิสดาร ให้ข้าพเจ้าฟังด้วย"
พระสังฆนายกกล่าวว่า "ท่านไม่เข้าใจดอกหรือว่า ถ้าธรรมชาติแห่งพุทธะเป็นสิ่งถาวร ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะมาพูดถึงธรรมที่เป็นกุศลและธรรมที่เป็นอกุศล และตราบจนกระทั้งสิ้นกัลป์ ก็คงไม่มีใครจะปลุกโพธิจิตได้ เพราะฉะนั้น เมื่อฉันพูดว่า ไม่ถาวร ก็ตรงกับสิ่งที่สมเด็จพระพุทธองค์ตรัสว่า ถาวรโดยแท้จริง เช่นเดียวกัน ถ้าธรรมทั้งมวลเป็นสิ่งไม่ถาวร สิ่งต่างๆหรือวัตถุต่างๆ ก็ย่อมมีธรรมชาติของมันเองที่จะเกิดหรือดับ ซึ่งในกรณีเช่นนี้ ย่อมหมายความว่า ภาวะที่แท้แห่งจิตอันเป็นสิ่งที่ถาวรโดยแท้จริงย่อมไม่แผ่ซ่านไปทั่วทุกแห่ง เพราะฉะนั้น เมื่อฉันพูดว่า ถาวร ก็ตรงกับสิ่งที่สมเด็จพระพุทธองค์ตรัสว่า ไม่ถาวร โดยแท้จริง"
เพราะว่า สามัญชนและพวกมิจฉาทิฏฐิ เชื่อในความถาวรที่ผิด คือเชื่อในความเที่ยงแท้ของวิญญาณและโลก ส่วนพวกสาวกก็เข้าใจผิดว่า ความเที่ยงแท้ของนิพพานเป็นสิ่งที่ไม่ถาวร จึงเกิดความเห็นที่กลับกันอยู่แปดประการ เพื่อที่จะชี้ให้เห็นผิดของการมองด้านเดียวเช่นนี้ สมเด็จพระพุทธองค์จึงตรัสสอนให้เข้าใจง่ายๆในมหาปรินิพพานสูตร ซึ่งอธิบายถึงหลักธรรมอันสูงสุดของคำสอนในพระพุทธศาสนา คือความถาวรที่แท้จริง ความสุขที่แท้จริง อัตตะที่แท้จริง และความบริสุทธิ์ที่แท้จริง
การอ่านไปตามตัวหนังสือในพระสูตรโดยไม่รู้เรื่องอะไร ท่านจึงไม่เข้าใจถึงหัวใจแห่งพระสูตร ในการถือเอาว่า สิ่งใดที่แตกทำลายสิ่งนั้นไม่ถาวร และสิ่งใดที่คงทนไม่เปลี่ยนแปลงสิ่งนั้นถาวร ท่านจึงแปลความหมายในคำสอนครั้งสุดท้ายของสมเด็จพระพุทธองค์ผิด คำสอนนี้เป็นคำสอนที่สมบูรณ์ลึกซึ้งและครบถ้วน ท่านอาจอ่านพระสูตรนี้สักพันครั้ง แต่ท่านจะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากพระสูตรเลย
ทันใดนั้น จางก็บรรลุธรรมโดยสมบูรณ์ และกล่าวโศลกแก่พระสังฆนายกว่า:-
เพื่อที่จะชี้ข้อผิดแก่ผู้ยึดมั่นใน "ความไม่ถาวร"
สมเด็จพระพุทธองค์ตรัสสอน "ธรรมชาติที่ถาวร"
ผู้ไม่เข้าใจว่า คำสอนนี้เป็นเพียง วิธีการอันชาญฉลาด
ก็เหมือนกับเด็กที่หยิบก้อนกรวด แล้วบอกว่าเป็นเพชร
โดยไม่ต้องใช้ความพยายามใดๆ ในตัวข้าพเจ้าเลย
ธรรมชาติแห่งพุทธะก็ปรากฏอยู่แล้ว
สิ่งนี้ไม่ใช่เนื่องมาจากการบรรลุของข้าพเจ้า
พระสังฆนายกชมเชยว่า "เดี๋ยวนี้ท่านได้ตระหนักชัดโดยตลอดแล้วจากนี้ไปท่านควรได้ชื่อว่า ซีไซ (ผู้ตระหนักชัดโดยตลอด) ซีไซกล่าวขอบคุณพระสังฆนายก และนมัสการจากไป
***********
ชินวุย อายุสามสิบปี เกิดในตระกูลโก แห่งเมืองเช็งยาง เดินทางมาจากวัดยุกชวน เพื่อนมัสการพระสังฆนายก
พระสังฆนายกกล่าวว่า "สหายผู้คงแก่เรียน ท่านคงต้องลำบากมาก ที่เดินทางไกลเช่นนี้ แต่ท่านบอกฉันได้ไหมว่า อะไรเป็นหลักเบื้องต้น? ถ้าท่านบอกได้ ท่านก็รู้จักเจ้าของ ลองพูดมาซิ"
"ความไม่ยึดติด เป็นหลักเบื้องต้น การรู้จักเจ้าของ ก็คือความตระหนักชัด" ชินวุยตอบ
พระสังฆนายกตำหนิว่า "สามเณรนี้พูดเปล่าเปลือย ไม่มีคุณค่าอะไรเลย"
ทันใดนั้น ชินวุยได้ถามพระสังฆนายกว่า "ในการทำสมาธิ พระคุณท่านรู้หรือไม่"
พระสังฆนายก เอาไม้ที่ถือตีชินวุยสามที แล้วถามชินวุยว่า "รู้สึกเจ็บหรือไม่" ชินวุยตอบว่า "เจ็บและไม่เจ็บ" พระสังฆนายกก็ตอบว่า "ฉันรู้และไม่รู้"
ชินวุยถามว่า "เป็นไปได้อย่างไร ที่ท่านรู้และไม่รู้"
พระสังฆนายกตอบว่า "สิ่งที่ฉันรู้และรู้อยู่เสมอ ก็คือความผิดของฉันเอง สิ่งที่ฉันไม่รู้ ก็คือความดี ความชั่ว ความเป็นกุศล และความเป็นอกุศลของผู้อื่น นี่แหละ ฉันจึงรู้และไม่รู้ เอาละ ลองบอกทีซิว่า เจ็บและไม่เจ็บ นั้นท่านหมายถึงอะไร ถ้าท่านไม่เจ็บ ท่านก็ไม่มีความรู้สึกเหมือนท่อนไม้หรือก้อนหินอีกประการหนึ่ง ถ้าท่านรู้สึกเจ็บและเกิดความโกรธหรือความเกลียด ท่านก็อยู่ในฐานะสามัญชน.
คำว่า รู้และไม่รู้ ที่ท่านอ้าง เป็นคำคู่ประเภทตรงข้าม ส่วนคำว่า เจ็บและไม่เจ็บ นั้น เป็นประเภทธรรมซึ่งเกิดขึ้นและดับไป ท่านกล้าหลอกลวงผู้อื่น โดยที่ท่านไม่เคยตระหนักชัดถึงภาวะที่แท้แห่งจิตของท่านเอง"
ชินวุย กล่าวขอขมา และกราบนมัสการขอบคุณในคำสอนของพระสังฆนายก
พระสังฆนายกได้กล่าวต่อไปว่า "ถ้าท่านยังมีความหลงผิด และไม่สามารถตระหนักชัดภาวะที่แท้แห่งจิตได้ ท่านควรขอคำแนะนำจากสหายผู้คงแก่เรียนและใจบุญ เมื่อจิตของท่านสว่างไสวแล้ว ท่านย่อมรู้จักภาวะที่แท้แห่งจิต เมื่อนั้นท่านจะเดินอยู่ในทางที่ถูก ขณะนี้ ท่านยังหลงผิด ไม่รู้จักภาวะที่แท้แห่งจิต แต่ท่านยังกล้าถามฉันว่า รู้จักภาวะที่แท้แห่งจิตหรือไม่ ถ้าฉันรู้ ฉันก็ตระหนักของฉัน และความจริงที่ฉันรู้ก็ไม่อาจช่วยท่านให้พ้นจากความหลงผิดได้ โดยทำนองเดียวกัน ถ้าท่านรู้ ความรู้ของท่านก็ไม่เป็นประโยชน์แก่ฉัน แทนที่จะถามผู้อื่น ทำไมจึงไม่หาด้วยตนเอง ไม่รู้ด้วยตนเองเล่า?"
ชินวุยได้กราบนมัสการพระสังฆนายกอีกร้อยกว่าครั้ง กล่าวคำแสดงความเสียใจและขออภัยพระสังฆนายก จากนั้นมา ชินวุยกลายเป็นผู้ปรนนิบัติพระสังฆนายกอย่างแข็งขัน
วันหนึ่งพระสังฆนายกกล่าวในที่ประชุมว่า "ฉันมีของอย่างหนึ่ง ไม่มีหัว ไม่มีชื่อ ไม่มีข้างหน้า และไม่มีข้างหลัง ใครรู้จักบ้าง?"
ชินวุย ก้าวออกมาข้างนอก และตอบว่า "สิ่งนั้นคือ ที่มาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย และคือ ที่มาของธรรมชาติแห่งพุทธะของชินวุย"
พระสังฆนายกตำหนิว่า "ฉันได้บอกท่านแล้วว่า ไม่มีชื่อ ไม่มีฉายา ท่านก็ยังเรียกว่าที่มาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย และที่มาของธรรมชาติแห่งพุทธะ แม้ว่าท่านจะเฝ้าเรียนอยู่แต่ในโรงธรรมต่อไป ท่านก็คงเป็นนักศึกษาประเภทจำเอาความรู้ของผู้อื่นมาทั้งสิ้น (ความรู้จากตำรา และคำสอน ไม่ใช่ความรู้ที่ได้จากปัญญาญาณ)
หลังจากที่พระสังนายกได้เข้าปรินิพพานแล้ว ชินวุยได้เดินทางไปเมืองโลยาง เผยแพร่คำสอนของสำนักฉับพลันออกไปอย่างแพร่หลาย ท่านผู้นี้ได้เขียนนังสือชื่อ "ตำราอย่างง่ายเกี่ยวกับคำสอนทางธยาน" เป็นหนังสือที่แพร่หลายมาก ท่านชินวุยนี้ คนทั่วไปเรียกกันว่า ท่านอาจารย์โฮแช็ก(เป็นชื่อของวัด)
เมื่อเห็นว่า บรรดาสานุศิษย์จากสำนักต่างๆ พากันมารุมล้อมถามปัญหาอย่างมากมาย ซึ่งล้วนแต่เป็นเจตนาอันไม่สุจริตทั้งนั้น พระสังฆนายกจึงกล่าวแก่พวกนั้น ด้วยความสงสารว่า:-
"ผู้เดินทาง ควรกำจัดความคิดทั้งมวลเสีย ความดีก็เช่นเดียวกับความชั่ว สิ่งนี้ย่อมเป็นเพียงหนทางที่เรียกกันว่า "ภาวะที่แท้แห่งจิต" เท่านั้น โดยแท้จริงแล้ว ย่อมไม่อาจเรียกเป็นชื่อใดๆ ได้ "ธรรมชาติอันไม่เป็นของคู่" นี้ คือ "ธรรมชาติที่แท้จริง" และหลักคำสอนทั้งหลาย ก็อาศัยมูลฐานจากสิ่งนี้ คนเราควรจะตระหนักถึงภาวะที่แท้แห่งจิตในทันทีที่เขามาถึง"
เมื่อได้ฟังเช่นนั้น ทุกๆคนที่มารุมล้อมถาม ก็ทำความเคารพและขอฝากตัวเป็นสานุศิษย์ของพระสังฆนายก