คณะได้เดินชมกุฏิพระอรหันต์ ๘ ทิศ
คณะได้ไปสวดมนต์ที่ กุฏิพระสารีบุตร กุฏิพระโมคคัลลานะ กุฏิพระสีวลี แล้วออกเดินทางจากวัดเชตวันไปบ้านท่านอณาบิณฑิกเศรษฐี ที่นั่นได้ไปสวดมนต์ ด้วย แล้วจึงออกเดินทางต่อไปยังโรงแรมเพื่อรับประทานอาหารกลางวัน
เชิญชมภาพ
พระสีวลีเถระ
เอตทัคคะในทางผู้มีลาภมาก
พระสีวลี เป็นโอรสของพระนางสุปปวาสา ราชธิดาแห่งโกลิยนคร ตั้งแต่ท่านจุติลงถือ ปฏิสนธิในครรภ์ของพระมารดา ได้ทำให้ลาภสักการะเกิดขึ้นแก่พระมารดาเป็นอันมาก ท่าน อาศัยอยู่ในครรภ์ของพระมารดา นานถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ครั้นเมื่อใกล้เวลาจะประสูติ พระมารดาได้รับทุกขเวทนาอย่างแรงกล้า พระนางจึงขอให้พระสวามีไปกราบบังคมทูลขอพร จากพระบรมศาสดาและพระพุทธองค์ตรัสประทานพรแก่พระนางว่า:-
“ขอพระนางสุปปวาสา พระราชธิดาแห่งพระเจ้ากรุงโกลิยะ จงเป็นหญิงมีความสุข
ปราศจากโรคาพยาธิ ประสูติพระราชโอรสผู้หาโรคมิได้เถิด”
ด้วยอำนาจแห่งพระพุทธานุภาพ ทุกขเวทนาของพระนางก็อันตรธานไปพระนาง ประสูติพระราชโอรสอย่างง่ายดาย ดุจน้ำไหลออกจากหม้อ พระประยูรญาติทั้งหลายได้ขนาน พระนามพระราชโอรสของพระนางสุปปวาสาว่า “สีวลีกุมาร”
(ขอเพิ่มเติมถึงสาเหตุที่พระสิวลีกับมารดา( พระนางสุปปวาสา )ต้องทรมานอยู่ถึง 7 ปี 7 เดือน 7 วัน คือเหตุมีอยู่ว่าในอดีตชาติ ของพระสีวลีกับมารดานั้น พระสีวลีเคยเป็น ราชา ของเมืองหนึ่ง แล้วกำลังยกทัพไปตี อีกเมืองแต่ปรากฏว่าเมืองนั้นใช้วิธีปิดเมือง ไม่ออกมาสู้ด้วย พระราชาจึงไปขอคำปรึกษากับมารดา และได้วิธีคือ ให้ใช้วิธีปิดทางเข้าออกของเสบียงทุกอย่าง ไม่ให้เข้าไปในเมืองได้ จนกระทั่ง คนในเมืองนั้นได้รับความเดือดร้อน ทรมานกันจนต้อง ยอมเปิดเมือง ซึ่งผลกรรมนั้นเอง ทำให้พระราชา และมารดา ต้องเกิดมารับกรรมนั้นตามมาทุก ๆ ชาติ จนถึง ชาติสุดท้าย นั้นก้อคือ พระสีวลีที่ต้องอยู่ในครรถ์นานถึง 7 ปี 7 เดือน 7 วัน กับมารดาที่ต้องอุ้มท้อง นานเท่ากัน )
เมื่อพระนางมีพระวรกายแข็งแรงดีแล้ว มีพระประสงค์ที่จะถวายมหาทานติดต่อกันเป็น เวลา ๗ วัน จึงจึงความประสงค์แก่พระสวามีให้กราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาพร้อมด้วย ภิกษุสงฆ์ มารับมหาทานอาหารบิณฑบาตในพระราชนิเวสน์ ตลอด ๗ วัน ในวันถวายมหาทานนั้น สีวลีกุมาร มีพระวรกายเข้มแข็งดุจกุมารผู้มีพระชนม์ ๗ พรรษา ได้ช่วยพระบิดาและพระมารดาจัดแจงกิจต่าง ๆ มีการนำธมกรก (ธะมะกะหรก = กระบอกกรองน้ำ) มากรองน้ำดื่มและอังคาสพระบรมศาสดาและหมู่พระภิกษุสงฆ์ ในขณะที่ สีวลีกุมาร ช่วยพระบิดาและพระมารดาอยู่นั้น ท่านพระสารีบุตรเถระได้สังเกตดูอยู่ตลอดเวลา และเกิดความรู้สึกพอใจในพระราชกุมารน้อยเป็นอย่างมาก ครั้นถึงวันที่ ๗ ซึ่งเป็นวันสุดท้าย พระเถระได้สนทนากับสีวลีกุมารแล้วชักชวนให้มาบวช สีวลีกุมาร ผู้มีจิตน้อมไปในการบวชอยู่ แล้ว เมื่อพระเถระชักชวน จึงกราบทูลขออนุญาตจากพระบิดาและพระมารดา เมื่อได้รับอนุญาต แล้วจึงติดตามพระเถระไปยังพระอาราม
พระสารีบุตรเถระ ผู้รับภาระเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้สอนพระกรรมฐานเบื้องต้น คือ ตจปัญจกกรรมฐานทั้ง ๕ ได้แก่ เกสา(ผม) โลมา(ขน) นขา(เล็บ) ทันตา(ฟัน) ตโจ (หนัง) ให้ พิจารณาของทั้ง ๕ เหล่านี้ว่าเป็นของไม่งานเป็นของสกปรก ไม่ควรเข้าไปยึดติดหลงใหลในสิ่ง เหล่านี้ สีวลีกุมาร ได้สดับพระกรรมฐานนั้นแล้วนำไปพิจารณาในขณะที่กำลังจรดมีดโกนเพื่อ โกนผม ครั้งแรกนั้นท่านได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน จรดมีดโกนลงครั้งที่ ๒ ท่านได้บรรลุเป็น พระสกทาคามี จรดมีดโกนลงครั้งที่ ๓ ท่านได้บรรลุเป็นพระอนาคามี และเมื่อโกนผมเสร็จ ท่านได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
เมื่อท่านอุปสมบทแล้วปรากฏว่าท่านเป็นพุทธสาวกที่มีลาภสักการะมากมาย ด้วยอำนาจ บุญบารมีของท่านที่สั่งสมมา ลาภสักการะเหล่านี้ได้เผื่อแผ่ไปยังพระสงฆ์สาวกท่านอื่น ๆ ด้วย แม้พระบรมศาสดาเมื่อทรงพาหมู่ภิกษุสงฆ์เสด็จทางไกลกันดาร ถ้ามี พระสีวลี ร่วมเดินทางไป ด้วย ความขาดแคลนอาหารและที่พักอาศัยในระหว่างทางก็จะไม่เกิดขึ้นแก่หมู่ภิกษุสงฆ์เลย เช่น.... พระพุทธองค์และหมู่ภิกษุอาศัยบุญพระสีวลี
สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จำนวน ๕๐๐ รูปไปเยี่ยมพระเรวตะ ผู้เป็นน้องชายของพระสารีบุตรเถระ ซึ่งจำพรรษาอยู่ ณ ป่าไม้ตะเคียน เมื่อเสด็จมาถึงทาง ๒ แพร่ง พระอานนท์เถระได้กราบทูลสภาพหนทางว่า.....
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าเสด็จไปทางอ้อม ระยะทางไกล ๖๐ โยชน์ มีประชาชนอยู่ อาศัยมาก พระภิกษุไม่ลบากด้วยภิกขาจาร แต่ถ้าเสด็จไปทางลัดระยะทางประมาณ ๓๐ โยชน์ ไม่มีประชาชนอยู่อาศัย มีสภาพเป็นป่าใหญ่ มีแต่อมนุษย์อยู่อาศัย พระภิกษุสงฆ์จะลำบากด้วย ภิกขาจาร”
พระพุทธองค์ ตรัสถามว่า:-
“ดูก่อนอานนท์ พระสีวลีมากับเราด้วยหรือไม่?”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเสวลีมากับเราด้วย พระเจ้าข้า”
พระพุทธองค์ ตรัสว่า:-
“ดูก่อนอานนท์ ถ้าอย่างนั้นก็จงไปทางลัด ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวลด้วยอาหาร
บิณฑบาต เพราะเทวดาทั้งหลายที่สิงสถิตอยู่ในป่าระหว่างทาง จะจัดสถานที่พักและอาหาร บิณฑบาตไว้ถวายพระสีวลีผู้เป็นที่เคารพนับถือของพวกตน เราทั้งหลายก็จะได้อาศัยบุญของ พระสีวลี นั้นด้วย”
ได้รับยกย่องในทางผู้มีลาภมาก ด้วยอำนาจบุญที่ท่านพระสีวลี ได้บำเพ็ญสั่งสมอบรมมาตั้งแต่อดีตชาติ เป็นปัจจัยส่งผล ให้ท่านเจริญด้วยลาภสักการะ โดยมีเทพยาดา นาค ครุฑ และมนุษย์ทั้งหลาย นำมาถวายโดยมิ ขาดตกบกพร่อง ไม่ว่าท่านจะอยู่ในที่ใด ๆ ในป่า ในบ้าน ในน้ำ หรือบนบก เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์ จึงทรงประกาศให้ปรากฏในหมู่พุทธบริษัทตรัสยกย่องท่านใน ตำแหน่ง เอคทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทาง ผู้มีลาภมาก
นับว่าท่านพระสีวลีเถระเป็นพระมหาสาวกอีกรูปหนึ่งที่ได้ช่วยกิจการ พระศาสนา แบ่ง เบาภาระของพระบรมศาสดาเป็นอย่างมาก ท่านดำรงอายุสังขารโดยสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็ ดับขันธปรินิพพาน
ประวัติ พระปฏาจาราเถรี
เอตทัคคมหาเถรีเลิศทางผู้ทรงวินัย
คัดลอกจากสารานุกรม พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
พระนางปฏาจาราเถรีนั้น เป็นธิดาของเศรษฐีผู้มีสมบัติ๔๐ โกฎิ ในกรุงสาวัตถี มีรูปร่างสวยงาม.
ในเวลานางมีอายุ ๑๖ ปี มารดาบิดาเพื่อจะรักษาไม่ให้เกิดข้อครหานินทา จึงให้นางอยู่บนชั้นบนปราสาท ๗ ชั้น.
ถึงแม้เป็นเช่นนั้น นางก็ยังลักลอบได้เสียกับคนรับใช้คนหนึ่งของตน.
กาลต่อมา มารดาบิดาของนางตกลงจะยกนางให้แก่ชายหนุ่มคนหนึ่ง ในสกุลที่มีชาติเสมอกันแล้ว กำหนดวันวิวาหะ(วิวาห์)
เมื่อวันวิวาหะใกล้เข้ามา นางจึงพูดกะคนรับใช้ผู้นั้นว่า
“ได้ยินว่า มารดาบิดาจักยกฉันให้แก่สกุลโน้น เมื่อเวลาที่ฉันไปสู่สกุลผัวแล้ว แม้ท่านจะถือบรรณาการมาเพื่อฉัน ก็เข้าไปในที่นั้นไม่ได้ ถ้าท่านมีความรักในฉัน ก็จงพาฉันหนีไปโดยทางใดทางหนึ่งในบัดนี้นี่แล.”
คนรับใช้นั้นรับคำว่า “ดีละ นางผู้เจริญ” แล้วกล่าวว่า
“ถ้าอย่างนั้นฉันจักยืนอยู่ที่ประตูเมืองแต่เวลาเช้าตรู่พรุ่งนี้ หล่อนพึงออกไปด้วยอุบายอย่างหนึ่งแล้ว มาในที่นั้น”
ในวันที่ ๒ ก็ได้ยืนอยู่ในที่นัดหมายกันไว้.
นางปฏาจาราหนีไปกับคนใช้
ฝ่ายธิดาเศรษฐีนั้นนุ่งผ้าปอน ๆ สยายผม เอารำทาสรีระถือหม้อน้ำ ออกจากเรือนเหมือนเดินไปกับพวกทาสี ได้ไปยังที่นั้นแต่เช้าตรู่.
ชายคนรับใช้นั้นพานางไปไกลแล้ว อาศัยอยู่บ้านแห่งหนึ่ง ไถนาในป่าแล้ว ได้นำฟืนและผักเป็นต้นมา.
ธิดาเศรษฐีเอาหม้อน้ำมาแล้ว ทำกิจมีการตำข้าวและหุงต้ม เป็นต้นด้วยมือตนเอง เสวยผลแห่งความชั่วของตน.
ครั้งนั้น นางได้ตั้งครรภ์ขึ้นแล้ว.ต่อมาเมื่อครรภ์แก่แล้วนางจึงอ้อนวอนสามีว่า
“ใคร ๆ ผู้อุปการะของเราไม่มีในที่นี้ ธรรมดามารดาบิดา เป็นผู้มีใจอ่อนโยนในบุตรทั้งหลาย ท่านจงนำฉันไปยังสำนักของท่านเถิด ฉันจักคลอดบุตรในที่นั้น.”
สามีนั้นคัดค้านว่า “นางผู้เจริญ เจ้าพูดอะไร? มารดาบิดาของเจ้าเห็นฉันแล้ว พึงลงทัณฑ์ด้วยประการต่าง ๆ ฉันไม่อาจไปในที่นั้นได้.”
นางแม้อ้อนวอนแล้ว ๆ เล่า ๆ เมื่อไม่ได้ความยินยอม.
นางรอเวลาที่สามีนั้นไปป่า จึงเรียกคนผู้คุ้นเคยมาสั่งว่า
“ถ้าเขามาไม่เห็นฉัน จักถามว่า ‘ฉันไปไหน?’
พวกท่านพึงบอกความที่ฉันไปสู่เรือนแห่งตระกูลของตน” ดังนี้แล้วก็ปิดประตูเรือนหลีกไป.
ฝ่ายสามีนั้นมาแล้ว ไม่เห็นภรรยานั้นจึงถามคนคุ้นเคย ฟังเรื่องนั้นแล้ว ก็ติดตามไปด้วยคิดว่า “จักให้นางกลับ” เมื่อพบนางแล้วแม้เขาจะอ้อนวอนประการต่าง ๆ ก็มิอาจทำให้นางกลับได้.
ทีนั้น ลมกัมมัชวาตของนางปั่นป่วนแล้วในที่แห่งหนึ่ง.
นางเข้าไปในระหว่างพุ่มไม้พุ่มหนึ่ง พูดว่า
“นาย ลมกัมมัชวาตของฉันปั่นป่วนแล้ว”
นอนเกลือกกลิ้งอยู่บนพื้นดิน คลอดเด็กโดยยากแล้ว คิดว่า
“เราพึงไปสู่เรือนแห่งตระกูลเพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นสำเร็จแล้ว” จึงกลับมาสู่เรือนกับสามี อยู่กันอีกเทียว.
สมัยต่อมา ครรภ์ของนางตั้งขึ้นอีก. นางเป็นผู้มีครรภ์แก่แล้วจึงอ้อนวอนสามีโดยนัยก่อนนั่นแล เมื่อไม่ได้ความยินยอม จึงอุ้มบุตรด้วยสะเอวหลีกไปอย่างนั้นนั่นแล แม้ถูกสามีนั้นติดตามไปพบแล้ว ก็ไม่ปรารถนาจะกลับ.
ครั้งนั้น เมื่อชนเหล่านั้นเดินไปอยู่ มหาเมฆอันไม่ใช่ฤดูกาลเกิดขึ้น. ท้องฟ้าได้มีท่อธารตกลงไม่มีระหว่าง(ฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก)ดังสายฟ้าแผดเผาอยู่โดยรอบ ดังจะทำลายลงด้วยเสียงแผดแห่งเมฆ.
ในขณะนั้น ลมกัมมัชวาตของนางปั่นป่วนแล้ว
นางเรียกสามีมากล่าวว่า
“นาย ลมกัมมัชวาตของฉันปั่นป่วนแล้ว ฉันไม่อาจทนได้ ท่านจงรู้สถานที่ฝนไม่รดฉันเถิด.”
สามีนั้นมีมีดอยู่ในมือ ตรวจดูข้างโน้นข้างนี้ เห็นพุ่มไม้ซึ่งเกิดอยู่บนจอมปลวกแห่งหนึ่ง เริ่มจะตัด.
ลำดับนั้น อสรพิษมีพิษร้ายกาจเลื้อยออกจากจอมปลวก กัดเขาในที่นั้นนั่นแล สรีระของสามีสีเขียวดังถูกเปลวไฟอันตั้งขึ้นในภายในไหม้อยู่ ล้มลงในที่นั้นนั่นเอง.
ฝ่ายภรรยาก็ได้เสวยทุกข์อย่างมหันต์ เฝ้ามองดูการมาของสามีอยู่ โดยไม่ทราบว่าเขาได้ตายไปแล้ว ก็มิได้เห็นเขาเลย ในที่สุดก็คลอดบุตรคนที่ ๒ อีก.
ทารกทั้ง ๒ ทนกำลังแห่งฝนและลมไม่ได้ ก็ร้องไห้ลั่น.
นางเอาทารกทั้ง ๒ คนนั้นไว้ที่ระหว่างอุทร ยืนคร่อมเด็กทั้งสองด้วยเข่าและมือทั้ง ๒ เพื่อบังฝนให้จนตลอดราตรี.ร่างกายทั้งสิ้นได้ซีดเป็นดังสีใบไม้เหลือง เหมือนไม่มีโลหิต.
ครั้นเมื่ออรุณขึ้นนางก็อุ้มบุตรคนที่เพิ่งคลอดซึ่งมีสีดังชื้นเนื้อสดด้วยเอว จูงบุตรคนโตด้วยนิ้วมือพลางกล่าวว่า “มาเถิด พ่อ บิดาเจ้าไปโดยทางนี้” แล้วก็เดินไปตามทางที่สามีไป ครั้นเมื่อเห็นสามีนั้นล้มตายบนจอมปลวกมีสีเขียวตัวกระด้าง ก็ร้องไห้รำพันว่า
“เป็นเพราะเราที่เดียว สามีของเราจึงต้องตายที่หนทางเปลี่ยว” ดังนี้แล้วก็เดินไป.
นางเห็นแม่น้ำอจิรวดี เต็มเปี่ยมด้วยน้ำสูงประมาณเพียงหน้าอก เพราะฝนตกตลอดคืนยังรุ่ง นางไม่อาจลงน้ำพร้อมด้วยทารกทั้ง ๒ คนได้ เพราะตนมีความรู้อ่อน จึงให้บุตรคนใหญ่รออยู่ที่ฝั่งนี้ แล้วอุ้มบุตรคนเล็กข้ามแม่น้ำไปที่ฝั่งโน้น ปูลาดกิ่งไม้ไว้ให้บุตรนอนแล้วคิดว่าจะข้ามรับบุตรคนโต แต่ใจของก็ไม่อาจจะละความเป็นห่วงบุตรอ่อนได้ กลับแลดูแล้ว ๆ เล่า ๆ เดินไป.
ครั้นในเวลาที่นางถึงกลางแม่น้ำ เหยี่ยวตัวหนึ่งก็เห็นลูกคนเล็กซึ่งมีผิวแดงดังชิ้นเนื้อนอนอยู่ จึงโฉบลงมาจากอากาศ ด้วยสำคัญว่าเป็นชิ้นเนื้อ
นางเห็นมันโฉบลงเพื่อต้องการบุตร จึงยกมือทั้งสองขึ้น ร้องไล่ด้วยเสียงอันดัง ๓ ครั้งว่า “สู สู” เหยี่ยวไม่ได้ยินเสียงนั้นเลยเพราะไกลกัน จึงเฉี่ยวเด็กบินขึ้นสู่เวหาสไปแล้ว.
ส่วนบุตรผู้ยืนอยู่ที่ฝั่งนี้ เห็นมารดายกมือทั้งสองขึ้น ร้องเสียงดังท่ามกลางแม่น้ำ จึงกระโดดลงแม่น้ำโดยเร็วด้วยสำคัญว่ามารดาเรียกจึงถูกกระแสน้ำพัดหายไป เหยี่ยวเฉี่ยวเด็กอ่อนของนางไป บุตรคนโตก็ถูกน้ำพัดไป ด้วยประการฉะนี้.
นางทราบข่าวว่ามารดาบิดาตายอีก
นางเดินร้องไห้รำพันว่า “บุตรของเราคนหนึ่งถูกเหยี่ยวเฉี่ยวไป คนหนึ่งถูกน้ำพัดไป สามีก็ตายเสียในที่เปลี่ยว” เมื่อพบบุรุษผู้หนึ่งเดินมาจากกรุงสาวัตถี จึงถามว่า “พ่อ ท่านอยู่ที่ไหน?”
บุรุษ. ฉันอยู่ในกรุงสาวัตถี แม่.
ธิดาเศรษฐี. ตระกูลชื่อโน้นเห็นปานนี้ใกล้ถนนโน้นในกรุงสาวัตถีมีอยู่ ทราบไหม? พ่อ.
บุรุษ. ฉันทราบ แม่. แต่อย่าถามถึงตระกูลนั้นเลย ถ้าท่านรู้จักตระกูลอื่น จงถามเถิด.
ธิดาเศรษฐี. ฉันไม่มีธุระที่เกี่ยวกับตระกูลอื่น ฉันถามถึงตระกูลนั้นเท่านั้นแหละ พ่อ.
บุรุษ. แม่ ฉันบอกก็ไม่ควร.
ธิดาเศรษฐี. บอกฉันเถิด พ่อ.
บุรุษ. วันนี้ แม่เห็นฝนตกคืนยังรุ่งไหม?
ธิดาเศรษฐี. ฉันเห็น พ่อ ฝนนั้นคืนยังรุ่งเพื่อฉันเท่านั้นไม่ตกเพื่อคนอื่น แต่ฉันจักบอกเหตุที่ฝนตกเพื่อแก่ท่านภายหลัง โปรดบอกความเป็นไปในเรือนเศรษฐีนั้นแก่ฉันก่อน.
บุรุษ. แม่ วันนี้ ในกลางคืน พายุได้พัดเอาเรือนล้มทับ คนที่อยู่ข้างในตายหมด วันนี้คนทั้งสามเหล่านั้นก็ถูกเผาบนเชิงตะกอนเดียวกัน แม่เอ๋ย ควันนั่นยังปรากฏอยู่.
นางได้ฟังดังนั้น ถึงความเป็นคนวิกลจริตยืนตะลึงอยู่ ร้องไห้รำพันบ่นเพ้อเซซวนไปว่า:-
“บุตร ๒ คน ตายเสียแล้ว สามีของเรา
ก็ตายเสียที่ทางเปลี่ยว มารดาบิดาและพี่ชายก็ถูกเผา
บนเชิงตะกอนเดียวกัน.”
เที่ยวกระเซอะกระเซิงไป ไม่รู้สึกถึงผ้าที่นุ่งซึ่งได้หลุดลง คนทั้งหลายเห็นนางแล้ว เข้าใจว่หญิงบ้า จึงเอาหยากเยื่อ กอบฝุ่น โปรยลงบนศีรษะ ขว้างด้วยก้อนดิน.
พระศาสดาประทับนั่งแสดงธรรมอยู่ท่ามกลางบริษัท ๔ ในพระเชตวันมหาวิหาร ได้ทอดพระเนตรเห็นนางผู้บำเพ็ญบารมีมาแสนกัลป์ สมบูรณ์ด้วยอภินิหารเดินมาอยู่.
นางได้ตั้งความปรารถนาไว้ในชาติก่อน
ได้ยินว่า ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ นางปฏาจารานั้น เห็นพระเถรีผู้ทรงวินิจฉัยรูปหนึ่ง อันพระปทุมุตตรศาสดาทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ จึงทำคุณความดีแล้ว ตั้งความปรารถนาไว้ว่า “แม้หม่อมฉันพึงได้ตำแหน่งเอตทัคคะผู้เลิศกว่าพระเถรีผู้ทรงวินิจฉัยทั้งหลายในสำนักพระพุทธเจ้าเช่นกับด้วยพระองค์.” พระปทุมุตตรพุทธเจ้าทรงเล็งอนาคตตั้งญาณไป ก็ทรงทราบความปรารถนาจะสำเร็จจึงทรงพยากรณ์ว่า
“ในอนาคตกาลหญิงผู้นี้จักเป็นผู้เลิศกว่าพระเถรีผู้ทรงวินิจฉัยทั้งหลาย มีนามว่าปฏาจาราในศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้า.”
พระศาสดา ทรงเห็นนางผู้มีความปรารถนาตั้งไว้แล้วอย่างนั้น ผู้สมบูรณ์ด้วยอภินิหาร กำลังเดินมาแต่ที่ไหนเทียว ทรงดำริว่า
“เว้นเราเสีย ผู้อื่นชื่อว่าสามารถจะเป็นที่พึ่งของหญิงผู้นี้ได้ ไม่มี”
จึงได้ทรงบันดาลให้นางเดินบ่ายหน้ามาสู่วิหาร
พวกพุทธบริษัทเห็นนางแล้วจึงกล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย อย่าให้หญิงบ้านี้มาที่นี้เลย.”
พระศาสดาตรัสว่า “พวกท่านจงหลีกไป อย่าห้ามเธอ”
ในเวลานางมาใกล้ จึงตรัสว่า “จงกลับได้สติเถิด น้องหญิง.”
นางกลับได้สติด้วยพุทธานุภาพในขณะนั้นเอง.
ในเวลานี้ นางกำหนดความที่ผ้านุ่งหลุดได้แล้ว ให้เกิดหิริโอตัปปะขึ้น จึงนั่งกระโหย่ง.
ลำดับนั้น บุรุษผู้หนึ่งจึงโยนผ้าห่มไปให้นาง.
นางนุ่งผ้านั้นแล้วเข้าเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แทบพระบาททั้งสองซึ่งมีพรรณะดังทองคำแล้วทูลว่า “ขอพระองค์จงทรงเป็นที่พึ่งแก่หม่อมฉันเถิด พระเจ้าข้า เพราะว่าเหยี่ยวเฉี่ยวบุตรคนหนึ่งของหม่อมฉันไป คนหนึ่งถูกน้ำพัดไป สามีตายที่ทางเปลี่ยว มารดาบิดาและพี่ชายถูกเรือนทับตายเขาเผาเชิงตะกอนเดียวกัน.”
พระศาสดาทรงสดับคำของนาง จึงตรัสว่า
“อย่าคิดเลยปฏาจารา เธอมาอยู่สำนักของผู้สามารถจะเป็นที่พึ่งพำนักอาศัยของเธอได้แล้ว เหมือนอย่างว่า บัดนี้ บุตรคนหนึ่งของเธอถูกเหยี่ยวเฉี่ยวไป คนหนึ่งถูกน้ำพัดไป สามีตายแล้วที่ทางเปลี่ยว มารดาบิดาและพี่ชายถูกเรือนทับฉันใด น้ำตาที่ไหลออกของเธอผู้ร้องไห้อยู่ในสงสารนี้ ในเวลาที่ปิยชนมีบุตรเป็นต้นตาย ยังมากกว่าน้ำแห่งมหาสมุทรทั้ง ๔ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน”
ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า:-
“น้ำในสมุทรทั้ง ๔ มีประมาณน้อย น้ำตาของ
คนผู้อันทุกข์ถูกต้องแล้ว เศร้าโศก ไม่ใช่น้อย มาก
กว่าน้ำในมหาสมุทรนั้น เหตุไร เธอจึงประมาทอยู่
เล่า? แม่น้อง.”
เมื่อพระศาสดาตรัสอนมตัคคปริยายสูตรอยู่อย่างนั้น ความโศกในสรีระของนาง ได้ถึงความเบาบางแล้ว.
ลำดับนั้น พระศาสดาทรงทราบที่นางผู้มีความโศกเบาบางแล้ว ทรงเตือนอีก แล้วตรัสว่า
“ปฏาจารา ขึ้นชื่อว่าปิยชนมีบุตรเป็นต้น ไม่อาจเพื่อเป็นที่ต้านทาน เป็นที่พึ่ง หรือเป็นที่ป้องกันของผู้ไปสู่ปรโลกได้;เพราะฉะนั้น บุตรเป็นต้นเหล่านั้นถึงมีอยู่ ก็ชื่อว่าย่อมไม่มีทีเดียว ส่วนบัณฑิตชำระศีลแล้ว ควรชำระทางที่ยังสัตว์ให้ถึงนิพพานของตนเท่านั้น”
เมื่อจะทรงแสดงธรรม ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า:-
“บุตรทั้งหลาย ไม่มีเพื่อต้านทาน บิดาก็ไม่มี
ถึงพวกพ้องก็ไม่มี เมื่อบุคคลถูกความตาย ครอบงำ
แล้ว ความต้านทานในญาติทั้งหลาย ย่อมไม่มี;
บัณฑิตทราบอำนาจประโยชน์นั้นแล้ว สำรวมในศีล
พึงชำระทางไปนิพพานโดยเร็วทีเดียว.”
ในกาลจบเทศนา นางปฏาจาราเผากิเลสมีประมาณเท่าฝุ่นในแผ่นดินใหญ่แล้ว ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ชนแม้เหล่าอื่นเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.
นางปฏาจาราทูลขอบวช
ฝ่ายนางปฏาจารานั้นเป็นโสดาบันแล้ว ทูลขอบรรพชากะพระศาสดา. พระศาสดาทรงส่งนางไปยังสำนักของพวกภิกษุณีให้บรรพชาแล้ว. นางได้อุปสมบทแล้วปรากฏชื่อว่า “ปฏาจารา” เพราะนางกลับความประพฤติได้.
วันหนึ่ง นางกำลังเอาหม้อตักน้ำล้างเท้า เทน้ำลง.น้ำนั้นไหลไปหน่อยหนึ่งแล้วก็ขาด.
ครั้งที่ ๒ น้ำที่นางเทลง ได้ไหลไปไกลกว่านั้น.
ครั้งที่ ๓ น้ำที่เทลง ได้ไหลไปไกลกว่าแม้นั้น ด้วยประการฉะนี้. นางถือเอาน้ำนั้นนั่นแลเป็นอารมณ์ กำหนดวัยทั้ง ๓ แล้ว คิดว่า
“สัตว์เหล่านี้ ตายเสียในปฐมวัยก็มี เหมือนน้ำที่เราเทลงครั้งแรก
ตายเสียในมัชฌิมวัยก็มี เหมือนน้ำที่เราเทลงครั้งที่ ๒ ไหลไปไกลกว่านั้น
ตายเสียในปัจฉิมวัยก็มี เหมือนน้ำที่เราเทลงครั้งที่ ๓ ไหลไปไกลแม้กว่านั้น.”
พระศาสดาประทับในพระคันธกุฎี ทรงแผ่พระรัศมีไป เป็นดังประทับยืนตรัสอยู่เฉพาะหน้าของนาง ตรัสว่า
“ปฏาจารา ข้อนั้นอย่างนั้น ด้วยความเป็นอยู่วันเดียวก็ดี ขณะเดียวก็ดี ของผู้เห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมแห่งปัญจขันธ์เหล่านั้น ประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี ของผู้ไม่เห็นความเกอดขึ้นและความเสื่อมแห่งปัญจขันธ์” ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า:-
“ก็ผู้ใด ไม่เห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมอยู่พึงเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี ความเป็นอยู่วันเดียวของผู้เห็นความเกิดและความเสื่อม ประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ของผู้นั้น.”
นางครั้นบวชแล้ว ไม่นานนักก็บรรลุพระอรหัต เรียนพุทธวจนะ. ท่านเป็นผู้ช่ำชองชำนาญในวินัยปิฏก.
ภายหลัง พระศาสดาประทับนั่ง ณ พระเชตวันวิหาร เมื่อทรงสถาปนาเหล่าภิกษุณีไว้ในตำแหน่งต่าง ๆ ตามลำดับ จึงทรงสถาปนาพระปฏาจาราเถรีไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกภิกษุณีสาวิกาผู้ทรงวินัย แล.
ผลงานของพระปฏาจาราเถรี
พระปฏาจาราเถรี ท่านมีเมตตาและได้อนุเคราะห์แก่สตรีหลายท่าน ภายหลังสตรีเหล่านั้น ได้มาบวชเป็นภิกษุณี และท่านได้สอนและเตือนสติแก่สตรี ด้วยท่านเป็นผู้ทรงพระวินัยและฉลาดในคาถาธรรม ทำให้สตรีหลายท่าน เช่น อุตตราเถรี จันทาเถรี ปัญจสตมัตตาเถรี เป็นต้น ฯลฯ ได้บรรลุพระอรหันต์และแนะนำสอนสตรี ๕๐๐ คน ให้เกิดความสังเวชใจจึงพากันบวชในสำนักของพระเถรี ครั้นบวชแล้ว บำเพ็ญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ไม่นานนักก็ตั้งอยู่ในพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔.
บุรพกรรมของท่านในอดีตชาติ
ดังได้สดับมา พระเถรีนั้น ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ถือปฏิสนธิในครอบครัว กรุงหังสวดี ต่อมา กำลังฟังพระธรรมเทศนา ของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุณีรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกภิกษุณีสาวิกาผู้ทรงวินัย ทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้น.
ท่านทำกุศลจนตลอดชีวิต เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์
ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ถือปฏิสนธิในพระราชนิเวศน์ของพระเจ้ากิงกิ เป็นพระธิดาพระองค์หนึ่งระหว่างพระพี่น้องนาง ๗ พระองค์ คือ นางสมณี นางสมณคุตตา นางภิกขุนี(ภิกขุณี) นางภิกขุทาสิกา นางธัมมา(ธรรมา) นางสุธัมมา(สุธรรมา) และนางสังฆทาสี ครบ ๗.
พระราชธิดาเหล่านั้น ในบัดนี้ [ครั้งพุทธกาลชาติปัจจุบัน] คือพระเขมาเถรี พระอุบลวรรณาเถรี พระปฏาจาราเถรี พระนางกุณฑลเกสีเถรี (พระภัททากุณฑลเกสาเถรี) พระกิสาโคตมีเถรี พระธรรมทินนาเถรี และนางวิสาขา ครบ ๗. ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ถึง ๒๐,๐๐๐ ปี สร้างบริเวณถวายภิกษุสงฆ์ บังเกิดในเทวโลกอีก เสวยสมบัติอยู่พุทธันดรหนึ่ง
ในพุทธุปบาทกาลนี้ ถือปฏิสนธิในครอบครัวเศรษฐี กรุงสาวัตถี ดังกล่าวมาแล้ว