ข้อมูลสำหรับ RCU ซึ่งจะอยู่ดูการแห่เทียนเข้าพรรษาที่จังหวัดอุบลราชธานี ในวันถัดจากการกลับจากลาวใต้แล้ว
"ซื้อตัว" ทำลายหรือเผยแพร่? งานแห่เทียนพรรษาอุบล 12 กรกฎาคม 2553 17:18 น.
วันเข้าพรรษาในปีนี้ใกล้จะเวียนครบอีกวาระหนึ่งแล้ว โดยในปีนี้ตรงกับวันที่ 27 ก.ค.53 และเช่นเคยเมื่อถึงช่วงเทศกาลเข้าพรรษา เทศกาลงานใหญ่ก็หนีไม่พ้นประเพณีแห่เทียนพรรษา ซึ่งเป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า จังหวัดที่มีชื่อเสียงเรื่องของประเพณีแห่เทียนพรรษาที่ยิ่งใหญ่ตระการตาสวยงามนั้น คือ จ.อุบลราชธานี ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นเจ้าตำรับเรื่องการแกะสลักเทียนพรรษาที่ยากจะหาเมืองใดเทียบได้
การแห่เทียนพรรษา เป็นเสมือนเทศกาลท่องเที่ยวที่ดึงดูดความสนใจของผู้คนและสร้างเม็ดเงินให้ชาวอุบล ได้คึกคัก และเป็นการประกาศศักดาของบรรดาช่างมากฝีมือในการแกะสลักเทียนพรรษา ที่ใช้โอกาสนี้ประลองฝีมือกัน
อย่างไรก็ตามพบว่าในช่วงปีหลังๆมานี้ นอกเหนือจากที่อุบลแล้ว ยังมีอีกหลายจังหวัดที่พยายามส่งเสริมและผลักดันประเพณีแห่เทียนพรรษาออกสู่สายตาประชาชนมากขึ้น ทั้ง นครราชสีมา สุพรรณบุรี บุรีรัมย์ สุรินทร์ จนเกิดปัญหาการแย่งตัวช่างทำเทียนขึ้น ยิ่งช่างที่มีฝีมือฉมัง เจ้าภาพจ่ายค่าตัวกันชนิดทุ่มไม่อั้น ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า การซื้อตัวช่างทำเทียน เป็นการเผยแพร่ฝีมือศิลปะการทำเทียนแห่งเมืองอุบลให้แพร่หลาย หรือเป็นการทำลายรากงานแห่เทียนอุบลที่เดิมทำเป็นพุทธบูชาให้กลายเป็นธุรกิจงานแห่เทียนไป
ย้อนปูมแห่เทียน ในอดีตก่อนสมัย พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลลาวกาว(อีสาน) ในรัชกาลที่ 5 ชาวอุบลไม่มีการหล่อเทียน แห่เทียนเช่นปัจจุบัน
ชาวอุบลจะใช้วิธีการพันเทียนรอบศีรษะไปถวายพระเพื่อจำพรรษา มีการหาน้ำมันไปถวายพระสงฆ์ และหาเครื่องไทยทานและผ้าอาบน้ำฝนไปถวายพระเท่านั้นครั้นในสมัยกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ได้เป็นผู้สำเร็จราชการที่เมืองอุบล คราวหนึ่งมีการแห่บั้งไฟที่ วัดกลาง มีคนไปดูมาก มีการตีกันในกระบวนแห่จนถึงแก่ความตาย จึงให้เลิกการแห่บั้งไฟ เปลี่ยนมาเป็นการแห่เทียนพรรษา
การแห่เทียนพรรษาในสมัยก่อนไม่ได้ใหญ่โตเช่นในปัจจุบัน เพียงแต่ชาวบ้านร่วมกันบริจาคเทียนแล้วนำเทียนมาติดกันกับลำไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ทบรอยต่อ หาเสร็จแล้วนำต้นเทียนไปมัดติดกับปิ๊บน้ำมันก๊าด และจะแห่ไปถวายวัดมีการฟ้อนรำด้วยความสนุกสนาน
การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อ งานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานีได้รับการส่งเสริมจากทางจังหวัดมากขึ้นตามลำดับ จนถึงปี พ.ศ.2520 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนเป็นงานประเพณีระดับชาติ โดยมีการประชาสัมพันธ์มีชื่อเสียงโด่งดังในระดับประเทศ จนปัจจุบันมีการประกวดต้นเทียนพรรษา 3 ประเภท คือ ประเภทติดพิมพ์ ประเภทแกะสลัก ประเภทมัดรวมติดลาย (เทียนโบราณ)
วิถีคนทำเทียน เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับช่างทำเทียนมากฝีมืออย่าง แก้ว อาจหาญ หรือ ลุงแก้วของชาวบ้าน มรรคทายกและช่างแกะสลักเทียนมือฉกาจแห่งวัดบูรพาเล่าให้ฟังว่า แท้จริงแล้วแนวคิดในการทำเทียนของวัดต่างๆในอุบลนั้นที่เหมือนกัน คือ ต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา พุทธประวัติ เนื่องจากอุบลวัดเยอะการแข่นขันของช่างทำเทียนในงานแห่เทียนพรรษามักจะดุเดือดเสมอ
"แม้ว่าเราจะทำให้วัดบูรพาเป็นหลัก แต่ก็มีวัดอื่นจากอำเภอรอบนอกมาจ้างบ้าง เพราะเขาก็อยากได้รางวัลเมือนกัน เราก็จะเลี่ยงโดยสลับประเภทกัน เช่นถ้าวัดบูรพาเราทำขนาดใหญ่อยู่ เราก็ทำให้ที่อื่นขนาดกลาง"ลุงแก้ว เล่าถึงการแข่งขันในการประกวดที่ฝีมือมาจากช่างคนเดียวกันให้ฟัง
ลุงแก้วยอมรับว่า แต่ละวัดอยากจะทำให้ต้นเทียนออกมาสวยและยิ่งใหญ่ จะได้ไม่เสียหน้าของวัดและช่าง แต่สิ่งที่ขาดก็คืองบประมาณ ที่ต้นเทียนขนาดใหญ่ต้นหนึ่งต้องใช้ต้นทุนให้การทำถึง 400,000 บาท แต่งบประมาณที่ได้จากเทศบาลจริงๆอยู่ที่ 80,000 บาทเท่านั้น
"การทำเทียนพรรษาสมัยก่อนกับสมัยนี้ต่างกัน เพราะแต่ก่อนเราไม่ได้ทำกันยิ่งใหญ่ ทำเป็นพุทธบูชา แต่เดี๋ยวนี้มีการประกวดแข่งขันกันมีรางวัลมันก็ต้องทำกันใหญ่โตมโหฬาร"ลุงแก้วเล่า
เมื่อต้องใช้เงินในการยังชีพ และอาชีพคือการทำเทียนพรรษาช่วงเวลานี้ จึงดูเหมือนเป็นช่วงที่ช่างเทียนทุกคนจะมีรายได้เข้ามาจุนเจือครอบครัวบ้าง ทางลุงแก้วเองในปีนี้นอกจากจะทำเทียนให้วัดบูรพาซึ่งเป็นวัดบ้านเกิดแล้ว ยังได้ทำให้วัดที่จังหวัดสุพรรณบุรีด้วย
ลุงแก้วเปิดเผยว่าการทำเทียนพรรษาในจังหวัดอื่นนอกจากอุบล สำหรับลุงแก้วปีนี้เป็นปีที่ 2 และคิดว่าเป็นการดีที่ทำเทียนต่างบ้านเกิด เพราะเป็นการเผยแพร่ บางคนอาจจะกลัวว่าทำเทียนให้ที่อื่นแล้วจะลืมอุบล แต่ลุงแก้วไม่กลัว
"มุมมองผมคิดว่าเป็นการไปเผยแพร่ให้ต่างถิ่นได้เข้าใจความเป็นมาของเทียนพรรษา เดี๋ยวนี้ทุกจังหวัดใครก็เน้นเรื่องการท่องเที่ยวใครก็อยากให้คนบ้านเที่ยวเพื่อหารายได้ไปเสริมให้แต่ละจังหวัดของตัวเอง จังหวัดไหนจะมีศักยภาพมีทุน มีความสามารถจ้างช่างไปทำให้ ก็เรียกนักท่องเที่ยวไปจังหวัดตัวเอง
เรื่องผลกระทบที่ว่าจะส่งถึงการแห่เทียนพรรษาของอุบลมันก็แล้วแต่มุมมอง ผมว่าไปทำให้ต่างถิ่นมันยิ่งดีเพราะว่าไปในนามของคนอุบลอย่างไปสุพรรณบุรี เราเห็นชัดเลย 10 อำเภอ แต่มีเทียน 9 ต้น เป็นคนอุบลทำหมด มีเพียงต้นเดียวที่เป็นช่างจากนครราชสีมา คิดว่าก็คงมีคนคิดเรื่องนี้เป็นธรรมดา แต่อย่าลืมว่าปากท้องมันเป็นเรื่องสำคัญทุกวันนี้ แล้วช่างจะมารอทำอยู่ที่จังหวัดอุบลจังหวัดเดียวได้อย่างไร"
ลุงแก้วแสดงความคิดเห็น พร้อมเล่าเสริมว่า เวลาทำเทียนพรรษที่อุบลเราทำเพื่อรักษาประเพณี ทีนี้เมื่อไปทำจังวัดอื่นเราก็มองว่าไปรับจ้างหารายได้มาเลี้ยงครอบครัว อย่างที่สุพรรณบุรีราคาอยู่ที่ต้นละ 550,000 บาท ก็พอได้ใช่ส่งลูกเรียนหนังสือ บางคนก็ลูกเรียนสองคนสามคน เศรษฐกิจก็เป็นแบบนี้
ในส่วนของรูปแบบก็แล้วแต่ผู้ว่าจ้างเป็นคนกำหนด แต่ก็มีบางแห่งเหมือนกันที่ให้เราเป็นคนกำหนด บางแห่งก็แล้วแต่จะคุยกับ เป็นช่างอุบลเหมือนมาแข่งกันนอกบ้าน เราก็ให้สิทธิ์ผู้ว่าจ้างว่าจะให้เครดิตชื่อเราหรือไม่ แต่ตอนโฆษณาส่วนใหญ่ก็บอกว่าเป็นช่างจากอุบลราชธานี เพราะซื้อเราขายได้
ทางด้าน วิชิต บุญจริง ช่างแกะสลักเทียนพรรษา เจ้าของร้านดาราศิลป์ ร้านที่รับทำเทียนพรรษาโดยเฉพาะ เป็นอีกหนึ่งช่างเทียนขั้นเทพของอุบล ด้วยประสบการณ์การทำเทียนพรรษามากว่า 30 ปี
วิชิต บอกว่าเขาหลงเสน่ห์ของเทียนมาตั้งแต่เด็ก และมองว่าคนจะแกะเทียนทำเทียนได้สวยต้องรู้เสน่ห์ของเทียนเสียก่อน เสน่ห์ของเทียนสำหรับวิชิต คือ อยู่ที่ความมุ่งมั่นศรัทธา ส่วนตัวแล้ววิชิตมองเรื่องการที่ช่างเทียนหลายๆคนหันไปทำเทียนให้จังหวัดอื่นมากขึ้นว่า มันคืออาชีพ จะว่าช่างแต่ละคนไม่ได้ เพราะมันเพื่อความอยู่รอด
อย่างที่สุพรรณบุรีเขาให้เงินดี หลักแสน แต่ที่อุบลแค่หลักหมื่น แล้วช่างที่เขาลงไปทำเขาก็ไม่ได้ลงไปทำเต็มตัวเท่าไหร่ ทำเป็นระบบน็อคดาวน์แล้วไปประกอบวันเดียวก็เสร็จ แต่ถ้าจะมองว่าทิ้งอุบลไหม ไม่มีใครทิ้งแน่นอน
"เปรียบเทียบโคราชกับอุบล งานโคราชฟอร์มจะใหญ่เอาใหญ่ไว้ก่อน แต่ถ้าเป็นลายเอกลักษณ์จริงๆมาเปรียบเทียบกับอุบลมันคนละเรื่อง คนละอย่าง ความละเอียดความแตกต่างงานโคราชเน้นงานโฟมเยอะ ส่วนมากจะใช้โฟมปาดก่อนแล้วเอาเค้าโครงเทเทียนแปะๆ แต่สำหรับช่างอุบลมันต้องหล่อ หล่อแล้วมันต้องมีการแกะสลักที่ไม่เหมือนใคร เน้นลวดลายเยอะ" วิชิต เปรียบเทียบงานเทียนระหว่างสองจังหวัด
ทั้งยังบอกว่าไม่กลัวเรื่องการลอกเลียนแบบ เพราะงานศิลปะแบบนี้ ไม่ใช่ว่าไปทำให้ดูกันครั้งสองครั้งแล้วจะเป็นเลย อย่างน้อยๆก็ต้องฝึกปรือกันเป็น10ๆปีขึ้นไป
ช่างสมัยก่อนจะปล่อยให้วิชาตายไปกับตัว แต่สมัยนี้คนเราถ้าตายไปแล้ว การสืบทอดให้แก่เด็กหรือคนรุ่นหลังเขายังจะพูดและกล่าวขานถึงเรามากกว่า ดีกว่าที่จะเอาวิชาที่เรามีเก็บไว้กับตัว ตายไปก็ไม่
ได้สืบทอดให้กับใครมันก็ไม่ได้ประโยชน์ ไม่ว่าลูกหลานหรือใครก็ได้ที่มีใจรักในงานด้านนี้ สำหรับตนก็พร้อมกให้เรียนรู้ให้วิชาได้พร้อมทั้งกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า อุบลราชธานี เรื่องเทียนยังไงก็ยังเป็นที่หนึ่งอยู่พันเปอร์เซนต์ การไปที่อื่นมันก็เป็นการเผยแพร่ในคนอื่นรู้ว่างานแห่เทียนเข้าพรรษา อย่างไรก็ต้องมาที่อุบล ความตื่นตาตื่นใจกับลวดลาย ขบวนแห่เทียนก็ต้องที่อุบลเท่านั้น
ฤาเพียงเศษวัฒนธรรม ดูเหมือนว่ามุมมองของช่างทำเทียนจะแตกต่างไปจากความคิดเห็นของ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักโบราณคดีและนักมานุษยวิทยาชั้นแนวหน้าของประเทศไทยและอาเซียน ที่มองปรากฏการณ์การแห่เทียนพรรษาในปัจจุบัน รวมทั้งการที่มีการการดึงตัวช่างทำเทียนจากอุบลไปทำให้ท้องถิ่นอื่นว่า เวลาแห่เทียนเข้าพรรษาถ้าให้ถูก คือ ต้องแห่เข้าวัด แต่เพราะมันคือการท่องเที่ยว อย่างที่อุบลก็เข้าทุ่งศรีเมืองเป็นการประกวดประชันกัน
"เทียนเข้าพรรษาต้องทำกันง่ายๆเป็นพุทธบูชา คนแก่คนเฒ่าไปไหว้พระไปฟังเทศน์ แต่เมื่อแห่ไปประกวดที่ทุ่งศรีเมือง มันคือการท่องเที่ยว แล้วเอาเศษวัฒนธรรมมาประกอบเป็นพิธีกรรมใหญ่ขึ้นมาเป็นไฮไลท์ให้กับการท่องเที่ยว แล้วมันกลืนวัฒนธรรมตัวเอง เริ่มระบาดไปทุกจังหวัดต่างเมือง โดยที่ไม่รู้ว่าวัฒนธรรมมันมีความหมายว่า คือ การสร้างความมั่นคงทางจิตใจ แต่มันทำเพื่อการท่องเที่ยวเพื่อให้ได้เงิน"รศ.ศรีศักรกล่าวแสดงความคิดเห็น
สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้มันเป็นความบ้าทางวัตถุ ไม่ได้มองสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมทางจิตใจ เอาวัตถุแพร่ไปเพื่อการท่องเที่ยว บ้านเมืองถึงได้พังแบบนี้ ถ้าชาวบ้านจะหันจากอุบลไปทำเทียนที่อื่นก็โทษชาวบ้านไม่ได้ เพราะมันกลายเป็นเรื่องธุรกิจ เลอะเทอะไม่ได้มีประโยชน์อะไร ซึ่งไม่เคยมีในสังคมไทยมาแต่ก่อนนี้ ต้องโทษการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โทษจังหวัด ที่มุ่งหวังจะเอารายได้จากการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว
"เหมือนแฟรนไชส์หากินในกลุ่มนั้นเท่านั้นเอง แล้วมันทำลายศิลปวัฒนธรรมของตัวเอง ใครที่มองว่าการทำเทียนพรรษาให้ที่อื่นเป็นการอนุรักษ์ ถามหน่อยอนุรักษ์อะไร ศิลปะอะไร คือมันแข่งขันกันจนไม่ได้เรื่อง ถ้าจะทำก็ต้องทำด้วยศรัทธา จุดถวายวัดได้ มันเป็นยุคของความเสื่อมโทรมทางศาสนาและศิลปวัฒนธรรมของบ้านเมืองไทย"รศ.ศรีศักร แสดงทัศนะ
เทียนเข้าพรรษาที่แห่ในพิธีกรรมของแต่ละวัด แต่ละท้องถิ่น เป็นงานวิทยานิพนธ์ที่อยู่ในชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียงก็มาพบปะกัน มาเชื่อมความสัมพันธ์กันให้รู้ว่าเป็นพวกเดียวกันอยู่ถิ่นเดียวกัน แล้วก็มีความร่มรื่นทางจิตใจ ทำเพื่อสร้างความสมานฉันท์สามัคคีในท้องถิ่นให้ในท้องถิ่นมีการมาเข้าวัด สร้างสำนึกร่วมกัน ปลูกฝังการอยู่ร่วมกันทางสังคม แต่นี่เราลืมรากเหง้าทางวัฒนธรรมของเรา
อย่างไรก็ตาม รศ.ศรีศักร ก็มองว่ายังไม่สายเกินแก้ที่จะหันมาจดจำรากวัฒนธรรมที่เป็นจริง ไม่ใช่เอาแต่แก่งแย่งแม้กะรทั่งตัวช่างทำเทียนแบบนี้ โดยเราต้องฟื้นฟูจากใกล้ตัวเราเอง นอกจากความสนุกสนาน ต้องมีการอบรมทางศาสนาศีลธรรม คนในท้องถิ่นถ้ารักรากเหง้าของตัวเอง ต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดพฤติกรรมเสียใหม่
เมื่อนั้นต่อให้มีอีกสิบจังหวัดที่ลอกเลียนจัดงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา คนอุบลก็จะไม่สะท้านสะเทือนใดๆเพราะรากฐานทางประเพณีและวัฒนธรรมเข้มแข็ง.
จาก
http://www.manager.co.th/asp-bin/mgrView.asp?NewsID=9530000095903