ระหว่างรอน้องเหยงมารายงานผล ขอนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจ เผื่อมีประโยชน์บ้าง นะครับจุลินทรีย์ก้อนนี้มีชีวิต (ตอนที่ ๑)มาปั้นก้อนจุลินทรีย์เพื่อชาติ ด้วยหัวใจและรอยยิ้มแห่งความหวังในขณะที่ผมขับรถลงภาคใต้ ท่ามกลางระดับน้ำในกรุงเทพมหานครที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางความสิ้นเนื้อประดาตัวของผู้ประสบภัยน้ำท่วมจากภาคเหนือตอนล่างลงมาถึงภาคกลาง ท่ามกลางความเหนื่อยยากลำบากกายของบรรดาทหารและอาสาสมัครโดยเฉพาะเยาวชนหนุ่มสาวผู้เสียสละ ท่ามกลางความเอือมระอาของสาธารณชนต่อความผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นเดือนๆในการจัดการปัญหาต่างๆของรัฐ ท่ามกลางความขัดแย้งในใจของคนกรุงเทพและปริมณฑลที่ใจหนึ่งยังอยากอยู่รักษาทรัพย์สินบ้านเรือน กับอีกใจหนึ่งที่กำลังเผชิญกับความอดอยากทั้งน้ำสะอาดและอาหาร รวมไปถึงภัยอันตรายต่างๆสารพัด จนต้องแตกกระสานส่านเซ็น ดูแล้วประหนึ่งว่า “เราเสียกรุงฯครั้งที่สาม”
ผมได้แวะเยี่ยมสถานที่แห่งหนึ่งของจังหวัดชุมพร ที่เรียกตัวเองว่า ‘
ศูนย์เรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา’
ซึ่งเป็นการทำงานของภาคประชาชน ซึ่งคณะทำงานโดย กำนันเคว็ด หรือ ประวิทย์ ภูมิระวิ
ปรารถนาให้ศูนย์เรียนรู้ตามศาสตร์พระราชาแห่งนี้เป็นเสมือนศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
เป็นพิพิธภัณฑ์ของธรรมชาติ จัดการให้มีชีวิต เป็นไปตามความจริง
สามารถนำไปใช้การได้ ศูนย์ฯแห่งนี้ได้ดำเนินการมาสองปีเศษ
บนพื้นที่ของโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ ตามพระราชดำริ จังหวัดชุมพร
อันสืบเนื่องมาจากปัญหาอุทกภัยจากพายุไต้ฝุ่นซีต้า เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐
โดยรับสั่งให้ทำบริเวณนี้เป็นแก้มลิงธรรมชาติ ใ
ห้สามารถกักเก็บน้ำให้ได้เพียงพอต่อการบรรเทาปัญหาอุทกภัย และเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งผมแวะมาที่นี่ เพื่อให้เราคนไทยด้วยกัน รู้ว่าในอีกมุมหนึ่งของประเทศ ยังมีความอุดมสมบูรณ์ ยังมีปัญญาความรู้อันได้รับการพิสูจน์แล้ว ยังมีน้ำใจรอช่วยเหลือ ยังมีรอยยิ้มในความหวังต่อเพื่อนร่วมชาติที่กำลังประสบชะตากรรมจากอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดประหนึ่ง ‘การเสียกรุงครั้งที่สาม’
ผมแวะมาที่นี่ในฐานะอุปนายกของ สมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษา ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะที่ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ นายกสมาคมมอบหมายตำแหน่งหน้าที่ ประธาน ‘เตรียมอุดมร่วมใจ เพื่อผู้ประสบภัยน้ำท่วม’ เพื่อเป็นแรงหนึ่งในการร่วมฟื้นฟูชาติของเรา ผมมาที่นี่ด้วยสำนึกของความเป็นนักเรียนเก่าของสถาบันการศึกษาซึ่งมีชื่อเสียงที่สุดของประเทศไทย ซึ่งผลิตมันสมองของชาติมาแล้วเกือบแสนคนในระยะเวลา ๗๔ ปี กระจายไปอยู่ตามองค์กรสำคัญๆต่างๆของประเทศ ผมแวะมาที่นี่ในฐานะของผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นองค์อุปถัมภ์ของสมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมเท่านั้น แต่ยังพระราชทานความรู้แห่งธรรมชาติและความจริงให้เหล่าพสกนิกรนำไปปฏิบัติจนได้ ผมแวะมาที่นี่เพื่อยืนยันถึงความสำเร็จของศูนย์เรียนรู้ฯแห่งนี้ที่ยึดมั่น ทดลอง และปฏิบัติตามแนวทางของพระราชาจนเป็นผลสำเร็จที่ยืนยันได้จากคำพูดของ ‘กำนันเคว็ด’ ที่ว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเราอยู่ได้ครับ เราปลูกข้าว ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ เผาถ่าน และอีกมากมาย จนเกือบจะไม่ต้องใช้เงินซื้ออะไรเข้ามาในศูนย์แล้ว ที่ซื้ออยู่ก็จะเป็นประเภทพลังงานซึ่งยังไม่เพียงพอ และกระแสไฟฟ้าเพื่อความสะดวกบ้าง
ขอย้อนกลับไปยังข่าวของหนังสือพิมพ์มติชน วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๔ ที่เพิ่งผ่านมานี้จากหัวข้อข่าว
‘ทส.ลั่นใช้ ‘อีเอ็ม’ วาระชาติ ดึงกลาโหมแก้ปัญหาน้ำเสีย’
ในรายละเอียดของข่าวมสรุปได้ดังนี้ นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.)
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า คพ.สำรวจพื้นที่น้ำท่วมขังทั่วประเทศ
คาดว่าจะมีน้ำเน่าเสียในเขตชุมชนประมาณ ๘๖,๐๐๐ ไร่ เขตเกษตรกรรม (นา, ปศุสัตว์) ๒,๓๐๐,๐๐๐ ไร่
รวมทั้งบริเวณบ่อบำบัดขยะในทุกจังหวัดที่น้ำท่วมเสียหายหมด
กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจึงร่วมกับศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กระทรวงกลาโหม
วางแผนจัดการปัญหานี้อย่างเร่งด่วน มีข้อสรุปตรงกันที่จะใช้จุลินทรีย์ (อีเอ็ม) แก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย
นายวรศาสตร์กล่าวถึงการจัดการน้ำเสียว่า แยกเป็นสองส่วนคือ ในพื้นที่ที่เป็นบ่อขยะ และบริเวณชุมชน ซึ่งมีประมาณ ๘๖,๐๐๐ ไร่ ต้องใช้อีเอ็มประมาณ ๑๔๐,๐๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร โดยผลิตจากหัวเชื้อประมา ๗๐๐,๐๐๐ ลิตร วิธีดำเนินการคือ จะให้อาสาสมัครที่ขนเครื่องอุปโภคไปแจกจ่ายนำอีเอ็มไปแจกด้วย ... อีเอ็มจะต้องเป็นวาระแห่งชาติ ที่จำเป็นต้องนำมาใช้ เป็นวิธีการที่ใช้งบประมาณน้อยที่สุด ใช้เวลาสั้นที่สุด และแก้ปัญหาได้เร็วที่สุด เป็นวิธีการที่ได้รับการรับรองจากองค์การสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นอีพี) ซึ่งผ่านมาก็ใช้ได้ผลในหลายประเทศ
สำหรับที่นี่ ‘
ศูนย์เรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา’ หนองใหญ่ ชุมพร --
กำนันเคว็ดเล่าให้ฟังว่า “เราปั้นก้อนจุลินทรีย์มาหลายเดือนแล้ว ตั้งแต่เห็นข่าวน้ำท่วมทางภาคเหนือตอนล่าง
โดยเฉพาะที่บางระกำ เราไม่มีอะไรจะให้ เราไม่มีอะไรจะช่วยเหลือนอกจากจะบอกว่า ประเทศไทยอยู่ในกำมือพวกเรา
ย้ำ...ประเทศไทยอยู่ในกำมือพวกเรา การลงมือปั้นก้อนจุลินทรีย์เป็นเรื่องเรียบ และง่าย และเกิดประโยชน์สูงสุด”
ก้อนจุลินทรีย์ หรือ อีเอ็มบอลล์ หรือในภาษาญี่ปุ่นเรียก ‘ดังโงะ’ คือ การนำจุลินทรีย์มาคลุกเคล้ากับสิ่งที่สามารถจะเป็นอาหารของจุลินทรีย์ เช่น กากน้ำตาลและรำ เป็นต้น สามารถใช้อย่างอื่นทดแทนตามสภาพท้องถิ่น กากน้ำตาลจะเป็นอาหารของจุลินทรีย์ระยะต้น จุลินทรีย์จะเติบโตและขยายอย่างรวดเร็วด้วยสารความหวาน และความเป็นสารอาหารก็จะหมดไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน จึงต้องมีอาหารของจุลินทรีย์ในระยะถัดไปนั่นก็คือ รำ ซึ่งควรจะมีทั้งรำหยาบ และรำละเอียด นำมาปั้นให้เป็นก้อนโดยคลุกกับดินทราย เพื่อให้เกาะกันได้ดีและเมื่อทิ้งลงไปในน้ำเสียจะจมลงสู่พื้น ทำให้จุลินทรีย์สามารถบำบัดน้ำเสียนั้นจากพื้นขึ้นสู่ผิว (เพื่อให้ได้ผลต้องฉีดพ่นน้ำจุลินทรีย์บริเวณผิวด้วย) อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่
ส่วนผสมมีดังนี้ ส่วนผสมที่ ๑
รำละเอียด ๑ ส่วน
แกลบป่น หรือ รำหยาบ ๑ ส่วน
ดินทราย ๑ ส่วน
ส่วนผสมที่ ๒
น้ำหมักจุลินทรีย์ หรือ EM (Effective Microorganism) ๑๐ ช้อนแกง
กากน้ำตาล ๑๐ ช้อนแกง
น้ำสะอาด ๑๐ ลิตร
วิธีทำ คลุกเคล้าส่วนผสมที่ ๑ ให้ดี
ราดด้วยส่วนผสมที่สอง
ปั้นเป็นก้อนพอประมาณ
นำไปผึ่งลมให้แห้ง ราว ๓ วันจะเห็นเชื้อราสีขาว
ครบ ๗ วันเชื้อราที่งอบจะเห็นเป็นเส้นยาวๆ แสดงว่านำไปใช้ได้
ถ้าไม่ขึ้นเชื้อราแสดงว่าใช้ไม่ได้
ใส่ถุงรอการนำไปใช้ หรือ รอขนย้ายไปจังหวัดที่ประสบอุทกภัย
ก้อนจุลินทรีย์ที่ผลิตนี้มีอายุประมาณ ๖ เดือน
หากจะนำกลับมาใช้หลัง ๖ เดือน ให้นำไปชุบน้ำหมักจุลินทรีย์อีกครั้งก็จะได้คุณสมบัติเดิม
อาจมีการสับสนในคำที่ใช้โดยเฉพาะคำว่า อีเอ็ม ซึ่งเป็นต้นตำรับของ ดร.ฮิงะ ศาสตราจารย์ชาวญี่ปุ่นที่ค้นพบส่วนผสมของจุลินทรีย์ และขนานนามว่า อีเอ็ม ที่มาจากภาษาอังกฤษว่า Effective Microorganism สามารถศึกษาได้จากเว็บไซด์ของบริษัท เอ็มโร เอเชีย จำกัด
สำหรับน้ำหมักของศูนย์เรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา เป็นน้ำหมักจุลินทรีย์ที่ผลิตเอง เรียกว่า น้ำหมักแปดเซียน
น้ำหมักจุลินทรีย์แต่ละชนิดอาจมีคุณสมบัติแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย แต่ทุกตัวเป็นการใช้วิถืทางธรรมชาติ ปราศจากสารเคมีทั้งสิ้น นำมาใช้กับประเทศไทยอย่างได้ผลตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.๒๕๑๙ ให้ผลดีทั้งด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อม การใช้แนวทางจุลินทรีย์ตามธรรมชาตินี้จึงเป็นแนวทางสำคัญยิ่งที่จะพลิกฟื้นประเทศของเราให้หลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ของปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง ซึ่งได้รับการส่งเสริมมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ปุ๋ยเคมีจะให้ผลดีกับการเกษตรในระยะต้น แต่จากนั้นจะต้องใช้ปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ราคาซึ่งหมายถึงต้นทุนการเกษตรก็สูงขึ้นทุกปี ประกอบกับเคมีจะทำให้ดินเสื่อมไปทีละน้อยๆ ในขณะที่เกษตรกรก็ฝังใจและไม่กลัาหันกลับมาใช้แนวธรรมชาติ เพราะเกรงว่าจะไม่ได้ผล อุทกภัยคราวนี้ดูเหมือนเกษตรกรจะไม่มีทางเลือก จึงเป็นบทพิสูจน์แนวทางเกษตรกรรมครั้งใหญ่ของประเทศ อีกวาระหนึ่ง
การจัดการระดับชาติ : พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในสถานการณ์เสียกรุง ต้องละทิ้งบ้านช่องที่ไม่มีใครต้องการจะทิ้ง ต้องไปพักพิงตามศูนย์ต่างๆ ต้องอพยพ หยุดงาน หยุดเรียน มานั่งๆนอนๆรอวันกลับบ้านและกลับไปทำงาน หรือรอโรงเรียนเปิดนั้น ผมขอเสนอให้ทุกคนเสียสละเพื่อชาติ เพื่อผู้ประสบภัย ซึ่งรวมถึงพวกเราทุกคน ในเมื่อแนวทางการใช้ก้อนจุลินทรีย์ หรือ อีเอ็มบอลล์ ได้รับการยอมรับ ทั้งจากภาครัฐ และในระดับสหประชาชาติแล้ว คงไม่ต้องมานั่งถกเถียงกันอีกว่าแนวทางนี้ถูกต้องหรือไม่ ตัวอย่าง ในประเทศก็มีให้เห็นชัดเจน เช่น การบำบัดมลพิษในอ่าวปัตตานี ของกองทัพภาคที่ ๔, การฟื้นฟูนาข้าวน้ำท่วมในจังหวัดนครราชสีมา และสงขลา, การบำบัดน้ำเสียในชุมชนแออัดในกรุงเทพมหานครตามโครงการของการเคหะแห่งชาติ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตล้วนแต่เป็นการยืนยันถึงความสำเร็จทั้งสิ้น
นอกจากเครือข่ายที่ใช้แนวทางธรรมชาติทั่วประเทศที่ปั้นก้อนจุลินทรีย์กันตามปรกติแล้ว เราควรใช้โอกาสนี้กับใครบ้างให้มาร่วมมือกันในวันนี้
๑. ผู้ประสบภัยที่ได้อยู่ตามศูนย์พักพิงในต่างจังหวัด หรือศูนย์ในกรุงเทพก็อาจจะได้บ้าง แต่ขณะที่เขียนบทความนี้ขอให้ท่านเอาตัวให้รอดก่อน เพราะแม้กระทั่ง ศปภ.ก็ยังต้องอพยพถอยร่นในวันนี้ (๒๙ ตค.๒๕๕๔ เช่นกัน)
๒. ผู้ที่อพยพ หรือผู้ที่กลับบ้านไปต่างจังหวัด สามารถปั้นอยู่กับบ้านก็ได้ หรือจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็กๆก็ได้
๓. ผู้ที่อพยพไปตากอากาศตามเมืองชายทะเล ทั้งฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออก ควรทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ต่อเพื่อนร่วมชาติของท่าน ด้วยการปั้นก้อนจุลินทรีย์
๔. ใครก็ได้ที่มีจิตศรัทธา ที่มองเห็นหายนะของการเสียกรุงครั้งนี้ เราสามารถกอบกู้พื้นที่ทั้งหมดด้วยต้นทุนที่ไม่มาก
สำหรับพื้นที่เกษตร พื้นที่ชุมชน พื้นที่กำจัดขยะ ต้องใช้จุลินทรีย์ราว ๒,๕๐๐,๐๐๐,๐๐๐ (สองพันห้าร้อยล้าน)ก้อน ระยะเวลาบ่ม ๗ วัน น้ำหมักประมาณ ๘ แสนลิตร คนๆหนึ่งถ้าปั้นเก่งๆก็อาจจะได้ราว ๕๐๐ ก้อนต่อวัน คิดแบบประมาณการหยาบๆถ้ามีคนมาเข้าโครงการ ๑,๐๐๐,๐๐๐ คน ก็จะได้ ๕๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ล้านก้อน ไม่กี่วันก็เสร็จแล้ว แต่ในทางปฏิบัติคงไม่ได้เป็นเส้นตรงเหมือนกับการคิดเลขข้างต้น ขณะที่ผมเขียนบทความนี้ กรุงเทพมหานครคงอยู่ในภาวะที่ระดับน้ำทะเลหนุนสูงเต็มที่ และยังจะท่วมขังรอการระบายและสูบออกไม่น้อยกว่า ๑๕ วันถึงหนึ่งเดือน เพื่อนของผมให้ข้อคิดที่ดีว่า น้ำที่มาแบบท่วมทุ่งนั้นหาทางกลับไม่ค่อยเจอ นั่นแปลว่าเขาจะขังอยู่อีกนาน และเราคงไม่มีปัญญาไปซื้อน้ำมันมาสูบออกจนหมดง่ายๆ เราจึงมีเวลาที่จะปั้นก้อนจุลินทรีย์ครับ เริ่มเสียแต่วันนี้
ก้อนจุลินทรีย์ ไม่ใช่แค่ก้อนดินก้อนทราย แต่ก้อนจุลินทรีย์เป็นสิ่งที่มีชีวิต เติบโตได้ อยากจะพูดว่า รู้สึกได้เสียด้วซ้ำไป ผมจึงเรียกว่า ‘จุลินทรีย์ก้อนนี้มีชีวิต’ มีผู้กล่าวว่า คงต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย ๕๐ ปี ถึง ๑๐๐ ปี กว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์จะสามารถอธิบายความเป็นมาและความเป็นไปของก้อนจุลินทรีย์ได้ แต่คุณประโยชน์นั้นเล่า สามารถพิสูจน์ให้เห็นแล้วได้ในวันนี้ เดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้นมาเถอะครับ มาปั้นก้อนจุลินทรีย์
ผมกล่าวเช่นนี้เพื่อจะบอกกับพวกเราทุกคนว่า จงมาปั้นก้อนจุลินทรีย์นี้กันด้วยหัวใจ หัวใจที่มอบให้กับเพื่อนร่วมชาติที่สิ้นเนื้อประดาตัว ที่หมดสิ้นอนาคตเพราะยังมองไม่เห็นหนทางที่จะกลับไปใช้วิถีชีวิตเดิม สูญเสียทั้งรถ,บ้านและชีวิตของสมาชิกในครอบครัว เราจงมาปั้นก้อนจุลินทรีย์นี้ด้วยรอยยิ้มที่เต็มไปด้วยความหวังของชีวิตเฉกเช่น ชาวศูนย์เรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา ชุมพร ซึ่งตั้งใจมอบความหวังให้กับชาวไทยผู้ประสบอุทกภัย เราจงมาปั้นก้อนจุลินทรีย์กันด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเฉกเช่นที่ ชาวศูนย์เรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา ชุมพร ทำมาเป็นเดือนๆ สะสม รอวันที่จะนำไปมอบให้ใช้ฟื้นฟูแผ่นดินเกิดของเราที่สูญเสียไป จะเพราะภัยธรรมชาติหรือเพราะ ขาดความตั้งใจในการจัดการหรือที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ขาดจุดยืนทางผลประโยชน์ต่อส่วนรวมที่แท้จริง การกล่าวโทษกันในภาวะเช่นนี้อาจจะไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น มาช่วยกันมองไปข้างหน้าดังที่กำนันเคว็ดกล่าวย้ำกับผมซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ประเทศไทยอยู่ในกำมือพวกเรา ย้ำ...ประเทศไทยอยู่ในกำมือพวกเรา
สมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมแล้วที่จะเป็นแรงหนึ่งในการประสานงานการปั้นก้อนจุลินทรีย์เพื่อชาติ ท่านสามารถติดต่อขอความรู้ วิทยากร รวมทั้งวัตถุดิบได้ที่ :
พีรวัศ กี่ศิริ <
peerawas.keesiri@gmail.com>
โทรศัพท์ 086-688-1256
ขออนุญาตคุณพีรวัศ นำมาเผยแพร่ และขอขอบคุณในเจตนาที่ช่วยกันกู้ชาติไทยครับ