คนไทยน้ำใจงาม..จนขึ้นชื่อ เป็นผู้บริจาค ลดับที่ 3 ของโลก..อ่านครับสังคมไทยใจบุญสุนทาน บริจาคจนติดอันดับโลก24 ตุลาคม 2553 22:17 น. ภาพน้ำสีขุ่นไหลเชี่ยวกรากท่วมถนน ท่วมบ้านเรือน ภาพคนกำลังคว้าข้าวของจำเป็นใส่กะละมังใบยักษ์ อุ้มลูกจูงมือหลานเดินฝ่าน้ำออกจากบ้าน ภาพที่ชวนให้เศร้าและสัมผัสได้ถึงความสูญเสีย ขณะที่ภาพดังกล่าวฉายซ้ำไปซ้ำมาอยู่บนหน้าจอโทรทัศน์ ภาพที่ฉายเคียงคู่กันไปตลอดก็คือ ภาพของธารน้ำใจจากคนไทยด้วยกันที่หลั่งไหลมาอย่างไม่ขาดสาย ภาพความช่วยเหลือของหน่วยงานต่างๆ ทั้งที่เข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่และช่วยรับข้าวของบริจาค ไปจนถึงการประชาสัมพันธ์ช่องทางรับบริจาคเงินที่สามารถเอาไปแปรรูปเป็นของใช้จำเป็นได้ทุกชนิด
ปรากฏการณ์คนไทยใจบุญที่เกิดขึ้นในขณะนี้ หรือในหลายๆ ครั้งที่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง เช่น สึนามิหรือแผ่นดินไหวที่เฮติ ทำให้เรื่องที่จะกล่าวต่อไปเป็นเครื่องการันตีสังคมแห่งการให้ของคนไทยได้เป็นอย่างดีที่สุด เพราะ
มูลนิธิการกุศลระหว่างประเทศ (Charities Aid Foundation-CAF) ได้จัดอันดับให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่บริจาคเงินช่วยเหลือผู้อื่นมากเป็นอันดับ 3 ของโลก ที่มาของอันดับ 3 มูลนิธิการกุศลระหว่างประเทศซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศอังกฤษ และมีสาขาย่อยอยู่ในหลายๆ ทวีป ได้ทำการสำรวจและจัดอันดับ 153 ประเทศทั่วโลกเกี่ยวกับการกุศล ซึ่งใช้พฤติกรรม 3 แบบเป็นเกณฑ์จัดอันดับ คือ การเป็นอาสาสมัครเพื่อการกุศล, การช่วยเหลือคนแปลกหน้า และการบริจาคเงิน การสำรวจนี้ใช้วิธีสอบถามประชาชนจำนวน 500-2,000 คน แล้วแต่ขนาดของประเทศว่าในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมาได้เคยทำการกุศลใดมาบ้าง ผู้ที่มาวินเป็นอันดับ 1 ของโลกคือ ประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ (57 เปอร์เซ็นต์) รองลงมาคือประเทศแคนาดา และไอร์แลนด์ (56 เปอร์เซ็นต์)
สำหรับประเทศไทยก็ไม่น้อยหน้าชาติใดในโลก เพราะติดอันดับที่ 25 (42 เปอร์เซ็นต์) และเมื่อเจาะไปที่การบริจาคเงินอย่างเดียวแล้ว ไทยกลับไต่อันดับขึ้นมาเป็นที่ 3 ของโลก (73 เปอร์เซ็นต์) เท่ากับประเทศอังกฤษ เหตุการณ์นี้บอกอะไรได้บ้าง?
สังคมพุทธ-วัฒนธรรมแห่งการให้ ในหนึ่งวัน คนหนึ่งคนจะถูกสะกิดต่อมผู้ 'ให้' เกือบตลอดเวลา ผ่านทางตู้บริจาค ขอทานบนสะพานลอย หรือไฮเทคกว่านั้นคือทางข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือ และก็มักจะรู้สึกจากใจจริงว่าอยากจะให้เสมอ เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะคนไทยเป็นผู้ที่มีจิตใจของการให้ โดยได้รับการปลูกฝังด้วยวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาเรื่องของการทำทานมาแต่ครั้งโบราณกาล พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ ว.วชิรเมธี ได้อธิบายถึงรากฐานแห่งความเชื่อนี้ว่า
“เราจะเห็นได้ว่าหลักธรรมทางพุทธศาสนาที่เป็นระดับหลักธรรมสำคัญ แทบทั้งนั้นเริ่มต้นด้วยทาน เช่น หลักการทำบุญ 10 ประการที่เรียกว่าบุญกิริยาวัตถุก็เริ่มต้นด้วยข้อแรกคือ ทาน หลักทศพิธราชธรรมของนักการเมืองหรือธรรมาภิบาลสำหรับนักการเมืองก็เริ่มต้นด้วยทานเหมือนกัน ขณะเดียวกัน สังคมไทยก็มีการปลูกฝังอุดมคติแห่งการเป็นผู้ให้ผ่านงานพิธีกรรมต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานเทศมหาชาติพระเวชสันดรชาดก และพระเวชสันดรก็เป็นตัวอย่างของพระผู้ให้ นี่คือวิธีที่สังคมไทยปลูกฝังอุดมคติแห่งการให้โดยอาศัยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาเป็นเครื่องมือ คนไทยจึงกลายเป็นชาตินักให้ คนไทยมีหัวจิตหัวใจที่ผูกพันกับศาสนามาแต่เดิม”
ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ทำงานด้านการกุศลมาอย่างยาวนาน เบญจวรรณ ตัมพานุวัตร ประธานมูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต องค์กรหนึ่งที่มีส่วนช่วยรับบริจาคสิ่งของเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนในเหตุการณ์น้ำท่วม เธอคิดว่าการได้รับการจัดอันดับสูงขนาดนี้ เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ต่างประเทศเห็นคนไทยเป็นคนจิตใจดีมีน้ำใจ
“เราถูกสอนมาว่าให้ทำความดีเผื่อแผ่ผู้อื่น ช่วยผู้ที่ด้อยกว่าเมื่อมีโอกาส และทุกคนที่มีความคิดและแสดงออกเช่นนี้คือชาวพุทธแท้ๆ ช่วยหรือบริจาคได้ตามกำลังเรา ถ้าไม่ช่วยกันยามลำบากแล้วจะไปช่วยกันตอนไหน คนเราจะเห็นน้ำใจความเมตตากันก็ตอนลำบาก”
เศรษฐศาสตร์ของการให้ แม้แต่ในเชิงเศรษฐศาสตร์เอง ก็มองปรากฏการณ์นี้ว่าเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องของพระพุทธศาสนาอย่างไม่ต้องสงสัย หากแต่มีนัยทางเศรษฐศาสตร์ซ่อนอยู่ในกรอบความคิดแบบพุทธเหมือนกัน
รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ยอมรับว่าไม่แปลกใจกับปรากฏการณ์ที่เกิดนี้ เพราะหากมองในแง่ของวัฒนธรรมต้องยอมรับว่า พระพุทธศาสนานั้นมีส่วนสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะความคิดที่ว่า การบริจาคหรือการให้ทานคือการสะสมบุญประเภทหนึ่ง
“ถ้าตัวเลขนี้เป็นจริงก็ถือเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงพื้นฐานของคนไทยที่ชอบช่วยเหลือคนที่ลำบาก และผูกพันกับแนวคิดทางศาสนาค่อนข้างมาก ซึ่งหากถามว่าการให้แบบนี้หวังผลไหม ก็ต้องยอมรับว่าใช่ โดยในใจอาจจะรู้สึกว่าได้รับตอบแทนในที่สุด ซึ่งอาจจะมาในรูปของผลบุญก็จะส่งต่อไปยังชาติหน้า
“ไม่เพียงแค่นั้น ตามหลักเศรษฐศาสตร์ยังมองอีกว่า การให้ก็เป็นเหตุให้เกิดความสุขเช่นเดียวกับการรับ ซึ่งการบริจาคก็ทำให้เกิดความสุขเช่นกัน”
บริจาคใดคนไทยต้องการ ไม่มีใครปฏิเสธว่าการให้ทานในรูปแบบของเงิน เป็นการบริจาคที่ง่ายที่สุด เพราะสะดวกรวดเร็ว มีพกอยู่กับตัวตลอดเวลา และไม่ต้องลงแรง
รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวว่านอกจากจะง่ายที่สุดแล้ว ยังมีภาระผูกพันน้อยที่สุดอีกด้วย ยิ่งเมื่อเทียบกับการให้ประเภทอื่นๆ อย่างเช่นการอุทิศตัวหรือทำงานสาธารณกุศล ซึ่งถือว่าขัดวัฒนธรรมไทยโดยรวมอย่างสิ้นเชิง
“การเข้ามาลงแรง มันไม่ใช่วัฒนธรรมคนไทยนะ เพราะคนไทยพอให้เสร็จก็อย่ามายุ่งกับฉัน ขณะที่การช่วยงานมันเกี่ยวพัน แต่คนส่วนใหญ่ไม่ชอบอะไรที่มันผูกพันยืดยาว และจากข้อสันนิษฐาน ผมคิดว่าคนที่ชอบบริจาคน่าจะเป็นคนชนชั้นกลางเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งปกติไม่ชอบที่จะยุ่งเกี่ยวกับคนอื่น ให้เงินครั้งเดียวก็จบ ที่สำคัญเราต้องยอมรับด้วยว่าการดำรงชีวิตของคนไทยกับเมืองนอกก็แตกต่างกัน เพราะของเรามันไม่มีเวที ไม่มีลักษณะที่จะไปทำงานอาสาสมัครได้”
แม้จะไม่มีพื้นที่สำหรับอาสาสมัครเพื่องานการกุศลมากนักในบ้านเรา ในสังคมพุทธศาสนาก็ยังมีการทำทานในอีกหลายรูปแบบ ซึ่งพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธีได้จำแนกประเภทออกมาให้เข้าใจได้ง่ายสำหรับคนทั่วไปว่า
“คำว่าการให้ การบริจาค มันมีหลายรูปแบบ ไม่ใช่ว่าพูดถึงการให้ก็ต้องให้เงินเสมอไปนะ เช่น การช่วยเหลือเกื้อกูล การให้โอกาสแก่คนซึ่งขาดโอกาส การให้อภัยแก่คนที่ผิดพลาดไปแล้ว การให้ความรัก ความอบอุ่นแก่บุคคลในครอบครัว หรือการให้ความซื่อสัตย์สุจริตแก่แผ่นดินถิ่นเกิดของตน ตลอดจนถึงการมีจิตใจสาธารณะไม่เห็นแก่ตัว เพราะฉะนั้นเราควรขยายมิติของการให้ให้กว้างขวางออกไป ไม่ใช่แค่ว่าให้เงินให้ทองกันเท่านั้น แต่ควรจะรวมไปถึงการให้ในหลายๆ มิติที่กล่าวมาข้างต้นด้วย
“ถ้าถามว่าการให้อะไรที่เหมาะสมที่สุดในสังคมไทยในเวลานี้นะ อาตมาคิดว่าการให้อภัยซึ่งกันและกันนี่แหละสำคัญที่สุดและจำเป็นที่สุดด้วย อภัยทานถือว่าเป็นทานอันยิ่งใหญ่ ซึ่งในรอบหลายปีที่ผ่านมาสังคมไทยเต็มไปด้วยความโกรธเกลียดชิงชัง ลองลดตัวเองให้ต่ำแล้วทำประเทศไทยให้สูง เราจะได้ช่วยให้ประเทศไทยมีโอกาสก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน”
>>>>>>>>>>
………
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ธัชกร กิจไชยภณ
จาก
http://www.manager.co.th/asp-bin/mgrView.asp?NewsID=9530000149930