พิรุธจัดซื้อจัดจ้าง"ปภ." แกะรอย2บริษัทรับเหมา วันที่"ถุงยังชีพ"ส่งกลิ่น
วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เ
หมายเหตุ - ภายหลังพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ออกมาตั้งข้อสังเกตเรื่องความไม่ชอบมาพากลในการจัดซื้อถุงยังชีพ สิ่งของอุปโภค บริโภค และอุปกรณ์ที่จำเป็นในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ที่อนุมัติโอนเงินบริจาคจำนวน 158 ล้านบาท จากกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นผู้ทำการจัดซื้อสินค้าหลายรายการ เฉพาะในรายการถุงยังชีพ จำนวน 1 แสนถุง ราคาถุงละ 800 บาท วงเงิน 80 ล้านบาท มีการจัดซื้อสินค้าหลายรายการเพื่อบรรจุในถุงยังชีพ ปรากฏว่ามีราคาแพงกว่าราคาท้องตลาด และมีบริษัทเพียง 2 รายรับงานคือ ร้านเอื้อธนพัฒน์ รับจัดหา 4 หมื่นถุง วงเงิน 32 ล้านบาท และ หจก.พูนเจริญพาณิชย์ รับจัดการ 6 หมื่นถุง วงเงิน 48 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม พบข้อมูลว่าทั้ง 2 บริษัทประสบปัญหาสภาพคล่อง และมีภาวะขาดทุนสะสมหลายปีติดต่อกันล่าสุดผู้สื่อข่าว "มติชน" ได้ตามแกะรอยที่มาในการเสนอเรื่องจัดซื้อของ ปภ. ก่อนที่บริษัทเอกชนทั้ง 2 แห่ง จะได้งานนี้ไป พบความผิดปกติในขั้นตอนจัดทำใบเสนอราคาและใบเสร็จ นอกจากนี้ ยังพบผู้ถือหุ้นในบริษัทรายหนึ่งมีนามสกุลเดียวกับอดีตผู้บริหารพรรคเพื่อไทย (พท.) ด้วย
จากการตรวจสอบเอกสารขออนุมัติจัดซื้อสิ่งของอุปโภค บริโภค และอุปกรณ์ที่จำเป็นในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 8 รายการ ตามบันทึกข้อความของกองคลัง กลุ่มงานพัสดุและการจัดซื้อ เลขหนังสือที่ มท.0603 (พจ.) 6014 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2554 มีความขัดแย้งกับคำพูดของนายฉัตรป้อง ฉัตรภูติ รองอธิบดี ปภ. ที่ระบุถึงวงเงินในการจัดซื้อถุงยังชีพว่า "ไม่เกิน 80 ล้านบาทแน่นอน" เนื่องจากในบันทึกดังกล่าวได้อ้างถึงบันทึกด่วนที่สุดที่ มท. 06107/6461 ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2554 สำนักช่วยเหลือผู้ประสบภัย แจ้งให้กองคลังดำเนินการจัดหาสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย จำนวน 9 รายการ (ตัดข้อเสนอให้จัดซื้อสุขามือถือพลาสติกออกไป 1 รายการ) โดยมีกำหนดระยะเวลาในการส่งมอบภายใน 7 วันทำการนับแต่วันที่ได้รับใบสั่งซื้อ
ต่อมากองคลังได้ประสานกับผู้ที่มีอาชีพขายสิ่งของให้มาเสนอราคา จำนวน 9 รายการข้างต้น แต่ปรากฏว่ามีผู้เสนอราคาจำนวน 8 รายการ ซึ่งในส่วนของถุงยังชีพมีผู้เสนอราคาเข้ามา 2 ราย
เป็นที่น่าสังเกตว่าการอนุมัติจัดซื้อ ตั้งแต่เอกชนเสนอราคา ส่วนราชการออกใบสั่งซื้อ ล้วนดำเนินการเสร็จสิ้นในวันที่ 19 ตุลาคม 2554 ทั้งหมด ทั้งนี้ ในใบเสนอราคาของร้านเอื้อธนพัฒน์ พบข้อสังเกตคือ ใบเสนอราคาเลขที่ 032/54 รายการข้าวสาร 100 เปอร์เซ็นต์ และสินค้าอุปโภคอื่น ลงที่อยู่เลขที่ 78 ม. 4 ถ.บางกรวย-ไทรน้อย อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี แต่เมื่อตรวจสอบข้อมูลทะเบียนการค้าจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าที่อยู่ดังกล่าวเป็นที่ตั้งของบริษัท โรงสีเอกไรซ์ จำกัด ซึ่งดำเนินกิจการให้เช่าโกดังสินค้า ขณะที่ในใบเสร็จรับเงินของร้านเอื้อธนพัฒน์ที่ออกให้ ปภ. หลังรับเงิน เลขที่ A 026/54 กลับลงที่อยู่ 9/12 ม.5 ถ.ราชพฤกษ์ ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี ซึ่งไม่ตรงกัน
นอกจากนี้ ยังพบว่าในใบเสนอราคาของร้านเอื้อธนพัฒน์ ได้เสนอราคารายการข้าวสารชนิด 100 เปอร์เซ็นต์ ขนาดบรรจุ 5 กิโลกรัม ราคาถุงละ 192 บาท ในใบเสร็จรับเงินกลับระบุเป็นรายการข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์ แต่เก็บเงินในราคาเท่ากันส่วน หจก.พูนเจริญพาณิชย์ นอกจากจะได้งานถุงยังชีพไปแล้ว ยังได้ขายเรือไฟเบอร์กลาสกับ ปภ.อีก นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ ปภ.ได้จัดซื้อจากเอกชนหลายราย อาทิ เต็นท์นอนหลายขนาด สุขาเคลื่อนที่ สุขามือถือกระดาษ รวมถึงเรือไฟเบอร์กลาส
ในส่วนของการจัดซื้อสุขามือถือกระดาษ 3 หมื่นชุด ราคาชุดละ 245 บาท วงเงิน 7,350,000 บาทนั้น จัดซื้อจากบริษัท เติมคอร์ปอเรชั่น (2008) จำกัด ซึ่งพบข้อมูลทะเบียนการค้า ระบุมีที่ตั้งบริษัทที่เดียวกับ หจก.พูนเจริญพาณิย์ ที่ขายถุงยังชีพและเรือไฟเบอร์กลาสคือ เลขที่ 11/11 ม.9 ถ.เลียบคลองทวีวัฒนา แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กทม. หมายเลขโทรศัพท์ 0-2457-7467
เมื่อผู้สื่อข่าวลองโทรศัพท์ไปยังหมายเลขดังกล่าว ปรากฏว่าไม่มีใครรับสาย ขณะที่เมื่อโทรศัพท์ไปที่หมายเลข 0-2889-3628 ซึ่งเป็นหมายเลขโทรศัพท์ที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของ หจก.พูนเจริญฯ (
www.pooncharoen.com) ปรากฏว่ามีเสียงเครื่องตอบรับอัตโนมัติระบุว่า "สวัสดีค่ะ ห้างหุ้นส่วนจำกัดพูนเจริญพาณิชย์ กด 1 บริษัทเติมคอร์ปอเรชั่น กด 2 ส่งแฟกซ์ กด 3 ติดต่อโอเปอเรเตอร์ กด 0 ค่ะ" แต่ก็ไม่มีใครรับสายเช่นกัน
สำหรับ หจก.พูนเจริญฯ จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยระบุว่าประกอบกิจการให้บริการจำหน่ายพลาสติก-ค้าปลีก ขณะที่บริษัทเติมฯ ระบุว่าประกอบกิจการบดย่อยเศษพลาสติก ซึ่งทั้ง 2 บริษัทปรากฏชื่อกรรมการผู้จัดการเป็นคนเดียวกันคือ นายบุญเติม โนนจันทร์
เมื่อตรวจสอบงบการเงินของบริษัทเอกชนที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับทุจริตการจัดซื้อถุงยังชีพ 5 ปีหลังสุด พบสิ่งที่น่าสนใจ ดังนี้
หจก.เอื้อธนพัฒน์ (AUEA THANAPHAT LTD.,PART.) ปี 2549 มีรายได้ 337,630 บาท รายจ่าย (จากต้นทุนขายและ/หรือบริการ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน) 600,903 บาท รวมขาดทุน 263,273 บาท
ปี 2550 มีรายได้ 407,342 บาท รายจ่าย 686,237 บาท รวมขาดทุน 278,895 บาท
ปี 2551 มีรายได้ 511,226 บาท รายจ่าย 779,329 บาท รวมขาดทุน 268,103 บาท
ปี 2552 มีรายได้ 369,317 บาท รายจ่าย 626,864 บาท รวมขาดทุน 257,547 บาท
ปี 2553 มีรายได้ 313,137 บาท รายจ่าย 587,333 บาท รวมขาดทุน 274,196 บาท
จะเห็นได้ว่า หจก.เอื้อธนพัฒน์ประกอบธุรกิจขาดทุนมาตลอด 5 ปีหลัง และเงินทุนหมุนเวียนในแต่ละปีเพียง 1 ล้านบาทเศษเท่านั้น แต่กลับสามารถจัดหาถุงยังชีพให้กับ ปภ.จำนวน 4 หมื่นถุง มูลค่า 32 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 7 วันตามใบสั่งซื้อของ ปภ.ได้ขณะที่ หจก.พูนเจริญพาณิชย์ (POON CHAROEN PANICH LIMITED PARTNERSHIP) ปี 2549 มีรายได้ 10,821,450 บาท รายจ่าย 10,019,914 บาท รามกำไร 801,536 บาท
ปี 2550 มีรายได้ 29,098,950 บาท รายจ่าย 30,970,261 บาท รวมขาดทุน 1,874,311 บาท
ปี 2551 มีรายได้ 3,032,366 บาท รายจ่าย 4,020,444 บาท รวมขาดทุน 988,078 บาท
ปี 2552 มีรายได้ 85,709,520 บาท รายจ่าย 82,060,446 บาท รวมกำไร 3,649,074 บาท
ปี 2553 มีรายได้ 100,460,681 บาท รายจ่าย 102,902,198 บาท รวมขาดทุน 2,441,517 บาท
หากดูรายรับและรายจ่าย รวมถึงเงินทุนหมุนเวียนของ หจก.พูนเจริญพาณิชย์ พบว่าไม่น่ามีปัญหาในการจัดหาถุงยังชีพให้กับ ปภ.จำนวน 6 หมื่นถุง มูลค่า 48 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 7 วัน
แต่สิ่งที่น่าสนใจกลับเป็นรายชื่อผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคือ น.ส.พุฒมาลย์ ศรีสันต์ เพราะมีนามสกุลเดียวกับนายสามชาย ศรีสันต์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทยชุดแรก (20 ก.ย.2550-20 ก.ย.2551)อย่างไรก็ตาม การจัดซื้อถุงยังชีพ สิ่งของอุปโภค บริโภค และอุปกรณ์ที่จำเป็นในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยทั้ง 8 รายการได้ดำเนินการภายใต้งบประมาณ 135,877,500 บาท โดยผ่านการตรวจรับพัสดุจากคณะกรรมการ 3 คน มีนายภูมิชาย อินทรวิเชียร นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักช่วยเหลือผู้ประสบภัย เป็นประธาน มีนายปิยะ วงศ์ลือชา ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองคลัง เป็นผู้เสนอเรื่องต่ออธิบดี ปภ. ก่อนที่นายฉัตรป้อง ฉัตรภูติ รองอธิบดี ปภ. ในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดี ปภ. จะเป็นผู้ลงนามอนุมัติในที่สุด
หน้า 2,มติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2554