เบื้องหลังลีลาศึก 2 เวชชาชีวะ ปั้น "ยิ่งลักษณ์" ซีอีโอประเทศ
วันที่ 01 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 21:00:49 น.
สงครามอภิปรายไม่ไว้วางใจ "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี พ่วงรัฐมนตรีอีก 3 คน ทั้ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม และ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รมช.มหาดไทย ผ่านพ้นไปด้วยจำนวนมือที่มีมากกว่าของฝ่ายรัฐบาล
เพราะมีมือที่มองเห็นของพรรคฝ่ายค้านอย่างภูมิใจไทย (ภท.) มัดจำไว้วางใจล่วงหน้าถึง 31 เสียง
เป็นไปตามการคาดการณ์ของ "จาตุรนต์ ฉายแสง" แกนนำระดับมันสมองของทีมยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ที่ประเมินไว้ว่าฝ่ายค้านไม่สามารถทำอะไรรัฐบาลได้ถนัดมือ
แต่กว่าจะถึงวันลงมติ ฝ่ายเพื่อไทยก็เตรียมตัวรับฝ่ายค้านแบบเต็มอัตราศึก ผ่านสงครามตัวแทนของ 2 คนในตระกูล "เวชชาชีวะ" ที่อยู่คนละขั้ว คนละข้าง ทางการเมือง
หาก "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" ประธานวิป หัวหอกของฝ่ายค้าน คือตัวแทนของ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ในฝ่ายรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็คือหัวกระบวนที่ต้องตอบโต้ด้วยเครื่องมือทางความคิดที่ผลิตจาก "สุรนันทน์ เวชชาชีวะ" และทีมงาน
ศูนย์บัญชาการใหญ่ในห้องเลขาธิการนายกฯ อาคารรัฐสภา ชั้น 2 มี 2 แม่ทัพประจำการเขียนสคริปต์ตามวาระทาง การเมืองที่ถูกพาดพิงถึงนายกรัฐมนตรี
คนแรกคือ "วราเทพ รัตนากร" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบเขียนคำอธิบายความด้านแนวทางบริหารนโยบาย การบริหารจัดการในฐานะผู้นำรัฐบาล ส่วนแม่ทัพคนที่ 2 คือ "สุรนันทน์ เวชชาชีวะ" เลขาธิการนายกฯ รับผิดชอบตอบโต้ประเด็นทางการเมือง
ทั้ง 2 กุนซือไขข้อสงสัย เหตุใดนายกรัฐมนตรีต้องอภิปรายด้วย organization chart โครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะต้องการให้ประชาชนเห็นภาพว่าการบริหารของเพื่อไทย ยกให้นายกรัฐมนตรีเป็นเหมือน "ซีอีโอ" ใหญ่ ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติการ
คำชี้แจงในสคริปต์จึงจงใจแสดงให้ภาพการบริหารและอำนาจในการสั่งการ ผ่านระดับปฏิบัติการของรองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าส่วนราชการ
คีย์เวิร์ดคำอธิบายจากฝ่ายรัฐบาลจึงให้ทุกคนกล่าวว่า "ฝ่ายปฏิบัติการย่อมสื่อสารได้ละเอียดกว่าผู้มอบนโยบาย"
ขณะที่ฝ่ายค้าน "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" และ "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" ประธานวิปฝ่ายค้าน ประเมินผลงานว่าการอภิปรายที่ผ่านมาน่าพอใจ และกระบวนการจัดญัตติอภิปรายที่ลับที่สุด เป็นกลไกสำคัญทำให้ฝ่ายรัฐบาลต้องอยู่ในสถานะตั้งรับทำให้ตลอด 3 วัน ทุกก้าวเดินในเกมอภิปรายจึงเป็นไปตามแผนที่วางไว้ จึงเห็นภาพทั้ง "อภิสิทธิ์-จุรินทร์" ไม่จำเป็นต้องออกไปบัญชาเกมนอกห้องเหมือนครั้งก่อน
นอกจากการซักฟอกในสภา ฝ่ายค้านเตรียมแผนคู่ขนาน ขนทีมข้อมูล ทีมงานโซเชียลเน็ตเวิร์กอีกหลายสิบชีวิต เพื่อเผยแพร่ข่าวสารต่อทันทีในโลกออนไลน์ ทันทีที่ ส.ส.ในพรรคอภิปรายจบ
ทั้ง "ทวิตเตอร์-เฟซบุ๊ก" จึงเป็นช่องทางหลักในการชี้แจงข้อมูลให้สาธารณชนรับทราบอย่างละเอียดยิบทั้งภาพและตัวอักษร
ส่วนการเตรียมตัวของบรรดา "ขุนพล" ซุ่มเก็บข้อมูลทั้งในทางลับและเปิดเผยรวบรวมหมัดน็อกเรื่อง "นโยบายจำนำข้าว"
ทางเปิดเผย-ฝ่ายค้านมีการขอข้อมูล อาศัยกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นโควตาฝ่ายค้านในการรวบรวมเอกสารสำคัญจากรัฐบาล และรวบรวมปากคำจากนักธุรกิจค้าข้าว แม้หน่วยงานภาครัฐไม่ยอมร่วมมือมาให้ปากคำ จนถึงขั้นใช้ พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร ดึงตัวข้าราชการระดับ "บิ๊ก" มาให้ข้อมูล แต่ก็ถูกฝ่าย ส.ส.พรรคเพื่อไทยโดดร่มทำให้องค์ประชุมไม่ครบ จึงไม่สามารถใช้ พ.ร.บ.คำสั่งเรียกได้
แต่ในทางลับ-มีการใช้คอนเน็กชั่นทั้งฝ่ายราชการกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ สถาบันการเงิน ช่วยตามแกะรอยที่มาที่ไปถึงกระบวนการค้าขายข้าวในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จนพบเงื่อนงำการซื้อขายข้าวระบบรัฐต่อรัฐ หรือ "จีทูจี" ที่โยงใยไปถึงบริษัทเอกชนที่รับซื้อข้าวของรัฐ มี "เสี่ย ป." ที่อ้างว่าเป็นบุคคลใกล้ชิด "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร"
ความเคลื่อนไหวในทางการเมือง-ภาคต่อจากการตรวจสอบในสภา ฉากต่อไปพรรคประชาธิปัตย์จะขยายแผล นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการของ ป.ป.ช. และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) เพราะฝ่ายค้าน-รัฐบาลต่างฝ่ายต่างประเมินตัวเองอยู่ในแดนบวก ได้แต้มต่อ
"ประชาชาติธุรกิจ" ส่งข้อสอบอภิปรายให้นักวิชาการร่วมวงประเมิน "ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา" อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของเว็บไซต์เครือข่ายข้อมูลทางการเมืองไทย ประเมินว่า
"ฝ่ายค้านทำการบ้านมาดี การเก็บข้อมูลค่อนข้างใช้ได้ ทำให้เห็นถึงการทุจริตโครงการจำนำข้าว โดยเฉพาะการแปลงร่างของบริษัทเพรสซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง ซึ่งเป็นของคนเจ้าเดิม ๆ ที่ถูกจับทุจริตในปี 2546-2547 มาเป็นบริษัทสยามอินดิก้า ชี้ให้เห็นว่าเกิดขบวนการแสวงหาผลประโยชน์จากนโยบายจำนำข้าว"
"ส่วนฝ่ายรัฐบาลตอบคำถามไม่ชัดเจนเลยไม่ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หรือนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์"
"อ.จรัส" บอกว่า น้ำหนักพยานหลักฐานของรัฐบาลที่นำมาตอบโต้ฝ่ายค้านไม่ค่อยน่าเชื่อถือ แต่เขากลับเชื่อถือข้อมูลฝ่ายค้านมากกว่า "ข้อมูลที่ของฝ่ายรัฐบาลที่นำมาโต้แย้งนั้นไม่ค่อยมั่นใจเท่าไร
แต่ผมไม่ได้เชื่อข้อมูลของฝ่ายค้านว่าจะถูกต้องหรือไม่ แต่ในอดีตสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เคยให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ไปวิจัยนโยบายจำนำข้าวในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งผลวิจัยดังกล่าวเปิดเผย ออกมาให้เห็นถึงตัวแสดงต่างๆ ที่ทุจริตรับผลประโยชน์ในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งไม่แตกต่างจากตัวละครที่ฝ่ายค้านนำมาเปิดเผย ข้อกล่าวหาที่ระบุว่าเป็นการฟอกเงินก็น่าจะเชื่อถือได้"
"ผมฟังการอภิปรายอย่างเป็นกลาง คิดว่ารัฐบาลควรต้องทบทวนนโยบายจำนำข้าว หากยังใช้นโยบายเดิมต่อไปก็จะเกิดความเสียหาย หากรัฐบาลยังขยายนโยบายไปอีกในปีต่อโดยที่ไม่ฟังเสียงท้วงติง ก็ไม่น่าจะเป็นรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยที่ดี"
เมื่อเสียงข้างน้อยของฝ่ายค้านไม่สามารถชนะเสียงส่วนใหญ่ของรัฐบาลได้ ผลกระทบจากการอภิปรายที่ทำให้รัฐบาลต้องไปขบคิดมีหรือไม่ "อ.จรัส" ให้คำตอบว่า
"ผลกระทบจากการถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจโครงการรับจำนำข้าว อาจไม่ทำให้รัฐบาลปรับ ครม. แต่สามารถหาแพะมาฆ่าเพื่อรับผิดชอบเรื่องนี้ได้ แต่ถึงจะมีการปรับ ครม.ก็ไม่ได้ลดความเสียหาย เพราะเครือข่ายการทุจริตไม่อยู่ที่ตัวรัฐมนตรี แต่อยู่ที่ตัวนโยบายที่ออกแบบมาให้เอื้อประโยชน์กับผู้ที่อยู่เบื้องหลัง"
เขาบอกว่า มี 2 หน่วยงานที่จะหยุดการขับเคลื่อนโครงการรับจำนำข้าวได้ คือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) "แม้รัฐบาลจะได้เสียงข้างมากยกมือสนับสนุนให้ทำหน้าที่ต่อ สามารถเดินหน้าโครงการจำนำข้าวต่อไปได้ แต่ก็มีมาตรการในระบบที่จะหยุดการทุจริตคอร์รัปชั่น คือ ป.ป.ช. ขณะเดียวกัน คตง.ก็มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยตรวจสอบเรื่องเกี่ยวกับวินัยทางการเงิน การคลัง และงบประมาณ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 253"
"แต่ถ้า ป.ป.ช. และ คตง.ไม่สามารถหยุดได้ก็ต้องปล่อยไป เชื่อว่าประเทศก็คงล่มจมในที่สุด มีตัวอย่างแล้วว่าประเทศประชาธิปไตยก็สามารถล่มจมได้ เช่น สหรัฐอเมริกา กรีซ ขณะนี้ประชาชนกรีซก็นำสิ่งของที่ตนเก็บสะสมไว้มาขายข้างถนนแล้ว"
เกมการเมืองส่งท้ายวาระประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไป 2555 ยังไม่จบ ต้องติดตามคดีต่อเนื่อง ที่ไปบรรจุวาระที่เครือข่ายองค์กรอิสระ
และทั้งสองฝ่ายจะกลับมาดวลเรื่อง "แก้ไขรัฐธรรมนูญ" กันอีกครั้งในสมัยประชุมนิติบัญญัติ 21 ธันวาคม 2555
(ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 3-5 ธันวาคม 2555)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1354347810&grpid=01&catid=01&subcatid=0100