จีนปัดต้นเหตุทำโขงแห้งซัดกล่าวหาไร้หลักฐานยัน3เขื่อนปล่อยน้ำตามธรรมชาติ ย้ำมณฑลในจีนก็แล้งนายเฉิน เต่อ ไห่ ที่ปรึกษาฝ่ายการเมืองและข่าวสาร สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย แถลงเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ปฏิเสธว่าการก่อสร้างเขื่อนในจีนไม่ได้เป็นต้นเหตุทำให้น้ำในแม่น้ำโขงแห้งแล้งผิดปกติตามที่หลายฝ่ายกล่าวหา ข้อเท็จจริงคือ นับตั้งปลายปี 2552 ภาคตะวันตกของจีน โดยเฉพาะในมณฑลยูนนาน เสฉวน ฮุ่ยโจว ประสบภัยแล้งอย่างรุนแรงจนถึงขั้นเกิดการทะเลาะวิวาทแย่งน้ำจนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้าห้ามปราม ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นคล้ายกันในภูมิภาคนี้ ขอย้ำว่าการกล่าวหาจีนเป็นสิ่งที่ไร้หลักฐานและไม่ถูกต้อง
นายเฉินแถลงว่า ในแถลงการณ์ของคณะกรรมการลุ่มน้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) ได้ระบุว่า ปี 2548-2552 ภาคเหนือและภาคตะวันออกของไทยประสบกับภาวะแห้งแล้งอย่างมาก และมีฝนตกต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย มีฝนตกเฉลี่ยเพียง 20 มิลลิเมตร แทนที่จะเป็น 52 ตามเกณฑ์ปกติ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำในแม่น้ำโขงลด ซึ่งกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ของประเทศไทย ก็รายงานว่าน้ำในแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงแสน และ จ.หนองคาย ต่ำสุดในรอบ 50 ปี ขณะที่แม่น้ำโขงในมณฑลยูนนานก็ประสบปัญหาเดียวกัน พื้นที่เขตแม่น้ำโขงในจีนครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 23.5 ของแม่น้ำโขงทั้งสาย และมีปริมาณน้ำทั้งหมด 60,400 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 13.5 ของแม่น้ำโขงทั้งหมดที่ไหลออกสู่ทะเล
"ขณะนี้จีนได้สร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงเสร็จแล้ว 3 แห่ง คือ ม่านวาน ต้าเฉาชาน และจิงหง ถ้าเสร็จสมบูรณ์เต็มที่จะมีปริมาณน้ำระเหยเพียงร้อยละ 0.04 จึงไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดผลกระทบกับประเทศท้ายน้ำ และจีนมีความรับผิดชอบต่อระบบนิเวศและคำนึงถึงประเทศที่อยู่ท้ายน้ำ ปล่อยน้ำให้ไหลตามธรรมชาติอย่างเต็มที่ด้วย รวมทั้งมีการประสานงานกับประเทศที่อยู่ท้ายน้ำเสมอมา ที่สำคัญจีนมีการประสานกับประเทศที่อยู่ท้ายน้ำอย่างเป็นรูปธรรม โดยสร้างกลไกผ่านเอ็มอาร์ซี" นายเฉินกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมาเอ็มอาร์ซีขอความร่วมมือให้จีนเปิดเผยข้อมูลในเรื่องการก่อสร้างเขื่อน และจีนยินดีจะให้ความร่วมมือหรือไม่ นายเฉินกล่าวว่า ไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจน แต่ยืนยันว่าจะไปหาข้อมูลมาชี้แจงให้ทราบในคราวต่อไป เมื่อถามว่า ในการประชุมเอ็มอาร์ซีที่จะมีขึ้นในต้นเดือนเมษายนนี้ จีนจะส่งผู้แทนระดับใดเข้าร่วมประชุม นายเฉินกล่าวว่า รัฐบาลจีนยังไม่ได้รับคำเชิญอย่างเป็นทางการจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพียงแต่ได้รับคำเชิญอย่างไม่เป็นทางการจากคณะกรรมการเอ็มอาร์ซีเท่านั้น แต่คิดว่าการประชุมครั้งนี้ เอ็มอาร์ซีคงไม่ได้มุ่งเน้นในเรื่องโจมตีหรือกล่าวหากันระหว่างประเทศในลุ่มน้ำโขง แต่คงเป็นการประชุมเพื่อทบทวนผลงานที่ผ่านมา และแนวทางในการดำเนินงานเรื่องความร่วมมือในอนาคตของทุกประเทศร่วมกันมากกว่า
เมื่อถามว่าที่ผ่านมา จะเปิดเผยข้อมูลการเปิด-ปิดเขื่อนในจีน ในการประชุมเอ็มอาร์ซีหรือไม่ นายเฉินกล่าวว่า จะไปสอบถามข้อมูลและประสานว่าหน่วยงานใดของจีนรับผิดชอบเรื่องนี้ และจะนำข้อมูลมานำเสนอต่อไป เมื่อถามอีกว่า เขื่อนจิงหงซึ่งอยู่ใกล้ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย มากที่สุด ปิด-เปิดเขื่อนหรือไม่ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงขึ้นลงอย่างผิดปกติ นายเฉินกล่าวว่า จะไปขอข้อมูลรัฐบาลท้องถิ่นที่ดูแลเรื่องนี้ และจะนำมาเปิดเผยในโอกาสต่อไป
"เขื่อนในจีนอยู่ห่างจากประเทศไทย การขึ้นลงของระดับน้ำที่ผิดปกติจึงไม่น่าจะเกี่ยวข้องหรือมีผลกระทบถึงกันได้ ทั้งนี้ จีนก็ทราบมาเช่นเดียวกันว่าประเทศไทย ลาว พม่า ก็มีโครงการจะสร้างเขื่อนเช่นเดียวกัน" นายเฉินกล่าว
เมื่อถามต่อว่า จะอธิบายการขึ้น-ลงอย่างผิดปกติของน้ำในแม่น้ำโขงบริเวณ อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ ที่ได้รับน้ำจากจีนโดยตรงอย่างไร นายเฉินกล่าวว่า ก่อนหน้าที่ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ได้เดินทางไปพบนายอภิสิทธิ์ และนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งได้มีการหารือเรื่องนี้ร่วมกัน มีการหารือกันว่าคนบางกลุ่มไม่ควรยกปัญหาเรื่องสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมากล่าวหาว่ามีสาเหตุมาจากจีน
ต่อข้อถามว่า หากจีนยืนยันว่าได้ให้ความร่วมมือด้านอุทกศาสตร์กับประเทศที่อยู่ท้ายน้ำด้วยดีมาตลอด เหตุใดจึงไม่ยอมเข้าร่วมเป็นสมาชิกเอ็มอาร์ซี ทั้งๆ ที่เอ็มอาร์ซีได้ขอให้จีนเข้าร่วมเป็นสมาชิกมากว่า 15 ปีแล้ว นายเฉินกล่าวว่า จีนได้สร้างกลไกการพูดคุยที่ดีภายใต้เอ็มอาร์ซีมาโดยตลอดอยู่แล้ว
ด้าน น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานเครือข่ายแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังในการแถลงข่าวครั้งนี้ เพราะจีนไม่ได้แสดงความรับผิดชอบต่อประเทศท้ายน้ำอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการกักน้ำ และปล่อยน้ำจากเขื่อน แม้ว่าที่ผ่านมาจีนจะอ้างว่าได้รายงานตัวเลขปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงต่อเอ็มอาร์ซี แต่ข้อมูลเหล่านั้นก็ไม่ได้มาถึงประชาชนผู้ซึ่งประสบปัญหาจากการที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงผิดปกติ เห็นได้ชัดว่าเขื่อนจากจีนห่างจาก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เพียง 200 กิโลเมตรเศษเท่านั้น อีกทั้งตัวเลขจากสถานีวัดน้ำที่ อ.เชียงแสน ซึ่งได้รายงานต่อเอ็มอาร์ซี ก็ระบุชัดเจนว่าปริมาณน้ำร้อยละ 95 มาจากจีน ดังนั้น จีนจึงหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้
นายอภิสิทธิ์ คำภิโล หัวหน้าสำนักงานขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี จ.เชียงราย กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์ระยะกว่า 10 ปีที่ผ่านมา นับแต่มีการสร้างเขื่อนในจีน โดยเฉลี่ยแล้วปริมาณน้ำโขงในช่วงฤดูแล้งเฉพาะเดือนมีนาคมจะอยู่ระหว่าง 1-2 เมตร โดยปี 2541 มีภาวะแห้งอยู่ที่ 0.75 เมตร ขณะที่ปี 2547 อยู่ที่ประมาณ 0.88 เมตร ส่วนปีนี้ช่วงเดือนมีนาคม อยู่ที่ 0.95 เมตร แต่ภาวะที่ไม่ปกติคือ ในรอบปีนี้ไม่สามารถเดินเรือได้ถือเป็นสิ่งแปลก แต่ก็ถือว่าน้ำในแม่น้ำโขงปี 2553 ยังไม่วิกฤติที่สุดหากเทียบกับปี 2541 นับจากจีนสร้างเขื่อนม่านวาน เสร็จในปี 2537
"มองว่าปัญหาเหล่านี้น่าจะเกิดจากการสร้างเขื่อนของจีนเป็นส่วนสำคัญด้วย เพราะนอกจากกักเก็บน้ำไว้ในปริมาณที่มากกว่าเดิม ยิ่งในภาวะที่จีนเองยังประสบปัญหาภัยแล้ง เพื่อนำน้ำไปใช้ประโยชน์ในการเกษตรและการผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว ยังน่าจะเกิดจากระเบิดเกาะแก่งเพื่อการเดินเรือของจีนในช่วงที่ผ่านมา ที่มีการระเบิดไปกว่า 10 จุด ซึ่งปกติเกาะแก่งเหล่านี้เหมือนเขื่อนธรรมชาติ เมื่อถูกทำลายลงไปก็ทำให้น้ำไหลเร็ว และเกิดการเปลี่ยนแปลงของตะกอนทราย" นายอภิสิทธิ์กล่าว
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1268313570&grpid=&catid=19