2.2 เสียงพระสวดเซียน
"ไม่รับออกใบรับรองให้ พระวัดขุนอินทประมูล" วัดขุนอินทประมูล ต.อินทประมูล อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง ซึ่งมีทั้งหมด ๓ พิมพ์ คือ พิมพ์พระประธาน พิมพ์ใหญ่ และพิมพ์ทรงเจดีย์ ของ สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา ถึงกับทำให้ผู้เช่าพระสมเด็จกรุขุนอินทประมูล และผู้มีไว้ในครอบครอง ต่างผิดหวังไปตามๆ กัน
นอกจากนี้แล้ว ในการประกวดพระของ กรมเสมียนตรา เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๒ เดิมที่นั้นได้จัดให้มีการประกวด พระสมเด็จกรุขุนอินทประมูล ไว้ในรายการประกวดพระเนื้อผงทั่วไป ชุดที่ ๓ โต๊ะที่ ๗ รายการที่ ๒๒๔ - ๒๒๖ ต่อมาคณะผู้จัดงานได้ตัดออกจากการประกวดพระในครั้งนี้ด้วย โดย “คม ชัด ลึก” ได้นำเสนอสกรู๊ปข่าวเรื่อง "เซอร์พระ กับ...พระที่สมาคมฯไม่รับเซอร์" เมื่อวันอังคารที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๒
ในส่วนของความเป็นมาของ การแตกกรุ พุทธลักษณะ มวลสาร รวมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับ พระสมเด็จกรุขุนอินทประมูล นั้น “คม ชัด ลึก” ได้นำเสนอไปแล้วอย่างละเอียด ในคอลัมน์ “ชั่วโมงเซียน” โดย ผศ.รังสรรค์ ต่อสุวรรณ เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๕๑ นอกจากนี้แล้ว หากผู้อ่านท่านใดสนใจรายเอียดเกี่ยวกับพระกรุนี้ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
www.inthapramul.com ได้อีกด้วย
ทั้งนี้ เพื่อความชัดเจน เรื่องการแตกกรุของพระสมเด็จกรุขุนอินทประมูล “คม ชัด ลึก” ได้สัมภาษณ์ พระครูวิเศษชัยวัฒน์ หรือ หลวงพี่เสวย รองเจ้าคณะจังหวัดอ่างทอง เจ้าอาวาสวัดชัยมงคล และ รักษาการเจ้าอาวาสวัดขุนอินทประมูล พระผู้ซึ่งเก็บ พระสมเด็จกรุขุนอินทประมูล ที่บรรจุอยู่ใน โถศิลาดล กว่า ๒,๐๐๐ องค์
โดยท่านได้นำพระที่เก็บไว้ มอบให้เป็นที่ระลึกสำหรับผู้ร่วมทำบุญสร้างอุโบสถ กล่าวคือ ร่วมทำบุญ ๔๐,๐๐๐ บาท ได้รับมอบ พระสมเด็จกรุขุนอินทประมูล พิมพ์พระประธาน ร่วมทำบุญ ๒๐,๐๐๐ บาท ได้รับมอบ พระสมเด็จกรุขุนอินทประมูล พิมพ์ใหญ่ และร่วมทำบุญ ๑๐,๐๐๐ บาท ได้รับมอบ พระสมเด็จกรุขุนอินทประมูล พิมพ์ทรงเจดีย์ และร่วมทำบุญ ๕,๐๐๐ บาท ได้รับมอบ พระสมเด็จกรุขุนอินทประมูล พิมพ์คะแนน โดยขณะนี้น่าจะมีพระเหลืออยู่ประมาณ ๓๐๐ องค์
“ฉันได้เก็บพระชุดนี้ไว้เมื่อปี ๒๕๓๙ โดยพบพระบรรจุอยู่ในเจดีย์องค์เล็ก ด้านหลังพระพุทธไสยาสน์ขุนอินทประมูล ก่อนที่องค์พระดังกล่าวจะพังทลายลงมา เมื่อเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๑ ในครั้งนั้น ฉันเจอพระประมาณกว่า ๒,๙๐๐ องค์ บรรจุอยู่ในโถพลูสีเขียวไข่กา พระที่พบพระบรรจุอยู่ในเจดีย์ ไม่ได้อยู่ในองค์พระพระพุทธไสยาสน์ขุนอินทประมูล ในครั้งนั้น มีคนเสนอว่า น่าจะนำพระที่พบออกมาให้เช่าบูชา เพื่อหาปัจจัยบูรณะพระพุทธไสยาสน์ แต่ฉันได้ห้ามไว้ เพราะเกรงว่าจะเกิดข้อครหานินทาว่า เป็นการขุดมาขาย องค์พระถึงพังลงมา โดยได้ใส่ตู้เซฟไว้ ตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ ส่วนปัจจัยในการซ่อมบูรณะองค์พระนั้น มาจากศรัทธาประชาชน และได้ใช้ปัจจัยไปกว่า ๑๐๐ ล้านบาท” นี่คือคำยืนยันของ พระครูวิเศษชัยวัฒน์
อย่างไรก็ตาม หากนำจุดที่พบโถบรรจุพระจากคำบอกเล่าของพระครูวิเศษชัยวัฒน์ ไปเปรียบเทียบกับข้อมูลในหนังสือ “พระสมเด็จกรุขุนอินทประมูล วัดขุนอินทประมูล ต.อินทประประมูล อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง” ที่เขียนโดย นายนิเวศน์ ศรีสุรพงษ์ หรือ ฤาษีกลางดง ซึ่งถือว่าเป็นคู่มือของพระสมเด็จรุ่นนี้ จะพบว่า แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
กล่าวคือ ในหน้า ๑๒๑ เขียนระบุไว้ว่า “พระสมเด็จกรุขุนอินทประมูล ที่บรรจุในใต้ฐานของพระพุทธไสยาสน์ขุนอินทประมูล และน่าจะบรรจุอยู่ในจุดที่สูง ปราศจากน้ำท่วมใดๆ”
ส่วนการนำพระสมเด็จกรุขุนอินทประมูล ออกมาจำหน่าย เพื่อหาปัจจัยในการสร้างอุโบสถนั้น พระครูวิเศษชัยวัฒน์ บอกว่า มีคณะกรรมการและลูกศิษย์หลายท่าน เสนอแนะว่า น่าจะนำพระสมเด็จกรุขุนอินทประมูล ออกมาให้เช่าบูชา เพื่อสมทบทุนสร้างอุโบสถ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ไม่มีแนวคิดที่จะค้าพระพุทธ ขุดพระธรรม ยำพระสงฆ์
แต่ถ้าเป็นพระที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สร้างไว้จริง ท่านก็มีเป้าหมายที่จะสร้างไว้เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา เพราะเมื่อครั้งที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต มาซ่อมบูรณะวัดไชโยวรวิหาร หรือ วัดเกษไชโย อ.ไชโย จ.อ่างทอง ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โดยท่านมาพักจำพรรษาอยู่ที่วัดขุนอินทประมูล อยู่หลายปี
ขณะเดียวกัน สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต ก็ซ่อมและบูรณะพระพุทธไสยาสน์ด้วย ซึ่งมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บันทึกไว้
แต่ท่านจะสร้างพระสมเด็จบรรจุกรุไว้ด้วยหรือไม่นั้น ไม่ทราบ เพราะเกิดไม่ทัน
แม้ว่า จะมี ผู้รู้เรื่องพระเครื่อง หรือ เซียนพระ หลายท่านบอกว่า พระที่พบเป็นพระสมเด็จโตสร้างไว้ แต่อาตมาไม่เห็นด้วย เพราะว่า เซียนพระไม่มีใครเกิดทันสมเด็จพระพุฒาจารย์โตเลยสักคน เพื่อความชัดเจนของที่มา จึงได้มีการพิสูจน์ ค้นหาประวัติการสร้าง และอายุของพระ โดยมอบให้คนที่มีชื่อเสียงในวงการพระเครื่อง ดำเนินการ ทั้งนี้ มีข้อสรุปว่า โดยพิจารณาจากมวลสาร พิมพ์ทรง และอายุขององค์พระ น่าจะทัน สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต ถึงจะใช่ หรือไม่ใช่พระที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต ให้ถือเป็น พระสมเด็จกรุวัดขุนอินทประมูล ก็แล้วกัน
นอกจากนี้แล้ว ยังไปให้เซียนพระอีกหลายท่านดู ต่างก็ยืนยันว่า มวลสารใช่ วิธีการสร้างใช่ รวมทั้งมวลสารก็ใช่
เมื่อรวบรวมข้อมูลเสร็จแล้ว ก็จัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม โดยให้พิมพ์รูปพระทุกองค์ ที่มอบให้ใครเป็นที่ระลึก ในการทำบุญลงในหนังสือด้วย
“มาวันนี้ ไม่ต้องมาถามฉันว่า พระสมเด็จกรุวัดขุนอินทประมูล เป็นพระที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต สร้างไว้หรือไม่ เพราะฉันเกิดไม่ทัน ฉันไม่มีความรู้เรื่องการดูพระ และมันเป็นตำนาน จริงอยู่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต มาพักจำพรรษาอยู่ที่วัดขุนอินทประมูล ส่วนจะมีการสร้างพระบรรจุกรุด้วยหรือไม่นั้น ไม่ทราบ ไม่ต้องมาถามฉัน และเหตุที่คนเข้าใจว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต เป็นผู้สร้างนั้น เป็นการพิจารณาจากพิมพ์ทรง และมวลสารขององค์พระ จึงมีการสันนิษฐานไปว่า สมเด็จโตเป็นผู้สร้าง” พระครูวิเศษชัยวัฒน์ กล่าว
สำหรับผู้ที่ผู้เช่าและผู้มีพระสมเด็จกรุขุนอินทประมูลไว้ในครอบครอง แต่ยังไม่เคยให้คณะกรรมการตัดสินพระชุดเบญจภาคี ของสมาคมพระเครื่องฯ ได้พิจารณา เพื่อความชัดเจน “คม ชัด ลึก” ได้นำพระรุ่นนี้ทุกพิมพ์ไปให้พิจารณา ซึ่งแต่ละท่านมีประสบการณ์เช่าพระสมเด็จมานานกว่า ๓๐ ปี