เลย 12 พ.ค.ทุบ 'มาร์ค'เลิกคุย/ กลัวคุก! แดงขี้ขลาดข่าวหน้า 1 12 พฤษภาคม 2553 - 00:00 "เทือก" ยิ้มร่า นั่งหัวโต๊ะบันทึกถ้อยคำรับทราบข้อกล่าวหาสั่งฆ่าประชาชนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษแล้ว แต่แกนนำแดงไม่ยอมรับ อ้างไม่ได้ไปในฐานะผู้ต้องหา ต่อรองยุติชุมนุมทันทีหากมอบตัวแล้วได้ประกันตัว สะพัด! เสื้อแดงแตกยับ แฉ "เสธ.แดง" ควงปืนขู่ 3 เกลอ "พวกมึงออกจากเวทีเมื่อไหร่เป็นศพแน่" ด้าน "มาร์ค" ขึงขังขีดเส้นพุธนี้ม็อบต้องเลิก ลั่นมีความชอบธรรม จะขอคืนสี่แยกราชประสงค์ เล็งมาตรการเบื้องต้นตัดน้ำ-ไฟ
กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ยื่นเงื่อนไขต่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ต้องเข้ามอบตัว โดยระบุโทษฐานเป็นผู้สั่งฆ่าประชาชนเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 เพื่อแลกกับการยุติการชุมนุม
ล่าสุดเมื่อวันอังคาร นายสุเทพเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้ว โดยมีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ, พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง, พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น. ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนกลุ่มคดีพิเศษเหตุการณ์ 10 เมษายน ให้การต้อนรับ ก่อนจะเชิญนายสุเทพขึ้นไปดำเนินการรับทราบข้อกล่าวโทษร้องทุกข์และบันทึกถ้อยคำ โดยใช้เวลา 35 นาที
นายธาริตแถลงว่า การที่นายสุเทพเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนในครั้งนี้ เป็นการแสดงความจำนงที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งได้มีการบันทึกถ้อยคำไว้เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ คดีในเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายนเป็นต้นมา ได้ถูกยกระดับจากคดีสามัญปกติมาเป็นคดีพิเศษหมดแล้ว อำนาจการดำเนินการจึงมาอยู่กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ แต่ดีเอสไอไม่ได้ดำเนินการเพียงคนเดียว แต่เป็นเจ้าภาพร่วมกับ 13 หน่วยงานที่มาสนธิกำลังร่วมกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายสุเทพรู้อยู่แล้วว่ากฎหมายให้การคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ แสดงว่าจะไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหารือดำเนินคดีตามขั้นตอนต่อ นายธาริตบอกว่า "มิได้ครับ ท่านสุเทพหมายความถึงว่าตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้การคุ้มครองเจ้าหน้าที่ ท่านได้แสดงความรับผิดชอบว่าในส่วนของการอำนวยการสั่งการฝ่ายการเมือง คือท่านรับผิดชอบ แต่ท่านได้คลายความกังวลของเจ้าหน้าที่ว่าได้รับการคุ้มครองอยู่ เป็นคนละส่วนกัน"
พล.ต.ต.อำนวยกล่าวกรณี นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช.ระบุว่าการที่นายสุเทพมามอบตัวที่ดีเอสไอเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องไปมอบตัวที่กองปราบปรามเท่านั้นจึงจะยุติการชุมนุมว่า เป็นการเบี่ยงเบน ขอเรียนว่าไปมอบที่กองปราบปรามไม่ได้ เพราะเมื่อเป็นคดีประทุษร้ายต่อชีวิตของประชาชน ซึ่งเป็นหนึ่งในฐานความผิดที่ได้ยกระดับเป็นคดีพิเศษแล้ว จะกลับไปเป็นคดีธรรมดาไม่ได้
"ต้องดำเนินการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ หรือผู้ที่ได้รับการแต่งตั้ง ซึ่งพนักงานสอบสวนจาก บช.น.ได้รับการแต่งตั้งมา 85 คน เพื่อมาร่วมสอบสวนกับ 13 หน่วยงาน และนายธาริตก็ไม่ใช่พนักงานสอบสวนที่จะชี้เป็นชี้ตาย เพราะการทำงานจะชี้เป็นคณะ ดังนั้นคดีนี้จึงเป็นการมอบตัวชอบด้วยกฎหมายและชอบธรรม" พล.ต.ต.อำนวยกล่าว และว่า ทางกองปราบปรามและ บช.น.ไม่มีอำนาจสอบสวน เนื่องจากถูกยกระดับเป็นคดีพิเศษ จึงนำเรียน นพ.เหวงเพื่อทราบ
ขณะที่นายสุเทพกล่าวว่า เหตุที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเป็นเพราะมีประชาชนมายื่นคำร้องต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษให้ดำเนินคดีต่อตนในกรณีเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน โดยกล่าวหาว่าตนเป็นผู้ออกคำสั่งให้ทหารเข้าไปขอคืนพื้นที่ และเป็นเหตุให้เกิดการสูญเสียชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน เมื่อผู้ร้องได้มายื่นคำร้องต่ออธิบดีดีเอสไอ ตนจึงเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาเพื่อที่จะใช้แสดงเจตจำนงว่าตนและฝ่ายรัฐพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
"เทือก"ลั่นไม่ตามเงื่อนไขแดง ผู้สื่อข่าวถามว่า แกนนำ นปช.ยื่นเงื่อนไขให้ไปมอบตัวที่กองปราบปราม นายสุเทพบอกว่า ตนไม่ได้ปฏิบัติอะไรตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมหรือ นปช. แต่ปฏิบัติตามกฎหมาย ตามเหตุผลที่บอกไปแล้ว ไม่ได้สนใจในเรื่องเงื่อนไขนั้น ทั้งหมดตนดำเนินการตามนโยบายของนายกฯ เรื่องแผนปรองดอง เมื่อฝ่ายรัฐได้แสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่าพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ถือเป็นสาระสำคัญที่สุดแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเข้ารับทราบข้อกล่าวหาครั้งนี้ ทุกคนเข้าห้องประชุมที่ชั้น 2 ของอาคารดีเอสไอ โดยนายสุเทพนั่งหัวโต๊ะข้างๆ นายธาริต ส่วนตำรวจและเจ้าหน้าที่อื่นๆ นั่งโต๊ะด้านข้างทั้งสองฝั่ง มีการปิดห้องไม่ให้สื่อมวลชนเข้าไป และระหว่างการรับทราบข้อกล่าวหา นายสุเทพและนายธาริตพูดคุยกันด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ไม่มีความวิตกกังวลแต่อย่างใด จากนั้น 35 นาทีต่อมาก็เปิดแถลงข่าว และให้นายสุเทพเซ็นรับทราบข้อกล่าวหาต่อหน้าสื่อมวลชนด้วย
นายสุเทพให้สัมภาษณ์อีกครั้งหลังกลับจากรับทราบข้อกล่าวหาที่ดีเอสไอ โดยกล่าวถึงคนเสื้อแดงยื่นเงื่อนไขให้ไปรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะมองว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษถือเป็นพวกเดียวกันกับรัฐบาลว่า เขาพยายามยื้อเวลา หาเหตุไปเรื่อย แต่ต้องแยกกันคนละส่วน ส่วนคนเสื้อแดงยังมีเงื่อนไขว่า เมื่อมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วจะได้รับประกันตัวจากเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น ตนไม่ได้มีหน้าที่ใดๆ ที่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของกลุ่ม นปช.
ที่ศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) หลังจากนายสุเทพเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ดีเอสไอ ทำให้มีกระแสข่าวว่าแกนนำ นปช.ทั้งหมดจะติดต่อขอเข้ามอบตัวในเวลา 14.00 น. พล.ต.ต.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษก ศปก.ตร. เผยว่า ได้รับการสั่งการจากผู้บังคับบัญชาเพื่อเตรียมความพร้อมในสถานที่และพนักงานสอบสวน หากกรณีที่แกนนำ นปช.ตามหมายจับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ออกหมายจับไป ขอเข้ามามอบตัวที่ สตช.
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ได้รับการติดต่อจากแกนนำ และไม่ทราบจำนวนแกนนำว่าจะเข้ามอบตัวจำนวนเท่าใด ทั้งนี้เบื้องต้นพนักงานสอบสวนจะสอบสวนและใช้ดุลยพินิจในการขอประกันตัว ซึ่งหากแกนนำไม่มามอบที่นี่ ก็อาจจะมามอบที่กองบังคับการกองปราบปรามก็ได้ ส่วนหากมีการมอบตัวแล้วใครจะเป็นผู้สอบสวนนั้น ต้องดูว่าเป็นคดีอะไร ถ้าเป็นคดีก่อการร้ายก็จะอยู่ที่ดีเอสไอ
เมื่อถามว่า มีการเตรียมสถานที่ไว้ควบคุมตัวแกนนำบ้างหรือไม่ พล.ต.ต.ประวุฒิกล่าวว่า มีเตรียมไว้นานแล้ว ที่คลองหลวง จ.ปทุมธานี ในส่วนของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 แต่อย่าเพิ่งมองถึงขนาดไหน
พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) กล่าวถึงการเข้ามอบตัวของแกนนำกลุ่ม นปช.ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับการติดต่อจากแกนนำกลุ่ม นปช.เพื่อเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวนกองปราบปราม แต่ได้มีการจัดเตรียมความพร้อมในเรื่องสถานที่และพนักงานสอบสวนไว้หมดแล้ว หากมีการติดต่อเข้ามอบตัวของกลุ่มแกนนำ จะประสานให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเข้ามารับมอบตัวที่กองปราบปราม เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยาก
ซักว่าจะให้ยื่นประกันตัวแกนนำ นปช.หรือไม่ พล.ต.ท.ไถงกล่าวว่า คงรอให้เข้ามามอบตัวก่อน ไม่อยากพูดเลยไปจากขั้นตอนนี้ การประกันตัวเป็นเรื่องดุลพินิจของพนักงานสอบสวน อาจจะมีการพิจารณาการยื่นประกันเป็นรายบุคคล
ศาลยกคำร้องถอนหมายจับ 16 แดง สำหรับกรณีที่นายคารม พลทะกลาง ทนายผู้รับมอบหมายอำนาจจากนายวีระ มุสิกพงศ์ ประธาน นปช. ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนเพื่อมีคำสั่งเพิกถอนหมายจับนายวีระ กับพวก ที่เป็นแกนนำและแนวร่วม นปช.รวม 16 คน โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เนื่องจากเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 เหตุการณ์ปรากฏหลักฐานชัดว่ามีผู้ชุมนุม นปช.จำนวนมากบุกรุกเข้าไปภายในอาคารรัฐสภา ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ จึงมีเหตุผลที่รัฐบาลสามารถประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินได้
ขณะเดียวกัน ฝ่ายผู้ร้องไม่ได้นำตัวผู้ที่ถูกออกหมายจับมาเบิกความและชี้ให้เห็นว่าได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างไร การออกหมายจับแกนนำ นปช.จึงชอบด้วยกฎหมายแล้วไม่เห็นควรให้เพิกถอนหมายจับดังกล่าว จึงยกคำร้อง
นายคารมบอกว่า เราไม่สามารถนำตัวแกนนำที่ถูกออกหมายจับมาไต่สวนได้ เพราะเกรงว่าจะถูกจับกุม ทำให้พยานหลักฐานและคำเบิกความมีน้ำหนักน้อยไปด้วย แต่ไม่เสียใจ เพราะได้พยายามช่วยเหลือแกนนำ นปช.เต็มที่แล้ว โดยจะใช้สิทธิอุทธรณ์ตามกฎหมายต่อไป
เมื่อถามว่า ทางแกนนำ นปช.จะเข้ามอบตัวในวันที่ 15 พฤษภาคมหรือไม่นั้น นายคารมบอกว่า ยังไม่แน่ว่าแกนนำ นปช.ทั้งหมดจะติดต่อเข้ามอบตัวกับตำรวจตามกำหนดเดิมหรือไม่ แต่ส่วนตัวได้แนะนำว่าไม่ควรมอบตัว เนื่องจากตำรวจจับกุมตามอำนาจ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน คาดว่าจะไม่ได้ประกันตัว และถูกนำตัวควบคุมยังสถานที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ
ทางด้านท่าทีของแกนนำ นปช. นพ.เหวง โตจิราการ กล่าวว่า การที่นายสุเทพเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ดีเอสไอนั้น ไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขของ นปช. เพราะนายธาริตเป็นลูกน้องนายสุเทพ และยังเป็นกรรมการ ศอฉ. ซึ่งเข้าข่ายต้องถูกตั้งข้อกล่าวหาด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่มีความชอบธรรม ซึ่งแกนนำ นปช.นั้นเห็นตรงกันว่านายสุเทพต้องไปมอบตัวที่กองปราบปรามเท่านั้นทาง นปช.จึงจะมีการยุติการชุมนุม
นายขวัญชัย ไพรพนา แกนนำคนรักอุดร แนวร่วมเสื้อแดง กล่าวว่า หากไม่มีปัญหาก็จะกลับได้ในวันพุธนี้ แต่ก็ต้องรอให้นายสุเทพไปมอบตัวกับกองปราบฯ ก่อน เพราะประชาชนมาแล้วก็ต้องมีอะไรติดมือกลับไปบ้าง และก่อนที่จะแยกย้ายกันกลับก็ต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะแกนนำมีชนักปักหลังอยู่ ถ้าไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เราจะไม่มีความปลอดภัยอีก
นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง แกนนำ นปช. กล่าวว่า ชัยชนะขณะนี้ได้แค่ 50 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นชัยชนะของประเทศ นายสุเทพต้องไปรับทราบข้อกล่าวหากับทุกโรงพักที่ญาติผู้เสียชีวิต 21 คนและอีกเกือบพันรายที่ได้รับบาดเจ็บไปแจ้งความ และต้องขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศด้วย ส่วนตนจะไม่ไปมอบตัวต่อตำรวจก่อน เพราะหลังการชุมนุมเสร็จสิ้นลงแล้วตนจะบวช 19 วัน
สำหรับบรรยากาศการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ แกนนำได้ส่งสัญญาณให้ผู้ปราศรัยบนเวทีลดความดุเดือดในการปราศรัยลง ไม่ให้มีการเรียกผู้ชุมนุมเข้ามาสมทบ เพื่อเตรียมพร้อมที่จะสลายตัวและคืนพื้นที่แยกราชประสงค์ให้กับ กทม. โดยให้เพิ่มกิจกรรมภาคบันเทิงให้มากขึ้น แกนนำ นปช.รายหนึ่งบอกว่า หลังจากนี้เวทีปราศรัยต้องปรับตัวเข้าสู่โหมดการปรองดอง จึงต้องกำชับผู้ปราศรัยไม่ให้ปราศรัยโจมตีหนักหน่วงเหมือนที่ผ่านมา เพื่อไม่ให้เป็นการปลุกเร้ามวลชนสวนทางกับแนวทางปรองดอง
ทั้งนี้ ยอมรับว่ามวลชนจำนวนหนึ่งเดินทางกลับไปแล้ว แต่ส่วนใหญ่ก็จะแยกย้ายกลับหลังจากแกนนำประกาศยุติการชุมนุม ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นภายในวันที่ 12-13 พฤษภาคมนี้
"แกนนำแดง"เล่นแง่ชุมนุมต่อ อย่างไรก็ตาม ช่วงเย็น แกนนำ นปช.มีมติไม่ยอมรับการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาของนายสุเทพต่อดีเอสไอ โดยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. แถลงว่า การที่นายสุเทพไปดีเอสไอนั้นไม่สามารถอธิบายได้ว่าเป็นการนับหนึ่งเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะนายสุเทพไปดีเอสไอไม่ได้ไปในฐานะผู้ต้องหา แต่ไปลงนามเพื่อรับทราบข้อกล่าวโทษร้องทุกข์ เป็นเพียงการตรวจเยี่ยมราชการของรองนายกฯ เราต้องการรูปธรรมในการปฏิบัติเพื่อให้เป็นการเดินหน้าคดีประวัติศาสตร์คดีแรกของประเทศไทย
นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ด้วยเหตุผลของข้อกฎหมายเรามิอาจยอมรับได้ว่านายสุเทพเป็นผู้ต้องหาดีเอสไอ เพราะทุกคดีที่ดีเอสไอจะสามารถดำเนินการได้ในฐานะเจ้าหน้าที่เมื่อคดีดังกล่าวต้องผ่านมติคณะกรรมการคดีพิเศษ ซึ่งมีการประกาศขั้นตอนเอาไว้ในประกาศกรมสอบสวนคดีพิเศษ และมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 127 ตอนพิเศษ 53 ง. เมื่อวันที่ 28 เมษายน แต่คดีที่ประชาชนเข้าไปร้องทุกข์นายสุเทพในข้อหาสั่งฆ่าประชาชนยังไม่อยู่ในคดีพิเศษ ดังนั้น ดีเอสไอไม่มีหน้าที่ในการสอบสวนคดีนี้แต่อย่างใด
"ขอประกาศให้ประเทศไทยเป็นพยาน ว่าถ้านายสุเทพมีความตรงไปตรงมาเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม คนเสื้อแดงมีความเป็นลูกผู้ชายและมีศักดิ์ศรีที่พร้อมจะประกาศยุติการชุมนุม นายสุเทพไปวันไหน เราประกาศยุติการชุมนุมวันนั้น นายสุเทพไม่ประกาศเราก็ไม่ไปเช่นเดียวกัน ส่วนข้อเรียกร้องอื่น ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจที่จะสร้างการปรองดอง พีเพิลแชนแนลต้องมีการออกอากาศ เรามั่นใจเช่นนั้น ขณะเดียวกันการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องอื่นๆ เมื่อมีประชาชนเป็นสักขีพยานรัฐบาลคงไม่บิดพลิ้ว" นายณัฐวุฒิกล่าว
นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. กล่าวว่า ขณะนี้ดีเอสไอยังไม่มีอำนาจสอบสวนนายสุเทพและนายอภิสิทธิ์ เพราะยังไม่ใช่คดีพิเศษ ซึ่งปัจจุบันดีเอสไอรับมาพิจารณา 5 คดี คือ 1.คดีก่อการร้าย 2.คดีการครอบครองอาวุธยุทธภัณฑ์ 3.การทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ 4.การบังคับให้รัฐบาลจำยอม 5.คดีล้มสถาบัน ซึ่งการไปดีเอสไอของนายสุเทพจึงไม่ใช่ในฐานะผู้ต้องหา
ทั้งนี้ ดีเอสไอต้องนำคดีการสั่งทำร้ายประชาชนเสนอต่อคณะกรรมการคดีพิเศษเพื่อให้มีมติรับคดีดังกล่าวและดำเนินการสอบสวน ขณะเดียวกันพนักงานสอบสวนคดีพิเศษต้องแจ้งข้อกล่าวหากับทั้ง 2 คนเพื่อให้ตกอยู่ในฐานะผู้ต้องหาก่อน จากนั้นจึงให้ทั้ง 2 คนรับข้อกล่าวหาและต้องเข้ามามอบตัวตามที่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษเอาไว้
"นอกจากนี้ หากมีการให้ประกันตัวนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ แกนนำ นปช.ก็ต้องได้รับการประกันตัว แต่ถ้านายอภิสิทธิ์และนายสุเทพไม่ได้รับการประกันตัว พวกผมจะไม่มีการขอประกันตัว เพื่อให้เกิดความเสมอภาคกัน หากทำได้ทั้งหมดนี้ นปช.พร้อมจะสลายตัว" นายจตุพรกล่าว และว่า สำหรับนายอภิสิทธิ์ ในฐานะเป็น ส.ส. ถือว่ายังได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครอง แต่เมื่อสิ้นสุดสมัยประชุมรัฐสภาเมื่อไหร่ ก็ต้องไปมอบตัวในคดีสั่งทำร้ายประชาชนเช่นเดียวกัน
มีรายงานข่าวจากแกนนำ นปช.ว่า หลังจากอภิสิทธิ์เสนอแนวทางปรองดองโดยเบื้องต้นได้ยอมรับในหลักการประเด็นยุบสภา แต่ยังติดขัดประเด็นคดีความที่ยังมีการต่อรองไปมา เช่น ยื่นเงื่อนไขกลับไปยังนายกฯ และนายสุเทพ ที่คนเสื้อแดงเชื่อว่าเป็นผู้สั่งการต้องเข้ามอบตัวต่อตำรวจก่อนหากได้รับหรือไม่ได้รับการประกันตัว ก็ต้องเป็นเงื่อนไขเดียวกันเท่านั้น เลยเป็นที่มาที่ทำให้คนเสื้อแดงยังไม่มีทีท่าชัดเจนประกาศยุติการชุมนุมเมื่อใด
เสธ.แดงขู่ใครเลิกเป็น"ศพ" อย่างไรก็ดี แนวทางที่รัฐบาลหยิบยื่นมานั้น แกนนำคนเสื้อแดงมีทั้งเสียงตอบรับ โดยเฉพาะนายวีระ ส่วนที่คัดค้านคือ พล.ต.ขัตติยะและแนวร่วมสายฮาร์ดคอร์บางส่วน ถึงกับมีข่าวสะพัดว่า "เมื่อไม่นานมานี้ เสธ.แดงได้พบปะ 3 เกลอ และถลกเสื้อโชว์ปืน ขู่ไม่ให้ 3 เกลอถอนตัว พร้อมกับพูดจาด้วยถ้อยคำรุนแรงถึงขั้นว่า พวกมึงออกจากเวทีเมื่อไหร่เป็นศพแน่"
รายงานระบุว่า ที่ผ่านมานายวีระได้เจรจาทางลับกับตัวแทนรัฐบาล ทั้งนายกอร์ปศักดิ์ และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. เพื่อหาข้อยุติในแนวทางปรองดอง ที่ไม่ต้องการให้มีการสูญเสียอีก โดยนายวีระได้รับปากเป็นการภายในว่าจะสลายการชุมนุมแน่นอน แต่ไม่มีท่าทีชัดเจนจากแกนนำคนอื่นๆ ทำให้นายวีระลำบากใจ เพราะตกปากรับคำกับทางฝ่ายรัฐบาลไว้มาก จึงลดบทบาทและมีกระแสข่าวว่าอาจจะขอถอนตัว
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นแนวร่วม 2 ขา เสื้อแดง-เพื่อไทย เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าการที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เข้ามาร่วมงานพรรคเพื่อไทยอีกครั้งในตำแหน่งประธานพรรค นายวีระเป็นผู้ประสานงานหลัก ในเงื่อนไขช่วงนั้นมีการสัญญาใจให้ พล.อ.ชวลิตเป็นหัวหน้าพรรคสู้ศึกเลือกตั้ง หากชนะก็จะได้เป็นนายกฯ แต่ต่อมามีการเปลี่ยนแนวคิด โดยจะเสนอให้นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เป็นตัวนำหรือให้เป็นนายกฯ แทน
"แม้ปัจจุบันนายจาตุรนต์จะยังติดโทษการเมือง 5 ปี แต่หนึ่งในเงื่อนไขที่นายอภิสิทธิ์หยิบยกมานั้น มีเรื่องการนิรโทษกรรมผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองรวมอยู่ด้วย หากมีการผลักดันเป็นผลสำเร็จก่อนการเลือกตั้ง ก็จะทำให้อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยพ้นโทษแบนทันที แต่ในสายของนายวีระ ต้องการผลักดัน พล.อ.ชวลิต จึงทำให้นายวีระไม่พอใจอย่างมาก จึงถอยห่างจากคนเสื้อแดงและแนวร่วมมาได้ 2-3 วันแล้ว" แหล่งข่าวกล่าวอ้าง
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่ต้องคิดต่อกรณีของนายจาตุรนต์ หากมีการนิรโทษกรรมจริง จะทันการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายนหรือไม่ เพราะตามรัฐธรรมนูญต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วัน
นายจรัล ดิษฐาอภิชัย แกนนำเสื้อแดง ให้สัมภาษณ์นิวยอร์กไทม์ว่า แกนนำคนเสื้อแดงมีความคิดเห็นที่แตกแยกกันจริง บางส่วนอยากจบ บางส่วนอยากชุมนุมต่อ โดยมีนักการทูตหลายประเทศเข้ามาพบและแนะให้เลิกชุมนุมไปเสีย ซึ่งในนั้นมีทั้งจากสหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย
วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีรายงานแจ้งว่าในการประชุม ครม. นายอภิสิทธิ์ได้หยิบยกเรื่องการดำเนินการตามแผนการปรองดอง 5 ข้อ และการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงมาหารือ โดยนายกฯ ได้สอบถาม ครม.ให้ช่วยกันแสดงความคิดเห็นว่า ถ้ากลุ่มคนเสื้อแดงไม่ยุติการชุมนุมแล้วจะทำอย่างไรต่อไป การยุบสภาจะยังคงมีต่อไปหรือไม่
ครม.ถกแผนจัดการ"แดง" รายงานข่าวแจ้งว่า รัฐมนตรีส่วนใหญ่ได้แสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ว่าถ้ากลุ่มคนเสื้อแดงไม่ยอมเข้าร่วมกระบวนการปรองดอง รัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องทำตามข้อเสนอ การยุบสภาก็ถือว่าเลิกแล้วต่อกันไป อาทิ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, นายชุมพล ศิลปอาชา และนายสุเทพ เป็นต้น
นายไตรรงค์ระบุว่า ถ้ากลุ่มคนเสื้อแดงไม่ยอมตอบรับทำตามข้อเสนอในโรดแม็พ ทางรัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องไปทำตามโรดแม็พที่เสนอเช่นกัน ไม่จำเป็นต้องไปยุบสภาและกำหนดเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 14 พฤศจิกายน
นายสุเทพกล่าวว่า ถ้าฝ่ายผู้ชุมนุมเขาไม่พูดให้ชัดเจนว่าจะทำอะไรอย่างไรให้ชัดเจน เราก็ไม่จำเป็นต้องไปบอกว่าจะทำอะไรที่ชัดเจนออกไป ถ้านายกฯ ไม่แสดงความชัดเจน ทางฝ่ายโน้นก็ปวดหัวกันไปเอง ขอให้ ครม.รับทราบกันไว้ เพื่อจะได้ตอบให้เป็นไปในทางทิศทางเดียวกัน
ตอนหนึ่งนายสุเทพยังได้กล่าวติดตลกกับ ครม.ด้วยว่า "เมื่อช่วงเช้าผมเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษมาแล้ว แต่ผมไม่ได้ซัดทอดใครนะ" ทำให้ ครม.ต่างส่งเสียงหัวเราะไปตามๆ กัน
แหล่งข่างอ้างคำพูดของนายกฯ ในห้องประชุม ครม.ว่า "แผนปรองดองเราก็เดินหน้าต่อไป แต่ถ้าม็อบยังไม่ยุติการชุมนุม ก็จะต้องมีมาตรการหลายอย่างที่ต้องทำกันต่อไป โดยทำเป็นแผนระยะสั้นแบบชั่วคราว อาจจะต้องรบกวนให้รัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรบกวนให้ช่วยกันไปชี้แจงกับประชาชนในบริเวณพื้นที่การชุมนุมและใกล้เคียง โดยขอความร่วมมือว่าอาจต้องเดือดร้อนกันมากขึ้นเป็นการชั่วคราว เพราะอาจจะต้องมีการตัดน้ำตัดไฟ หรือต้องอพยพคนในบริเวณนั้นออกมา และใกล้ที่จะเปิดเทอมแล้ว"
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมสภาถึงการดำเนินการตามแผนปรองดองว่า อยากย้ำว่าตั้งแต่ที่ตนประกาศแผนปรองดองมา ได้พูดตั้งแต่ต้นว่าไม่มีการเจรจาต่อรองอะไร หลายเรื่องซึ่งผู้ชุมนุมพูดมา มีคำตอบอยู่ในแผนอยู่แล้ว เช่น เรื่องพีทีวี ตนก็บอกตั้งแต่ต้นว่าชัดเจนอยู่แล้วว่ามีกลไกดูแลก่อนว่าเรื่องการใช้สื่อในลักษณะที่กระทบต่อความปรองดอง สร้างความเกลียดชังปลุกระดม เราต้องมีกลไกที่ชัดก่อนที่จะให้ฝ่ายต่างๆ ดำเนินการไปได้
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า แล้วเรื่องที่มาพูดเรื่องเงื่อนไขที่ว่าให้รองนายกฯ สุเทพ หรือตนไปมอบตัว เพราะตนบอกแล้วว่าในเหตุการณ์ เรามีคณะกรรมการอิสระเข้ามาสอบสวนเหตุการณ์ แต่กรณีที่นายสุเทพเดินทางไปดีเอสไอเมื่อเช้าที่ผ่านมา ท่านไม่ได้ไปมอบตัว ท่านต้องการแสดงเจตนาว่าฝ่ายรัฐบาลพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
"วันนี้จะให้รองฯ สุเทพไปมอบตัวที่ไหนก็ไม่ได้ เพราะไม่มีหมายจับที่ไหน เพราะฉะนั้นเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่ประเด็น ประเด็นอยู่ที่ว่าผู้ชุมนุมอยากจะเข้ากระบวนการปรองดอง ตอบรับเข้าสู่กระบวนการ เข้าสู่เงื่อนไขวันเลือกตั้งไม่ได้ ต้องเลิกการชุมนุม เพราะฉะนั้นเอาประเด็นเล็กประเด็นน้อยขึ้นมามันไม่จบ เพราะรัฐบาลไม่มีต่อรอง รับก็รับ ไม่รับก็ไม่รับ แล้วรับหรือไม่รับให้ตอบด้วยการกระทำ เวลานี้พี่น้องประชาชนเดือดร้อนมากพอแล้ว ความอดทนของประชาชนกลุ่มอื่นๆ ก็ลดลงมาก ความเสี่ยงต่อการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นทั้งในพื้นที่การชุมนุมและนอกพื้นที่การชุมนุมก็มีมากทุกวัน ไม่มีประโยชน์อะไรกับใครเลยที่จะมายื้อเวลาในลักษณะอย่างนี้ ผมคิดว่าถ้าไม่ตอบรับก็บอกมาเลยว่าไม่ตอบรับ" นายอภิสิทธิ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่มผู้ชุมนุมตอบรับแผนปรองดองแต่ยื้อเวลา นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า "ไม่มีแล้วครับ ผมถือว่าการไม่ยุติการชุมนุมคือการไม่ตอบรับ และวันนี้ ครม.มีการรับทราบสถานการณ์และรับทราบความจำเป็นของฝ่ายความมั่นคงที่ต้องดำเนินมาตรการต่อไป ซึ่งต้องกระทบต่อประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ไม่เฉพาะผู้ชุมนุม แต่คนที่ทำงาน ผู้อยู่อาศัย เราเตรียมแผนและต้องขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนว่าอาจจะต้องได้รับความเดือดร้อนมากขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ และจำเป็นต้องเตือนทุกฝ่าย
"สิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อคืนความเป็นปกติให้กับสังคมนั้นต้องทำอย่างเร่งด่วน อยากให้ผู้ชุมนุมแสดงออกเสียเลย วันพรุ่งนี้ (วันที่ 12 พฤษภาคม) ก็กลับบ้านกันเสีย ถ้ามีความจริงใจกับกระบวนการปรองดอง เพราะแผนการปรองดองผมเดินหน้าทุกเรื่อง วันนี้ ครม.อนุมัติกรอบการทำสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย มีการอนุมัติงบประมาณให้ทางสภาพัฒน์ ในนามมูลนิธิเข้าไปดำเนินการ แผนเรื่องสื่อก็หารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง แผนด้านการเมืองก็ให้สถาบันพระปกเกล้าเข้ามามีบทบาท ทุกเรื่องเดินไปข้างหน้าทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นขอให้ยุติการชุมนุมซะ" นายอภิสิทธิ์กล่าว
ถามว่า การตัดสินใจของภาครัฐในการเข้าไปจัดการพื้นที่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนถือว่าภาครัฐมีความชอบธรรมทุกประการ มีความจำเป็นในการให้เกิดความมั่นคงเป็นปกติ ถามว่าสิ่งที่นายกฯ ระบุหมายถึงการสลายการชุมนุมใช่หรือไม่ นายกฯ ตอบว่า มันคงจะเริ่มจากมาตรการจะต้องกระทบกระเทือนต่อพื้นที่
เมื่อซักว่า อย่างไรที่บอกว่าประชาชนจะเดือดร้อนสักระยะ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การใช้ชีวิตข้างในที่ชุมนุม ต้องมีการดำเนินมาตรการหลายอย่าง ทาง ศอฉ.จะเป็นผู้แถลง ทั้งนี้ฝ่ายความมั่นคงเตรียมการมาโดยตลอด แต่ฝ่ายผู้ชุมนุมได้ใช้เวลามามากกว่า 1 สัปดาห์ในการตอบรับแผนปรองดอง ตนถือว่าแผนปรองดอง 5 ข้อต้องเดินต่อ แต่เหตุการณ์บ้านเมืองไม่สงบก็กระทบต่อการเลือกตั้ง ควรจะกลับบ้านภายในวันพุธนี้
รายงานแจ้งด้วยว่า ช่างห้าโมงเย็น ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) นายสุเทพ ในฐานะ ผอ.ศอฉ. ได้เป็นประธานประชุม ศอฉ. โดยมี พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ, พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาราชการตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ, นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และหน่วยงานด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง ร่วมในที่ประชุม
แหล่งข่าวระบุว่า ศอฉ.ได้มีการสรุปสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ โดยเฉพาะการประเมินท่าทีของกลุ่มคนเสื้อแดงหลังจากที่นายอภิสิทธิ์เสนอแนวทางปรองดองตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม ซึ่งทาง ศอฉ.จะรอดูท่าทีของกลุ่มคนเสื้อแดงในวันพุธนี้อีก 1 วันเท่านั้น
"หากยังไม่มีการยุติการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ ทาง ศอฉ.ก็คงจะใช้มาตรการกดดันให้กลุ่มคนเสื้อแดงออกนอกพื้นที่ให้เร็วที่สุด เนื่องจากสัปดาห์หน้าโรงเรียนในพื้นที่เขต กทม. จะเปิดภาคเรียนหมดแล้ว จะยิ่งทำให้เกิดผลกระทบมากยิ่งขึ้น" แหล่งข่าวระบุ
ปู
ดฆ่า"ณัฐวุฒิ"ปลุกแดงรอบ 2 ด้านท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลต่อแนวทางปรองดองของนายอภิสิทธิ์นั้น แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเผยถึงการประชุมพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อวันจันทร์ว่า ที่ประชุมให้การสนับสนุนรัฐบาลเต็มที่ โดยเฉพาะแผนปรองดองทั้ง 5 ข้อ ส่วนเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่นายกฯ ให้คำมั่นสัญญาที่จะแก้ไขในเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง และมาตรา 190 ที่จำเป็นต้องแก้ไขเพราะประเทศเดินไม่ได้
นอกจากนี้ แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลได้มีการประเมินสถานการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดงว่าสัปดาห์นี้จะเป็นจุดล่อแหลมที่สุด เนื่องจากขณะนี้แกนนำสายอหิงสา เช่น นายวีระ, นายณัฐวุฒิ, นพ.เหวง, นายจรัล ดิษฐาอภิชัย ต้องการจะหาทางลงแล้ว แต่ติดปัญหาที่แกนนำสายฮาร์ดคอร์ อาทิ พล.ต.ขัตติยะ นายอริสมันต์ ที่ไม่ต้องการให้จบ เพราะที่ผ่านมามีพฤติกรรมไปทำคนอื่นไว้เยอะ ทำให้ถูกจองกฐินจากหลายฝ่าย อาจเป็นการร่วมลงขันกันจัดการแกนนำกลุ่มฮาร์ดคอร์
"ดังนั้นให้จับตาว่าภายในสัปดาห์นี้ แกนนำกลุ่มฮาร์ดคอร์อาจไปฆ่าแกนนำสายอหิงสา อาทิ นายณัฐวุฒิ เพื่อให้การชุมนุมไม่จบ เพื่อให้เสื้อแดงกลุ่มฮาร์ดคอมีแนวทางป้องกันตัวเองต่อไป" แหล่งข่าวอ้าง
ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยมีนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ก่อนเข้าระเบียบวาระการประชุมได้เปิดโอกาสให้หารือ โดยคณะกรรมการประสานงานทั้ง 3 ฝ่าย ได้แสดงความเห็นต่อสถานการณ์ความขัดแย้ง
นายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย ประธานวิปฝ่ายค้าน ได้เสนอโรดแม็พฉบับพรรคเพื่อไทยต่อที่ประชุมรัฐสภานำเสนอแผน 3 ขั้นตอน 1.ขอให้รัฐสภาเป็นผู้ดำเนินการเสนอโรดแม็พแทนรัฐบาล โดยมีสาระสำคัญคือ จะต้องให้ความขัดแย้งของสังคมยุติโดยเร็วที่สุด เพื่อนำประเทศชาติเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย และรัฐสภาจะต้องเป็นตัวกลางที่คุยกับทั้ง 2 ฝ่ายทั้ง นปช.และรัฐบาล เพื่อแก้ข้อวิตกกังวลที่ทั้ง 2 ฝ่ายมี
2.ให้มีการกำหนดยุบสภาและวันเลือกตั้งให้ชัดเจนโดยเร็วที่สุด เพื่อให้บ้านเมือง ประเทศชาติ พ้นภาวะความอึมครึมโดยเร็วที่สุด 3.ให้พัฒนาโรดแม็พให้เป็นสัญญาประชาคมโดยให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม โดยจะขอให้ที่ประชุมตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งจะเป็นผู้รับฟังความเห็นและสรุปให้เสร็จโดยเร็วในเวลากำหนด
นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอของสมาชิก ถ้าเริ่มจากการหันหน้าเข้าหากันสังคมก็เห็นด้วย แต่บรรยากาศนอกสภาต้องเย็นลงและมีท่าทีที่ปรึกษาหารือ จะทำให้ท่าทีในสภามีบรรยากาศที่ดีขึ้น ส่วนจะเป็นจริงได้หรือไม่ อยู่ที่วิถีปฏิบัติว่าพวกเราตั้งใจเดินไปสู่จุดนั้นหรือไม่.
http://www.thaipost.net/news/120510/22089