ขอยกคอลัมม์ "ถูกทุกข้อ" ของสามวา สองศอก ที่เกี่ยวเนื่องกับ ราชาภิเษกสมรส ขึ้นมาก่อน พร้อมๆกับความรู้เรื่อง"เพลงมหาจุฬาลงกรณ์"
ราชาภิเษกสมรสถูกทุกข้อ 28 เมษายน 2553 - 00:00 เรียน คุณสามวา สองศอก
"ความรักในเพลงพระราชนิพนธ์" ผมเขียนร่วมกับ น.ท.หญิงสุมาลี วีระวงศ์ โดยมีเจตนาจะร่วมฉลองในโอกาส 60 ปี ราชาภิเษกสมรส 28 เมษายนนี้
จึงเรียนมาเพื่อกรุณาพิจารณานำไปดำเนินการขยายผลตามที่เห็นสมควร
ขอแสดงความนับถือ
พ.อ.วัชระ วีระวงศ์
ความรักในเพลงพระราชนิพนธ์
รักพาใจให้เป็นสุข บทเพลงพระราชนิพนธ์ทุกบทเพลงมีความรักเป็นแก่นสาร เผื่อแผ่ความสุข ความปรารถนาดีให้ด้วยไมตรีจิต มิตรภาพ สานสายใยสู่บุคคล สถาบัน สังคม ประเทศชาติ และครอบคลุมถึงธรรมชาติ อันเป็นพื้นฐานสำคัญของโลกและชีวิต
ความรักในเพลงพระราชนิพนธ์ค่อยๆ เบ่งบานขยายจากจุดเล็กๆ ไปสู่มุมมองที่กว้างขวาง เช่นเดียวกับพระเมตตาที่แผ่ออกไปสุดจะประมาณได้
เพลงพระราชนิพนธ์ระยะแรกที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง ขณะประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตั้งแต่ พ.ศ.2489 แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริทรงนิพนธ์คำร้อง ได้แก่
"ดวงใจกับความรัก" เสนอมุมมองเกี่ยวกับความรักที่สมหวัง สดใส โดยสัมพันธ์กับความงาม และคุณค่าของธรรมชาติ อีกทั้งความตระหนักรู้ว่า สรรพสิ่งที่ประกอบเป็นความงาม ความดี ล้วนมีความรักเป็นแกน
"...ตะวันนั้นเหมือนดังดวงใจ
หากสิ้นแสงไปรักคลาย
ขาดความรักเหมือนชีวาวาย
จะเป็นหรือตายทั้งใจและกายไม่วายโศกโทรม"
"เทวาพาคู่ขวัญ" (พ.ศ.2491) ชี้ให้เห็นแง่งามบรรเจิดของชีวิต และคุณค่าของความรัก
"...โลกนั้นดังเมืองสวรรค์เทวัญสร้างไว้
พิศดูเป็นคู่ทุกสิ่งล้วนมีรักจริงยิ่งใหญ่
อันธรรมชาติไซร้ ใช้แรงความรักความใคร่
ย้อมชีวิตให้ยืนยง..."
"อาทิตย์อับแสง" (พ.ศ.2491) แสดงความรู้สึกห่วงใย อาลัยหาคนรักยามไกลกัน เป็นเพลงหวานแกมเศร้า
"...ทิวาทราม ยามห่างดวงกมล
สุริยาหมองหม่น ปวงชีวิตอับจนเสื่อมทราม
หวังคอย คอยเฝ้าโมงยาม
จวบจนทิวาเรืองงาม สบความรักยามคืนคง"
น่าสังเกตว่าเพลงพระราชนิพนธ์ที่กล่าวมา ล้วนมีสาระเกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติทั้งสิ้น ระยะต่อมาเพลงเกี่ยวกับความรักได้แสดงให้เห็นว่า ความผันแปรของธรรมชาติส่งผลต่ออารมณ์คนได้มาก เช่น เพลงยามเย็น (พ.ศ.2489) ลมหนาว (พ.ศ.2497) เป็นต้น
"ยามเย็น" ให้ความรู้สึกหวานแกมเศร้า โดยเฉพาะเมื่อตะวันโรยแสงลง ในขณะที่จิตใจห่วงถึงคนรักและความรัก
"แดดรอนๆ
เมื่อทินกรจะลาโลกไปไกล
ยามนี้จำต้องพรากจากดวงใจ
ไกลแสนไกลสุดห่วงยอดดวงตา..."
"แดดรอนๆ
หากทินกรจะลาโลกไปไกล
ความรักเราอยู่คู่กันไป
ในหัวใจคงอยู่คู่เชยชม"
แต่ "ลมหนาว" ตอนต้นให้ความรู้สึกเบิกบาน โดยเฉพาะในยามที่ใจเป็นสุข เต็มเปี่ยมด้วยรัก
"...ยามลมหนาวพัดโบกโบยโชยชื่น
เหล่าสกุณร้องรื่นรมย์
หมู่ดอกไม้ชวนภมรร่อนชม
ช่างสุขสมเพลินตาน่าดูใจ
โอ้รักเจ้าเอ๋ยยามรักสมดังฤทัย
พิศดูสิ่งใดก็แลวิไลแจ่มใสครัน
อันความรักมักจะพาใจฝัน
เมื่อรักนั้นสุขสมจิตปอง..."
ความรู้สึกรื่นรมย์ดังกล่าว ก็แปรเปลี่ยนเป็นเศร้าหมองในท่อนหลัง
"...ยามลมฝนพัดโบกโบยกระหน่ำ
หยดหยาดนำน้ำหลั่งนอง
ผึ้งคู่ทั้งวิหคเหงาเศร้าหมอง
เกลื่อนกลาดผองมาลีร่วงโรยลงดิน
เหมือนรักผิดหวัง
เปรียบดังหัวใจพังภินท์
น้ำตาหลั่งรินและลามไหลเพียงหยดฝนปราย
อันความรักมักไม่เป็นดังหมาย ตราบวันตายขมขื่นเอย"
ลมหนาว-ลมฝน สองบรรยากาศที่แตกต่างในบทเพลง ให้ข้อคิดถึงความไม่เที่ยง ตามหลักธรรมะของพระพุทธศาสนา รวมทั้งสอดคล้องกับความผันแปรของภูมิอากาศในประเทศไทย ที่แตกต่างกับภูมิอากาศทางทวีปยุโรป ด้วยเหตุนี้เพลงลมหนาวภาคภาษาอังกฤษจึงต่างจากภาคภาษาไทย และใช้ชื่อว่า Love in Spring
เพลงพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับชีวิตรักในวัยครองเรือน ได้แก่ "เพลงค่ำแล้ว" (2498) ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริทรงประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษชื่อ Lullaby ร่วมกับศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา และโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ประพันธ์คำร้องภาษาไทย
เพลงนี้เป็นเพลงกล่อม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับสั่งว่า "ขณะทรงพระเยาว์ทรงฟังเพลงนี้ทีไรหลับทุกครั้ง"
"...รัตนตรัย ปวงเทวัญ
ดลบันดาล แต่ความชื่นบาน แสนสำราญนิรันดร์
อยู่ด้วยกัน เป็นมิ่งขวัญ อย่าห่างร้างแรมไกล
สุดรักเอย ตื่นได้เชยชมดวงใจ"
ความรักความผูกพันระหว่างพระมหากษัตริย์และอาณาประชาราษฎร์ ปรากฏชัดเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทาน "เพลงพรปีใหม่" เป็นมงคลชีวิตแก่พสกนิกรของพระองค์ ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ 2495
และเพลงพรปีใหม่ยังคงเป็นพรประเสริฐ ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ทุกปีอย่างต่อเนื่อง เพราะทุกคนก็ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ
"สวัสดีวันปีใหม่พา ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์
ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม ต่างสุขสมนิยมยินดี
ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า ให้บรรดาปวงท่านสุขศรี
โปรดประทานพรโดยปรานี ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย
ให้บรรดาปวงท่านสุขสันต์ ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมฤทัย
ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่ ผองชาวไทยจงสวัสดี
ตลอดปีจงมีสุขใจ ตลอดไปนับแต่บัดนี้
ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์ สวัสดีวันปีใหม่เทอญ"
เพลงพระราชนิพนธ์ที่เกี่ยวกับความรักความสามัคคีในหมู่คณะ เริ่มจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ขอพระราชทานเพลงมหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ.2492 จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานทำนองที่ทรงคิดให้นำไปใส่คำร้อง ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา กับนายสุภร ผลชีวิน ได้ประพันธ์คำร้องขึ้นถวาย คือเพลง "มหาจุฬาลงกรณ์"
น้ำใจน้องพี่สีชมพู ทุกคนไม่รู้ลืมบูชา
พระคุณของแหล่งเรียนมา จุฬาลงกรณ์
ขอทูนขอเทิดพระนามไท พระคุณแนบไว้นิรันดร
ขอองค์พระเอื้ออาทร หลั่งพรคุ้มครอง
นิสิตพร้อมหน้า สัญญาประคอง
ความดีทุกอย่างต่างปอง ผยองพระเกียรติเกริกไกร
ขอตราพระเกี้ยวยั้งยืนยง นิสิตประสงค์เป็นธงชัย
ถาวรยศอยู่คู่ไทย เชิดชัยชโย
ถึงต้นปี 2497 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล นำทำนองเพลงมหาจุฬาลงกรณ์แนวสากลมาปรับแต่งให้เป็นแนวไทยเดิม เพื่อใช้บรรเลงดนตรีไทย มหาจุฬาลงกรณ์เป็นเพลงศักดิ์สิทธิ์ คู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาตราบถึงปัจจุบัน
ตอบ พ.อ.วัชระ
"ความรักในบทเพลงพระราชนิพนธ์" ที่คุณกับ น.ท.หญิงสุมาลี วีระวงศ์ ร่วมกันเขียน มีสาระที่ควรจะนำมาเผยแพร่ แต่เนื่องจากมีความยาวมาก ผมจึงขอตัดทอนเพียงแค่นี้ก่อน และจะหาโอกาสนำส่วนที่เหลือมาลงอีก
สามวา สองศอก
http://www.thaipost.net/news/280410/21425