วันนี้จึงเชิญชวนท่านให้ติดตามอ่านบทความของ นนทพร อยู่มั่งมี ที่ชื่อว่า "คดีไฟไหม้ในกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5 : ภาพสะท้อนวิถีชีวิตของราษฎร และการปกครองของรัฐสมัยใหม่" ในนิตยสาร "ศิลปวัฒนธรรม" ฉบับเดือนพฤษภาคมนี้
แสงสว่างจากไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ในยุคแรกๆ จำกัดเฉพาะการใช้งานของรัฐ กับบ้านของผู้มีฐานะที่ต้องซื้อหาอุปกรณ์และจ่ายค่าไฟในราคาสูง
เหตุเพลิงไหม้ในเวลานั้นมักจะเกิดจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไปเป็นส่วนใหญ่โดยพื้นที่ต้นเพลิงส่วนใหญ่คือ ห้องครัว เพราะต้องใช้ฟืนไฟเป็นองค์ประกอบหลัก ดังรายงานจากกองตระเวน โรงพักจักรวรรดิ เมื่อ พ.ศ.2450 บันทึกว่า
"ครั้นเมื่อทำการหุงต้มเสร็จแล้ว อำแดงเปลี่ยนได้ดับเพลิงที่เตาเอาถ่านที่ดับแล้วใส่ลงในหม้อมีฝาไม้ปิดเอาถ่านวางลงไว้ที่ข้างฝาครัวไฟแล้วใส่กุญแจห้องครัวไว้ตัวอำแดงเปลี่ยนรับใช้การงานในตึกพระยานรฤทธิ์ เพลิงในหม้อถ่านดับยังไม่สนิดดีลุกติดลามหม้อเลยคุไหม้ฝากระดานไม้สิงคโปร์ในครัวไฟเพลิงลุกลามขึ้น"
การใช้แสงสว่างจากดวงจันทร์ข้างขึ้นไม่ว่าจะเป็นการแสดงมหรสพที่จะเปิดการแสดงเฉพาะข้างขึ้นตั้งแต่วันขึ้น 8 ค่ำเป็นต้นไปพอถึงข้างแรมก็งดการแสดง
ส่วนไฟฟ้าส่องสว่างบนถนนจะขึงสายไฟตัดข้ามถนนเป็นระยะ แล้วแขวนดวงโคมไฟฟ้าห้อยติดไว้กลางถนน บ้านเรือนที่ติดไฟฟ้าส่องสว่างขนาด 10 แรงเทียน ประมาณ 1-2 ดวง ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนั้นจะเปิดเฉพาะข้างแรม พอเป็นข้างขึ้นก็อาศัยแสงสว่างธรรมชาติจากดวงจันทร์
(บน) ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกรมกองตระเวน หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเหตุเพลิงในกรุงเทพฯ ประทับนั่งเก้าอี้ที่ห้าจากซ้าย คือ กรมหมื่นนเรศวรฤทธ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาล ชาวตะวันตกซ้ายมือ คือ มิสเตอร์ เอ เย เอ ยาร์ดิน เจ้ากรมกองตระเวน คนแรก (ล่าง) ตึกแถวสองฝั่งถนนที่สร้างและเลือกวัสดุในการก่อสร้างที่สะท้อนแนวคิดของรัฐและชนชั้นนำมีต่อการป้องกันเพลิงไหม้ สังเกต เสาชิงช้า
เชื้อเพลิงหลักที่ใช้ขณะนั้นคือ"น้ำมันมะพร้าว" แต่ไม่นานเทคโนโลยีใหม่ของโลกอย่าง "น้ำมันก๊าด" ที่เริ่มแพร่หลายเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศไทย ที่ทำให้เกิดเหตุเพลิงไหม้เพิ่มขึ้นในช่วงแรก เนื่องจากน้ำมันก๊าดไวไฟกว่าและผู้ใช้ยังไม่คุ้นเคย
ดังจะเห็นได้จากเหตุเพลิงไหม้ตึกแถวย่านถนนเฟื่องนคร เมื่อ พ.ศ.2450 ซึ่งรายงานโรงพักสำราญราษฎร์ บันทึกคำให้การอำแดงผาดเจ้าของตึก ไว้ว่า
"วันนี้เวลาบ่าย ๓ โมงอำแดงช่วยได้วานผู้มีชื่อคือนายเคล้าซึ่งอยู่ห้องเดียวกันไปซื้อตะเกียงแก้วตั้ง คือดวงที่ลุกขึ้นนี้ จากร้านสี่กั๊กเสาชิงช้า ครั้นเมื่อซื้อมาแล้ว นายเคล้าเปนผู้เติมน้ำมันในคืนวันเดียวกันนั้นเองเวลา ๒ ทุ่มเศษ
ข้าพเจ้าได้ลองจุดแล้วเอาไปตั้งริมฝา พอจุดขึ้นไฟในตะเกียงก็พุบขึ้นโคมแตกน้ำมันก็ไหลซึมไปตามพื้นไปอีกห้องหนึ่ง คือห้องของอำแดงเจิมไปลุกที่หมอน ๑ ใบ ที่นอนน้ำมันผ้าห่มปะลังเก้ด ๑ ผืน"
กรณีของอำแดงผาดเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในหลายกรณีที่เกิดเพลิงไหม้ขึ้นจากน้ำมันก๊าด นอกจากนี้ น้ำมันก๊าดยังเป็นเชื้อเพลิงที่คนร้ายส่วนใหญ่ใช้ในการลอบวางเพลิง เช่นคดีตัวอย่างจากบันทึกโรงพักสามแยก เมื่อ พ.ศ.2449 ว่า
นายอ่อนผู้ร้ายวางเพลิงบริเวณตรอกสวนผักกาดใกล้บ้านจีนล่ำซำถูกจับกุมขณะกำลังจุดไฟข้างบ้านจีนล่ำซำพร้อมหลักฐานทั้งขวดน้ำมันก๊าด ผ้าขี้ริ้ว กาบมะพร้าวชุบน้ำมันก๊าด และไม้ขีดไฟ
เมื่อสืบประวัตินายอ่อนรับจ้างทำนาอยู่คลอง 4 เมืองธัญญบุรี เข้ามากรุงเทพฯ ขาดแคลนทั้งทรัพย์สินและความสัมพันธ์ทางสังคม จึงเป็นแรงงานรับจ้างเพื่อหารายได้ อาศัยโรงบ่อนย่านบางรักและหัวลำโพงเป็นที่หลับนอน ทั้งนายอ่อนมีประวัติเคยถูกจับกุมมาก่อน
เหตุเพลิงไหม้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวข้างบนทำให้เห็นสภาพความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของผู้คนในยุคนั้น หากยังมีมุมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากเหตุเพลิงไหม้ เช่น การควบคุมการก่อสร้างบ้านเรือน, มาตรการดูแล เก็บรักษา และใช้เชื้อเพลิง, การทรงเจ้ากับเหตุเพลิงไหม้