เริง2520
|
|
« ตอบ #200 เมื่อ: 17 ตุลาคม 2557, 11:03:21 » |
|
วันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขึ้นครองราชสมบัติ จึงทรงย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีไปตั้ง ณ ฝั่งพระนคร ในระยะเวลาที่สร้างพระราชวังใหม่ยังไม่เรียบร้อย พระองค์ยังคงประทับที่พระราชวังเดิมประมาณ 2 เดือนเศษ เมื่อเสด็จไปประทับ ณ พระราชวังใหม่ พระราชวังเดิมจึงว่างลง แต่ยังคงเป็นสถานที่สำคัญ เพราะมีป้อมปราการสำหรับรักษาพระนคร (กรมยุทธศึกษาทหารเรือ, ม.ป.ป. : 15 )
พ.ศ.2328 ทรงให้รื้อป้อมวิไชเยนทร์ (ป้อมวิชเยนทร์) ฝั่งตะวันออกเพื่อขยายพระนคร
“ ลุศักราช 1147 ปีมเสงสับดศกนั้น ทรงพระกรุณาให้ตั้งกองศักเลขไพร่หลวงสมกำลังแลเลขหัวเมืองทั้งเดิมขึ้นศักหลังมือทั้งสิ้น แล้วให้เกณฑ์เลขหัวเมืองขึ้นทั้งไทยลาวเขมรทั้งปวง กับเลขไพร่หลวงสมกำลังเกณฑ์ทำอิฐจะก่อกำแพงสร้างพระนครใหม่ ให้รื้อป้อมวิไชเยนทร์แลกำแพงเมืองเก่าฟากตะวันออกเสีย ขยายพระนครให้กว้างออกไปกว่าเก่า ...” ( พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ภาค 3, ม.ป.ป. : 184) และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศร์บดินทร์ พระราชโอรสองค์กลางของสมเด็จพระพี่นางเธอพระองค์ใหญ่เสด็จไปประทับ ครั้นเจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศร์บดินทร์ สิ้นพระชนม์ (วันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 12 ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ.2328 ตรงกับวันที่ 18 กรกฎาคม 2328) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตั้งแต่ดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จไปประทับที่พระราชวังเดิม
พ.ศ.2347 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพ ณ พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี ในวันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2347 แต่เมื่อสมเด็จพระชนกนาถ ดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) และเจ้าฟ้าบุญรอด (สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี) (มหากษัตราธิราช : จากวันพระราชสมภพถึงสวรรคต, 2544 : 315)
และเมื่อ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรได้รับ พระราชทานอุปราชอภิเษกเป็นพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรฯ แล้ว ก็ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประทับอยู่ที่พระราชวังเดิมต่อมาจนสิ้นรัชกาลที่ 1 (วันจันทร์ เดือน 7 ขึ้น 7 ค่ำ ปีมะเมีย พ.ศ.2352 ตรงกับวันที่ 7 กันยายน 2352)
ในสมัยรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงพิทักษ์มนตรี เสด็จไปประทับที่พระราชวังเดิม ครั้นเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีสิ้นพระชนม์ (วันจันทร์ เดือน 7 ขึ้น 7 ค่ำ ปีมะเมีย พ.ศ.2365 ตรงกับวันที่ 27 พฤษภาคม 2365) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชวังเดิมให้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะนั้นดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ
ในรัชกาลที่ 3 ขณะที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผนวชอยู่ตลอดรัชกาลนั้น สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี (ทรงเฉลิมพระปรมาภิไธยเป็นกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรา มาตย์ในสมัยรัชกาลที่ 4) เสด็จออกไปประทับอยู่ที่พระราชวังเดิมพร้อมด้วยพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังทรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี เสด็จสวรรคตที่พระราชวังเดิมนั้น
|
|
|
|
|
|
เริง2520
|
|
« ตอบ #203 เมื่อ: 19 ตุลาคม 2557, 16:26:24 » |
|
|
|
|
|
|
|
เริง2520
|
|
« ตอบ #206 เมื่อ: 19 ตุลาคม 2557, 19:11:03 » |
|
|
|
|
|
|
เริง2520
|
|
« ตอบ #208 เมื่อ: 20 ตุลาคม 2557, 10:11:16 » |
|
จะพาชมอาคารนี้ต่อไป
|
|
|
|
|
Dtoy16
Hero Cmadong Member
ออฟไลน์
รุ่น: rcu2516
คณะ: อักษรศาสตร์
กระทู้: 1,424
|
|
« ตอบ #210 เมื่อ: 21 ตุลาคม 2557, 08:36:36 » |
|
ภาพสวยหาชมยากน่ะค่ะ น้องเริง ใกล้วันที่23ต.ค น้อมรำลึกถึงพระองค์ท่าน ไว้หา เวลาชื่นชมภาพเซตนี้ต่อ
|
|
|
|
เริง2520
|
|
« ตอบ #211 เมื่อ: 21 ตุลาคม 2557, 18:57:23 » |
|
ครับ พี่ต้อย
หอพระไตรปิฎกนี้ อยากจะนั่งชื่นชมสักครึ่งวัน
ข้อสังเกต เสาแนวกั้นระเบียง ในสมัยโบราณ ใครๆมาก็จับ มีรอยสึกหรอ ทองหายไปหมดแล้ว
|
|
|
|
|
|
เริง2520
|
|
« ตอบ #214 เมื่อ: 22 ตุลาคม 2557, 10:27:01 » |
|
๒๓ ตุลาคม เป็นวันปิยมหาราช
|
|
|
|
เริง2520
|
|
« ตอบ #215 เมื่อ: 22 ตุลาคม 2557, 10:42:29 » |
|
จดหมายฉบับที่ ๘
บ้านถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ วันที่ ๒๓ ตุลาคม ร.ศ. ๑๓๑
ถึง พ่อประดิษฐ์
ด้วยเมื่อศก ๑๒๓ ฉันไปตามเสด็จประพาสต้น ได้มีจดหมายเล่าเรื่องประพาสต้นครั้งนั้นไปยังพ่อประดิษฐ์เป็นจดหมาย ๗ ฉบับ จดหมายเรื่องนี้ได้ลงพิมพ์ในหนังสือทวีปัญญารายเดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน ร.ศ. ๑๒๕ เดือนละฉบับจนจบเรื่อง บัดนี้คิดจะรวมจดหมายเรื่องประพาสต้นเข้าพิมพ์เป็นเล่มเดียวกัน ฉันเที่ยวหาต้นฉบับทั้งที่ลงในหนังสือทวีปัญญา และที่มีต้นร่างอยู่รวบรวมได้จดหมายแต่ ๖ ฉบับ หาต้นฉบับไม่ได้จึงต้องมีจดหมายฉบับนี้มายังพ่อประดิษฐ์ ขอให้ช่วยค้นต้นฉบับจดหมายเหล่านั้น ถ้ายังมีอยู่ที่พ่อประดิษฐ์ ขอจงสงเคราะห์คัดสำเนาจดหมายฉบับที่ ๓ ทิ้งไปรษณีย์ส่งมาให้ด้วยถ้าได้สำเนาดังประสงค์ ฉันจะขอบคุณพ่อประดิษฐ์เป็นอันมาก
บางทีพ่อประดิษฐ์ได้เห็นจดหมายฉบับนี้ จะนึกฉงนว่าจดหมายเรื่องประพาสต้นก็ได้ลงพิมพ์เป็น ๕ -๖ ปีมาแล้ว เหตุใดจึงพึ่งจะมาคิดรวมเป็นเล่ม ต่อเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคตล่วงไปแล้ว คำอธิบายในข้อนี้ขอชี้แจงว่า เมื่อพิมพ์เรื่องประพาสต้นลงในหนังสือทวีปัญญารายเดือน ผู้อ่าน โดยเฉพาะผู้ที่ได้ตามเสด็จไปด้วยในคราวนั้น พากันชอบว่าเป็นหนังสืออ่านสนุกดี มีผู้อยากจะให้พิมพ์รวมเป็นเล่มแต่ครั้งนั้นแล้ว เพราะเรื่องประพาสต้นเป็นเรื่องที่สำหรับเล่ากันเล่นอยู่เรื่องหนึ่ง แต่ฉันไม่เห็นสาระพอถึงแก่ควรจะพิมพ์ใหม่ จึงได้เพิกเฉยเลยมา
ครั้นเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคตแล้ว เรื่องราวต่างๆในรัชกาลที่ ๕ กลายเป็นเรื่องเก่า "เมื่อกระนั้น" สำหรับชอบเล่าชอบคุยกัน เรื่องประพาสต้นนี้เป็นเรื่องหนึ่ง ซึ่งกลับเป็นเรื่องชอบเล่ากันขึ้น มีเพื่อนฝูงชักชวนให้พิมพ์รวมเป็นเรื่องขึ้นใหม่มากกว่าแต่ก่อน ฉันใคร่ควรดูมาคิดเห็นว่า เรื่องประพาสต้น แม้จดหมายเดิมแต่งเป็นเรื่องสำหรับอ่านเล่นสนุกๆก็จริง แต่ถ้าได้อ่านในเวลานี้โดยตั้งใจใคร่ครวญก็อาจจะแลเห็นความกว้างขวางออกไป เป็นต้นว่าเหตุใดสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงเป็นที่รักใคร่ของอาณาประชาราษฎรทั่วหน้า สมกับที่ได้ถวายพระนามจารึกไว้ในฐานพระบรมรูปทรงม้าว่า "ปิยมหาราชาธิราช" ที่จริงพระองค์ทรงรักใคร่ในไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน เหมือนกับบิดารักบุตร พอพระราชหฤทัยที่จะคุ้นเคยคบหา และถึงเล่นหัวกับอาณาประชาราษฎรโดยมิได้ถือพระองค์ ยกตัวอย่างดังจะเห็นได้ในเรื่องประพาสต้นนี้เป็นพยาน
การที่พระองค์ทรงสมาคมกับราษฎร ไม่ใช่สักแต่ว่าเพียงจะรู้จัก หรือสนทนาปราศรัยให้คุ้นเคยกันเท่านั้น ย่อมทรงเป็นพระราชธุระไต่ถามถึงความทุกข์สุข และความเดือดร้อนที่ได้รับจากผู้ปกครองอย่างใดๆบ้างทุกโอกาส ผู้ที่เคยตามเสด็จย่อมเคยได้ยินและทราบความอันนี้ ฉันได้เคยเห็นบางทีราษฎรกราบทูลร้องทุกข์ เป็นข้อความซึ่งทรงพระราชดำริเห็นว่า เป็นความทุกข์ร้อนจริงทรงรับธุระมาต่อว่าเอาเจ้าหน้าที่ตั้งแต่เสนาบดีลงมา ได้ความรำคาญใจหลายคราว บางทีถึงต้องผลัดเปลี่ยนพนักงานปกครองก็มีบ้าง เป็นเหตุให้การเสด็จประพาสเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ความสุขสำราญของราษฎรที่ได้อีกเป็นอันมาก ใช่แต่เท่านั้น บรรดาราษฎรที่ได้เสด็จไปทรงคุ้นเคย ในเวลาเสด็จประพาส พระองค์มิได้ทรงละลืม ในเวลาต่อมาเมื่อคนเหล่านั้นเข้ามากรุงเทพฯ จะเข้าเฝ้าแหนก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานโอกาสให้เข้าเฝ้าได้ตามความปรารถนา บางทีถึงรับสั่งให้เข้าไปรับพระราชทานเลี้ยงในพระราชวัง รับสั่งเรียกพวกที่คุ้นเคยเหล่านี้ว่า "เพื่อนต้น" มีอยู่ทั้งชายหญิงแทบทุกหัวเมืองที่ได้เสด็จประพาส เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรป ร.ศ. ๑๒๖ ได้ทรงหาของฝากมีไม้เท้าเป็นต้น เข้ามาฝากพวกเพื่อนต้น เมื่อพวกเหล่านี้ได้ข่าวว่าเสด็จกลับ เข้ามาเฝ้าเยี่ยมก็ได้พระราชทานของฝาก ไม้เท้าพระราชทานจึงเป็นเครื่องยศสำหรับพวกเพื่อนต้นถือเข้าเฝ้า ทั้งเวลาเข้ามาในกรุงเทพฯ และเข้าเฝ้าตามหัวเมืองเวลาเสด็จประพาสไม่ว่าที่ใดๆ
เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันนี้ ทรงเคารพต่อพระราชนิยมของสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระราชทานอนุญาตให้พวกเพื่อนต้นเข้ามาทำบุญให้ทานในงานพระบรมศพ และถวายพระเพลิงเหมือนกับเป็นข้าราชการ และยังพระราชทานเครื่องประดับไม้เท้าสลักอักษรพระนาม จ.ป.ร. ให้ติดไว้เป็นที่ระลึก ทั้งพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เฝ้าแหนเพ็ดทูลพระองค์ได้ต่อไป เหมือนครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทุกประการ ส่วนราษฎรซึ่งพระองค์ได้ทรงคุ้นเคยมาในเวลาเสด็จประพาสแต่ยังเสด็จดำรงพระเกียรติยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชก็ได้รับพระราชทานไม้เท้า และพระบรมราชานุญาตเหมือนกับพวกเพื่อนต้น ในรัชกาลนี้อีกหลายคน ฉันเข้าใจว่าธรรมเนียมประพาสต้น และเพื่อนต้นจะยังมีต่อไปในรัชกาลนี้เหมือนกับรัชกาลที่ล่วงแล้ว
ตั้งแต่เสด็จประพาสต้นคราว ร.ศ. ๑๒๓ แล้ว สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงยังเสด็จประพาสทำนองเดียวกันอีกหลายคราว บางทีเสด็จประพาสในจังหวัดกรุงเทพฯนี้เองบ้าง ประพาสตามมณฑลหัวเมืองบ้าง ครั้งหนึ่งใน ร.ศ. ๑๒๔เสด็จขึ้นไปประพาสเมืองสระบุรี แล้วขึ้นมาทางลำแม่น้ำใหญ่ไปจนถึงเมืองกำแพงเพชร คราวนี้สนุกพอใช้ แต่พ่อประดิษฐ์ออกไปอยู่เสียหัวเมือง ฉันจึงไม่ได้จดหมายรายการบอกไปให้ทราบ อีกคราวหนึ่งใน ร.ศ. ๑๒๗ เสด็จประพาสเมืองนครสวรรค์ ขากลับล่องลงทางคลองมะขามเฒ่า มาเมืองสุพรรณบุรี บ้านผักไห่ อ่างทอง แล้วเสด็จกลับทางบางแล้วเข้ากรุงเก่า อีกคราวหนึ่งในศกเดียวกันนั้นเสด็จทางคลองรังสิตไปประพาสถึงเมืองปราจีน แล้วกลับออกทะเลมาเข้าปากน้ำเจ้าพระยา
แต่ประพาสคราวหลังๆนี้ ความขบขันน้อยไปกว่าคราวแรกๆ ด้วยเหตุ ๒ ประการ คือราษฎรรู้เสียมากว่าพระเจ้าอยู่หัวโปรดเสด็จอย่างคนสามัญ ถ้าเห็นใครแปลกหน้าเป็นผู้ดีชาวบางกอก ก็ชวนจะเข้าใจไปเสียว่าพระเจ้าอยู่หัว บางทีมหาดเล็กเด็กชาพากันไปเที่ยว ไปถูกราษฎรรับเสด็จเป็นพระเจ้าอยู่หัวก็มี เพราะฉะนั้นในตอนหลังจะหาใครไม่รู้จักพระองค์สนิทอย่างนายช้าง ยายพลับ ไม่มีอีก อีกประการหนึ่งตั้งแต่เสด็จกลับจากยุโรปคราวหลัง มีเรือยนตร์เข้ามาใช้ในกระบวนเสด็จ ประพาสด้วยเรือยนต์เสียโดยมาก เมื่อเสด็จประพาสด้วยเรือยนต์แล้วก็ต้องเป็นอันรู้ว่าพระเจ้าอยู่หัวอยู่เอง จึงไม่ใคร่มีเรื่องขบขันอย่างคราวแรก
วันนี้เป็นวันทำบุญถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ในวันตรงกับวันสวรรคตครบ ๒ ขวบปี ดูคนในกรุงเทพฯตั้งแต่เจ้านายตลอดลงจนราษฎร ทำบุญให้ทานกันมาก ที่สำคัญนั้นฉันเห็นว่า ที่พากันถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้าที่หน้าพระลาน ไม่ว่าใครต่อใคร ดูผู้คนล้นหลามตั้งแต่เช้าจนกลางคืน เห็นจะเป็นธรรมเนียมปีดังนี้เสมอไป
ที่จริงพระบรมรูปทรงม้าองค์นี้ควรนับว่าเป็นของวิเศษได้ ไม่เฉพาะแต่ที่เป็นของงดงามสง่าพระนคร หรือเป็นพระบรมรูปสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเท่านั้น ถ้าผู้รู้เรื่องราวของพระบรมรูปนี้ว่า เป็นของชาวสยามทุกชั้นบรรดาศักดิ์ทั่วทุกหนแห่งได้เข้าเรี่ยรายตามกำลังและใจสมัคร อย่างต่ำคนละ ๑๐ สตางค์ก็มี สร้างขึ้นด้วยความรักใคร่เป็นใจเดียวกันถวายสมโภชสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รวมเงินได้กว่า ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เกินราคาพระบรมรูปนี้สัก ๕ เท่า ใช่แต่เท่านั้น พระบรมรูปนี้ได้แล้วสำเร็จทันถวายพระองค์ได้ทรงอนุโมทนาและประจักษ์แก่พระราชหฤทัยว่า ความรักใคร่สวามิภักดิ์ของคนทั้งหลายมีมากมายกว้างขวางทั่วไปเพียงใด ผู้ใดรู้เรื่องที่กล่าวมานี้ก็จะเข้าใจได้ว่าพระบรมรูปทรงม้านี้ผิดกับอนุสาวรีย์ หรือวัดวาที่จะสร้างถวายเฉลิมพระเกียรติยศ เมื่อพระองค์ล่วงลับไปเสียแล้ว อันจะเป็นที่ระลึกและปรากฏแต่แก่ผู้อื่น แต่ส่วนพระองค์เองมิได้ทันทอดพระเนตรเห็น
ฉันได้ไปถวายบังคมพระบรมรูปแล้ว กลับมาก็เขียนจดหมายฉบับนี้ มาเกิดนึกขึ้นว่า บางทีการพิมพ์หนังสือเรื่องประพาสต้นครั้งนี้ จะมีส่วนกุศลบ้างกระมังเพราะเหตุที่จะให้ผู้อ่านเจริญความระลึกถึงในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ถ้าจะมีส่วนกุศลเพียงไรในการพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ ฉันตั้งใจอุทิศส่วนกุศลนั้นถวายสนองพระเดชพระคุณ แด่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตามสติกำลัง ขอให้พ่อประดิษฐ์จงอนุโมทนาด้วยเทอญฯ
นายทรงอานุภาพ
|
|
|
|
เริง2520
|
|
« ตอบ #216 เมื่อ: 22 ตุลาคม 2557, 11:05:20 » |
|
เสด็จประพาสต้น เป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพหนึ่งในผู้ตามเสด็จโดยทรงพระนิพนธ์ในรูปแบบ จดหมายจำนวน 8 ฉบับถึงนายประดิษฐ์ ซึ่งนายประดิษฐ์ก็คือเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) พระสหายสนิทของพระองค์ ส่วนพระองค์ทรงใช้พระนามแฝงว่า นายทรงอานุภาพ หุ้มแพรโดยคราวเสด็จประพาสครั้งที่ 1 เมื่อร.ศ.123 (พ.ศ. 2447) รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จเยี่ยมบ้านเกิดของท่านเจ้าพระยายมราชที่จ.สุพรรณบุรีและพระราชทานชื่อเล่นให้บ้านหลังนี้ว่า สุขุมาราม หลังจากสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์เสร็จก็โปรดให้ตีพิมพ์และต่อมาได้มีการตีพิมพ์มาอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้
|
|
|
|
เริง2520
|
|
« ตอบ #217 เมื่อ: 22 ตุลาคม 2557, 12:46:52 » |
|
จดหมายเหตุ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรจนถึงสวรรค พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ บันทึกเรียบเรียง เมื่อปลายปี ร.ศ.125 (พ.ศ. 2449) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระชนมายุได้ 53 พรรษา บังเกิดพระโรคเบียดเบียน ไม่เป็นที่ทรงพระสำราญ ด็อกเตอร์เบอร์เมอร์ นายแพทย์ของกรมทหารเรือ ซึ่งเป็นผู้ถวายการอภิบาล ได้ตรวจพระอาการ ลงสันนิษฐานว่าพระโกฎฐาส ภายในพระวรกาย ไม่เป็นไปสม่ำเสมอ พระโรคเช่นนี้ ไม่ถูกกับอากาศชื้น เช่น ในฤดูฝนชุก และร้อนจัด เช่น ฤดูคิมหะ ประเทศที่จะรักษา พระโรคเช่นนี้ ได้เหมาะดีที่สุด ก็มีแต่ยุโรปเท่านั้น จึงกราบบังคมทูลถวายคำแนะนำ เพื่อเสด็จประพาสยุโรป บำรุงพระวรกาย ให้คืนเป็นปกติ แต่ในเวลาที่พระโรคยังไม่ทันจะเจริญขึ้น โดยคำแนะนำ ของนายแพทย์นี้ จึงได้เสด็จประพาสยุโรป ออกจากพระมหานคร เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2449 เสด็จกลับมาถึงพระนคร เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450 ขณะประทับอยู่ที่เมืองซันเรโม ประเทศอิตาลี ได้มีนายแพทย์เยอรมัน และอังกฤษ ชั้นโปรเฟสเซอร์ รวม 3 นาย ได้ประชุมตรวจพระอาการเห็นว่า พระอวัยวะทุกส่วนยังเป็นปรกติ ไม่มีสิ่งใดแสดงว่า จะเป็นไปในทางที่ร้ายแรง ได้ถวายคำแนะนำการเสวย และการบรรทมให้มากพอ และลดทรงการงานให้น้อย ให้งดการงานที่เป็นการหนักทุกอย่าง ได้มีการทำนายซึ่งทางลับว่า ถ้าพระอาการเป็นเช่นนี้ จะทรงพระชนม์ไปได้สัก 3 ปี แต่หมอก็ถวายการรับรองต่อพระองค์ว่า ถ้าผ่อนงานให้น้อย และบรรทมให้มากขึ้นอีก จะดำรงพระชนมายุไปได้ถึง 80 เว้นแต่ จะมีพระโรคอื่นใดมาแทรกแซง เมื่อเสด็จกลับสู่พระมหานครแล้ว ดูทรงพระสำราญดีกว่า เมื่อก่อนเสด็จประพาสยุโรป จะมีที่ไม่ปรกติเล็กน้อย ก็ในเรื่องพระนาภี เพราะพระบังคนหนักไปไม่สะดวก ต้องทรงใช้พระโอสถ ระบายอยู่เสมอๆ แต่การประชวรที่เรียกกันว่า ถึงล้มหมอนนอนเสื่อนั้นไม่ปรากฎเลย ตลอดมาจนกระทั่งวันที่ 16 ตุลาคม ร.ศ.129 (พ.ศ. 2453) ในวันนั้นได้ทรงขับรถไฟฟ้า เสด็จออกประพาสทอดพระเนตร การเลี้ยงไก่พันธุ์ต่างประเทศที่พญาไท แต่มิได้เสด็จลงจากรถพระที่นั่ง มีรับสั่งว่า "ท้องไม่ค่อยจะสบายจะรีบกลับ" แล้วก็ทรงขับรถพระที่นั่ง กลับยังพระที่นั่งอัมพรทีเดียว วันที่ 17-18-19 ตุลาคม มีงานบำเพ็ญพระราชกุศล ประจำปีถวายรัชกาลที่ 4 ในพระบรมมหาราชวัง แต่เนื่องด้วยพระนาภียังไม่เป็นปรกติ จึงได้โปรดฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ มกุฎราชกุมาร เสด็จไปแทนพระองค์ วันที่ 19 ตุลาคม เวลาค่ำมีรับสั่งให้มหาดเล็กไปเชิญ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช และเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ขึ้นไปเฝ้าบนพระที่นั่งอัมพรสถาน ชั้น 3 ในที่พระบรรทม สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์วรพินิต เสด็จมาทีหลัง ตามขึ้นไปเฝ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังตรัสราชการ และตรัสเล่นกับผู้ไปเฝ้า เหมือนเวลาทรงพระสำราญ วันที่ 20 ตุลาคม เวลา 3 โมงเช้า คุณพนักงานออกมาบอกว่า สมเด็จพระบรมราชินีนาถ มีรับสั่งให้มหาดเล็ก ไปตามหมอเบอร์เกอร์ หมอไรเตอร์ และหมอปัวซ์ ให้รีบมาเฝ้าโดยเร็ว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จออกมารับสั่ง แก่ข้าพเจ้า (พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ) ให้จัดอาหารเลี้ยงหมอ และจัดที่ให้หมออยู่ประจำ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เมื่อหมอมาเฝ้าตรวจพระอาการกลับลงมา ข้าพเจ้าได้ถามพระอาการ หมอไรเตอร์ตอบว่า เป็นเพราะพระบังคนหนักคั่งอยู่นาน เมื่อเสวยพระโอสถปัดพระบังคนหนักออกมา จึงอ่อนพระทัย พระกะเพาะอาหารอ่อน ไม่มีแรงพอที่จะย่อยพระอาหารใหม่ ควรพักบรรทมนิ่ง อย่าเสวยพระอาหาร สัก 24 ชั่วโมง ก็จะเป็นปรกติ หมอฉีดมอร์ฟีนถวายหนหนึ่ง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการมาฟังพระอาการ มากด้วยกัน ตั้งแต่ 5 ทุ่มได้บรรทมหลับเป็นปรกติ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ หมอฝรั่ง หมอไทย และมหาดเล็ก อยู่ประจำพรักพร้อมกันตลอดทุกเวลา
|
|
|
|
เริง2520
|
|
« ตอบ #218 เมื่อ: 22 ตุลาคม 2557, 12:50:49 » |
|
วันที่ 21 ตุลาคม ย่ำรุ่งบรรทมตื่นตรัสว่า พระศอแห้ง แล้วเสวยพระสุธารสเย็น คณะแพทย์ไทยถวายพระโอสถ แก้พระเสมหะแห้ง รับสั่งว่าอยากจะเสวยอะไรๆ ให้ชุ่มพระศอ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ถวายน้ำผลเงาะคั้นผล 1 พอเสวยได้สักครู่ ทรงพระอาเจียนออกมาหมด สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ตกพระทัยเรียกหมอทั้ง 3 คนขึ้นไปตรวจพระอาการ หมอกราบบังคมทูลว่า ที่เสวยน้ำผลเงาะ หรือเสวยอะไรอื่นในเวลานี้ไม่ค่อยจะดี เพราะพระกระเพาะว่าง และยังอักเสบ เป็นพิษอยู่ เพราะฉะนั้น เมื่อเสวยพระกระยาหาร หรือพระโอสถ จึงทำให้ทรงพระอาเจียนออกมาหมด และเสียพระกำลังด้วย สู้อยู่นิ่งๆ ดีกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกริ้วหมอว่า อาหารก็ไม่ให้กิน ยาก็ไม่ให้กิน ให้นอนนิ่งอยู่เฉยๆ จะรักษาอย่างไรก็ไม่รักษา มันจะหายอย่างไรได้ และตรัสต่อไปว่า เชื่อถือหมอฝรั่งไม่ได้ ประเดี๋ยวพูดกลับไปอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่แน่นอนเป็นหลักฐานอะไรได้ เมื่อหมอกลับลงมาแล้ว มีรับสั่งกับสมเด็จพระบรมราชินีนาถว่า ให้ไปตามใครๆ เขามาพูดจา ปรึกษากันดูเถิด สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จลงมารับสั่งกับข้าพเจ้า ให้มหาดเล็กไปเชิญ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์ฯ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงฯ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ฯ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์ ในเวลาย่ำรุ่งนั้น สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จลงมาเล่าพระอาการให้เจ้านายทั้ง 4 พระองค์ฟัง แล้วเจ้านายซักถามหมอๆ ก็ยืนยันว่าไม่เป็นอะไร บรรทมอยู่นิ่งๆ ดีกว่า เจ้านายพากันเห็นจริง ตามหมอไปหมด รวมกันถวายความเห็นว่า ที่หมอรักษาอยู่เวลานี้ถูกต้องแล้ว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จขึ้นไปกราบบังคมทูลว่า เจ้านาย 4 พระองค์เสด็จมาแล้ว ได้ซักถามหมอ และเห็นด้วยตามที่หมอชี้แจง ทรงนิ่งอยู่มิได้รับสั่งอะไร
เวลาที่เลี้ยงเครื่องอาหารเช้าเจ้านาย และหมอนั้น มีพระอาเจียนอีกครั้งหนึ่ง เป็นน้ำสีเขียวเหมือนข้าวยาคู ประมาณ 1 จานซุบ หมอว่าสีเขียวนั้นเป็นน้ำดี ตั้งแต่นี้ต่อไป ก็มีพระอาการซึม บรรทมหลับอยู่เสมอ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จลงมารับสั่งเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตรัสว่า "การเจ็บครั้งนี้จะรักษากันอย่างไร ก็ให้รักษากันเถิด" ตามที่รับสั่งเช่นนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกใจหาย ให้หวั่นหวาดหนักใจไปเสียจริงๆ ตอนเที่ยงเจ้านายและหมอ ขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการ ข้าพเจ้าก็ตามขึ้นไปด้วย กลับลงมาได้ความว่า มีแต่พระอาการเซื่องซึม บรรทมหลับอยู่ตลอดเวลา มีพระบังคนเบาครั้งหนึ่ง ประมาณ 1 ช้อนกาแฟ สีเหลืองอ่อน สังเกตดูกิริยาอาการของหมอและเจ้านาย ยังไม่สู้ตกใจอะไรมากนัก สมเด็จพระบรมราชินีนาถ รับสั่งให้เจ้านาย ผลัดเปลี่ยนกันประจำ ฟังพระอาการอยู่เสมอไป ตอนบ่ายมีความร้อนในพระองค์ปรอท 100 เศษ 4 แต่เป็นเวลาทรงสร่าง เพราะมีพระเสโท ตามพระองค์บ้าง มีพระบังคนเบาเป็นครั้งที่ 2 ประมาณ 1 ช้อนกาแฟเหมือนคราวก่อน ในเรื่องพระบังคนเบาน้อยเป็นครั้งที่ 2 นี้ เจ้านายออกจะสงสัย ทรงถามหมอๆ ก็ให้การว่า เป็นเพราะไม่ได้เสวยอะไร เสวยแต่พระสุธารสชั่ว 2-3 ช้อนเท่านั้น ก็ซึมซาบไปตามพระองค์เสียหมด เพราะฉะนั้น พระบังคนเบาจึงน้อยไปไม่เป็นไร เมื่อเสวยพระกระยาหาร และพระสุธารสได้มากแล้ว พระบังคนเบาก็คงจะมีเป็นปรกติ แต่พระอาการเซื่องซึมบรรทมหลับ ยังมีอยู่เสมอ ตอนเย็นเมื่อเจ้านายและหมอ ขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการ ข้าพเจ้าได้ยินรับสั่ง กับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ฯ ว่า "การรักษาเดี๋ยวนี้เป็นอย่างใหม่เสียแล้ว" แล้วก็ไม่ตรัสสั่งอะไรอีก เมื่อเจ้านายและหมอ กลับลงมาคราวนี้ พากันรู้สึกพระอาการมาก ไม่ใช่ทางพระธาตุพิการอย่างเดียว เป็นทางพระวักกะ (คิดนี) เครื่องกรองพระบังคนเบาเสียด้วย มีพระบังคนเบาอีกเป็นครั้งที่ 3 ประมาณ 1 ช้อนกาแฟ ตอนนี้หมอและเจ้านาย แน่ใจทีเดียวว่าเป็น พระวักกะพิการ หมอได้รีบประชุมกัน ประกอบพระโอสถบำรุงพระบังคนเบา และเร่งให้มี พระบังคนเบาโดยเร็ว และในที่สุดใช้เครื่องสวนพระบังคนเบา แต่ไม่ได้ผล เพราะไม่มีพระบังคนเบาเลย ตอนค่ำสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ฯ และหมอ ขึ้นไปเฝ้าตรวจ พระอาการ ข้าพเจ้าก็ขึ้นไปด้วยเช่นเคย เห็นพระพักตร์แต่ห่างๆ เข้าไปใกล้พระแท่นไม่ได้ เพราะข้างในอยู่เต็มไปหมด ได้ยินเสียงหายพระทัยดัง และยาวๆ มาก บรรทมหลับอยู่ ถ้าจะถวาย พระโอสถ พระอาหาร หรือพระสุธารส ก็ต้องปลุกพระบรรทม หมอกลับลงมาได้ความว่า การหายพระทัย และพระชีพจรยังดีอยู่ ความร้อนในพระองค์ลดลงแล้ว เห็นจะไม่เป็นไร หมอประชุมกัน ตั้งพระโอสถแก้พระบังคนเบาอีก ประมาณ 1 ทุ่มเศษ มีพระบังคนเบาเป็นครั้งที่ 4 ประมาณ 1 ช้อนเกลือ และเป็นครั้งสุดท้ายด้วย ค่ำวันนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย มาฟังพระอาการเต็มไปทั้งพระที่นั่ง เจ้านายก็ยังเชื่อกันว่าพระบังคนเบา คงจะมีออกมามากแน่ ตั้งแต่ยามหนึ่งแล้ว มีพระบังคนหนัก 3 ครั้ง เป็นน้ำสีดำๆ หมอฝรั่ง หมอไทย ตรวจดูก็ว่าดีขึ้น คงจะมีพระบังคนเบาปนอยู่ด้วย วันนี้เสวยน้ำซุบไก่เป็นพักๆ ละ 3 ช้อนบ้าง 4 ช้อนบ้าง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ ชงน้ำโสมส่งขึ้นไปไว้ถวาย ให้ทรงจิบเพื่อบำรุง พระกำลัง หมอฝรั่ง หมอไทย ไม่คัดค้านอะไร คืนนี้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการ กลับดึกกว่าคืนก่อนๆ วันเสาร์ ที่ 22 ตุลาคม เวลาเช้า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ฯ และหมอฝรั่ง 3 คน ขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการ ข้าพเจ้าก็ขึ้นไปด้วยตามเคย เมื่อกลับลงมาเห็นกิริยา ท่าทางของหมอ และเจ้านายไม่สู้ดี ได้ความว่า พระอาการหนักมาก พระบังคนเบาที่คาดว่าจะมีก็ไม่มี พิษของพระบังคนเบาซึม ไปตามเส้นพระโลหิตทั่วพระองค์ จึงทำให้เป็นพิษเซื่องซึมบรรทมหลับ อยู่เสมอ หมอตั้งพระโอสถถวาย เร่งให้มีพระบังคนเบาแรงขึ้นทุกที พวกหมอฝรั่งประชุมกัน เขียนรายงานพระอาการยื่นต่อเจ้านาย เสนาบดีว่าพระอาการมาก เหลือกำลังของหมอ ที่จะถวายการรักษาแล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพิษณุโลกประชานาถ และพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จมาแต่เช้า ได้ทอดพระเนตรรายงาน พระอาการที่หมอทำไว้ ทรงปรึกษาหารือเห็นพร้อมกันว่า ควรให้ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ มาเฝ้าตรวจพระอาการดูด้วย ข้าพเจ้าจึงให้ นายฉันหุ้มแพร (ทิตย์ ณ สงขลา) รีบเอารถยนต์ไปรับมาทันที พระองค์เจ้าสายฯ ขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว น้ำพระเนตรไหลแต่ไม่ตรัสว่าอะไร พระองค์เจ้าสายฯ กลับลงมายืนยันว่า พระอาการยังไม่เป็นไร เชื่อว่าที่บรรทมหลับเซื่องซึม อยู่นั้น เป็นด้วยฤทธิ์ พระโอสถต่างๆ พอฤทธิ์พระโอสถหมดแล้ว ก็คงจะทรงสบายขึ้น เพราะพระชีพจรก็ยังเต้นเป็นปรกติดี พระองค์เจ้าสายฯ กลับไปนำพระโอสถมาตั้งถวาย แก้ทางพระศอแห้ง ขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการ อีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ตรัสทักว่า "หมอมาหรือ" ได้เท่านั้นแล้วก็ไม่ได้รับสั่งอะไรอีกต่อไป พระอาการตั้งแต่เช้าไปจนเย็น ไม่มีพระบังคนหนัก และเบาเลย พระหฤทัยอ่อนลงมาก ยังบรรทมหลับเซื่องซึมอยู่เสมอ เวลาย่ำค่ำสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ฯ และหมอฝรั่งขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการ ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปด้วย และเห็นหายพระทัยดังยาวๆ และหายพระทัยทางพระโอษฐ์ พ่นแรงๆ จนเห็นพระมัสสุไหวได้แต่ไกล สังเกตดูพระเนตร ไม่จับใครเสียแล้ว ลืมพระเนตรคว้างอยู่อย่างนั้นเอง แต่พระกรรณยังได้ยิน สมเด็จพระบรมราชินีนาถ กราบทูลว่าเสวยน้ำ ยังทรงพยักพระพักตร์รับได้ และกราบทูลว่าพระโอสถแก้พระศอแห้ง ของพระองค์เจ้าสายฯ ก็ยังรับสั่งว่า "ฮือ" แล้วยกพระหัตถ์ขวาและซ้าย ที่สั่นขึ้นเช็ดน้ำพระเนตร คล้ายทรงพระกันแสง พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ซับเช็ดพระเนตรด้วยผ้าซับพระพักตร์ ชุบน้ำถวาย หมอฉีดพระโอสถถวาย ช่วยบำรุงพระหฤทัยให้แรงขึ้น ตั้งแต่เวลานี้ต่อไป หมอฝรั่งนั่งประจำคอยจับพระชีพจร ตรวจพระอาการผลัดเปลี่ยนกัน ประจำอยู่ที่พระองค์ การหายพระทัยค่อยเบาลงๆ ทุกที พระอาการกระวน กระวายอย่างหนึ่งอย่างใด ไม่มีเลย คงบรรทมหลับอยู่เสมอ เจ้านายจะขึ้นไปเฝ้าอีกครั้ง ก็พอหมอรีบลงมาทูลว่า เสด็จสวรรคตเสียแล้วด้วยพระอาการสงบ เมื่อเวลา 2 ยาม 45 นาที สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกยาเธอ และ พระเจ้าน้องยาเธอ พร้อมกันเสด็จขึ้นไปเฝ้ากราบถวายบังคม ด้วยความเศร้าโศกอาลัย ทรงกรรณแสง คร่ำครวญสอึกสอื้นทั่วกัน ข้าพเจ้าก็อยู่ที่นั้นด้วย กราบถวายบังคมมีความเศร้าโศก อาลัยแสนสาหัส ร่ำร้องไห้มิได้หยุดหย่อนเลย ในที่พระบรรทม และตามเฉลียงเต็มไปด้วยฝ่ายใน และฝ่ายหน้า ร้องไห้คร่ำครวญอยู่ระงม เซ็งแซ่และทุ่มทอดกายทั่วไป ประดุจต้นไม้ใหญ่ที่ถูกลมพายุใหญ่ พัดต้นและกิ่งก้านหักล้มราบไป ฉันใด บรรดาฝ่ายใน และฝ่ายหน้าทั้งหมด ล้มกลิ้งเป็นลมไปตามกันฉันนั้น ด้วยความเศร้าโศกาอาดูร เป็นอย่างล้นเหลือที่จะรำพันให้สิ้นสุดได้ ข้าพเจ้าต้องวิ่งลงไปตามหมอ ขึ้นไปแก้ท่านที่ประชวรพระวาโยกันเป็นการใหญ่ และต้องเชิญเสด็จสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ขึ้นพระเก้าอี้หามกลับไปส่ง ที่พระตำหนักสวนสี่ฤดู เพราะประชวรพระวาโย และทรงชักกระตุกด้วย เจ้านายพระองค์อื่น และเจ้าจอมมารดา ที่เป็นลม ก็มีผู้ช่วยพากันไปส่งตำหนักที่อยู่กันเรื่อยๆไป ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ซึ่งประชวรพระวาโย บรรทมอยู่ที่เก้าอี้ปลายพระแท่นนั้น ก็ต้องใช้เก้าอี้หามเชิญเสด็จ ไปยังพระตำหนักของพระองค์ท่าน เวลานั้น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระภานุพันธุวงศ์วรเดช ทูลเชิญเสด็จ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ให้เสด็จกลับลงไปชั้นล่าง ประทับห้องแป๊ะเต๋ง พร้อมด้วย พระบรมวงศานุวงศ์ เสนาผู้ใหญ่ องคมนตรี และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ซึ่งทรงกรรณแสง และร้องไห้กัน เสียงระงมเซ็งแซ่ทั่วไป ทั้งพระที่นั่ง
|
|
|
|
เริง2520
|
|
« ตอบ #219 เมื่อ: 22 ตุลาคม 2557, 12:53:06 » |
|
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระภานุพันธุวงศ์วรเดช ทรงคุกพระชงฆ์ ลงกราบถวายบังคมสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ อัญเชิญเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระเจ้าแผ่นดิน สืบสนองพระองค์สมเด็จพระชนกาธิราช ต่อไป พระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ก็กราบถวายบังคมทั่วกัน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงเรียกประชุมพร้อมกันในเวลานั้น เพื่อหารือที่จะจัดการสรงน้ำพระบรมศพ และเชิญไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ในวันพรุ่งนี้ และออกประกาศข่าวการสวรรคต และอื่นๆ ในระหว่างที่ประชุมกันอยู่นี้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสรรพสิทธิ์ฯ และข้าพเจ้า พร้อมกับ เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี (เพิ่ม ไกรฤกษ์) เจ้าหมื่นเสมอใจราช (อ้น นรพัลลภ) ขึ้นไปกราบถวายบังคม แล้วได้ฉลองพระเดชพระคุณ ช่วยกันเชิญพระองค์เลื่อนขึ้นไปหนุนพระเขนย จัดตกแต่งพระเขนย และผ้าลาดพระที่ ทั้งจัดแต่งพระองค์ให้เรียบร้อย แล้วพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสรรพสิทธิ์ฯ กับข้าพเจ้าถวายพระภูษา คลุมพระบรรทมคนละข้าง พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ประทับเป็นประธานอยู่ด้วย ครั้นจัดเรียบร้อย ปิดพระวิสูตรแล้วกราบถวายบังคมลากลับ ลงไปข้างล่าง พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย เพิ่งเสร็จการประชุม และกลับไปเมื่อจวนสว่าง ในคืนนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ประทับแรมอยู่ที่ห้องพระบรรทมขาว พระที่นั่งอัมพรสถาน มีตำรวจหลวง และทหารมหาดเล็ก ล้อมวงรักษาการ ตามราชประเพณีตลอดคืน วันอาทิตย์ ที่ 23 ตุลาคม เวลาเช้า ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปเฝ้า กราบถวายบังคมพระบรมศพ อีกครั้งหนึ่ง พร้อมด้วยเจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี เจ้าหมื่นเสมอใจราช และหลวงศักดิ์นายเวร (ม.ร.ว. ลภ อรุณวงศ์) พร้อมกันเชิญพระบรมศพจากพระแท่นที่พระบรรทม ไปประทับพระแท่นสำหรับสรง แล้วรื้อพระแท่นที่พระบรรทมออก สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ประทับเป็นประธาน ในการถวายน้ำสรงพระบรมศพ เป็นส่วนฝ่ายใน ครั้นแล้ว จึงเชิญพระบรมศพ ขึ้นพระแท่นที่จัดไว้ใหม่สำหรับพระเกียรติยศ เพื่อถวายน้ำสรงพระบรมศพ เป็นพระราชพิธีตอนบ่าย ในเวลานี้ ข้าพเจ้าได้กราบถวายบังคมที่พระบาทยุคล ถวายน้ำหอมสรงพระบาท และซับพระบาทด้วยผ้าเช็ดหน้า ไว้เป็นที่ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และเป็นที่สักการบูชา ได้พิศดูพระพักตร์ในเวลานี้ เหมือนกำลังบรรทมหลับ พระพักตร์ยิ้มน้อยๆ ดูสง่างามเหลือเกิน กระทำให้ตื้นตันใจ ต้องร้องไห้ด้วยความอาลัยเศร้าทวียิ่งขึ้น มิใคร่จะจากพระบาทยุคลไปได้เลย ได้ทำหน้าที่ไปพลาง ร้องไห้คร่ำครวญไปพลาง จนแล้วเสร็จ กราบถวายบังคมลากลับลงไปข้างล่าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 พระชนมายุ 58 พรรษา ดำรงสิริราชสมบัติมาได้ 43 พรรษา จบหมายเหตุบันทึกตอนทรงพระประชวร และสวรรคตเพียงนี้....จากหนังสือเล่มนี้
|
|
|
|
เริง2520
|
|
« ตอบ #220 เมื่อ: 22 ตุลาคม 2557, 17:21:50 » |
|
จากบันทึกของมจ.พูนพิศมัย ดิศกุล
เมื่อ ๑๐๐ ปีก่อนนั้น เหตุการณ์วันสวรรคต รัชกาลที่ ๕ ครั้งนั้นมีความเล่าจากความจำของมจ.พูนพิสมัย ดิศกุล ไว้ตอนหนึ่งว่า
"กำหนดสรงน้ำพระบรมศพที่พระนั่งอัมพรสถานในที่พระบรรทม แล้วเชิญพระบรมศพลงพระโกศทองเชิญเสด็จขึ้นพระยานุมาศ เคลื่อนกระบวนจากพระราชวังดุสิตไปสู่พระมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง เวลาค่ำ ๗.๐๐ น. เศษ
เสด็จพ่อทรงสั่งราชการพลาง ทรงพระกรรณแสงพลางอยู่ที่วังตอนเช้าวันอาทิตย์ พวกพี่น้องของข้าพเจ้าเขาก็พากันกลับเข้าวังหมดแทบทุกคน ข้าพเจ้ายังมีไข้เข้าไปช่วยในวังไม่ได้ พอเสด็จพ่อทรงเครื่องเต็มยศใหญ่เข้าไปสวนดุสิตแล้ว ข้าพเจ้าก็ไปคอยเฝ้าพระบรมศพที่ริมถนนราชดำเนินแถวโรงเรียนนายร้อนทหารบก พวกราษฎรเอาเสื่อไปปูนั่งกันเป็นแถวตลอดสองข้างทาง จะหาหน้าใครที่จะยิ้มก็ไม่มีสักผู้เดียว ทุกคนแต่งดำน้ำตาไหลอย่างตกอกตกใจด้วยไม่รู้รส อาการมืดครึ้มมีหมอกขาวลงจัดเกือบถึงหัวคนเดือนทั่วไปผู้ใหญ่เขาบอกว่านี่แหละคือ "หมอกธุมเกตุ" (หมอกธุมเกตุนี้ ตามตำราโบราณว่า เป็นหมอกที่มีสีประดุจควันไฟดอกไม้เพลิง จะเห็นได้ตั้งแต่เช้าไปจนเที่ยง หรือตั้งแต่เที่ยงไปจนบ่ายหนึ่งบ่างสองโมง ถือว่าเป็นหมอกที่ร้ายนัก นัยว่าเกิดเพราะเพระเกตุสำแดงเหตุให้ปรากฏ ...ผู้เรียบเรียง) ที่ในตำราเขากล่าวถึง ว่ามักจะมีในเวลาที่มีเหตุใหญ่ๆ เกิดขึ้น
ไม่ช้าก็ได้ยินเสียงปี่ในกระบวนเสียงเย็นใสจับใจมาแต่ไกลๆ แล้วได้ยินเสียงกลองรับเป็นจังหวะใกล้เข้ามาในความมืดเงียบสงัด ที่มืดเพราะต้องตัดสายไฟฟ้าบางตอนให้กระบวนผ่านไปได้ และที่เงียบก็เพราะไม่มีใครพูดจากันว่ากระไร ข้าพเจ้าเคยได้ยินเสียงปี่เสียงกลองมาแล้ว เคยได้เห็นแห่พระศพเจ้านายมาแล้วหลายองค์ แต่คราวนี้ตกใจสะดุ้งทั้งตัว เมื่อเห็นพระมหาเศวตฉัตรกั้นมาบนพระบรมโกศสีขาวกับสีทองเป็นสง่า ทำให้รู้ทันทีว่า พระบรมศพ แล้วร้องไห้ออกมาโดยไม่ทันรู้ตัว เหลียวไปดูทางอื่น เห็นแต่แสงไฟจากเทียนที่จุดถวายสักการะอยู่ข้างถนนแวมๆ ไปตลอด ในแสงเทียนนั้นมีแต่หน้าเศร้าๆ หรือบิดหน้าอยู่เราหมอบลงกราบกับพื้นปฐพี พอเงยหน้าก็เห็นทหารยืนถือปืนเอาปลายลงดิน ก้มหน้าลงบนปืนอยู่ข้างหน้าเราเป็นระยะไปตลอด ๒ ข้างถนนนั้น น้ำตาของเขากำลังหยดลงแปะๆ อยู่บนหลังมือของเขาเอง ทหารซึ่งอยู่ในยูนิฟอร์มอันแสดงว่ากล้าหาญ ยังร้องไห้เพราะเสียดายประมุขอันล้ำเลิศของเขา"
กระบวนเกียรติยศอัญเชิญพระบรมโกศพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากพระที่นั่งอัมพรสถาน อัญเชิญเสด็จกลับสู่ พระบรมมหาราชวัง โดยผ่านถนนราชดำเนินไปอย่างช้าช้านั้น แตรวงทำเพลงพญาโศกนำขบวนพระบรมศพ ราษฎรทั้งสองข้างถนนที่มารอเฝ้ากราบพระบรมศพอยู่แน่นขนัด แสงเทียนในมือส่องสว่างเป็นแถวยาวเหยียด เมื่อพระโกศทรงพระบรมศพผ่านมาถึงตอนใด เสียงร้องไห้กระซิกสะอื้นไห้อยู่นั้น ก็พลันเปลี่ยนเป็นเสียงโฮอย่างสุดเสียง เป็นเช่นนี้ไปตลอดทาง แม้แต่ทหารที่ยืนนิ่งระวังเหตุอยู่สองข้างถนนก็อดไม่ได้ที่ร้องไห้ และเมื่อขบวนพระบรมศพผ่านมา เหล่าทหารได้ถวายความเคารพ น้ำตาก็หลั่งไหลอาบแก้ม ทั้งๆ ที่พยายามอดกลั้นมิให้เสียงสะอื้นออกมาจากปาก
เมื่อพระโกศพระบรมศพ อัญเชิญขึ้นประดิษฐานบน พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ทันทีนั้นได้เกิดพายุอื้ออึง ฝนตกอย่างหนัก สายฟ้าฟาดเปรี้ยงๆ แปลบปลาบอย่างน่ากลัว ราวกับว่าฟ้าจะพิโรธและโศกเศร้าที่กรุงสยามต้องสูญเสียพระราชาผู้เป็นที่รักของประชาชนทั้งแผ่นดิน
|
|
|
|
|
เริง2520
|
|
« ตอบ #222 เมื่อ: 23 ตุลาคม 2557, 17:07:59 » |
|
ประชาสัมพันธ์ เชิญชวนของโรงเรียนทวีธาภิเศก“ประเพณีการถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้า” หรือประเพณีการถวายบังคมและวางพวงมาลาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังจากที่พระบรมชนกนาถผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยเสด็จสวรรคต ได้มีพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้า เพื่อแสดงความจงรักภักดี ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2455 ซึ่งตรงกับวันพระราชพิธีฉัตรมงคลของพระองค์
ปีต่อมา มีพระบรมราชานุญาตให้เปลี่ยนวันถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้ามาเป็นวันที่ 23 ตุลาคม และถือเป็นประเพณีที่ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
|
|
|
|
เหยง 16
|
|
« ตอบ #223 เมื่อ: 25 ตุลาคม 2557, 12:09:34 » |
|
เริง
เตรียมซื้อตั๋ว ดอนเมือง-เชียงราย ไป/กลับ หากไปเที่ยวเช้า (พี่หลายคนไปเที่ยวนี้) มีรายการทัวร์เมืองเชียงรายด้วย (พี่ไปเที่ยว 11.15 น.) ขากลับส่วนใหญ่กลับเที่ยว 19.55 น. อย่าลืมส่งเงินมัดจำ, สำเนาบัตรและรูป รวม 3 ชุดให้พี่หลั่นอย่างด่วน
|
|
|
|
เริง2520
|
|
« ตอบ #224 เมื่อ: 26 ตุลาคม 2557, 10:39:12 » |
|
ครับ
ดำเนินการบางเรื่องแล้ว
ไปเชียงตุงครั้งนี้เป็นครั้งทึ่สอง คงสนุกไม่น้อยกว่าครั้งที่หนึ่งแน่นอน
|
|
|
|
|