เพื่อนใครบ้างเนี่ย ได้ลงผู้จัดการด้วย
http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9500000136180จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เปิดรับนักเรียนที่เรียนดีแต่มีฐานะยากจน และเรียนโรงเรียนของรัฐในเขตพื้นที่บริเวณ4 ภาคร่วม 50 จังหวัดเข้าศึกษาต่อในคณะต่าง ๆของจุฬาฯ โดยได้รับทุนอุดหนุนจนสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรปกติ “ โครงการจุฬา-ชนบท” ตั้งแต่ปี 2524 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันมีนิสิตที่ได้รับทุนแล้วจำนวน 26 รุ่นซึ่งมีทั้งที่จบออกไปทำงานแล้วและคงยังศึกษาอยู่
หนึ่งในผู้ได้รับทุนจุฬาฯ-ชนบท รุ่นที่ 23 อย่าง “ แก้วหทัย ใสดี” นิสิตชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวาทวิทยา และสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เธอคือสาวขอนแก่นที่ผ่านกระบวนการพิจารณารับทุนจากโรงเรียน เแก่นนครวิทยาลัย จ.ขอนแก่น ด้วยฐานะทางบ้านเธอค่อนข้างยากจนในช่วงก่อนเปิดภาคการศึกษา
“ ตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าจะเรียนต่อดีหรือเปล่า แต่พอได้ทราบข่าวจากฝ่ายแนะแนวจึงลองมาสมัครดู และสัมภาษณ์หลายรอบมากๆ ตอนนั้นต้องเตรียมเอกสารเป็นตั้งๆ แต่เราก็ต้องทำเพราะเราตั้งใจอยากที่จะได้ทุนเข้ามาเรียน”
ด้านวิชาพื้นฐานนิสิตในโครงการฯทุกคนจะต้องเข้ามาเรียนปรับระดับการศึกษาที่มหาวิทยาลัยเป็นเวลาครึ่งเดือนเพื่อสร้างความพร้อมในการเรียน ซึ่งถือได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อนิสิตเป็นอย่างยิ่ง แต่ส่วนด้านสังคมการใช้ชีวิตนั้นคำแนะนำต่างๆก็จะได้จากรุ่นพี่
“ คือตอนเข้ามาเรียนปรับระดับ ก็จะเจอแต่เพื่อนทุนด้วยกัน เราก็จะรู้สึกว่าพูดคุยภาษาเดียวกัน แต่พอเข้ามาเรียนปีแรก ยอมรับว่ากลัวว่าจะอยู่ไม่ได้ สังคมในจุฬาฯภาพมันมองว่าเป็นสังคมไฮโซ มีแต่ลูกคนรวย แต่พอรับน้องแล้วก็เริ่มอยู่ได้และยอมรับเลยว่า ครึ่งๆเท่านั้นที่จะเป็นแบบที่เราคิด และจะรวยจะจนก็เป็นเพื่อนกันได้”
แก้วหทัยเป็นนิสิตจุฬาชนบทประเภท ก. โดยจะได้รับค่าอาหารและค่าใช้จ่ายส่วนตัว เดือนละ 4,000 บาท ปีละ 10 เดือน รวมทั้งค่าอุปกรณ์การศึกษา ค่าเครื่องแต่งกายค่าลงทะเบียนเรียน ค่าหอ ฯลฯ โดยแก้วใช้เงินแบบปกติธรรมดาแต่เธอก็ยังเผยมาอีกว่ามีเงินเก็บด้วยซ้ำ
“ คือเอาเข้าจริงๆแล้วสี่พันนั้นไม่พอหากเราใช้ชีวิตเหมือนเพื่อนๆแต่ หากเราใช้ธรรมดาไม่หรูหราไม่ติดแบรนด์ ผู้หญิงต้องมีของกระจุกกระจิกก็จริงแต่ เราก็ต้องมีลิมิตด้วยนะ แต่ที่แก้วสามารถมีเงินเก็บได้เพราะทำงานพิเศษ ต่างๆ อย่างขายของ ออกไปเป็นพนักงานขายหนังสือบ้าง ไปช่วยกองถ่ายบ้าง หรืองานที่ใครแนะนำมาก็ไปทำหมดเลยพอมีเงินเก็บและใช้จ่ายอย่างไม่ลำบาก”
นอกเหนือจากงานพิเศษแล้ว แก้วก็ยังทำกิจกรรมของมหาวิทยาลัยอีกด้วยโดยไม่กระทบกับผลการเรียน มีระดับดีเยี่ยมได้เกรดเฉลี่ยสะสมถึง 3.94 ทั้งๆที่ทำหน้าที่เป็นประธานชมรมจุฬาฯ-ชนบทและออกค่ายศิลปะ
“ ก็เป็นอีกหน้าที่หนึ่งที่เราทำได้ และก็อยากทำให้กับชมรมเพราะชมรมนี้ก็นับว่าเป็นชมรมที่ให้โอกาสเราได้เรียน และอีกหลายๆกิจกรรมเหมือนเราอยากแบ่งปันให้กับผู้ด้อยโอกาสกว่าเรา อย่างคนพิการด้วย แต่ไม่ใช่ว่าแก้วหรือทุกคนที่เป็นเด็กทุนจะต้องโดนบังคับให้ทำกิจกรรมนะค่ะ แต่ว่าเด็กทุนมักอยู่หอในและเมื่ออยู่หอมีเวลาว่างเด็กทุนจึงสะดวกต่อการทำกิจกรรมและกลายเป็นเด็กกิจกรรมโดยปริยาย พร้อมๆกับทุกคนก็พร้อมที่จะตอบแทนคุณของจุฬาฯที่ให้โอกาสให้พวกเราได้เรียนด้วย”
ทั้งนี้ด้วยในความคิดของ “แก้ว” เธอมีความเชื่อว่ากิจกรรมต่างๆ เป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับตัวเอง ให้ตัวเองได้รู้สึกภูมิใจมากกว่าที่จะมานั่งหดหู่กับชีวิต
“ กีฬาหรือกิจกรรมมันช่วยเพิ่มค่าของตัวเองขึ้นมา เราไม่ได้เก่งมาก เราไม่ได้โดดเด่น ร่ำรวย แต่เราก็มีคุณค่าในตัวเอง เราสามารถทำกิจกรรมสร้างชื่อเสียงให้กับจุฬาฯ เราสามารถบำเพ็ญประโยชน์ แค่นี้เราก็ร็สึกภูมิใจในตัวเองมากกว่าจะหดหู่ในความไม่มีนะ”
ทิ้งท้ายที่การกล่าวถึงการทำงานในอนาคตหลังจากเรียนจบการศึกษา "แก้ว" อยากจะทำงานให้ได้ตามที่หวังไว้ อยากจะทำงานในสาขาที่ร่ำเรียนมาสักระยะเพื่อหาประสบการณ์จากนั้นทั้งสองตั้งใจจะนำวิชาความรู้กลับไปพัฒนาบ้านเกิด แก้วหทัยบอกอยากที่จะไปเป็นผู้ประกาศข่าว
“ก็ฝันอยากจะไปเป็นผู้ประกาศข่าวล่ะค่ะ หรือไปเป็นผู้ประสานงานชมรมหรือสมาคมที่เน้นในด้านการศึกษาก็ได้แล้วพอทำงานสักพักก็คงจะกลับไปทำงานที่บ้าน ไปพัฒนาอะไรหลายๆอย่างที่ไม่เหมือนกรุงเทพฯให้พัฒนา และกลับไปเปิดโอกาสให้กับคนที่ไม่เหมือนได้มีการศึกษา เพราะแก้วว่าการศึกษามันช่วยทำให้คนคิดเป็น”