Shmita Ramkumar อาสาสมัครหญิงชาวอินเดีย ซึ่งทำงานให้กับองค์กร Enactus ในตำแหน่ง Managing Director
แผนก International Affliate Division ซึ่งได้เดินทางไปเยี่ยมชาวรากแก้วภาคอีสานที่ภูพาน
ลองมาฟังทัศนะของเธอศูนย์การศึกษาพัฒนาภูพาน อันเนื่องมากจากพระราชดำริ, ๑๑ มกราคม ๒๕๕๕
โดย พีรวัศ กี่ศิริการอบรมเชิงปฏิบัติการ โครงการ รากแก้ว ของภาคอีสานคราวนี้ พิเศษกว่าการอบรมเชิงปฏิบัติการของภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ที่ผ่านๆมาตรงที่น้องๆนิสิตนักศึกษา ๑๒ สถาบันของภาคตะวันออกเฉียง เหนือที่เข้าร่วม มีโอกาสต้อนรับคุณชมิตา รามคุมาร์ (Shmita Ramkumar) อาสาสมัครหญิงชาวอินเดีย ซึ่งทำงานให้กับองค์กร Enactus ในตำแหน่ง Managing Director แผนก International Affliate Division ซึ่งเมื่อวานนี้เดินทางมาจังหวัดสกลนครเที่ยวบินเดียวกันกับผม
คุณชมิตาได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การทำงานเสียสละเพื่อสังคมกับน้องๆนักศึกษาที่นี่ มีเรื่องราวที่น่าสนใจ น่าจดจำมากมาย เช่น...เธอเล่าว่า เธอก้าวเข้ามาเป็นอาสาสมัครโครงการ SIFE หรือ Enactus ปัจจุบัน เธอก้าวเข้ามาด้วยความคิดที่ผิดพลาด ก้าวแรกที่เธอเข้ามาเพราะเธอเบื่อห้องเรียนนั่นเอง แต่แล้วการทำงานเป็นอาสาสมัครให้ส่วนรวมนั้นกลับทำให้เธอค้นพบตัวเอง และรู้เป้าหมายของชีวิตของเธอดีว่าจะทำอะไร และก้าวไปในทิศทางไหน
จังหวะการทำงานของเธอช่างเหมาะเจาะ (คล้ายๆกับ สถานการณ์สร้างวีรสตรี-ผู้บันทึก) ตรงที่มีเหตุการณ์สึนามิเมื่อเช้าวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ ซึ่งส่งผลกระทบโดยรอบต่อพื้นที่รอบชายฝ่ังมหาสมุทรอินเดีย รวมทั้งประเทศไทยของเราด้วย เหตุการณ์นั้นได้เปลี่ยนผู้หญิงคนหนึ่ง จากคนขี้อาย ไม่ชอบเผชิญหน้าผู้คน ไม่สามารถแม้แต่จะพูดจากับคนแปลกหน้าได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว พลิกให้เธอกลายเป็นคนที่มีความมั่นใจ นับถือตนเอง รวมทั้งเธอเริ่มมั่นใจในทิศทางของการเป็นอาสาสมัครมากขึ้นเพราะการเห็นคุณ ค่าในงานที่ตนได้ลงมือทำนั่นเอง
เธอเล่าว่าการการที่เธอก้าวเข้ามาทำโครงการ SIFE ในระยะแรกนั้นทำให้เธอต้องรู้จักนำเสนอความคิดที่สลับซับซ้อนให้กับผู้อื่น โดยเฉพาะนักธุรกิจที่เธอต้องการให้สนับสนุนโครงการของเธอ เธอได้ย้ำถึงความได้เปรียบเหล่านี้ให้กับน้องๆนิสิตนักศึกษาที่เข้าอบรมฟัง ว่า คุณสมบัติของการเป็นอาสาสมัคร ที่จะต้องเป็นคนช่างคิด และลงมือทำนั้น ต้องเป็นผู้สามารถมองเห็นรอบทิศ ไม่ใช่เห็นเหมือนม้าที่ถูกปิดตา แล้วมองไปเฉพาะข้างหน้า แต่ต้องเป็นคนที่มีไหวพริบต่อสถานการณ์เบื้องหน้า มองเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ในการทำงานมากกว่าคนอื่นๆ
เธอบอกว่าการได้เข้ามาทำโครงการ SIFE นั้น ทำให้เธอตระหนักในจุดหมายของชีวิต ซึ่งเธอไม่อาจค้นหาได้จากห้องเรียน จากสาระวิชาชีวเคมีอันเป็นวิชาเอกที่เธอศึกษาอยู่ หรือจากการทำวิจัยทางวิชาการใดๆได้
คุณชมิตาได้ให้แรงบันดาลใจที่สำคัญต่อน้องๆนิสิตนักศึกษาว่า จงอย่าประเมินตัวเองต่ำกว่าความเป็นจริง จงรู้เสียว่า คุณค่าของการทำโครงการเพื่อสังคมและชุมชนเหล่านี้มีค่ายิ่งนักต่ออนาคตทั้ง การงานอาชีพและเพื่อสังคมประเทศชาติ เธอได้ยกตัวอย่างที่น่าประทับใจถึงการที่บัณฑิตจบใหม่สองคนไปสัมภาษณ์งานที่ บริษัทค้าไม้แห่งหนึ่งว่า...
คนแรก - เป็นคนเรียนเก่ง ประพฤติดี เรียกว่า ดีหมดจดไปทุกอย่าง ในขณะคนที่สองไม่ได้เรียนเก่งเหมือนคนแรก แต่เคยเป็นอาสาสมัครทำโครงการ SIFE มาก่อน
ผู้จัดการอยากทราบว่าบัณฑิตทั้งสองมีไหวพริบ ปฏิภาณดีเพียงใด โดยการตั้งคำถามทีละคน เกี่ยวกับรถบรรทุกไม้ที่อยู่ด้านนอกห้องสัมภาษณ์ ปรากฎว่า บัณฑิตคนแรกต้องวิ่งเข้าออกห้องสัมภาษณ์ห้าถึงหกครั้งเพื่อตอบคำถามทีละคำ ถามจนจบ เช่น ไม้ที่บรรทุกมานั้นหนักเท่าไหร่ มาส่งวันละกี่เวลา ตอนไหนบ้าง ใครเป็นคนขับ ฯลฯ ต่างกับบัณฑิตคนที่สอง ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับผู้จัดการว่า “...ทำไมฉันถามเธอคำถามเดียว แต่เธอตอบได้หมด ราวกับรู้ใจว่าฉันจะถามอะไรต่อไป...” ผู้จัดการอดรนทนไม่ได้ที่จะถามถึงความเฉลียวฉลาดของบัณฑิตคนที่สอง
บัณฑิิตคนที่สองตอบว่า “อ๋อ...ก็เพราะผมเคยทำงานโครงการอาสาสมัครมาก่อนไงครับ ผมเองก็ไม่ได้ฉลาดมาก่อนหรอกครับ ในตอนแรกๆที่เราลงสนาม ไปสอบถามข้อมูลจากชุมชน เราก็ได้ข้อมูลมาไม่เคยพอ และต้องกลับไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราเคยเสียเวลามาก่อน จึงรู้ได้ว่าหากเราจะทำอะไรสักอย่างนั้น เราควรจะรู้อะไรบ้าง ผมจึงไม่เสียเวลา เมื่อออกไปตรวจสอบน้ำหนักของไม้ ผมจึงตรวจสอบข้อมูลที่จำเป็นอื่นๆจนครบถ้วน และสามารถตอบคำถามทั้งหมดได้ไงครับ...” ตัวอย่างนี้จึงชัดเจนว่า นี่เป็นเรื่องของประสบการณ์ ซึ่งไม่ได้จากห้องเรียน แต่ทักษะเหล่านี้ได้มาจากการทำงานนั่นเอง หรือจะพูดแบบไทยๆเราก็ต้องเรียกว่า คนเราต้องโง่ก่อน แล้วจึงฉลาด (ที่สำคัญอย่าโง่ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ฉลาดเสียที)
น้องๆนิสิตนักศึกษาครับ ผมเล่าเรื่องนี้และเขียนบันทึกไว้ในที่นี้ เพื่อตอกย้ำเรื่องราวและประสบการณ์ของคุณชมิตา ให้น้องๆอาสมัครภาคในอื่นๆที่ไม่มีโอกาสได้ฟังเมื่อคืนนี้ ได้รับรู้ว่า คุณค่าของการทำงานโครงการรากแก้วนั้นคือ โอกาสที่น้องทุกคนจะได้เรียนรู้ทักษะชีวิต และมีประสบการณ์การทำงานจากของจริงนั่นเอง
การคิดโครงการให้ส่งผลกระทบครบทั้ง ๓ มิติ - เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม อันเป็นข้อกำหนดพื้นฐานของโครงการรากแก้วที่ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานมูลนิธิรากแก้ว ผู้มีประสบการณ์ได้วางรากฐานไว้ให้แต่ต้นนั้นไม่ใช่เรื่องธรรมดา เพราะกว่าน้องๆจะนำเสนอโครงการได้ ต้องอดทนซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่จะเรียนรู้จากชุมชน และการเรียนรู้นั่นเอง จะสร้างประสบการณ์ชีวิตให้กับน้องๆทุกคนให้นำไปใช้ในการทำงานอาชีพ และงานเพื่อสังคมประเทศชาติในอนาคต
ผมได้มีโอกาสรับทราบจากอาจารย์เอกภูมิ วงษาไฮ แห่งมหาวิทยาลัยมหาสารคามว่า มหาวิทยาลัยมหาสารคามมีนโยบายอย่างชัดเจน ในการให้ทุกหลักสูตรของม.มหาสารคาม ซึ่งมีอยู่กว่าร้อยหลักสูตร ต้องมีพื้นที่ชุมชนรองรับ นั่นหมายถึงมหาวิทยาลัยมหาสารคามทำงานกับชุมชนกว่าร้อยชุมชนนั่นเอง แต่ข้อกำหนดของมหาวิทยาลัยก็ยังไม่เข้มข้นเท่ากับที่ท่านประธานมูลนิธิราก แก้วได้วางรากฐานไว้ให้ว่า การคิดโครงการใดๆต้องครบทั้งสามมิติ
น้องๆอาสาสมัครโครงการรากแก้วทุกคนครับ ผมอยากจะบอกว่า น้องๆน่ะมีโอกาสมากกว่านิสิตนักศึกษาคนอื่นๆทั่วประเทศนะครับ ที่มีโอกาสนำเสนองานในโครงการรากแก้ว เพราะนี่คือ ‘การเรียนรู้ทักษะชีวิต’ เนื่องจากน้องๆจะต้อง ‘ร่วมคิดกับชุมชน’ เพราะเราจะมาร่วมกัน ‘สร้างค่านิยม’ ใหม่ให้กับสถาบันอุดมศึกษาไทย ให้สาระวิชาความรู้นั้นเป็นประโยชน์และสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศ อย่างแท้จริง