ตอบยากครับตาแคม อย่างปีที่แล้วมันยังแกว่งตัวได้ 31.2-35.6
อย่างปีนี้ก็เคยแกว่งไปแตะ36กว่าๆอยู่พักนึง แต่ด้วยความพยายาม
ของแบงค์ชาติคงจะไม่ปล่อยให้ลอยไปถึง38กระมัง แต่ถ้าได้ก็ดี
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2388 01 ม.ค. - 03 ม.ค. 2552
ดูขยายใหญ่
ดอลลาร์-ทุนไหลออก-การเมือง แกว่ง 'ค่าบาท' ปี2552
รอบปี 2551 สถานการณ์ความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ถูกกำหนดโดยปัจจัยหลัก
หลายประการ เช่น ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เงินสกุลหลักในภูมิภาคเอเชีย ความเชื่อมั่นต่อปัจจัยในประเทศทั้งการเมืองและพื้นฐานเศรษฐกิจไทย ฯลฯ
โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศตัวเลขค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯรายไตรมาส ไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) อยู่ที่ 32.42 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ไตรมาสที่ 2 (เม.ย.-มิ.ย.) อยู่ที่ 33.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และไตรมาส 3 (ก.ค.-ก.ย.) อยู่ที่ 33.89 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และในเดือนตุลาคม 2551 เฉลี่ยค่าเงินอยู่ที่ 34.43 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
ระดับของค่าบาทแข็งค่าสุด ในปี 2551 อยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2551 และอ่อนค่าที่สุดที่ระดับเกือบ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนพฤศจิกายน 2551 อย่างไรก็ตามตลอดทั้งปี ไม่ว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าเร็วเกินไปหรือแข็งค่าเร็วเกินไป ธปท.ได้เข้าดูแล (แทรกแซง) ค่าเงินให้มีเสถียรภาพ เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับสกุลเงินหลักในภูมิภาค เพื่อไม่ให้เสียเปรียบทางการแข่งขันกับคู่แข่ง (ดูตารางเปรียบเทียบค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับสกุลเงินหลักในภูมิภาค)
****ทิศทางบาทปี 52 ไปทางไหน
แนวโน้มค่าเงินบาทในปี 2552 มีปัจจัยภายนอกที่มีผล คือ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินสกุลหลักในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงผลจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนกลับไปยังสหรัฐอเมริกาจากผลกระทบของวิกฤติการเงิน
ขณะเดียวกันปัจจัยในประเทศที่สำคัญ ซึ่งมีผลต่อค่าเงินบาท เช่น สถานการณ์การเมือง อัตราดอกเบี้ยที่เข้าสู่แนวโน้มขาลง ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งขณะนี้ต่างเป็นที่ประมาณการว่าจะเข้าสู่ภาวะขาดดุลทั้งคู่ในปี 2552 ซึ่งเป็นผลให้เงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่า
'กรณ์ จาติกวณิช' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความเห็นว่า จากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยในขณะนี้และแนวโน้มในปี 2552 ที่คาดว่า การส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยอาจเติบโตได้ในอัตราที่ลดลงจากปี 2551 คือ ลดลงจาก 3.4% ต่อจีดีพี เป็น -0.6% ถึง 1.6% ต่อจีดีพี ในปี 2552 ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2552 คาดว่าจะอยู่ในระดับติดลบ -2.4% ถึง -0.4% ต่อจีดีพี จึงทำให้ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลงไปได้อีกจากปัจจุบัน
"เป็นหน้าที่ของ ธปท. ที่จะต้องรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทไม่ให้เกิดความผันผวน หรือขึ้นลงเร็วเกินไปในลักษณะผิดปกติ และต้องรักษาระดับค่าเงินบาทให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเดียวกัน โดยเฉพาะกับประเทศคู่ค้าต่างๆ" รมว.คลังกล่าว
วงการตลาดเงินคาดการณ์สถานการณ์แนวโน้มค่าเงินบาทต่างมุมมอง เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ใช้สมมติฐานแนวโน้มค่าเงินบาทปี 2552 ไว้ที่ 34-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ นักบริหารเงินและนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ระดับของค่าเงินบาทแข็งค่าสุดและอ่อนค่าสุดไว้ตั้งแต่ 33.50-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
"อุสรา วิไลพิชญ์" นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ประเทศไทย)
มองแนวโน้มครึ่งแรกของปี 2552 ค่าเงินสกุลหลักในภูมิภาคเอเชียและค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่อง โดยกลางปี 2552 เคลื่อนไหวเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งค่าเงินบาทในปีหน้าจะถูกกำหนดด้วยปัจจัยต่างประเทศเป็นสำคัญ ทั้งการเคลื่อนย้ายเงินทุน และภาคเศรษฐกิจจริง โดยปีนี้มีโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเอเชีย โดยเฉพาะภาคการส่งออก ดังนั้นดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดจะได้รับผลกระทบมาก
ขณะที่ความเห็นของ ดร.บันลือศักดิ์ ปุสสะรังสี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยสายบริหารความเสี่ยง ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) มองแนวโน้มค่าบาทปี 2552 ผันผวนตามค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ โดยต้นปีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯมีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากการขาดดุลจำนวนมากของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นขาดดุลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา แต่ในช่วงครึ่งปีหลังมีโอกาสที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะดีดกลับขึ้นมาแข็งค่าขึ้นได้อีก จากการไหลเข้าของเงินทุนเคลื่อนย้ายที่จะไหลกลับเข้าสหรัฐฯ
"ธิติ ตันติกุลานันท์" ผู้บริหารธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) ระบุว่า คาดว่าค่าเงินบาทไตรมาสแรกจะแกว่งอยู่ระหว่าง 33.50-35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ปัจจัยแวดล้อมยังผันผวนและมีความถี่ในการเปลี่ยนเป็นรายสัปดาห์จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ทางด้าน "เผด็จ วิรุฬห์สิทธิ์" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด(มหาชน) กล่าวถึงทิศทางค่าเงินบาทปีหน้าน่ามีเสถียรภาพ โดยไตรมาสแรกมีแนวโน้มแข็งค่าอยู่ระหว่าง 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ สาเหตุหลักจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะโดยสภาพทั่วไปการที่สหรัฐฯยังคงพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้อย่างไม่หยุดยั้งโดยไม่รู้ว่าจะสร้างภาระผูกพันงบประมาณมากแค่ไหนในอนาคต อีกทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ที่ผ่านมา ยังสะท้อนระยะปานกลาง 1-2 ปี เศรษฐกิจสหรัฐฯยังถดถอย ประกอบกับสถาบันการเงินที่ยังค่อนข้างเปราะบาง แนวโน้มดอลลาร์สหรัฐฯจะแข็งค่าได้อย่างไร
****ลดดบ.นโยบายไม่กดดันค่าเงิน
ในส่วนของปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนไปจากอัตราดอกเบี้ยที่เข้าสู่ขาลง หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยจาก 3.75% เหลือ 2.75% ซึ่งมีผลเมื่อ 3 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมาและคาดการณ์ว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจปรับลดลงจนถึงกลางปี 2552
ก่อนหน้านี้ "สุชาดา กิระกุล" ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน แบงก์ชาติ เคยให้ความเห็นไว้ว่า หลังจากที่กนง.มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาร์/พีลง 1.0% ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยไม่ได้มีความแตกต่างจากประเทศอื่นๆมากนัก เนื่องจากหลายประเทศได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ดังนั้นส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจึงไม่ได้สร้างแรงกดดันต่อค่าเงิน
นอกจากนี้ หากเทียบค่าเงินบาทในช่วงก่อนและหลังปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเอาค่าเงิน ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2551 เทียบวันที่ 1 ธันวาคม 2551 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 0.88% ซึ่งอยู่อันดับที่ 8 ในภูมิภาค นับว่ายังเป็นไปตามภูมิภาค อย่างไรก็ตามหากค่าเงินเคลื่อนไหวเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4 - 5% นับว่าค่อนข้างมีเสถียรภาพ
เงินบาทปี 2552 จะเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าหรือแข็งค่า มีทั้งปัจจัยภายนอกและในประเทศเป็นตัวกำหนด ซึ่งท้ายที่สุดแล้วปีนี้คงเป็นอีกปีที่ "แบงก์ชาติ" ในฐานะผู้ดูแลเสถียรภาพต้องเหนื่อยหนัก