ส่วนคนที่คาดว่าจะเป็นรัฐมนตรีคลังคน ใหม่ คือ Timothy Geithner ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานธนาคารกลางแห่งนิวยอร์ก (คนที่เก้า) และน่าจะยังฟังหรือพูดภาษาไทย ได้บางคำด้วยซ้ำ
เพราะเขาเรียนหนังสือระดับมัธยม ที่โรงเรียนนานาชาติกรุงเทพฯ หรือ International School of Bangkok
เหตุเพราะคุณพ่อของทิม นั้น ชื่อ Peter Geithner เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้แทนของมูลนิธิฟอร์ด ประจำประเทศไทย และภูมิภาคนี้อยู่หลายปี จึงพาลูกชายคนนี้มาอยู่เมืองไทย และให้เรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ จนเข้ามหาวิทยาลัยจึงไปเรียนต่อที่สหรัฐ
คุณปีเตอร์ เป็นคนทำงานด้านการส่งเสริมการศึกษาและสังคมสำหรับประเทศไทยอย่างมุ่งมั่น และมีเพื่อนฝูงกว้างขวางในวงการต่างๆ และทุกวันนี้ ก็ยังเดินทางไปมาหาสู่ผู้คนในแวดวงการศึกษา และกิจกรรมช่วยเหลือสังคมในประเทศไทยเป็นระยะๆ
ส่วนลูกชายทิมนั้น เมื่อจบมัธยมจากกรุงเทพฯ ก็ไปเข้า Dartmouth College จบปริญญาตรีทางรัฐศาสตร์ และเชี่ยวชาญด้านเอเชียศึกษา จากนั้นก็ไปทำปริญญาโทที่มหาวิทยาลัย Johns Hopkins อันโด่งดังโดยก็ยังสนใจเอเชียตะวันออกศึกษาเป็นพิเศษอย่างต่อเนื่อง
คนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีคลังใน รัฐบาลโอบามา คนนี้เรียนทั้งภาษาจีน และญี่ปุ่น และได้ใช้ชีวิตการเรียนหนังสือ และทำงานอยู่หลายประเทศ อาทิเช่น แอฟริกาตะวันออก อินเดีย จีน ญี่ปุ่น และประเทศไทย
ช่วงที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งของประเทศไทยนั้น ทิมเป็นผู้ช่วยของรัฐมนตรีคลัง ที่ชื่อ Larry Summers ภายใต้ประธานาธิบดีบิล คลินตัน
บันทึกความทรงจำของคลินตัน ยังกล่าวถึง วิกฤติเศรษฐกิจของไทยขณะนั้นโดยเขายอมรับว่ารัฐบาลมะกัน ตอบสนองคำเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยขณะนั้นช้าไป จนทำให้เกิดความรู้สึกทางลบจากคนไทยไม่น้อย
ข่าวล่าสุดบอกว่า Larry Summers จะเป็นหัวหน้าสภาเศรษฐกิจในทำเนียบขาว ทำงานใกล้ชิดกับประธานาธิบดีโอบามา เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ เพื่อประสานกับรัฐมนตรีคลังอีกด้านหนึ่ง
วันนี้ โอบามา กับทิม ไกน์เนอร์ คงต้องแสดงความเข้าใจเอเชียมากกว่ารัฐบาลก่อนๆ ของอเมริกา โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องเกี่ยวกับการทำความเข้าใจกับปัญหาของเอเชียที่เกี่ยว ข้องกับสหรัฐ ในแง่ของความร่วมมือและการทำมาค้าขายกันและกัน
พอข่าวรั่วออกมาว่าโอบามา จะตั้งไกน์เนอร์ เป็นรัฐมนตรีคลัง เพื่อตั้งรับวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์อย่างจริงจัง ตลาดหุ้นสหรัฐก็ขานรับทางบวกทันที เพราะเขาได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐมนตรีคลังเฮนรี พอลสัน คนปัจจุบันในการแก้ปัญหาวิกฤติสถาบันการเงิน และฟื้นฟูเศรษฐกิจพอสมควร
ว่ากันว่า ไกน์เนอร์ (ปีนี้อายุ 47) มีบทบาทสำคัญยิ่งในการเจรจากับ Lehman Brothers ก่อนที่ธนาคารนวธนกิจแห่งนี้ เข้าสู่ภาวะล้มละลาย
อีกทั้งยังเป็นคนหาทางเข้าไปอุ้มบริษัทประกันยักษ์อย่าง AIG และธนาคารนวธนกิจ JP Morgan ให้รอดจากการที่ต้องเจ๊งไปอีกด้วย
ดูเหมือนว่าฝีไม้ลายมือของทิม ไกน์เนอร์ ในด้านการบริหารวิกฤติทางด้านการเงินจะเป็นที่ยอมรับของวงการนี้ในระดับหนึ่ง
และหวังว่าประสบการณ์ของการเคย เติบโตที่อินโดฯ ของโอบามา และที่เมืองไทยของทิม ไกน์เนอร์ จะทำให้รัฐบาลใหม่ที่วอชิงตัน มีความเห็นอกเห็นใจเอเชียมากกว่าที่ผ่านมา
(เกาะติดความเห็นต่อสถานการณ์ร้อนๆ ทั้งในและต่างประเทศ ได้ที่
www.suthichaiyoon.com ตลอด 24 ชั่วโมง)