อืมม นอกจากกบกับจิ้งหรีดแล้ว satellite จะยังพบในตัวอะไรได้อีกน้า? ลองนึกๆๆๆๆๆ.....
โอ้ว What about ในหิ่งห้อยล่ะ!?
...ถ้าเราเปลี่ยนจากเสียงเป็นแสงมั่ง พวกหิ่งห้อยจะว่าไปแล้วมันก็มีการส่งสัญญาณเรียกตัวเมียเหมือนอย่างในจิ้งหรีดกับกบนั่นแหละ เพียงแต่แทนที่มันจะร้องเพลงด้วยเสียง มันก็อาศัยร้องเพลงด้วยการกระพริบแสงแทน.. แถมที่เมืองไทยนี่ ก็เป็นหนึ่งในไม่กี่แห่ง ที่มีหิ่งห้อยชนิดพิเศษ ซึ่งตัวผู้จำนวนมาก จะมาเกาะรวมกันบนต้นลำพูต้นเดียวกัน เสร็จแล้วก็ช่วยกันกระพริบแสง ติด ดับ ติด ดับ พร้อมๆ กัน (synchronous flashing) เป็นการร้องประสานแสง ประมาณเดียวกับที่กบมันร้องประสานเสียง จุดประสงค์ของการกระพริบพร้อมๆ กันนี้ นักชีววิทยาบางคน บ้างก็ตั้งสมมติฐานว่า เป็นการกระทำเพื่อแอมพลิฟายขยายสัญญาณ ให้มันเห็นได้จากที่ๆ ไกลๆ ยิ่งขึ้น ต่างคนต่างกระพริบกันคนละที่ คนละที อาจจะดึงดูดตัวเมียได้ไม่ดีเท่ากับมาช่วยกันกระพริบพร้อมๆ กัน.. ถ้าเกิดสมมติฐานนี้เป็นจริง ผมว่า ไอ้บนต้นที่ช่วยๆ กระพริบๆ กันอยู่เนี่ย มันจะต้องมีบางตัวที่ชอบแอบอู้ ปะปนอยู่ด้วยแน่ๆ!
...เรื่องนี้ดูเหมือนจะยังไม่มีใครเคยศึกษามาก่อนด้วย
...เป็นไปได้มั้ยว่า เราอาจมีโอกาส ได้ค้นพบพฤติกรรม satellite male ในหิ่งห้อย เป็นครั้งแรกของโลก?
...เมื่อ 2 วันก่อนผมเพิ่งไปร่วมประชุมวิชาการความหลากหลายทางชีวภาพและการอนุรักษ์สัตว์ป่าของกลุ่มนักศึกษาที่มหิดลมา (กลุ่มมีชื่อว่า TYPIN ย่อมาจาก Thai Young Professionals Initiative) ในงานได้มีโอกาสพบปะและรับฟังบรรยายจากบรรดา ‘คนค้นสัตว์’ ตัวจริง เยอะแยะไปหมด
พูดแล้วก็อายนะครับ อย่างผมนี่ จะว่าไปแล้ว จริงๆ น่าจะเรียกตัวเองว่าเป็น ‘คนค้นอินเตอร์เน็ต’ ซะมากกว่า ผิดกับคนเหล่านี้ซึ่งต่างก็ได้เคยทุ่มเทลงไปศึกษาสัตว์ป่าในพื้นที่ที่อยู่จริงๆ ของมัน ต่างคนต่างมีประสบการณ์ตรงที่ได้จากการสัมผัสด้วยมือตนเองกันมาอย่างล้นหลาม อย่างเช่นมีพี่ผู้หญิงอยู่คนนึง ตามเก็บขี้ช้างจากทั่วทั้งป่า เสร็จแล้วก็เอามาสกัด DNA เพื่อเอาไปใช้ทดสอบทำลายพิมพ์ DNA ช้าง (หลักการเดียวกับลายพิมพ์รอยนิ้วมือ) จะได้สามารถระบุได้ว่าตัวไหนเป็นตัวไหน แล้วก็จะได้สำรวจได้อย่างแม่นยำกว่าเดิมว่าในป่ามันมีช้างอยู่ทั้งหมดกี่ตัวกันแน่.. อีกคนนึงเป็นรุ่นน้องผมชื่อเชฐ คนนี้ก็ทำเรื่องช้างเหมือนกัน แต่เน้นด้านชุมชนเป็นหลัก คือลงไปช่วยชาวบ้านคิดหาวิธีไล่ช้างที่ชอบออกจากชายป่ามาบุกกินพืชไร่ ไอ้ความรู้เรื่องช้างสีดอที่ไม่มีงานั่น ผมก็เพิ่งได้ยินเป็นครั้งแรกจากปากของน้องเชฐผู้นี้นี่แหละ ต้องขอบคุณมากๆ เลยนะ
...อีกท่านหนึ่งที่ประทับใจมากๆ ก็คือ อาจารย์พิไล หรือ เจ้าแม่นกเงือก (ในเมืองไทยนี่ ใครเชี่ยวชาญเรื่องตัวอะไรก็มักจะถูกเรียกฉายาตามชื่อตัวนั้นๆ อย่างเช่น ดร. ปลา อาจารย์เต่า เจ้าแม่พะยูน หรือ เจ้าพ่อเสือ อะไรก็ว่ากันไป) ซึ่งเป็นคนที่ปลุกกระแสอนุรักษ์นกเงือกขึ้นมาเป็นคนแรกของประเทศไทยและภายหลังก็ได้รับการยอมรับในระดับนาๆ ชาติไปทั่วโลก
...แต่ที่สำคัญที่สุด(ต่อเรื่องที่เขียนอยู่นี้) เห็นจะหนีไม่พ้นพี่ผู้หญิงคนนึง ซึ่งต่อไปคงได้รับสมยานามว่าเป็น ‘เจ้าแม่หิ่งห้อย’ แห่งประเทศไทยเป็นแน่แท้ (ชื่อเล่นจริงๆ แกชื่อ พี่ก้อย แต่เมื่อผสมกับที่ชอบศึกษาหิ่งห้อยแล้ว ก็ไม่แน่ใจว่า อาจจะเรียกว่า ‘พี่ห้อย’ ได้รึเปล่า) พี่ห้อยผู้นี้ แกได้พัฒนาเทคนิคการเลี้ยงหิ่งห้อยในห้องแล็บขึ้นมาได้สำเร็จเป็นคนแรกของบ้านเรา (หรืออาจจะของโลกด้วยรึเปล่าไม่แน่ใจ สำหรับหิ่งห้อยตระกูลนี้นะ) ฟังจากที่แกเล่าแล้ว อุปสรรคความยากลำบากก่อนที่จะสำเร็จได้ มันช่างมากมายเหลือเกิน คือแกเริ่มต้นทำมาตั้งแต่อยู่ป. ตรี มาจนถึงตอนนี้อยู่ป. เอก แล้ว ถึงเพิ่งจะสำเร็จเมื่อไม่นานมานี้เอง เรียกว่าใช้เวลาเกือบ 10 ปีได้ กว่าจะเริ่มจากต้องไปเก็บหิ่งห้อยมา เอามาศึกษาว่ามันชอบวางไข่บนใบไม้แบบไหน พอไข่ฟักออกมาเป็นตัวอ่อนเหมือนลูกน้ำยุง ต้องให้มันกินอะไร น้ำต้องอุณหภูมิเท่าไหร่ ต้องสะอาดขนาดไหน สี่ห้าเดือนผ่านไป กว่ามันจะโต พอจะเข้าดักแด้ ก็ต้องเอาดินมาให้มันอยู่นะ ต้องหาฝาแก้วมาปิดจะได้มองเห็นพัฒนาการข้างในดักแด้ของมันได้นะ พอฟักออกมาเป็นตัวเต็มวัย จะศึกษาพฤติกรรมการผสมพันธุ์ของมันก็ต้องทำตอนกลางคืน ปิดไฟมืดสนิท นั่งดูนั่งถ่ายวิดิโอทีละเป็นสี่ห้าชั่วโมง ต้องทำทุกคืน ต้องดูแลทุกวันไม่มีวันหยุด ไหนจะมีปัญหาเรื่องทำๆ ไป อ้าวหิ่งห้อยเริ่มเป็นโรคตาย เพราะมันผสมพันธุ์กันในหมู่พี่น้องมากเกิน ก็ต้องออกไปหาหิ่งห้อยจากข้างนอกมาเพิ่มใหม่ ไหนจะทำๆ อยู่ดีๆ ก็เพิ่งค้นพบว่า อ้าวชนิดนี้เป็นชนิดใหม่ ไม่ได้เคยมีใครบันทึกไว้มาก่อน ก็ต้องมานั่งทำทะเบียนจดบรรยายลักษณะให้มันอย่างละเอียด หนวดมีกี่ปล้อง ขามีขนกี่เส้น อวัยวะเพศรูปร่างเป็นยังไงก็ต้องดึงออกมานั่งวาดอีก มุ่งมั่นศึกษาอยู่คนเดียวด้วยความทรหดอดทนเป็นอย่างยิ่ง จนถึงตอนนี้ก็เรียกได้ว่า อะไรต่างๆ มันก็เริ่มที่จะเข้าที่ละ และต่อไปอีกไม่นานก็คงเลี้ยงได้อย่างเป็นระบบ แล้วก็สามารถลงมือทำการศึกษา เพื่อหาคำตอบจริงๆ จังๆ เกี่ยวกับเรื่องพฤติกรรมของมันได้ซักที
...ผมฟังที่พี่ห้อยเค้าพูดจบ ก็เลยได้เป็นไอเดียบรรเจิดกลับมานั่งคิดที่บ้านนี่แหละครับ ว่าเออ ถ้าเรามีประชากรหิ่งห้อยพร้อมแล้ว ไม่แน่เราอาจจะสามารถลงมือศึกษาเรื่อง satellite male ได้นะ ว่ามันมีจริงรึเปล่า? แล้วถ้ามันมีจริงเนี่ย พวกมันจะประสบความสำเร็จในการหาคู่ได้มากน้อยขนาดไหน เมื่อเทียบกับตัวผู้อื่นๆ ที่กระพริบแสงตามปกติ? ตัวเมียมันจะยอมผสมพันธุ์กับตัวผู้ขี้โกง ที่ไม่ยอมกระพริบแสงมั้ย? หรือถ้า satellite male ไม่มีในหิ่งห้อย เป็นไปได้มั้ย ว่าเป็นเพราะหลอดไฟตรงตูดมันนั่นอาจจะเป็นหลอดผอมจอมประหยัด คือกระพริบไปเถอะไม่ได้สิ้นเปลืองพลังงานอะไรมาก ไม่จำเป็นต้องโกงก็ได้? หรือว่า จริงๆ แล้วปัจจัยเรื่องผู้ล่า แล้วก็ปรสิต อาจจะเข้ามามีอิทธิพลด้วย? ในหิ่งห้อยชนิดนี้มีตัวอะไรมากินมันมั่งรึเปล่า? มีแมลงวันมาวางไข่ในตัวมันมั่งรึเปล่า? แล้วพวกตัวเหล่านี้มาตามแสงของมันใช่หรือไม่? satellite male ในหิ่งห้อยอาจจะวิวัฒน์ขึ้นมาเพื่อเป็นวิธีหลีกเลี่ยงศัตรูตามธรรมชาติเหมือนอย่างในจิ้งหรีดก็เป็นได้..เอ๊ะแล้วหิ่งห้อยตัวเดิมถ้าเป็น satellite แล้วจำเป็นต้องเป็นไปตลอดเหมือนอย่างในจิ้งหรีดมั้ย? หรือว่ามันสามารถเลือกตัดสินใจได้ คืนไหนจะโกง คืนไหนจะไม่โกง? เออ แล้วนี่ ถ้าเลี้ยงได้เยอะๆ แล้ว จะสามารถผลักดันให้หิ่งห้อยกลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงชนิดใหม่ มีขายตามจตุจักร คนสามารถซื้อไปปล่อยตามต้นไม้ที่บ้าน เป็นไปได้มั้ย? โอยยยย.. คำถามมันช่างผุดขึ้นมาไม่รู้จบ
...เสียดายในงานยังไม่มีโอกาสได้แชร์ไอเดียเหล่านี้ร่วมกับพี่ห้อยเป็นการส่วนตัว แต่ยังไงก็คาดว่า ต่อไปน่าจะได้ลองติดต่อขอไปเยี่ยมชมแล็บแกดูซักครั้งอย่างแน่นอน หรือไม่แน่นะครับ ผมอาจจะถึงขั้นขอสมัครเป็นลูกศิษย์ ไปทำงานร่วมกับแก ช่วยกันวิจัยเรื่องพฤติกรรมทางเพศของหิ่งห้อย (หลังจากที่ได้ศึกษาการเอากันของปลาหมึกมาจนเบื่อแล้ว) ดีไม่ดีสมัครเข้ามหิดล ทำเป็นตีสิสระดับปริญญาเอกไปเลยก็เข้าท่า..
บทความทั้งหมด คัดลอกมาจาก http://www.onopen.com/2007/02/1997 ครับ