22 พฤศจิกายน 2567, 18:33:47
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน [สมาชิกเก่าลืมรหัส โทร 081-7611760]
A A A A  ระเบียบปฎิบัติ
   
Languages    
  หน้า: [1]   ลงล่าง
ผู้เขียน หัวข้อ: เสียงอ่านประกอบเพลง หลักธรรม หลักทำ ตาม  (อ่าน 5381 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
โจโฉ คร้าบบบ
มือใหม่หัดเมาท์
*


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 24

เว็บไซต์
« เมื่อ: 03 ธันวาคม 2553, 21:31:53 »

.. เสียงอ่านหนังสือประกอบเพลง ..
* หลักธรรม หลักทำ ตามรอยพระยุคลบาท *

เขียนโดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล (เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา)
เสียงอ่านโดย โจโฉ


<a href="http://www.archive.org/download/King9Thailand/King90001.WMA" target="_blank">http://www.archive.org/download/King9Thailand/King90001.WMA</a>
ไฟล์ตัวอย่าง ไฟล์แรก  ที่เหลือโหลดได้ในไฟล์รวมเลยครับ

รายละเอียดแต่ละหัวข้อ

01.หลักธรรม หลักทำ ตามรอยพระยุคลบาท
02.เสียคน-ปรับเปลี่ยนค่านิยม
03.ถามตัวเอง ทำดีอะไรบ้าง
04.หลักสิบประการตามรอยพระยุคคลบาท 1
04.หลักสิบประการตามรอยพระยุคคลบาท 2
06.หลักสิบประการตามรอยพระยุคคลบาท 3
07.หลักสิบประการตามรอยพระยุคคลบาท 4
08.หลักสิบประการตามรอยพระยุคคลบาท 5
09.หลักสิบประการตามรอยพระยุคคลบาท 6
10.หลักสิบประการตามรอยพระยุคคลบาท 7
11.ตามหลักทศพิธราชธรรม
12.ตัด5อธรรม ใส่5ธรรม
13.ภาคผนวก-ทศพิธราชธรรม
14.ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
15.ตัวอย่างเศรษฐกิจพอเพียงแต่ละระดับ
16.ติดตามและรายละเอียด



ฟังสดๆ และเลือกดาวน์โหลดได้ที่นี่ http://audio.palungjit.com/f22/%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1-%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%97%E0%B8%B3-%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%97-%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%A5%E0%B9%8C%E0%B9%81%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%97%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9F%E0%B8%B1%E0%B8%87-%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%A5%E0%B9%8C%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%94-6100.html

หรือที่นี่
http://www.archive.org/details/King9Thailand

*มีไฟล์ให้ดาวน์โหลดสองขนาดนะครับ*
รวมไฟล์ทั้งหมด รูปแบบไฟล์ * ดาวน์โหลดช่องนี้ *
* คุณภาพมาตราฐาน MP3/160 Kbps 160.6 MB
http://www.archive.org/download/King9Thailand/King9mp3.rar

* คุณภาพเล็ก ทดลองฟัง เครื่องเล่นพกพา Wma / 48 Kbps 56.8 MB
http://www.archive.org/download/King9Thailand/King9wma.rar

*เฉพาะเอกสารเพื่อพิมพ์อ่าน หรือดูผ่านคอมพิวเตอร์*
หนังสือหลักธรรม หลักทำ ตามรอยพระยุคลบาท MS Word 208.0 KB
http://www.archive.org/download/King9Thailand/King90017.DOC

วิธีอธิฐานจิตถวายในหลวง โดย หลวงพ่อพุธ ฐานิโย MS Word 45.5 KB
http://www.archive.org/download/King9Thailand/King90018.DOC

รวมพระบรมฉายาลักษณ์ ร.๙ (ในหลวงกับพระอริยะ) .Rar 6.0 MB
http://www.archive.org/download/King9Thailand/King90019.RAR

เกี่ยวกับผู้อ่าน(โจโฉ) .Rar 2.7 MB (เผื่อจะมีคนอยากรู้จัก 555)
http://www.archive.org/download/King9Thailand/King90020.RAR




      บันทึกการเข้า

www.jozho.net
แจก CD ธรรมะฟรี ดาวน์โหลดธรรมะฟรีมากมาย
เสียงเทศนาหลากหลายครูบาอาจารย์
เสียงอ่านหนังสือธรรมะสำหรับคนรุ่นใหม่ ฟังสบาย เข้าใจง่าย
โจโฉ คร้าบบบ
มือใหม่หัดเมาท์
*


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 24

เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 03 ธันวาคม 2553, 21:32:37 »

หลักธรรม หลักทำ ตามรอยพระยุคลบาท

ดร.สุมธ ตันติเวชกุล
เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา

คำนำ

เวลานี้คนไทยจำนวนไม่น้อยกำลังใช้ชีวิตตามอย่างโลกตะวันตกโดยหลงลืมความเป็นตะวันออกไปจนแทบหมดสิ้น
เหมือนอย่างที่หลวงปู่ขาวเคยเทศน์ไว้ว่า คนไทยเป็นคนติดซาก หมายถึงยึดติดกับวัตถุ จนละเลยเรื่องของจิตใจอันละเอียดอ่อน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นแบบอย่างที่ดีในทุกด้าน โดยเฉพาะทรงมีความเป็นไทยอย่างที่สุด ดูได้จากพระราชจริยวัตรของพระองค์ทั้งเรียบง่ายพอดี และมีความอ่อนน้อมถ่อมตน นี่คือลักษณะของคนตะวันออกที่หาได้ยากแล้วในปัจจุบัน
ถึงเวลาที่คนไทยจะต้องหันมาตามรอยพระยุคลบาทโดยยึดเอาหลักธรรมทั้งหลายที่ ทรงแสดงให้เห็น มาใช้เป็นหลักปฏิบัติ หรือเป็นหลักทำ ทั้งนี้เพื่อความดีงามอันจะบังเกิดขึ้นในชีวิตที่เหลืออยู่นี้



หลักธรรม หลักทำ ตามรอยพระยุคลบาท

ตั้งแต่ชาติบ้านเมืองพัฒนามานี่ ผมคิดว่ามีทั้งแง่ดี และแง่ที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศเยอะมาก โดยเฉพาะเมื่อ ๓๐ กว่าปี ๔๐ ปีแล้วที่เราเริ่ม พัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๐
เราเริ่มพัฒนาอย่างนั้นก็หมายความว่าเราเริ่มปรับเปลี่ยนจากประเทศที่เคย อยู่แบบธรรมดาๆ ไม่มีแผน แต่ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ประชาชนของเรามีประมาณสัก ๒๐ ล้านเท่านั้น เข้าไปปรับเปลี่ยนหนทางใหม่ อันนั้นคือแนวความคิดสากลที่นำมาใช้ในช่วงปี ๒๕๐๐

เสียคนเพราะอยากร่ำรวย

แผนพัฒนาฯ ฉบับแรกๆ จนกระทั่งหลายฉบับที่ตามมา ถูกชี้นำโดยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศแทบทั้งสิ้น โดยที่เราไม่รู้ตัวเลยว่า เราได้นำเอาค่านิยม เอาแนวทางหลักความคิดของตะวันตก มาเป็นเครื่องนำทางของเรา
วิถีชีวิตอีกซีกโลกนั้นแตกต่างกับของเราอย่างไร ประการแรกสุด ซีกโลกตะวันตกนั้นเขายึดถือวัตถุ แต่ซีกโลกของเราทางด้านเอเซียยึดถือเรื่องคุณธรรม วัฒนธรรม เรื่องจริยธรรมเป็นที่ตั้ง หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ โลกตะวันตกเป็นโลกของรูปธรรม ขณะที่โลกตะวันออกเป็นโลกของนามธรรม
ที่ผ่านมาคนไทยครองชีวิตครองตัวอยู่อย่างพอดี อยู่อย่างถ่อมเนื้อถ่อมตน ยึดเส้นทางสายกลาง อยู่บนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียงที่พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งกับเรามาโดยตลอด บ้านเมืองก็คิดว่าเรามีความสุขพอสมควร
แต่นับเนื่องจากวันที่เราจะก้าวไปสู่ยุคปรับเปลี่ยน จากสิ่งที่เป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของเรา เปลี่ยนไปสร้างความร่ำรวยด้วยเงินทองเป็นที่ตั้ง คือสร้างการเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายหลักของแผนพัฒนาฯ ทุกฉบับ โดยคิดว่าเราต้องสร้างความร่ำรวยให้ได้ก็พอแล้ว ทุกอย่างจะดีมาเอง แล้วเราก็เริ่มสร้างจริงๆ
ในระยะถัดมานั้นเรารวยจริงๆ ในด้านตัวเลข เราสัมฤทธิผลในส่วนนี้ จำได้ไหมครับว่าเราภูมิใจเมื่อสัก ๒๐-๓๐ ปีที่แล้วว่า เราเป็นแชมป์การเจริญเติบโต จีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ) ของเราทำได้ ๗ เปอร์เซ็นต์ ๘ เปอร์เซ็นต์ บางที ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่มีประเทศไหนเขาทำได้หรอกนะครับ เราก็ดีใจว่าบ้านเมืองเจริญ จนกระทั่งหลายคน นักการเมืองก็ดี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นักวิชาการ เชื่อว่าประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางอย่างนั้น ศูนย์กลางอย่างนี้ ศูนย์กลางการเงิน การคลัง ศูนย์กลางขนส่งทางอากาศ ซึ่งล้วนแล้วแต่ศูนย์กลางสารพัด แต่พอเหลียวกลับมาดูอีกแง่หนึ่งเราได้อะไร และเราเสียอะไร
เราได้เงินมาครับ แต่พร้อมกันนั้นเรากลับเสียทุกอย่างและเราเสียสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เราเสียคน
ทำไมผมพูดอย่างนั้น เพราะพอมาถึงช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ ๓ เราก็เพิ่งเติมคำว่า “สังคม” ลงในแผนเดิม เราคิดว่าพัฒนาเศรษฐกิจดี ร่ำรวยดี อย่างอื่นดี พอแล้ว ไม่เคยมองด้านสังคม มาในแผนพัฒนาฯ ประมาณช่วงฉบับที่ ๓ ถ้าจำไม่ผิด คิดว่าเราทำการเกษตรไม่รวย ทำอย่างไรก็ไม่รวย รวยช้า เหนื่อย ไปทำอุตสาหกรรมดีกว่า และตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เราเริ่มหากรรมใส่ตัวเรื่อยมา
และขอเรียนว่า ตรงนี้เป็นการเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาจากพื้นฐานการเกษตรที่ใช้ภูมิปัญญาของ เราเอง ใช้ดินของเราเอง ใช้คนของเราเอง เราเป็นเจ้าชีวิตของเราเอง ไปสู่การพัฒนาที่เน้นด้านอุตสาหกรรม ซึ่งในส่วนภาคอุตสาหกรรมนั้น เราต้องการอะไรในเบื้องต้น เราต้องการเงินครับ ถามว่าเรามีเงินไหม ไม่มีไม่เป็นไร ไปกู้เขา กู้เสร็จแล้วเราก็ดีใจมาก ภูมิใจมาก เราเป็นลูกหนี้ที่ดีที่สุดในโลก เพราะไม่เคยเบี้ยวเลย ธนาคารโลกก็อยากให้เรากู้ ใครก็อยากให้เรากู้ ภูมิใจ ผมจำได้ ระยะนั้นเราคิดอย่างนั้นจริงๆ

นอกจากเงินแล้ว เรายังต้องการอะไรอีกในการพัฒนาอุตสาหกรรม ต้องการเทคโนโลยีครับ ถามว่าเทคโนโลยีเรามีของเราเองไหม เราเคยพัฒนาเทคโนโลยีของเราหรือเปล่า เปล่า ไม่เป็นไรอีก เราซื้อเขามาได้ จำได้ไหมครับ
“เคลื่อนย้ายเทคโนโลยี” อันนี้คือคำที่เราใช้ คือซื้อมาหรือเคลื่อนย้ายมาใช้ในบ้านเรา
อันที่สามเราต้องการอะไรอีกครับสำหรับเรื่องอุตสาหกรรม ก็เรื่องการบริหารสิครับ ต้องการคนครับ เราต้องการนักบริหารระดับสูง ถามว่าระบบการศึกษาของเราสร้างคนเหล่านั้นขึ้นมาหรือเปล่า คำตอบคือเปล่า เพราะฉะนั้นเราต้องใครครับ เราต้องการคนญี่ปุ่น คนฝรั่ง ที่เข้ามาเดินเต็มบ้านเต็มเมือง เพื่อมาบริหารงาน เงินและเทคโนโลยีของเขา ขณะที่คนไทยร่ำรวยจากเงินเดือน แต่คนไทยก็ทำได้แค่เป็นภารโรง คนงาน เสมียนหรือระดับกลางๆ เท่านั้นเอง คนไทยระดับสูงนั้นมีแค่หยิบมือเดียว ก็ถูกแย่งตัวกัน เห็นไหมครับตอนยุคนั้นยุคฟองสบู่พอง เงินเดือนของคน ไม่น่าเชื่อ เดือนละเป็นล้าน แพงยิ่งกว่าสิงคโปร์ เราเหมือนพ่อครัว คนหยิบมือเดียวก็แย่งกัน อย่างที่พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งไว้ คือสร้างบ้านขึ้นมาโดยไม่ได้ฝังเสาเข็ม เศรษฐกิจพอเพียงคือฝังเสาเข็มวางรากฐานก่อน
เหมือนอย่างที่ตึกบางลำภู ขออนุญาตไว้ ๔ ชั้น ต่อขึ้นไปถึง ๑๑ ชั้น มันก็พังครืนลงมา ที่โคราชโรงแรมก็พังครืนลงมา มีเพื่อนเราหลายคนตายอยู่ในซากนั้น ฉันใดก็ฉันนั้น การสร้างความร่ำรวยโดยไม่มีการวางรากฐานรองรับมาก่อน ก็คือไม่ได้สร้างเศรษฐกิจพอเพียงมาก่อนก็อยู่ไม่ได้ พระองค์ท่านไม่ได้บอกให้ทุกคนกลับไปปลูกถั่วปลูกงากิน ไม่ใช่ แต่ให้ค่อยๆพัฒนาขึ้นไปตามลำดับ

แต่สิ่งที่ผมกล่าวเมื่อสักครู่เป็นสิ่งสำคัญที่สุด คือ เราเสียทรัพยากรและขายทุกสิ่งทุกอย่างบนแผ่นดินนี้ เราขายดิน เราขายป่าไม้จนหมด เราขายแร่ ยุคพวกเรายังหนุ่มหรือยังเด็ก จำได้ไหมครับว่า เรามีข้าว ยางพารา ไม้สัก ดีบุก รวยแค่นี้พอ บัดนี้ก็วิ่งขายกัน ผู้หลักผู้ใหญ่ก็วิ่งขายกัน สินค้าออกไม้สัก เลิกพูดแล้วสมัยนี้ ปรากฏว่าเราขายไปทุกอย่างแล้วเราร่ำรวยขึ้นมา หมายความว่าเราขายเพราะเราอยากได้เงิน และเมื่อ ๘-๙ ปีที่แล้ว ทุกอย่างก็พังครืน
แต่ที่เราเสียดายและยากที่จะกลับคืนก็คือ เราเสียคน เสียคนเพราะอะไรครับ เพราะเราหลุดจากหลักธรรมที่เรายึดมาตลอด คือ เดินเส้นทางสายกลาง แต่เป็นการเดินไปสู่ความโลภ ความหลง การกอบโกยทุกอย่าง เข้าเป็นสมาชิกสังคมบริโภคสุดกู่

เวลานี้คนต้องมีบ้านโตๆ ไม่มีก็ต้องไปกู้ยืมเงินเขา เพราะมันเป็นศักดิ์ศรีของสังคม ทุกคนก็ขี่รถใหญ่ๆแพงๆ ทุกคนต้องหิ้วกระเป๋าหลุยส์ติ๊งต๊องอะไร ใบละห้าหมื่น อะไรไม่รู้ เงินในกระเป๋าไม่มีเลยไปซื้อกระเป๋าซะหมด เวอร์ซาเช่ยี่ห้อเดียวคนไทยไปซื้อจากต่างประเทศในช่วงฟองสบู่เป็นเงินทั้ง สิ้น ๒,๖๐๐ ล้านบาท ยี่ห้อเดียวซื้อเงินสดตามไม่ได้ เพราะไม่รู้จะตามอย่างไร รูดการ์ดอย่างเดียว เพราะว่าเงินมันเยอะใช้กันฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยกันจนหมด เสียคน







ถึงเวลาปรับเปลี่ยนค่านิยม

ค่านิยมของคนไปผูกกับวัตถุหมด หลวงปู่ขาวได้เทศน์เอาไว้ว่าคนไทยเป็นคนติดซาก ทุกคนต้องใส่โรเล็กซ์กันเต็มไปหมด กี่แสนก็ไม่รู้ แล้วถ้าไม่รวยจะเอาที่ไหนมาอยู่รอดได้ครับ เพราะที่เป็นอยู่มันไม่ใช่ของจริง ที่ได้มาเพราะมันได้มาอย่างไรไม่รู้ เพราะความโลภ ความอะไรสารพัดไปหมด เมื่อสร้างนิสัยอย่างนี้ ก็เข้าครอบงำหมด พอครอบงำหมดค่านิยมของสังคมก็เปลี่ยนไป พอค่านิยมถูกปรับเปลี่ยนอะไรเกิดขึ้นครับ เงินเดือนในระบบราชการก็ไม่สามารถที่จะเอื้อให้มีสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ ทำอย่างไรครับ ก็ต้องประพฤติที่ผิด คำว่าประพฤติที่ผิดนั้นก็คือโกง ก็คือคอร์รัปชั่น จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ แล้วแต่จะเรียกก็แล้วกัน ระบบนี้ครอบงำในทุกส่วนของสังคม ทำให้ชาติบ้านเมืองย่ำแย่อยู่ในขณะนี้
ไม่ว่าจะเป็นหน่วยราชการ ไม่ว่ารัฐวิสาหกิจ ไม่ว่าที่ไหนก็แล้วแต่ ยอมรับจะทำอะไรสักอย่างซองต้องไป ซองไม่ไปงานไม่เดิน เซ็นซะแกร็กเงินต้องมา เราไปสร้างสมสิ่งต่างๆเหล่านี้ มีเรื่องสี มีชนชั้น เพราะสังคมทั้งสังคมมันแหลกเหลว ล้มเหลว ไร้สาระ

มา ณ วันนี้เหตุการณ์นั้นยังมีไหม มีครับ มีค่อนข้างมากด้วย มีอย่างน่ากลัว โยงไปสู่ยาบ้า ยาเสพติด อะไรต่ออะไรวุ่นวาย แล้วสังคมทั้งสังคมก็เหลวเหลกไป ข้าราชการที่เป็นแกนของสังคมทั้งหมดก็ล้มเหลวตามไปด้วย
ผมคิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับเปลี่ยนกันเสียที ทีนี้จะเอาต้นแบบมาจากไหนล่ะ ที่จะให้คนเดินตามถนน ไม่มีใครยอมรับกันหรอก แล้วก็ไม่รู้จะเอาใครมาด้วย ผลสุดท้าย แท้จริงสังคมเราก็มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

๕๙ ปี ที่ผ่านมานั้นได้ทรงแสดงให้ดูหมดทุกอย่าง ได้ทรงทำหมดทุกอย่าง ทรงคิดหมดทุกอย่าง เพื่อรักษาประเทศนี้ไว้ ไม่ใช่เพียงรักษา ทรงสอนด้วย ทรงนำด้วย ทรงทำให้ดูด้วย แต่พวกเราพสกนิกรเห็นพระเจ้าอยู่หัว แต่ไม่เคยมองพระเจ้าอยู่หัวเลย ชื่นชม แต่ไม่เคยทำตาม

ถึงเวลาแล้วครับ เหลียวกลับมา การปรับเปลี่ยน การละจากพฤติกรรมที่ไม่ดี ให้กลับมาสู่ทำนองคลองธรรมนั้น เราทำได้ครับ วันพรุ่งนี้ก็ได้
ผมถึงบอก เราต้องเพิ่มเติมปรับเปลี่ยนที่จิตเสียก่อน ใครที่ทำดีอยู่แล้ว ทำต่อไป ในการทำดีนั้นมีอุปสรรคครับ ไม่ใช่ง่าย คนจะหมั่นไส้ คนจะอิจฉา ใครจัดสรรซองให้นายก็ได้ดี ลูกน้องคนไหนไม่รับก็จะโดนเขม่น ทำดีก็ถูกเขม่น หมั่นไส้ เพราะมึงไม่โกง กูโกงแล้วมึงต้องโกงด้วย อะไรลักษณะอย่างนั้น

ถามตัวเอง
“เมื่อวานทำความดีอะไรบ้าง”

เพราะฉะนั้นผมคิดว่า ก่อนที่บ้านเมืองจะเลวร้ายไปกว่านี้ ก็เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน ถวายเป็นราชพลี ถวายเป็นพระราชสักการะเถอะครับ ความดีทำยากก็จริง แต่ก็ทำได้ ที่ว่าทำยากนั้นเพราะอะไร ลองถามกันเดี๋ยวนี้สิครับ ถามตัวเองว่า “เมื่อวานคุณทำความดีอะไรบ้าง” ใครตอบได้บ้างไหมครับว่าเมื่อวานคุณทำความดีอะไรบ้าง หลายคนเงยหน้าขึ้นไปมองเพดาน คิดไม่ออก เพราะใจเราไม่ได้ติดอยู่กับการกระทำ
เมื่อวานทำความดีอะไรบ้าง เห็นไหมครับคำถามง่ายๆที่ดูเสมือนว่าจะตอบได้ง่ายๆ แต่เอาเข้าจริงลองถามตัวเองสิครับว่าเราทำอะไรดี ตอบยากครับ
เพราะฉะนั้นผมคิดว่า ตื่นเช้าแต่งเนื้อแต่งตัวเสร็จไปยืนที่หน้ากระจกถามคำถามนี้กับตัวเอง เมื่อวานนี้ทำอะไรดีบ้าง แล้วพยายามแสวงหาคำตอบ

ถ้าระลึกได้ความปลื้มปิติเกิดขึ้นกับหัวใจ ทำให้เป็นกิจวัตร แล้วทีนี้คุณจะจำในสิ่งที่คุณทำดี แล้วมันจะเป็นตัวเบรกไม่ให้เราทำชั่วด้วย
ทำนะครับ ทำตั้งแต่วันพรุ่งนี้ แต่งเนื้อแต่งตัวให้สะสวยก็ไม่เป็นไร เสร็จแล้วไปยืนถามตัวเองว่าเมื่อวานนี้เราทำดีอะไร แล้วจะเกิดความปลื้มปิติอย่างมากเลย แล้วก็เพื่อเป็นกำลังใจว่าวันนี้จะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อพรุ่งนี้เช้าจะ ได้ตอบตัวเองหน้ากระจกได้ว่าเมื่อวานนี้ได้ทำดีอะไร




หลัก ๑๐ ประการ ตามรอยพระยุคลบาท

ทาง ก.พ. (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) ได้พยายามประมวลหลักที่พระเจ้าอยู่หัวได้แสดงให้เราดูมาโดยตลอด ๑๐ ข้อ ที่เราคิดว่าอย่างน้อยที่สุดการเป็นข้าราชการที่ดีนั้นมันน่าจะมีอะไรบ้าง แต่หลักนี้ก็สามารถใช้ได้กับทุกอาชีพทุกคน ขอให้นั่งทบทวนทีละข้อดูว่าเราจะปฏิบัติได้ไหม แล้วพระเจ้าอยู่หัวแสดงให้เราดู ปฏิบัติให้เราดู ทรงปฏิบัติอย่างไร

ข้อแรก คือ ทำงานอย่างผู้รู้จริง และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์
ท่านจำคำๆหนึ่งได้ไหมครับที่เคยรับสั่งเอาไว้ รู้รักสามัคคี คำแรกคืออะไรที่ทรงสอนเอาไว้ “รู้” เพราะฉะนั้นการดำรงชีวิต ไม่ว่าท่านจะเป็นข้าราชการหรือใครก็ตาม จะทำอะไรขอให้เริ่มที่ความรู้เสียก่อน
บ้านเมืองทะเลาะกันอยู่ทุกวันนี้อย่างน่าเศร้าใจที่สุดนั้นก็เพราะเอาคำว่า “น่า” ใส่เข้าไป
ทุกอย่างคิดว่ามันน่าจะดี มันน่าจะเป็นอย่างนั้น มันน่าจะเป็นอย่างนี้ แล้วก็เข้าไปขัดแย้งกัน พื้นฐานความรู้ไม่ได้เกิดขึ้นจริงๆ ประชาธิปไตยพูดกันเยอะแยะ กำลังฟุ้ง กำลังบ้าประชาธิปไตยกันอย่างมาก แล้วก็เข้าใจคำเดียวคือคำว่า “เลือกตั้ง” คิดว่าการเลือกตั้งคือประชาธิปไตย เลือกตั้งกันตะบัน แต่ว่าเลือกเสร็จแล้วไม่เอา เอาใหม่ ทำเป็นเด็กอมมือ ไม่ใช่ ประชาธิปไตยต้องดูที่กฎหมาย วินัยในสังคม รับผิดชอบกันในส่วนรวม ประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง ทำไมไม่มีใครพูดเลยสิทธิมนุษยชนของเราก็คือ ทำอะไรก็ได้ ตีกบาลตำรวจก็ได้ หมั่นไส้นักตีหัวมันที่เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต
แต่ในมุมกลับไม่ได้นะ ประชาชนเป็นใหญ่ สิ่งแวดล้อมอนุรักษ์ ชอบพูดเสียจริง คำที่เชยที่สุด “อนุรักษ์” อนุรักษ์แปลว่าอะไร ไม่ต้องทำอะไร ห้ามแตะห้ามทำห้ามอะไรทั้งสิ้น นั่นคืออนุรักษ์ มีของเก่าเก็บเอาไว้ เข้าใจอยู่แค่นั้น แต่การจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมให้มันดีขึ้นอย่างไร จะใช้ให้ยั่งยืนได้อย่างไร วิธีทำนุบำรุงป่าให้ถูกหลัก ป่าต้นน้ำลำธารเป็นอย่างไร ป่าเศรษฐกิจเป็นอย่างไร ไม่มีใครพูด ไม่มีใครอยากเข้าใจเพราะมันยาก มันยุ่ง แต่ถ้าอนุรักษ์ไว้ดี คือไม่ต้องทำอะไร พอพูดคนเฮ ตบมือกัน สร้างเขื่อน ไม่เอา คนเฮ เอาไหมๆ อย่างอาจารย์บางคนที่ชอบชี้ตามหน้าทีวี เอาไหมๆ เขื่อน ไม่เอา พอกลับไปบ้านไปตักน้ำจากเขื่อนของตัวเองหมด แต่สติปัญญาไม่ได้บอกว่าอะไรคือเขื่อน เขื่อนในบ้านคือตุ่ม คือแท็งค์ คือบ่อเก็บน้ำ ทำไมบ้านแต่บ้านมีล่ะ คุณอยากเสียเงินไปซื้อมันมาหรือเปล่า ไม่อยาก อยากซื้อมาตั้งเกะกะในบ้านไหม ไม่อยาก แต่คุณต้องมี มีอยู่ ๓ คนไม่ใช่ซื้อตุ่มมา ๑๐๐ ใบ นั่นก็บ้าอีก ก็ซื้อมาจำนวนตามที่ต้องการ เพราะฉะนั้นนี่คือการจัดการ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนเป็นสิ่งที่ควรพูดควรทำมากกว่า เพราะก่อประโยชน์มากกว่า

ฝนตก ๑๐๐ หยดบนแผ่นดินนี้ คุณรู้หรือเปล่าว่าเราเอามาใช้ประโยชน์ได้กี่หยด รู้ไหมครับ ฟังแล้วน่าเศร้า น่าตกใจ ๘ หยดครับ อีก ๙๒ หยด ท่วมไร่ท่วมนา ไหลลงทะเลหมด แล้วเราก็บอกว่าไม่ต้องทำอะไร ผมอยากเห็นนักอนุรักษ์ต่างๆเหล่านั้น พอหน้าฝนก็อ้าปากแหงนรอน้ำฝนเหล่านนั้น ไม่ต้องทำอะไรไง ธรรมชาติ ก็ไปสิ ทำไมไม่ทำอย่างนั้น ก็ต้องรู้อะไรเป็นอะไร ตรงไหนควรจะทำอะไร ตรงไหนไม่ควรทำอะไร มีบางแห่งก็ห้ามแตะนะ ตรงนั้นอย่าไปยุ่ง
การอนุรักษ์ก็เป็นกิจกรรมหนึ่งเท่านั้น แต่มีสิ่งที่ใหญ่กว่า พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเริ่มเห็นไหมครับ ทดลองทดสอบในวังก่อน ท่านเอาสระว่ายน้ำของพระองค์ท่านที่สวนอัมพรมาเลี้ยงปลา ท่านบอกอยู่ไปของหรูหราฟุ่มเฟือยก็ไม่ค่อยได้ใช้ว่ายน้ำ เลี้ยงปลาดีกว่า ปลาหมอเทศเกิดที่นั่น แจกจ่ายกระจายไปทั่วเลย พระองค์ไม่เสวยปลาหมอเทศ พระองค์รับสั่งว่าเหมือนลูกเพราะพระองค์ท่านเริ่มเพาะแล้วก็เริ่มแจกจ่ายไป ทั่ว เวลานี้แปรพันธุ์เป็นปลานิล ปลาอะไรต่ออะไร เป็นโปรตีนราคาถูกให้กับทุกคนแล้ว

แล้วความรู้จริง มีผลงานเป็นที่ประจักษ์นั้นจะต้องแสดงให้เห็น เห็นไหมครับ วันที่ ๔ ธันวาคม เมื่อ ๒-๓ ปีที่แล้ว พระองค์ทรงเอากระดานมาตั้งให้เห็นบนเวทีเลยอธิบายเลยว่าน้ำมันมาอย่างไร เรียกว่าผู้ว่าราชการจังหวัดท่านหนึ่งไปไล่เลย ตรงนี้เป็นอย่างไร เป็นการสอนพวกเราได้รู้ซะก่อน ก่อนที่จะพูดอะไรก่อนที่จะทำอะไรนั้นต้องเริ่มจากรู้เสียก่อน พระท่านก็บอกว่าต้องมีสติ และที่มีสติก็ไม่ใช่เป้าหมายของท่านหรอก ไม่ใช่ทางพระ แต่สติที่เกิดขึ้นจะทำให้มีสิ่งที่สูงกว่า นั่นคือปัญญา
ปัญญาคืออะไร ปัญญาคือความรู้ ฉะนั้นสิ่งแรกที่เราสรุปมา ณ ที่นี้ก็คือว่า ต้องเป็นผู้รู้จริงในการทำงาน พระองค์ท่านมีเอกสาร ศึกษาวิธีทำแต่ละเรื่อง ที่จะทำแต่ละเรื่อง ทรงศึกษาอย่างละเอียด ก่อนจะตัดสินพระทัยลงไปช่วยพัฒนาประชาชนนั้นศึกษาก่อนเลย เตรียมก่อน พระองค์ท่านรับสั่งศึกษาแผนที่ ศึกษาช่องทางน้ำ ศึกษาเรื่องกระบวนการพัฒนาจะเป็นอย่างไร และเมื่อพร้อมแล้วพระองค์ถึงจะลงไปทำ

ข้อที่ ๒ คือความอดทน มุ่งมั่น ยึดธรรมะ และความถูกต้อง
ชีวิตเราเหมือนกันทุกคน ไม่มีชีวิตใครที่โรยด้วยกลีบกุหลาบหรอกครับ ไม่มี กว่าจะรอดมาถึงขนาดนี้ บางครั้งถูกความกดดัน บางครั้งถูกเกลียดชัง บางครั้งถูกอิจฉา บางครั้งถูกทำลาย บางครั้งมีอุปสรรคอย่างมโหฬาร ฉะนั้นความอดทนต้องมี
ท่านรู้ไหมครับ ตั้งแต่ปลายปี ๒๔๙๓ มาจนกระทั่งทุกวันนี้ พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานปริญญาไปแล้วรวมน้ำหนักทั้งสิ้น ๒๒๐ ตัน รู้สึกกันไหม ไม่รู้สึก พวกเราอะไรๆ ก็ผ่านตาไปโดยไม่มีสติ ยึดสติสิครับ คงสติเอาไว้ แล้วจะทำอะไรอย่างดีอย่างถูกต้อง แม้กระทั่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระราชทานปริญญาปีหนึ่งเท่าไรครับ หนึ่งแสนฉบับ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระราชทานให้ราชภัฏ ราชมงคลอีก ๑๐๐,๐๐๐ ฉบับ อยากรู้ว่าเหนื่อยแค่ไหน วันนี้กลับบ้านหาของ ๓ ขีด แล้วนั่งยกส่งไปมา ๒,๔๐๐ ที แล้วช่วยโทรศัพท์บอกผมด้วยว่าเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแค่ไหน

ไม่ทรงปริพระโอษฐ์ ประทับอยู่ในป่าในดง มืดค่ำ แมลงบินมา ส่องไฟแมลงบินเข้าหน้าเข้าตาหมด ไม่ทรงปริปาก ไม่เคย ทากต่อยดึงออก ปล่อยไป นั่นคือพระเจ้าอยู่หัว
คุณสมบัติของข้าราชการต้องอดทนครับ อ่านหนังสือพระมหาชนกซะ ถ้าใครยังไม่อ่าน วรรคนั่นแหละคือชีวิตข้าราชการว่ายไป จะได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหรือเปล่าก็ไม่รู้ จะเป็นอธิบดีหรือเปล่า ไม่รู้ ใครเห็นฝั่งบ้างล่ะ ตอนเริ่มชีวิตข้าราชการไม่มีใครเห็นฝั่งหรอก แต่ก็ต้องว่าย ไม่เห็นฝั่งก็ต้องว่าย เพราะไม่ว่ายก็จมน้ำตาย
อาชีพอื่นก็เหมือนกัน ต้องฝ่าฟันอุปสรรคกันไปในระหว่างทางที่ว่ายปลาร้ายมันกัดก็มี สัตว์ร้ายมาตอดก็มี อันนี้คือชีวิต แต่บางครั้งก็มีสัตว์บางประเภทที่มาคอยเอื้ออารี มาคอยช่วยเรา คอยพยุงเรา ให้เราหยุดพักเหนื่อย นางมณีเมขลาเปรียบเสมือนดวงชีวิตเรา คอยดูแลธรรมะคอยดูแลเราอยู่เหมือนกัน

พระเจ้าอยู่หัว ๕๙ ปีนี่ทุกข์ยากมากๆ ทรงงานมาจนกระทั่งวันนี้ ผลพวงก็ออกมาตอนพระชนมายุ ๗๒ พรรษา ทรงเสด็จมาประทับที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ก็เพื่อรักษาอาการปวดพระปฤษฎางค์(อวัยวะส่วนหลัง)ให้เข้าที่ ต้องใช้เวลาตั้ง ๓-๔ เดือน เท่าที่รับทราบมา ทรงใช้จนพระวรกายสึกหรอ ภาษาชาวบ้านอย่างนั้นดีกว่า แล้วเราจะนิ่งเฉยอยู่ได้อย่างไร ความอดทนของเราที่จำเป็นต้องมีเพื่อจะเผชิญกับเหตุการณ์นั้นน้อยกว่าพระองค์ ท่านเยอะ เพราะเราเผชิญแค่ปัญหาในสำนักงานของเรา พระองค์ท่านปัญหาทั้งชาติ
พระองค์ท่านรับสั่งว่าตามปกติโครงสร้างของสังคมต้องเป็นรูปพีระมิดใช่ไหม ทรงถาม จะเป็นพีระมิด คนจนก็อยู่ที่ฐาน รวยขึ้นมาหน่อยก็เขยิบขึ้นมาเรื่อยๆ และในฐานะพระเจ้าแผ่นดินก็เปรียบเหมือนคนสูงสุด พระเจ้าแผ่นดินก็เปรียบเหมือนอยู่ยอดพีระมิด อันนั้นคือโครงสร้างทั่วๆไป
แต่พระองค์ท่านรับสั่งว่า โครงสร้างของสังคมไทยนั้นเป็นพีระมิดหัวกลับ พระองค์ท่านแทนที่จะอยู่บนยอด ประทับอยู่บนยอดพีระมิดสบายๆ ต้องอยู่ก้นกรวย ต้องมารองรับ ทุกอย่างมาเทสู่พระองค์หมด ทั้งคนจน คนรวยอะไรไม่รู้ ใครตีกันที่ไหนก็ถึงพ่อของแผ่นดิน ข้าราชารการตีกัน นักการเมืองตีกัน พระตีกัน ไม่มีเว้นสักกลุ่ม สนุกสนาน อะไรกันไม่รู้ ตีกันทั่ว มันดี ไม่มีคู่กัด ก็กัดตัวเอง ก็มันดี นั่งขย้ำแขนกัน เสร็จแล้วพอแก้ไม่ตกก็ถวายฎีกา ยุติธรรมหรือเปล่าก็ไม่ทราบ

พระองค์ต้องอดทนตลอดเวลา ๕๙ ปีกว่า พวกเราอายุราชการอย่างมากก็ ๔๐ ปี รับราชการอายุ ๒๐ เกษียณอายุ ๖๐ เพราะฉะนั้นเรื่องความอดทนนั้นขอให้มองพระเจ้าอยู่หัวไว้แล้วพยายามทำตามให้ ได้
ธรรมะ ความถูกต้อง ทรงถือยิ่งกว่าสิ่งใด ท่านรู้หรือไม่ว่าคนถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล ซึ่งส่วนมากเราก็พูดกันทั่วๆไป ท่านเชื่อหรือไม่ว่ากองนี้ใครแตะไม่ได้นะครับ ทำบุญอย่างเดียว เพราะเจ้าของเงินเขาระบุไว้ โดยเสด็จพระราชกุศล ซึ่งคนถวายนั้นถวายโดยเสด็จพระราชกุศล และมักจะคิดว่า จะทรงทำอะไรก็ทำเถอะ กองไหนตามพระราชอัธยาศัย กองนี้ก็ถึงไปใช้อะไรก็ได้ แต่พระองค์ก็ไม่เคยใช้ส่วนพระองค์เลย กำชับเรากำชับนักหนาเรื่องความถูกต้องในการดำเนินการ ต้องทุกกระเบียดนิ้ว ทุกกระบวนการต้องยึดความถูกต้องไว้

และเชื่อเถอะครับในฐานะข้าราชการหรือแม้แต่อาชีพอื่น ถ้ายึดในสิ่งนี้แล้วคุณจะสบายอกสบายใจ คุณจะเผชิญหน้ากับทุกสิ่งทุกอย่างได้โดยไม่ต้องกลัวใคร จะใหญ่โตแค่ไหน ถ้าคุณถูกต้อง ยึดความถูกต้องแล้ว คุณจะเผชิญหน้ากับใครก็ได้ทั้งสิ้น แต่ถ้าคุณมีแผลแม้แต่นิดเดียว คุณก็ไม่กล้าหันหลังให้ใคร หน้าก็ไม่กล้าหัน กลัวคนเขาเห็นแผล กลัวคนเขาเห็นในพฤติกรรมของเรา หากเรายึดความถูกต้อง ในชีวิตเราก็มีความสุข นอนก็ไม่ต้องผวา ไม่ต้องทุกข์ ไม่ต้องอะไร


ข้อที่ ๓ ความอ่อนน้อมถ่อมตน เรียบง่าย และประหยัด
เห็นเวลาเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรไหมครับ ทรงโน้มพระวรกายหาประชาชน ในขณะที่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของเราเดินก๋า เหมือนภาพที่เห็น คนใหญ่คนโตระดับเจ้ากระทรวงเดินผูกผ้าขาวม้า เดินตรวจราชการลอยไปลอยมา เฉียดหัวชาวบ้าน
พระองค์ทรงน้อมพระวรกายไปหาประชาชน คุกเข่าหน้าประชาชน ถามทุกข์สุข ปรึกษาหารือกับเขาเป็นชั่วโมงๆ บางทีประทับพับเพียบ ประชาชนนั่งพับเพียบ พระองค์ท่านก็ทรุดพระวรกายนั่งพับเพียบเสมอบนพื้นเดียวกัน แต่พวกเราเป็นใคร เป็นข้าราชการ พวกเราเป็นใครทำไมทำยากเย็นนักอย่างนั้นหรือ ผมเห็นน้อยครั้งเหลือเกินที่จะมีภาพประทับตาอย่างนั้นเกิดขึ้น
ทำเถอะครับ ความน่ารัก น่าบูชา น่าเคารพ ไม่เสื่อมเสียเกียรติอะไรทั้งสิ้น และยิ่งอยู่สูงเท่าไรก็ยิ่งต้องลงต่ำมากเท่านั้น สุภาษิตไทยเขาบอกแล้ว เหมือนรวงข้าวที่เต็มไปด้วยเมล็ดข้าวนั้นจะต้องโน้มลงสู่แผ่นดินฉันใด คนก็ต้องเป็นอย่างนั้น
มีแต่พวกบ้ายศบ้าอย่างเท่านั้นที่เกิดในชีวิตไม่เคยเลย ไม่เคยรู้เลยว่าเกียรติยศคืออะไร ตำแหน่งคืออะไรพอได้มาก็ก๋า ไม่บอกว่าเป็นใคร มีตัวอย่างเยอะในสังคมของเรา พวกนี้เขาเรียกว่าคนไม่เคย ไม่เคยพอเป็นแล้วต้องแสดงจิต จิตไม่ได้อยู่ในสภาวะที่เป็นมนุษย์ที่มีปัญญา

เรียบง่าย เวลาทรงงานต่างๆนั้น ทรงประทับกับพื้นประทับพับเพียบ วิถีชีวิตไทยที่สอนเรื่องความเรียบง่าย พระองค์ท่านประสูติกาลต่างประเทศนะครับ โตต่างประเทศ ศึกษาต่างประเทศ แต่เหตุไฉนเสด็จกลับมาพระองค์ท่านเป็นไทยที่สุด วิถีชีวิตของไทยที่มีค่าที่เราละทิ้งและดูถูกด้วยซ้ำไป ไปมุ่งตามก้นฝรั่ง globalization ตามก้นฝรั่ง ไม่ใช่สากลอะไร แต่พระองค์ท่านทรงประทับพับเพียบได้เป็น ๕ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมง ไม่เปลี่ยนท่าเลย พวกเรานี่เผลอปั๊บกลับท่ากลับทีพอนานๆ ๓-๔ ชั่วโมงก็ค่อยๆ พังพาบ ค่อยๆยืดขาเท้าแขนไปข้างหลัง แล้วก็เท้าแขนไปเรื่อยๆ ตอนแรกก็นั่งพับเพียบๆ เฝ้า พอ ๔-๕ ชั่วโมงพังพาบเฝ้า ถ้าขืนต่อสัก ๒ ชั่วโมงล้มตึงนอนเฝ้าตรงนั้นแน่
แต่พระองค์ท่านประทับนั่ง ความมีวินัยควบคุมพระวรกายทั้งหมด ความเรียบง่าย พระองค์กองเอกสารบนพื้น พวกเราก็นั่งล้อมวงเฝ้ากัน ไม่ต้องเข้าห้องประชุม ไม่ต้องมีโต๊ะเก้าอี้ประหยัดนั่นเอง
ฉลองพระองค์เป็นสิบๆปีก็อย่างนั้น ฉลองพระบาทผ้าใบตลอด ๕๙ ปีไม่เคยเปลี่ยนยี่ห้อเลย มีใครเคยสังเกตหรือเปล่า ไม่เคยสังเกต พวกเราพระเจ้าอยู่หัวจะไม่เคยมองเวลาเสด็จประพาสจะมีรองเท้าผ้าใบยี่ห้อ หนึ่ง ผมไม่อยากบอกว่ายี่ห้ออะไร ทรงมา ๕๙ ปีแล้ว ไอ้พวกเรานี่ยี่ห้ออะไรต่อยี่ห้ออะไร ยัดไอ้โน่น ยัดไอ้นี่ เดินเด้งดึ๋งดั๋ง แล้วก็ตามเสด็จไม่ทันหรอกพระองค์ท่านไม่กี่ร้อยบาทก็ฉิวไปแล้ว พวกเด้งดึ๋งดั๋งยังเด้งดุ๊กดิ๊กๆอยู่ พราวนาฬิกา เพชรพราว ใส่แหวน ใส่อะไร มันก็หนักสิ เดินไม่ไหวหรอก มันไม่ใช่ธรรมชาติ
ดูพระองค์ท่านมีอะไร ผมเหลือบเห็นนาฬิกาของพระองค์ท่าน พระองค์เรียกของพระองค์เองว่า “ยี่ห้อใส่แล้วโก้” ท่านบอก “นาฬิกาฉันยี่ห้อใส่แล้วโก้” ไม่กี่ร้อยบาทนะครับ ในขณะที่พวกเราต้องจอเป็นสัญญลักษณ์ ที่ทำอย่างนั้น แสดงว่าในตัวไม่มีอะไรเลย เพราะฉะนั้นต้องการเฟอร์นิเจอร์มาประดับเพราะไส้ในไม่มีอะไรเลย คนที่เขามีอะไรแล้ว เขาไม่สนใจพวกอะไรสิ่งต่างๆเหล่านี้ จำหลักไว้อันหนึ่ง โหงวเฮ้งมันฟ้อง คนที่พอกอะไรไว้แสดงว่าในตัวไม่มีอะไรเลย เปลือก จะเข้ากับกรณีใครก็ไม่รู้ดูกันเอาเอง แต่ถ้าเป็นคนที่เขาไม่สนใจอะไร มันไร้สาระ เพราะฉะนั้นประหยัด อ่อนน้อมถ่อมตน เรียบง่าย เป็นสิ่งที่พวกเราควรจะยึดถือ ทำได้ครับ ทำได้ทันที และผู้คนจะเคารพบูชา

ข้อที่ ๔ มุ่งประโยชน์คนส่วนใหญ่เป็นหลัก

จะทำอะไรนี่ขจัดความเห็นแก่ตัวออกไปได้ไหม มุ่งประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง พอมุ่งประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง นั่นคือประโยชน์ของแผ่นดิน ถามว่าเราไม่ได้รับประโยชน์หรือ เราก็อยู่ในแผ่นดินนี้ ถ้าเราถนอมแผ่นดินนี้ให้คงอยู่อย่างเจริญงอกงาม ให้อยู่อย่างยั่งยืนแล้ว เราก็ได้รับประโยชน์ไปด้วย เราต้องเห็นแก่ตัวในลักษณะที่ถูกต้อง
สิ่งต่างๆ เหล่านี้นะครับ เป็นเรื่องที่เราต้องใช้ความฉลาดไม่ต้องมากเลยนะครับ แทนที่จะทิ้งขยะลงไปในพื้นสักนิดหนึ่ง ให้รู้เลยนะครับ ถึงแม้ไม่ใช่หน้าบ้านเรา แต่กำลังโยนใส่หน้าตัวเอง เพราะเราอยู่ในแผ่นดินนี้ ผลสุดท้ายขยะก็วนกลับมาอยู่ที่เราอีก จะใช้อะไรจะขยับอะไรสักนิด ให้รู้ว่าจะสะท้อนกลับมาที่เรา อย่าเพียงแต่ปัดให้พ้นหน้าบ้าน มันจะไปที่ไหน บ้านนี้ไปบ้านโน้น ไม่มีวันจบ โลกเราหมุนไปเรื่อย ผลสุดท้ายก็กลับมาอยู่หน้าบ้านเรา ใช่หรือเปล่า

เพราะฉะนั้นประโยชน์ส่วนรวมต้องทำ พระองค์ท่านได้ดำเนินการตลอดชีวิตของพระองค์ ๕๙ ปีของการทรงงานอยู่นั้น ทรงยึดถือประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้งโดยตลอดไม่เคยนึกถึงพระวรกายแม้แต่ น้อย ไม่เคยนึกถึงประโยชน์ของพระองค์แม้แต่น้อย
เคยเข้าไปขอพรพระราชทานพร บอกวันนี้เกิด พระพุทธเจ้าค่ะ ขอพระราชทานพร พระราชทานว่าอย่างไร “ขอให้มีร่างกายที่แข็งแรงเพื่อสามารถทำประโยชน์ให้กับคนอื่นเขาได้ ขอให้มีความสุขจากการทำงาน และขอให้ได้รับความสุขจากผลสำเร็จของงานนั้น” ไม่มีเลยของส่วนตัว แข็งแรงก็ไม่ใช่ส่วนตัว แข็งแรงเพื่อไปรับใช้คนอื่นเขา ความสุขก็ไม่ใช่ความสุขที่จะไปเต้นดิสโก้ที่ไหน ความสุขคือการทำงาน ทำงานให้คนอื่นเขา และความสุขที่เกิดขึ้นมามันสำเร็จ แล้วเรามีความสุข เห็นไหมทั้ง ๓ ประโยคนี้ แม้กระทั่งตั้งแต่ร่างกายจนกระทั่งการกระทำของเราไปเพื่อคนอื่น ผลที่สุดสิ่งเราได้รับนั้นคือความสุข
แต่พวกเราไม่นิยมหรอกความสุข ไม่ตื่นเต้น สนุกดีกว่า คิดดูให้ดีนะครับความแตกต่างระหว่างความสนุกกับความสุขนั้น แตกต่างกันมากเลย ความสุขนั้นอาจจะตั้งอยู่บนพื้นฐานซึ่งอาจจะไม่ต้องการอะไรสักอย่างเลยก็ได้ อย่างผมกลับบ้านที่เพชรบุรี ผมก็นั่งเปลญวนของผม นั่งดูกระรอกวิ่ง ผมก็มีความสุขแล้ว ความสนุกคุณต้องไปซื้อมัน ก็ชั่วแล่นเท่านั้นแหละ
เหมือนสุภาษิตไทยเขาบอก รักสนุกทุกข์ถนัด ตามด้วยความทุกข์อยู่ตลอดเวลา ไปเที่ยวดิสโก้ เดี๋ยวก็มีคนมาตบหัวเราแล้ว อะไรอย่างนี้นะครับ ไม่ต้องไปนึกถึงใครหรอก เกิดเรื่องถูกแทง ถูกตีหัว อะไรสนุก
แต่ความสุขนี่ไม่ได้ก่อความเดือดร้อนให้กับใครใดๆทั้งสิ้น เป็นของเรา จิตของเราทั้งนั้น เพราะฉะนั้นชาวพุทธ ศาสดาของเราสอนในเรื่องที่สูงมากแต่เราไม่ยอมทำตาม ไม่ต้องตะกายกระไดที่ไหนเลย อยู่ที่จิตของเรากำหนดนะครับ

ข้อที่ ๕ รับฟังความเห็นของผู้อื่น เคารพความคิดที่แตกต่าง

บ้านเมืองที่ทะเลาะกันอยู่ทุกวันนี้เพราะเราไม่รับฟังความเห็นของผู้อื่น มองต่างมุมเป็นแฟชั่น เอ็งมามองอย่างนี้ ข้าต้องมองอย่างนั้น เอ็งมองอย่างนั้น ข้าต้อมองอย่างนี้ มันเก๋ดี แล้วก็เฮๆตบมือกัน บางครั้งมองดูแล้วมันสะท้อนความบัดซบของสังคมออกมาให้เห็น แต่เราไม่ค่อยรู้ตัวกัน ตามกระแสเหมือนม็อบ เฮๆ อะไรไม่รู้ เคยจับกลุ่มกันเยอะๆ ไฟไหม้ตะโกนออกไป วิ่งกันแล้วถามว่าอะไร ไหม้กระดาษนิดเดียววิ่งกันแล้ว อันนี้คือจิตวิทยาของม็อบ เพราะฉะนั้นรับฟังความเห็นของคนอื่นนี่สำคัญ
เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคมที่ผ่านมา (พ.ศ.๒๕๔๖) ทรงเตือนอีกนะครับ นั่งปรึกษาหารือกัน ฟังเขาแสดงเหตุผลออกมา แล้วเราแสดงเหตุผลออกไป แล้วดูซิ เหตุผลอันไหนจะยอมรับได้ถูกต้องมากกว่า และเมื่อตกลงกันแล้วก็เลิกเถียงกันต่อ ลงมือปฏิบัติเลย ทรงรับสั่งเอาไว้อย่างเรียบง่าย เพราะถ้าไม่ยอมกันแล้ว ต่างเอาชนะคะคานกัน แล้วเริ่มต้นก็ด้วยวาจา ผลสุดท้ายก็ร่างกาย และผลสุดท้ายก็ตีกัน แล้วเสร็จแล้วเกิดอะไรขึ้น บ้านพัง จะเป็นพฤษภาทมิฬ จะเป็น ๑๔ ตุลา อะไรก็แล้วแต่ บ้านพัง บ้านของทุกคนด้วย ไม่ใช่บ้านของคนใดคนหนึ่ง

เพราะฉะนั้นทำอะไรให้นึกถึงบ้านเอาไว้ คำว่า “บ้าน” นั้นกินความถึงองค์กรที่ท่านอยู่ กรมที่ท่านอยู่ กองที่ท่านอยู่ สำนักงานที่ท่านอยู่ แม้กระทั่งบ้านที่ท่านอยู่ การทะเลาะเบาะแว้งกันล้วนแล้วแต่ทำให้ที่ใดที่หนึ่งซึ่งเป็นของท่าน และท่านต้องอาศัยอยู่พังทลายไปแน่นอนในที่สุด เพราะฉะนั้นให้ความเคารพ แต่ละคนคิดไม่เหมือนกัน ลองมานั่งดูซิว่าเหตุผลที่ดีที่สุด น่ายอมรับที่สุดนั้นคืออะไร ผลสุดท้ายก็จะตกลงกันได้ อันนั้นสิครับเป็นหนทางของมนุษย์ที่มีสติและปัญญาเขาทำกัน ไม่ใช่ความคิดของกูเป็นที่ตั้ง จะเอาอย่างนี้ ใครอย่าเถียง อันนี้ไม่ได้ นี่ก็คนเถื่อนแล้ว ไม่ใช่คนมีสติปัญญา

ข้อที่ ๖ มีความตั้งใจจริงและขยันหมั่นเพียร

พระเจ้าอยู่หัวเวลาทำอะไรทรงมุ่งมั่นมาก เรื่องความขยันไม่ต้องพูด ทรงงานไม่มีวันเสาร์วันอาทิตย์ ไม่มีเวลากลางวันกลางคืน
จำได้ไหมเมื่อ ๒-๓ ปีที่น้ำท่วม ทรงอึดอัดพระทัย พระองค์ท่านก็ไม่ใช่หน่วยงานจะไปสั่งเขาได้อย่างไร รัฐบาลก็ไม่ใช่ จะทำกันทีต้องจัดประชุม น้ำมาแล้วนะ แล้วก็ดุนะครับ
พระองค์ไม่รับสั่งอย่างที่เจ้าขุนมูลนายของเราชอบสั่งกัน ชอบพูดกัน น้ำมาแล้วพวกเราไปทำ ไม่ พระองค์อธิบายนี่น้ำท่วมมันมาวินาทีละเท่านั้น ระหว่างทางมันเติมเท่านั้น เพราะฉะนั้นระหว่างทางมันเติมมากี่ลูกบาศก์เมตร เคลื่อนย้ายด้วยความเร็วเท่านั้น เพราะฉะนั้นนับวันเวลาที่เท่านั้นจะถึงกรุงเทพฯ พอดี รับพระราชกระแสมา พรุ่งนี้เช้าเราจะเริ่มดำเนินการ ไม่ใช่พรุ่งนี้เช้า ต้องเดี๋ยวนี้ๆ เพราะน้ำไม่มีหยุด ไม่ใช่หยุดก่อนแล้วโอเค รอพรุ่งนี้เช้าถึงจะทำได้แล้วค่อยมา เผอิญน้ำเขาไม่ได้หยุดอย่างนั้น เขามาของเขาตลอด เราต้องรีบทำกันคืนนี้เลย
เรื่องความขยัน เรื่องความตั้งใจอะไรต่างๆนั้นจะเห็นได้ชัดเจน ความตั้งใจจริงนี่เห็นไหมครับ ทรงเป็นเลิศหมดทุกอย่าง

ดนตรีนี่ออสเตรียจารึกพระนามเป็นชาวเอเชียคนเดียวที่ได้รับการจารึกไว้ใน ฐานะเป็นนักดนตรีของโลกคนหนึ่ง พระองค์แต่งเพลง แม้กระทั่งเพลงก็ทรงนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนา เห็นไหมครับ พอถึงประเทศชาติกำลังต่อสู้กันมีเพลงเราสู้ บ้านเรา ปลุกให้เกิดมีความรักชาติบ้านเมือง แม้กระทั่งล่าสุดยามสงบแต่งเพลงรัก สิ่งแวดล้อมทั้งนั้นเลย รักไม่ใช่โรแมนติกแย้วๆ อย่างที่พวกวัยรุ่นร้องกัน รักภูเขา รักแม่น้ำ รักทะเล แม้กระทั่งดนตรี พระองค์ก็นำมาใช้เป็นเครื่องมือการพัฒนาด้วยเช่นกัน

ด้านกีฬา เหรียญทองแข่งขันอินเตอร์นะครับ ไม่ใช่แข่งขันกันในประเทศ เดี๋ยวจะหาว่าคงไม่มีใครกล้าขึ้นหน้าพระองค์นี่แข่งกัน ๓๐ กว่าประเทศเหรียญทอง เรื่องเกษตร เรื่องน้ำ เรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องสารพัด ทรงทะลุปรุโปร่งหมด ทรงตั้งใจทำอะไรก็ตั้งพระทัย แล้วไปสู่การปฏิบัติที่เป็นผล

เคยเล่าให้ฟังแล้วใช่ไหมครับ ตอนที่ได้รับดุษฎีบัณฑิตแพทยศาสตร์ รับสั่งว่าเป็นหมอยาแล้ว พอถัดมาได้รับนิติศาสตร์ ทรงบอกว่าเป็นหมอยาเสร็จแล้วเป็นหมอความ แล้วถัดมาอีกสักพักได้เกษตร ก็บอกเป็นหมอดินแล้ว แล้วตอนนี้เป็นหมอลำแล้วด้วย เพราะได้รับดุษฎีบัณฑิตด้านดนตรี ทรงมีพระอารมณ์ขัน แม้จะรับสั่งเล่นๆ อย่างนั้น เห็นไหมครับว่าความเป็นหมอของพระองค์นั้น ไม่ใช่ให้เป็นเกียรติยศเฉยๆ แต่ทรงรู้จริงๆ ในแต่ละเรื่อง ในความรู้แต่ละอย่าง พระองค์สะท้อนออกมาเป็นโครงการ โครงการที่เราเข้าไปดู ถ้าไม่มีใครอธิบายก็เห็นเป็นเรื่องปกติ จริงๆ ทรงแทรกอะไรในนั้นอย่างมากมายมหาศาลทีเดียว หญ้าแฝกอย่างนี้ ลองคิดดูซิมีมาก็ร้อยปีแล้ว นอกจากเอาไปมุงหลังคา ไม่มีใครเอาไปใช้อย่างอื่น กลับมาทรงทำแนวกั้นดินพังทลาย พรวนดินออกมาด้วย อะไรต่ออะไรด้วย ของหาได้ทั่วๆไป เอาผักตบชวามาสู้กับน้ำเน่า ผักตบชวาของเราก็ไม่ต้องการ เป็นอธรรม น้ำเน่าก็เป็นอธรรม เราก็ไม่ต้องการจับเอามาสู้กัน ไม่ต้องไฮเทค ไม่ต้องอะไร ไม่ต้องโรงบำบัดน้ำเสียทะเลาะกันอย่างทุกวันนี้ ใช้ธรรมชาติเข้ามาแก้ไขกันเองก็อยู่แล้ว แม่น้ำเพชรบุรีลองคิดดูซิ คนไม่ทิ้งอะไรลงไป ช่วยกันรักษา ไม่ถึงปีก็สะอาดแล้ว ทุกอย่างมันเกิดขึ้นมาจากมือเรากับใจเรา ฉะนั้นต้องตั้งใจก่อน มือเราจะได้ไม่ทำ จิตเป็นเรื่องสำคัญ

ฉะนั้นความตั้งใจจริง จะเห็นได้ว่าเรื่องนี้พระเจ้าอยู่หัวได้แสดงให้เห็นอยู่ตลอด ความขยันหมั่นเพียรไม่ต้องพูด วันนั้นเสด็จงานห้าทุ่ม เสด็จฯไปแล้วเราก็เข้าค่าย ไปนอนอยู่ในค่ายมฤคทายวัน นอนอยู่ก็ปรากฏว่า ตี ๒ วิทยุเรียกมาให้ไปเข้าเฝ้าฯ เราเหนื่อยมาตั้งแต่บ่าย ๔ โมงเย็นจนกระทั่งถึง ๕ ทุ่ม แผ่นอนสลบไสลหมดเลย ตีสองทรงเรียกไปขอแผนที่ ขอข้อมูลเพิ่มเติม ในขณะที่เรากลับไปสลบไสล ทรงกลับไปทรงงานต่อ เราละอายไหมครับ แล้วเรื่องนี้ไม่ใช่ว่าปรากฏขึ้นหนสองหน ปรากฎขึ้นอยู่ตลอดเวลา ตราบใดที่งานไม่เสร็จ นี่นะครับจะต้องต่อเนื่องไม่มีวันจบ จนกระทั่งงานบรรลุ

จำไว้อย่างหนึ่ง ในฐานะข้าราชการ งานประชาชนรอไม่ได้ สวมวิญญาณ ลองสวม ถ้าเราเป็นเขาบ้างแล้วบอกพรุ่งนี้รอก็ได้ แต่เขากำลังจะตาย ณ วันนั้น ณ ชั่วโมงนั้น จะให้เขารอต่อได้อย่างไร เราต้องทำทันที สวมวิญญาณเขาอยู่ตลอดเวลา เขามาติดต่อเรื่องที่ดิน ขาดเอกสารอะไรสักนิดหนึ่ง เอื้อกันได้ไหม เอื้อกันได้ก็ช่วย ไม่ใช่กลับไปแล้วพรุ่งนี้ก็มาอีก ความยากลำบากของเขาแค่ไหน

เพราะฉะนั้นเซอร์วิสมายด์ ปัญญาหรือว่าจิตสำนึกในการบริการ ผมคิดว่าพวกเราต้องมี ไม่อย่างนั้นอย่ารับราชการเลยไปทำธุรกิจ ซึ่งผมเชื่อว่าไม่มีสติปัญญารวยหรอก พวกเราทำธุรกิจไม่เป็น ที่รวยเพราะอาศัยราชการ พูดถึงบางคนนะ ไม่ได้พูดถึงทุกคน คนดีย่อมมีมากกว่าคนชั่ว ไม่อย่างนั้นบ้านเมืองพังไปนานแล้ว ก็อาศัยคราบข้าราชการหากินไปเรื่อย ก็ร่ำรวยแต่เอาจริงแล้วท่านก็รับสั่ง ท่านไม่ปฏิเสธ ใครอยากรวยก็ไม่เป็นไร ลาออกจากราชการ ไปทำธุรกิจ ไม่ว่า แต่ถ้าคุณข้าราชการแล้ว ไม่ได้ ต้องเลือกนะครับ ชีวิตต้องเลือก
      บันทึกการเข้า

www.jozho.net
แจก CD ธรรมะฟรี ดาวน์โหลดธรรมะฟรีมากมาย
เสียงเทศนาหลากหลายครูบาอาจารย์
เสียงอ่านหนังสือธรรมะสำหรับคนรุ่นใหม่ ฟังสบาย เข้าใจง่าย
โจโฉ คร้าบบบ
มือใหม่หัดเมาท์
*


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 24

เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 03 ธันวาคม 2553, 21:32:58 »

ข้อที่ ๗ มีความสุจริต และความกตัญญู

ความสุจริตเป็นเรื่องที่จะทรงแสดงให้เห็น ไม่ใช่เฉพาะความกตัญญู เห็นได้ชัดกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ทรงแสดงให้เห็นเลยความ กตัญญู ความกตัญญูต่อแผ่นดิน ความกตัญญูต่อสิ่งต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ ถ้าเป็นเรื่องของส่วนรวมนั้น พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงแสดงให้เราดู และทรงเตือนพวกเราด้วยให้ยึดสิ่งนี้ไว้ เพราะเป็นเรื่องจำเป็น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เป็นเรื่องที่มีคุณค่า

ข้อที่ ๘ พึ่งตนเอง ส่งเสริมคนดีและคนเก่ง

เอาเรื่องที่ ๒ ก่อน ส่งเสริมคนดีและคนเก่ง อย่าไปอิจฉาเพื่อนร่วมงาน ใครดีใครเก่งนี้สนับสนุนครับ มีนายบางคนไปอิจฉาลูกน้อง ไอ้นี่จะล้ำหน้าแล้ว หรืออะไร แล้วเป็นความคิดที่ต่ำช้าที่สุด ตรงข้ามถ้าเขาเก่งจริงสนับสนุนเขาเลย นี่คือสิ่งที่ควรทำกัน
มีอีกคนหนึ่ง ผมเรียกเขามา ผมบอกให้เขาเลือกเอาว่าจะให้ผมไล่ออกจากราชการหรือเขาจะลาออกเอง เขาถามว่าเขาทำผิดอะไร ประพฤติตัวไม่เหมาะสม เพราะฉะนั้นผมจะไล่เขาออก เพราะเขาจะได้ประสบความสำเร็จในชีวิต เขาบอกนายพูดบ้าๆ ไล่เขาออกเพื่อให้เขาประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะกลางคืนแกเล่นดนตรี กลางวันแกมาหลับ พะว้าพะวัง อยากเป็นนักดนตรีก็อยาก อยากเป็นข้าราชเติบใหญ่ก็อยากเป็น แต่เสร็จแล้วผมบังคับแกจนได้ อีกอาทิตย์หนึ่งถัดมาแกลาออก มายื่นใบลาออก ผมบอกเออ ขอแสดงความยินดีด้วย แล้วลื้อจะประสบความสำเร็จในชีวิต สามปีถัดมามีรถเบ็นซ์เข้ามาในสำนักงานผม มีคนๆหนึ่งเดินลงมาจากรถมาหาผมในห้องทำงานแล้วทรุดตัวลงกับพื้น กราบมาบนตัก คือเขาคนนั้น ใครรู้ไหมครับ ทวีพงษ์ มณีนิล คนเพชรบุรีนี่แหละ พูดแล้วขนลุก หมอจีเนียสทางด้านดนตรี แต่ตัดข้าราชการไม่ออก อยากมันทั้งคู่ จับปลาสองมือ ผมนั่งดูไอ้หมอนี่ดนตรีดีกว่าราชการ รับราชการมันไม่มีทางแทนผมไปได้ แต่ดนตรีผมสู้มันไม่ได้ เออออกไปดีกว่า สามปีเป็นเศรษฐีเลย แต่สุดท้ายไปโดนยิงตายอันนี้ก็ช่วยไม่ได้ เห็นไหมครับ เงินนะครับ เงินทำให้เกิดความสุข เงินมันก่อให้เกิดความทุกข์ด้วยเช่นกัน
เพราะฉะนั้นเรื่องความกตัญญูเรื่องการพึ่งตนเองส่งเสริมคนดีคนเก่งต้องทำให้ได้
พึ่งตนเองก็คือเศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจพอเพียงนี้พระเจ้าอยู่หัวบอกว่าคำที่สำคัญที่สุดในเรื่องราวที่ อธิบายมานี้ คือคำว่า “พอ” ทุกคนต้องกำหนดเส้นความพอให้กับตนเองให้ได้ และยึดเส้นนั้นไว้เป็นมาตรฐานของตนเอง คำว่าพอนั้นก็ต้องดูตัวเอง ดูรายได้ของตัวเอง ดูขีดความสามารถของตัวเอง และขีดเส้นนั้นให้เหมาะสม ไม่ใช่เห็นเพื่อนเขามีอย่างนี้ ฉันอยากมีบ้าง เห็นเขาขี่รถเราอยากมีบ้าง ไม่มีเงินก็ไปกู้หนี้ยืมสิน ไปกู้สหกรณ์อะไรต่ออะไร สองรอบสามรอบขึ้นมา แล้วผลสุดท้ายอย่างไร ทุกข์ๆๆ เพราะฉะนั้นอย่าเอา ให้กลับอยู่ที่ความพอดี
เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่กลับไปปลูกถั่วปลูกงาทำเกษตร ไม่ใช่ แต่ถ้ามีที่ก็เชิญเถอะ แต่เศรษฐกิจพอเพียงคือการวางเส้นทางชีวิตของตัวเอง ตั้งวิถีชีวิตให้เป็นวิถีชีวิตแบบไทยๆ ซะ วิถีชีวิตที่เรียบง่าย ธรรมดา เดินเส้นทางสายกลาง ท่านสอนมาตลอด เพียงแต่ว่าเราลืมไป เราละไป อยู่เรื่อยๆ ธรรมดา ไม่เห็นว่ามีปมด้อยอะไรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นการพึ่งตนเองนั้นเป็นสิ่งสำคัญ

ข้อที่ ๙ รักประชาชน

ตอนหนึ่งที่พระองค์ท่านรับสั่งให้ผมไปจดมูลนิธิชัยพัฒนา ผมไปที่ กทม. (ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร) เอง เราไม่อยากใช้อภิสิทธิ์อะไรทั้งสิ้น เพราะยิ่งอยู่ใกล้เจ้านายยิ่งต้องทำตัวให้ธรรมดาตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ก็ไปแจ้งเหมือนบุคคลธรรมดาทั่วไป ก็มีเจ้าหน้าที่ของ กทม. เขามาสอบสวน ถามบอกทำไมนายกฯไม่มาเอง ผมก็บอกนายกฯ งานเยอะมาไม่ได้เลยมอบฉันทะมา บ้านอยู่อำเภออะไร บอกอยู่อำเภอดุสิต บ้านเลขที่เท่าไร ไม่รู้ เขาก็ เอ อะไรบ้านไม่มีหลักแหล่งแล้วมาตั้งมูลนิธิได้อย่างไร สอบสวนไล่ผมต่อ ไล่ไปเรื่อย ทำอาชีพอะไรบอกไม่รู้จริงๆ ว่าอาชีพอะไร แต่เห็นทำหลายอย่าง ก็ตอบไปอย่างนั้น เจ้าหน้าที่เขาก็บอก อะไรบ้านก็ไม่มีเป็นหลักแหล่ง อาชีพก็ไม่มี แล้วตาก็เหลือบไปเรื่อยจนกระทั่งไปเห็นชื่อผู้ยื่นจริงๆ และผมเป็นแค่ตัวแทนเท่านั้นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมอบอำนาจมา อุ๊ย อย่าให้ท่านมานะ มายุ่งตายเลย ขออย่ามาเลย จัดการให้เสร็จ ค่าจดทะเบียนสามสิบบาท ขอบริจาคเป็นคนแรกได้ไหม แล้วตกลงวันนั้นฟรี สามสิบบาทแกควักออกมาด้วยความตกอกตกใจมากเลย

ก็กลับมากราบบังคมทูล นี่พอเขาถามว่าอาชีพอะไร ข้าพระพุทธเจ้าตอบไม่ได้
พระองค์ท่านตอบว่า คราวหลังถ้าเขาถามว่าฉันทำอาชีพอะไร ให้ตอบว่า “ทำราชการ” ผมเล่าตรงนี้เพื่อมาสู่พวกเราขณะที่พระองค์ท่านทำราชการ พวกเรานี่ทำอะไร “รับราชการ” ใช่หรือเปล่า รับจากพระองค์มาเพื่อทำต่อ
พระองค์ท่านทรงรักประชาชน ทำงานเพื่อประชาชน คนที่รับราชการ ถือว่ารับงานของราชะมาทำต่อ สิ่งแรกที่ต้องทำ คือต้องรักประชาชน ทำงานเพื่อประชาชน

เรารับราชการ เราต้องรักผู้มารับบริการ ถ้าเราขาดความรักตรงนี้ รู้รักสามัคคีก็มีคำว่า “รัก” อยู่ด้วย ถ้าเราไม่มีจิตสำนึก อันนี้ป่วยการ เราเป็นข้าราชการที่ดีไม่ได้หรอก ประชาชนมาถึงหน้าเคาน์เตอร์เห็นหน้าเราก็หงิกไปแล้ว โธ่เขากลัวเราอยู่แล้ว สถานที่ราชการ ใครก็ตัวสั่น ไปเจอการต้อนรับที่แย่รีบกลับไปเลย จะพึ่งใครได้ ว้าเหว่แค่ไหน ปิยวาจา รักประชาชนก็แสดงออกทั้งกาย วาจา ใจ ทั้งหมด แล้วบุญกุศลนี่มีจริงเชื่อผมสิ
พระพุทธเจ้าสอนว่าปลูกต้นมะม่วงแล้วได้ลูกมะม่วง ไม่ใช่ปลูกมะม่วงแล้วได้ทุเรียนไม่ใช่ คุณปลูกความดี คุณได้ความรักกลับมาแน่นอนที่สุด ภาษาฝรั่งก็มีสุภาษิตนี้ มีกีฟ มีเทค ถ้ายูกีฟแล้วยูก็เทค อยากให้เขาด่าเราก็เดินไปด่าแม่เขาก่อนเดี๋ยวเขาก็ด่ากลับมา ง่ายที่สุด ถ้าผมเดินไปข้างล่างยกมือไหว้ใครสักคน คุณก็ยกมือไหว้ผมตอบ แน่นอนที่สุดเลย ไม่ใช่ยกมือไหว้เสร็จ ไอ้บ้าไหว้ฉันทำไม อันนั้นคุณก็บ้าแล้วเพราะฉะนั้นการรักประชาชนนั้นผมคิดว่าเป็นหัวใจ

ข้อที่ ๑๐ การเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน

พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่ารู้ไหมบ้านเมืองอยู่รอดมาได้ทุกวันนี้เพราะอะไร เพราะคนไทยเรายังให้กันอยู่ คำสั้นๆ คำเดียว “เรายังให้กันอยู่” คนในครอบครัวยังช่วยเหลือซึ่งกันและกันอยู่ คนในชุมชนยังเอื้อกันอยู่ ข้าราชการยังให้บริการแก่ประชาชน เวลาเกิดทุกข์ยากที่ไหน ทุกคนยังรวมตัวกันช่วยเหลือซึ่งกันและกันอยู่ อันนี้เป็นสังคมที่หาไม่ได้ในโลก
ฝรั่งแม้กระทั่งคนในครอบครัวก็ตัวใครตัวมัน ไม่มีหรอกที่จะไปนั่งช่วยกัน ตกเย็นมา เฮ้ยขอกินข้าวด้วยสักมื้อ ไม่ได้หรอก ตัวใครตัวมันทั้งนั้น อย่างเมืองไทยนี่ไปถึงจะเอาอะไรก็ได้ เดินเข้าไปทีไหนก็มีข้าวกินแล้ว นี่อย่าไปหาที่ไหนเลยครับ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่นั้น เป็นคุณสมบัติของเราที่จะต้องมี

ผมสั่งเจ้าหน้าที่ในสำนักงานของผมเสมอว่า เวลาใครเขามาติดต่อกับเรา เขาจะได้หรือไม่ได้อะไรจากเรา แต่หลักอย่างหนึ่งที่เขาจะได้คือเขาจะต้องเดินยิ้มออกไปจากสำนักงานของเรา ถึงแม้จะปฏิเสธเขา ไม่ให้เขาก็ให้เขาเดินยิ้มออกไปไม่ต้องไปด่าทอ ไม่ต้องไปกระแนะกระแหนอะไรใดๆ ทั้งสิ้น มันก่อประโยชน์อะไรเล่า ฝึกซะให้ชิน แล้วก็ทำได้

นี่แหละครับ หลัก ๑๐ ประการที่ทาง ก.พ.ได้รวบรวมไว้ ลองนำ ๑๐ คำนี้เขียนใส่กระดาษท่องไว้ เขียนตัวโตๆหน่อย วันจันทร์ก็เอาเสียบไว้อันหนึ่ง วันอังคารเสียบไว้อีกอันหนึ่ง แล้วเดี๋ยวพอหมุนครบ ๑๐ วันเอาอีกอันเสียบต่อ ให้มันฝังเข้าไปในหัวเลย

//
พระเจ้าอยู่หัวเวลาทำอะไร
ทรงมุ่งมั่นมาก
เรื่องความขยันไม่ต้องพูด
ทรงงานไม่มีวันเสาร์วันอาทิตย์
ไม่มีเวลากลางวันกลางคืน
//












ตามหลักทศพิธราชธรรม

อีกเรื่องที่คิดว่าเป็นประโยชน์สำหรับพวกเราด้วยนั้นคือ ทศพิธราชธรรม ก็มี ๑๐ ประการ ซึ่งหลายข้อก็ไปซ้ำกับ ๑๐ ข้อที่เราได้ประมวลเอาไว้ในลักษณะที่ทรงมีพระราชกรณียกิจให้เราได้เห็น เพื่อให้เราได้ทำตาม

แต่ทศพิธราชธรรมได้ถูกกำหนดมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แล้วว่าเป็นหลักของพระราชา ของพระมหากษัตริย์ เราในฐานะผู้ที่รับงานของราชะมานั้นก็ต้องปฏิบัติตามทศพิธราชธรรมด้วย

ข้อที่ ๑ คือ ทาน
คือ การให้ ให้ทาน ให้เพื่อให้ ไม่ต้องหวังประโยชน์ไม่ต้องอะไรทั้งสิ้น

ข้อที่ ๒ คือ ศีล
คือ ถือศีล อย่างน้อยศีล ๕ ต้องถือไว้ ศีล ๕ นี่แหละคือglobalization ที่แท้ สากลจริงๆ ไม่มีประเทศไหนในโลกสอนให้ฆ่า สอนให้โกหก แต่คำว่า globalize ที่เราตามๆ เขาน่ะ ไม่ใช่ แล้วก็หลงไปในตัวอำนาจของโลกด้วย แล้วเราก็ถูกเหยียบย่ำตลอดเวลา แล้วเราก็บอกว่าเสรี เสรีภายใต้คนที่มีร่างกายแข็งแรง พลังอำนาจแข็งแรงที่สุด ฉันไม่เอากุ้งไทย เพราะกุ้งไทยนั้นทำให้เต่าตาย เต่าตายบ้าอะไร เราเลี้ยงกุ้งในนากุ้ง ไม่ใช่ไปจับเต่าทะเลที่ไหน แต่ฉันจะเอาอย่างนี้ จะทำอย่างไร นี่คือเสรีภายใต้การนำของมหาอำนาจ อย่าหลงกลแล้วเห่อฝรั่งเสรี สิทธิมนุษยชนนี่มันอ้างมา มีสินค้าอะไรอีก ต่อไปศตวรรษที่ ๒๑ ถ้าใครมีอายุข้ามไปอีกศตวรรษ ต้องเจอเหตุการณ์ที่ยุ่งยากที่สุด ยากกว่าปัจจุบัน หรือยากกว่าศตวรรษที่แล้วกว่าหลายเท่า

อย่างผู้ว่าราชการจังหวัดยุคนี้ เป็นยุคที่ทำงานลำบากที่สุด กรอบต่างๆถูกเปลี่ยนใหม่หมด รัฐธรรมนูญต้องถูกตีความกันทุกวัน หลักการปฏิบัติต้องเปลี่ยนใหม่หมด การตรวจสอบจากประชาชนจะถูกหรือไม่ถูกมีมากมายก่ายกอง ทำงานลำบากมาก
ต้องปรับตัว ปรับบทบาทเสียตั้งแต่วันนี้ ถ้าท่านไม่เปิดเขาจะมากระชากประตูหัวใจมันเปิดเอง แล้ววันนั้นหัวใจท่านก็จะหลุดไปด้วย เพราะฉะนั้นรีบเปิดซะก่อน เตรียมเนื้อเตรียมตัวให้พร้อมที่จะเผชิญศตวรรษที่ ๒๑

ข้อที่ ๓ ปริจจาคะ
คือ การบริจาค ในสิ่งที่ได้ประโยชน์น้อยไปสู่ประโยชน์มาก รับสั่งสอนไว้ ทำอะไรก็ต้องให้มันได้กลับมาคุ้มทุน คุ้มค่ามากกว่า
ข้อที่ ๔ อาชชวะ
คือ ความซื่อตรง ยึดเอาไว้ ใครทำผิดน่ะไม่รอดหรอก อย่างน้อยนอนผวา นอนไม่หลับ เผชิญหน้ากับใคร สบตากับใครก็ไม่สนิท
ข้อที่ ๕ มัททวะ
คือ อัธยาศัยอ่อนโยน เรียบร้อย น่ารัก
ข้อที่ ๖ ตบะ
คือ ความเพียร ต้องเพียรและให้สำเร็จด้วย เวลามีปัญหาอะไร ร่วมมือเลย ของยากๆเอาชนะให้ได้ ไม่ใช่เจอปัญหาก็ไปก่อนล่ะนะพวกเอ็งทำกันเถอะ แล้วทำเสร็จเมื่อไรไปตามกลับมาก็แล้วกัน กระโดดเข้าใส่มัน ฝึกให้ชิน แล้วก็ท้าทายความสามารถของตัวเอง
ข้อที่ ๗ อักโกธะ
คือ ไม่โกรธ พระเจ้าอยู่หัวนี่ไม่เคยทรงโกรธ ผมไม่เคยเห็นพระองค์ท่านทรงโกรธใคร สภาพคนในสังคมนี้จะให้ดี ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่มีหรอก ก็มีคละเคล้าไปอย่างนี้ พระองค์ท่านรับสั่งเอาไว้ว่า ทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกันได้โดยเขาไม่ไปทำร้ายสังคมมากไปกว่านี้ ขีดวงให้คนชั่วอยู่ แต่ไม่ได้ฆ่า ก็มีโอกาสหมดได้
ข้อที่ ๘ อวิหิงสา
คือ ความกรุณา ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
ข้อที่ ๙ ขันติ
มี ความอดทน อดกลั้น ทั้งกาย วาจา ควบคุมให้ได้
ข้อที่ ๑๐ อวิโรธนะ
ต้องยึดมั่นในประเพณี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยึดมั่นในขัตติยประเพณี และตั้งมั่นในความยุติธรรม ทรงเน้นให้คนไทยมีความสำนึกในความเป็นชาติไทยในขนบธรรมเนียมประเพณี และศิลปวัฒนธรรมของชาติอยู่เสมอ ธรรมเนียมประเพณีใดที่ทรงเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อจิตใจประชาชนและเป็นการ รักษาสิ่งดีงาม จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อฟื้น

ผมขอขยายความเห็นส่วนตัวเพิ่มเติม
เราเป็นคนไทย ภูมิใจในความเป็นไทยไว้ ทุกอย่างที่เป็นไทยมีค่าทั้งสิ้น ฝรั่งมังค่า ตั้งแต่อาหาร นี่รู้สึกเขาชื่นชมมากกว่าเราซะอีก กินข้าวแกงอร่อยๆ แฮมเบอร์เกอร์ก็แดกกันเข้าไป เพราะว่าลักษณะ จะไปบอกกิน รับประทานอาหารมันก็ไม่เหมาะสมก็งับกร้วมเข้าไป ทะลักออกมาทั้งสองข้าง ต้องใข้คำว่าแดก เหมาะสมแล้ว ไม่ได้เป็นคำหยาบคายอะไรเลย
ข้าวแกงนี่ภูมิปัญญาคนไทยแค่ไหน อาหาร ๕ หมู่ อยู่ในจานครบหมด เสร็จแล้วเครื่องผสมนี่ สมุนไพรอีกตั้งกี่สิบอย่างไม่รู้ มันต้องรินออกมาผสมผสานกันในสัดส่วนแค่นี้ ก็เป็นเขียวหวาน ออกมาเป็นแกงแดง แกงส้ม แล้วแต่ภูมิปัญญาสูงแค่ไหน
มีอาหารที่ไหนไหมในโลก ที่ในคำเดียวมี ๕-๖ รส อาหารฝรั่งไปทางเดียวเลย มีเค็มเป็นหลัก เค็มแล้วอะไรก็ไม่รู้ อาหารจีน จืด กี่จานๆ มา เหมือนกันหมด มื้อกลางวันนี้ขนมจีน ตักแกงราดไป ให้ตั้งจิตไว้ เราอย่ากินเพลินๆไป ตั้งจิตกัดกร้วมขนมจีนนิ่มๆนุ่มๆ กัดอีกกร้วมเจอเนื้อ กัดอีกกร้วมมีมะเขือ มีรสขมออกมาผสมผสานกับความเผ็ด เค็ม ความหวานเดิม แหมมันสนุกจริงๆ ตอนนี้แม้กระทั่งการกิน ก็ขอให้สติอยู่ที่ปาก

สติอยู่ที่ปากสนุกสนานเป็นอย่างมากเลย ศิลปะ ภูมิปัญญาของไทย ทำไมสูงอะไรเช่นนั้น แฮมเบอร์เกอร์กัดกร้วมไป ติดแป้ง เนื้อแหยะๆ กร้วมๆ กลืนรีบกระเดือกอย่างรวดเร็ว เพราะมันไม่มีความอร่อยอะไรเหลืออยู่ รีบกลืนๆ ซะ แล้วรีบไป “แดกด่วน” ชื่อเขาก็บอกแล้ว
น้ำพริกของเรานี่มีแป้ง มีปลา มีทุกอย่างผสม กัดไปแต่ละคำมีรสนั้นฉีดออกไป รสนี้ฉีดออกมา ลองใช้สติเข้าไปจับแล้วจะเห็นคุณค่า เวลานี้ร้านอาหารจีนแถวยุโรปปลดป้ายลงหมดเลย บางทีกุ๊กไม่ได้เปลี่ยนหรอก ยกป้ายอาหารไทยเป็นไทยฟู้ดขึ้นแทน

ตอนที่เขาจัด เอเชีย แบ็คทูเบสิก เชิญคุณอานันท์(ปันยารชุน) เชิญปราชญ์ในภูมิภาคนี้มาพูด ผลสุดท้าย อะไรก็เหมือนวัฏจักร สูงสุดแล้วมาประสบข้อเท็จจริงว่า แท้ที่จริงคือเบสิก เคยทำงานร่ำรวยกันมา ผลสุดท้ายต้องมีบ้านต่างจังหวัด ที่จริงมาจากต่างจังหวัดจะทำงานร่ำรวยอย่างไร บอกต้องกลับต่างจังหวัด เหนื่อยฟรี ชีวิตทั้งชีวิต ถ้าอยู่ต่างจังหวัดซะก็สิ้นเรื่อง
มีการ์ตูน ผมไปเห็นเข้า เป็นช่องๆ ช่องแรกมีคนใส่เสื้อขาดปุปะ นั่งตกปลาอยู่ ช่องที่ ๒ มีรถคาดิแลคแล่นมา มีเศรษฐีแต่งตัวโก้เชียว มีเครื่องตกปลา อะไรต่ออะไรสะพายมามีคนหิ้วเสร็จ ลงจากรถในช่องถัดไป มานั่งตกปลาข้างๆกับคนจนที่ตกปลา แล้วเริ่มคุยกัน แล้วก็ถาม เด็กๆนี่ไม่เคยเรียนหนังสือใช่ไหม ใช่ ไม่เคยเรียน แล้วถามคนใส่เสื้อขาดว่า เรียนอะไรมา คนเสื้อขาดก็ถามกลับว่าเรียนไปทำไม เศรษฐีบอกเรียนเสร็จได้งานดีๆ คนเสื้อขาดถามได้งานดีๆแล้วไงต่อ เศรษฐีบอกก็ได้งานดีๆเสร็จก็มีตำแหน่งสูงๆ แล้วได้เงินเดือนเยอะๆ แล้วไง ก็ร่ำรวย ร่ำรวยแล้วจะได้มีเวลามานั่งตกปลาอย่างนี้ไง คนเสื้อขาดบอกก็ไม่เห็นต้องเหนื่อยอย่างนั้นเพราะนี่นั่งตกปลามาตลอดเลย ที่คนจนเค้าตอบมา นี่คือปรัชญา ผลสุดท้ายเห็นไหมครับ สัจธรรมจริงๆ คือความสุข

ตัด ๕ อธรรม ใส่ ๕ ธรรม

ผมอยากฝากอีกว่า การดำเนินชีวิตของพวกเราให้พยายามตัด ๕ อธรรมแล้วใส่ธรรม ๕ ตัว ได้ไหม อธรรม ๕ ตัวที่ต้องทำลายคือ หลง โลภ โง่ โกง กัด กันเอาไปจากตัวให้ได้ อย่าหลงอะไรไปกับกระแสโดยที่ไม่รู้อะไรดีอะไรชั่ว โลภก็ไม่ต้องขวนขวายมา จะต้องไปโกงกินอะไรก็ไม่ต้องไปเอา ถ้าหลงแล้วโลภแล้วมันก็ต้องไปโกงเขา แล้วก็ทุกข์ และหลายครั้งก็ทำอะไรโง่ด้วย เป็นอยู่ตลอดเวลา กัดกัน นี่ไงกัดกันรอบเมืองไปหมด ฉะนั้น หลง โลภ โง่ กัด อธรรม ๕ ตัวนี่เอาออกไป

กลับมาที่พระเจ้าอยู่หัวบอกให้พอดี เศรษฐกิจพอเพียง คือ ความพอดี เราต้องคิดต่อว่า พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานอย่างนี้ ต้องคิดต่อทันทีเลย ก็เลยคิดมาได้ ๕ ประการด้วยกัน อยากเรียนฝากเอาไว้
ประการแรก สร้างความพอดีให้เกิดกับจิตใจให้ได้ก่อน ใจของเราต้องไม่ไปสุดกู่ด้านใดด้านหนึ่ง ระดับจิตใจของเราต้องอยู่ในความพอดี มีความเอื้ออาทรต่อกัน ความพอดีด้านจิตใจ
เนื่องจากเราไม่ได้อยู่ในสังคมคนเดียว เราต้องอยู่ร่วมกัน อยู่ในครอบครัวก็มีครอบครัว อยู่ในที่ทำงานก็มีเพื่อนร่วมงาน เพราะฉะนั้น ประการที่ ๒ ความพอดีในด้านสังคม จึงเกิดขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับรอบๆ ข้างนั้นจะต้องสร้างให้เกิดความพอดีขึ้นมา
ความพอดีด้านที่ ๓ คือ ความพอดีด้านเศรษฐกิจ อยู่อย่างไรอยู่อย่างนั้น ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ไปซื้อทองใส่ มันกินเข้าไปไม่ได้ ไม่มีชีวิตชีวา ไม่มีอะไรหรอก ช่วยตัวเองได้แค่ไหนให้ช่วยตัวเอง ถ้าปลูกผักหญ้าหลังบ้านได้ ก็ปลูกไป
มีรถพอที่จะขี่ได้ขนาดไหนก็ขี่ขนาดนั้น ไม่ต้องไปขวนขวาย อันนี้คือความพอดีทางด้านเศรษฐกิจ
ถัดไป ความพอดีทางด้านเทคโนโลยี เป็นประการที่ ๔ ในบ้านเมืองเรา ต้องสนใจเทคโนโลยีด้วย ไปอยู่แบบล้าหลังก็ไม่ใช่ แต่ก็ต้องเอาเทคโนโลยีที่เหมาะสม สอดคล้องกับพื้นฐานของเรา เอาเข้ามาใช้จะได้ค่อยๆเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างมั่นคงและยั่งยืน ยึดประโยชน์สุขเป็นที่ตั้ง
ความพอดีที่ ๕ คือ ความพอดีทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ ใช้อะไรแต่พอดี อย่าทิ้งขว้าง ทิชชูอย่าเช็ดทีเดียวแล้วทิ้ง ใช้จนกระทั่งมันขาดแล้วค่อยทิ้ง ถ้ามีผ้าเช็ดหน้าใช้ผ้าเช็ดหน้าดีกว่า เพราะเย็นไปซัก พรุ่งนี้เช้าใช้ได้อีก มีลูกก็ฉีกผ้าอ้อมซะ อย่าไปเอาแพมเพอร์ส ฉี่ออกมาก็กลายเป็นขยะแล้วทิ้ง ขยะออกมากี่ก้อนต่อวัน คิดกันบ้างหรือเปล่า พื้นที่รองรับในบ้านในเมืองในโลกนี้มีพื้นที่เท่าเดิม ผ้าอ้อมนี่ ลูกคนนี้ใช้ลูกคนต่อไปก็ใช้ได้อีก ไอ้แพมเพอร์สนี่ใช้ทิ้งๆ วัฒนธรรมใช้ทิ้งนี้เราก็นำเข้ามาจากต่างประเทศ เราทิ้งความฉลาดของเราไปเพื่อนำไปสู่ความอะไรของมันก็ไม่รู้ได้
เมื่อนำอธรรม ๕ ประการออกไปแล้ว ก็ขอให้นำธรรม ๕ ประการจากหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือความพอดีทั้ง ๕ ด้านใส่เข้าไปแทน อาจจะเป็นเรื่องลำบากอยู่สักหน่อย เพราะคนไทยส่วนใหญ่เคยชินกับการใช้ชีวิตแบบเกินพอดีมานาน แต่คงไม่ยากเกินไปหากคิดที่จะเปลี่ยนแปลง


การมีชีวิตที่ดีในโลกไร้พรมแดน
ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๙ ซึ่งสภาพัฒน์ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ได้จัดระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ และประชาชนทุกภาคส่วนของสังคมทั้งในระดับจังหวัด อนุภาค และระดับชาติ ได้อัญเชิญ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นหลักพื้นฐานของการพัฒนาในทุกเรื่อง และเป็นแนวทางในการดำเนินวิถีชีวิตของคนไทยทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชนและสังคม โดยยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาแบบองค์รวมที่ยึดคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ต่อเนื่องจากแผนฯ ๘ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและความอยู่ดีมีสุขของคนไทย
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่ชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์

ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัย ความ รอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน ขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคมสิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชี้ทางสว่างให้คนไทยมานานแล้ว ทั้งมีพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมานานเกือบ ๓๐ ปี และยังทรงปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่าง เพียงแต่ไม่ค่อยมีใครเห็น ไม่สนใจกัน ประเทศชาติก็เลยต้องย่ำอยู่ในวังวนของปัญหากันอย่างนี้
ยังไม่สายเกินไปหรอกครับที่เราจะหันมาดำเนินชีวิตตามรอยพระบาทของพระองค์ ท่าน ตรงนี้ไม่ใช่เพื่อใครอื่นก็เพื่อตัวท่านเอง เพื่อให้ความสุขที่แท้จริงบังเกิดขึ้นกับตัวท่าน และเมื่อทุกคนมีความสุข มีความพอดี เป็นคนดี มีธรรมะ เมื่อนั้นประเทศชาติบ้านเมืองของเราก็จะสงบสุขร่มเย็น คนไทยก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อของการพัฒนาที่ผิดทิศทางเช่นทุกวันนี้








ภาคผนวก

ทศพิธราชธรรม

ทิศพิธราชธรรม คือ ธรรมะ ๑๐ ประการ
สำหรับพระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติ
อันนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองความสงบสุข
สันติของบ้านเมือง และพสกนิกรทั้งหลาย
พระราชธรรมทั้ง ๑๐ ประการ
ได้แก่ ทาน° สีล° ปริจจาค° อาชชว° มททว° ตป°
อกโกธ° อวิหึสา ขนติ และ อวิโรธน°

๑. ทาน° คือ การให้อย่างมีผู้รับ ไม่ว่าจะเป็นการให้ทางกำลังวัตถุสิ่งของ การให้ทางกำลังสติปัญญา การให้ทางกำลังกาย กำลังใจ จะเห็นได้ชัดเจนจากโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินตามแนวทางพระราชดำริ การพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในกรณีและภัยพิบัติต่างๆ
๒. สีล° คือการสำรวมในศีล การรักษากาย วาจาให้เรียบร้อย พระราชจริยวัตรที่ปรากฏทางพระวรกาย ทางพระวาจา ล้วนหมดจดงดงาม เป็นที่จับใจของผู้พบเห็น
๓. ปริจจาค° คือการบริจาค เป็นการให้ภายใน หรือที่เรียกว่าทางจิตใจ เป็นการให้แบบไม่ต้องมีผู้รับ เป็นการยอมสละส่วนเฉพาะตน เพื่อประโยชน์ส่วนรวม สละความสุขสบายและผลประโยชน์ส่วนตนได้ มีจิตใจกว้างขวาง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือเกื้อกูล
๔. อาชชว° คือความเป็นผู้ตรง ได้แก่ การประพฤติต่อตนเองและผู้อื่นด้วยความจริงใจ ไม่มีมารยาสาไถย ไม่มีนอก ไม่มีใน พระมหากษัตริย์ทรงซื่อตรงในฐานะที่เป็นผู้ปกครอง ดำรงอยู่ในสัตย์สุจริต ซื่อตรงต่อพระราชสัมพันธมิตรและอาณาประชาราษฎร์
๕. มททว° คือความเป็นผู้อ่อนโยน ได้แก่ มีสัมมาคาระ อ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ผู้เจริญ อ่อนโยนต่อบุคคลที่เสมอกันและต่ำกว่า วางตนสม่ำเสมอ ไม่ดูหมิ่นผู้อื่น ในหลวงของเราทรงปฏิบัติพระราชธรรมข้อนี้อยู่เป็นนิตย์ ทรงมีพระพักตร์อันแช่มชื่น อันบ่งบอกถึงพระเมตตาคุณและพระกรุณาธิคุณอันเปี่ยมล้นอยู่ภายในพระองค์ มิได้ทรงถือพระอิสริยยศ เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมเยียนราษฎรโดยไม่เลือกชั้นวรรณะแต่อย่างใด
๖. ตป° คือความเพียร ได้แก่ ความบากบั่น ก้าวหน้า ไม่ถอยหลัง ความไม่หยุดอยู่กับที่ อันเป็นคุณสมบัติที่เผาผลาญกิเลสความเกียจคร้านทั้งปวง การที่พระมหากษัตริย์ทรงตั้งพระราชอุตสาหะ วิริยะ ปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งปวงให้สำเร็จย่อมเป็นตัวอย่างอันดีในเรื่องความ เพียร
๗. อกโกธ° คือความไม่โกรธ ได้แก่ การไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏ ตลอดถึงการไม่พยาบาทมุ่งร้ายผู้อื่น กิริยาที่แสดงความโกรธออกมานั้นไม่งดงาม น่าเกลียดน่าชัง ในหลวงของเราไม่เคยแสดงพระอาการกริ้วโกรธ แม้จะมีเหตุให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท พระองค์ทรงมีพระอาการสงบนิ่ง
๘. อวิหึสา คือ ความไม่เบียดเบียน ได้แก่การไม่ก่อความทุกข์ยากให้แก่ผู้อื่นตลอดถึงสัตว์ด้วย เห็นเป็นของสนุกของตนเพราะอำนาจโมหะ เช่น ทำร้ายคนและสัตว์อื่นแล่น ความไม่เบียดเบียนจักเป็นได้ ก็ต้องอาศัยความกรุณาเป็นเบื้องหน้า
๙. ขนติ คือความอดทน ได้แก่ ความอดทนต่อโทสะ อดทนต่อโมหะ นั่นเอง ไม่ทำล่วงไปด้วยอำนาจโลภะ หรือราคะ โทสะ โมหะนี้ งามทางกาย ทางวาจา ตลอดถึงทางมะนะหรือทางใจ ขันติ คู่กับ โสรัจจะ ได้แก่ การทำใจให้สงบจากความคิดที่จะทำชั่ว พูดชั่ว หรือคิดชั่ว ขันติและโสรัจจะ เป็นธรรมะที่ทำให้งาม คือทำใจให้งามก่อน เมื่อใจงามแล้วกายก็งาม วาจาก็งาม ความคิดเรื่องราวต่างๆก็งาม
๑๐. อวิโรธน° คือความไม่คลาดธรรม วางตนเป็นหลักหนักแน่นในธรรม คงที่ ไม่มีความเอนเอียง หวั่นไหว เพราะถ้อยคำที่ดีร้าย ลาภสักการะ หรือ อิฎฐารมณ์อนิฏฐารมณ์ใดๆ สถิตมั่นในธรรม ทั้งส่วนยุติธรรม คือ ความเที่ยงธรรมก็ดี นิติธรรม คือระเบียบแบบแผนหลักการปกครอง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามก็ดี ไม่ประพฤติให้เคลื่อนคลาดวิบัติไป

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
พระบรมราโชวาทเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง

เปรียบเสมือนเสาเข็ม
“เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป”

ต้องทำแบบคนจน
“ต้องทำแบบคนจน เราไม่เป็นประเทศร่ำรวย เรามีพอสมควร พออยู่ได้ แต่ไม่เป็นประเทศที่ก้าวหน้าอย่างมาก เราไม่อยากจะเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมาก เพราะถ้าเราเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมาก ก็จะมีแต่ถอยหลัง ประเทศเหล่านั้นที่เป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมก้าวหน้า จะมีแต่ถอยหลัง และถอยหลังอย่างน่ากลัว แต่ถ้าเริ่มการบริหารที่เรียกว่า แบบคนจน แบบที่ไม่ติดกับตำรามากเกินไป ทำอย่างมีสามัคคีนี่แหละ คือเมตตากัน ก็จะอยู่ได้ตลอดไป”


พึ่งตนเอง (Self-sufficiency)
“Self-sufficiency” นั้นหมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้ไม่ต้องไปขอซื้อคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง(พึ่งตนเอง)...บางคนแปลจากภาษาฝรั่งว่า ให้ยืนบนขาตัวเอง คำว่า “ยืนบนขาตัวเอง” นี่มีคนบางคนพูดว่าชอบกล ใครจะมายืนบนขาคนอื่นมายืนบนขาเรา เราก็โกรธ แต่ตัวเองยืนบนขาตัวเองก็ต้องเสียหลักหกล้มหรือล้มลง อันนี้ก็เป็นความคิดที่อาจจะเฟื่องไปหน่อย แต่ว่าเป็นความที่เขาเรียกว่ายืนบนขาของตัวเอง(ซึ่งแปลว่า พึ่งตนเอง) หมายความว่าสองขาของเรานี่ยืนบนพื้น ให้อยู่ได้ไม่หกล้ม ไม่ต้องไปขอยืมขาของคนอื่นมาใช้สำหรับยืน”

หลักสำคัญของเศรษฐกิจพอเพียง
(Sufficiency Economy)

การกระทำใดๆ ให้มีความพอเพียง หมายถึง ทำพอประมาณ ด้วยเหตุและผล การพัฒนาต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอน
ต้องสร้างระบบภูมิคุ้มกันในตัว เพื่อสามารถเผชิญและอยู่รอดจากผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน
ต้องมีความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและดำเนินการทุกๆ ขั้นตอน
ต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในประเทศให้สำนึกในคุณธรรม จริยธรรมและศีลธรรม
ต้องดำเนินชีวิตด้วยมีความอดทน ความเพียร มีสติปัญญาและความรอบคอบ
สร้างความสมดุลและความพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ

การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียง
สำหรับสังคมแต่ละระดับ
ระดับบุคคล/ครอบครัว
- สามารถให้ตนเองเป็นที่พึ่งแห่งตนใน 5 ด้าน
1) จิตใจ
2) สังคม
3) เทคโนโลยี
4) ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
5) เศรษฐกิจ
- รู้จักคำว่า “พอ” และไม่เบียดเบียนผู้อื่น
- พยายามพัฒนาตนเองเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและความชำนาญ
- มีความสุขและความพอใจกับชีวิตที่พอเพียง ยึดเส้นทางสายกลางใน
การดำรงชีวิต
ระดับชุมชน
ประกอบด้วย บุคคล/ครอบครัวที่มีความพอเพียงแล้ว
- รวมกลุ่มทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม โดยอาศัยภูมิปัญญาและ
ความสามารถของตนและชุมชน
- มีความเอื้ออาทรระหว่างสมาชิกชุมชนทำให้เกิดพลังทางสังคม
- พัฒนาไปสู่เครือข่ายระหว่างชุมชนต่างๆ

ระดับรัฐหรือระดับประเทศ
ประกอบด้วย สังคมต่างๆ ที่เข้มแข็ง
- ชุมชน/สังคมหลายๆแห่งร่วมมือกันพัฒนาตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
- วางรากฐานของประเทศให้มีความพอเพียงและพร้อมก่อน จึงค่อยๆ
ดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เจริญขึ้นเป็น
ลำดับๆต่อไป

ตัวอย่างของเศรษฐกิจพอเพียง
ระดับเกษตรกร ได้แก่ เกษตรทฤษฎีใหม่
ขั้นที่ 1 เป็นแนวทางการจัดการพื้นที่เกษตรกรรมในระดับครอบครัว
เพื่อให้พออยู่พอกินสมควรแก่อัตภาพในระดับที่ประหยัดไม่
อดอยากและเลี้ยงตนเองได้
ขั้นที่ 2 การรวมกลุ่มในรูปสหกรณ์ร่วมแรงในการผลิตจัดการตลาด
และพัฒนาสวัสดิการของชุมชนในรูปแบบต่างๆ เป็นการสร้าง
ความสามัคคีภายในท้องถิ่นและเตรียมความพร้อมก่อนก้าวสู่
โลกภายนอก
ขั้นที่ 3 ติดต่อประสานงานกับภายนอก เพื่อจัดหาทุนหรือแหล่งเงิน
เช่น ธนาคาร หรือบริษัทห้างร้าน เอกชนมาช่วยในการลงทุน
และพัฒนาคุณภาพชีวิต
โดยสรุป แนวพระราชดำริจะเปิดโอกาสให้เกษตรกรประยุกต์ใช้ความรู้ ภูมิปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในแต่ละท้องถิ่น สนับสนุนการรวมตัวกันโดยอาศัยทุนทางสังคมหรือวัฒนธรรมเป็นพื้นฐานสร้าง องค์กรหรือเครือข่ายที่เข้มแข็งในระดับชุมชน หรือระดับเครือข่ายธุรกิจเอกชน


ระดับนักธุรกิจ
- ยอมรับการมีกำไรในระดับพอประมาณ (Normal Profit)และมีเหตุผลที่พอเพียงต่อนักธุรกิจที่ลงทุน หรือผู้ถือหุ้นและต้องไม่เป็นการแสวงหากำไรโดยการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือผิด กฎหมาย
- ไม่ปฏิเสธการส่งออก แต่ต้องมีการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี เพื่อให้พร้อมรับต่อความเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยระลึกเสมอว่าการจะก้าวให้ทันต่อกระแสโลกาภิวัตน์ ต้องอาศัยความรอบรู้ รอบคอบและระมัดระวังอย่างยิ่ง
- สามารถกู้เงินมาลงทุนได้เพื่อทำให้รายได้และต้องสามารถใช้หนี้ได้
- ต้องมีคุณธรรม ซื่อสัตย์สุจริต เพียร อดทนและรับผิดชอบต่อ
สังคม โดยมีการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต การปรับปรุงสินค้า
และคุณภาพให้ทันกับความต้องการของตลาดและการเปลี่ยนแปลง
ทางเทคโนโลยี
- รักษาความสมดุลในการแบ่งปันผลประโยชน์ของธุรกิจในระหว่างผู้มี
ส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ได้แก่ พนักงาน บริษัท ผู้บริโภคและสังคม
โดยรวม

ระดับนักการเมือง
- การกำหนดนโยบายการออกกฎหมายและข้อบัญญัติต่างๆ หรือ
ดำเนินวิถีทางการเมืองให้ยึดมั่นอยู่บนพื้นฐานของความพอเพียง
และผลประโยชน์ของส่วนรวม
- มีทัศนคติและความคิดที่ดี บนพื้นฐานของความพอเพียง สุจริต
มีความเพียร และมีสติในการทำกิจการต่างๆ
- ตัวอย่างการกำหนดนโยบายการเงินการคลัง ได้แก่
• ความพอดี เช่น กำหนดเป้าหมายปริมาณเงินต้องไม่มากเกินไปจน
เป็นผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและไม่น้อยเกินไปจนทำ
ให้เศรษฐกิจซบเซา
• ความมีเหตุมีผลและความคล่องตัว ต้องสามารถปรับตัวให้
สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างมีเหตุมีผลและ
คล่องตัว
• ระมัดระวังการเปลี่ยนแนวนโยบายการเงินการคลังต้องทำอย่างค่อย
เป็นค่อยไป โดยประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบ
• การป้องกันปัญหาก่อนที่จะรุนแรงขึ้น ต้องพิจารณาถึงปัญหาใน
ปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต
• การจัดการดอกเบี้ยหรือการจัดการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
ควรอยู่บนพื้นฐานของความมีเหตุมีผล ความพอดีไม่สูงไม่ต่ำ
จนเกินไป

- ตัวอย่างนโยบายการพัฒนาระบบการศึกษาไทย
บนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง ควรมุ่งไปสู่การทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ เพื่อทำให้เกิดสติปัญญาความรอบรู้และศีลธรรมอันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ สังคมดำรงอยู่ได้อย่างเข้มแข็งและพอเพียง
เนื่องจากกระแสของโลกาภิวัตน์ได้ก่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจใหม่และสังคมใหม่ที่ เน้นเรื่องความรู้กันมาก จึงต้องสร้างระบบการศึกษาให้กับคนทุกคน ตั้งแต่เกิดจนตาย ต้องคำนึงถึงคุณภาพและมาตรฐาน โลกข้างหน้าเป็นโลกของการเปลี่ยนแปลง ต้องสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง การที่ประชาชนทุกคนได้รับการศึกษาถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการกำจัดความยาก จน ต้องกำหนดความสำคัญของการศึกษาให้เป็นหัวใจของการพัฒนาในทุกด้านทั้งด้านการ เมือง ด้านการเกษตร ฯลฯ

ระดับเจ้าหน้าที่ของรัฐ
- ต้องมีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต มีความรอบรู้ที่
เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญาและ
ความรอบคอบ
- การจัดเตรียมนโยบาย แผนงานหรือโครงการต่างๆ ต้องสอดคล้อง
กับเศรษฐกิจพอเพียงโดยเน้นพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านสังคม
เศรษฐกิจ และจิตใจควบคู่กันไป


ระดับครูอาจารย์
- ถ่ายทอด ปลูกฝังความรู้ความเข้าใจหลักเศรษฐกิจพอเพียงให้เด็ก
และเยาวชน สอนให้คิดเป็นเข้าใจในหลักเหตุผล มีความคิดในเชิง
สร้างสรรค์บนพื้นฐานของศีลธรรมและการพัฒนาจิตใจควบคู่กันไป


คนทุกวัยทุกศาสนา
- ดำรงชีวิตบนพื้นฐานของการรู้จักตนเอง การคิดพึ่งพาตนเองและ
พึ่งพาอาศัยกันและกันอย่างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
- ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงสอดคล้องกับหลักคำสอนของทุกศาสนาที่ให้
ดำเนินชีวิตตามกรอบคุณธรรม
- ไม่ทำการใดๆ ที่เบียดเบียนตนเองหรือผู้อื่น
- ไม่ฟุ้งเฟื้อหรือทำอะไรที่เกินตน
- รู้จักแบ่งปันและช่วยเหลือผู้อื่นตามความเหมาะสมและกำลัง
ความสามารถของตน
- ดำเนินชีวิตบนทางสายกลาง คือ คำนึงถึงความพอดีไม่มากเกินไป
หรือน้อยเกินไป
      บันทึกการเข้า

www.jozho.net
แจก CD ธรรมะฟรี ดาวน์โหลดธรรมะฟรีมากมาย
เสียงเทศนาหลากหลายครูบาอาจารย์
เสียงอ่านหนังสือธรรมะสำหรับคนรุ่นใหม่ ฟังสบาย เข้าใจง่าย
  หน้า: [1]   ขึ้นบน
  
กระโดดไป:  

     

สมาคมนิสิตเก่าหอพักนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มวลสมาชิกสมาคม คณาจารย์ และนิสิตเก่าทุกคน ขอน้อมเกล้าถวายความอาลัย  พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ <;))))><