24 พฤศจิกายน 2567, 17:59:07
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน [สมาชิกเก่าลืมรหัส โทร 081-7611760]
A A A A  ระเบียบปฎิบัติ
   
Languages    
  หน้า: [1]   ลงล่าง
ผู้เขียน หัวข้อ: วันเข้าพรรษา ๒๓ ก.ค.๕๖  (อ่าน 3970 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
พธู ๒๕๒๔
Administrator
Cmadong ชั้นเซียน
*****


ซื่อต่อนายไม่หน่ายมิตรใกล้ชิดลูกน้องคุ้มครองชาวBan
ออฟไลน์ ออฟไลน์

รุ่น: 64
คณะ: niti
กระทู้: 7,842

เว็บไซต์
« เมื่อ: 05 มิถุนายน 2556, 00:18:40 »

วันเข้าพรรษา

๑. ส่วนที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า

เมื่อครั้งที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประทับอยู่ ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ มีเหตุการณ์เกิดขึ้นคือ พวกชาวบ้านกลุ่มหนึ่งพากันกล่าวตำหนิพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาว่า ช่างไม่รู้จักกาลเวลาเสียเลยพากันจาริกไปเรื่อย ๆ ไม่หยุดยั้งแม้ในระหว่างฤดูฝนบางครั้งก็ไปเหยียบข้าวกล้าของชาวนาเสียหาย ขณะที่พวกนิครนถ์นักบวช ในศาสนาอื่นและฝูงนกยังหยุดพักผ่อน ไม่ท่องเที่ยงไปในฤดูฝนเช่นนี้



เรื่องนี้ทราบถึงพระพุทธเจ้าในกาลต่อมา พระองค์จึงทรงรับสั่งให้พระสงฆ์ประชุมพร้อมกันตรัสถามจนได้ความเป็นจริงแล้ว จึงทรงบัญญัติเรื่องการเข้าพรรษาไว้ว่า”อนุชานามิ ภิกขะเว วัสสัง อุปะคันตุง” แปลว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้พวกเธออยู่จำพรรษา”


วันเข้าพรรษานี้โดยทั่วไปกำหนดในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ เรียกว่า วันเข้าพรรษา (ปุริมพรรษา) ถ้าปีใดเป็นปีอธิกมาส มีเดือน ๘สองหน ก็เลื่อนไปเข้าพรรษา ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ หลัง ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นไม่สามารถเข้าพรรษาได้ ก็เลื่อนเข้าพรรษา ในแรม ๑ ค่ำเดือน ๙ ก็ได้ ไปสิ้นสุดเอาวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เรียกว่า วันเข้าพรรษาหลัง (ปัจฉิมพรรษา)

๒. การถือปฏิบัติวันเข้าพรรษาในประเทศไทย

สมัยก่อน ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม จะเริ่มทำไร่ทำนาปักดำข้าวกล้าก่อนพรรษากาลพอพระสงฆ์เข้าพรรษา ก็จะเสร็จงานในไร่นา ย่อมมีเวลาว่างมาก ประกอบกับการคมนาคมไปมาระหว่างสถานที่ต่าง ๆ ก็ไม่ค่อยสะดวก เนื่องจากฝนตกชุกและน้ำขึ้นเจิ่งนองเต็มแม่น้ำลำคลองทั่วไป ชาวบ้านจึงถือโอกาสเข้าวัด ถวายทาน รักษาศีลฟังธรรมและเจริญภาวนาเพิ่มพูนบุญกุศลกันมากขึ้น
ดังนั้น เมื่อถึงวันเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนก็จะพากันหาอาหารทั้งคาวหวาน ผลไม้ และเครื่องอุปโภคที่จำเป็นแก่สมณะ นำไปถวายพระภิกษุสงฆ์ใกล้บ้านตน พระภิกษุสงฆ์ก็แนะนำสั่งสอนให้เกิดศรัทธาในการปฏิบัติ ตามหลักทาน ศีลและภาวนา และความไม่ประมาทในการประกอบคุณความดีอื่น ๆ
ตามประวัติศาสตร์ พุทธศาสนิกชนชาวไทย ได้เริ่มบำเพ็ญกุศลเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษานี้ ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย เป็นราชธานี ดังข้อความในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ว่า
“พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ชาวเจ้า ทั้งท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขันทั้งสิ้นทั้งหลายทั้งหญิงทั้งชายฝูงท่วยมีศรัทธาในพุทธศาสน์ มักทรงศีล เมื่อพรรษาทุกคน” นอกจากการรักษาศีลแล้ว พุทธศาสนิกชนไทย ในสมัยสุโขทัยนั้น ยังได้บำเพ็ญกุศลอื่น ๆ ดังรายละเอียดปรากฎอยู่ในหนังสือนางนพมาศ พอสรุปได้ดังนี้

เมื่อถึงเดือน ๘ ก็มีพระราชพิธีอาษาฒมาส พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปจะได้เข้าจำพรรษา ในพระอารามต่าง ๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้จัดแจงเสนาสนะถวาย พร้อมทั้งบริขารอันควรแก่สมณะบริโภค เช่น เตียง ตั่ง เสื่อสาด ผ้าจำนำพรรษา อาหารหวานคาวยารักษาโรค และธูปเทียนจำนำพรรษา เพื่อบูชาพระรัตนตรัย ในพระอารามหลวงทั่วราชอาณาจักร แม้ชาวเมืองสุโขทัย ก็บำเพ็ญกุศลเช่นนี้ในวัดประจำตระกูลของตน
การบำเพ็ญกุศลเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษานี้ ยังมีประเพณีสำคัญอยู่ ๒ ประเพณี ควรนำมากล่าวไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้

๑. ประเพณีแห่เทียนพรรษา

ประเพณีนี้คงเกิดขึ้นจากความจำเป็นที่ว่าสมัยก่อน ยังไม่มีไฟฟ้าใช้กันดังปัจจุบัน เมื่อพระสงฆ์จำพรรษารวมกันมาก ๆ ก็จำต้องปฏิบัติกิจวัตร เช่น การทำวัตรสวดมนต์เช้ามืดและตอนพลบค่ำ การศึกษาพระปริยัติธรรม กิจกรรมเหล่านี้ล้วนต้องการแสงสว่าง โดยเฉพาะแสงสว่างจากเทียนที่พระสงฆ์จุดบูชาพระรัตนตรัยและเพื่อต้องการใช้ แสงสว่างโดยตรง ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนิกชน จึงนิยมหล่อเทียนต้นใหญ่กะว่าจะจุดได้ตลอดเวลา ๓ เดือน ไปถวายพระภิกษุในวัดใกล้ ๆ บ้านเป็นพุทธบูชา เทียนดังกล่าวเรียกว่า “เทียนจำนำพรรษา”ก่อนจะนำเทียนไปถวายนี้ ชาวบ้านมักจัดเป็นขบวนแห่แหนกันไปอย่างเอิกเกริกสนุกสนานเรียกว่า “ประเพณีแห่เทียนจำนำพรรษา”ดังขอสรุปเนื้อหาจากหนังสือนางนพมาศ ดังนี้
เมื่อถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ทั้งทหารบกและทหารเรือก็จัดขบวนแห่เทียนจำนำพรรษา ทั้งใส่คานหาบไปและลงเรือ ประดิษฐานอยู่ในบุษบกทองคำ ประดับธงทิว ตีกลอง เป่าแตรสังข์ แห่ไป ครั้นถึงพระอารามแล้วก็ยกต้นเทียนนั้นเข้าไปถวายในพระอุโบสถ หอพระธรรมและพระวิหาร จุดตามให้สว่างไสวในที่นั้นๆ ตลอด ๓ เดือน ดังนี้ทุกพระอารามในวัดราษฎร์ทั้งหลาย ก็มีพิธีทำนองนี้ทั่วพระราชอาณาจักรปัจจุบัน

ประเพณี แห่เทียนจำนำพรรษานี้ยังถือปฏิบัติกันอยู่ทั่วไปบางจังหวัด เช่น อุบลราชธานี ถือให้เป็นประเพณีเด่นประจำจังหวัดตนได้จัดประดับตกแต่งต้นเทียนใหญ่ ๆ มีการประกวดแข่งขันแล้วแห่แหนไปถวายตามวัดต่าง ๆ

๒. ประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน

การถวายผ้าอาบน้ำฝนนี้ เกิดขึ้นแต่สมัยพุทธกาล คือมหาอุบาสิกา ชื่อว่า วิสาขา ได้ทูลของพระบรมพุทธานุญาตให้พระสงฆ์ได้มีผ้าอาบน้ำสำหรับผลัดเปลี่ยนเวลา สรงน้ำฝนระหว่างฤดูฝน นางวิสาขาจึงเป็นสตรีคนแรกที่ได้ถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่พระสงฆ์
ด้วยเหตุนี้ เมื่อถึงวันเข้าพรรษา พุทธศาสนิชน ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยราชธานี จึงนิยมนำผ้าอาบน้ำฝนไปถวายผ้าอาบน้ำฝนถวายพระสงฆ์ผู้จะอยู่พรรษา พร้อมกับอาหารและเครื่องใช้ที่จำเป็นต่าง ๆ  แม้ในปัจจุบัน พุทธศาสนิกชนไทยก็คงยังปฏิบัติกิจกรรมอย่างนี้อยู่ บางวัดมีการแจกฎีกานัดเวลาประกอบพิธีถวายผ้าอาบน้ำฝน(วัสสิกสาฎก) หรือ ผ้าจำนำพรรษาและเครื่องใช้อื่นๆ ณ ศาลาบำเพ็ญกุศลของวัดใกล้บ้าน

ความหมายของ วันเข้าพรรษา

การเข้าพรรษา เป็นพุทธบัญญัติ ซึ่งพระภิกษุทุกรูปจะต้องปฏิบัติตาม หมายถึง การอธิษฐานอยู่ประจำที่ไม่เที่ยวจาริกไปยังสถานที่ต่างๆเว้นแต่มีกิจจำเป็น จริง ๆ ช่วงจำพรรษาจะอยู่ในช่วงฤดูฝนคือแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี
ดังนั้น วันเข้าพรรษา หมายถึง วันที่พระภิกษุในพระพุทธศาสนาอธิษฐานอยู่ประจำในวัดหรือเสนาสนะที่คุ้มแดด คุ้มฝนได้แห่งหนึ่งไม่ไปค้างแรมในที่อื่น ตลอด ๓ เดือนในฤดูฝน

ความสำคัญ วันเข้าพรรษา

วันเข้าพรรษานี้ มีความสำคัญต่อพุทธศาสนิกชนและเป็นวันสำคัญของพระพุทธศาสนาด้วยเหตุผลดังนี้

๑. พระภิกษุจะหยุดจาริกไปยังสถานที่อื่นๆแต่จะเข้าพักอยู่ประจำในวัดแห่งเดียวตามพุทธบัญญัติ
๒. การที่พระภิกษุอยู่ประจำที่นาน ๆ ย่อมมีโอกาสได้สงเคราะห์กุลบุตรที่ประสงค์จะอุปสมบทเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย และสงเคราะห์พุทธบริษัททั่วไป
๓. เป็นเทศกาลที่พระพุทธศาสนิกชนงดเว้นอบายมุขและความชั่วต่าง ๆ เช่น การดื่มสุรา สิ่งเสพติด และการเที่ยวเตร่เฮฮา เป็นต้น
๔. นอกจากเป็นเทศกาลที่พุทธศาสนิกชนงดเว้นอบายมุขและความชั่วต่าง ๆ แล้ว ในช่วงเวลาพรรษาพุทธศาสนิกชนทั่วไปจะบำเพ็ญทาน รักษาศีล ฟังธรรมและเจริญภาวนามากขึ้น

หลักธรรมที่ควรปฏิบัติ

ระหว่าง เทศกาลเข้าพรรษานั้น พุทธศาสนิกชนนิยมไปวัด ถวายทาน รักษาศีล ฟังธรรมและเจริญจิตภาวนา ซึ่งเป็นการเว้นจากการกระทำความชั่ว บำเพ็ญความดีและชำระจิตให้สะอาดแจ่มใสเคร่งครัดยิ่งขึ้น หลักธรรมสำคัญที่สนับสนุน คุณความดีดังกล่าวก็คือ “วิรัติ”

คำ ว่า “วิรัติ” หมายถึงการงดเว้นจากบาป และความชั่วต่าง ๆ จัดเป็นมงคลธรรมข้อหนึ่ง เป็นเหตุนำบุคคลผู้ปฏิบัติตามไปสู่ความสงบสุขปลอดภัยและความเจริญรุ่งเรือง ยิ่งขึ้นไป


วิรัติ การงดเว้นจากบาปนั้น จำแนกออกได้เป็น ๓ ประการ คือ

๑. สัมปัตตวิรัติ ได้แก่การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ด้วยเกิดความรู้สึกละอาย (หิริ) และเกิดความรู้สึกเกรงกลัวบาป(โอตตัปปะ) ขึ้นมาเอง เช่น บุคคลที่ได้สมาทานศีลไว้ เมื่อถูกเพื่อนคะยั้นคะยอให้ดื่มสุรา ก็ไม่ย่อมดื่มเพราะละอาย และเกรงกลัวต่อบาปว่าไม่ควรที่ชาวพุทธจะกระทำเช่นนั้นในระหว่างพรรษา

๒. สมาทานวิรัติ ได้แก่การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ด้วยการสมาทานศีล ๕ หรือศีล ๘ จากพระสงฆ์โดยเพียรระมัดระวังไม่ทำให้ศีลขาดหรือด่างพร้อย แม้มีสิ่งยั่วยวนภายนอกมาเร้าก็ไม่หวั่นไหวหรือเอนเอียง

๓. สมุจเฉทวิรัติ ได้แก่การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ได้อย่างเด็ดขาดโดยตรงเป็นคุณธรรมของพระอริยเจ้า ถึงกระนั้นสมุจเฉทวิรัติ อาจนำมาประยุกต์ใช้กับบุคคลผู้งดเว้นบาปความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ในระหว่างพรรษากาลแล้ว แม้ออกพรรษาแล้วก็มิกลับไปกระทำหรือข้องแวะอีก เช่นกรณีผู้งดเว้นจากการดื่มสุราและสิ่งเสพติดระหว่างพรรษากาล แล้วก็งดเว้นได้ตลอดไป เป็นต้น

ที่มา : สำนักพระพุทธศาสนา

      บันทึกการเข้า

เว้นชั่ว ประพฤติชอบประกอบแต่สิ่งดีงาม ทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว
  หน้า: [1]   ขึ้นบน
  
กระโดดไป:  

     

ทำไมหอพักนิสิตจุฬาจึงเป็นดินแดนมหัศจรรย์            " ไม่ได้เป็นแค่หอให้นอนพัก  แต่เป็นบ้านอบอุ่นรักให้อาศัย  ไม่เป็นแค่ที่ซุกหัวยามหลบภัย  แต่สร้างใจให้เข้มแข็งแกร่งการงาน"  <))))><