กรรมฐานที่หลวงปู่ดู่ท่านสอน
ข้อมูลการปฎิบัติเพิ่มเติมครับ credit :อดีตเว็บพุทธพรหมปัญโญ
ฐานของจิตและการตั้งฐานของจิต
๑. ฐานของจิต
การกำหนดฐานของจิต ให้กำหนดไว้ที่หน้าผาก หรือระหว่างคิ้วทั้งสอง ตามหลักของวัดประดู่ทรงธรรม และของสมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน วัดพลับ ถือว่าเป็นฐานที่ ๗ ซึ่งตามหลักท่านวางไว้ถึง ๙ ฐาน โดยฐานต่างๆ เหล่านี้ เป็นเสมือนทางผ่านของลมหายใจที่ไปกระทบ เหมือนกับหลักของอานาปานสติ ฐานทั้ง ๙ ฐานที่กำหนดไว้มีดังนี้
ฐานที่ ๑ อยู่ต่ำกว่าสะดือ ๑ นิ้ว
ฐานที่ ๒ อยู่เหนือสะดือ ๑ นิ้ว
ฐานที่ ๓ อยู่ที่ทรวงอก หรือที่ตั้งของหทัยวัตถุ
ฐานที่ ๔ อยู่ที่คอหอย หรือตรงกลางลูกกระเดือก
ฐานที่ ๕ อยู่ที่ท้ายทอย เรียกว่า โคตรภูญาณ (ทางวิทยาศาสตร์ถือเป็นที่ตั้งของสมองส่วน CEREBELLUM)
ฐานที่ ๖ อยู่ตรงกลางกระหม่อม
ฐานที่ ๗ อยู่กึ่งกลางหน้าผาก เรียกว่า อุณาโลม หรือทิพยสูญระหว่างคิ้ว
ฐานที่ ๘ อยู่ระหว่างตาทั้ง ๒ ข้าง
ฐานที่ ๙ อยู่ปลายจมูก
หลวงปู่ท่านบอกว่า การที่ให้ตั้งจิตไว้ตรงตำแหน่งกลางหน้าผากที่เดียวในเบื้องต้นนั้น ก็เพื่อจะได้ไม่ไปพะวงกับลมหายใจ ซึ่งอาจทำให้จิตใจวอกแวกในขณะที่ปฏิบัติ สำหรับผู้เริ่มภาวนาบางราย แต่ฐานสำคัญที่ท่านเน้นก็คือ ฐานที่ ๖ (ตรงกลางกระหม่อม) ท่านว่าฐานจริงๆ อยู่ตรงนี้ แต่จะต้องให้มีความชำนาญในทางสมาธิเสียก่อน จึงค่อยเอาจิตไปตั้งที่ฐานนี้ เพราะจะมีกำลังมาก สำหรับฐานที่หน้าผากนั้นเคยถามกับหลวงลุงลำไยที่วัดสะแกครับว่าทำไมหลวงปู่ให้ตั้งจิตตรงหน้าผากหลวงลุงท่านตอบแบบยิ้มๆว่ามันเป็นง่ายดี
ผมเลยอนุมานว่าถ้าภาวนาให้ถูกจุดฐานนี้ จะทำให้จิตสงบได้ง่าย วิธีการภาวนาคือ ให้ใจเสมือนกับเราคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ในที่นี้ให้นึกถึงจุดเดียวคือ คำภาวนา เหมือนกับเราคิดเลขในใจทำนองนั้น ทำใจเฉยๆ ไม่ต้องคาดคั้น คิดเดา หรืออยากเห็นนั่นเห็นนี่ เพราะเรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นนิวรณ์ทั้งสิ้น หน้าที่หรืองานของเราในที่นี้คือภาวนา
๒.คำภาวนาที่ใช้
พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
มีความหมายว่า "ข้าพเจ้าขอรับเอาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึก" ซึ่งจะขอขยายความเทียบตามหลักของ วิสุทธิมรรคคัมภีร์ ที่รจนาโดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ดังนี้
คำภาวนาที่ให้ภาวนาคือ ให้เรามีจิตระลึกถึงภาษาพระ หมายถึง พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติกรรมฐาน ทำใจให้มีการเคารพเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ อันจะเป็นกรรมฐาน ที่ทำให้ผู้ที่มีศรัทธาจริต หรือมีความเชื่อ เข้าถึงธรรมะได้โดยง่าย
๓. เครื่องชี้ว่าจิตสงบ
เมื่อปฏิบัติจนจิตเริ่มสงบแล้ว จะเกิดความสว่างขึ้นที่จิต พร้อมกันนั้น จะมีสิ่งที่เป็นตัวชี้บอกว่า จิตของเราเป็นอย่างไรบ้าง อันได้แก่ปิติต่างๆ เช่น อาการขนลุก ตัวเบา น้ำตาไหล ร่างกายโยกโคลง รู้สึกเหมือนกายขยายใหญ่ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะเป็นตัวชี้ถึงจิตว่า เริ่มจะสงบแล้ว ให้ผู้ปฏิบัติวางใจเฉยๆ อย่าไปยินดีหรือยินร้าย บางท่านที่มีนิสัยวาสนาบารมีทางรู้ทางเห็นภายใน ก็อาจจะเกิดองค์พระปรากฎขึ้นจากแสงสว่างเหล่านั้น
ในเรื่องการเห็นแสงสว่างนี้ บางสำนักท่านว่าอย่าไปสนใจ เอามืดดีกว่า เพราะเดี๋ยวจะหลง แต่ตามความเห็นของผู้เขียน นึกถึงคำบาลีที่ว่า "นัตถิ ปัญญา สมาอาภา" แสงสว่างเทียบด้วยปัญญาไม่มี ดังนั้น ผู้ที่เห็นแสงสว่างปรากฎขึ้น ก็เป็นนิมิตอันหนึ่ง ซึ่งแสดงให้รู้ประจักษ์อยู่ที่ตัวเราต่างหากว่า จะใช้แสงสว่างนี้ไปในทางที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะหลวงปู่ท่านบอกว่า การปฏิบัติต้องทำให้รู้ เห็น เป็น และได้ สำหรับในขั้นต้นนี้ "รู้" หมายถึงให้มีสติรู้อยู่กับคำภาวนา เมื่อ "เห็น" ก็ให้รู้ว่า "เห็น" อะไร รู้จักกลั่นกรองด้วยสติปัญญา และเมื่อมีความชำนาญแล้วก็จะเป็น "เป็น" นั้นคือเห็นองค์พระได้ทุกครั้ง และสามารถที่จะทำได้ เมื่อต้องการทำให้เกิดขึ้น
===================
สรุปหลักในการนั่งสมาธิ
ให้ขาขวาทับขาซ้าย มือขวากำพระวางบนมือซ้าย ให้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองจรดกัน วางบนตักพอสบายๆ ปรับกายให้ตรง ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วน สูดลมหายใจยาวๆ ลึกๆ สัก ๓ ครั้ง
ครั้งที่ ๑ ให้ภาวนาว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ
ครั้งที่ ๒ ภาวนาว่า ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ
และครั้งที่ ๓ ภาวนาว่า สังฆัง สรณัง คัจฉามิ
จากนั้น จึงผ่อนลมหายใจให้เป็นไปตามธรรมชาติ ยังไม่ต้องนึกคิดสิ่งใด ทำใจให้ว่างๆ วางอารมณ์ทั้งที่เป็นอดีตและอนาคต เมื่อลมหายใจเริ่มละเอียด และจิตใจเริ่มโปร่งเบาขึ้นบ้างแล้ว จึงค่อยเริ่มบริกรรมภาวนา โดยกำหนดจิตไว้ที่หน้าผาก (เอาสติมาแตะรู้เบาๆ) แล้วตั้งใจภาวนาคาถาไตรสรณคมน์ ดังนี้
พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
เมื่อบริกรรมภาวนาจบแล้ว ก็ให้วกกลับมาเริ่มต้นใหม่เช่นนี้เรื่อยไป
มีสิ่งที่ควรทราบเพิ่มเติมก็คือ ขณะที่บริกรรมภาวนาอยู่นั้น ให้มีสติระลึกอยู่กับคำภาวนา โดยไม่ต้องสนใจกับลมหายใจ คงปล่อยให้ลมหายใจเข้าออกเป็นไปตามธรรมชาติ ปราศจากการควบคุมบังคับ ภาวนาด้วยใจที่สบายๆ และให้ยินดีกับองค์พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่เกิดขึ้นในจิต เมื่อจิตมีความสงบสว่าง ก็น้อมแผ่เมตตาออกไป โดยว่า
พุทธัง อนันตัง
ธัมมัง จักรวาลัง
สังฆัง นิพพานะ ปัจจะโย โหตุ
แล้วตั้งใจภาวนาต่อไป
เมื่อจิตถอนขึ้นจากความสงบ ให้ยกเอากายหรือเรื่องหนึ่งเรื่องใดขึ้นพิจารณา โดยน้อมไปสู่พระไตรลักษณ์ คือ
อนิจจัง (ความไม่เที่ยง)
ทุกขัง (ความทนได้ยาก)
และอนัตตา (ความไม่ใช่ตัวตนอันเที่ยงแท้)
เมื่อรู้สึกว่าจิตเริ่มซัดส่าย หรือขาดกำลังในการพิจารณา ก็ให้วกกลับมาภาวนาคาถาไตรสรณคมน์อีก เพื่อดึงจิตให้เข้าสู่ความสงบอีกครั้ง ทำสลับเช่นนี้เรื่อยไปจนกว่าจะเลิก
ก่อนจะเลิกให้อาราธนาพระเข้าตัวโดยว่า
สัพเพ พุทธา สัพเพ ธัมมา สัพเพ สังฆา
พะลัปปัตตา ปัจเจกานัญ จะยังพะลัง
อะระหันตานัญ จะเตเชนะ
รักขัง พันธามิ สัพพะโส
พุทธัง อธิษฐามิ ธัมมัง อธิษฐามิ สังฆัง อธิษฐามิ
แล้วจึงแผ่เมตตาอีกครั้ง โดยว่าเช่นเดียวกับที่กล่าวแล้วในตอนต้น
อนึ่ง การภาวนานั้น ท่านให้ทำได้ทุกอิริยาบท คือ ยืน เดิน นั่ง นอน การปฏิบัติจึงจะก้าวหน้า และชื่อว่าตั้งอยู่ในความไม่ประมาท....ปกิณกะในการปฎิบัติภาวนา(
ในบทความนี้จะมีคำสอนของครูบาอาจารย์ท่านอื่นด้วยนะครับมิใช่ของหลวงปู่เท่านั้น หากมีข้อความที่ผิดพลาดด้วยความไม่รู้ขอขมาองค์หลวงปู่ไว้ล่วงหน้าด้วยครับ)
การตั้งนิมิตองค์พระเป็นพุทธานุสติ ในตอนเริ่มต้นนั่งสมาธิภาวนานั้น ที่นิยมปฎิบัติกันคือ การตั้งนิมิตองค์พระซึ่งอาจเป็นรูปองค์พระที่อยู่ในกำมือ ซึ่งการตั้งนิมิตองค์พระนั้นจัดได้เป็นพุทธานุสติ เป็นการทำสมาธิวิธีหนึ่ง โดยการน้อมจิตระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ด้วยความรู้สึกเลื่อมใส ศรัทธา เพื่อให้จิตรวมเป็นหนึ่ง คือคิดถึงเรื่องคุณของพระพุทธเจ้าเพียงอย่างเดียว ไม่คิดวอกแวกถึงเรื่องอื่น จิตจึงเป็นสมาธิขึ้นมาได้
ผลจากการระลึกฯ ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ จะเป็นการปรับสภาพจิตให้ประณีตขึ้นอย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากความรู้สึกเลื่อมใส ศรัทธานั่นเอง อันจะส่งผลให้สมาธิเกิดได้ง่ายขึ้น
การเจริญพุทธานุสสติกรรมฐาน พระอัตถกถาจารย์ กล่าวว่า เป็นกรรมฐานที่สามารถสร้างความดีให้เข้าถึงซึ่งพระนิพพานได้ง่าย
เริ่มโดยตั้งนิมิตองค์พระไว้กึ่งกลางหน้าผาก ให้แตะรู้เบา ๆ อย่ากำหนดกดให้แรงจนเกินไปและให้คำบริกรรมภาวนาไตรสรณคมน์ ดังก้องกังวานออกมาจากองค์พระ(เพื่อให้รวมความรู้สึกไว้ในจุดเดียว)แล้วนึกนิมิตง่าย ๆ เหมือนนึกถึงใบหน้าของบิดามารดาของเรา
การเห็นนิมิตนั้น บางครั้งยังไม่ชัดเจนในตอนต้น อาจเพราะ
๑ .
จิตยังฟุ้งซ่านอยู่เพราะระหว่างวันไม่ได้สำรวมรักษาจิตเท่าที่ควรหรือมีสิ่งมากระทบมากจนเกินไป
เพราะระหว่างวันที่เราทำงานและใช้ชีวิตประจำวันจะต้องประสบกับสิ่งที่มากระทบใจอยู่แล้ว
บางครั้งสิ่งที่มากระทบเราแรงๆก็ทำให้จิตเราขุ่นมัวไปนานได้ เช่นมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานและคนในครอบครัว (ด้วยเรื่องของโลกๆอันมี อวิชชาคือความไม่รู้เป็นต้นเหตุ )
๒.หรือ
อาจเพราะกำหนดจนแรงเกินไปซึ่งเราควรระลึกถึงภาพองค์พระด้วยการแตะรู้ไว้เบาๆนะครับ
๓.
หรือวิธีนี้อาจจะไม่ตรงกับจริตของเราก็เป็นได้ (ถ้าเป็นเช่นนั้นลองปฎิบัติโดยสลับเป็นกรรมฐานแแบบอื่นในกรรมฐาน40แบบดูนะครับ ;อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผมเองนะครับ)
ถ้ามีอาการของจิตที่ฟุ้งซ่านซัดส่ายไม่สงบเช่นนี้ควรสูดลมหายใจลึก ๆ ปรับการนั่งให้เป็นที่สบายแก่ตัวเราเสียก่อน
มีวิธีในการปรับอารมณ์จากอาการฟุ้งซ่านวิธีนึงที่น่าสนใจเรียกว่า "ปูรกกุมภกเรจกะ"(ปูรก=นำเข้ามา,กุมภก=ตั้งไว้,เรจกะ=ออกไป)
(หายใจเข้า-กลั้นเอาไว้-แล้วหายใจออก)
วิธีการฝึก"ปูรกกุมภกเรจกะ"
๑.ค่อย ๆ หายใจเข้าช้า ๆ จนลึกสุดลมหายใจ
๒.แล้วกลั้นอยู่ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้
๓.แล้วจึงค่อย ๆ ผ่อนลมออกช้า ๆ
ให้ทำสัก ๑-๓ ครั้ง แล้วสังเกตุดูว่า ความฟุ้งซ่านหายไปหรือยัง วิธีนี้ช่วยปรับลมหายใจให้เดินสะดวก และขับอารมณ์ไม่ดีออกไป
ทำให้กายและจิตเบา ไม่ติดขัด พร้อมที่จะปฎิบัติบางท่านอาจต้องทำมากกว่า ๓ ครั้ง ซึ่งเราท่านต้องลองด้วยตนเองนะครับถึงจะรู้จำนวนครั้งที่เหมาะกับตนเอง
ถ้าหายฟุ้งแล้วให้เลิกทำและภาวนาไตรสรณคมน์และตั้งสติที่ภาพองค์พระต่อไป
บางครั้งเราก็อาจสังเกตได้ว่าเสื้อผ้าที่ใส่คับหรือรัดเกินไปหรือไม่ เพราะบางครั้งลักษณะเครื่องแต่งกายที่ไม่เหมาะและลักษณะการนั่งที่ไม่ถูกต้องก็ทำให้เราเข้าสมาธิยากได้ (ถ้าสะดวกการอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดและใส่เครื่องแต่งกายที่เบาสบายสีไม่ฉูดฉาดเกินไปสามารถช่วยได้ครับเพราะกายกับจิตเกี่ยวเนื่องกัน)
รายละเอียดระหว่างการปฏิบัติสามารถดูในreply ที่1และ2 ได้นะครับ
ทีนี้ในตอนจะเลิก ก่อนอาราธนาพระเข้าตัว และ แผ่เมตตาก็ให้เคลื่อนนิมิตองค์พระเข้ามาไว้กลางตัวขยายองค์ท่านให้ใหญ่ จนเกศของท่านจรดที่บริเวณลูกกระเดือกของเรา
ส่วนฐานอยู่ที่กลางท้อง หันพระพักตร์ออกไปด้านนอก(เหมือนกับซ้อนภาพองค์พระทาบไว้ที่ตัวเราแต่องค์ท่านหันหน้าออกไปด้านนอกน่ะครับและขยายองค์ท่านให้ใหญ่ส่วนฐานอยู่ที่กลางท้องจนส่วนปลายของเศียรพระ(ที่เป็นลักษณะคล้ายเปลวไฟ;ปลายพระเกศ )ของท่านจรดที่บริเวณลูกกระเดือกของเรา)
ตั้งนิมิตเสร็จ ก็กล่าวคำอาราธนาพระเข้าตัว พร้อมกับแผ่เมตตา
โดยกำหนดให้แสงสว่าง (บุญ) ออกจากองค์พระกลางตัว ออกไปทุกทิศทุกทาง
ทั้งเบื้องบน เบื้องล่างด้วย (ถ้าตั้งจิตจนเกิดปีติในระหว่างแผ่เมตตาก็จะยิ่งดี)
เกร็ดเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับการอาราธนาพระเข้าตัวการอาราธนาพระเข้าตัว (บทสัพเพฯ) ก็เพราะจุดประสงค์ที่ว่าเมื่อเวลาเลิกฝึกสมถะกรรมฐานไปแล้ว จะได้ระมัดระวังรักษาองค์พระในตัว โดยการสำรวมระวังรักษากาย วาจา ใจให้อยู่ในความดีตลอดทั้งวันและถ้าเราสามารถทำได้การสำรวมระวังรักษากาย วาจา ใจ ของเรานี้จะช่วยให้การปฏิบัติสมถะกรรมฐานครั้งต่อๆไปจิตจะได้เข้าถึงความสงบได้โดยง่าย
อีกทั้งเมื่อออกจากการนั่งกรรมฐานแล้ว ก็ให้ระลึกว่า องค์พระยังอยู่กับเรา และเราก็บริกรรมภาวนาประคององค์พระไว้ให้ได้ตลอดวันจะทำอะไร พูดกับใคร ก็แบ่งใจส่วนหนึ่งมาระลึกองค์พระนี้ไว้พอถึงเวลาปฏิบัติ จิตก็จะสงบได้ง่ายเพราะจิตไม่ซัดส่าย
การจำอารมณ์ และการต่ออารมณ์การจำอารมณ์ คือการจำภาพองค์พระ และอารมณ์ (ความรู้สึก)สุดท้ายก่อนออกจากสมาธิ
การต่ออารมณ์ คือการนึกถึงภาพองค์พระ และอารมณ์สุดท้ายของคราวที่แล้ว แล้วกำหนดภาพนั้นด้วยจิตต่อไป
วิธีการนี้ ทำให้ผู้ปฎิบัติไม่ต้องปฎิบัติแบบเริ่มนับหนึ่งใหม่ทุกครั้ง เปรียบเหมือนนับเลขต่อกันไป
เช่น วันแรกนับได้ ๑ ถึง ๕
วันต่อไปเริ่มนับที่ ๕ เปน ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ๑๐.....ไปเรือย ๆ
สมมติว่าได้ ๒๒ (สมาธิดี)
วันต่อไปเริ่มนับที่ ๒๒ ๒๓ ๒๔ ๒๕ (วันนี้สมาธิไม่ค่อยดี ก้าวหน้าเพียงเล็กน้อย)
สรุปว่า
ฝึกได้แค่ไหน ก็ต่อจากตรงนั้นไปจากตรงที่เราปักหมุดเอาไว้
โดยไม่ต้องย้อนกลับมาทำใหม่
(แต่ถ้าวันไหนกำหนดไม่ได้เลย ก็ให้นับเริ่ม หนึ่งใหม่ตั้งแต่ต้น แล้วจำไว้)
ต่างจากวิธีการฝึกสมาธิโดยทั่วๆ ไป ที่เราคุ้นเคย
คือทำเรื่อย ๆ พอถึงเวลาออกจากสมาธิ ก็ออกไปเลย
หรือบางทีก็ทำความรู้สึกที่จุดใดจุดหนึ่งของร่างกายก็มี
วันนี้ทำจิตสงบแล้ว วันหลังก็เริ่มทำใหม่ ทำอยางนี้เรื่อยไป
การปฎิบัติจึงก้าวหน้า แบบก้าวหน้าก้าวหลัง คือย่ำอยู่กับที่
ไม่ไปไหนมาไหนสักที เพราะเริ่มนับหนึ่งใหม่ทุกครั้ง
แรก ๆ ก็เพียรอยู่แต่สุดท้ายก็เลิกทำ เพราะรู้สึกว่าการปฎิบัติไม่ก้าวหน้า
สาเหตุสำคัญ เกิดจากการไม่รู้ "วิธีจำ ต่ออารมณ์" ดังกล่าวแล้วนั่นเองครับ
ผู้ปฎิบัติเมื่อต้องการความก้าวหน้าในการปฎิบัติ
ควรใช้วิธีการนี้เป็นประจำทุกครั้งก่อนเข้า-ออกจากสมาธิ
โดยขาดเสียมิได้ เพราะภาพที่เราจำได้ขณะออกจากสมาธินั้น
จะแฝงด้วยอารมณ์ของสมาธิเสมอ
เหมือนกับนึกถึงภาพมะนาว จะรู้สึกน้ำลายไหลทันที
เมื่อจำภาพตอนที่แล้วได้ จึงไม่ต้องเสียเวลาเริ่มต้นใหม่ ทำต่อไปเลย
แต่วิธีการนี้ผู้ปฎิบัติต้องรู้จักกำหนดอารมณ์ อย่าลืม"สติสัมปชัญญะ" เป็นตัวสำคัญที่เราต้องใช้ในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อนะครับ
หากมีสิ่งใดผิดจากข้อธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและองค์หลวงปู่ดู่และครูบาอาจารย์ท่านอื่นด้วยความไม่รู้ ข้าพเจ้าขอขมาพระรัตนตรัยมา ณ ที่นี้ด้วยเทอญ
โยโทโส โมหะจิตเต นะพุทธัสมิง ปาปะกะโต มะยา
ขะมะถะเม กะตัง โทสัง สัพพะปาปัง วินัสสันตุ
โยโทโส โมหะจิตเต นะธัมมัสมิง ปาปะกะโต มะยา
ขะมะถะเม กะตัง โทสัง สัพพะปาปัง วินัสสันตุ
โยโทโส โมหะจิตเต นะสังฆัสมิง ปาปะกะโต มะยา
ขะมะถะเม กะตัง โทสัง สัพพะปาปัง วินัสสันตุ
credit :อดีตเว็บพุทธพรหมปัญโญ;www.krusiam.com;www.kasina.org;บทเทศนาของพระราชพรหมยาน(หลวงพ่อฤาษีฯ)