Cmadong Chula

เรือนรับแขก เมาท์แหลกไม่เลือกรุ่น => ห้องธรรมะ...สาธุ.... => ข้อความที่เริ่มโดย: อาบัติ2535 ที่ 02 พฤศจิกายน 2549, 19:57:48



หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
เริ่มหัวข้อโดย: อาบัติ2535 ที่ 02 พฤศจิกายน 2549, 19:57:48
ทาง ๗ สาย

     เราชาวพุทธทั้งหลาย ทราบและเข้าใจดีว่า  สัตว์ทั้งหลายมีการเวียนว่าย ตายเกิด เป็นธรรมดา การเกิดในแต่ละชาติ จะได้ไปสู่ภพใด ภูมิใด นั่นขึ้นอยู่ที่กรรมของผู้นั้น ๆ และนั่นคือ ทาง ๗ สายที่ ผู้นั้น ๆ จะต้องไปเกิด

     ทาง ๗ สาย คือ

๑.   สัตว์นรก
๒.   เปรต อสุรกาย
๓.   ดิรัจฉาน
๔.   มนุษย์
๕.   เทวดา
๖.   พรหม
๗.   นิพพาน

     อันนี้จำแนกออกตาม สภาพจิตของสัตว์ที่จะไปเกิด

โทสะ  นำไปสู่ นรก
โลภะ นำไปสู่เปรต
โมหะ นำไปสู่ ดิรัจฉาน
ศีล ๕ นำไปสู่มนุษย์

การทำความดีทั่ว ๆ ไป รวมถึงการรักษาศีลนำไปสู่สวรรค์
ศีล ๘ และสมถะกรรมฐาน นำไปสู่พรหม
วิปัสสนากรรมฐาน นำไปสู่ นิพพาน

     อันนี้ ว่ากันคร่าว ๆ ตามตำราไปก่อน ส่วนรายละเอียดปลีกย่อย มีอีกเยอะ ซึ่งอาจไม่เป็นไปตามแบบดังกล่าว  

     เพียงแต่ในที่นี้ ขอให้ท่านทั้งหลายเห็นว่า การทำความชั่ว นำไปสู่ทุคติภูมิ คือไปเกิดในที่ไม่ดี การทำความดี นำไปสู่สุคติภูมิ คือไปเกิดในที่ดีดี การทำความชั่ว และการทำความดีแบบทั่ว ๆ ไป คงไม่ต้องกล่าวในที่นี้ กระมัง เพราะ ความดี ความชั่ว สิ่งดี สิ่งไม่ดี ระดับพื้นฐานทั่วไป มีอยู่ในฐานความเชื่อของทุกคนอยู่แล้ว  และทุกคนก็ รู้ดีว่า จิตของคนเราเจือด้วยกิเลส ตัณหา ยากที่จะถอดถอน อันนี้ เป็นความเชื่อ ความรู้ที่มีอยู่ในสัญญา ความจำทุกคนอยู่แล้ว

     ความโกรธ หรือ บางครั้งภาษาปาก เรียกว่า โมโห บ้าง นั้น เป็นส่วนหนึ่งของมูลฐานกิเลสที่เรียกว่า “โทสะ” และโทสะ นั้น นับได้ว่าเป็นผู้มีอิทธิพลมากมีอำนาจมาก ในบรรดา กิเลส ผู้มีอิทธิพล ๓ ชนิด ลูกสมุนของโทสะ เช่น ความหงุดหงิด อารมณ์เสีย ขุ่นเคือง เคียดแค้น ไม่พอใจ หมั่นไส้ และอื่น ๆ อีกมากมาย

     ความโลภ หรือบางครั้งภาษาปาก เรียกว่า ละโมบ บ้างนั้น เป็นส่วนหนึ่งของมูลฐานกิเลสที่เรียกว่า โลภะ หนึ่งในกิเลสผู้มีอิทธิพลมาก ๓ ชนิด ซึ่งลูกสมุนของโลภะ เช่น ความอยากได้ของคนอื่น ความหวง ความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัว เป็นต้น

     ความหลง ความงมงาย หรือการที่ทำอะไรไปโดยไม่แจ้งใจถึงบาปบุญ คุณโทษ เป็นส่วนหนึ่งของมูลฐานกิเลสที่เรียกว่า โมหะ หนึ่งในกิเลสผู้มีอิทธิพลมาก ๓ ชนิด ซึ่งลูกสมุนของโมหะ เช่น ความหลงใหล ความหดหู่ ความเซ็ง ความเศร้า เป็นต้น

     การที่เราทำกรรมด้วยใจที่แปดเปื้อน หรือเจือด้วยกิเลสเหล่านี้  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง การที่กิเลสเหล่านี้ชักนำให้เราทำกรรมใด ๆ ก็ตาม กรรมนั้น ๆ แล จะเป็นตัวชี้นำ นำพา ผู้ทำกรรมเข้าสู่ทางแห่งมัน เข้าสู่บ้านมัน เข้าสู่ที่พำนักมัน

     เมื่อเราพยายามไม่ทำตามอำนาจของกิเลสเหล่านั้น นี่แล คือการพยายามทำความดี และผลของมันย่อมนำออกนอกทางต่ำ ๓ อย่าง ดังกล่าวข้างต้น แล้วชักพาเข้าสู่ทางที่สูงกว่ามีมนุษย์ เป็นต้น


หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
เริ่มหัวข้อโดย: อาบัติ2535 ที่ 02 พฤศจิกายน 2549, 20:04:37
มาคุยกันต่อเรื่องเกี่ยวกับทาง ๗ สาย

     แดนนรก แดนเปรต แดนเทวดา แดนพรหม นั้นมีอยู่จริงหรือเปล่า ถ้ามีอยู่จริงมันอยู่ที่ไหน ทำไมเรามองไม่เห็น คำถามต่าง ๆ เหล่านี้ มักเกิดขึ้นเสมอกับมนุษย์ทั้งหลายผู้แสวงหาความรู้ ผู้มีความสงสัยเป็นเครื่องอยู่  กับผู้ที่สงสัยแล้ว แม้จะตอบและอธิบายอย่างไร หากไม่เห็นเอง ก็ไม่เชื่ออยู่ดี  แต่กับผู้ที่เชื่อแล้ว แม้ไม่ต้องพูดอะไร ก็เห็นด้วยแล้ว  อันนี้เล่าไว้ให้ประดับความรู้นะ ไม่ได้ให้เชื่อหรือปฏิเสธ

     แดนต่าง ๆ ดังกล่าวนั้น มันมีอยู่ของมัน จะว่าตามศัพท์สมัยใหม่ก็คือ อยู่คนละมิติกันนั่นแหละ มันมีอยู่ของมันนะ แต่ตาเนื้อที่หยาบของคนธรรมดาไม่สามารถมองเห็นได้ ที่มองไม่เห็นนั้นจะเปรียบเทียบให้ฟังนะ ตาเนื้อเรานั้นรับแสงได้เป็นปกตินั่นแหละ แต่ประสาทตาหรือตัวรับรู้ผ่านตานั้นมันหยาบ หมายถึงรับภาพได้เฉพาะที่หยาบ ๆ (ที่อยู่ในมิติเดียวกัน) ภาพที่ละเอียดเล็ก ๆ กว่านี้ มันรับไม่ได้ เปรียบเหมือน เราเอามุ้งลวดไปกรองน้ำ ดักฝุ่นในน้ำ ตาของมุ้งลวดก็กรองได้เฉพาะเม็ดฝุ่นที่ใหญ่กว่าตามันเท่านั้น ส่วนเม็ดฝุ่นที่เล็กกว่า หรือกระทั่งน้ำ มันหลุดลอดออกไปหมด มันจับเอาไว้ไม่ได้ ตาเนื้อเราก็เช่นกัน  นอกจากเราจะสร้างประสาทตาที่ดีกว่าเดิม กรองภาพได้ละเอียดกว่าเดิม (บางทีเรียกว่าตาทิพย์) ขึ้นมาแล้วใช้ประสาทตานั้นมองดูจึงจะเห็น อันนี้เป็นการเปรียบเทียบนะ อย่าถือเป็นจริงเป็นจังไป

     แต่ที่เรามองเห็น สัมผัสได้ (ซึ่งพระท่านก็บอกว่ามีอยู่) ก็คือ แดนมนุษย์ และ ดิรัจฉาน มีมิติแห่งความหยาบอันเดียวกัน จึงมองเห็นและสัมผัสกันได้ นี่แค่สองแดนเท่านั้นนะโลกยังแน่นขนาดนี้  หากแดนอื่น ๆ มาอยู่ในมิติเดียวกันอีกสงสัยคงแย่แน่ ๆ ธรรมชาติเขาสร้างของเขามาดีแล้ว เขาเป็นของเขาดีแล้ว... นี่วรรคนี้เพียงแต่จะบอกว่า เมื่อมนุษย์และสัตว์ดิรัจฉานมีอยู่จริง แดนอื่น ๆ ก็น่าจะมีอยู่จริงเหมือนกัน

     บางคนอาจเคยสงสัยว่า เอาอาหารให้ผีกิน ผีกินแล้วทำไมอาหารนั้น ๆ ยังเหลืออยู่ ไม่หมดไป ตกลงผีมากินหรือเปล่า ? ...หากเรายังมองไม่เห็นผี ผีมากินหรือไม่มากินเรามิอาจรู้ได้ (เอ้...ตาพงษ์กับตาหยอย อย่าหัวเราะสิ) เพราะมองด้วยตาเนื้อ ยังไงก็ไม่ทราบอยู่ดี กับข้อสงสัยนี้ ขออธิบายตามความเข้าใจของข้าพเจ้านะ... วัตถุต่าง ๆ นั้น มันมีหลายมิติในตัวมันเอง ..อธิบายยากเหมือนกันเนอะ..เอาเป็นว่า หากผีมากิน ก็กินเฉพาะส่วนที่เป็นมิติของเขาเท่านั้น สมมติเอาหัวหมูไปถวายผี ผีมากินหัวหมูในส่วนที่เป็นมิติของผี แต่ส่วนที่เป็นมิติของภพเรานั้น มันกินไม่ได้ มันจึงคงเหลือให้เราเห็นอยู่ เปรียบเสมือนแบตเตอรี่น่ะนะ เราใช้ไฟในแบตฯหมดแล้ว แต่ก้อนแบตฯก็ยังเหลืออยู่ หากเรามองแค่ด้วยตาอาจเห็นว่าก้อนแบตฯยังอยู่ (เอ้า ต่อให้จับ ให้ลูบคลำ ให้ดม..เลยก็ได้) ไม่รู้หรอกว่าไฟในแบตฯ มีอยู่หรือไม่ เหลืออยู่เท่าไหร่ จะทราบได้ก็ต่อเมื่อนำแบตฯไปใช้กับมือถือที่เข้ากันได้เท่านั้น  อันนี้อธิบายเปรียบเทียบนะ มันไม่เหมือนกันนะ

     แดนนรก อยู่ที่ไหน แดนเปรต อยู่ที่ไหน ไม่ต้องอยากรู้ ไม่ต้องอยากไปเที่ยวฮันนี่มูน ไม่ต้องอยากไปพักตากอากาศเลยนะ มันไม่สวยงามหรอก (แต่ถ้ามีทัวร์ไปเที่ยวก็คงดีเหมือนกันเนอะ แค่ผ่านเฉย ๆ น่ะนะ) ว่ากันตามตำรานั้นแดนนรก มีหลายขุม ขุมใหญ่ ๆ 8 ขุม ขุมเล็ก ๆ ที่เป็นบริวารอีกมากมาย  แต่ทุก ๆ ขุม ไม่น่าไปอยู่หรอกนะ อย่าอยากไปอยู่นะ รายละเอียดไม่ขอเล่าถึง เอาเป็นว่า มันเป็นแดนแห่งความทุกข์ เป็นแดนสำหรับคนทุกข์ (ไม่ใช่คนจนนะ) คนที่ยึดความทุกข์ไว้เป็นอารมณ์ตอนตายจึงมักมาอยู่อาศัย ก็ชอบอมทุกข์ บริโภคทุกข์ เสวยทุกข์นักนี่ (ไม่ใช่รู้ทุกข์นะ เพราะถ้าทุกข์แล้วรู้ทุกข์ ไม่ตกนรกนะ) เมื่อตายแล้ว จึงต้องมาบริโภคกันต่อที่นรกนี่แหละ

     ใจเรา เมื่อเสวยอารมณ์ทุกข์ (คำว่าทุกข์นี้ เป็นทุกข์ทางใจ ไม่ใช่ทุกข์ทางกาย) พูดง่าย ๆ ก็คือใจมันเป็นทุกข์นั่นแหละ แสดงว่าใจในขณะนั้นตกนรกอยู่ ทุกครั้งที่เราทุกข์ใจ ใจเราจะตกนรก แต่กายเรายังไม่ไป หากสังเกตดีดีจะเห็นนะ นั่นแสดงว่าเราไปทัวร์นรกแล้วล่ะ มันเป็นความรู้สึกทางใจนะ ใจทุกข์คือใจตกนรก (แต่ใจที่รู้ทุกข์ เข้าใจทุกข์ ไม่ตกนรก)

     ในหน้าก่อนนี้ บอกว่าโทสะ นำไปสู่นรก เอะ ไฉนแค่ทุกข์ใจก็บอกว่าใจตกนรกเล่า ทุกข์ใจเกี่ยวอะไรกับโทสะ?

     ตอบแง้ม ๆ  แบบลึก ๆ ว่า ตามธรรมดาเมื่อคนเราทุกข์ใจ จะมีโทสะกิเลสเจือปนอยู่ด้วย ไม่เป็นสมุนตัวเป้ง ๆ ก็เป็นตัวเล็ก ๆ ล่ะ แต่จะมีเจือด้วยทุกครั้ง อย่างเช่นสมมตินะ มือถือหาย เสียดาย ทุกข์ใจ ความโมโห เกิดตามมา จะโมโหตัวเองหรือคนอื่นก็เถอะ หรือเป็นสมุนตัวน้อย ๆ เช่น หงุดหงิด ก็มักจะมีอยู่ด้วย  ลองสังเกตดูนะ ง่าย ๆ คือ ความรู้สึกขัดข้องใจ คับแค้นใจ นั่นแหละคืออาการหนึ่งของโทสะล่ะ (แง้มแค่นี้พอเนอะ)

     หากเราตายไปในตอนที่ใจกำลังเสพเสวยความรู้สึกนั้นพอดี ยึดอารมณ์ทุกข์นั้นไว้พอดี ซึ่งเป็นสภาวะหรือภาวะใจแบบเดียวกับสัตว์นรก ไอ้ภาวะใจแบบนี้แหละจะนำผู้ตายไปยังนรก (มันพาไปจริงๆ นะ ... เลียนแบบสมรัก..ไม่ได้โม้..)

     (แต่สำหรับผู้มีสติดี รู้ทันจิต จะรู้ทันใจทุกข์ เมื่อรู้ทันก็ไม่ยึดทุกข์ไว้ แต่จับตัวรู้ทุกข์นั้นมาเป็นอารมณ์แทน จึงไม่ตกนรก )

     พูดถึงอารมณ์ หรือความรู้สึกที่เราเสพเสวยเนี่ย ว่ากันว่า อารมณ์โกรธ เป็นอารมณ์ของยักษ์ อารมณ์ทุกข์ใจเป็นอารมณ์ของสัตว์นรก อารมณ์เสียใจเป็นอารมณ์ของผี อารมณ์ริษยาเป็นอารมณ์ของอสุรกายบ้างมารบ้าง อารมณ์ละโมบเห็นแก่ตัวเป็นอารมณ์ของเปรต อารมณ์ที่ไม่รู้บาป บุญคุณโทษ (คือสติสัมปชัญญะยังไม่ตื่น) เป็นอารมณ์ของสัตว์ดิรัจฉาน (อันนี้พูดตามประสาชาวบ้านนะ อย่าเอาไปเทียบกับตำรานะ)

     ดังนั้นลองมาดูอีกทีซิว่า ตอนนี้ เราเสวย (ไม่ใช่ราชาศัพท์นะ) อารมณ์แบบใดอยู่ กายเป็นมนุษย์ แต่ใจเราเป็นอะไรอยู่

    ไม่ต้องพาใจไปฮันนี่มูน ไม่ต้องไปตากอากาศดอกนะ ไอ้แดนนรก เปรต อสุรกายนั่นน่ะ


หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
เริ่มหัวข้อโดย: LadyBamboo ที่ 03 พฤศจิกายน 2549, 10:31:27
สาธุค่ะท่าน....
ไม่ห่างวัดห่างวาได้เหมือนเดิมเลยนะเนี่ย
แล้วห่างพิณห่างแคนมั่งไหมเนี่ย.....[/
size]


หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
เริ่มหัวข้อโดย: อาบัติ2535 ที่ 06 พฤศจิกายน 2549, 16:41:57
คุยกันสบาย ๆ เรื่องเปรต

     เปรตเนี่ย บางคนอาจจะเคยได้ยินผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า ตัวสูง ๆ ผอม ๆ ผมยาวรุงรัง บ้าง ท้องใหญ่ ปากเล็กเท่ารูเข็มบ้าง และอื่น ๆ อีกมากมายตามแต่ใครจะเคยได้ยินได้ฟังมา ในตำราเองก็จำแนกเปรตไว้เยอะแยะอยู่ ขอไม่กล่าวถึงในที่นี้  Species ของเปรตมีมากมายจริง ๆ ก็มันอยู่ที่กรรมเก่ามันนี่ รูปร่างและการเสวยกรรมเสวยทุกข์จึงต่างกันออกไป ดูแต่สัตว์เถิดว่ามีไม่รู้กี่ชนิดต่อกี่ชนิด.. แต่ที่เหมือนกันคือ เป็นเปรตเพราะโลภะ และได้รับทุกข์ ทรมาน

     ขอเล่าเรื่องสมัยเมื่อข้าพเจ้าบวชให้ฟัง ฟังเป็นนิทานนะ

     วันหนึ่ง เมื่อฉันเช้าแล้ว มีพระบางรูป เอานมติดมือไปเยอะรวมถึงขนมและมาม่าด้วย แล้วครูบาอาจารย์ท่านก็เปรยขึ้นว่า “เห็นเปรตไหม นู่น หอบของพะลุงพะลังอยู่นู่น”

     ข้าพเจ้าก็เข้าใจความหมายแห่งคำพูดว่า ที่ว่าเปรตนั้น ยังไม่ใช่ผีเปรตแบบที่ตายไปแล้ว แต่เป็นเปรตด้วยใจ ใจเปรตสิงอยู่ในกายมนุษย์ เนื่องเพราะพระบางรูป เกิดความโลภในอาหารบิณฑบาต อาจคิดว่า ก็ข้าฯบิณฑ์มาได้ใครอื่นอย่าได้มาชุบมือเปิบ เกิดการหวงของบ้าง บางรูปอาจไม่หวงของ แต่อยากสะสมไว้กินในคราวหน้า อารมณ์ใจหรือทิฏฐิเหล่านี้มาจากมูลกิเลสคือโลภะ หรือจะว่าอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นลูกสมุนของโลภะ ตัวนี้แหละที่เป็นเปรต หากใครก็ตามตายไปด้วยอารมณ์ใจแบบนี้ ก็จะไปเกิดเป็นเปรตทันที

     ครูบาอาจารย์ท่านเป็นผู้มีตาดีแล้ว  การมองคนของท่านไม่ใช่มองแค่อาการทางกายเท่านั้น แต่ท่านมองลึกล้วงเข้าไปถึงใจคนนู่น ดังนั้นเมื่อท่านบอกว่าพวกนั้นเป็นเปรต ก็คือใจเป็นเปรต ไม่ใช่อาการหรือกิริยาทางกายที่ถือเอาของมากมาย เพราะบางคนที่ถือเอามากมายก็มีอยู่ แต่มิได้ถือเอาด้วยใจโลภ ถือเอาด้วยใจเมตตาต่อแขกผู้จะมาว่าจะได้มีของกิน ไม่ได้หวังเอาไปกินเอง ใจคนผู้นั้นก็ไม่ใช่ใจเปรต แต่เป็นใจบุญ นั่นคือ หากถือเอาด้วยความโลภแม้จะเป็นนมเพียงกล่องเดียว ก็คือใจเปรต ความต่างกัน ก็อยู่ที่ ใจ ผู้นำพาให้กายกระทำอะไรต่อมิอะไรนั่นเอง

     สัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่ชัดเจนของเปรตอันเนื่องมาจากโลภะคือ ท้องใหญ่ ปากเล็ก (ไม่ใช่เปรตทุกตนนะ) ไอ้ประเภทท้องใหญ่ปากเล็กนี้ ว่ากันว่า ตอนเป็นคนเนี่ย ชอบโกงกิน ได้เท่าไหร่ก็ไม่รู้จักพอ ความอยากได้แบบอิ่มไม่เป็นหรือละโมบนี่แหละ สำคัญนัก คิดดูนะ คนพวกนี้ยิ่งได้มากก็ยิ่งอยากได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หามาใส่ปากใส่ท้องอย่างเดียว ท้องก็แค่เนี้ย แต่อิ่มไม่เป็น ไอ้ที่อิ่มไม่เป็นน่ะ มันเป็นกิเลส เป็นโลภะ เมื่อตายแล้วใจยังมีโลภะตัวนั้นอยู่อย่างเด่นชัด จึงต้องไปเกิดเป็นเปรต มีปากเล็ก ๆ ประมาณว่า ดูดกินเส้นหมี่ทั้งปีก็ไม่เต็มท้อง มันเป็นความทุกข์ ความทรมานอย่างหนึ่งนะ อยากกินแต่กินไม่อิ่มเนี่ย ไอ้ตอนเป็นคนอยู่ มันไม่อิ่มเหมือนกันนั่นแหละ แต่ตอนนั้น มันมองไม่เห็นทุกข์ เพราะความไม่อิ่มนั้น เป็นความไม่อิ่มทางใจ พอไอ้ตอนเป็นเปรตนี่สิ ไม่อิ่มทั้งกายและใจ จึงเข้าใจชัดขึ้นว่า ความไม่อิ่มเนี่ยเป็นทุกข์ ทุกข์เพราะความหิวนั่นแหละ

     อิ่มเมื่อไหร่ก็สุขเมื่อนั้น พอเมื่อไร ก็สุขเมื่อนั้น

     จะหาอะไรกันให้มากมาย นี่ไม่ได้สอนให้ขี้เกียจนะ ถ้าหาได้มากโดยสุจริตไม่เบียดเบียนใคร ไม่มีใจละโมบน่ะ ไม่ใช่ใจเปรตหรอกนะ คนแบบนี้เขาเรียกว่า “เศรษฐี” แปลว่าผู้ประเสริฐ มีเงินมากเฉย ๆ ยังไม่ใช่เศรษฐีนะ เป็นแค่คนรวยหรือคนมีตังค์ ต้องมีใจประเสริฐหาเลี้ยงชีพโดยสุจริตด้วย จึงเรียกได้ว่าเศรษฐี ปัจจุบันนี้ความหมายมันถูกแปลงไปซะแล้ว มีเงินมาก ๆ ก็ได้เป็นเศรษฐี “เสฏฐีเปโต – เศรษฐีใจเปรต” น่ะสิ ไม่ได้ใช้คำแรงนะ คำพระว่าอย่างนี้จริง ๆ ปัจจุบันก็มีคนประเภทนี้เยอะแยะดังที่เราๆ ท่านๆ เข้าใจกันนั่นแหละ  แต่ไม่ต้องไปรังเกียจเขานะ รังเกียจกิเลสในใจเขาก็พอ และต้องไม่ลืมมองย้อนดูในใจเราด้วยนะ

เห็นเขาทำไม่ดี รู้ว่าไม่ดีแล้วอย่าเอาเป็นเยี่ยงอย่าง อย่าลอกเลียนแบบ คนอื่นเขาทำ(ชั่ว)ได้เราก็ทำได้ อย่าคิดอย่างนั้น ถ้าคิดอย่างนั้น แสดงว่าเรากำลังตามใจกิเลสอีกตัวหนึ่งที่เรียกว่า โมหะ นั่นเอง


หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
เริ่มหัวข้อโดย: LadyBamboo ที่ 06 พฤศจิกายน 2549, 16:46:47
ท่านอาบัติ เราจะปรินท์ให้มารดาเราอ่านก่อนนะ ขอบคุณมากที่มาเล่าให้ฟัง


หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
เริ่มหัวข้อโดย: อาบัติ2535 ที่ 06 พฤศจิกายน 2549, 16:52:18
ได้เลย  ไม่มีลิขสิทธิ์หรอกเด้อ

นี่แสดงว่า หญิงไผ่ ก็ชอบธรรมะงั้นรึ

ก็คง แหงล่ะนะ ถึงได้มีห้องธรรมะเอาไว้


หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
เริ่มหัวข้อโดย: LadyBamboo ที่ 06 พฤศจิกายน 2549, 17:22:12
ตอบท่านอาบัติ

อืมม์ ชอบธรรมะไหม?
 
เราว่า ธรรมะเป็นวิถีชีวิต นะ
ธรรมะ ทำให้เรารอดพ้นอะไรหลายๆ อย่างมาจนวันนี้

สมัยก่อนนับว่าเป็นสาวเปรี้ยวใกล้วัด แฮ่.....นิยามเอง เหอ เหอ

แต่สมัยนี้....ห่างวัดซะแล้ว
อัน บุญยกิริยาวัตุ 10 ประการนั้น ตอนนี้เหลือไม่กี่ประการแล้ว
ได้แต่ทำบุญ ทำทานตามอัตภาพเพราะเวลาไม่เอื้อเท่าไหร่
ใส่ซองผ้าป่า กฐิน ถวานสังฆทานไปเรื่อยเล็กๆ น้อยๆ ตามกาล

มีช่วงที่ตั้งท้องนี่แหละ ที่ขยับจากทาน มาเป็นศีล เป็นภาวนามั่ง
ได้อยู่ใกล้ธรรมะมากขึ้น
เพราะเปิดธรรมบทประกอบดนตรีให้ลูกฟังแทนเพลงของโมสาร์ท บีโธเฟน
สวดพาหุงฯ ให้ฟังแทนร้องเพลง
อันนี้พี่แอ ดอกเตอร์นราพร ที่ซีมะโด่งนี่แหละแนะนำมา
พี่เค้าบอกว่า จะช่วยให้เด็กจิตใจสงบ เลี้ยงง่าย
ด้วยความอยากให้ลูกเลี้ยงง่ายตามธรรมเนียมคนขี้เกียจอย่างเรา
เลยทำให้เราได้สวดมนต์บ่อยขึ้น
แต่ตอนหลังมา ตามวิสัยคนขี้เกียจอีกแล้ว เลยสวดอัดเทป ให้ลูกฟังแทน
เพราะเราเริ่มสวดนานๆ แล้วเหนื่อยอ่ะค่ะ

เราเปิดห้องธรรมะ ตาม request ของชาวซีมะโด่งแหละ
เพราะในนี้ หากมารวมตัวกันจริงๆ มีแต่สาธุชนเต็มไปหมด
แต่ตอนนี้ พี่ๆ ท่าทางจะหาทางมายังไม่เจอ
เพราะว่าเว็บบอร์ดใหม่นี้ เห็นพี่ๆ สาธุชนทั้งหลายบอกว่า ทางเข้ามันซับซ้อนเหลือเกิน
เราก็ยังไม่รู้ว่า เราจะแผ้วถางทางให้มันสะดวกโยธินได้อย่างไร
กำลังพิจารณา...................จ้ะ.....


หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
เริ่มหัวข้อโดย: อาบัติ2535 ที่ 07 พฤศจิกายน 2549, 11:24:33
โมหะ จอมแห่งความมืด

     ที่เคยเล่าไว้ว่า โมหะ นำไปสู่ดิรัจฉาน ก็ไอ้ตัวไม่รู้ความนี่แหละ มันชักใยให้เราหลงทำตามมัน มันมากับความมืดจริง ๆ …

อะไรเอ่ยมันมากับความมืด?

...ติ๊กต็อก..ติ๊กต็อก...

ในที่นี้คำตอบไม่ใช่ยุงนะ (คนดำอย่าตกใจ คำตอบไม่ใช่ท่านหรอก) คำตอบทางธรรมะน่ะคือ โมหะ นี่แหละ เป็นคนดีอยู่ดีดี มันมาเมื่อไหร่ ตัดสินใจผิดทุกที (การตัดสินใจเป็นทิฏฐิ—ความเห็น) จริง ๆ แล้ว กิเลสเขาก็ทำตามหน้าที่เขาสุดความสามารถนั่นแหละ ตอนนี้เขาเก่งกว่าเรา เราจึงเป็นทาสเขา (โดยไม่รู้ตัว)

     บางคนน่ะนะหากินอย่างสุจริต สะสมทรัพย์ได้มาก แต่ไม่ค่อยกล้าใช้สอยเอง กลัวจะสิ้นเปลือง ยิ่งสะสมได้มาก ใจก็ยิ่งอยากให้มันสะสมมากขึ้น ๆ แทนที่อย่างน้อยน่าจะนำไปทำบุญทำทานบ้างก็ไม่ทำ นั่นเพราะลูกสมุนของโลภะคือความตระหนี่มาครอบงำ มาบงการ ไอ้อารมณ์แบบนี้น่ะ เจ้าโลภะหรือลูกสมุนยังไม่แรงเท่าไหร่ ที่มาแรงแซงนำก็คือ...

     แอ่น..แอน..แอ้น..

โมหะ นั่นเอง มันช่วยส่งเสริมไม่ให้เราตัดสินใจอย่างถูกต้อง ไม่กล้าใช้สอย ไม่กล้านำมาทำบุญ เก็บอย่างเดียว มีความตระหนี่สิงในใจ (ต่างกันกับการประหยัดนะ) หากตายไปในตอนที่อารมณ์ใจ หรือภาวะทางใจเป็นแบบนี้ ไม่แคล้วต้องไปเป็นดิรัจฉาน (แต่บางทีอาจเป็นยักษ์ เป็นผี ฯลฯ ก็ได้ ขึ้นอยู่กับภาวะทางใจขั้นสุดท้ายก่อนตาย) และที่สำคัญใจมักเกี่ยวพัน ผูกพันอยู่กับข้าวข้องที่สะสมไว้ได้ เมื่อตายแล้วจึงมักมาเฝ้าของนั้น ๆ  หากเป็นงู ก็มานอนเฝ้าบ้านนั้น หากเป็นผีก็เป็นผีเฝ้าสมบัติ อันนี้ยกตัวอย่างนะ ไม่ใช่แบบนี้ทั้งหมด

     ใจคนที่ไม่รู้ ผิด ถูก ชั่ว ดี บาป บุญ คุณ โทษ ก็ไม่ต่างอะไรกับสัตว์ดิรัจฉานหรอกนะ เพราะว่าเรื่องคุณธรรมน่ะ สัตว์มันไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวอะไรนักหรอก (แต่บางตัวที่ใกล้จะเป็นคนก็พอจะมีอยู่นะ) ดูแต่ไก่สิ พอมีลูก ตอนแรกก็มีความรักลูกดีอยู่หรอก พอลูกโต การแย่งอาหารกันระหว่างแม่ลูก เป็นเรื่องธรรมดา หรือเมื่อลูกโตเป็นหนุ่ม ก็มาเป็นสามี (เซิง) แม่ตัวเอง เป็นต้น การที่สัตว์จะคิดเรื่องคุณงามความดีน่ะมันยากนะ (ขนาดคนบางคนยังยากเลย) เพราะมันหลงอยู่แต่กับการหาอยู่หากิน มีที่อยู่ที่นอน มีอาหารกิน กินอิ่มนอนพักผ่อน หากไม่มีกิน ออกหากิน กินอิ่มนอนพักผ่อน มันเป็นของมันอย่างนั้น คนที่มีใจแบบนี้ จึงถือได้ว่ากายเป็นคนใจเป็นดิรัจฉาน

     ครั้งหนึ่งตอนที่ข้าพเจ้าบวชอยู่ ขณะสนทนากับครูบาอาจารย์ ข้าพเจ้าเห็นหมาตัวหนึ่งนอนอยู่จึงหยิบมาเป็นประเด็นคุยว่า

“หมา นี่น่าสงสารเนาะ”

“น่าสงสารน่ะ น่าสงสารอยู่ แต่มันก็สมกับกรรมมันนั่นแหละ ชาติก่อนที่เป็นมนุษย์พระท่านสอนปากเปียกปากแฉะ ให้ทำดี ทำดี ก็ไม่เชื่อ เชื่อแต่ความคิดตนว่าถูกต้อง เลยต้องมาเกิดเป็นหมานี่แหละ”

“แล้วอะไรที่ทำให้มาเกิดเป็นหมาครับ”

“โมหะ ความไม่รู้บาป บุญ คุณ โทษ ไม่รู้ว่า อะไรคือความดีความถูกต้อง นั่นแหละ เมื่อไม่รู้ และไม่เชื่อฟังพระผู้รู้ ก็เป็นอย่างนี้แหละ”

“แต่ปกติ ทุกคนก็คิดว่าตัวเองรู้แล้ว เข้าใจแล้วนั่นแหละ จึงไม่ได้ถามเพื่อรู้อีก น่ะครับ”

“ไอ้ความรู้ที่ว่า รู้แล้ว เข้าใจแล้ว นั่นน่ะ มันเป็นความรู้ของโมหะ คือกิเลสมันบอกว่ามันรู้ ทั้งทั้งที่ รู้นั่นน่ะ ไม่ถูกต้อง เป็นทิฏฐิหรือความเห็นจากตาคือกิเลส ไม่ไช่รู้เห็นจากตาปัญญา  นี่แหละคนเราก็พลาดเพราะเชื่อกิเลสกันทั้งนั้น”

“ก็สิ่งที่ไม่ดีมันทำง่ายกว่านี่ครับ”

“คนไม่ดี ตามใจกิเลส ก็ทำสิ่งไม่ดีได้ง่าย ทำดีได้ยาก  แต่คนดี ไม่ตามใจกิเลส คือมีความดีอยู่ในสันดานน่ะ ทำสิ่งไม่ดียาก เพราะไม่กล้าทำ ส่วนสิ่งดีดี คนดีทำง่าย เพราะใจมันชอบของมันเอง”

     ดังนั้น เมื่อเรายังไม่มีตาที่สะอาดพอจะเข้าใจถึงอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ  ก็พึงรับฟังและปฏิบัติตามคำแนะนำของพระผู้มีตาดีไปก่อน  มิฉะนั้นอาจได้ไปเกิดเป็นสุนัขตัวหนึ่งเข้าสักวันนะครับ


หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
เริ่มหัวข้อโดย: อาบัติ2535 ที่ 08 พฤศจิกายน 2549, 11:51:55
การเลือกเกิด

     ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าได้คุยกับอาจารย์เกี่ยวกับการเกิดของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ท่านว่า ที่บางคนบอกว่าคนเราเลือกเกิดไม่ได้นั้น ไม่จริงดอก เพราะว่าจริง ๆ แล้วเลือกเกิดได้ การที่เราเกิดเป็นอะไร นั้น เราเลือกเอาเองทั้งนั้น หมายถึงว่า เราเลือกทำกรรมเอาเอง แล้วกรรมนั้น ๆ จะพาเราไปเกิดตามที่เราเลือกไว้อย่างซื่อสัตย์ ไม่เบี่ยงเบนแม้แต่น้อย  

     และท่านยังได้แสดงโดยยกอุปมาชัดเจนว่า เมื่อตายไป จิตเราจะมองเห็นทาง ๗ แพร่งอย่างชัดเจน (ทาง ๗ สายที่เคยอธิบายไปในหน้าก่อน ๆ) และตรงทางเข้านั้นก็มีป้ายบอกยี่ห้อชัดเจนว่า
“ทางนี้ไปนรก”
“ทางนี้ไปเปรต”
“ทางนี้ไปดิรัจฉาน”
ฯลฯ

จิตเราขณะตายเสวยอารมณ์ใดอยู่ (หมายถึงใจเป็นนรก เปรต หรือดิรัจฉานอยู่นั่นแหละ) มันจะเลือกของมันเอง เช่นว่า
“โฮ้ .. ทางไปนรก นี่แหละบ้านเรา นี่แหละแดนแห่งความสุข”
แล้วก็เดินเข้าทางนั้นต่อเมื่อไปถึงนรกจริง ๆ ทราบว่าเป็นแดนแห่งความทุกข์ ก็กลับออกมามิได้แล้ว จนกว่ากรรม(ใจแบบนรก)จะหมดสิ้น

     ซึ่งการเลือกนั้นเป็นการเลือกของกิเลส (ตัวเรา ใจเรา ถูกกิเลสเหยียบหัวเอาไว้ไม่มีโอกาสได้เงยหน้าขึ้นมอง) เหมือนที่เราเคยเลือกทำกรรมต่าง ๆ ตามใจกิเลสนั่นเอง คราวนี้ก็หลงเชื่อกิเลสอีกตามเคย แต่สำหรับผู้ที่ฝึกจิตมาดี ฝึกสติมาดี จะรู้เองว่าทางนั้น ๆ เป็นทางไปที่ไหน แล้วเลือกเอาตามที่ชอบใจ(ตัณหา)

     สำหรับบางคนที่ฝึกจิตมายังไม่ดี สติยังไม่ดีพอ แต่ทำความดีอยู่เนือง ๆ เมื่อตายไป จิตตอนตายเสวยอารมณ์แห่งความดีนั้น ๆ อยู่ มันก็จะเลือกเอาทางมนุษย์หรือทางสวรรค์เองทีเดียว (แต่ไม่รู้ว่าทางอื่น ๆ นอกนี้เป็นอย่างไร เพียงแต่เลือกเอาตามความรู้สึกหรือความทรงจำสุดท้ายขณะตายของตน ซึ่งแตกต่างจากผู้มีสติ)

    (นี่อธิบายมายืดยาวเหมือนกับว่าใช้เวลาเลือกพิจารณานาน  แต่ความจริงแล้วมันไม่ได้นานแบบนี้ดอก มันเกิดขึ้นแป๊บเดียว ตายปั๊บ เลือกปั๊บ เกิดปั๊บ เลยทีเดียว)

     ดังนั้น พึงระวังจงหนัก เรื่องทิฏฐิและการกระทำตามทิฏฐินั้น ๆ นั้น หากเจือด้วยลูกสมุนของมูลกิเลสอันไหน ก็ถือว่าในขณะบัดนั้น ใจผู้นั้น เป็นสัตว์นรก เป็นเปรต หรือเป็นดิรัจฉาน และหากตายไปในขณะนั้น ก็จะไปเกิดในที่ที่ใจตอนนั้นเป็นอยู่ (หรือภาษาธรรมเรียกว่า เสวยอารมณ์อยู่)

      คำว่า “ทิฏฐิ” ในที่นี้ แปลว่าความเห็น หมายความว่า การที่เราประเมินหรือตีค่าอะไรก็ตามออกมาว่า ดี ไม่ดี สวย ไม่สวย ถูก ผิด เป็นต้น เช่น เราบอกว่า “เออ..อันนี้สวยดี”  “อันนี้ น่าเกลียด”  “ฉันคิดว่า เธอทำไม่ถูก”  ความคิดที่ว่านี่แหละซึ่งมาจากการวิจัย จากการประเมินของเราแล้ว จะประเมินด้วยความเชื่อหรือประสบการณ์อะไรก็ตาม จัดเป็น “ทิฏฐิ”

      เพื่อเลี่ยงการเกิดในที่ที่ไม่ดี เราควรหมั่นทำความดี เนือง ๆ ขยันฟอกจิต ดูจิตของตนให้ผ่องใส เบิกบาน ให้เสวยอารมณ์แห่งความดีให้มากที่สุด ระลึกถึงบุญให้มากเข้าไว้   สิ่งที่ไม่ดี ความเสียใจ เศร้าใจ ความโกรธ ความละโมบ ฯลฯ หากเกิดขึ้น ควรทำลายเสีย ปล่อยวางเสียให้เร็วเท่าที่จะทำได้ อย่าเสวยอารมณ์ที่เป็นบาปนาน เดี๋ยวจะชิน และติดไปตอนตาย

     ในวันหนึ่ง ๆ เราลองดูจิต ดูใจ ดูอารมณ์ตนเองดูซิว่า ขณะนี้เราเสวยอารมณ์อะไรอยู่ เป็นสัตว์นรก เป็นเปรต หรือเป็นดิรัจฉาน หรือไม่ แล้วเราจะทราบว่าในหนึ่งวันนั้นใจเรา เป็นสัตว์นรก เปรต หรือดิรัจฉาน เมื่อทราบแล้ว ต้องพยายาม เน้นคำว่า ต้องพยายาม เพื่อขยับใจของเราให้เป็นมนุษย์ ให้เป็นเทวดา ให้ได้และให้คงอยู่นานที่สุด

     พึงตรวจดูจิตของตนเนือง ๆ เพื่อรู้ และปรับปรุงมิให้จิตเสวยอารมณ์ที่ต่ำ
     พึงทำจิตของตนเองให้ผ่องใส เบิกบาน อยู่เสมอ เถิด


หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
เริ่มหัวข้อโดย: อาบัติ2535 ที่ 17 พฤศจิกายน 2549, 15:51:51
ว่าด้วยอารมณ์ใจ-ใจเปรต

     ในบทก่อนๆ ที่ผ่านมา มักจะพูดถึงอารมณ์ใจ หรือความรู้สึก อยู่บ่อย ๆ ให้หมั่นดู หมั่นสังเกตว่าใจเราตอนนี้ เป็นใจเปรต ใจดิรัจฉาน ใจยักษ์ ใจมาร ใจผี ใจมนุษย์ หรือใจเทวดา ที่พยายามพูดถึงบ่อย ๆ ก็เพราะอยากให้ท่านทั้งหลายรู้ใจตนเอง เข้าใจใจตนเองว่าเสวยอารมณ์ความรู้สึกแบบใดอยู่ จะได้ไม่พาใจตกลงไปสู่ระดับที่ต่ำกว่ามนุษย์

     ใจเปรต เป็นอย่างไร ?

     ใจเปรต เป็นใจที่อยากได้แบบไม่เป็นธรรม อยากได้แล้วไขว่คว้าหามาด้วยวิธีที่ไม่เป็นธรรม ไอ้ความคิดอยากได้แล้วสรรหาวิธีได้มาแบบไม่ถูกต้องไม่ชอบธรรมนั่นแหละ คือใจเปรต  (เป็นโลภะจิต)

     ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น มีเศรษฐีใจบุญคนหนึ่ง ฉลองครบรอบวันเกิด นำเงินมาแจกชาวบ้านคนละ ๑๐๐ บาท ชาวบ้านต่างก็เข้าแถวมารับเงิน ชาวบ้านคนที่มารับเงิน ๑๐๐ บาท นี้ มารับด้วยความอยากได้ก็จริง แต่เป็นการได้มาโดยธรรม ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ เพราะเจ้าของเงินเขาเต็มใจให้ทุกคน คนละ ๑๐๐ บาท เท่า ๆ กัน ชาวบ้านกลุ่มดังกล่าว จึงยังไม่เรียกว่าใจเปรต เพราะรับมาโดยธรรม รับมาโดยถูกต้อง

     แต่หากในกลุ่มคนเหล่านั้น บางคน หัวใส ฉลาดแกมโกง เกิดอยากได้มาก คิดว่า “เราควรเวียนรับซ้ำอีกสักครั้ง ก็จะได้ ๒๐๐ บาท “ แล้วก็ทำตามที่คิด ไอ้ความคิดแบบนี้ ใจที่คิดแบบนี้แหละ เรียกว่าใจเปรต เพราะไม่ได้รับมาโดยธรรม โดยถูกต้อง เป็นการเอาเปรียบคนอื่นในกลุ่ม

     หรืออีกกรณีหนึ่ง สมมติเศรษฐีนั้นต้องการแจกเฉพาะแก่คนในหมู่บ้านตนเท่านั้น คนละ ๑๐๐ บาท แต่หากมีใครก็ตามที่ไม่ได้เป็นคนหมู่บ้านนั้น อยากได้เงินแล้วปลอมปนเข้ามา รับเงิน ๑๐๐ บาทไป เท่าๆ กับคนอื่นนั่นแหละ การรับเงินนั้น ก็ไม่เป็นธรรม เป็นการหลอกลวงรับเอา ใจของเขาคนนั้น ก็คือใจเปรต เช่นกัน

     เห็นไหมล่ะ เป็นเปรตน่ะเป็นง่ายนิดเดียว แม้แต่การอยากได้แล้วลักขโมยเอามา ใช้มายาล่อลวงเอามา ก็คือใจเปรตนะ เพราะได้มาโดยไม่ชอบธรรม

     คนบางคนหรือทายกทายิกาที่เข้าวัดบ่อย ๆ น่ะ  บางคนเข้าแล้วเกิดบุญ ได้ภาวะใจมนุษย์บ้าง ได้ภาวะใจเทวดาบ้าง แต่บางคนกลับเกิดบาป เข้าวัด แต่ได้ภาวะใจเปรต หลายคนทีเดียวที่เป็นเปรตเข้าวัด บางคนนะ ตอนแรกเข้าวัดก็เกิดบุญดีอยู่หรอก แต่ไป ๆ มา ๆ เมื่อพบว่าเข้าวัดแล้ว มีอาหารดี ๆ กว่าที่บ้านให้กิน มีขนมมากมายให้กิน แล้วคิดว่า “เราจะไปวัด รับเศษพระ กินอาหารอร่อย ๆ กินผลไม้อร่อย ๆ” แล้วทำเป็นนำกับข้าวแบบที่บ้านซึ่งตนไม่อยากกินไปถวายพระ แล้ว นั่งรอรับเศษพระ ไอ้ความคิดแบบนี้แหละ ใจเปรตล่ะ (แต่หากไม่ได้คิดแบบนั้น ไม่ได้มีใจคาดหวังจะรับเศษ คือไม่ได้รับเศษเพราะโลภว่างั้นเถอะ แม้จะรับเศษพระ  ก็ไม่ใช่ใจเปรตนะ)

     ในขณะที่บางคน นำอาหารที่บ้านตนเหมือนกัน (แม้จะเป็นแค่ปลาร้า หรือเกลือ) แต่เอาไปถวายพระด้วยใจคิดอยากทำบุญ อยากถวายทาน ไม่ได้คิดจะรอรับเศษพระแต่อย่างใด ใจของผู้นี้ ไม่เรียกว่าใจเปรตนะ แต่เป็นใจบุญใจกุศล

     ความต่างกัน อยู่ที่ใจนะ ทุกอย่างสำคัญที่ใจ พระท่านมองคนที่ใจ คนเราเองต่างหากที่ชอบมองคนที่ภายนอก

     ในอีกหลาย ๆ ตัวอย่างที่ท่านทั้งหลาย จะได้ยินได้ฟังกันบ่อย ๆ เช่น การขายของแบบหลอกลวง การคดโกง ฉ้อฉล หลอกลวงด้วยวิธีการใด ๆ ก็ตามอันเป็นวิธีการที่ไม่ชอบธรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งของที่ตนต้องการ ทั้งหมดทั้งมวลเกิดจากใจเปรต การทำนาบนหลังคน เกิดจากใจเปรต

    อย่าทำนาบนหลังคน

     ในวันหนึ่ง ๆ ขอให้สำรวจดูใจตนเอง หากพบว่า แว็บนึงที่ใจเปรตเกิดขึ้น ก็ควรสกัด สลัดมันทิ้งไปเสีย ให้เป็นแค่ความคิด อย่าให้มันแสดงผลออกมาทางกาย ทางวาจา หรือพอรู้ตัวว่าคิดแล้วก็อย่าได้ลงมือทำ แค่นี้ก็สกัดทางไปเป็นเปรตจริง ๆ ได้แล้ว


หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
เริ่มหัวข้อโดย: weerapong_rx ที่ 14 มกราคม 2550, 08:45:43
ขอบคุณมากๆ ครับคุณอาบัติ2535 ผมอ่านไปแล้วสองตอน เขียนเข้าใจง่าย ยกตัวอย่างดี ทำให้ผมได้ย้อนกลับมาดูอารมณ์ตัวเองแล้วครับ แต่ก่อนผมไปวัดทำสมถกรรมฐาน ตอนอยู่วัดนี่ก็ดีมากครับไม่พูดกับใครอยู่กับใจตนเองรู้ทันอารมณ์ แต่พอออกมานอกวัด กลับไปทำงาน เจอโน้นเจอนี่ ยิ่งตอนนี้เรียนเหนื่อยก็เลยห่างพระธรรมไปมาก ได้อ่านบทความของคุณ (น่าจะเป็นพี่ผมนะครับ) แล้วทำให้เห็นความสำคัญในการจับและคุมอารมณ์ตัวเองให้อยู่หมัด อย่าได้ทำให้มันทุกข์ไปกว่าเดิม จริงไหมครับ เดี๋ยวผมจะแวะมาอ่านเรื่อยๆ นะครับ ขอบคุณครับ


หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
เริ่มหัวข้อโดย: อาบัติ2535 ที่ 18 มกราคม 2550, 08:57:39
ว่าด้วยใจ ยักษ์ มาร และผี

     ใจยักษ์  ใจมาร ใจผี เป็นอย่างไร ?

     ยักษ์ แปลตามศัพท์ว่า ผู้ที่คนบูชา ผู้ที่คนเซ่นไหว้ หรือผู้ที่คนเซ่นสรวงบูชา
     ยักษ์ แปลตามภาษาชาวบ้านว่า ผู้หน้าบึ้ง ผู้หน้าบูด ผู้หน้าเบี้ยว ผู้หน้างอ ผู้หน้าบูดบึ้งขมึงตึง
     ยักษ์(ตัวจริงมีอยู่) แม้ว่าเราจะไม่เคยเห็นตัวจริงเขา แต่ก็เป็นตัวแทนหรือสื่อถึงความดุร้าย หน้าตาน่าเกลียด

     การที่หน้าตาน่าเกลียด ก็เพราะ ภาวะใจของยักษ์ เต็มไปด้วยความโกรธ ความขุ่นเคือง ไอ้ความโกรธนี่แหละส่งผลให้ มีหน้าตาอัปลักษณ์ น่าเกลียด หากไม่เชื่อ ลองส่องกระจกดูหน้าตัวเองสิ ว่าเวลาโมโห หน้าตาเป็นเช่นไร หรือไม่ก็สังเกตดูคนอื่นเวลาโมโห ว่าหน้าตาเขาเป็นเช่นไร หน้าบูดบึ้งหรือไม่ น่ากลัวหรือไม่ อยากเข้าใกล้หรือไม่ อยากคุยด้วยหรือไม่

     ไม่มีใครอยากเข้าใกล้ อยากคุย อยากฟัง คนที่กำลังมีใจยักษ์หรอก จริงมั๊ย

     ดังนั้น อย่าให้ใจเราเองซึ่งเป็นมนุษย์อยู่ กลายเป็นใจยักษ์ไปซะล่ะ แม้นเราเผชิญกับคนใจยักษ์ เราก็อย่าเป็นยักษ์ตอบนะ

     มาร แปลตามศัพท์ว่า ผู้ทำให้ผู้อื่นตาย (จากความเจริญ)
     มาร แปลตามภาษาชาวบ้านว่า ผู้กีดขวางความเจริญของผู้อื่น ผู้ริษยาผู้อื่น
     มาร เป็นตัวแทนหรือสื่อถึงความริษยา ไม่อยากให้ใครหน้าไหนมาดีกว่าตนเหนือกว่าตน
     คนที่เห็นผู้อื่นได้ดี แทนที่จะชื่นชมยินดีกับเขา กลับเกิดความริษยา นั่นแหละคือคนใจมาร
     คนที่เห็นผู้อื่นเหนือกว่าตน แล้วริษยาเขา อยากให้เขาฉิบหายไป พยายามกีดขวางทางเจริญของผู้อื่น นั่นแหละคือคนใจมาร

     ใจมาร เป็นใจที่ไม่เจริญ เพราะภาวะใจมันเองก็ขวางความเจริญอยู่แล้ว

     จึงควรเปลี่ยนใจมารซึ่งเป็นความริษยา ไปเป็นใจพรหมซึ่งคอยสนับสนุน พลอยยินดีกับคนอื่นดีกว่า

     ใจผี
     ผีในที่นี้ หมายถึง ภูตผี หรือ อสุรกาย เป็นภพภูมิมืดที่อยู่คนละมิติกับภพภูมิมนุษย์

     ภูตผี เป็นวิญญาณ(ภาษาชาวบ้าน) ของคนหรือสัตว์ที่ตายแล้ว แต่ ยังไม่ไปผุดไปเกิดในภพใหม่มีนรก เป็นต้น (ความจริงเกิดแล้ว คือเกิดเป็นผี ) เพราะ การยึดติด หรือยึดมั่นในภพเดิมหรือภาวะใจเดิมรุนแรงมาก (ภาวะทุกข์ใจ) ไม่สามารถถอดถอน หรือปล่อยวางออกได้ ภาวะใจนั้น จึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก (ภูต แปลว่า เป็นแล้ว ๆ ๆ หรือ มีแล้ว ๆ ๆ) เขาตายที่ไหน วิญญาณ (ที่ถูก ต้องเรียกว่าภูต) เขาจึงมักวนเวียนอยู่แถวนั้น บริเวณนั้น ที่เคยผูกพัน ที่ทรงจำได้ คอยรับกรรมจากภาวะใจเดิม ซ้ำไปซ้ำมา จนกว่าจะสลัดภาวะใจนั้นลงได้ ภูต นั้นก็จะตายหรือจุติ ไปสู่ภพอื่น (อาจเป็น นรก เปรต หรือมนุษย์ แล้วแต่กรรมหรือภาวะใจตัวต่อมาจะให้ผล)

(ความจริงแล้ว ทุกภพ เหมือนกันหมด เช่น มนุษย์ ตราบใดที่ยังยึดภาวะใจมนุษย์อยู่ ก็ยังเป็นมนุษย์ตราบนั้น เมื่อใดที่สลัดภาวะใจมนุษย์ออกไป เมื่อนั้น ก็จะเข้าสู่ภพใหม่ ขึ้นอยู่กับว่าใจจะเข้าไปยึดภาวะใจแบบใดเป็นลำดับต่อมา ผี เปรต ดิรัจฉาน เทวดา เป็นต้น ก็เหมือนกัน)

     อสุรกาย ก็เป็นผีเหมือนกันกับ ภูตผี คืออยู่ในภพภูมิเดียวกัน ต่างกันที่ชื่อเรียก เพราะภาวะใจในรายละเอียดต่างกันนิดหน่อย (เหมือนมนุษย์ที่มีหลายเผ่าพันธุ์ หรือดิรัจฉานที่มีหลายเผ่าพันธุ์ นั่นแหละ) อสุรกาย แปลว่าพวกที่ไม่กล้า

     ภาวะใจผี เป็นใจที่อมทุกข์ ประกอบด้วยความโศกเศร้า เสียใจ กลัดกลุ้มใจ ตรอมใจ ซึ่งขณะเป็นมนุษย์อยู่ เสวยอารมณ์นี้ ก็ทุกข์มากมายอยู่แล้ว หากตายไปตอนนั้นพอดี เขาก็จะเสวยอารมณ์นั้นต่อในอัตภาพที่เราเรียกว่าผี

     การอมทุกข์ ต่างจากการรู้ทุกข์นะ การอมทุกข์คือเมื่อทุกข์แล้ว เอาใจเข้าไปนอนแช่ในกองทุกข์ เหมือนคนนอนแช่ในน้ำคร่ำ แต่การรู้ทุกข์คือเมื่อทุกข์แล้ว แค่รู้ว่ามีทุกข์ ไม่เอาใจไปนอนแช่ในทุกข์ เหมือนคนมองดูน้ำคร่ำอยู่ห่าง ๆ ไม่เอาตัวลงไปนอนแช่ นี่แหละ มันต่างกันแบบนี้

      ใจรู้ทุกข์ เป็นใจพระ
      ใจอมทุกข์ หรือแช่ทุกข์ เป็นใจผี

     บางคน พอประสบทุกข์มาก ๆ หาทางออกไม่ได้ ตัดสินใจหนีทุกข์นั้น โดยการฆ่าตัวตายก็มี คิดว่าจะหนีทุกข์ได้ แต่ความจริงแล้ว มันหนีไม่ได้หรอก หนีทุกข์ของมนุษย์ได้ แต่ก็ต้องทุกข์ต่อตอนเป็นผี ก็ทุกข์อันเดิมนั่นแหละ เคยร้องไห้ฟูมฟายก่อนตาย เป็นผีแล้ว ก็เอาแต่ร้องไห้เหมือนเดิม หาใครปลอบใจก็ไม่ได้ ยิ่งทุกข์กว่าเดิมอีก

     (บางคนที่นับถือผี บางคนที่อยากเป็นผี แม้ใจไม่อมทุกข์ เมื่อตายแล้ว ก็เกิดเป็นผีได้เช่นกัน เพราะใจมันอยากเป็น ใจมันติดความเป็นผี เกาะข้องความเป็นผีไว้)

     ภาวะใจต่าง ๆ ดังกล่าวมา เป็นภาวะใจที่นำไปหาภพภูมิที่ไม่ดี ที่เป็นทุกข์ ตราบใดก็ตามที่เรายังสลัดภาวะใจแบบนั้นไม่ได้ (คือไม่สามารถจะลืมมันได้ว่างั้นเถอะ) เราก็ยังไปเกิดใหม่ไม่ได้ตราบนั้น

     แต่หากเราพยายามฝึกดูใจตน รู้ใจตน อยู่เสมอแล้ว พอเราไปติดหรือเสพเสวยภาวะใจที่ไม่ดีเข้า ก็จะรู้ทันมันได้เร็ว และตัด สลัดมันออกได้เร็ว การเสวยทุกข์เพราะความไม่รู้ตัวนั้น ก็จะจบเร็ว
 
     ความโกรธ ความไม่พอใจ ความริษยา ความทุกข์โศก เป็นตัวทำใจให้หมองคล้ำ หมองเศร้า เป็นภาวะใจด่างดำ ไม่ใช่ภาวะใจมนุษย์ ขอให้พยายามขจัดมันออกเสีย อย่าให้มันสิงอาศัยอยู่ในใจเรานาน เดี๋ยวมันจะชิน นะ


หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
เริ่มหัวข้อโดย: weerapong_rx ที่ 22 มกราคม 2550, 02:05:02
ขอบคุณหลายๆ เด้ออ้ายคับ อย่าลืมมาเล่าให้ฟังอีกเด้อคับ


หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
เริ่มหัวข้อโดย: อาบัติ2535 ที่ 22 มกราคม 2550, 12:47:05
ว่าด้วยความละอายใจ

     สัตว์ดิรัจฉาน มนุษย์ และเทวดา มีธรรมะหลายอย่างที่แตกต่างกัน คือคุณธรรมประจำใจมีความเข้มข้นไม่เหมือนกัน แต่ในที่นี้จะยกมาพูดถึงอย่างหนึ่งที่เห็นชัดคือ เรื่องความอาย หรือความละอายใจ ที่ภาษาบาลี เรียกว่า หิริ นั่นแหละ

     ความอายนี้ นี่แหละสำคัญนัก ที่เป็นตัวจำแนกระหว่างดิรัจฉาน มนุษย์ และเทวดา

     ท่านทั้งหลายคิดว่า ดิรัจฉาน มีความอาย มีความละอายใจ มากน้อยเพียงไร ข้าพเจ้าเองก็ไม่รู้ใจดิรัจฉานหรอกว่ามันอายเป็นหรือเปล่า แต่เมื่อประเมินจากที่พบเห็นบ่อย ๆ เห็นว่า มันไม่ค่อยอายกันนะ มันไม่อายคน ไม่อายใคร ๆ เลย อยากทำอะไรกัน (เข้าใจเอาเองนะ) ที่ไหน ตรงไหน ก็จัดการทันทีตามอารมณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ต้องมีที่กำบัง นี่ คือมันไม่มีความอาย

     การที่ดิรัจฉาน ผสมพันธุ์กัน (ใช้คำนี้ก็แล้วกันเนาะ) มันก็ไม่ได้สนใจหรอกว่า คู่ของมันเป็นใคร เป็นลูกมัน  เป็นพ่อมัน เป็นแม่มัน ความรู้สึกผิด ชอบ ชั่วดี ตรงนี้ของมันไม่มี นี่ คือมันไม่มีความละอายใจ

     ส่วนคนนั้น มีความอาย ความละอายใจ มากกว่าสัตว์ขึ้นมาหน่อย แต่ก็มากน้อยต่างกันในแต่ละคน

     บางคน ไม่กล้าทำอะไรกันในที่สาธารณะ เพราะอาย แต่บางคนกลับกล้า เพราะความอายน้อย
     บางคน ไม่ทิ้งขยะเกลื่อนกลาด ทิ้งลงถังขยะเท่านั้น เพราะอายคนอื่นบ้าง เพราะละอายใจบ้าง แต่บางคน ไม่เป็นเช่นนั้น
     บางคน ไม่กล้าถ่มน้ำลายหรือเสลด ลงบนลานซีเมนต์ เพราะอายคนอื่นบ้าง เพราะละอายใจบ้าง แต่บางคน ไม่เป็นเช่นนั้น
     หลาย ๆ อย่าง ที่คนแต่ละคน มีความละอายใจต่างกัน มีระดับความเข้มข้นที่ต่างกัน
     คนที่ไม่กล้าทำสิ่งไม่ดีเพราะมีคนอื่นอยู่ด้วย คืออายคนอื่นจึงไม่กล้าทำ นี่เรียกว่า มีความอาย
     คนที่ไม่กล้าทำสิ่งไม่ดีแม้อยู่เพียงลำพังตนเอง คืออายตนองจึงไม่กล้าทำ นี่เรียกว่า มีความละอายใจ

     ในระดับที่เรียกว่า ความอาย นั้น เป็นธรรมที่สัตว์ไม่มี แต่มนุษย์มี (แต่บางคนก็ไม่มี)
     ในระดับทีเรียกว่า ความละอายใจ นั้น เป็นธรรมที่มนุษย์บางคนมี บางคนไม่มี แต่เทวดามี
     มนุสสธรรม หรือธรรมของมนุษย์ นั้น หมายถึงธรรมะพื้นฐานที่มนุษย์ ต้องปฏิบัติ ซึ่งก็คือ ศีล ๕ นั่นเอง
     เทวธรรม หรือธรรมของเทวดา นั้น หมายถึงธรรมะประจำใจเทวดา มีสองประการคือ ความละอายใจต่อการกระทำไม่ดี และความเกรงกลัวต่อการกระทำไม่ดี (แค่สองข้อก็ครอบคลุมเหนือศีล ๕ แล้ว)

     ดังนั้น หากต้องการรักษาใจของตนไม่ให้ตกต่ำลงไปกว่าระดับใจมนุษย์ ก็ต้องมีความอายให้มาก ๆ อายในที่นี้หมายถึงอายต่อการทำไม่ดีนะ ไม่ใช่แบบว่า ฉันไม่กล้าเสนอขายของ เพราะอาย  ฉันไม่กล้าพูดต่อหน้าคนมาก ๆ เพราะอาย ไอ้อายแบบนี้น่ะ  มันเป็นโมหะนะ มันไม่ใช่อายต่อการทำไม่ดีนะ คนละเรื่องกัน แต่ใช้คำไทยคำเดียวกัน

     แต่ถ้าให้ดีกว่านั้น ควรพยายามยกระดับใจขึ้นสู่ระดับเทวดา มีความละอายใจ ต่อการทำไม่ดี แม้ว่าตนเองจะอยู่เพียงคนเดียว หากทำได้ดังนี้ ใจเราก็เป็นเทวดาแล้วล่ะ

     ดังนั้น ในแต่ละวัน ต้องหมั่นสังเกตใจตนเอง หากพบว่ากำลังเป็นใจระดับต่ำคือดิรัจฉานลงไป ก็ให้ยกระดับมันขึ้นมานะ ระวังอย่าให้ต่ำกว่าระดับมนุษย์

     หมั่นสร้างและรักษา ความอาย ความละอายใจ และความเกรงกลัวต่อการทำไม่ดี ให้มีอยู่ในใจเนื่องๆ


หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
เริ่มหัวข้อโดย: อาบัติ2535 ที่ 26 มกราคม 2550, 08:28:51
ว่าด้วยใจพรหม

     มนุษย์ที่มีความอาย ก็เป็นตัวชี้บ่งได้อย่างหนึ่งว่า มีคุณธรรมเหนือกว่าสัตว์ แต่หากความอายนั้น เป็นแค่อายคนอื่นจึงไม่กล้าทำไม่ดี พอคนอื่นไม่อยู่ก็กล้าทำ ความอายระดับนี้นั้นยังกั้นความชั่วไม่ได้

     หากพัฒนาใจตัวเองให้สูงขึ้นอีก ให้มีความละอายใจต่อการกระทำไม่ดีของตนเอง ที่เรียกว่า หิริ ได้แล้ว แม้ว่าเราจะอยู่คนเดียว เราก็ไม่ทำสิ่งที่ไม่ดี เพราะอายตนเอง คิดได้ว่าแม้คนอื่นไม่รู้ ตัวเองก็ย่อมรู้ ความอายระดับนี้แหละ จึงจะสามารถกั้นมิให้ทำชั่วได้

     บางคนยังมีคุณธรรมอีกข้อหนึ่งมาประคับประคองใจที่เรียกว่า โอตตัปปะ หรือความกรงกลัวต่อบาป กลัวต่อผลของการทำไม่ดี แล้วไม่กล้าทำสิ่งที่ไม่ดี ทั้งหิริ และโอตตัปปะ นี้แล เป็นคุณธรรมที่สามารถจะป้องกันไม่ให้เราทำชั่วได้

     บางคน ไม่กล้าขโมยของ เพราะละอายใจว่า การกระทำแบบนี้ ไม่ดี ไม่ใช่สิ่งถูกต้อง เป็นความละอายอยู่ภายในใจตนเอง นั่นคือเขามี หิริ คือความละอายใจ

     บางคน ไม่กล้าขโมยของ เพราะกลัวว่าหากถูกจับได้จะถูกลงโทษบ้าง กลัวว่าตายไปจะตกนรกบ้าง เป็นเปรตบ้าง ซึ่งเป็นความเกรงกลัวต่อผลของการทำไม่ดี นั่นคือเขามี โอตตัปปะ คือความเกรงกลัวต่อบาป

     คุณธรรม ๒ ประการนี้ เป็นธรรมะที่คุ้มครองโลก เป็นธรรมะของผู้มีใจสูง เป็นธรรมะระดับเทพหรือเทวดา

     ทว่า คุณธรรม ๒ ประการ กล่าวคือ หิริ และ โอตตัปปะ นี้ เกิดจากการน้อมประโยชน์เข้ามาหาตน คือเอาตัวเองเป็นตัวตั้ง เช่น หากทำไม่ดี ผลที่ไม่ดีจะย้อนกลับมาหาตน เป็นต้น

     คุณธรรมที่สูงกว่านี้ ยังมีอยู่ สูงกว่าเทวดา ก็คือระดับพรหม เป็นระดับที่ใจประเสริฐยิ่งขึ้น สูงส่งยิ่งขึ้น

     ใจพรหมที่ได้ยินได้ฟังกันบ่อย ๆ ข้อนึงคือ เมตตา แปลกันว่า ความรัก เป็นความรักที่ไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ หรืออารมณ์ทางเพศ เป็นความรักบริสุทธิ์

     ความรักแบบหนุ่มรักสาว สาวรักหนุ่ม นั่นแหละคือความรักแบบกามารมณ์ ศัพท์บาลีใช้ว่า เปม (สันสกฤตใช้ เปรม) แม้จะเป็นความรักอย่างหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่ความรักที่ เรียกว่า เมตตา

     เมตตา เป็นความรักที่ มองผู้อื่น เป็นที่ตั้ง คือใช้ความสุขของผู้อื่นเป็นฐาน มีจิตใจอยากให้ผู้อื่นเป็นสุข มีการกระทำเพื่อให้ผู้อื่นได้สุข และไม่เจือด้วยกามารมณ์

     ที่พบเห็นง่าย ๆ เลยก็คือความรู้สึกของพ่อแม่ที่มีต่อลูกนั่นเอง อยากให้ลูกได้ดี อยากให้ลูกเป็นสุข ตนเองทุกข์กายไม่เป็นไร และพ่อแม่ก็ไม่เกิดความรักแบบกามารมณ์กับลูก แต่สัตว์ที่เป็นพ่อแม่ กลับมีเพศสัมพันธ์กับลูกได้ นี่คือความต่างกันอันนึงระหว่างใจมนุษย์กับดิรัจฉาน

     พ่อแม่มีเมตตาต่อลูกนี่เอง พระท่านจึงว่า “พ่อแม่เป็นพรหมของลูก”  เพราะใจเมตตา ก็คือใจพรหม

     หากใครก็ตาม ยกระดับใจของตน จากความละอายใจ และความกลัวบาป ซึ่งเป็นคุณธรรมที่มองตนเองเป็นที่ตั้ง ขึ้นสู่ระดับใจที่มองความสุขผู้อื่นเป็นที่ตั้ง อันเรียกว่าเมตตาได้ ใจผู้นั้น ก็เป็นใจพรหม

     การไม่ฆ่าสัตว์ เพราะยึดมั่นในศีล เป็นความดีระดับมนุษย์ คือการถือศีล
     การไม่ฆ่าสัตว์ เพราะละอายใจว่าเป็นสิ่งไม่ดี เป็นความดีระดับเทพ คือมีหิริ
     การไม่ฆ่าสัตว์ เพราะกลัวว่าจะได้รับผลกรรมของการฆ่า เป็นความดีระดับเทพ คือมีโอตตัปปะ
     การไม่ฆ่าสัตว์ เพราะสงสารมัน เป็นความดีระดับพรหม คือมีเมตตา (ความสงสารนี้เกิดจากความรักในชีวิตของสัตว์อื่น จึงเป็นเมตตา)

     การไม่ฆ่าสัตว์ จะไม่ฆ่าเพราะความเห็นหรือทิฏฐิอย่างใดก็ตาม จัดเป็นความดีทั้งนั้น เป็นกุศลทั้งนั้น จะต่างกันก็เพียงว่า ใจของผู้นั้น ๆ คิดอย่างไร จึงไม่ฆ่า มีความเห็นอย่างไร จึงไม่ฆ่า จิตใจที่คิดเห็นนั่นแหละจะเป็น ใจมนุษย์ ใจเทวดา ใจพรหม

     ( ข้าพเจ้าไม่ได้หมายถึงว่า ผู้มีใจมนุษย์จะต้องเกิดเป็นมนุษย์ ผู้มีใจเทวดาจะต้องเกิดเป็นเทวดา ผู้มีใจพรหมจะต้องเกิดเป็นพรหม โดยแน่นอนนะ แต่เป็นการอธิบายถึงระดับภาวะทางใจ )

     ใจพรหมนั้น นอกจากเมตตาแล้ว ยังมี กรุณา มุทิตา และอุเบกขา อีก

     กรุณา คือความสงสาร เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ เป็นใจที่เมื่อพบเห็นผู้อื่นเป็นทุกข์แล้วต้องการให้ผู้นั้นพ้นจากทุกข์นั้น ๆ

     มุทิตา คือความพลอยยินดี เป็นใจที่เมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี มีสุข ก็พลอยยินดีด้วย และพร้อมจะส่งเสริมเขา โดยไม่มีใจริษยา

     อุเบกขา คือความวางเฉย เช่นเมื่อพบเห็นผู้อื่นทุกข์(เพราะผลกรรมของเขาเอง) รู้ว่าตัวเองช่วยเขาไม่ได้ ก็ปล่อยวางเสีย ไม่เอาใจตนไปนอนแช่ในทุกข์ตามเขา เป็นใจที่ถือความเป็นธรรม ถือความเป็นไปตามธรรม เป็นที่ตั้ง ไม่มีอคติทั้งในกรรมของตน ทั้งในกรรมของผู้อื่น

     ในวันนี้ เรา ดูจิตใจตนเองหรือยัง มีตอนไหนบ้างที่เราสามารถยกระดับใจขึ้นเป็นมนุษย์ เทวดา และพรหม ได้บ้าง พึงระลึกถึงภาวะใจตอนนั้น เทียบกับภาวะใจตอนนี้ และพยายามอย่าให้ลดต่ำลงกว่ามนุษย์นะ


หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
เริ่มหัวข้อโดย: สมชาย17 ที่ 26 มกราคม 2550, 20:00:23
อ่านแล้วรู้สึกสบายใจขึ้น ช่วยกระตุ้นจิตจิตสำนึก และคุมจิตให้อยู่กับตัวได้ดีขึ้น

ช่วยโพสต์ลงบ่อยๆ นะครับ น้องอาบัติ  จะคอยติดตามครับ


หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
เริ่มหัวข้อโดย: อาบัติ2535 ที่ 26 มกราคม 2550, 22:01:49
ขอบคุณครับ ท่านพี่สมชาย17 ที่จะคอยติดตามอ่าน...

ผมเพียงหวัง ให้ผู้สนใจในธรรมะ เข้าใจเคล็ดสำคัญของการฝึกวิปัสสนา

แม้ที่ผมอธิบายมาทั้งหมด จะไม่เอ่ยถึงคำ "วิปัสสนา"

วิปัสสนา เคล็ดสำคัญ อยู่ที่ "รู้"
"รู้" ที่ไม่ใช่ รู้จำ
"รู้" ที่เป็นสามัญ
"รู้ที่เป็นสามัญ" ก็คือ "รู้สักว่ารู้"



แต่หากอธิบายแบบ หลักการล้วนๆ อาจจะเข้าใจยาก (อย่างข้อความสีเขียวข้างบนนี้) จึงโยงนั่นโยงนี่เข้ามาประกอบ

สุดท้ายของแต่ละบทความ ก็หนีไม่พ้น ให้รู้ใจตน ให้รู้ความรู้สึกตน เพราะด้วย "รู้" เท่านั้น สติจึงจะเจริญได้ "รู้" นั่นแล เป็นอาหารของสติ

(ที่ผมพูดเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่า ผมรู้มาก สติผมเจริญมากแล้วนะครับ และที่นำมาอธิบาย ก็เพื่อฝึกอธิบายครับ)


หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
เริ่มหัวข้อโดย: Junphen Juntana ที่ 31 มกราคม 2550, 12:19:06
ได้ความรู้และความคิดเพิ่มพูนขึ้นอีกเพียบเลย

ขอบคุณค่ะ :D


หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
เริ่มหัวข้อโดย: อาบัติ2535 ที่ 01 กุมภาพันธ์ 2550, 10:17:16
ว่าด้วยความตาย

     คำว่า “ตาย” มาจากภาษาบาลี คือ ติ แปลว่า ๓ + อายะ แปลว่าไป (ละคำว่าโลกไว้) รวมความแล้วแปลว่าไปสู่โลก ๓ หรือไปสู่โลกทั้ง ๓ (โลกใดโลกหนึ่ง)

     แล้วคำว่า ”โลก ๓”  นั้นคืออันใดเล่า ?

     โลก แปลว่า แสงสว่าง ในที่นี้หมายถึง วิสัยหรือแดนอันสัตว์ทั้งหลายจะพึงอยู่อาศัยได้ แยกตามลักษณะแสงสว่าง หากแสงสว่างน้อยหรือไม่มี ก็เรียกว่า โลกมืด หากแสงสว่างมาก ก็เรียกว่าโลกแจ้ง

     ดังนั้น เมื่อแบ่งที่อยู่ของสรรพสัตว์ แยกตามโลก จึงได้ ๓ โลก คือ (เป็นศัพท์บัญญัติของข้าพเจ้าเอง)

๑. โลกมืด
๒. โลกครึ่งมืดครึ่งแจ้ง
๓. โลกแจ้ง

     โลกมืด ก็คือแดนอันมืดมิด ไร้แสงสว่าง ไม่มีทั้งแสงสว่างตามธรรมชาติเช่น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว เป็นต้น หรือไม่มีแม้กระทั่งแสงสว่างจากดวงแก้วมณีอันวิเศษ จะมีบ้างนาน ๆ ครั้งที่พระผู้วิเศษเดินทางลงไปโปรด แสงสว่างจากกายของพระผู้วิเศษนั้น ก็จะเปล่งรัศมีดัง Spot Light ทำให้พวกที่อยู่ในโลกมืดนี้ ตื่นตาตื่นใจได้เป็นบางครั้ง

     ซึ่งสัตว์ที่อาศัยอยู่ในโลกมืดนี้ ก็มีพวกสัตว์นรก เปรต อสุรกาย และพวกผีต่าง ๆ หรือหากจัดตามทาง ๗ สายที่เขียนไว้ในฉบับก่อน ๆ ก็คือทางสายที่ ๑ และ ๒ นั่นเอง

     ที่มันมืด ก็เพราะกรรมของพวกเขาเอง คือชอบความมืด ก็ต้องเกิดในที่มืด

     โลกครึ่งมืดครึ่งแจ้ง ก็คือ โลกที่มีช่วงเวลาที่มืดครึ่งหนึ่ง ช่วงเวลาที่แจ้งครึ่งหนึ่ง ซึ่งเราเรียกว่าเวลากลางวันกับกลางคืนนั่นแหละ เป็นที่อยู่อาศัยของพวกมนุษย์และดิรัจฉาน หรือทางสายที่ ๓ และ ๔ ในทาง ๗ สายนั่นเอง

     ซึ่งโลกของมนุษย์นี้ เราทั้งหลายก็ทราบดีอยู่แล้วว่า มีดวงอาทิตย์  ดวงจันทร์ และดวงดาวต่าง ๆ เป็นต้น และกำหนดเวลากลางวัน กลางคืน ตามการโคจรของดวงอาทิตย์ (ยังมีโลกมนุษย์ที่อยู่คนละมิติกับเราอีก...บางครั้งเรียกเมืองลับแล)

     โลกแจ้ง ก็คือโลกที่มีความสว่างอยู่ตลอดเวลา ไม่มีดวงอาทิตย์ ไม่มีดวงจันทร์ ไม่มีดวงดาว เป็นต้น ไม่มีกลางวัน ไม่มีกลางคืน (ที่เกิดจากการโคจรของดวงอาทิตย์) แต่เขาก็มีเวลาของเขา เป็นแดนที่เรียก แดนทิพย์ หรือแดนสว่าง (ทิวะหรือทิวา หรือทิพ หรือทิพย์ ในที่นี้แปลว่า สว่าง หรือกลางวัน)

     ซึ่งผู้ที่อาศัยอยู่ในโลกแจ้งนี้ ก็คือ เทวดา และพรหม หรือทางสายที่ ๕ และ ๖ ในทาง ๗ สายนั่นเอง

     สัตว์(หมายถึงผู้ยังข้องอยู่) ในอัตภาพหนึ่ง ๆ(หมายถึงในแต่ละชาติ)
     บางจำพวก ก็อยู่ได้ในโลกใดโลกหนึ่งโดยเฉพาะ ไปโลกอื่นไม่ได้ อยู่โลกอื่นไม่ได้
     บางจำพวก ก็เป็นสัตว์สองโลก คืออยู่ได้ทั้งโลกมืด ทั้งโลกครึ่งมืดครึ่งแจ้ง
     บางจำพวก ก็อยู่ได้ทั้งโลกแจ้ง ทั้งโลกครึ่งมืดครึ่งแจ้ง
     บางจำพวก ก็อยู่ได้ ไปได้ ทั้งสามโลกเลย

     สรุปว่า โลก ๓ ก็คือ โลกมืดอันเป็นแดนที่อยู่อาศัยของสัตว์นรกและผีทั้งหลาย๑    โลกครึ่งมืดครึ่งแจ้งอันเป็นแดนที่อยู่อาศัยของดิรัจฉานและมนุษย์๑    โลกแจ้งอันเป็นแดนที่อยู่อาศัยของเทวดาและพรหม๑

    ผู้ตาย คือผู้ไปสู่โลก ๓ เหล่านี้ โลกใดโลกหนึ่ง

     ดังนั้น คนตาย ก็คือคนที่ย้ายแดนที่อยู่อาศัย จากแห่งหนึ่งไปอีกแห่งหนึ่ง ด้วยอัตภาพ หรือรูปกายที่แตกต่างไปจากเดิม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ผู้ที่ละทิ้งอัตภาพหนึ่ง แล้วไปสู่อีกอัตภาพหนึ่ง ก็เท่านั้นเอง

     ความตายจึงไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว
     คนที่กลัวความตาย เพราะมีห่วงหน้า ห่วงหลัง

     ห่วงหลัง คือห่วงหรือกังวลว่า ผู้ที่ยังไม่ตายหรือญาติเราเป็นต้นว่า บุตร ภรรยา สามี พ่อ แม่ พี่ น้อง  ฯลฯ จะอยู่อย่างไร เพราะความไม่รู้อนาคต

     ห่วงหน้า คือห่วงหรือกังวลว่า ตายแล้วจะไปเกิดในโลกใด เพราะความไม่รู้คติหรือทางไปของตน

     ที่กลัว เพราะ กลัวว่าตนจะไปเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นดิรัจฉาน

     แต่หากเรา ไม่ได้มีใจนรก ไม่มีใจเปรต ไม่มีใจดิรัจฉาน ก็ไม่จำเป็นต้องกลัว

     ดังนั้น เราควรละทิ้ง ควรกำจัดใจนรก ใจเปรต ใจดิรัจฉาน และควรสร้าง รักษา ใจมนุษย์ ใจเทพ ใจพรหม

     นักท่องเที่ยวระหว่างโลก ๓ เรียกว่า “สัมภเวสี”  คือผู้ที่ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่
     ผู้ที่ยังข้องอยู่ในโลก ๓  เรียกว่า “สัตว์”  คือผู้ที่ยังออกจากโลก ๓ ไม่ได้
     ผู้ที่สิ้นชีวิต แต่ไม่ได้ไปโลก ๓ จึงไม่เรียกว่า “ตาย”  เรียกว่า “นิพพาน” แทน

     “นิพพาน” เป็นทางสายที่ ๗ อันเป็นจุดหมายปลายทางสุดท้าย ตามคำสอนของพระพุทธองค์


หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
เริ่มหัวข้อโดย: อาบัติ2535 ที่ 09 กุมภาพันธ์ 2550, 08:36:48
ว่าด้วยเรื่องศีล

     คำว่า ศีล นั้น หลาย ๆ ท่าน เกิดมา พอรู้ความ เข้าวัด ก็เริ่มได้ยินคำนี้กันแล้ว แต่อาจจะยังไม่รู้ ไม่เข้าใจอะไรมากนัก วันนี้ จึงขอนำมาพูดถึงสักเล็กน้อย (พอเป็นกระสายยา)

     ศีล แปลกันว่า ปกติ บ้าง ระเบียบทางกายวาจา บ้าง หมายถึง หากรักษาศีลได้ ก็จะทำให้การกระทำทางกาย วาจาซึ่งผู้อื่นรู้เห็นได้นั้น เป็นระเบียบ งดงาม เจริญตาเจริญใจผู้พบเห็น ว่างั้นเถอะ

     ศีล อีกความหมายหนึ่ง คือ ระเบียบวินัยที่กำหนดขึ้นให้ยึดถือปฏิบัติ เพื่อความเป็นระเบียบและความงามแห่งหมู่คณะนั่นเอง

    ศีล ๕ (ทุกท่านคงทราบดีอยู่แล้วว่ามีอะไรบ้าง) เป็นข้อปฏิบัติพื้นฐาน เพื่อความงามแห่งความเป็นมนุษย์ เพื่อความเป็นระเบียบแห่งสังคมมนุษย์
     ศีล ๘  เป็นข้อปฏิบัติ เพื่อความเป็นระเบียบและความงามแห่งหมู่คณะชีพราหมณ์ และแม่ชี
     ศีล ๑๐ เป็นข้อปฏิบัติ เพื่อความเป็นระเบียบและความงามแห่งหมู่คณะสามเณร
     ศีล ๒๒๗ เป็นข้อปฏิบัติ เพื่อความเป็นระเบียบและความงามแห่งภิกษุสงฆ์  เป็นต้น

     การกำหนดบัญญัติศีล วัตถุประสงค์หลักก็เพื่อ ให้เกิดความงาม ความเป็นระเบียบในสังคมนั้น ๆ สิ่งที่คนทั้งหลายไม่ชอบ เห็นแล้วไม่เจริญตา ไม่เจริญใจ ก็คือ ความไม่ดี โดยเฉพาะสิ่งที่ไม่ดีนั้นมากระทบกับตนเอง จากการกระทำของผู้อื่น จึงต้องบัญญัติศีลเพื่อควบคุม ไม่ให้มีการทำไม่ดีนั้น พื้นฐานแล้ว ก็มี ๕ ข้อ เท่านั้น (แต่ปัจจุบันนี้ แม้บัญญัติกฎหมายขึ้นมามากเท่าไหร่ ก็ไม่สามารถควบคุมไม่ให้คนทำสิ่งไม่ดีได้)

     ความสำคัญ จริง ๆ แล้ว ไม่ได้อยู่ที่ว่า จะมีศีลกี่ข้อ มีวินัยกี่ข้อ มีกฎหมายกี่ข้อหรอกนะ สำคัญอยู่ที่ผู้รักษา(ผู้ปฏิบัติ) ต่างหาก

     ศีล ของคนทั่ว ๆ ไป มีเป้าหมาย เพื่อควบคุมพฤติกรรมทางกาย วาจา
     แต่ศีลของผู้ประพฤติธรรม ปฏิบัติธรรม มีเป้าหมาย เพื่อควบคุมพฤติกรรมทางใจ

     ดังนั้น ศีล ของผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม จึงมีเพียงข้อเดียวเท่านั้น คือ การรักษาใจ  
     การรักษาศีล สำหรับผู้ประพฤติธรรม จึงหมายถึงการรักษาใจของตน ให้เป็นระเบียบ ให้งาม ให้เบิกบาน อยู่เสมอ

     หากสามารถควบคุม รักษาพฤติกรรมทางใจได้ พฤติกรรมทางกาย ทางวาจา ก็จะเป็นระเบียบ และงดงามตามไปด้วย  เพราะการกระทำทุกอย่าง เกิดจากใจ ใจเป็นผู้พาทำทั้งสิ้น

     อย่าเพิ่งคิดว่า การรักษาใจ เป็นสิ่งที่ทำยาก การรักษาใจให้สมบูรณ์เพียบพร้อม ทำได้ยากก็จริง แต่การรักษาใจในระดับใจมนุษย์ ใจเทวดา นั้น ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปสำหรับมนุษย์ เราเองก็เกิดเป็นมนุษย์อยู่แล้ว ควรที่จะรักษาใจของตนให้มีพฤติกรรมเหมือนใจมนุษย์ด้วย

     วันนี้ เราดูใจตนเองแล้วหรือยัง สำรวจใจตนเองแล้วหรือยัง หากยัง ก็จงสังเกตดู และพยายามรู้ใจตนเองนะว่า เป็นระเบียบดีหรือเปล่า งดงามหรือเปล่า ในระดับต้น ๆ นี้ ขอเพียงรับรู้สภาพใจก็พอ แค่รู้ก็พอ แต่ให้รู้บ่อย ๆ สังเกตให้บ่อย ๆ

     การรักษาใจ คือการรักษาศีลอันเยี่ยมยอด
     ใจเป็นระเบียบ กาย วาจา ก็เป็นระเบียบ


หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
เริ่มหัวข้อโดย: สมชาย17 ที่ 09 กุมภาพันธ์ 2550, 13:44:42
บทความ ว่าด้วยศีล ของน้องอาบัติ เยี่ยม มากเลยครับ


หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
เริ่มหัวข้อโดย: สมชาย17 ที่ 09 กุมภาพันธ์ 2550, 14:56:08
ขอเสริมด้วยภาพ และข้อคิดของหลวงพ่อ


หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
เริ่มหัวข้อโดย: อาบัติ2535 ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2550, 08:43:19
ว่าด้วยการไปวัด

     พอพูดว่า “ไปวัด” “เข้าวัด” ทุกท่านก็คงเข้าใจความหมายตรงตัวดีอยู่แล้ว ว่าหมายถึงสิ่งใด หมายถึงไปไหน..

     แล้วทำไม สถานที่เช่นนั้น เขาถึงเรียกกันว่า “วัด” ล่ะ ?... คำถามนี้ ขอไม่อธิบายตรง ๆ นะ แต่จะอธิบายถึงคำว่า “วัด” ในอีกความหมายหนึ่งให้ฟังก็แล้วกันนะ

     “วัด” เป็นคำกิริยา แปลว่า..แปลว่าอะไรดีล่ะ ..นึกไม่ออก... ก็แปลว่า วัด นั่นแหละ เช่นเอาไม้บรรทัด เอาตลับเมตร เอาสายวัด มาวัดนั่นแหละ (ไม่ใช่เอามาวัด(อาราม) แล้วถวายพระนะ)... เอ...พูดใหม่ดีกว่า เช่นการวัดระยะ ด้วยไม้บรรทัด ตลับเมตร และสายวัด เป็นต้น... วัดน้ำหนัก วัดความดัง วัดความเข้ม ฯลฯ (ไม่ใช่ชื่อวัด ชื่ออารามนะ เดี๋ยวจะพากันพูดต่อ เป็นวัดมหาธาตุ วัดโพธิ์ วัดพระแก้ว ...ไม่ใช่นะคร้าบ)

     แต่นั่น เป็นการวัดในสิ่งที่รู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ คือตา หู จมูก ลิ้น และกาย

     “วัด” ที่จะอธิบายในที่นี้เป็นการวัดทางใจ เป็นการวัดด้วยใจ คือวัดอารมณ์หรือสภาวะที่เกิดกับใจเรา ด้วยใจเราเอง วัดเพื่อตรวจสอบว่า ขณะนี้ ใจเรากินอารมณ์อะไรอยู่ เสพสภาวะอะไรอยู่ พูดง่าย ๆ คือ รู้สึกอย่างไร นั่นแหละ

     การวัดสำหรับผู้ใหม่ที่ยังไม่คุ้นกับการวัด ที่ยังใช้เครื่องมือสำหรับวัดไม่ค่อยถนัด ต้องเริ่มจากสเกลกว้าง ๆ หยาบ ๆ ก่อน เช่น เป็นวา ... ศอก ... คืบ ...

     การวัดใจ สำหรับผู้ใหม่ ที่ยังไม่คุ้นกับการวัดใจ ที่ยังใช้เครื่องมือวัดใจไม่ค่อยถนัด ก็เช่นกัน ต้องเริ่มจากสเกลหยาบ ๆ กว้าง ๆ ก่อน ลองฝึกวัดใจตัวเอง วัดความรู้สึกตัวเองกันดูนะ ...เช่น

     เมื่อเห็นวัว ควาย หมู เป็นต้น กำลังรอคอยการถูกฆ่า ยืนตาเปียกแฉะอยู่นั้น ลองมองดูนัยน์ตามัน ลองสบตามัน แล้วสำรวจใจตัวเองซิว่า รู้สึกอย่างไร รู้สึกสงสาร หรือว่า อ้วนพีดีน่าอร่อย เป็นตาแซบ  จงรีบ ๆ ตายซะ...
     เข้าตลาดสด มองดูตาปลา ปู กุ้ง เป็นต้น ที่นอนรอความตาย ตาละห้อย รู้สึกอย่างไร น่าสงสาร หรือน่าอร่อยเป็นตาแซบ...
     ไปโรงพยาบาล ห้องฉุกเฉิน เห็นคนบาดเจ็บร้องครวญครางโอดโอย รู้สึกอย่างไร สงสาร สลดใจ รังเกียจ รำคาญ หรือเฉย ๆ...
     เห็นคนกำลังลำบาก... คนแก่... คนเจ็บ... คนตาย.. คนพิการ... ฯลฯ  รู้สึกอย่างไร
     เห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม แล้วรู้สึกอย่างไร
     ได้ยินเสียงดังหนวกหู ได้ยินคำพูดไม่ดีระคายหู ฯลฯ รู้สึกอย่างไร รำคาญ ไม่พอใจ หงุดหงิด ตลก หรือเฉย ๆ
     ได้ยินเสียงที่ไพเราะ ได้ยินคำพูดหวานหู ฯลฯ รู้สึกอย่างไร
     ได้กลิ่นเหม็น กลิ่นฉุน กลิ่นหอม ฯลฯ รู้สึกอย่างไร รำคาญ ไม่พอใจ หงุดหงิด ชอบใจ ดีใจ ตลก หรือเฉย ๆ
     ได้ลิ้มรส หวาน มัน เค็ม เผ็ด จืด ฯลฯ รู้สึกอย่างไร ไม่พอใจ หงุดหงิด ชอบใจ ดีใจ ตลก หรือเฉย ๆ
     ได้สัมผัสกับของแข็ง ของนุ่มนิ่ม ของร้อน ของเย็น ฯลฯ ตากแดด ตากฝน โต้ลมหนาว ฯลฯ รู้สึกอย่างไร
     รำพึงถึงเรื่องราวเก่า ๆ คิดถึงเรื่องอดีต คิดถึงเรื่องอนาคต ฯลฯ รู้สึกอย่างไร

     นี่เป็นสถานการณ์สำหรับการวัดใจตนเองคร่าว ๆ ซึ่งเหตุการณ์ต่าง ๆ สถานการณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น ทุกคนต้องประสบพบเจออยู่ทุกวัน ๆ พบเจอแล้ว เรารู้สึกอย่างไร ลองสังเกตใจ สังเกตความรู้สึกตนเองดูนะ เอาแค่รู้ว่าตนรู้สึกอย่างไร ก็พอ รู้แล้วปล่อย รู้แล้ววาง แล้วใช้ใจรับรู้ความรู้สึกตัวต่อๆไป

     วัด อยู่ภายในตัวเราเองนี่แหละ เราสำรวจดูความรู้สึกตน รู้ความรู้สึกตน เมื่อใด  ก็ชื่อว่าเราได้เข้าวัดแล้ว เมื่อนั้น  

( รู้ความรู้สึก  เฉย ๆ นะ ไม่ใช่อมความรู้สึกไว้... ที่เรียกว่า รู้สักว่ารู้ นั่นแหละ )

     ดังนั้น การไปวัด การเข้าวัด (วัดใจ) ไม่จำเป็นต้องไปวัด(อาราม) ผู้วัดจิตวัดใจตน แม้ไม่ได้เข้าวัด(อาราม) ก็เรียกได้ว่า ผู้เข้าวัด เพราะไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน ทำอะไร (ยกเว้นหลับ) ก็สามารถจะวัดใจเราเองได้ ตรวจสอบความรู้สึกตนเองได้ สำรวจความรู้สึกตัวเองได้

     การวัดใจตนเองแบบนี้แหละ จึงจะเรียกได้ว่า ไปวัดแล้วถึงวัดจริง ๆ เข้าวัดแล้วถึงวัดจริง ๆ ไม่ใช่ไปวัดแล้วถึงแค่ศาลา เข้าวัดแล้วถึงแค่โบสถ์ ถึงแค่กุฏิ

     ไปวัดแล้วต้องวัดกันถึงจิตใจ เข้าวัดแล้วต้องวัดกันถึงจิตใจ
     เข้าวัดหนึ่งครั้ง ได้บุญหนึ่งครา รู้ความรู้สึกตนหนึ่งครั้ง ได้บุญหนึ่งครา
     รู้ความรู้สึกตนร้อยครั้ง เท่ากับเข้าวัดร้อยหน เท่ากับได้บุญร้อยครา
     ในวันหนึ่ง ๆ รู้ความรู้สึกตนมากเท่าไหร่ บ่อยเท่าไหร่ ก็ได้บุญ ได้กุศลมากเท่านั้น


หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
เริ่มหัวข้อโดย: สมชาย17 ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2550, 14:08:16
ว่าด้วยการไปวัด เยี่ยมมากครับ น้องอาบัติ
จะคอยตามบทความดีๆต่อไป นะครับ


หัวข้อ: น้องสมชายคะ
เริ่มหัวข้อโดย: prapasri AH ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2550, 20:36:27
พี่แอ๊ะไม่กล้าเข้าห้องนี้เลยค่ะ  :) แต่เห็นสมชาย17  :o จึงตามเข้ามา สาธุค่ะ :D

คืนนี้พี่แอ๊ะจะไปไหว้เจ้า ตรุษจีนค่ะ เป็นธรรมเนียมของชาวยโส ต้องไปไหว้ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง

ไหว้กันตอนดึกๆ จนสว่างค่ะ  เจ้าหน้าที่ร.พ จะไปจัดวางเครื่องไหว้  พอได้เวลา เที่ยงคืน ถึงตี1 ตีสอง หรือสาม เค้าก็จะปลุกพี่แอ๊ะกับพี่หาญให้ไปไหว้ เป็นอย่างนี้ทุกปีค่ะ

รุ่งเช้าก็จะนำเป็ดไก่ทั้งหลายมา มาทอด ผัด ทำกับข้าวให้พนักงานทานกันทั้งร.พ ค่ะ :lol:

แฮบปี้ตรุษจีนนะคะ :D

ซินเจีย ยู่อี่ ซินนี๊ฮวดไช้ นะจ๊ะ


หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
เริ่มหัวข้อโดย: สมชาย17 ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2550, 19:43:14
พี่แอ๊ะ ครับ
เข้ามาเถอะครับ บทความดีๆมีเยอะ  นอกจาก เรื่องทางเจ็ดสาย แล้วยังมี
มาฆะกับวาเลนไทน์  บะหมี่หนึ่งชาม ฝรั่งขี้นก เป็นต้น เข้ามาเถอะครับ


หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
เริ่มหัวข้อโดย: อาบัติ2535 ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2550, 15:31:28
ว่าด้วยการกรวดน้ำ

     หลาย ๆ คนคงเคยสงสัยว่า ทำไมต้องกรวดน้ำ กรวดน้ำเพื่ออะไร ไม่กรวดน้ำไม่ได้หรือ เป็นต้น

     การกรวดน้ำ มีมาตั้งแต่สมัยไหนก็ไม่อาจทราบได้ เอาเป็นว่า มีมานมนานก่อนพุทธกาลน่ะนะ ในสมัยก่อนนู้นเวลาเขาจะให้สิ่งของกันและกันโดยเฉพาะสิ่งของใหญ่ ๆ ยกขึ้นมอบให้ไม่ได้ ก็ต้องอาศัยสิ่งแทน หรือสัญลักษณ์แทนการให้สิ่งของนั้น ๆ และสิ่งแทนนั้นต้องเป็นสิ่งที่หาได้ง่ายด้วย

     น้ำ คนโบราณมักพกพาติดตัว ไว้เป็นน้ำดื่ม และน้ำก็หาได้ง่ายด้วย ดังนั้น คนโบราณจึงสมมติให้น้ำ เป็นสิ่งแทน หรือเป็นตัวแทนเมื่อจะให้สิ่งของใหญ่ ๆ ที่ยกไม่ไหว เรียกน้ำนี้ว่า “น้ำทักขิโณทก หรือ ทักษิโณทก”

     เช่น ตอนพระเวสสันดรพระราชทานช้างแก่พวกพราหมณ์ พระองค์ก็ไม่สามารถจะยกช้างขึ้นมอบได้ ก็เทน้ำลงในมือของพราหมณ์ เป็นสัญลักษณ์ว่า เราได้มอบช้างนี้ให้พวกท่านแล้ว

     แม้ในการถวายที่ดิน การถวายอารามสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ก็ทำนองเดียวกัน คือยกมอบให้ไม่ได้ ก็ใช้การเทน้ำลงมือผู้รับเช่นกัน

     หากเป็นปัจจุบัน อาจใช้สิ่งอื่นแทน เช่น การมอบรถ อาจใช้ลูกกุญแจรถ หรือป้ายทะเบียนรถ เป็นต้น การมอบบ้าน อาจใช้กระดาษโฉนดที่ดิน แทน เป็นต้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับยุคสมัยน่ะนะ

     เอาเป็นว่า สมัยโบราณ เขาใช้น้ำเป็นสัญลักษณ์ ก็แล้วกันนะ

     ดังนั้น การกรวดน้ำ เป็นการทำเพื่อเป็นสัญลักษณ์การมอบสิ่งของให้แก่ผู้รับ เป็นเรื่องของพิธีการ หรือการกระทำเพื่อสื่อความหมายที่ชัดเจนว่า “ข้าพเจ้า ให้ท่านแล้วนะ” อันเป็นสัญลักษณ์ที่มองเห็นได้ด้วยตา

     ทำไมคนโบราณ ไม่ใช้เพียงคำพูด เช่นว่า “ข้าพเจ้าขอมอบที่ดินผืนนี้ให้ท่าน”  เท่านั้นล่ะ ? เพราะก็เป็นการให้เหมือนกัน แค่พูดก็น่าจะพอ ?

     จริง ๆ แล้วการให้ การรับ มันก็จบอยู่แค่ ผู้ให้มีใจให้ แล้วมอบให้ และผู้รับได้รับเอาแล้ว แค่นั้นแหละ ถ้าถือตามธรรม ก็ไม่จำเป็นต้องมีการเทน้ำเป็นสัญลักษณ์อีก

     แต่เพื่อว่า การให้และการรับจะแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น มั่นคงยิ่งขึ้น คนโบราณจึงกำหนดให้มีการเทน้ำลงมือผู้รับด้วย ทำให้การทำกรรมคือการให้นั้น ประกอบด้วยหลักฐานทางกาย วาจา ใจ คือ ใจที่คิดให้ ๑ เสียงที่พูดออกไป ๑ น้ำที่เท ๑ ทั้งยังทำให้ผู้รับและผู้อื่นที่เป็นพยาน ได้ยินเสียงด้วย ได้เห็นกิริยาอาการมอบให้คือเทน้ำด้วย การให้และการรับจึงแน่นแฟ้นขึ้น มั่นคงขึ้น

     แม้ในปัจจุบัน ยังต้องมีหลักฐานเช่นกุญแจรถ (กระดาษ) โฉนดที่ดิน เป็นต้นเลย ก็เพื่อให้แน่นแฟ้นขึ้นนั่นแหละ

     วกเข้ามาเรื่องที่ว่า พอทำบุญแล้ว ทำไมต้องกรวดน้ำ

     การกรวดน้ำ ก็เพื่อเป็นการทำให้แน่นแฟ้นขึ้นเหมือนกันนั่นแหละ

     เรากรวดน้ำ เพื่ออะไร ? ก็เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศล ให้แก่ผีเปรตทั่วไป หรือผีเปรตที่เป็นญาติเรา ผีเจ้ากรรมนายเวร  รวมถึงสรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่เราต้องการจะแบ่งปันส่วนบุญให้ เป็นต้น นั่นแหละ

     และจริง ๆ แล้ว หากผู้รับ หรือผู้ที่เราอุทิศส่วนบุญให้ อยู่ในสถานะที่จะพึงได้รับแล้วล่ะก้อ แม้จะไม่กรวดน้ำ เขาก็ได้รับอยู่ดี แต่หากเขาไม่อยู่ในสถานะที่จะพึงได้รับ แม้เราจะกรวดน้ำ เขาก็ไม่ได้รับอยู่ดี

     หากเห็นว่าใจเราผู้อุทิศให้มีความแน่นแฟ้นดีอยู่แล้ว จะไม่กรวดน้ำ ก็ให้ผลทางใจเหมือนกัน
     เพราะการให้ส่วนบุญ สำเร็จได้ ด้วยใจมอบให้ ด้วยใจน้อมนึกมอบให้ ดังนั้น เมื่อใจเราน้อมนึกมอบให้แล้ว การให้ก็เป็นอันสำเร็จ การให้นั้นก็เป็นอันให้แล้วโดยสมบูรณ์ ความตระหนี่ได้ออกจากใจเราแล้ว

     แต่หากต้องการสร้างความแน่นแฟ้นมั่นคงแห่งการให้ ก็พึงกรวดน้ำด้วย พึงเปล่งวาจาอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลด้วย

     เพราะใจมอบให้  เป็นใจที่สลัดความตระหนี่ทิ้ง  วาจาที่เปล่งออกมาให้ตนและผู้อื่นได้ยิน เป็นสัจจะที่สำทับลงไปอีก น้ำที่เทลงดินให้ตนและผู้อื่นเห็น เป็นกิริยาทางกายที่สำทับลงไปอีก (ให้น้ำแก่ดินคือให้ทานแก่พระธรณี)

     น้ำที่จะเทลงไปนั้น จะเทที่ไหนก็ได้ ที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน

    ในการกรวดน้ำ ใจอุทิศแบ่งปันส่วนบุญส่วนกุศล เป็นประโยชน์แก่ตนในการชำระความตระหนี่ เป็นประโยชน์แก่ผีผู้ได้รับส่วนบุญ  เป็นการให้ทานน้ำแก่พวกสัตว์เล็ก ๆ มีมด และไส้เดือน เป็นต้น ทั้งยังทำให้ดินชุ่มชื้น เป็นประโยชน์แก่พืชต่าง ๆ อีกด้วย


หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
เริ่มหัวข้อโดย: Junphen Juntana ที่ 10 เมษายน 2550, 14:46:09
อ่านไปอ่านมา ถึงนึกขึ้นได้ว่า "อาบัติ 2535" คือ พี่บัติอักษรของเรานี่เอง บุรุษผู้บอกน้องๆ ว่า "พี่เป็นหนุ่มกรุงเทพฯจ้ะ" ซำเหมอๆ...บุรุษผู้ใส่ uniform พระมาสอบ, และบุรุษผู้มีนิวาสถานอยู่ซอย สรณคมน์ ถ.สรงประภา ดอนเมือง...

โอ้ พี่ท่านๆ ข้าดีใจยิ่งนัก:D


หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
เริ่มหัวข้อโดย: saratee14 ที่ 14 เมษายน 2550, 23:37:18


i just come by this house, it is very nice, educated and peaceful.





หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
เริ่มหัวข้อโดย: อาบัติ2535 ที่ 17 เมษายน 2550, 08:43:30
อ้างจาก: "Junphen Juntana"
อ่านไปอ่านมา ถึงนึกขึ้นได้ว่า "อาบัติ 2535" คือ พี่บัติอักษรของเรานี่เอง บุรุษผู้บอกน้องๆ ว่า "พี่เป็นหนุ่มกรุงเทพฯจ้ะ" ซำเหมอๆ...บุรุษผู้ใส่ uniform พระมาสอบ, และบุรุษผู้มีนิวาสถานอยู่ซอย สรณคมน์ ถ.สรงประภา ดอนเมือง...

โอ้ พี่ท่านๆ ข้าดีใจยิ่งนัก:D


ก่อนนี้ ก็เคยเจอน้องเพ็ญแถวๆ สรณคมน์อยู่นี่นา... แต่พักหลัง ย้ายนิวาสสถานไปไหนแล้วล่ะ.. ย้ายตามใครน้อ???


หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
เริ่มหัวข้อโดย: อาบัติ2535 ที่ 17 เมษายน 2550, 09:04:11
การทำบุญอุทิศส่วนกุศล

     หลาย ๆ คนอาจสงสัยว่า เอ๊ะ เมื่อเราทำบุญ หรือถวายสังฆทาน แล้วอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ผู้ที่ตายไปแล้วนั้น ผู้นั้น ๆ จะได้รับหรือไม่???

     คำตอบก็คือ มีทั้งได้รับและไม่ได้รับ ขออธิบายย่อ ๆ ว่า ผู้ที่จะได้รับส่วนบุญนั้น ต้องไปเกิดเป็นเปรตที่มีส่วนบุญเป็นอาหาร (หรือศัพท์วิชาการเรียกว่า ปรทัตตูปชีวีเปรต) เท่านั้น หากเขาไปเกิดเป็นอย่างอื่น จะไม่ได้รับ เพราะว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมมีอาหารเป็นของเฉพาะตน มนุษย์ย่อมกินอาหารแบบหนึ่ง สัตว์ดิรัจฉานกินอีกแบบหนึ่ง เทวดา กินอีกแบบหนึ่ง เปรตกินอีกแบบหนึ่ง สัตว์นรกกินอีกแบบหนึ่ง ไม่เหมือนกันเลย เอาง่าย ๆ ดูแค่คนด้วยกันเองเถิด บางคนกินงู บางคนไม่กินงู หากเอางูไปให้ผู้ที่ไม่กินงูกิน เขาย่อมไม่กิน (ที่ไม่กินเพราะขี้เดียด) คือ อาหารของใครก็ของมันน่ะนะ

     ขอยกตัวอย่างง่าย ๆ นะ สมมติว่ายายเม้าตายไปเกิดเป็นเปรตชนิดที่กินสิ่งของที่คนอุทิศให้ (ปรทัตตูปชีวีเปรต)

     หากญาติทำบุญกับพระธรรมดา(พระที่ไม่มีตาทิพย์..ไม่ใช่ผู้วิเศษว่างั้นเถอะ) โดยถวายข้าวเหนียวไก่ย่าง แล้วเปล่งวาจาอุทิศส่วนกุศลให้ยายเม้า พร้อมทั้งกรวดน้ำด้วย

     ในกรณีเช่นนี้ พระธรรมดานั้น ย่อมไม่สามารถนำส่วนบุญหรือข้าวเหนียวไก่ย่างอันเป็นมิติผี ไปให้ยายเม้าได้ เพราะพระเองก็มองไม่เห็นอาหารที่เป็นมิตินั้น ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ายายเม้าไปเกิดที่ไหน และมองไม่เห็นผียายเม้าเลย แต่กระนั้นก็ตาม ผียายเม้าก็ยังจะได้รับได้กินข้าวเหนียวไก่ย่างนั้น เนื่องเพราะญาติยายเม้า ได้เจาะจงชื่อยายเม้าแล้ว แม้พระธรรมดาจะทำหน้าที่ไม่ได้ ก็จะมีผู้วิเศษท่านอื่น เช่น ภูมเทวดา พระแม่ธรณี เป็นต้น ทำหน้าที่ประกาศข่าว ส่งข่าวหาผียายเม้า ให้ผียายเม้ามากินข้าวเหนียวไก่ย่างนั้นจนได้ (ของที่อุทิศให้โดยเปล่งวาจาสำทับชื่อลงไป หากเจ้าของชื่อเกิดเป็นเปรตจริงๆ เปรตตนอื่น จะไม่สามารถแตะต้องของนั้นได้ จึงไม่มีเปรตหน้าไหนจะแย่งชิงไปกินก่อนได้)

    การทำหน้าที่นี้นั้น เป็นการสร้างบุญ ได้บุญ ผู้วิเศษเช่น ภูมเทวดา และพระธรณี เป็นต้น จึงกระทำด้วยความยินดี เต็มใจ (ที่สำคัญ เราต้องกรวดน้ำนะ)

     หากญาติทำบุญถวายข้าวเหนียวไก่ย่าง แก่พระผู้ได้ฌานที่มีอิทธิฤทธิ์ (มีตาทิพย์ หูทิพย์...) แล้วเปล่งวาจาอุทิศส่วนบุญให้ยายเม้า  พระผู้มีอิทธิฤทธิ์นั้น ก็จะนำข้าวเหนียวไก่ย่างมิติผีนั้น ไปให้แก่ยายเม้าได้โดยตรง เพราะมีตาทิพย์รู้ว่ายายเม้าอยู่ที่ไหน แต่ก็ให้ได้เพียงข้าวเหนียวไก่ย่างแบบเดียวกับที่ญาติอุทิศให้เท่านั้น แม้ยายเม้าจะอยากได้เสื้อผ้า หิวน้ำ เป็นต้น ท่านก็ให้ไม่ได้ (และท่านก็บอกญาติยายเม้าไม่ได้ด้วยว่า ยายเม้าอยากได้เสื้อผ้า ยายเม้าหิวน้ำ เพราะจะเป็นการอวดอ้างตนเองไป หรือคนอาจมองว่าท่านโลภมากอยากให้คนอื่นถวายของที่ตนอยากได้อยากฉัน)

     หากญาติยายเม้าทำบุญถวายข้าวเหนียวไก่ย่าง แก่พระอรหันต์ ผู้มีฤทธิ์โดยสมบูรณ์ แล้วอธิษฐาน หรือเปล่งวาจาอุทิศเจาะจงยายเม้า พระอรหันต์นั้น ก็จะนำข้าวเหนียวไก่ย่างมิติผีนั้น ไปให้แก่ผียายเม้า แต่จะดีวิเศษไปกว่าพระผู้ได้ฌานโลกีย์ ก็ตรงที่ หากผียายเม้าต้องการเสื้อผ้า หรือต้องการน้ำ ท่านก็สามารถจะอธิษฐานเนรมิต ข้าวเหนียวไก่ย่าง ให้เป็นเสื้อผ้า และน้ำได้ตามที่ยายเม้าต้องการ  ด้วยบุญฤทธิ์ของท่าน นี่เป็นความสามารถพิเศษของพระอรหันต์  (พระอรหันต์มีทั้งอิทธิฤทธิ์และบุญฤทธิ์)

     การอุทิศส่วนกุศล ต้องมีการเอ่ยชื่อ เจาะจงชื่อผู้รับด้วย ผู้ทำหน้าที่จึงจะส่งได้ถูก นอกจากนั้น การเอ่ยชื่อเจาะจงลงไปนั้น ก็เป็นการกำหนดตัวผู้จะรับด้วย นั่นคือ เปรตตนอื่นที่ไม่ใช่ผู้นั้นจะมาเอาไปไม่ได้ มาหยิบฉวยเอาไม่ได้ เนื่องจากของนั้นมีเจ้าของแล้ว สิ่งของใดก็ตามที่มีเจ้าของ และเจ้าของยังไม่ได้มอบให้ เปรตจะไม่สามารถใช้สอยหรือบริโภคได้เลย มันเป็นกรรมของเปรตน่ะนะ

     แต่หากเราแบ่งปันส่วนบุญ น้อมใจมอบให้แบบไม่เจาะจงชื่อผู้ใด ผีทั้งหลายที่อยู่บริเวณนั้น ๆ ก็จะได้กิน ได้ใช้ของเหล่านั้น (ตามแต่จะแย่งมาได้)

     อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผู้ที่เราตั้งใจจะอุทิศส่วนกุศลให้นั้น จะได้รับส่วนบุญหรือไม่ก็ตาม เราซึ่งเป็นผู้ทำบุญ ย่อมได้บุญแน่นอน เพราะบุญที่เกิดกับใจ เป็นภาวะเบิกบาน อิ่มเต็ม หากเราสังเกตจะเห็นได้ ก่อนเราจะถวายทาน ใจเราเบิกบาน ก็เกิดเป็นบุญ ขณะถวายทาน ใจเราเบิกบาน นั่นคือเกิดบุญ หลังถวายทาน เมื่อระลึกนึกถึงการทำบุญนั้น ใจเราเบิกบาน นั่นก็เกิดบุญ ทุกขณะที่เราเบิกบานใจ นั่นแหละ คือบุญเกิด และเราก็เสวยบุญไปด้วย นี่แหละ คือทำบุญแล้วได้บุญทันตา

     ที่สำคัญ ทำบุญแล้วอย่าเสียใจภายหลัง อย่าเสียดายภายหลัง ให้ภูมิใจกับการที่ได้เสียสละออกไป ให้สบายใจกับการทำบุญทุกครั้ง

เมื่อใจสบาย นั่นคือใจเสวยบุญ    ยิ่งเบิกบานใจ บุญยิ่งเกิด  
 
การรักษาใจให้เบิกบาน  คือการสร้างใจบุญ  ความสุขใจ ก็อยู่ที่ตรงนี้แหละ ไม่ได้อยู่ที่ไหนไกลเลย


     แต่หากยายเม้าตายไป เกิดใหม่เป็นสัตว์นรกที่มีกรรมเป็นอาหาร เป็นเปรตชนิดอื่นที่มีกรรมและความหิวโหยเป็นอาหาร เป็นดิรัจฉาน เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา  หรือเป็นพรหม

     แม้ญาติจะทำบุญข้าวเหนียวไก่ย่างกับพระอรหันต์ก็ตาม ยายเม้าก็จะไม่ได้รับ ไม่ได้บริโภคข้าวเหนียวไก่ย่างมิติผีนั้น เพราะอาหารของใครก็ของมัน เป็นมนุษย์จะไปกินของผีก็ไม่ได้

     ข้าวเหนียวไก่ย่างมิติผีนั้น ก็จะตกเป็นของผีตนอื่น ๆ ที่เคยเป็นญาติของเราในอดีต สรุปว่า ข้าวเหนียวไก่ย่างไม่กองวางอยู่เฉย ๆ แน่นอน เป็นประโยชน์แก่ผีแน่นอน

     แต่ยายเม้า จะได้รับบุญทางใจ เป็นความสุขทางใจอันเกิดจากกระแสจิตให้ หรือกระแสจิตเมตตาของหมู่ญาติที่แผ่มาถึง ทำให้ช่วงนั้น เวลานั้น เกิดความรู้สึกสบายใจ ซึ่งสิ่งที่รับได้นั้น เป็นเพียงนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรมที่จะพึงบริโภคได้ (แต่หากทรมานมาก ทุกข์มาก เช่นเป็นเปรตบางจำพวก หรือตกนรก เป็นต้น ใจอาจจะสัมผัสรับเอาความสุขไม่ได้ เหมือนเติมน้ำตาลหนึ่งหยิบลงในเกลือหนึ่งจานย่อมไม่รู้ถึงความหวานแห่งน้ำตาล)  ซึ่งหาก เราทำบุญกับผู้มีฤทธิ์ ท่านก็จะนำข่าวบุญ ไปบอกแก่ยายเม้าที่อยู่นรก เปรต เทวดา ให้ยายเม้าอนุโมทนาบุญกุศล ยายเม้าก็จะได้บุญจากการอนุโมทนานั้น

     พึงเข้าใจว่า แม้ยายเม้าจะไปเกิดใหม่ที่ไหนก็ตาม เราทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ ก็จะมีทั้งได้รับสิ่งของนั้น มีทั้งรับได้เฉพาะบุญทางใจ แล้วแต่กรณีตามที่อธิบายไปแล้ว แต่การที่จะให้ยายเม้าไปผุดไปเกิดนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับส่วนบุญที่เราอุทิศให้หรอกนะ มันขึ้นอยู่กับกรรมของยายเม้าเอง ขึ้นอยู่กับใจของยายเม้าเองว่าจะยอมปลดปล่อยใจเปรต ใจผี ออกไปหรือไม่ เพราะโดยมากมันปล่อยยาก ลืมยาก ใครล่ะจะอยากตาย การละอัตภาพผีไปเป็นอย่างอื่น มันก็คือการตาย เราผู้เป็นมนุษย์เข้าใจชัดว่าเป็นผีมันทุกข์ อยากให้เขาละความเป็นผีมาเป็นมนุษย์เหมือนเรา เอาเข้าจริง ๆ แล้ว ผีทำไม่ได้หรอก เขายึดติดใจผีอยู่ แม้จะทุกข์เขาก็ยอมทุกข์ ยอมเป็นผีต่อไปจนกว่าจะหมดกรรม หรือสิ้นอายุขัยของตนนั่นแหละ ใครล่ะจะอยากตาย ผีก็ไม่อยากตายนะ

     มนุษย์เราเองเหมือนกัน หากเทวดามองลงมา ก็คงอยากให้เราละความเป็นมนุษย์แล้วไปเป็นเทวดา เหมือนกันนั่นแหละ แม้จะอธิบายว่าเป็นมนุษย์มันทุกข์ เป็นเทวดาสบาย เราฟังแล้ว เรากล้าตายหรือ เราก็ยังต้องทนทุกข์ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุขัยนั่นแหละ พวกผีก็เหมือนกัน ดังนั้น เราก็ทำได้แค่ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ ให้พวกเขาได้บริโภคเป็นครั้งคราว อนุโมทนาเป็นครั้งคราว (แต่ถ้าทำได้ทุกวัน เป็นประจำสม่ำเสมอ ก็ดีมาก)

     การทำบุญให้ผู้ที่ยังไม่ตาย โดยมากมักเกิดจากสาเหตุที่ผู้นั้น ๆ ซึ่งเป็นผู้ที่เรารัก เมตตา สงสาร ไม่ค่อยใส่ใจในการบุญการกุศล หรือไม่มีโอกาสทำบุญ เราเลยอยากให้ผู้นั้นได้บุญ จึงทำบุญอุทิศส่วนบุญนั้นให้

     ซึ่งการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ยังไม่ตาย (ไม่ใช่แช่งให้ตายนะ) นั้น เขาจะได้รับส่วนบุญในส่วนที่เป็นความสุขทางใจ และเกิดบุญเพิ่ม เมื่อ ได้ยิน ได้ฟัง ได้รับรู้ถึงการทำบุญนั้น แล้วมีใจพลอยยินดี มีใจเห็นด้วยกับการทำบุญนั้น ไม่รังเกียจการทำบุญนั้น ซึ่งรวมเรียกว่า มีใจอนุโมทนา นั่นเอง สำคัญเมื่อรับทราบแล้ว เขาต้องเห็นว่า ดีแล้ว ดีคัก ดีแท้ ๆ แค่รู้สึกอย่างนี้แหละคือการได้บุญแล้ว

      นั่นคือ ไม่สามารถจะได้รับส่วนบุญที่เป็นข้าวของแบบเดียวกับที่คนทำบุญอุทิศให้  แต่ได้รับในลักษณะ สุขใจ และรับรู้แล้วอนุโมทนา

        วิธีอีกอย่างหนึ่งในการทำบุญเผื่อผู้ที่เรารัก เมตตา สงสาร ก็คือ เราทำบุญไปก่อน แล้วมาเล่าให้ผู้นั้นๆ ฟัง เช่นว่า “เมื่อวานเราทำบุญไป ๑๐๐ บาท เรายกบุญให้เธอหมดเลย ..เรายกบุญให้เธอครึ่งหนึ่ง”  “เมื่อวาน พี่ไปถวายสังฆทานมา ได้ทำบุญเผื่อน้องด้วย ...”  นั่นคือ ใช้ทรัพย์ ใช้เวลาของเราทำบุญเพื่อผู้อื่น จะว่าเป็นการยัดเยียดบุญก็ไม่ผิด เมื่อผู้นั้นได้รู้ ได้ฟัง แล้วยินดีด้วย ยอมรับเอาบุญนั้น ผู้นั้นก็ได้บุญแล้ว

     แต่ถ้าอยากให้เขาได้รับส่วนที่เป็นข้าวของ ก็ไม่ยากเลย แค่เอาของนั้น ๆ ไปมอบให้เขา เขาก็ได้รับแล้ว

     การมอบข้าวของแก่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ผู้ให้ก็ให้ได้ด้วยมือตน ทั้งรู้และเห็นว่าผู้รับรับเอาแล้ว ผู้ให้ก็เกิดบุญ ผู้รับดีใจก็เกิดบุญ การเกื้อกูลกันและกันในชาตินี้นี่แหละ เห็นผลทันตา เห็นบุญทันตา

     อย่ามัวรีรอให้ท่านตายก่อน แล้วค่อยทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้เลย

     เราทั้งหลายเมื่อเข้าใจชัดว่า ตายไปแล้วหากเกิดเป็นเปรต ก็ยากที่จะมีคนทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ ยากจะได้รับส่วนบุญที่ญาติจะมาอุทิศให้  จึงไม่ควรคิดว่า ไม่เป็นไร เรายังไม่จำเป็นต้องทำบุญ เพราะหากเราตายแล้ว ลูก ๆ คงทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้..  พ่อแม่คงทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้..  อย่าคิดเช่นนั้นแล้วรีรอการทำบุญ นะ  

     มีโอกาสเมื่อใด ควรทำทันที  อย่าหวังพึ่งบุญของคนอื่น ควรสร้างบุญเอง ด้วยตัวเราเอง


หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
เริ่มหัวข้อโดย: Junphen Juntana ที่ 18 เมษายน 2550, 11:56:15
พี่บัติ หนุ่มกรุงเทพฯ เจ้าขา

แม้จะตัวดำ แต่ชีวิตเพ็ญกลับคล้ายผีตองเหลือง ย้ายที่อยู่ไปบ่อยๆ เรื่อยๆ

เพ็ญชอบทำอาหารมากๆ ตลาดฝั่งโขงที่ดอนเมืองของไม่ระห่ำฉ่ำใจ ก็เลยต้องมาอยู่สะพานใหม่ แล้วไปช็อปที่ตลาดยิ่งเจริญ

ช็อปฉ่ำปอด กินฉ่ำใจเลยค่ะพี่ :D


หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
เริ่มหัวข้อโดย: อาบัติ2535 ที่ 25 เมษายน 2550, 09:39:08
ว่าด้วยเรื่องตัณหา

     คำว่า “ตัณหา” แปลง่าย ๆ ว่า ความอยาก หรือแปลแรง ๆ ว่า ความทะยานอยาก เราท่านทั้งหลายที่ต้องทุกข์อยู่ทุกวันนี้ ก็เนื่องเพราะเจ้าตัว “ตัณหา” นี่แหละ ที่เราท่านทั้งหลายยังต้องเวียนว่าย ตายเกิดอยู่ ก็เพราะ “ตัณหา” นี่แหละ   แต่ตัณหา มิใช่จะมีผลเสียอย่างเดียว ตัณหา ก็เป็นตัวนำพาให้คนเราได้เกิดเป็นมนุษย์ ได้เกิดเป็นเทวดา ได้เกิดเป็นพรหม และได้ถึงพระนิพพาน ตัณหา จึงมีทั้งคุณและโทษ ขึ้นอยู่กับผู้นำมันมาใช้

     ดังนั้น เพื่อไม่ให้ตัณหาเกิดโทษ หรือนำเราลงสู่ที่ต่ำ จึงต้องเรียนรู้ตัณหา รู้จักตัณหา สักหน่อย  ดังที่บอกแล้วว่า ตัณหา คือความอยาก การอยากได้ของของคนอื่นก็จัดเป็นตัณหา หากอยากได้แล้ว พยายามให้ได้ของนั้นมาโดยทุจริต ก็จัดเป็นบาป ซึ่งความอยากในทางต่ำ ในทางไม่ดี เป็นสิ่งที่ควรเลี่ยง

     ความอยากที่ให้เกิดกุศล เช่น อยากเกิดเป็นมนุษย์  แล้วพยายามเรียนรู้วิธีการเพื่อความเกิดเป็นมนุษย์ และปฏิบัติตามวิธีการเหล่านั้น อยากเกิดเป็นเทวดา อยากเป็นคนดี อยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ อยากบรรลุนิพพาน เป็นต้น ซึ่งความอยากเหล่านี้ เป็นความอยากที่นำพาเราไปสู่การประพฤติดีปฏิบัติชอบ เป็นทางกุศล

     แต่ความอยาก ก็เป็นมูลเหตุให้เราเวียนว่ายตายเกิด แม้จะเกิดในภพภูมิดี ๆ ก็ตาม ความอยากเป็นยางเหนียวยึดเราไว้ไม่ให้ออกจากภพ บางชาติ เราอาจเกิดในภพดี ๆ การที่มีตัณหาอยู่ หากไม่ได้รับคำชี้แนะที่ถูกต้อง ตัณหานั้น อาจถูกย้อมด้วยกิเลสคือ โลภะ โทสะ โมหะ ซ้ำเข้าไปอีก ทำให้กลายเป็นความอยากในทางต่ำ นำพาเราทำสิ่งที่ไม่ดี จนต้องไปเกิดในภพภูมิที่ต่ำลง กว่าจะเงยหัว เงยคอได้ ก็ต้องอีกนาน แสนนาน เพราะการเวียนว่ายตายเกิด ไม่แน่นอนนี่เอง พระพุทธองค์ จึงทรงชี้แนะให้เราเกิดความเบื่อหน่ายในการเวียนว่ายตายเกิด และให้ละตัณหาให้ได้ในที่สุด โดยวิถีทางคือวิปัสสนา นั่นเอง


ตัณหา ทำให้ทุกข์ได้อย่างไร

     คราวนี้มาถึงคำถามที่ว่า ตัณหา ทำให้เกิดทุกข์ได้อย่างไร คนเราเป็นทุกข์เพราะเมื่อความอยากเกิดขึ้นแล้ว ไม่ได้สมอยาก

ตัณหา คือความอยาก แจกแจงย่อ ๆ ได้ ๓ ประการ คือ
    ๑.เมื่อเราไม่มี หรือขาดสิ่งบางอย่างที่จะพึงอำนวยความสุขให้ตนได้โดยที่สิ่งนั้นจะเป็นของจำเป็นจริงๆ หรือไม่จำเป็นก็ตาม  ความอยากได้ อยากมีสิ่งเหล่านั้น จัดเป็นตัณหาหรือความอยากอย่างหนึ่ง คือ อยากมี อยากได้ อยากเป็น
      เช่น เราไม่มีมือถือ คิดว่าหากมีมือถือจะ.......เอาเป็นว่ามีมือถือแล้วจะมีความสุขน่ะนะ... เกิดความอยากได้ แต่ยังไม่มีตังค์ซื้อ เกิดความอยากซ้อนขึ้นมา ว่าอยากมีตังค์ ในช่วงที่ยังไม่มีตังค์ ไม่มีมือถือ หากเราระงับความอยากนั้นไม่ได้ ก็จะเกิดทุกข์ใจตามมา ทุกข์เพราะไม่ได้สมอยาก นั่นเอง  เป็นต้น

    ๒.เมื่อเรากำลังมีความสุข มีหรือได้สิ่งที่น่าใคร่น่าพอใจ มีหรือได้สิ่งที่ตนพึงพอใจ ความอยากที่จะให้สิ่งเหล่านั้นคงอยู่กับตนไปนาน ๆ หรือตลอดไป จัดเป็นตัณหาหรือความอยากอย่างหนึ่ง คือ อยากให้สิ่งที่ดีดีคงอยู่
       เช่น เราได้มือถือที่เราอยากได้แล้ว มีความสุขจากการมีนั้นแล้ว อยู่มาวันหนึ่ง มือถือนั้นหายไปอาจจะโดนขโมยหรือลืมเองก็ตาม เอาเป็นว่าเราไม่อยากให้มันหาย เราอยากให้มันอยู่กับเราไปนานๆ (จนกว่าจะเบื่อ) เมื่อมันหายไป เราก็ทุกข์ ทุกข์เพราะไม่ได้สมอยาก นั่นเอง เป็นต้น

    ๓.เมื่อพบ มี หรือได้สิ่งที่ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ ก็อยากให้สิ่งนั้นหายไป อยากให้ไม่ต้องพบ ไม่ต้องมีสิ่งนั้น บุคคลนั้น เป็นต้น  นี้จัดเป็นตัณหาอย่างหนึ่ง คือ อยากให้ไม่มี อยากให้หายไป
       เช่น เมื่อพบคนตื้อ แต่เราไม่ชอบเขา อยากให้เขาไม่มาจีบเราอีก แต่เขาก็ยังตื้ออยู่ เราก็ทุกข์ ทุกข์เพราะอยากให้ไม่พบเขา ไม่ต้องเจอการตื้อของเขา แต่มันไม่เป็นไปตามความอยาก ความต้องการของเรา[/list]

         สรุปแล้ว ตัณหาคือความอยาก อยากได้แล้วไม่ได้ อยากมีแล้วไม่มี อยากเป็นแล้วไม่ได้เป็น อยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้แล้วไม่เป็นไปตามนั้น  นี้นี่แล เป็นมูลแห่งทุกข์ ดังพรรณนามาฉะนี้

         แต่ว่า ความจริงแล้ว ตัณหา มันก็มีอยู่ของมัน เกิดขึ้นของมัน ดับไปของมันเองอยู่แล้ว หากเราไม่เข้าไปยึดถือ ไม่เข้าไปหอบไว้ ไม่เก็บมันไว้ มันก็แค่ผ่านมา ผ่านไป เท่านั้น ความทุกข์ก็ไม่เกิดขึ้น นั่นคือ เมื่อตัณหาเกิดขึ้นแล้วต่อมา มีอีกตัวหนึ่งที่เรียกว่าความยึดถือ หรือภาษาธรรมเรียกว่า “อุปาทาน”   อุปาทาน นี่แหละ สำคัญนัก เป็นตัวทำให้เราปล่อยวางไม่ลง ลืมไม่ลง [/size]


    หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
    เริ่มหัวข้อโดย: อาบัติ2535 ที่ 15 พฤษภาคม 2550, 12:55:15
    แค่ยอมรับได้ก็ไม่ทุกข์ใจแล้ว

         คนเราทุกคนเกิดมาย่อมมีทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ทุกคนรู้ว่าความทุกข์เป็นยังไง จึงไม่มีใครอยากมีทุกข์ จริงมั๊ย กระนั้นก็ตาม ในความเป็นจริงมันเป็นไปไม่ได้ดอกสำหรับคนธรรมดาอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ น่ะ

         ทุกข์ เช่น หนาวก็ทุกข์ ร้อนก็ทุกข์ ปวดท้องก็ทุกข์ เจ็บขาก็ทุกข์ เป็นต้น เป็นทุกข์อันเนื่องด้วยกาย

         ทุกข์ เช่น ไม่ได้เห็นหน้าแฟนแล้วทุกข์ ญาติมีอันเป็นไปแล้วทุกข์ ของหายเสียดายแล้วทุกข์ ถูกด่าแล้วทุกข์ เป็นต้น เหล่านี้เป็นทุกข์อันเนื่องด้วยใจ

         ดังอธิบายไว้ก่อนหน้านี้ว่า จริง ๆ แล้วมันเกิดจากตัณหานั่นน่ะ ถูกเผงทีเดียว

         พระพุทธองค์ทรงสอนว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่ควรทำความรู้จัก สมุทัย หรือเหตุแห่งทุกข์ เป็นสิ่งที่ควรละ ดังนั้นเมื่อเรากำลังเผชิญหน้ากับทุกข์ เราต้องไม่หนีทุกข์ ความทุกข์ที่มาหาน่ะมันเป็นธรรมะนะ มันไม่ได้มาร้ายนะ เราคิดร้ายกับมันเองต่างหาก มันมาดี แต่มันขี้เหร่ จึงไม่มีใครชอบ ทุกคนพอเจอมันก็อยากจะหนีมันให้สุดขอบฟ้าทีเดียว แต่ไอ้ทุกข์นี่มันก็หน้าด้านเป็นจอมตื้อจริง ๆ เนอะ ยิ่งหนีมัน มันก็ยิ่งมาหา... การพยายามหนีมันน่ะ เป็นการทำไม่ถูกนะ

         แล้วที่ถูกควรทำอย่างไร? ที่ถูกน่ะหรือ .. ก็ทุกข์เขามีของเขาประจำกับใจนี้มานานแล้ว จะไล่ไปง่าย ๆ ได้อย่างไร ต้องทำความรู้จักมัน ทักทายมัน คุยกับมัน จนกระทั่งใจเรายอมรับมัน เมื่อยอมรับมันได้มันไม่ทุกข์นะ แต่การยอมรับมันก็ใช่ว่าจะทำได้ง่าย ๆ

         จริง ๆ นะ หากยอมรับมันได้ มันไม่ทุกข์จริง ๆ สมมตินะ สมมติตาสานั่งรถเมล์แดงจากที่พักไปทำงาน ปกติใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง รถมันติดน่ะนะ แค่ใกล้ ๆ เอง ตาสาเจอสภาพแบบนี้ทุกวัน ยอมรับมันซะแล้ว ยอมรับมันได้ว่า ธรรมดามันก็เป็นแบบนี้ของมัน รถมันติดแบบนี้เป็นธรรมดา เลยไม่ทุกข์  แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่รู้จักมักจี่กับสภาวะแบบนี้มานั่งรถเมล์ไปกับตาสาสิ คนนั้นจะทุกข์ ทุกข์เพราะยอมรับสภาพนั้นไม่ได้   อีกตัวอย่างหนึ่งนะ คนเราพอเจอความหนาวระดับ 5 องศา จะรู้สึกหนาวมากยากทานทน จนเกิดทุกข์ขึ้น แต่กับบางคน หนาวเหมือนกันแต่กลับไม่ทุกข์ ที่ไม่ทุกข์เพราะใจมันยอมรับได้ ใจอยากไปยลโฉมความงามแห่งภูกระดึง อยากสัมผัสความหนาว เมื่อเจอความหนาวเข้า รู้สึกหนาวน่ะรู้สึกอยู่ แต่ใจไม่ทุกข์ ใจมันสนุกแทน ใจมันยอมรับได้ มันก็ไม่ทุกข์ ดูฝรั่งสิ นอนอาบแดดมีความสุขเฉย... การยอมรับได้นี่แหละ คือตัวแยกมาตรฐานแห่งความสุข ความทุกข์ที่ไม่เหมือนกันของแต่ละคนล่ะ

         บางคน แค่ ช่างตัดผม ตัดพลาดนิดหน่อย ตัดไม่ได้ดั่งใจ ก็ทุกข์ โมโห ในขณะที่บางคน ยอมรับได้ ช่างมัน ทรงไหนก็ได้ แล้วไม่ทุกข์ บางคนเข้าคิวรอนิดเดียวก็ทนไม่ได้ เป็นทุกข์ แต่บางคนยอมรอได้แม้เป็นคนสุดท้าย แล้วมาตรฐานความทุกข์ ความสุขของคนอยู่ตรงไหน หากจะว่ามาตรฐานกันจริง ๆ สามัญชนคนมีกิเลส ไม่มีมาตรฐานอันเดียวกัน ที่เสมอเหมือนกันหรอก มันอยู่ที่กิเลส อยู่ที่ทิฏฐิ อยู่ที่การยอมรับของแต่ละบุคคล

         เมื่อเผชิญกับทุกข์แล้ว หากเป็นคนทั่ว ๆ ไป จะแก้ทุกข์ หรือดับทุกข์ด้วยการไปดื่มเหล้าบ้าง เสพยากล่อมประสาทบ้าง ลักขโมยบ้าง ปล้นบ้าง ทำร้ายผู้อื่นบ้าง ทำร้ายตัวเองบ้าง เป็นต้น กระทั่งฆ่าตัวตายไปเลยเพื่อหนีทุกข์ก็มี การแก้ทุกข์หรือดับทุกข์ด้วยวิธีเป็นต้นเหล่านี้ ไม่ใช่การดับทุกข์จริง ๆ หรอก แต่เป็นการพักทุกข์บ้าง ทับถมทุกข์เดิมบ้าง หนีทุกข์บ้าง ซึ่งเดี๋ยวมันก็มาอีกเมื่อสร่างเมา ทุกข์ใหม่มาเมื่อถูกจับ ทุกข์ใหม่มาเมื่อบาดเจ็บ หรือตายไปเสวยทุกข์ต่อในภพต่อไป เป็นต้น เช่น ถูกแฟนทิ้ง ยอมรับไม่ได้กับเหตุการณ์นี้ ทุกข์ใจ ไปกินเหล้า มันก็คลายทุกข์ลงได้เฉพาะช่วงที่เมาจนไม่รู้สึกตัวเท่านั้น พอรู้สึกตัวขึ้นมาอีกเมื่อไหร่ ทุกข์ใจมันก็มาอีก อาจจะมีทุกข์อื่นเกิดตามมาเช่น เงินหมดเพราะกินเหล้า ถูกหัวหน้าด่าเพราะเมามาทำงาน เป็นต้น พูดง่าย ๆ คือ ยิ่งดิ้นยิ่งรัดแน่น ยิ่งดิ้นยิ่งทุกข์

         แต่สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมแล้ว เมื่อทุกข์ใจเกิดขึ้น จะเผชิญทุกข์ใจอย่างสง่าผ่าเผย ไม่ดิ้น ไม่หนี ไม่พยายามสลัดทิ้ง แต่ทำความรู้จักมัน เข้าใจมัน รู้ชัดว่า มันเป็นเรื่องธรรมดา เป็นสิ่งธรรมดาที่เกิดขึ้น เมื่อรู้ว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา ก็ยอมรับมันได้ พอยอมรับได้เท่านั้นแหละ มันหายไปเอง ที่หายไปเองน่ะคือความรู้สึกทุกข์ใจนะ เช่น หากเราอยู่กลางแดดร้อน ใจยอมรับความร้อนนั้นได้ ใจไม่ทุกข์ แต่ความรู้สึกร้อน(ซึ่งเป็นเวทนา)นั้น ยังมีอยู่ คือร้อนน่ะร้อน แต่ไม่ทุกข์ ถูกแฟนทิ้งยอมรับสภาพได้ ยอมรับในการตัดสินใจของแฟน ยอมรับในความสุขของแฟน ยอมรับในกฎแห่งกรรมที่ว่า “หากเป็นของของเราย่อมเป็นของเราอยู่ดี หากไม่ใช่ของของเรา เมื่อถึงเวลา ของนั้นก็ต้องจากเราไป” ขอให้ยอมรับได้เท่านั้นแหละ ก็ไม่ทุกข์ใจแล้ว

         ตัณหาหรือความอยากที่เป็นต้นตอแห่งทุกข์ เราทั้งหลายยังละไม่ได้ ก็ควรหันมารับมือกับทุกข์ด้วยวิธีการที่ถูกต้องแทน สิ่งไหนที่เป็นทุกข์ใจก็ขยายขอบเขตที่ยอมรับได้ออกไปให้กว้าง ให้ครอบคลุมถึงระดับทุกข์นั้น ๆ เพราะรู้อยู่แล้วนี่ว่า ยอมรับได้ก็ไม่ทุกข์ใจ

         กับผู้คนที่เราคบหา เราก็ไม่ควรพยายามไปเปลี่ยนแปลงเขา ให้เป็นอย่างที่เราต้องการ เราเพียงแค่ศึกษาเขา เข้าใจเขา และยอมรับเขา ในสิ่งที่เขาเป็น ก็พอ เพียงแค่เราปรับขยายขอบเขตแห่งทิฏฐิหรือความเห็นของเราให้กว้างครอบคลุมทิฏฐิของผู้อื่น ก็พอ นี่แหละคือวิธีการรับมือกับทุกข์ล่ะ

    ความเศร้าโศก ความเจ็บช้ำใจ เป็นต้น ทั้งมวล เกิดจากใจเราเอง
    ผู้อื่นสร้างให้เราได้แค่ปัญหา แต่สร้างทุกข์ใจให้เราไม่ได้
    เราเท่านั้นที่สร้างทุกข์ใจให้เราเองได้ เพราะทุกข์ใจมันเกิดจากใจเราเอง หายไปจากใจเราเอง
    ยอมรับมันได้ ก็ไม่ทุกข์ใจแล้ว


    หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
    เริ่มหัวข้อโดย: veekung ที่ 15 พฤษภาคม 2550, 15:57:07
    ยังอ่านไม่จบอ่ะครับพี่มาลงชื่อไว้ก่อน ทางที่ผมอธิษฐานไว้ไม่ว่าตอนกราบพระ และตอนทำบุญคือขอให้ได้เข้าสู่กระแสพระนิพพานในชาตินี้ ถึงแม้จะไม่ได้ในชาตินี้ก็ขอให้ได้ในชาติหน้าครับ (แต่ว่าไม่ค่อยได้ปฏิบัติเท่าไหร่ตอนนี้ไหลตามกิเลสตัวเองไปเรื่อย ๆ ครับ เฮ้อเมื่อไหร่จะถึงฝั่ง) :D


    หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
    เริ่มหัวข้อโดย: อาบัติ2535 ที่ 28 พฤษภาคม 2550, 13:41:32
    ว่าด้วยทิฏฐิ

         คำว่า “ทิฏฐิ” แปลว่า ความเห็น หมายถึง ความคิดเห็น ทัศนคติ หรือค่านิยม ทิฏฐิ เป็นความคิดเห็นที่เกิดจาก การตีค่า ประเมินค่า การตัดสินค่าของสิ่งต่าง ๆ ที่เราได้ประสพ ได้เห็น ได้ยิน ได้ลิ้มรส ได้กลิ่น ได้ถูกต้องสัมผัส ฯลฯ ว่า ดี ไม่ดี สวย ไม่สวย ถูก ผิด เป็นต้น ความคิดเห็นของเราทุกอย่าง ผ่านการตีค่า ประเมินค่า แล้วทั้งนั้น

         ทิฏฐิ หรือความเห็นนั้น ตราบใดที่เรายังมีสังขารขันธ์หรือความคิดนึกอยู่ มันก็ยังจะเกิดขึ้นอยู่ได้ตราบนั้น

         ทิฏฐิ ที่เกิดขึ้นนั้น หากไม่มีอุปาทานมาหอบยึดถือเอาไว้ ก็ไม่ก่อให้เกิดปัญหาใด ๆ ไม่ก่อทุกข์ใด ๆ

         คนที่มีทิฏฐิ แล้วยึดมั่นถือมั่นในทิฏฐินั้น ๆ  (ทิฏฐุปาทาน) จะทุกข์ใจ ไม่พอใจ ขัดเคืองใจ
         คนที่มีทิฏฐิ แต่ปล่อยวางอุปาทานความยึดมั่นในทิฏฐินั้น ๆ ได้ จะไม่ทุกข์ใจ ไม่ขัดเคืองใจ
    ความยึดถือในความคิดเห็นนี่แหละ เป็นตัวปัญหา (แต่เพื่อเข้าใจง่าย ขอใช้แค่คำว่าความเห็นก็แล้วกันนะ)

         คนเราทะเลาะกันเพราะอะไร?  เพราะความเห็นขัดแย้งกัน
         คนเราขัดแย้งกันเพราะอะไร?  เพราะความเห็นไม่ตรงกัน

         เมื่อมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน และแสดงความเห็นนั้น ๆ ออกไปทางกิริยาอาการท่าทางก็ดี ทางการพูดจาก็ดี แค่นี้ยังไม่ก่อให้เกิดการทะเลาะ จะเกิดการทะเลาะกัน ก็ต่อเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อยากให้อีกฝ่ายหนึ่งคิดเห็นเหมือนตน เชื่อเหมือนตน อยากให้อีกฝ่ายหนึ่ง เป็นดังความคิดเห็นของตนนั่นแล

    ความเห็นที่ไม่ตรงกัน ก่อเกิดมาตรฐานที่ต่างกัน เป็นเหตุให้เกิดความขัดเคืองใจ ความทุกข์ใจ
    ยกตัวอย่างเช่น

         เรานั่งดูละครทีวีอยู่ เห็นกิริยาอาการรวมถึงคำพูดของตัวอิจฉาหรือตัวร้าย แล้ว รู้สึกอย่างไร? รู้สึกไม่พอใจใช่หรือไม่ มาดูว่าความไม่พอใจนั้นเกิดจากอะไร? ความไม่พอใจนั้น เกิดจากเรามีความเห็นว่าการทำกิริยาอาการหรือวาจาแบบนั้น มันไม่ถูกต้อง มันไม่ดี ไม่สมควรทำ และเราก็ยึดถือความเห็นเช่นนี้ของเรา มีบรรทัดฐาน มาตรฐานในใจเรา แล้วไปประเมินค่ากิริยาอาการหรือวาจาของตัวร้ายในละคร ว่าไม่ถูกต้อง เมื่อประเมินว่าไม่ถูกต้อง นั่นคือมันไม่ตรงความคิดเห็นของเรา เราจึงไม่ชอบใจ ไม่พอใจ เมื่อไม่ชอบใจ ไม่พอใจ ก็เกิดทุกข์ใจคือความขัดเคืองในใจตามมา ทำให้เราหงุดหงิด ยิ่งยึดถือความเห็นตนมากเท่าไหร่ แรงเท่าไหร่ ความหงุดหงิดก็เกิดแรงเท่านั้น ในขณะที่บางคนดูเหมือนกัน แต่กลับไม่หงุดหงิด เพราะดูเฉย ๆ ยังไม่ได้ประเมินค่ากิริยาอาการนั้น ๆ ไม่ได้ใส่ใจกิริยาอาการนั้น ๆ  หรือไม่ก็ประเมินค่าแล้ว(มีทิฏฐิแล้ว) แต่ไม่ได้ยึดถือยึดมั่นในการประเมินค่านั้น (ไม่ยึดทิฏฐิ) เห็นว่าเป็นเพียงแค่ละคร เป็นเพียงแค่ตัวละคร เราเป็นแค่ผู้ดูละคร (ไม่อิน ว่างั้นเถอะ)

         เราพบคนมาสาย พบคนขับรถผิดกฎจราจร พบคนทำเรื่องไม่ดี ได้ยินได้ฟังเสียงที่ไม่เพราะ ฯลฯ ก็ลักษณะเดียวกัน  เรามีการตัดสินการกระทำเหล่านั้นว่าไม่ถูกต้อง(ตามมาตรฐานในใจเรา) ความขัดเคืองใจจึงเกิดขึ้น (จริงมั๊ย?.. ลองสังเกตดูนะ)


    การแสดงความเห็นที่ไม่ตรงกันทางกิริยาอาการท่าทางหรือทางวาจา เป็นเหตุให้เกิดความหมางใจ
    เช่น

         นาย ก.ไก่ ได้ยินเพื่อนเล่า(แสดงความเห็น)ว่า เขาไปดูดวงมา หมอดูบอกว่ากำลังมีเคราะห์ต้องไปสะเดาะเคราะห์ด้วยการ....นาย ก.ไก่มองว่าเพื่อนเป็นคนงมงาย และแสดงความเห็นว่า หมอดูคู่กับหมอเดา เขาไม่เชื่อหมอดูหรอก ...แล้วทั้งสองคนก็แอบหมางใจกันอยู่ลึก ๆ (เพราะความเห็นที่ไม่ลงรอยกัน)


    การที่ต่างฝ่ายต่างแสดงความเห็นของตนเพื่อให้อีกฝ่ายมีความเห็นเหมือนตน เป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะกัน   เช่น

         พ่อแม่เห็นว่า ลูกไม่ควรใส่สายเดี่ยว การใส่สายเดี่ยวน่าอายและล่อแหลม แต่ลูกเห็นว่า การใส่สายเดี่ยว ทันสมัย ดูดี ทำให้ชวนมอง พ่อแม่ห้ามปรามลูก(การห้ามปรามเป็นอย่างหนึ่งของการแสดงทิฏฐิ) ไม่ให้ทำแบบนั้น ส่วนลูกเห็นว่าการกระทำของตนถูกต้องแล้ว พ่อแม่ล้าสมัย สองฝ่ายเห็นไม่ตรงกัน และยืนยันในความเห็นของตน ยึดมั่นในความเห็นของตน ตนถูก คนอื่นผิด ทำให้ทะเลาะกัน

         คนเราเมื่อต้องอยู่ร่วมกัน เมื่อต้องคบหากัน จำเป็นต้องมีการปรับทิฏฐิให้ตรงกัน สอดคล้องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจุดสำคัญใหญ่ ๆ เพราะความจริงมีอยู่ว่า ในเรื่องใดก็ตามคนมีความเห็นเหมือนกัน มีความเห็นเป็นอันเดียวกัน ความทะเลาะจะไม่เกิดขึ้นในเพราะเรื่องนั้น

         ความเห็นต่าง ๆ ที่เราเชื่อ ที่เรายึดมั่นถือมั่นนั้น มาจากการเรียนรู้ของเราเอง ทั้งการเรียนรู้จากตำรา จากโรงเรียน หรือจากที่อื่น ๆ ก็ตาม นั่นหมายถึงว่า มาจากประสบการณ์ที่สั่งสมไว้ทั้งหมดของเรานั่นเอง

         คนที่ผ่านประสบการณ์ที่คล้ายกัน มักจะประเมินค่า หรือตัดสินออกมาคล้ายกัน นั่นคือความเห็นคล้ายกัน

        ข้อมูลที่ถูกเก็บอยู่ บันทึกไว้อยู่ในสัญญาความทรงจำของเราทั้งหมดนั่นแหละ คือฐานข้อมูลแห่งการตัดสิน ประเมินค่าล่ะ

    - ความเห็นที่ไม่ตรงกัน ก่อเกิดมาตรฐานที่ต่างกัน เป็นเหตุให้เกิดความขัดเคืองใจ ความทุกข์ใจ
    - การแสดงความเห็นที่ไม่ตรงกันทางกิริยาอาการท่าทางหรือทางวาจา เป็นเหตุให้เกิดความหมางใจ
    - การที่ต่างฝ่ายต่างแสดงความเห็นของตนเพื่อให้อีกฝ่ายมีความเห็นเหมือนตน เป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะกัน


    หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
    เริ่มหัวข้อโดย: อาบัติ2535 ที่ 08 มิถุนายน 2550, 11:18:58
    ว่าด้วยอุปาทาน

    อุปาทาน หมายถึง ความยึดมั่น ถือมั่น เช่น ร่างกายนี้ ไม่ใช่ของเรา ก็ยึดถือว่าเป็นของเรา, ภาพที่มองเห็น ความจริงเป็นเพียงแสงสี สัมผัสกับประสาทตาแล้วเกิดความรับรู้ขึ้น เท่านั้น ก็หลงไปยึดถือ หอบอุ้มภาพนั้นเอาไว้ ทำให้ใจเราเต็มไปด้วยข้อมูลมากมาย เพราะตัวอุปาทานหอบยึดเอาไว้ เหมือนคนบ้าบอ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นเศษขยะ เดินไปตามทาง เห็นผ้าขี้ริ้วก็เก็บมาถือไว้ เห็นร้องเท้าขาดหนึ่งข้าง ก็เก็บเอาไว้ เห็นเปลือกกล้วยก็เก็บเอาไว้ เก็บทุกอย่างที่ขวางหน้า มาถือ แบก หอบ พะรุงพะรังเต็มไปหมด จะทิ้งก็เสียดาย ตัวอุปาทานก็เหมือนกับคนบ้าบอนั่นแหละ อารมณ์ที่มากระทบทุกอย่างเก็บเรียบ

         หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินนิทานเรื่องนี้มาแล้วนะ คนที่รู้แล้วก็ลองฟังอีกรอบก็แล้วกันนะ

    เรื่องดักลิง

         ชาวบ้านอยากดักจับลิง ก็เอาถั่วไปใส่ไว้ในลูกมะพร้าวเจาะรูพอที่มือลิงจะเข้าไปได้ และผูกลูกมะพร้าวนั้นไว้ด้วย เมื่อลิงมากำเอาถั่วในลูกมะพร้าว มือที่กำไว้ใหญ่ขึ้น ลิงก็เอามือออกไม่ได้ แต่ด้วยความอยากได้ถั่วก็กำไม่ปล่อย พอคนจะมาจับเอาลิง ลิงอยากวิ่งหนีแทบตาย แต่วิ่งหนีไม่ได้ เพราะเอามือออกจากลูกมะพร้าวไม่ได้ หารู้ไม่ว่า แค่ปล่อยมือที่กำถั่วออกแค่นั้นแหละ ก็ไปได้แล้ว แค่ปล่อยวางถั่วที่กำอยู่เท่านั้นแหละ ก็หลุดได้แล้ว

         คนเราก็เหมือนกัน แค่ปล่อยวางสิ่งที่ยึดไว้อยู่แค่นั้นแหละ ก็สามารถสลัดทุกข์นั้น ๆ ได้แล้ว การปล่อยวาง ไม่ใช่การลืม การพยายามที่จะปล่อยวาง ไม่ใช่การพยายามที่จะลืม การปล่อยวาง คือการละทิ้งสิ่งที่เราเกาะกุมไว้อยู่ คือการปล่อยสิ่งที่เราเกาะกุมไว้อยู่ หากเราใช้มือเกาะกุมไว้ ก็ปล่อยมือออก แบมือออก หากเราใช้ปากเกาะกุมไว้(กัดหรืออม) ก็คายออก หากเราใช้ใจเกาะกุมไว้ ก็วางออก (วางใจ)

         การพูดว่าปล่อยวาง นั้นพูดง่าย แต่การทำการปล่อยวางนั้น ทำยาก เพราะอะไร เพราะเรารู้ไม่เท่าทันกิเลส มองไม่เห็นแม้แต่ตัวอุปาทานที่เกิดกับใจ เหมือนกับลิงกำถั่วนั่นแหละ คนที่รู้ก็บอกว่าง่ายนิดเดียว ปล่อยมือก็หลุดแล้ว ลิงที่ไม่รู้แม้ตั้งใจพยายามเต็มที่ที่จะสลัดหลุด ก็ทำไม่ได้

         มีลังกระดาษเปล่าอยู่ลังนึง จะทิ้งก็เสียดาย จึงเก็บไว้ใช้เผื่อเป็นประโยชน์ในอนาคต เป็นปี สองปี ลังนั้นก็ยังไม่ถูกใช้ ก็ยังรกห้องอยู่ แม้เห็นว่ารก ก็ยังไม่กล้าทิ้ง เพราะอะไร? เพราะเสียดาย เผื่อได้ใช้ในอนาคต ว่างั้น มันจึงยังรกห้องอยู่อย่างนั้น ของอื่น ๆ ก็เหมือนกัน

         อุปาทานที่เกาะเกี่ยว เกาะกุมใจเราอยู่ ก็เช่นกัน เราไม่กล้าทิ้งมัน แม้จะรู้ว่ามันมี แม้จะรู้ว่าเราทุกข์เพราะมัน เราก็ไม่กล้าทิ้งมัน หรือทิ้งมันไม่ลง บางคนบอกว่า กล้าทิ้งน่ะกล้าทิ้ง แต่ทิ้งไม่ออก ทิ้งแล้วมันไม่ยอมไป ที่ทิ้งไม่ออกเพราะว่าเราไม่ได้ทิ้งมันจริง ๆ เราแค่แกล้งทำเป็นไม่เห็น ทำเป็นไม่มองแค่นั้นเอง

         หลายคนรู้ว่าตัวเอง เป็นคนเช่นไร เช่นเป็นคนขี้น้อยใจ ขี้งอน ขี้เกียจ หัวดื้อ มือไม้แข็ง ฯลฯ และก็รู้อีกว่า นิสัยเป็นต้นเหล่านี้มันไม่ดี แต่ก็ยังไม่ยอมทิ้งมันไป ทิ้งมันออกไปไม่ได้ เพราะอะไร เพราะอุปาทานมันแรง มันเหนียวหนา และมันอ้างว่า ก็ฉันเป็นของฉันอย่างนี้ ก็ฉันเป็นคนแบบนี้ ฯลฯ

         ที่พูดมานี้ ไม่ได้บอกหรือแนะนำให้เปลี่ยนนิสัย แต่เป็นการอธิบายถึงกิเลสต่าง ๆ ที่เคลือบแฝงอยู่ภายในใจเรา และอยากให้เข้าใจว่า เมื่อเรายังอยู่ในอำนาจกิเลส มันก็ต้องเป็นแบบนี้ เพราะกิเลสมันเป็นนายเราอยู่ เพียงอยากให้เราเรียนรู้และเข้าใจกิเลส เข้าใจการทำงานของกิเลส

         ดังนั้น เมื่อเราเห็นนิสัยหรือการแสดงออกของคนอื่น จะเป็นเพื่อนหรือใครก็ตาม อย่าได้ขุ่นเคืองใจ อย่าได้ขัดเคืองใจ อย่าได้เกลียดเพื่อนจนเลิกคบหากัน ถ้าจะเกลียดก็ให้เกลียดกิเลส ให้รังเกียจกิเลสเถิด เพราะถ้าเราเกลียดกิเลสของคนอื่น มันจะเห็นกิเลสของเราไปด้วย มันจะเข้าใจกิเลสในใจเราด้วย เมื่อเราเข้าใจว่ากิเลสเป็นตัวบงการแล้ว เราจะไม่โทษใคร ไม่ตำหนิใคร ไม่มีใครมีความผิด ความผิดเป็นของกิเลส (จริง ๆ แล้วมีกรรมและวิบากหรือผลของกรรมด้วย ซึ่งเรียกว่าวัฏฏจักรคือการหมุนวนแห่งกิเลส กรรม วิบาก) หากจะทำโทษต้องทำโทษกิเลส หากจะทำลายให้ทำลายกิเลส หากจะเลิกคบให้เลิกคบกิเลส

         เมื่อเราเข้าใจชัด รู้ชัดว่า อ้อ .. มันก็แค่การทำงานของวัฏฏจักรคือกิเลส กรรม และวิบาก ทุกอย่างมันมีเหตุ มีปัจจัยในตัวมันเอง การโมโหคนอื่น จะไม่เกิดขึ้น การโมโหตัวเองจะไม่เกิดขึ้น (เพราะการโมโห มันก็คือบทบาทหนึ่งของกิเลส)

         พึงตระหนักในใจให้ชัดว่า อุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่นนี้ เป็นตัวอมทุกข์เอาไว้ หากปล่อยวางได้ก็พึงปล่อยวาง โดยการมองให้แตกว่า เป็นเรื่องของกิเลส กรรม วิบาก ไม่ใช่ความผิดของใครคนไหน ช่างมัน ช่างมัน ช่างมัน ช่างมันเถอะ..


    หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
    เริ่มหัวข้อโดย: สมชาย17 ที่ 08 มิถุนายน 2550, 12:47:55
    ขอบคุณ น้องอาบัติ
    ยิ่งอ่าน ยิ่งกระจ่าง ยิ่งอ่าน ยิ่งลึกซึ้ง :D


    หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
    เริ่มหัวข้อโดย: krongon2513 ที่ 08 มิถุนายน 2550, 15:59:30
    ค่อยๆอ่าน แล้วคิดตาม ใจสะอาด สว่าง สงบ
    ขออนุโมทนาบุญในครั้งนี้ด้วย
    "การให้ธรรมะเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง"


    หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
    เริ่มหัวข้อโดย: อาบัติ2535 ที่ 12 มิถุนายน 2550, 12:42:02
    วัฏฏจักร

         ในบทความที่แล้ว มีกล่าวพาดพิงถึงเรื่องวัฏฏจักรแห่ง กิเลส กรรม และวิบากไปนิดหน่อย เพื่อเพิ่มความเข้าใจจึงขอนำมากล่าวอีกครั้ง

         คำ ๓ คำนี้คือ “กิเลส กรรม วิบาก” เป็นคำที่เรามักจะได้ยินได้ฟังกันบ่อย ๆ

         กิเลส จริง ๆ แล้วมันก็คือกิเลส เหมือนกับคำกล่าวว่า กิ่งก่า ก็คือกิ้งก่า แย้ก็คือแย้ หากเห็นตัวตนกิ้งก่าหรือแย้แล้ว ก็ไม่ต้องการคำอธิบายใด ๆ อีก

         กิเลส หากจะแปลตามคำศัพท์แล้ว ก็แปลว่า สิ่งแปดเปื้อน สิ่งเคลือบทา มันก็เป็นเหมือนสีย้อมผ้าหรือสีทานั่นแหละ มันก็เป็นเหมือนฝุ่นหรือสิ่งสกปรกนั่นแหละ มันก็เป็นเหมือนขี้ไคลที่ติดตามเนื้อตัวเรานั่นแหละ แต่กิเลสมันเป็นสิ่งย้อมใจ มันเป็นสิ่งเคลือบทาใจ มันเป็นสิ่งผสมปนอยู่ในใจเรา อาจแบ่งตามหลักตรรกะได้เป็น ๓ กลุ่ม คือ กิเลสฝ่ายขาวหรือฝ่ายดี๑ กิเลสฝ่ายดำหรือฝ่ายชั่ว๑ กิเลสฝ่ายไม่ขาวไม่ดำหรือเป็นกลาง๑

             กิเลส เป็นตัวชักใย ชักพาให้เราตัดสินใจทำอะไรทุกอย่าง มันมีทั้งดีทั้งชั่ว การกระทำของคนจึงมีทั้งดีทั้งชั่วปะปนกันไป ขึ้นอยู่กับว่าในขณะนั้น ๆ  กิเลสฝ่ายดีหรือฝ่ายชั่ว มีอำนาจมากกว่า

         กรรม คือการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา คำว่าเจตนาในที่นี้มีความหมายลึกกว่าที่เรา ๆ เข้าใจ นั่นคือการกระทำใด ๆ ก็ตามที่ทำโดยขันธ์๕(หรือ๔) ที่ทำโดยอาศัยกิเลส คือการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา จัดเป็นกรรม {การกระทำที่อยู่เหนือขันธ์๕(หรือ๔) ที่ทำโดยไม่อาศัยกิเลส คือการกระทำที่ไม่ประกอบด้วยเจตนา ไม่จัดเป็นกรรม}

         ดังนั้น บางคนบอกว่า ผมไม่ได้เจตนา ผมไม่ได้ตั้งใจ ไม่จัดเป็นกรรม จึงไม่บาป นี่เป็นการเข้าใจที่ไม่ครอบคลุม ซึ่งความจริงแล้ว แม้เราทำไปโดยไม่ได้ตั้งใจ(ตามความคิดหรือความรู้สึกของเรา) แต่จริง ๆ แล้ว มันมีความตั้งใจหรือเจตนาแฝงอยู่ลึก ๆ ซึ่งเรามองไม่ทัน มองไม่เห็น

         บางคน สาดน้ำร้อนจากบนบ้านลงมาข้างล่าง บังเอิญ หมาตัวนึงวิ่งผ่านมาพอดี โดนน้ำร้อนนั้นเข้าจังเบอร์ ร้องเอ๋ง ๆ ๆไปเลย ถามว่า คนที่สาดน้ำร้อนนั้น บาปไหม ตอบว่า ในขณะที่เขาสาดน้ำนั้นใจเขาไม่บาปหรอก และเมื่อเห็นหมาโดนน้ำร้อน ก็รู้สึกผิดที่ตนไม่ระวัง ใจเขาในตอนนี้ ก็ไม่บาปหรอก คือใจเขาไม่ใช่ใจชั่วว่างั้นเถอะ แต่ว่าการกระทำนี้ ก็ยังจัดเป็นกรรม แม้เขาจะบอกว่าไม่ได้ตั้งใจสาดน้ำร้อนใส่หมาก็ตาม (เพราะในเบื้องลึกแห่งใจมีผลแห่งกรรมเก่าก่อน มีกิเลสคอยชักใยให้ตัดสินใจทำอย่างนั้นอย่างนี้อยู่จึงเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา) ในเมื่อเป็นกรรม ผลของกรรมก็เกิดตามมาเป็นวัฏฏจักร เช่นผลกรรมทันตาคือ รู้สึกทุกข์ใจเมื่อเห็นหมาเจ็บปวด ผลกรรมในอนาคต เช่น เขาอาจโดนน้ำร้อนลวก โดยบังเอิญ เช่นกัน กรรมที่ทำโดยบังเอิญ ที่ทำโดยไม่ทันรู้ตัว ที่ทำโดยอุบัติเหตุ มักให้ผลกรรมแบบบังเอิญหรืออุบัติเหตุเช่นกัน

         วิบาก เป็นผลของกรรม เมื่อทำกรรมแล้ว เกิดกรรมแล้ว วิบากย่อมเกิดตามมา เพราะวิบากเปรียบเสมือนเงาของกรรม เพียงแต่ว่าเงากรรมนั้น ๆ จะปรากฏเมื่อไหร่ เท่านั้นเอง เมื่อโดนแสงคือเหตุ ปัจจัยที่เหมาะสมฉายมา เงาคือวิบากก็จะปรากฏทันที อย่าคิดว่าจะวิ่งหนีเงาได้พ้นตลอดไป เมื่อแอบอยู่ในที่มืดอาจไม่ปรากฏเงาก็จริง แต่เมื่อมีแสงฉายมาก็ย่อมปรากฏเงาอยู่ดี อย่าคิดว่าจะวิ่งหนีวิบากได้พ้นตลอดไป เมื่อหลบอยู่ในที่กำบัง เงากรรมคือวิบากอาจไม่ปรากฏก็จริง แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยฉายมาถึงวิบากก็จะปรากฏอยู่ดี การที่จะไม่มีเงาได้คือทำกายให้โปร่งแสง การที่จะไม่มีเงาคือวิบากได้ ต้องทำใจให้โปร่งแสง โปร่งใสจากกิเลส

         จะสมมติสถานการณ์เกี่ยวกับวัฏฏจักรหรือวงจรแห่งกิเลส กรรม วิบาก ให้ฟังก็แล้วกันนะ นายหก อยากได้มือถือรุ่นใหม่ (เกิดกิเลส ซึ่งกิเลสตัวนี้ มาจากผลของกรรมก่อนหน้าคือการดูโฆษณาฯลฯ) กิเลสตัวนี้ชักนำให้ทำกรรมคือไปซื้อมือถือ วิบากหรือผลของกรรมคือการซื้อมือถือ คือได้มือถือ วิบากคือได้มือถือ ก่อให้เกิดกิเลสใหม่คืออยากโทรไปหาเพื่อน  ฯลฯ เอาเข้าจริง ๆ  ไล่กันไม่จบหรอกนะ มันเกิดต่อกันไปเรื่อย ๆ เป็นเหตุเป็นผลกันไปเรื่อย ๆ .....

         นายเจ็ดฝันไม่ดี เพื่อนแนะนำให้ไปถวายสังฆทาน จึงอยากทำสังฆทาน ไปซื้อถังสังฆทาน แล้วนำไปถวายพระที่วัด แล้วสบายใจขึ้น เหตุการณ์นี้ ก็ไม่พ้นไปจากวงจรแห่งกิเลส กรรม และวิบากเลย มันมีเหตุ มีผลในตัวมันอยู่แล้ว ผลอย่างหนึ่ง มาจากเหตุอย่างหนึ่ง และกลายเป็นเหตุแห่งผลต่อไป ฯลฯ  ....ลองสังเกตและไล่ดูเอาเองก็แล้วกันนะ

         สรรพสัตว์ทั้งหลายที่ยังไม่หมดกิเลส ก็จะเป็นไปตามวัฏฏจักรคือการเวียนวนแห่ง กิเลส กรรม และวิบากนี้ตลอดไป เพราะกิเลส เป็นตัวนำพาสร้างกรรม กรรม เป็นตัวนำพาให้เกิดวิบากคือผลกรรม และวิบาก ก็เป็นตัวนำพาให้เกิดกิเลสตัวใหม่ แล้วสร้างกรรมใหม่ เกิดวิบากใหม่ เกิดกิเลสใหม่ วนอยู่อย่างนี้ไม่มีจุดจบสิ้น จนกว่าจะทำลายรากเง้าคือกิเลสได้ จึงจะเป็นการตัดวงจรแห่งวัฏฏจักรออกไป

    กิเลสไม่เกิด กรรมก็ไม่เกิด... กรรมไม่เกิด วิบากก็ไม่เกิด... วิบากไม่เกิด กิเลสก็ไม่มี...  กิเลสไม่มี กรรมก็ไม่มี...  กรรมไม่มี วิบากก็ไม่มี... วิบากไม่มี กิเลสก็ไม่มี เป็นอันตัดวงจรให้สิ้นไปได้


    หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
    เริ่มหัวข้อโดย: อาบัติ2535 ที่ 29 มิถุนายน 2550, 08:54:26
    ว่าด้วยเหตุปัจจัย

         “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” วลีนี้ หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินนะ ฟัง ๆ ไปดูเหมือนสำนวนหนังจีนกำลังภายในน่ะนะ แต่ขอบอกว่าวลีนี้ ไม่ใช่เพียงแค่คำเปรียบเทียบเปรียบเปรยนะ เป็นวลีที่ไพเราะสำนวนหนึ่งที่สื่อถึงเรื่องเหตุปัจจัย หรือความเกี่ยวเนื่องกันแห่งเหตุปัจจัยซึ่งมีอิทธิพลต่อเนื่องกันเป็นทอด ๆ เป็นเหมือนปฏิกิริยาลูกโซ่

         เหตุ ก็คือเหตุ เป็นตัวมูลต้น หรือมูลฐานแห่งการเกิดปรากฏการณ์ใด ๆ

         ปัจจัย ก็คือปัจจัย (ไม่ใช่เงินหรือปัจจัย๔นะ) เป็นตัวประกอบ หรือตัวสนับสนุนการเกิดปรากฏการณ์ใด ๆ

         เหตุหนึ่งเหตุ ย่อมเป็นได้ทั้งตัวเหตุเอง และเป็นได้ทั้งปัจจัย
         ปัจจัยหนึ่งปัจจัย ย่อมเป็นได้ทั้งตัวปัจจัยเอง และเป็นได้ทั้งเหตุ

        เหตุ แบ่งตามกาลเวลา โดยตรรกะ ได้เป็น ๓ คือ
         ๑.  อดีตเหตุ           หมายถึง เหตุที่เกิดแล้ว ที่ผ่านไปแล้ว ที่จบหน้าที่แห่งเหตุแล้ว
         ๒. ปัจจุบันเหตุ     หมายถึง เหตุที่กำลังเกิดอยู่ ที่กำลังดำเนินอยู่ ที่กำลังทำหน้าที่แห่งเหตุอยู่
         ๓. อนาคตเหตุ      หมายถึง เหตุที่จะเกิด ที่ยังมาไม่ถึง ที่จะมาทำหน้าที่แห่งเหตุในอนาคต

         ว่าโดยหลักแห่งเหตุผลแล้ว เมื่อมีเหตุ ย่อมมีผล เมื่อเหตุเกิด ผลย่อมเกิด อธิบายว่า อุบัติการณ์ปัจจุบัน คือผลของอุบัติการณ์อดีต(อดีตเหตุ) และเป็นเหตุของอุบัติการณ์อนาคต

         นั่นคือ เหตุ อย่างหนึ่ง มีปกติเกิดแต่ผลของเหตุก่อนหน้านี้  และเหตุอันนั้น ก็มีปกติส่งผล ต่อเหตุต่อไป

    ปัจจุบันเหตุ มาจาก อดีตผล และ ส่งผลให้เกิด อนาคตเหตุ อนาคตผล..... ต่อไป .. ไม่จบสิ้น
    ปัจจุบันผล มาจาก อดีตเหตุ และส่งให้เกิด อนาคตเหตุ อนาคตผล....... ต่อไป .. ไม่จบสิ้น

        นี่แล  คือการดำเนินไปแห่งเหตุและผล คือการดำเนินไปแห่งปฏิกิริยาลูกโซ่ตามหลักเหตุและผล

              อย่างนิทานเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียว ทำให้คนทะเลาะกันทั้งหมู่บ้าน หรือแค่อีเมล์ฉบับเดียว(จากนั้น ส่งต่อกันไปเรื่อย ๆ ) อาจทำให้สินค้าของบริษัทที่ถูกโจมตี ขายไม่ได้และบริษัทเจ๊งไปในที่สุด เมื่อบริษัทเจ๊ง..พนักงานบริษัทตกงาน..คนในครอบครัวพนักงานขาดรายได้..บางคนในนั้นหาอาชีพใหม่ที่ทุจริต...ฯลฯ...กระทบทั้งสังคม กระทบทั้งโลก ....แค่เราไปซื้อข้าวกิน ก็กระทบทั้งโลกแล้ว (ด้วยการไหลของเงินตรา) แค่เราตัดต้นไม้หนึ่งต้น ย่อมกระทบถึงสังคม ถึงดินฟ้าอากาศ (บางคนอาจคิดว่าแค่ตัดต้นไม้ต้นเดียวจะกระทบอะไรนักหนากันเชียว....หากมองในเชิงเดี่ยวแล้ว ต้นเดียวกระทบไม่มากก็จริง...ต้องมองโดยรวม..คนอื่นก็คิดแบบเดียวกันบ้าง เอาเป็นเยี่ยงอย่างบ้าง ก็ตัดเหมือนกัน ต่างคนต่างตัด ต่างคนต่างทำ เหตุปัจจัยที่คล้าย ๆ กัน ย่อมรวมพลังให้มีอานุภาพแรงขึ้น กระทบอะไรก็กระทบแรงขึ้น) แม้จะเป็นเพียงแค่เหตุ ปัจจัย เล็กน้อย ที่แทบจะมองไม่เห็นความสำคัญเลย แต่มันก็คือเหตุอันหนึ่งในโลก ก็คือปัจจัยอันหนึ่งในโลก เหตุที่เกิดขึ้น ปัจจัยที่เกิดขึ้น เกิดแล้วก็ดับไป แต่ก่อนจะดับจะส่งให้เกิดผลขึ้น และเกิดขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ แม้แต่เด็ดดอกไม้ ยังสะเทือนถึงดวงดาว

         ลองพิจารณาดูเถิดว่า เครื่องยนต์กลไก ทำงานได้ด้วยองค์ประกอบมากมาย ขับเคลื่อนฟันเฟืองให้หมุนไป เมื่อฟันเฟืองใหญ่ หรือฟันเฟืองขับ หมุนไป ย่อมผลักดันให้เฟืองตัวอื่นหมุนไปด้วย ซึ่งเฟืองตัวอื่นนั้น ก็ผลักดันให้เฟืองตัวอื่นอีกหมุนไป ส่งแรงพลังต่อกันไปเรื่อย ๆ หากเฟืองตัวหนึ่งมีปัญหา แตกหัก เฟืองต่อไปที่รอหมุนอยู่ ก็ไม่อาจหมุนไปได้ (เพราะถูกเฟืองตัวต่อไปอื่นอีกเหนี่ยวรั้งไว้) การทำงานก็ไม่บรรลุผลถึงที่สุด แม้เฟืองขับแรกเริ่มจะยังคง หมุนอยู่ก็ตาม  

         ดังนั้น เราพึงตระหนักให้ถ่องแท้ว่า เรา มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด หากขาดเราแล้ว งานเป้าหมายของกลุ่ม มิอาจบรรลุได้  หากเราไม่ทำแล้ว ย่อมมีผลกระทบต่อสิ่งอื่นตามมาแน่นอน

         ในการกระทำใด ๆ ของเราทั้งหลาย หากพิจารณาด้วยปัญญาแล้วเห็นว่า ผลที่เรารับมาจากอดีตเหตุนั้น เป็นสิ่งไม่ดี ก็ไม่ควรนำมาเป็นเหตุตั้งต้น ไม่ควรใช้เป็นปัจจุบันเหตุ เพราะนั่นจะส่งให้เกิดอนาคตผลที่ไม่ดีตามมานั่นเอง เมื่อทราบชัดเช่นนี้ พึงทำตัวเป็นดุจเฟืองหัก ที่จะไม่หมุนส่งให้เหตุ  ปัจจัยที่ไม่ดีเหล่านั้น เกิดอีกต่อไป นี่คือการระงับเหตุที่ตัวเรา ด้วยตัวเรา หากเราระงับเหตุที่ตัวเราด้วยตัวเราไม่ได้ ก็ไม่พึงหวังให้ผู้อื่นมาระงับเหตุให้  

         แต่หากพิจารณาด้วยปัญญาแล้วเห็นว่า ผลที่เรารับมาจากอดีตเหตุนั้น เป็นกุศล เป็นทางบุญ เป็นสิ่งที่ดี ก็พึงนำผลนั้นมาเป็นเหตุตั้งต้น มาใช้เป็นปัจจุบันเหตุ เพื่อให้เกิดอนาคตผลที่ดีตามมานั่นเอง เมื่อทราบชัดเช่นนี้ พึงทำตัวเป็นเฟืองดี ที่จะหมุนส่งให้เหตุ ปัจจัยที่ดีเหล่านั้น เกิดต่อไปอีก นี่คือการสร้างเหตุ ปัจจัย ที่ตัวเรา ด้วยตัวเรา

         หากเราทำไม่ดีแม้เพียงคนเดียว แม้เพียงครั้งเดียว ผลพวงแบบลูกโซ่แห่งเหตุปัจจัย จักกระทบคนอื่นมากมาย เมื่อผู้อื่นมากมายผู้ได้รับผลกระทบนั้น สร้างเหตุใหม่ขึ้น ก็ย่อมกระจายผลออกไปกว้างขึ้น ในที่สุด กระทบทั้งสังคม กระทบทั้งโลก


         เมื่อเราทั้งหลายพิจารณาเห็นฉะนี้แล้ว ไม่พึงคิดว่า “เรา เป็นคนตัวนิดเดียว ไม่มีอำนาจอะไรมากมาย ไม่มีความสำคัญอะไรมากมาย ไม่มีความสำคัญกับใครมากมาย การกระทำดีของเราคนเดียว หาทำให้สังคมดีขึ้นไม่ การกระทำไม่ดีของเราคนเดียว หาทำให้สังคมเลวลงไม่...” ดังนี้ เป็นต้น เพราะนั่น เป็นความคิดของคนที่ยังไม่เข้าใจหลักเหตุผล หลักเหตุปัจจัย

         แม้เราจะเปรียบเหมือนมดตัวน้อย ก็ขอให้เพียรพยายามคิดดี พูดดี ทำดี เพื่อเป็นหนึ่งในเหตุปัจจัยที่ดี เป็นหนึ่งในฟันเฟืองดี ที่จะผลักดัน ส่งผลกระทบ ให้เกิดอนาคตเหตุที่ดี อนาคตผลที่ดี เพื่อสังคมที่ดี

         มาร่วมกันระงับปัจจุบันเหตุที่ไม่ดี ปัจจุบันเหตุแห่งความไม่ดี ที่ตัวเรา ด้วยตัวเรา กันเถิด..

         มาร่วมกันสร้างปัจจุบันเหตุที่ดี ปัจจุบันเหตุแห่งความดี ที่ตัวเรา ด้วยตัวเรา กันเถิด..



    ----------------- เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ ----------------


    หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
    เริ่มหัวข้อโดย: jamsai ที่ 05 พฤศจิกายน 2550, 10:16:34
    คนโบราณ นิยมให้ผู้ชายไทย เมื่อครบ 20 ปี ต้องบวชเรียน
    ทั้งนี้เพื่อให้มีความเป็นมนุษย์ที่ใจ เพื่อที่ แม้เมื่อออกไปครองเรือน
    ต้องรู้จักผิดชอบ ชั่วดี จะได้ไม่พลัดหลงเข้าไปในภพภูมิที่ เป็น
    เปรต อสูรกาย สัตว์เดรัจฉาน ในชาติต่อๆ ไป
    และยังจะนำไป สั่งสอนลูกหลานของตนในตระกูลได้


    คุณ "อาบัติ 2535"  ไม่เสียทีที่เกิดเป็นชาย ได้พบพระพุทธศาสนา
    ได้บวชเรียน และออกมาครองเรือน เพราะคงเคย อธิษฐาน สัญญา
    กับเจ้ากรรมนายเวรประเภทกัลยาณมิตรไว้ แล้วช่วงบวชคงไม่ได้ขอ
    อโหสิกรรม ขอยกเลิกสัญญาผูกพัน จึงหนีใจปรารถนาเดิมไม่พ้น


    ดังนั้น จึงเป็นคฤหัสผู้ครองเรือน ประเภทครบถ้วนด้วยโลกียธรรม
    แล้วยังเห็นเส้นทางโลกุตรธรรม อยู่ ไม่ไกล  ...ขออนุโมทนา

     :)  :?  :(  :o


    หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย
    เริ่มหัวข้อโดย: jamsai ที่ 05 พฤศจิกายน 2550, 10:29:21
    มีลูกศิษย์ หลายคนที่เรียนจบแล้ว ขอบวช  5 วัน 7 วัน  เหตุผลเพราะ
    1. กลัวเมื่อทำงานจะไม่มีเวลาบวช ..
    2. พ่อ แม่ ย่า ยาย ให้บวช อยากเห็นผ้าเหลือง....
    3. ก็อยากบวชให้ พ่อ แม่ ญาติผู้ใหญ่ ดีใจ


    ทุกคนที่มาลาไปบวช มักจะเตรียมทุกอย่างพร้อมแล้ว ก็ได้แต่อนุโมทนา
    และขอว่า ขอให้ถือว่าการบวชเป็นเรื่องสำคัญไม่ใช่แค่ไปใส่เครื่องแบบพระ
    หากคิดจะบวชครั้งต่อไปขอให้มาคุยกันก่อนตัดสินใจดำเนินการได้ใหม


    เออ...แร้ว อาจารย์ทำไม อยากมายุ่งอะไรกับเรื่อง บวชของลูกศิษย์ วะนี่ ...
    ตอบก็คงยาว พิมพ์ไม่ไหว และอยากฟังความเห็น ของคุณ อาบัติ 2535 ดูก่อน
    จะกรุณาเล่าสู่กันฟังหน่อยใหมคะ