หัวข้อ: “ความรู้สึกผิด"ควรเปลี่ยน“ผิด”ให้เป็น“ถูก”แต่อาจกลับเป็นตรงกันข้าม เริ่มหัวข้อโดย: Samrotri2517 ที่ 06 มกราคม 2553, 07:01:25 (http://img156.imageshack.us/img156/9935/83348843.jpg) มโนธรรมเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ที่ดีงาม ด้วยเหตุนี้ทุกคนจึงอยากทำความดีด้วยกันทั้งนั้น มโนธรรมทำให้เราหวั่นไหวเมื่อเห็นความทุกข์ของผู้อื่น และอยากช่วยเหลือให้เขาพ้นทุกข์ แต่หากเราทำในสิ่งตรงข้าม อย่าว่าแต่เบียดเบียนทำร้ายผู้อื่นเลย เพียงแค่ยืนดูอยู่เฉย ๆ เมื่อเห็นเขาได้รับความทุกข์ เราก็จะรู้สึกผิดขึ้นมาทันที ทุกคนย่อมรู้ดีว่าความรู้สึกผิดนั้นก่อความทุกข์ให้แก่จิตใจเพียงใด มันทั้งกดถ่วงหน่วงทับและทิ่มแทงจิตใจ ทำให้เจ็บปวดเศร้าสลด ยิ่งกว่านั้นมันมันยังสั่นคลอนความรู้สึกเคารพตัวเอง บางครั้งถึงกับฉีกทำลายภาพ “ตัวตน” อันงดงามที่เคยวาดไว้ให้ย่อยยับในฉับพลัน คำว่า “เสีย self”ดูจะเบาไปด้วยซ้ำ ความเจ็บปวดนั้นไม่ได้มีไว้เพื่อทำร้ายตัวเรา แต่เพื่อกระตุ้นให้เราทำสิ่งที่ถูกต้อง หรือหลีกหนีจากอันตราย เมื่อนิ้วสัมผัสกับเปลวไฟหรือเหล็กแหลม ความเจ็บปวดจะทำหน้าที่กระตุกให้เราดึงนิ้วออกมา คนที่สูญเสียประสาทรับรู้ความเจ็บปวด ร่างกายจะเต็มไปด้วยบาดแผล บางคนถึงกับปากแหว่งลิ้นกุดเพราะเผลอกัดซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยไม่รู้ตัว ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อเราทำสิ่งที่ผิดพลาด ความเจ็บปวดเพราะรู้สึกผิด จะกระตุ้นให้เราหันมาทำสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อประโยชน์ทั้งของผู้อื่นและของเราเองด้วย ความรู้สึกผิดมีหน้าที่ผลักดันให้เราเปลี่ยน “ผิด”ให้เป็น “ถูก” แต่บ่อยครั้งเรากลับพบว่าผลกลับตรงกันข้าม หลายคนกลับทำผิดซ้ำสอง หรือทำผิดยิ่งขึ้นกว่าเดิม เช่น หาเหตุผลมาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำที่ผิดนั้น เหตุผลที่นิยมอ้างกันโดยเฉพาะเวลาทำการทุจริตคอร์รัปชั่นก็คือ “ใคร ๆ เขาก็ทำกันทั้งนั้น” หากนิ่งเฉยเมื่อเห็นหญิงสาวถูกรุมทำร้าย เหตุผลที่ใช้บรรเทาความรู้สึกผิดก็คือ “กรรมใครกรรมมัน” เหตุผลเหล่านี้ถูกอ้างขึ้นมาเพื่อให้การกระทำที่ผิดนั้นกลายเป็นถูก แต่ที่จริงกลับเป็นการทำผิดเป็นครั้งที่สอง เพราะเป็นการแก้ต่างให้กับการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ไม่ต่างจาก การแก้ต่างให้กับโจร แต่ที่ร้ายกว่านั้นก็คือ การหันไปเล่นงานบุคคลซึ่งเป็นที่มาแห่งความรู้สึกผิดในใจตน คนที่ทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม ย่อมรู้สึกผิดเมื่อเห็นเพื่อนทำงานขยันขันแข็ง ตัวอย่างเช่น คนที่ทุจริตย่อมรู้สึกผิดเมื่อรู้ว่ามีเพื่อนบางคนปฏิเสธสินบน นักปฏิบัติที่เพลินในการนอนอาจรู้สึกผิด ที่เห็นเพื่อนร่วมห้องพากเพียรภาวนา หลายคนบรรเทาความรู้สึกผิดดังกล่าวด้วยการ หันไปกล่าวร้าย กลั่นแกล้ง หรือหาทางกำจัดคนที่ทำดีกว่าตน ราวกับว่าเขาเป็นศัตรูกับตน เพราะตราบใดที่คนเหล่านั้นยังปรากฏอยู่ต่อหน้า ความรู้สึกผิดก็จะยังทิ่มแทงใจตนตลอดเวลา กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ เกิดความสำคัญผิดไปว่าคนเหล่านั้น เป็นต้นตอแห่งความทุกข์ที่กำลังกัดกร่อนใจตน ทั้ง ๆ ที่สาเหตุแท้จริงนั้นได้แก่ การกระทำที่ไม่ถูกต้องของตัวเองต่างหาก ความรู้สึกผิดนั้นเป็นผลผลิตของมโนธรรมก็จริง แต่สามารถก่อให้เกิดอาชญากรรมหรือความเลวร้ายได้ จะว่าไปการเบียดเบียนทำร้ายกันบ่อยครั้ง ก็เกิดจากแรงผลักดันแห่งความรู้สึกผิด และคนที่ถูกทำร้ายนั้น หาใช่ใครที่ไหน หากเป็นคนที่เรารักหรือใกล้ชิดเรานี้เอง การทำร้ายผู้อื่นจึงมิใช่พฤติกรรมที่สงวนไว้สำหรับคนชั่วเท่านั้น แต่คนธรรมดา ๆ อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ก็สามารถลงมือได้เช่นกัน นี้เป็นประเด็น ที่ถ่ายทอดให้เห็นอย่างชัดเจนใน นิยายเรื่องเด็กเก็บว่าว ของฮาเหล็ด โฮเซนี่ (แปลโดยวิษณุฉัตร วิเศษสุวรรณภูมิ) อาเมียร์ กับ ฮัสซาน เป็นเด็กวัย ๑๓ ขวบที่เติบโตในบ้านหลังเดียวกันและดื่มน้ำนมจากอกแม่นมคนเดียวกัน แต่สถานะของคนทั้งสองต่างกันอย่างสิ้นเชิง อาเมียร์เป็นบุตรชายของคหบดี ส่วนฮัสซานเป็นลูกสาวของคนใช้ รูปร่างหน้าตาที่น่าเย้ยหยันของฮัสซานนั้นตรงข้ามกับน้ำใจ ที่งดงามเปี่ยมด้วยความซื่อสัตย์ และภักดีต่ออาเมียร์ ในสายตาของฮัสซาน อาเมียร์นั้นสูงส่งกว่าเขาทั้งชาติวุฒิและคุณวุฒิ ฮัสซานพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่ออาเมียร์ ไม่ว่าจะเกิดอะไรกับฮัสซานก็ตาม “สำหรับคุณ(อาเมียร์) กว่านี้อีกพันเท่าก็ยังไหว” ไม่ใช่เป็นแค่คำพูดที่ฮัสซานประดิดประดอย แต่ออกมาจากใจอันใสซื่อ แล้ววันหนึ่งเขาก็ได้พิสูจน์ให้อาเมียร์เห็น อัสเซฟเป็นลูกของผู้มีอิทธิพล ทำตัวเยี่ยงอันธพาล เกิดมีปากเสียงวิวาทกับอาเมียร์ซึ่งมีอายุอ่อนกว่ามาก อัสเซฟกับพวกอีก ๒ คน รุมล้อมกรอบเขาและเตรียมทำร้ายด้วยสนับมือ แต่ต้องชะงักเมื่อพบว่าฮัสซานเหนี่ยวหนังสติ๊กคู่ใจเล็งมา ที่หน้าของอัสเซฟ พร้อมกับวิงวอนขอให้ปล่อยอาเมียร์ ทั้ง ๆ ที่กลัวตัวสั่นแต่ฮัสซานพร้อมยิงนัยน์ตาของอัสเซฟ หากอาเมียร์ถูกทำร้าย ทั้งสองผ่านเหตุการณ์วันนั้นได้ด้วยความปลอดภัย แต่ต้องจ่ายด้วยราคาที่แพงลิบลิ่ว อัสเซฟและพวกมีโอกาสชำระความแค้น เมื่อเทศกาลแข่งว่าวมาถึง อาเมียร์สามารถปราบว่าวทุกตัวที่มาประชันบนท้องฟ้าได้หมด รวมทั้งว่าวสีน้ำเงินซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญ ขณะที่อาเมียร์ฉลองชัยชนะที่รอมานานหลายปี ฮัสซานออกไปตามเก็บว่าวสีน้ำเงินให้อาเมียร์ตามลำพัง เป็นโอกาสที่อัสเซฟและพวกติดตามล่าไปล้างแค้น อาเมียร์เฉลียวใจเมื่อรู้ว่าฮัสซานหายไปนาน จึงกลับไปตามหาเขา และแล้วก็พบกับเหตุการณ์ที่จะตามหลอกหลอนเขาไปอีกหลายสิบปี อัสเซฟและพวกรุมข่มขืนฮัสซานอย่างโหดร้าย ขณะที่อาเมียร์ยืนหลบซุ่มอยู่ในมุมที่ปลอดภัย แทนที่เขาจะวิ่งไปช่วยฮัสซาน หรือตะโกนขอความช่วยเหลือ อาเมียร์เลือกที่จะถอยหลังกลับและวิ่งออกไปจากที่เกิดเหตุ คืนนั้นฮัสซานกลับมาพร้อมกับว่าวสีน้ำเงินด้วยร่างกายที่บอบช้ำ อาเมียร์รู้อยู่เต็มอกว่า ว่าวตัวนั้นเขาได้มาก็เพราะฮัสซานปฏิเสธ ที่จะมอบว่าวให้กับอัสเซฟเพื่อแลกกับความปลอดภัยของเขา ฮัสซานยอมพลีกายเพื่อนำว่าวตัวนั้นกลับมาให้อาเมียร์ อาเมียร์รู้สึกผิดมากขึ้นเมื่อสบตากับฮัสซาน และรู้ว่าฮัสซานเห็นเขาแอบซุ่มอยู่หลังตึกขณะที่เขาถูกรุมทำร้าย ฮัสซานเห็นเขาแต่ไม่ร้องขอความช่วยเหลือจากเขาเลย นับแต่วันนั้นอาเมียร์ไม่มีความสุขเลยที่เห็นฮัสซาน ยิ่งฮัสซานปฏิบัติต่อเขาอย่างสุภาพอ่อนน้อม ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย เขาก็ยิ่งเจ็บปวดที่ทรยศฮัสซาน ยิ่งเจ็บปวดมากเท่าไรเขาก็ยิ่งอยากกำจัดฮัสซานออกไปจากบ้าน แล้ววันหนึ่งเขาก็บอกพ่อว่า นาฬิกาและเงินของเขาหายไป ไม่นานก็พบว่าสิ่งของทั้งหมดนั้นซ่อนอยู่ใต้ฟูกนอนของฮัสซาน เมื่อพ่อของอาเมียร์ซักถามฮัสซาน แทนที่จะปฏิเสธ ฮัสซานกลับยอมรับว่าเป็นคนขโมยไป ไม่มีใครเชื่อว่าฮัสซานทำเช่นนั้น แต่นี่เป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่ฮัสซานได้พิสูจน์ถึงความภักดีต่ออาเมียร์ และ เป็นครั้งสุดท้ายเพราะไม่กี่วันต่อมา ทั้งฮัสซานและพ่อก็ขอกลับบ้าน แม้จะถูกทัดทานจากพ่อของอาเมียร์ก็ตาม อาเมียร์ดีใจที่ฮัสซานเดินออกไปจากชีวิตของเขาเสียที ต่อไปนี้ไม่มีใครที่จะเตือนใจให้เขารู้สึกผิดที่ได้ทรยศเพื่อน ไม่มีใครที่จะเปิดเผยความลับของเขาให้โลกรู้ เขายังเป็นคนดีของพ่ออยู่ต่อไป แต่นั่นเป็นความเข้าใจผิด เพราะความรู้สึกผิดยังหลอกหลอนเขาอยู่ต่อไปอีกหลายสิบปี มีทางเดียวเท่านั้นที่ความรู้สึกผิดจะเลือนหายไป นั่นคือ การกลับไปแก้ตัวด้วยการทำความดีทดแทนความผิดพลาดในอดีต เรื่องขออาเมียร์และฮัสซาน มิใช่เป็นแค่เรื่องราวของเด็กสองคนในอัฟกานิสถาน แต่เป็นเรื่องของเราทุกคน ใช่หรือไม่ว่าบางครั้งเราทำร้ายคนใกล้ชิด เพียงเพราะทนความรู้สึกผิดไม่ได้ ลึก ๆ เราอยากเป็นคนดีด้วยกันทั้งนั้น แต่ความรู้สึกผิดกลับทำให้เรารู้สึกไม่ดีกับตัวเอง แทนที่เราจะบรรเทาความรู้สึกผิดด้วยการหันมาแก้ไขตัวเอง บ่อยครั้งเราเลือกที่จะไปจัดการกับคนอื่นซึ่งมิใช่ใครอื่น แต่เป็นคนที่เราเคยทำผิดกับเขามาแล้ว เราต้องการให้เขาพ้นไปจากสายตาหรือชีวิตของเรา เพื่อเราจะได้รู้สึกดีขึ้นกับตัวเอง แต่ยิ่งแก้ปัญหาผิดจุด ความผิดพลาดก็ยิ่งพอกพูนจนส่งผลยาวไกลต่อชีวิต เช่น ทำให้ชีวิตตกต่ำลง หรือก่อผลร้ายต่อผู้อื่นต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ทั้ง ๆ ที่บางครั้งเพียงแค่สารภาพผิดหรือขอโทษ ก็ทำให้ความรู้สึกผิดนั้นเปลื้องออกไปจากใจได้ไม่น้อย ความรู้สึกผิดบางครั้งถึงขั้นก่อให้เกิดอาชญากรรมได้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวยิวในยุโรปได้ตกเป็นเหยื่อของระบอบนาซี มิใช่แต่ชาวเยอรมันเท่านั้นที่ร่วมมือในการกวาดล้างชาวยิว ชาวยุโรปในหลายประเทศก็ให้ความร่วมมือด้วย โดยเฉพาะประเทศที่รัฐบาลนาซีเข้าไปยึดครอง หนึ่งในนั้นคือโปแลนด์ อันเป็นที่ตั้งของค่ายกักกันนาซีที่มีชื่อเสียงก้องโลก อาทิ เอาชวิตช์ เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติ ชาวยิวที่เคยถูกกักกันได้กลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอน แต่สิ่งที่ได้พบก็คือ การถูกทำร้ายอย่างทารุณจากชาวโปลิช หลายคนถูกทุบตี จำนวนไม่น้อยถูกสังหาร บางครั้งถึงกับถูกฆ่าหมู่เป็นเรือนร้อย แม้แต่เด็กก็ไม่ละเว้น จนชาวยิวต้องอพยพหนีจากโปแลนด์ในเวลาไม่นาน คำถามก็คือ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร อ่านบทความทั้งหมดได้จากแหล่งที่มาที่คัดลอกมาจากบล็อกแก็งค์ Another Side Lifestyle Blog เรื่อง "เปลี่ยนผิดให้เป็นถูก" ที่ คอลัมภ์ All Blog ด้านซ้ายมือ ล่างสุด http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=anotherside&group=1 emo6::)) emo6::)) emo6::)) หัวข้อ: Re: “ความรู้สึกผิด"ควรเปลี่ยน“ผิด”ให้เป็น“ถูก”แต่อาจกลับเป็นตรงกันข้าม เริ่มหัวข้อโดย: Samrotri2517 ที่ 21 พฤษภาคม 2553, 17:21:45 (http://www.cmadong.com/imageupload/2010_Cmadong-Image/data/image/l2rlr7-4b6324.jpg) ชายจีนคนหนึ่งแบกถังน้ำสองใบไว้บนบ่าเพื่อไปตักน้ำที่ริมลำธาร ถังน้ำใบหนึ่งมีรอยแตก ในขณะที่อีกใบหนึ่งไร้รอยตำหนิ และสามารถบรรจุน้ำกลับมาได้เต็มถัง แต่ด้วยระยะทางอันยาวไกล จากลำธารกลับสู่บ้าน จึงทำให้ น้ำที่อยู่ในถังใบที่มีรอยแตกเหลืออยู่เพียงครึ่งเดียว เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ดำเนินมาเป็นเวลา2ปีเต็มที่คนตักน้ำสามารถตักน้ำกลับมาบ้านได้หนึ่งถังครึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าถังน้ำใบที่ไม่มีตำหนิจะรู้สึกภาคภูมิใจ ในผลงานเป็นอย่างยิ่ง ในขณะเดียวกันถังน้ำที่มีรอยแตกก็รู้สึก อับอายต่อความบกพร่องของตัวเอง มันรู้สึกเศร้ากับการที่มันสามารถทำหน้าที่ได้เพียงครึ่งเดียวของจุดประสงค์ ที่มันถูกสร้างขึ้นมา หลังจากเวลา 2 ปี ที่ถังน้ำที่มีรอยแตกมองว่า เป็นความล้มเหลวอันขมขื่น วันหนึ่งที่ข้างลำธาร มันได้พูดกับคนตักน้ำว่า ' ข้ารู้สึกอับอายตัวเองเป็นเพราะรอยแตกที่ด้านข้างของตัวข้า ทำให้น้ำที่อยู่ข้างใน ไหลออกมาตลอดเส้นทางที่กลับไปยังบ้านของท่าน ' คนตักน้ำตอบว่า ' เจ้าเคยสังเกตหรือไม่ว่ามีดอกไม้เบ่งบานอยู่ตลอดเส้นทางในด้านของเจ้าแต่กลับไม่มีดอกไม้ อยู่เลยในอีกด้านหนึ่งเพราะข้ารู้ว่าเจ้ามีรอยแตกอยู่ ข้าจึงได้หว่านเมล็ดพันธุ์ดอกไม้ลงข้างทางเดินด้านของเจ้า และทุกวันที่เราเดินกลับ ... เจ้าก็เป็นผู้รดน้ำให้กับเมล็ดพันธุ์เหล่านั้นเป็นเวลา 2 ปี ที่ข้าสามารถที่จะเก็บดอกไม้ สวย ๆ เหล่านั้นกลับมาแต่งโต๊ะกินข้าว ถ้าหากปราศจากเจ้าที่เป็นเจ้าแบบนี้แล้ว ... เราก็คงไม่อาจได้รับความสวยงามแบบนี้ได้ ' emo4:)) emo4:)) emo4:)) คนเราแต่ละคนย่อมมีข้อบกพร่องที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองแต่รอยตำหนิและข้อบกพร่องที่เรา แต่ละคนมีนั้นอาจทำให้การอยู่ร่วมกันของเราน่าสนใจและกลายเป็นบำเหน็จรางวัลของชีวิตได้ สิ่งที่ต้องทำก็เพียงแค่ยอมรับคนแต่ละคนในแบบที่เขาเป็น และมองหาสิ่งที่ดีที่สุดในตัว ของพวกเขาเหล่านั้นเท่านั้นเอง มองโลกหลายๆ ด้าน เพราะคนเราไม่ได้มีแต่ข้อเสียเท่านั้น emo6::)) emo6::)) emo6::)) ได้สิ่งดี ๆ นี้มาจากอีเมลล์ นำมาเป็นกำลังใจพวกเรา ที่มองตัวเองว่าบกพร่อง จะได้มีกำลังใจ emo20:)):) emo20:)):) emo20:)):) หัวข้อ: Re: “ความรู้สึกผิด"ควรเปลี่ยน“ผิด”ให้เป็น“ถูก”แต่อาจกลับเป็นตรงกันข้าม เริ่มหัวข้อโดย: nok15 ที่ 13 พฤศจิกายน 2555, 04:50:00
................ดีจัง................. ......... อ่านแล้วชื่นใจ......... พี่Nok15 หัวข้อ: Re: “ความรู้สึกผิด"ควรเปลี่ยน“ผิด”ให้เป็น“ถูก”แต่อาจกลับเป็นตรงกันข้าม เริ่มหัวข้อโดย: สมชาย17 ที่ 14 พฤศจิกายน 2555, 08:57:47 อ่านบทความ ของหมอสำเริงแล้ว รู้สึกดีทุกครั้งเลย
ทำให้รู้สึกว่า สังคมเรา ยังมีความหวัง หวังว่าจะดีขึ้นได้ในอนาคต ถ้ามีคนคิดและปฏิบัติ แบบหมอสำเริงอยู่ แยะๆ เข้ามาบ่อยๆนะครับ หมอสำเริง emo6::)) สวัสดีครับ พี่นก15 หัวข้อ: Re: “ความรู้สึกผิด"ควรเปลี่ยน“ผิด”ให้เป็น“ถูก”แต่อาจกลับเป็นตรงกันข้าม เริ่มหัวข้อโดย: ทราย 16 ที่ 14 พฤศจิกายน 2555, 09:37:37
คนที่น้องสมชายมองหา ... อย่างน้อยก็เจอะเจอในสังคมของชาวซีมะโด่งนี่ไงค่ะ หัวข้อ: Re: “ความรู้สึกผิด"ควรเปลี่ยน“ผิด”ให้เป็น“ถูก”แต่อาจกลับเป็นตรงกันข้าม เริ่มหัวข้อโดย: wannee ที่ 15 พฤศจิกายน 2555, 10:08:49 ตามเพื่อนทรายเข้ามาค่ะ หลังจากอ่านแล้วได้ข้อคิดอีกข้อค่ะ ถังน้ำใบที่มีรอยแตก ยังเป็นตัวช่วยถ่วงดุลย์(อีกข้าง) ให้ใบที่ไร้รอยตำหนิ ทำให้ชายคนนี้หาบน้ำไปได้สะดวกขึ้น ขอบคุณหมอสำเริงค่ะ |