หัวข้อ: @คิดจาก..ความว่าง@ เริ่มหัวข้อโดย: iamfrommoon ที่ 30 ตุลาคม 2549, 10:49:18 อักษรแห่งความเย็น
พาสู่ความเห็นอันเป็นกลาง เมื่อรู้จักว่างแล้วคิด เรียกว่าคิดจากความว่าง โดย ดังตฤณ ว่างจากงานจำใจจำเจ ทุกผลงานมีผลตอบแทน แม้ที่นึกว่าไม่มีใครเห็น นึกว่าทำเล่นเสียเวลาเปล่า นึกว่าทำแล้วไม่มีรางวัลอันใดรอ ผลตอบแทนของงานที่ไม่หวังผลตอบแทน คือการรู้จักใจจริงของตัวเอง คือการรู้จักความเคลื่อนไหวด้วยใจจริง และคือการรู้จักค่าที่แท้จริงของใจจริง ผ่านความสุขละไมในการก่อร่างสร้างงาน ผ่านมหาปีติในผลงานที่สำเร็จเสร็จสมบูรณ์ แต่งานย่อมมีเส้นทางก้าวหน้า เมื่อรักงานใดจริง ทำสิ่งใดต่อเนื่องเนิ่นนาน สิ่งนั้นย่อมเติบโตขึ้น และมีพลังสนองคุณสมน้ำสมเนื้อ ถ้าไม่เคยคิดถึงผลตอบแทน อย่างน้อยต้องให้ผลตอบแทนเกินกว่าที่คิด ความกลัวสั่งให้เรานึกถึงอนาคตก่อน ค่านิยมสั่งให้เราถามหาผลตอบแทนก่อน ความละโมบสั่งให้เราเก็งกำไรก่อน สังคมสั่งให้เราเสาะแสวงความมั่งคั่งก่อน กระทั่งเราลืมไปสนิท ว่าปัจจุบันต้องมาก่อนอนาคต งานต้องมาก่อนผลตอบแทน ความเป็นสุขต้องมาก่อนกำไร ความพอใจต้องมาก่อนความมั่งคั่ง การว่างจากความกลัวอนาคต จะทำให้เรากล้าเผชิญกับปัจจุบันอย่างมีสติ การว่างจากค่านิยมเรียกร้องผลตอบแทน จะทำให้เรานิยมทำงานเพื่อให้เกิดผลของงาน การว่างจากความโลภเก็งกำไร จะทำให้เรามักน้อยและรู้จักเสพสุขจากความนิ่ง การว่างจากความอยากมีฐานะทางสังคม จะนำเราออกจากงานจำใจจำเจ แล้วหันเหทิศของการมองกลับมาสู่ใจจริง ได้เริ่มต้นคิดออกมาจากใจจริง ได้เริ่มต้นพูดออกมาจากใจจริง กระทั่งสุดท้ายก่อให้เกิดใจจริง ที่ว่างจากงานจำใจจำเจ หัวข้อ: @คิดจาก..ความว่าง@ เริ่มหัวข้อโดย: too_ploenpit ที่ 30 ตุลาคม 2549, 12:03:09 ...อ่านแล้วนะจ๊า...ดีจ้า... :lol:
หัวข้อ: @คิดจาก..ความว่าง@ เริ่มหัวข้อโดย: iamfrommoon ที่ 31 ตุลาคม 2549, 13:27:05 ว่างจากอคติ
สายตาแจ่มใส ภาพใกล้ไกลจึงกระจ่าง จะเดินก็ตรงทาง เจอหลุมพรางก็ข้ามง่าย จิตไม่เบี้ยวบิด ความคิดจึงเป็นกลาง จะรู้ก็ตรงจริง พูดหรือนิ่งก็พลาดยาก อคติเกิดขึ้นเพราะใจทึบ ทึบด้วยรักจึงคิดเข้าข้าง ทึบด้วยโกรธจึงอยากกลั่นแกล้ง ทึบด้วยกลัวจึงจำพินอบพิเทาเอาใจ ทึบด้วยเขลาจึงหลงเห็นผิดเป็นชอบ อคติหายไปเพราะใจว่าง ว่างจากความหน้ามืดเพราะรัก ว่างจากความจุกอกเพราะชัง ว่างจากความใจหดเพราะกลัว ว่างจากความอับทึบเพราะเขลา แม้ยังรักก็ไม่จำเป็นต้องเข้าข้าง แม้ยังชังก็ไม่จำเป็นต้องกลั่นแกล้ง แม้ยังกลัวก็ไม่จำเป็นต้องพินอบพิเทาเอาใจ แม้ยังเขลาก็ไม่จำเป็นต้องเห็นผิดเป็นชอบ เพียงฝึกที่จะเป็นกลาง ตัดสินทุกสิ่งตามที่เป็น เห็นทุกคนตามที่ทำ เป็นฝ่ายครอบงำอคติ ไม่ปล่อยให้อคติครอบงำตน หัวข้อ: @คิดจาก..ความว่าง@ เริ่มหัวข้อโดย: iamfrommoon ที่ 01 พฤศจิกายน 2549, 10:08:56 ว่างจากรอยร้าว
ก้อนหินพุ่งกระทบกำแพงศิลาเกิดเสียงดัง ความดังของเสียงนั้นสงบเงียบลงในพริบตา ก้อนหินหล่นกระทบผิวน้ำเกิดระลอกคลื่น วงคลื่นนั้นขยายเนิบออกไปสู่ความสิ้นสุดที่ขอบสระ ก้อนหินเข้ากระทบแผ่นแก้วเกิดรอยร้าว รอยร้าวนั้นคงที่อย่างยากจะประสานคืน ส่ำเสียงและรูปลักษณ์นานา กระทบตาแล้วเกิดปฏิกิริยาทางใจ น้อยคนมีใจเหมือนกำแพงศิลาที่ดังวูบเดียวแล้วเงียบหาย หลายคนมีใจเหมือนผืนน้ำจำกัดเขตความกระเพื่อม ส่วนใหญ่มีใจเหมือนแผ่นแก้วเปราะบางพร้อมร้าวถาวร ใจที่ว่างจากรอยร้าว ต้องแกร่งแน่นเหมือนหินผา หรือนุ่มเย็นดุจลำน้ำเรียบ ไม่มีใครใจแกร่งตั้งแต่เกิด ความแกร่งเกิดจากขันติและอุเบกขา ขันติคือตั้งใจอดกลั้นไม่หุนหันพลันแล่น อุเบกขาคือเห็นโทษของการถือสาและประโยชน์ของการวางเฉย ไม่มีใครใจเย็นตั้งแต่เกิด ความเย็นเกิดจากเมตตาและอุเบกขา เมตตาคือปรารถนาดีต่อผู้อื่นเสมอตน อุเบกขาคือเห็นตามจริงว่าทุกคนไม่ได้ทำใครมากกว่าทำตัวเอง หัวข้อ: @คิดจาก..ความว่าง@ เริ่มหัวข้อโดย: too_ploenpit ที่ 01 พฤศจิกายน 2549, 11:58:51 ...ลงมาเรื่อยๆนะจ๊ะ...น้องปุ๊กกี้...ตามอ่านอยู่จ้า... :lol: :lol: :lol:
หัวข้อ: @คิดจาก..ความว่าง@ เริ่มหัวข้อโดย: iamfrommoon ที่ 07 พฤศจิกายน 2549, 11:32:34 ว่างจากความพ่ายแพ้
แข่งแพ้ สนามแข่งเหมือนหนามแหลม ทิ่มตาที่เห็น แทงใจที่คิด แข่งชนะ สนามแข่งเหมือนน้ำเย็นฉ่ำ ไล้ตาที่เห็น โลมใจที่คิด วันหนึ่งแข่งแพ้ วันหนึ่งแข่งชนะ ภาพสนามแข่งต่างไป ดุจจะไร้ภาพจริง แข่งหลายคน ชนะเพียงหนึ่งเดียว โลกจึงเต็มไปด้วยผู้แพ้ ใต้หล้าจึงแทบร้างผู้ชนะ แข่งคนเดียว เหมือนไม่ชื่อว่าแข่ง เหมือนไม่ชื่อว่าแพ้ เหมือนไม่ชื่อว่าชนะ เมื่อใจตัวเองคือคู่แข่ง และสนามแข่งคือใจตัวเอง เส้นชัยอยู่ที่ใจ เพียงถึงเส้นชัยครั้งเดียว ก็คว้าชัยที่เด็ดขาด พรั่งพร้อมอำนาจที่เกรียงไกร เพราะไม่ต้องแพ้ใครอีกทั้งโลก หัวข้อ: @คิดจาก..ความว่าง@ เริ่มหัวข้อโดย: iamfrommoon ที่ 29 มกราคม 2550, 09:03:29 เดี่ยวได้ไม่ต้องเหงา
หนุ่มขี้เหงาเดินทางไปหาทางเอาชนะความเหงากลางป่า พบชายลึกลับคนหนึ่ง บทสนทนาจึงเริ่มขึ้น คุณเป็นใคร? “ผมเหรอ… ขออนุญาตยักไหล่ทีนึง… เป็นแค่อีกคนที่จะต้องตายไป” ชอบคิดชอบพูดเรื่องตายๆบ่อยหรือ? “ผมถูกสอนให้คิดถึงความตายบ่อยๆ และถึงแม้จะไม่ใช่สัปเหร่อ ผมก็ได้เห็นความจริงที่ต้องยอมรับบ่อยๆ” ถ้าศรัทธาความตายนัก จะเลี้ยงชีวิตไว้ทำไม? “เพราะผมถูกสอนให้เตรียมตัวตายด้วยการมีชีวิตที่ดีที่สุด” การมีชีวิตที่ดีที่สุดคืออะไร? “มีขันติในการงดกรรมชั่ว มีความอุตสาหะในการเพิ่มกรรมดี มีความเข้าใจเส้นทางพ้นทุกข์” ความรู้เรื่องกรรมวิบากทำให้คุณแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร? “ทำให้เห็นว่าผมตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกับคนอื่น ความเห็นนั้นแหละที่ทำให้แตกต่างจากคนอื่น” แปลว่าคนที่รู้เรื่องกฎแห่งกรรมวิบากสูงส่งกว่าคนอื่นหรือเปล่า? “ผมไม่ได้ถูกสอนเรื่องกรรมวิบากอย่างเดียว ผมถูกสอนให้มีสติแม้ขณะกำลังนั่งส้วม และจากการมีสติตอนนั่งส้วมบ่อยๆ ก็ทำให้ผมพบความจริงว่าตัวเองไม่ได้สูงส่งกว่าคนอื่นเลยจนนิดเดียว” ถ้าวันหนึ่งคุณเดินเข้าห้องนอนแล้วเจอแบบว่าขาวสวยหมวยอึ๋มนอนแก้ผ้ารออยู่ คุณจะทำยังไง? “ผมจะถามเธอว่าเข้าห้องผิดหรือเปล่า ถ้าเธอตอบว่าไม่ผิด ผมจะถามว่าอย่างนั้นเธอเข้าใจอะไรผิดหรือเปล่า” เสร็จแล้วคุณจะยอมให้เธออยู่ในห้องต่อหรือว่าไล่เธอออกจากห้อง? “ผมไม่ชอบทำให้ใครเขิน ถ้าต้องทำก็จะเลือกให้เขาเขินน้อยที่สุด เพราะฉะนั้นผมจะเป็นฝ่ายเดินออกจากห้องเอง” อือม์… จิตใจคุณสูงส่งมากว่างั้นเถอะ? “เปล่าเลย… ผมรู้ตัวดีว่าเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง แต่ถูกสอนให้กลัวความเดือดร้อนจากการก่อเรื่องด้วยความไม่รู้ ถ้าเรื่องสมมุติของคุณเป็นความจริง คุณนึกว่าผู้หญิงเขาไม่ต้องมีเหตุผลที่น่าระแวงอยู่เบื้องหลังบ้างหรือ?” เหงาครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่? “นานแล้ว ตอนยังไม่ทราบวิธีอยู่กับตัวเองด้วยจิตใจที่เบิกบาน” มันทำกันได้ด้วยเหรออย่างนั้นน่ะ? “คุณอยากให้เกิดอะไรขึ้นก็มีวิธีทั้งนั้นแหละ ใครจะทราบหรือไม่ทราบวิธีเท่านั้น” อ้ะ! ไหนบอกวิธีแบบสั้นที่สุด ง่ายที่สุดซิ “รู้” หือ? รู้อะไร? “มีอะไรให้รู้ก็รู้” ไม่เข้าใจ “คุณต้องการวิธีง่ายๆ ใช้คำสั้นๆ ผมก็ตอบให้ตามต้องการไง แล้วในที่สุดคุณก็พบใช่ไหมว่ามันเป็นไปไม่ได้ คนเราชอบนึกว่าการเปลี่ยนแปลงชีวิตทั้งชีวิตอาศัยคำเพียงไม่กี่คำ” เอาล่ะ! อย่างนั้นขอคำอธิบายแบบละเอียดๆก็ได้ “ตอนเหงา คุณมีความเหงาให้รู้ ตอนฟุ้งซ่าน คุณมีความฟุ้งซ่านให้รู้ เมื่อคุณรู้อาการใดของจิต อาการนั้นจะหายไปให้ดูเหมือนพยับแดด” ถ้ารู้ความเหงา รู้ความฟุ้งซ่าน แล้วมันไม่หายเหงา ไม่หายฟุ้งซ่านล่ะจะทำยังไง? “ก็แปลว่าคุณต้องทำตามขั้นตอนแบบไม่ก้าวกระโดด” โอเค! ไม่กระโดดก็ได้ ก้าวแรกทำยังไง? “ผมถูกสอนให้เห็น ว่าขณะนี้ลมหายใจกำลังเป็นอย่างไร ถ้าบอกตัวเองเงียบๆได้ถูกว่าเข้าหรือออก จิตจะเลิกมองไปข้างหลัง ไม่หวังไปข้างหน้า หันมาอยู่กับปัจจุบันจริงๆ” ต้องรู้ลมหายใจแค่ไหนถึงจะพร้อมรู้อย่างอื่น? “จิตคุณจะบอก ไม่ใช่ผมบอก” ถ้านานเป็นปีๆคงท้อเสียก่อนแน่ “ถ้ารู้บ้างพักบ้างสบายๆแบบไม่คาดหวังผล คุณจะเป็นคนมีความสุขทางใจที่ได้เป็นตัวของตัวเองเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ คนเราต้องท้อที่จะมีความสุขทางใจไปเรื่อยๆด้วยหรือ?” พอรู้ลมหายใจจนมีความสุขทางใจจะให้ทำอะไรต่อ? “รู้ความสุข มองตามจริงว่าความสุขไม่เที่ยง เดี๋ยวสุขมาก เดี๋ยวสุขน้อย แล้วแปรเป็นทุกข์น้อยบ้าง ทุกข์มากบ้าง มันขึ้นอยู่กับว่าใจคุณตั้งอยู่กับเหตุแห่งสุขหรือเหตุแห่งทุกข์” พอเห็นชัดว่าสุขทุกข์ไม่เที่ยงจะให้ทำอะไรต่อ? “นั่นแหละ คุณพร้อมจะรู้จักวิธีใช้ชีวิตอย่างไม่เหงาแล้ว พอเหงาก็รู้ว่าเหงา พอฟุ้งซ่านก็รู้ว่าฟุ้งซ่าน เมื่อจิตตื่นรู้ตลอดเวลา คุณจะไม่อ่อนแอแล้วแช่จมอยู่กับอาการชั่วคราวใดๆของจิต แต่จะเห็นมันเหมือนลมหายใจ เห็นมันเหมือนสุขทุกข์ ที่เกิดขึ้นด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา” ความฟุ้งซ่านต้องมีเหตุด้วยหรือ? เห็นแต่ว่าอยู่ดีๆมันก็ฟุ้ง “คุณไม่ได้อยู่ ‘ดี’ จริงน่ะซี คุณอยู่เฉื่อยๆเรื่อยเปื่อยแบบขาดสติ เป็นการใช้ชีวิตอยู่อย่าง ‘ไม่ดี’ ต่างหาก เหตุคือความขาดสตินั้นแหละทำให้ฟุ้งซ่าน” โอย! แค่ฟังก็เหนื่อยแล้ว แปลว่าต้องพยายามมีสติไปจนชั่วชีวิตหรือนี่? “ไม่หรอก การปฏิบัติอย่างนี้จะนำไปสู่ชีวิตใหม่ที่คุณไม่รู้จัก ถ้าฝึกมีสติไปเรื่อยๆ คุณจะฝืนพยายามน้อยลงเรื่อยๆจนเป็นอัตโนมัติ แล้วในที่สุดคุณจะมีสติโดยไม่ต้องตั้งสติ” จุดหมายสูงสุดของการปฏิบัติแบบนี้คืออะไร? “ที่สุดทุกข์” เอาอะไรวัด? “ไม่เป็นทุกข์ทางใจอีก” หมายถึงพระนิพพาน? “ใช่” ฉะนั้นควรหวังพระนิพพานเพื่อเป็นกำลังใจในการปฏิบัติใช่ไหม? “ผมถูกสอนให้ ‘รู้จัก’ พระนิพพานเพื่อความ ‘เข้าใจ’ จุดหมายปลายทาง แต่ไม่ได้ถูกสอนให้หวังว่าจะต้องถึงซึ่งนิพพานเมื่อนั่นเมื่อนี่” ใครสอนคุณ? “ผู้ก่อตั้งพระพุทธศาสนา สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้านามว่าพระโคดม” *********************************************************** ถ้ายังต้องทุกข์ อย่างไรก็เป็นแค่คนธรรมดาอีกคนหนึ่ง ถ้าดับทุกข์ได้ อย่างไรก็เป็นแค่อีกคนหนึ่งที่จะต้องตายไป หัวข้อ: @คิดจาก..ความว่าง@ เริ่มหัวข้อโดย: iamfrommoon ที่ 29 พฤษภาคม 2550, 15:36:43 ธรรมะแบบเย็น
โดย ดร.บุญชัย โกศลธนากุล การปฏิบัติธรรมที่ทำให้จิตใจมีความสงบ ผ่องใส เบาสบาย ไร้ซึ่งข้อกังขา มีพลังในการดำเนินชีวิต และช่วยยกสภาวะจิตใจให้สูงขึ้น มีดังนี้ 1. มีความเมตตากรุณา การมีความเมตตากรุณาในที่นี้คือ ความพยายามสร้างความเมตตาให้เกิดขึ้นทั้งทางกาย วาจา และทางใจ โดยจะต้องตั้งอยู่บนความพอดี เมื่อให้ความช่วยเหลือผู้อื่นแล้วตัวเราจะต้องไม่เดือดร้อน อานิสงส์ของการมีความเมตตากรุณาคือ หน้าตาเปล่งปลั่ง ผ่องใส มีโชคลาภ วาสนาและบารมี ปราศจากศัตรูและผู้ปองร้าย เทพเทวดาจะแซ่ซ้องสรรเสริญ ไปที่ไหนมีแต่คนรักใคร่ให้ความเมตตา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสสอนว่า การให้ทานมีสาเหตุและก่อให้เกิดอานิสงส์ 5 ประการ ดังนี้ 1) การให้ด้วยความศรัทธา มีอานิสงส์คือ ทำให้มีผิวพรรณผ่องใส บุคลิกและหน้าตางดงาม 2) การให้ด้วยความเคารพ มีอานิสงส์คือ บุคคลรอบข้างเช่น สามี ภรรยา บุตร และลูกน้อง จะรัก เคารพ และเชื่อฟัง 3) การให้ในเวลาที่เหมาะสม มีอานิสงส์คือ โชคลาภต่าง ๆ จะบังเกิดกับเราในเวลาที่เหมาะสม 4) การให้ด้วยความเมตตาสงสาร มีอานิสงส์คือ ได้สัมผัสและพบเจอแต่สิ่งที่เจริญหูเจริญตา เช่น รูปลักษณ์ที่สวยงาม เสียงที่ไพเราะ กลิ่นที่หอมหวน และอาหารที่เลิศรส เป็นต้น 5) การให้ด้วยความเต็มใจ ปราศจากการดูถูกดูแคลน หรือไม่มีการให้แบบ “ขอไปที” มีอานิสงส์คือ ทรัพย์สมบัติทั้งหลายจะคงอยู่ตลอดกาล นอกจากอานิสงส์ดังกล่าวแล้ว “การให้” ทั้ง 5 สาเหตุยังส่งผลให้บังเกิดความมั่งคั่งร่ำรวยตามมาอีกด้วย ความเมตตากรุณาที่มีอานิสงส์สูงสุดคือ การให้สิ่งที่ควรให้ แก่บุคคลที่ควรรับ ในเวลาที่เหมาะสมโดยไม่คำนึงว่า ใครเป็นผู้ให้ และใครเป็นผู้รับ การให้จะต้องไม่มีเงื่อนไขและไม่มีการเลือกปฏิบัติ และไม่ควรจำกัดขอบเขตอยู่ในกลุ่มญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูง หรือกลุ่มคนที่เรารู้จัก นอกจากนั้น การให้ในที่นี้ มิได้หมายถึงการให้วัตถุสิ่งของเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการให้ความรู้ ให้รอยยิ้ม น้ำใจ กำลังใจ หรือความช่วยเหลืออีกด้วย และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อให้แล้ว ให้หันหลัง และลืมสิ่งเหล่านั้นไปเสีย ไม่ต้องภูมิใจในความดีของตน ไม่ต้องรอคอยให้อีกฝ่ายรู้ซึ้งถึงบุญคุณของเรา และไม่ต้องตั้งตาคอยว่าเมื่อไรผลบุญดังกล่าวจะบังเกิดผล เพราะการให้เช่นนี้ถือว่าเป็นการให้ที่หวังผลตอบแทน นอกจากจะไม่เกิดผลบุญแล้วอาจจะเป็นการเพิ่มตัวกูของกูในจิตใจ ซึ่งเรียกว่าเป็นการเมตตากรุณาที่ผิดวิธี 2. พึงตระหนักเสมอว่า สรรพสิ่งในโลกนี้ ล้วนเป็นเพียงโลกสมมติ อย่าไปยึดมั่นถือมั่นอะไรมากนัก แต่เราจะพยายามทำสิ่งต่าง ๆ ให้ดีที่สุดในแต่ละวัน และพยามยามแบ่งปันช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอกว่า ในที่นี้คือ การที่เราสามารถอาศัยอยู่บนโลกและทำหน้าที่ตามที่โลกสมมติกำหนดมาได้อย่างดีที่สุด โดยที่จิตใจจะต้องไม่เป็นทุกข์ เศร้าหมอง หรือไม่รุ่มร้อน ไปกับความโกรธเกลียดอาฆาตแค้น ความทะยานอยาก ความโลภโมโทสัน ความเบื่อหน่ายเซ็งชีวิต ความเคร่งเครียดเป็นกังวล ความฟุ้งซ่านสับสน และความลังเลสงสัยไม่แน่ใจในชีวิต 3. ทำใจให้โล่งโปร่งสบายในทุกสภาวะ พยายามทำจิตใจให้ผ่องใสเยือกเย็นดั่งน้ำในลำธาร จิตใจจะต้องสงบและผ่องใส ความสงบเกิดจากการที่จิตมีสมาธิ ไม่ฟุ้งซ่าน และความผ่องใสมาจากปัญญา ซึ่งในที่นี้หมายถึง การเตรียมจิตใจให้รับได้ในทุกสภาวะได้แก่ ความสมหวังและความผิดหวัง ความสุขและความทุกข์ คำสรรเสริญและคำนินทา การได้รับและการสูญเสีย เป็นต้น 4. หายใจลึก ๆ อย่างสม่ำเสมอ ความทุกข์ของมนุษย์มีสาเหตุมาจากความคิดที่เป็นอกุศล ฉะนั้น ถ้าอยากมีความสุขก็ต้องหยุดความคิด แต่การจะหยุดความคิดได้ จิตต้องมีกำลังในระดับหนึ่งก่อน การสร้างจิตให้มีพลังทำได้โดยการหายใจลึก ๆ และจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้าออก หรือเรียกว่าอานาปาณสติ ซึ่งเป็นกรรมฐานเพียงกองเดียวที่จะป้องกันความฟุ้งซ่านได้ ในทางกลับกัน เมื่อเราหยุดความคิดอันเป็นอกุศลได้แล้ว ก็ให้เพียรพยายามคิดแต่สิ่งที่ดีและมีประโยชน์ และไม่หวนกลับไปคิดสิ่งที่เป็นอกุศลอีก จึ่งจะเป็นการหยุดความทุกข์และสร้างความสุขอย่างแท้จริง 5. พูดจาให้สุภาพ นุ่มนวล ชัดถ้อยชัดคำ ได้จังหวะจะโคน น่าชวนฟัง พูดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ฟังแล้วสบายใจ มีความหวัง และมีกำลังใจ เวลาพูดให้มีสติ ค่อย ๆ พูด และให้ระมัดระวังน้ำเสียง เพราะน้ำเสียงสามารถสะท้อนสภาวะจิตใจของผู้พูดออกมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในตอนที่เราจะต้องพูดกับคนที่เราไม่ชอบหน้า หรือคนที่เคยทะเลาะเบาะแว้งกันมาก่อน และจำเป็นจะต้องพบปะเจอะเจอกันอยู่เป็นประจำ เจอกันเมื่อไรเป็นต้องได้มีการปะทะคารมกันอยู่ร่ำไป จิตใจรุ่มร้อนไปด้วยความโกรธแค้นและขุ่นเคือง หาความสุขมิได้ ฉะนั้น วิธีนี้จะเป็นวิธีที่จะช่วยป้องกันการทะเลาะเบาะแว้งได้เป็นอย่างดี เพราะในขณะที่เราพยายามพูดจาให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จิตใจของเราจะจดจ่อกับคำพูดและน้ำเสียง จนทำให้ลืมเรื่องที่บาดหมางในอดีตไปได้ในชั่วเวลาหนึ่ง เมื่ออีกฝ่ายได้สัมผัสถึงกิริยาที่เป็นมิตรจากเรา เขาจะรู้สึกประหลาดใจ และจะหันมาสนใจฟังในสิ่งที่เราพูด 6. ฝึกความรู้สึกทั่วทั้งสรรพางค์กายและความรู้เนื้อรู้ตัวในทุก ๆ อิริยาบถ ฝึกความรู้เนื้อรู้ตัวให้ละเอียดและต่อเนื่องให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะการเอาจิตใจไปจดจ่ออยู่ที่การเคลื่อนไหวของร่างกายจะเป็นการเปลี่ยนที่ยึดเกาะของจิต จากเกาะที่ความคิดมาเป็นเกาะที่กายแทน เมื่อนั้นจิตจึงจะหยุดคิดได้ จิตจึงได้พัก ความฟุ้งซ่าน ความเครียด ความเศร้าหมองใจจะน้อยลง จิตจึงมีกำลังเพิ่มขึ้น มีความสงบและเบาสบายตามมา นอกจากเอาจิตไปเกาะที่ฐานกายแล้ว ให้หัดเคลื่อนจิตไปเกาะที่ฐานอารมณ์โดยการมองอารมณ์ของตนเองตลอดเวลาว่า ขณะนี้เรารู้สึกอย่างไร สุข ทุกข์ หรือเฉย ๆ เมื่อจิตใจเริ่มเกิดความทุกข์ให้พิจารณาต่อว่าทุกข์ด้วยสาเหตุใด เช่น ความโลภโมโทสัน อยากได้สิ่งใดในเวลาที่ไม่เหมาะสม ความอยากได้อยากมีอยากเป็น ความไม่อยากได้ไม่อยากมีไม่อยากเป็น ความอิจฉาริษยา ความโกรธเกลียดอาฆาตแค้น ความลังเลสงสัย ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ และความซึมเศร้าง่วงเหงาหาวนอน เป็นต้น หลังจากนั้น ให้พิจารณาข้อธรรมบางประการเพื่อให้จิตใจเกิดการลดลงวางตัวกูของกู เช่น เราอยู่ในโลกนี้อย่างมากก็ไม่เกินร้อยปี จะต่อสู้แย่งชิงให้มันทุกข์ใจกันไปทำไม ทุกข์สมุทัยนิโรธมรรคนี่เป็นความจริงแห่งสังสาระ หรือโลกนี้เป็นเพียงโลกสมมติจะเอาอะไรกันนักอะไรกันหนาทำใจให้มันสบายดีกว่า เป็นต้น 7. ฝึกควบคุมความคิด เลือกคิดแต่สิ่งที่มีประโยชน์และมีความสุข การจะควบคุมความคิดได้จะต้องเริ่มจากการรู้จักหยุดความคิดที่ฟุ้งซ่านเสียก่อน ซึ่งอาจจะทำได้ด้วยวิธีการกำหนดลมหายใจ หรือการใช้สัจจธรรมบางประการเพื่อให้จิตใจเกิดการปล่อยวาง เช่น การอยู่ไม่นานก็ต้องจากโลกนี้ไปแล้ว ขณะที่มีชีวิตอยู่เราจะทำตัวให้เป็นประโยชน์แก่สังคมได้อย่างไร เป็นต้น การระลึกถึงความตายว่า เป็นของไม่เที่ยง จะช่วยทำลายความเป็นตัวกูของกูได้เป็นอย่างดี และเป็นการตั้งอยู่ในความไม่ประมาท อย่างไรก็ดี การระลึกถึงความตายนั้น ไม่เหมาะสมกับบุคคลที่เป็นโทสะจริต เพราะจะทำให้จิตใจมีความโหดร้ายและเกรี้ยวกราดมากยิ่งขึ้น ส่วนจริตอื่นสามารถพิจารณาถึงมรณานุสตินี้ได้หมด หัวข้อ: @คิดจาก..ความว่าง@ เริ่มหัวข้อโดย: iamfrommoon ที่ 01 มิถุนายน 2550, 09:02:01 ขอนำสรุปจากคุณบัวดิน...ลานธรรมเสวนา ที่ไปฟัง "คิดเป็น" ของพระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ เจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ จ.อุบลราชธานีมาให้ได้อ่านกันค่ะ
วันนี้ได้ไปร่วมฟังธรรม เรื่อง "คิดเป็น" โดยพระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ ที่โรงแรมคอนติเนนตัลค่ะ บรรยากาศดีมากๆ ธรรมะพิธีกร ใช้คำว่าสถานที่อันสัปปายะ ก็เห็นจริงดังนั้นค่ะ เพราะแม้ว่าโรงแรมดูออกจะเป็นสถานที่ที่เกี่ยวเนื่องกับทางโลกอยู่มาก และตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯนั้นไม่น่าจะสัปปายะได้ แต่ที่ได้สัมผัสมาวันนี้...เป็นได้ค่ะ ด้วยจำนวนผู้เข้าฟังร่วม 1200 คน แต่ห้องเงียบมาก ห้องแกรนด์บอลลูมที่กว้างขวางถูกจัดเรียงเก้าอี้ขาวอย่างเรียบร้อย อากาศเย็นพอดี และเงียบ ผู้คนก็ล้วนยิ้มแย้มแจ่มใส แม้ดิฉันจะไปคนเดียวแต่ก็ไม่ได้รู้สึกโดดเดี่ยวเลย เพราะทุกคนดูเป็นมิตร และพร้อมจะเป็นกัลยานมิตรในการปฎิบัติดีปฎิบัติชอบกันถ้วนทุกคน เมื่อพระอาจารย์เริ่มบรรยายธรรม ดิฉันตั้งใจฟังเป็นพิเศษ และพยายามเก็บถ้อยคำสำคัญ เพราะตั้งใจนำมาเป็นของฝากกับเพื่อนในลานธรรม แต่ก็ทำได้ตามกำลังสติปัญญาเท่าที่พอจะมีค่ะ อาจจะเก็บความไม่ครบถ้วน ต้องกราบขออภัยไว้ ณ ที่นี้ค่ะ และหากมีข้อความส่วนใดขาดตก บกพร่อง หรืออาจจะไม่ถูกต้องครบถ้วน ขอความกรุณาเพื่อนๆที่ได้ไปร่วมฟังท่านอื่นๆช่วยแก้ไข เพิ่มเติมได้ ด้วยความยินดีค่ะ ในที่นี้ดิฉันขอสรุปธรรมะบรรยายเรื่อง "คิดเป็น" สังเขป ดังนี้ค่ะ ความคิดของมนุษย์เป็นเรื่องธรรมดา เราทั้งหลายล้วนเป็นเหยื่อของความคิด และมีปัญหาทางด้านจิตใจอันเกิดจากเรารู้ไม่เท่าทันความคิด และเกิดจากการคิดไม่เป็น คิดไม่ถูกต้อง เราทุกคนชอบการเป็นคนมีเหตุ-ผล และมองเหตุผลว่าเป็นคุณสมบัติที่พึงประสงค์ แต่เราก็ไม่เคยได้สำรวจเหตุผลของเราว่ามันมีคุณภาพมากแค่ไหนเพียงใด เรามักผลิตเหตุผลขึ้นมาเป็นข้ออ้างให้กับพฤติกรรมของเรา หลอกลวงตัวเองอยู่ตลอดเวลา สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เกิดจากความยึดมั่นถือมั่นในภาพลักษณ์ของตนเอง เชื่อว่าตัวเองเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ เช่น เวลาทำสิ่งใดสำเร็จก็ให้เหตุผลว่าเพราะว่าเราเก่ง เราดี เรามีความสามารถ นี่คือเรา แต่พอเวลาทำสิ่งใดไม่สำเร็จก็ให้เหตุผลว่าเพราะเราไม่เอาจริง เพราะเราไม่มีเวลาทุ่มเทอย่างจริงจัง เป็นต้น เราควรวางใจเป็นกลาง และถามตัวเองบ่อยๆว่า "อะไรคือความเชื่อที่เป็นพื้นฐานของเหตุและผลของเรา" องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า มนุย์มีศักยภาพที่จะบรรลุธรรม สามารถชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ได้ และผู้ทำกรรมเช่นไรย่อมได้รับผลของกรรมนั้น แต่กระนั้นพระองค์ก็ไม่ได้บอกให้พุทธศาสนิกชนเชื่อเช่นนั้น หากแต่ให้เรานำมาเป็นข้อสมมติฐานเพื่อนำไปสู่การพิสูจน์ เราจึงต้องพยายามพิสูจน์ด้วยการปฎิบัติด้วยตนเอง ด้วยการปฎิบัติ ทาน ศีล และภาวนา และเมื่อเราปฎิบัติภาวนาเราจะมีความคิดที่ดีบนพื้นฐานของความเชื่อที่ถูกต้อง การภาวนาไม่ได้มุ่งให้เราหยุดคิด แต่ช่วยให้เราจัดการกับความคิดที่ไม่เป็นประโยชน์ และช่วยขจัดจิตใจที่วกวนและความทุกข์จากการคิดมากได้ เราจะเป็นผู้ที่มีเหตุ-ผลที่ดีได้ก็ต่อเมื่อเราไม่ได้รับความกดดันจากสิ่งรอบตัว ไม่ได้ถูกกระทบด้วยอารมณ์ต่างๆ และไม่มีอคติ ทั้งนี้การภาวนาจะช่วยป้องกันเราจากสิ่งเรานั้นได้ เพราะเมื่อเราฝึกปฎิบัติเราจะมีจิตที่เข้มแข็ง มีความเป็นปกติ และมีความเป็นกลาง เหตุผลที่ออกมาจากจิตที่เข้มแข็ง เป็นปกติ และมีความเป็นกลางย่อมเป็นเหตุผลที่ถูกต้อง ความคิดเป็นคือ (1) ไม่ด่วนสรุปสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ไม่อคติ เมื่อได้ยินได้ฟังเรื่องใดควรพิจารณาให้รอบคอบ มีข้อมูลที่ครบถ้วน เช่น เมื่อเราได้ยินข่าวว่าร้ายคนที่เราเคารพ เราก็จะมีอคติต่อเรื่องที่ได้ยินได้ฟังทันทีว่าไม่จริง และก็จะโกรธ ซึ่งใครที่มีอคติก็ถือว่าผิดแล้ว และเราก็ไม่ควรโกรธเพราะการโกรธแสดงถึงจิตใจที่ไม่ปกติไม่เป็นกลาง (2) ไม่สรุปความคิด ความรู้สึก และจิตใจของคนอื่น เพราะเรายังไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติถึงขั้นที่จะหยั่งรู้จิตใจของผู้อื่นได้ ดังนั้นเมื่อเราไม่รู้เราต้องรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้อื่น ยอมรับในสิ่งที่ตนเองไม่รู้ และถึงแม้เราจะรู้และมีความเชื่อ แต่สิ่งที่เรารู้และสิ่งที่เราเชื่อมั่นก็อาจจะไม่จริงได้ (3) เราต้องเรียนรู้เรื่องความลำเอียงของตนเอง ซึ่งมาจากอคติ เช่นเมื่อเราได้ยินเรื่องไม่ดีของคนที่เราไม่ชอบ เราก็จะเชื่อว่าเขาเป็นคนไม่ดีจริงๆ ในทางตรงกันข้ามเมื่อเราได้ยินได้ฟังเรื่องดีๆของคนที่เราชอบ เราก็จะคิดว่าเขาดีจริงๆ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลเราไม่ได้คิดมาจากความเชื่อที่เป็นกลาง ด้วยจิตที่เป็นปกติ แต่เราคิดจากความลำเอียง ดังนั้นเราต้องเรียนรู้จากความลำเอียงของตนเอง (4) เราต้องระมัดระวังภาษาที่เราใช้เมื่อเราคุยกับตัวเอง ภาษาที่เราใช้มีผลต่อความคิดของเรามาก เช่น นาย กอ พูดว่า "งานนี้ผมทำแบบค่อยเป็นค่อยไป" แต่นาย ขอ ใช้ว่า "มัวแต่โอ้เอ้ " ซึ่งถ้อยคำทั้งสองนำเราไปสู่ความคิดที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นภาษาที่เราใช้อาจชวนให้เกิดอคติ เกิดกิเลสได้ เราพึงระมัดระวังภาษาในความคิดของเรา ความคิดมันก็สักแต่ว่าความคิด เป็นของธรรมชาติ ความคิดไม่ใช่เรา เมื่อเราจาม เราพูดว่าฉันจาม จามเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ใช่ของเรา แต่เมื่อเราคิด เราพูดว่าฉันคิด ความคิดเป็นเรา เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น เมื่อเรายึดมั่นว่าความคิดเป็นเรา เราก็จะทุกข์กับความคิด เราจึงควรฝึกจิตใจให้ว่างจากการคิดด้วยการปฎิบัติ การปฏิบัติไม่ได้ช่วยให้เราคิดเป็น แต่จะช่วยให้เราสงบ มีจิตใจที่เข้มแข็ง มีจิตที่เป็นปกติและเป็นกลาง เมื่อเราออกจากความสงบแล้วเราก็จะต้องมาทบทวน และคิดอย่างลึกซึ้งกับเรื่องต่างๆ จึงจะเรียกว่าคิดเป็น คิดถูกต้อง พึงระวังการตัดสินใจต่างๆของเรา เพราะในกระบวนการคิด การตัดสินใจของเราจะเกิดขึ้นเมื่อเราเบื่อที่จะคิด เราจึงมักตัดสินใจเรื่องต่างๆที่ผ่านการคิดน้อย และเมื่อตัดสินใจไปแล้วมักติดตามมาด้วยความทุกข์อยู่เสมอ ดังนั้น เราควรใช้ความคิดที่ถูกต้อง ด้วยความรอบคอบ ด้วยความอดทน และปัญญาก่อนการตัดสินใจ :lol: 8) :lol: หัวข้อ: @คิดจาก..ความว่าง@ เริ่มหัวข้อโดย: ทราย 16 ที่ 02 มิถุนายน 2550, 14:03:58 ดีจริงๆค่ะ ขอบคุณน้องปุ๊กกี้มั๊กๆค่ะ ยังติดตามอยู่นะคะ
พี่ทราย 16 หัวข้อ: @คิดจาก..ความว่าง@ เริ่มหัวข้อโดย: iamfrommoon ที่ 04 มิถุนายน 2550, 17:35:55 อ้างจาก: "Jintana Yhoung-aree" ดีจริงๆค่ะ ขอบคุณน้องปุ๊กกี้มั๊กๆค่ะ ยังติดตามอยู่นะคะ พี่ทราย 16 ขอบคุณค่ะพี่ทราย...ที่ติดตามอ่านอยู่...ดีใจจังเลย :oops: วันนี้เรามา "เพิ่มสติในการฟังด้วยพุทธวิถีแบบ Zen" โดย ดร.บุญชัย โกศลธนากุล กันต่อนะคะ บทความที่นำเสนอสรุปประเด็นจากหนังสือเรื่อง The ZEN of Listening แต่งโดย Rebecca Shafir ซึ่งเป็นผู้เชื่ยวชาญในการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาในด้านการสื่อความ และเป็นผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่า 12 ปีในการให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่ต้องการประสบความสำเร็จในการพูดต่อหน้าสาธารณชน บทความของเธอได้รับการตีพิมพ์และเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง นอกจากนั้น เธอยังศึกษาและปฏิบัติพุทธศาสนาสายเซ็นมานานกว่าสิบปี เธอจึงพยายามนำพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และจากประสบการณ์อันยาวนาน เธอรู้สึกว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนเราทะเลาะเบาะแว้งกันคือ การไม่ยอมฟังซึ่งกันและกัน คนส่วนใหญ่มักชอบพูดสวนขึ้นมากลางบทสนทนา ทั้ง ๆ ที่อีกฝ่ายยังพูดไม่จบ สิ่งนี้นอกจากจะเป็นการเสียมารยาทแล้ว ยังทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ง่ายด้วย เพราะเนื่องจากผู้ฟังนั้นฟังบ้างไม่ฟังบ้าง อาจทำให้ตีความหมายคำพูดของอีกฝ่ายไปในทางที่ผิดได้ ทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างหลีกเลี่ยงเสียไม่ได้ ผู้แต่งได้กล่าวถึงสาเหตุและข้อเสียของการไม่ฟังซึ่งกันและกัน และวิธีการฝึกการเป็นผู้ฟังที่ดี มีใจความสำคัญ ดังต่อไปนี้ สาเหตุที่คนเราไม่ฟังผู้อื่น มีอคติกับฝ่ายตรงข้าม อาจจะด้วยเหตุผลที่ว่าอีกฝ่ายมีฐานะ การศึกษา หรือวุฒิภาวะที่ต่ำกว่า เป็นต้น ทำให้เราไม่เห็นความสำคัญของอีกฝ่าย จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเสียเวลามาฟังอีกฝ่ายพูด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคน ๆ นั้น เป็นบุคคลที่เราเคยทะเลาะเบาะแว้งด้วย ความทรงจำในอดีตเกี่ยวกับคน ๆ นั้น จะยิ่งทำให้เราเกิดอคติต่อผู้พูดได้อย่างง่ายดาย จึ่งยากที่จะยอมทนฟังให้อีกฝ่ายพูดจนจบประโยค ยึดมั่นในอุดมการณ์ หรือความเชื่อของตนเอง หากผู้ใดพูดจาขัดแย้งกับสิ่งที่เราเชื่อ มนุษย์มักตีความว่าสิ่งนั้นผิด และจะไม่ยอมฟังเหตุผลใด ๆ จากอีกฝ่ายว่า เพราะเหตุใดเขาจึงไม่เห็นด้วยกับเรา นอกจากนั้น ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในอุดมการณ์และความคิดของตนเอง นอกจากจะไม่ฟังแล้ว ยังจะสวนกลับและพยายามหาเหตุผลมาพูดหักล้างความเชื่อของอีกฝ่ายด้วยเสียอีก ไม่ยอมรับความเป็นจริง มนุษย์มักคิดว่าทุกอย่างจะต้องเหมือนเดิมและจีรังยั่งยืนตลอดไป ฉะนั้น เมื่อต้องประสบกับความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ดี เช่น การที่สามีหรือภรรยานอกใจเรา เป็นต้น จิตใจของมนุษย์ที่มีความเชื่อที่ผิด ๆ ดังกล่าว จึงรับไม่ได้กับการเปลี่ยนแปลง และไม่ยอมทนรับฟังความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ตรงหน้า สิ่งนี้จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่มนุษย์ไม่ยอมฟังซึ่งกันและกัน มีนิสัยที่ชอบแสดงความคิดเห็นเป็นชีวิตจิตใจ การมีนิสัยเช่นนี้จะทำให้เราได้รับข้อมูลได้อย่างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะในขณะที่อีกฝ่ายพูดยังไม่ทันจะจบประโยค ในใจของเรานั้น เราได้เตรียมข้อมูลเพื่อที่จะมาหักล้างประเด็นของอีกฝ่ายเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น วินาทีที่เรากำลังคิดถึงสิ่งที่เรากำลังจะพูดนั้น สมาธิของเราจึงไม่ได้จดจ่อไปกับการฟังในสิ่งที่อีกฝ่ายกำลังพูด จึงทำให้เราได้รับข้อมูลอย่างไม่ครบถ้วน โทษของการไม่ฟังผู้อื่น การไม่ฟังอีกฝ่ายเป็นการแสดงออกถึงการไม่ให้เกียรติ และการไม่ให้ความเคารพในสิทธิของผู้อื่นที่จะแสดงความคิดเห็น เมื่อไม่มีใครฟังใครย่อมก่อให้เกิดความระหองระแหงและการทะเลาะเบาะแว้งตามมา นอกจากนั้น ในกรณีการเสนอขายสินค้า หากเราไม่เป็นผู้ฟังที่ดี จะทำให้เราไม่รู้ความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า แม้จะพูดจนน้ำไหลไฟดับ หรือพูดจนหมดเรี่ยวหมดแรงก็ไม่สามารถจูงใจให้ลูกค้ายอมซื้อสินค้าได้ เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ ฉะนั้น หากเราต้องการเพิ่มยอดขายสินค้า เราควรฝึกการเป็นผู้ฟังที่ดี นอกจากนั้น โทษอีกประการหนึ่งของการไม่ฟังผู้อื่นคือ การพูดมากจะทำให้เหนื่อย ทำให้ไม่สามารถทำการใหญ่ได้ เพราะพลังงานส่วนใหญ่หมดไปกับการพูด นอกจากนั้น การพูดขัดขึ้นมากลางบทสนทนา ถือเป็นกิริยาที่ไม่ค่อยสุภาพ แสดงถึงความไม่มีมารยาท ทำให้คนไม่ชอบหน้า และรำคาญไม่อยากจะเสวนาด้วย และที่สำคัญคือ การพูดคั่นระหว่างการสนทนาเป็นการแสดงถึงการมีระดับสมาธิที่ต่ำ เพราะมีความคิดฟุ้งซ่านตลอดเวลา ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบันได้ ฉะนั้น ผลที่ตามมาคือ เมื่อมีสมาธิต่ำ ความสามารถในการเรียนรู้ย่อมต่ำตามไปด้วยเป็นธรรมดา เมื่อเรียนรู้สิ่งใด ก็ย่อมซึมซับได้อย่างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะฟังคำเดียว แต่พูดอีกสามประโยค เมื่อความรู้และข้อมูลไม่เพียงพอจึงเกิดความไม่มั่นใจ สาระที่พูดก็มีแต่น้ำไม่มีเนื้อ ฟังแล้วไม่น่าเชื่อถือ คนรอบข้างจึงไม่กล้าที่จะมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบให้ เพราะรู้สึกไม่ไว้ใจและไม่มั่นใจในความสามารถของบุคคลประเภทนี้ ผลเสียประการสุดท้ายของการไม่ฟังผู้อื่นคือ คนที่ไม่หัดฟังผู้อื่นจะไม่สามารถเป็นนักเจรจาที่ดีได้ เพราะคนที่ไม่ยอมฟัง ย่อมไม่รู้ว่าประเด็นไหนของอีกฝ่ายที่เราควรจะหักล้าง และประเด็นไหนเป็นประเด็นที่เราควรจะนำเสนอ เพื่อให้การเจรจายุติลงได้ด้วยดี เกิดเป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย วิธีการฝึกการฟังผู้อื่น หัดปิดตาและฟังเสียงต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว หรือแม้แต่การฟังเพลงให้ลองสังเกตดูว่า ในเพลงนี้ มีเครื่องดนตรีทั้งหมดกี่ชิ้น การฝึกเช่นนี้จะเป็นการปลุกประสาทหู ให้ตื่นตัวและมีพลังขึ้นมา สังเกตว่าเสียงแบบไหนหรือประโยคแบบใด สามารถกระตุ้นให้จิตใจเราเกิดการปรุงแต่ง เกิดการกระทบกระเทือน กระเพื่อมอย่างรุนแรง เกิดเป็นอารมณ์ต่าง ๆ ตามมา วิธีนี้เป็นการฝึกสติฐานเวทนา เพื่อจับสังเกตว่า จิตใจของเรา มีการปรุงแต่งเมื่อไหร่ นานแค่ไหน และปรุงแต่งในเรื่องอะไร ฝึกจิตใจให้สงบ เช่น การทำสมาธิแบบอาณาปาณสติ คือการจดจ่อกับลมหายใจเข้าออกที่กระทบปลายจมูก ฟังเสียงทุกเสียงที่ตัวเองพูด หัดฟังน้ำเสียง จังหวะจะโคน และเนื้อหาที่พูดว่า มีประโยชน์หรือไม่ หรือมีความชัดเจนแค่ไหน เวลาฟังผู้อื่นพูด ให้เราจินตนาการว่า เรากำลังชมภาพยนตร์อยู่ เพราะเวลาดูหนังเราจะตั้งใจดู ตั้งใจฟัง เราจะไม่พูดแสดงความคิดเห็นใด ๆ ในโรงหนังเลย วิธีนี้จึงเป็นการฝึกการเป็นผู้ฟังได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว *************************************** หัวข้อ: @คิดจาก..ความว่าง@ เริ่มหัวข้อโดย: สมชาย17 ที่ 07 มิถุนายน 2550, 13:37:41 น้องปุ๊กกี้ สุดยอดไปเลย
แค่บทความแรก ก็ยอดเยี่ยมแล้ว ยังตามด้วยเรื่องเล่า ประกอบด้วย ทำให้อ่านง่าย มีบทความเตือนใจดีๆ อย่าลืม มาโพสต์ให้อ่านกัน บ่อยๆนะครับ หัวข้อ: @คิดจาก..ความว่าง@ เริ่มหัวข้อโดย: iamfrommoon ที่ 18 มิถุนายน 2550, 14:01:07 ขอบคุณนะคะที่ยังติดตามอ่านกันอยู่ วันนี้เอามาฝาก พอดีน้องเป็นสมาชิกของดร.บุญชัย น่ะค่ะ
The Art of Happiness by Dalai Lama บทความที่นำเสนอสรุปประเด็นจากหนังสือเรื่อง The Art of Happiness: A Handbook for Living แต่งโดย Howard Cutler จิตแพทย์ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการมานานกว่าสิบปี เนื้อหาจากหนังสือเล่มนี้ได้มาจากการสัมภาษณ์ท่านดาไลลามะ (Dalai Lama) ประมุขของพุทธศาสนาสายมหายานของประเทศธิเบต ว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับวิธีการสร้างความสุขให้เกิดขึ้นในดวงจิต เดิมทีผู้แต่งเชื่อว่า การสร้างความสุขให้เกิดขึ้นในจิตใจนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะลำพังการต่อสู้กับมรสุมชีวิตเพื่อให้รอดพ้นจากความทุกข์ที่ถาโถมเข้ามาในจิตใจนั้น ถ้าทำได้ก็ถือว่าโชคดีแล้ว แต่หลังจากที่ผู้แต่งได้สัมภาษณ์ท่านดาไลลามะ ผู้แต่งจึงได้รู้ว่า ความสุขนั้นอยู่เพียงแค่มือเอื้อม เพียงแต่เราจะฉวยคว้ามันมาหรือไม่เท่านั้นเอง ใจความสำคัญของวิธีการสร้างความสุขให้บังเกิดขึ้นในจิตใจ มีประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้ 1. จิตใจจะสว่าง สดใส และมีความสุขได้ จะต้องอาศัยการฝึกสติอย่างต่อเนื่องทุกวินาที การเจริญสติในที่นี้คือ การมีความรู้เนื้อรู้ตัวในทุกอิริยาบถ เมื่อใดที่มีความรู้เนื้อรู้ตัว จิตใจจะน้อมเข้าสู่ความสงบทันทีตามสภาวะธรรมชาติ สิ่งภายนอกที่เข้ามากระทบทางอายาตนะทั้งหก อันได้แก่ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ จะไม่สามารถกระทบกระเทือนจิตใจได้เลยแม้แต่น้อย การเจริญสตินั้นมีสองลักษณะคือ สติฐานกายคือ การมีความจดจ่ออยู่ในอิริยาบถทั้งสี่คือ ยืน เดิน นั่ง นอน และการเจริญสติฐานอารมณ์คือ การเฝ้าดูอารมณ์ที่เกิดขึ้นในจิตใจ ทั้งสุข ทุกข์ และเฉย ๆ ทั้งสองวิธีนี้เป็นวิธีการหยุดความคิด ทำให้จิตใจหยุดความฟุ้งซ่าน จิตใจจะมีความเบิกบาน ผ่องใส และเบาสบาย เมื่อนั้นความสุขย่อมบังเกิดขึ้นในจิตใจอย่างแน่นอน 2. ฝึกมองโลกในแง่บวก และพยายามลดความคิดในแง่ลบให้น้อยลง ความคิดในทางอกุศลต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดอารมณ์ต่าง ๆ ในแง่ลบ เช่น ความโกรธ ความเกลียด ความอาฆาตแค้นพยาบาท ความเบื่อหน่าย เซ็งชีวิต ความสับสน และความเศร้าโศก เป็นต้น การฝึกลด ละ วาง ความคิดในแง่ลบเหล่านี้สามารถทำได้โดยการมีความรู้เนื้อรู้ตัวอยู่เสมอว่า ขณะนี้เรากำลังคิดอะไรอยู่ จิตจะต้องมีความสงบในระดับหนึ่ง จึงจะรู้ได้ว่าเรากำลังคิดอะไร ฉะนั้น การสวดมนต์จึงสิ่งที่สำคัญและควรปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจนเป็นนิสัย เพื่อทำให้จิตใจเกิดความสงบ จึงจะรู้และเลือกความคิดได้ 3. ฝึกให้ความรักและความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน หมั่นทำความดี การจะสร้างความรักและความเมตตาต่อผู้อื่นได้นั้น ตัวเราเองจะต้องตระหนักในใจเสมอว่า ไม่มีมนุษย์คนใดในโลก จะสมบูรณ์แบบ หรือทำถูกใจเราไปเสียทุกเรื่อง แม้แต่ตัวเราเองก็ยังมีการทำผิดพลาดไปบ้างด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังนั้น เราจึงควรฝึกให้อภัยทั้งต่อตนเองและผู้อื่น และให้คิดเสมอว่า การที่ผู้อื่นมีพฤติกรรมที่ขัดหูขัดตาเรานั้น บางทีถ้าเราเป็นเขา และต้องตกอยู่ในสถานการณ์แบบเดียวกับเขา เราเองก็อาจจะแสดงพฤติกรรมออกมาเช่นเดียวกันนี้ก็เป็นได้ ไม่มีใครในโลกนี้ที่อยากทำผิด ไม่มีใครในโลกนี้ที่อยากเป็นทุกข์ ฉะนั้น เราทุกคนเสมือนลงอยู่ในเรือลำเดียวกัน เรือที่ว่ายวนอยู่ในวัฏสงสาร ดังนั้น มนุษย์จึงควรรู้จักให้อภัยซึ่งกันและกัน สิ่งใดปล่อยวางได้ควรปล่อยวาง อย่างไรก็ตาม หากการกระทำใดเป็นสิ่งที่ผิดต่อศีลธรรมจรรยา ก็ควรมีการว่ากล่าวตักเตือน และมีบทลงโทษไปตามตัวบทกฎหมาย สิ่งใดที่ถูกต้องและควรทำ ก็จงทำต่อไปโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรักและความเมตตา หากยังทำใจเมตตาผู้อื่นไม่ได้ ให้ตั้งจิตว่า ข้าพเจ้าจะสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ 4. ฝึกสังเกตว่า อารมณ์และความรู้สึกในแง่ลบทั้งหลายที่เกิดขึ้นในจิตใจนั้น มันไม่ใช่ของจริง มันเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นจากความคิดในแง่ลบที่เราปรุงแต่งขึ้นมาเอง สิ่งนี้สามารถตรวจสอบได้โดยการสังเกตว่า เมื่อใดที่เรามีความไม่สบายใจ ให้เราลองเปลี่ยนเรื่องคิด หันไปคิดแต่ในสิ่งดี ๆ เราจะพบว่าความทุกข์ที่เราคิดว่าหนักหนา มันจะหายไปในฉับพลัน แต่หากเราดึงเรื่องเก่า ๆ มาคิดอีกเราก็จะกลับมาทุกข์อีกเหมือนเดิม สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า ความรู้สึกในแง่ลบทั้งหลายทั้งปวง เป็นเพียงภาพมายา เราไม่ควรไปยึดมั่น หรือสำคัญมั่นหมายอะไรมากนัก แต่ควรหันมาประคับประคองจิตใจให้กลับมาสู่ภาวะปกติ และหมั่นสร้างความสุขและความสบายใจให้เกิดขึ้นในจิตใจเสียจะดีกว่า เพราะถ้าเรายิ่งปล่อยให้จิตใจหมกมุ่นไปกับสิ่งที่เศร้าหมอง ยิ่งจะทำให้เรามองโลกบิดเบือนไปจากความเป็นจริงมากขึ้น ยิ่งจะทำให้เกิดความทุกข์สุมทรวงมากขึ้นเป็นทวีคูณ จนจิตใจเกิดความเคยชินกับความทุกข์โศกเศร้าหมอง จนกลายเป็นนิสัยยากที่จะแก้ไขได้ 5. ฝึกแยกแยะความแตกต่างระหว่างความสุขทางกายภาพและความสุขทางจิตใจ ความสุขทางกายภาพอันได้แก่ ความสุขจากการได้เห็นสิ่งที่สวยงาม ได้ยินเสียงที่ไพเราะ ได้กลิ่นหอมจรุงใจ ได้รับประทานอาหารที่มีรสกลมกล่อม และการได้สัมผัสในสิ่งที่นุ่มนวลน่าสัมผัส สิ่งเหล่านี้เป็นความสุขที่ต้องอาศัยปัจจัยภายนอกเพื่อให้บังเกิดขึ้นมา ฉะนั้น หากเราคอยแต่จะพึ่งปัจจัยภายนอก ชีวิตนี้คงยากที่จะมีความสุข ในทางกลับกัน ความสุขภายในจิตใจเป็นสิ่งที่เราสามารถสร้างขึ้นมาได้ด้วยตนเองโดยการฝึกสติให้มีความรู้เนื้อรู้ตัวพรั่งพร้อมอยู่เสมอ เพียงเท่านี้เราก็สามารถสร้างความสุขได้ด้วยตัวเราเอง เมื่อใดก็ได้ที่เราต้องการ 6. เพียรสร้างความสุขให้เกิดขึ้นภายในจิตใจ ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ เพียรสร้างเหตุและปัจจัยที่ทำให้เรามีความสุข เหตุปัจจัยดังกล่าวเราจะสามารถรู้ได้โดยการสังเกตสภาวะจิตใจของตนเองอยู่ตลอดเวลาว่า ปัจจัยใดบ้างที่จะทำให้เรามีความสุข ตัวอย่างเช่น หากเราเป็นคนที่โกรธง่าย ให้สังเกตว่า ถ้าเรารู้จักปล่อยวางบ้าง จิตใจของเราก็จะเริ่มมีความเบา และมีความสุขเกิดขึ้นตามมาตามสภาวะธรรมชาติ เป็นต้น 7. ฝึกทดแทนความโกรธ ความเกลียด ความอาฆาตพยาบาท ด้วยความอดทนอดกลั้น ขันติ และความเมตตากรุณา สูงสุดของความเป็นมนุษย์คือ ความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น เมื่อใดก็ตามที่จิตใจปราศจากความเมตตากรุณาแล้วไซร้ บุคคลนั้นก็มิสมควรจะได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์อีกต่อไป คนที่มีจิตใจเมตตากรุณา จิตใจย่อมมีแต่ความปลอดโปร่งโล่งสบาย หน้าตาผ่องใส ไปที่ใดมีแต่คนรักใคร่เมตตา เมื่อนั้นความสุขย่อมรอคอยเราอยู่ตรงหน้า อย่างแน่นอน :lol: 8) :lol: หัวข้อ: @คิดจาก..ความว่าง@ เริ่มหัวข้อโดย: iamfrommoon ที่ 11 กรกฎาคม 2550, 13:06:55 ปฏิจจสมุปบาท โดย ดร.บุญชัย โกศลธนากุล
ปฏิจจสมุปบาทคือ องค์ธรรมที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงสำเร็จอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ธรรมมะบทนี้จึงเปรียบเสมือนหัวใจของพระพุทธศาสนา ปฏิจจสมุปบาทเป็นธรรมะที่ว่าด้วยเรื่องของวงจรที่ทำให้มนุษย์เกิดความทุกข์ร้อนเศร้าหมองใจ เกิดการก่อกรรมทำเข็ญ และเกิดเป็นวงจรแห่งการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอย่างไม่มีที่สิ้นสุด วงจรปฏิจจสมุปบาทประกอบด้วยประเด็นสำคัญ 12 ประการ ปฏิจจสมุปบาทคือ องค์ธรรมที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงสำเร็จอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ธรรมมะบทนี้จึงเปรียบเสมือนหัวใจของพระพุทธศาสนา ปฏิจจสมุปบาทเป็นธรรมะที่ว่าด้วยเรื่องของวงจรที่ทำให้มนุษย์เกิดความทุกข์ร้อนเศร้าหมองใจ เกิดการก่อกรรมทำเข็ญ และเกิดเป็นวงจรแห่งการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอย่างไม่มีที่สิ้นสุด วงจรปฏิจจสมุปบาทประกอบด้วยประเด็นสำคัญ 12 ประการ ดังต่อไปนี้ 1. อวิชชา คือ ความไม่รู้หรือความหลง ความไม่รู้ในที่นี้คือ ความไม่เข้าใจในเรื่อง อริยสัจ ๔ หรืออธิบายอย่างง่าย ๆ ว่า คือการที่มนุษย์ไม่รู้เนื้อไม่รู้ตัวว่า ตนเองกำลังตกอยู่ในกองทุกข์ เมื่อไม่รู้ตัวว่ากำลังทุกข์ จึ่งไม่เห็นเหตุแห่งทุกข์ ส่งผลให้มนุษย์ไม่สามารถออกจากกองทุกข์เหล่านั้นได้ นอกจากนั้น อวิชชาหรือความไม่รู้ในที่นี้ยังหมายถึง ความไม่ตระหนักถึงประโยชน์ของการมีศีล มีสมาธิ มีสติ มีความคิดที่ถูกต้อง และมีธรรมะต่าง ๆ ไว้ช่วยจรรโลงจิตใจ ฉะนั้น เมื่อมนุษย์หลงอยู่กับ “ความไม่รู้” จึงเกิดเป็นความคิดปรุงแต่ง ฟุ้งซ่าน หรือเรียกว่า “สังขาร” นั่นเอง 2. สังขาร คือ ความคิดต่าง ๆ ที่มนุษย์ปรุงแต่งขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดการกระทำ คำพูด และความคิดอื่น ๆ ตามมา ความคิดตามธรรมดาแล้วหากเป็นการคิดในสิ่งที่ดีงาม อยู่ในศีลในธรรม และเกิดในขณะที่ผู้คิดมีสติรู้เนื้อรู้ตัวตลอดเวลาว่า ขณะนั้นตนกำลังคิดเรื่องเหล่านี้อยู่ ย่อมเรียกได้ว่า เป็นความคิดที่ถูกต้อง หรือสัมมาดำริ ซึ่งเป็นหนึ่งในมรรค ๘ แต่ในทางกลับกัน ความคิดต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดความทุกข์นั้น กลับตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไม่รู้หรืออวิชชาคือ มนุษย์มักไม่รู้ว่า ความคิดที่ก่อให้เกิดคำพูด ความคิด และการกระทำที่สร้างความทุกข์ให้นั้นเกิดขึ้นวินาทีไหน แต่จะมารู้อีกทีก็เมื่อได้เริ่มคิดเรื่องนั้นไปเสียแล้ว ซึ่งส่งผลให้เกิดการกระทำ คำพูด และความคิดอื่น ๆ ตามมา ซึ่งการรับรู้ภายหลังนี้ ก็คือ “วิญญาณ” นั่นเอง 3.วิญญาณ คือ การรับรู้ว่าเรากำลังทำอะไร พูดอะไร และคิดเรื่องอะไรอยู่ วิญญาณเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์โดยสิ้นเชิง เพราะสัตว์ทำสิ่งต่าง ๆ ตามสัญชาตญาณเช่น การกิน นอน และสืบพันธุ์ อย่างไรก็ดี ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า มนุษย์มักไม่รู้ตัวว่า ความทุกข์นั้นเกิดขึ้นมาเมื่อไหร่ มารู้ตัวอีกทีก็คือ มีอารมณ์เกิดขึ้นในจิตใจแล้ว อารมณ์ดังกล่าวมีอยู่ 3 แบบคือ สุข ทุกข์ หรือ เฉย ๆ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า อารมณ์ชอบ ไม่ชอบ หรือเฉย ๆ นั่นเอง การเกิดอารมณ์ต่าง ๆ นั้นจะต้องเกิดจากการปรุงแต่งและเปรียบเทียบกับความรู้ในอดีตหรือเรียกว่า สัญญา อย่างไรก็ตาม การเกิดขั้นตอนต่าง ๆ นั้นเกิดขึ้นในมนุษย์ ซึ่งมีร่างกายและจิตใจ หรือที่เรียกว่า “นามรูป” นั่นเอง 4. นามรูป คือ นามและรูป กล่าวคือ “นาม” คือ ภาวะต่าง ๆ ที่เกิดกับรูป และ “รูป” คือ ร่างกายของมนุษย์ นามและรูปดังกล่าวจะต้องมีสิ่งภายนอกเข้ามากระทบผ่านทางทวารทั้ง ๖ หรือที่เรียกว่า “อายาตนะ ๖” 5. อายาตนะ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และสมอง อายาตนะเหล่านี้จะสร้างความทุกข์แก่เราได้ก็ต่อเมื่อมีการกระทบกับปัจจัยภายนอก อันได้แก่ สิ่งที่เห็น เสียง กลิ่น รส สัมผัส และความคิดที่ผุดขึ้นมา กิริยาที่ทั้งสองสิ่งกระทบกันเรียกว่า “ผัสสะ” 6. ผัสสะ คือ การกระทบกันระหว่างสิ่งเร้าภายนอกกับอายาตนะทั้งหก เมื่อเกิดการกระทบจึงเกิดการปรุงแต่งเป็น “เวทนา” 7. เวทนา คือ อารมณ์ที่เกิดจากการการกระทบกันระหว่างสิ่งเร้าภายนอกกับอายาตนะทั้งหก ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น อารมณ์มี 3 ลักษณะคือ ชอบ ไม่ชอบ หรือเฉย ๆ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วอารมณ์ที่เกิดขึ้นมักจะเป็นอารมณ์ชอบหรือไม่ชอบ อารมณ์เหล่านี้จะก่อให้เกิด “ตัณหา” ตามมา ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดทุกข์ และเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มปริมาณแห่งความไม่รู้หรืออวิชชาให้มากขึ้นไปอีก 8. ตัณหา คือ ความปรารถนา ซึ่งเป็นเหตุแห่งความทุกข์ทั้งหลาย แบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ คือ ความปรารถนาที่จะมี จะเป็น จะได้สิ่งต่าง ๆ (ภวตัณหา) ความปรารถนาที่จะไม่มี ไม่เป็น ไม่ได้สิ่งต่าง ๆ (วิภวตัณหา) ความปรารถนาสิ่งต่าง ๆ ที่ตนต้องการอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เช่น อยากมองแต่สิ่งที่สวยงาม อยากฟังน้ำเสียงที่ไพเราะ อยากลิ้มรสของที่อร่อย อยากดมกลิ่นที่หอม อยากสัมผัสสิ่งที่นิ่มนวลน่าสัมผัส และความปรารถนาในทางกามารมณ์ (กามตัณหา) เมื่อความปรารถนามีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ มนุษย์จะเกิดความยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องทำในสิ่งที่ตนปรารถนาให้ได้ ซึ่งเรียกว่า “อุปาทาน” 9. อุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวกูของกู การยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน เป็นของตน และหากไม่ได้ตามที่ปรารถนาจะต้องตาย จะต้องอับอายขายหน้า จะต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงและเกี่ยรติยศต่าง ๆ เป็นต้น สิ่งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการก่ออกุศลกรรมทั้งหลาย 10. ภพ 11. ชาติ 12. ชรามรณะ ข้อ 10-12 คือ วงจรของการมีความปรารถนาในสิ่งที่เคยได้ หรือปรารถนาในสิ่งใหม่ ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งก่อให้เกิดวงจรของความทุกข์ จากการไม่ได้ในสิ่งที่ตนปรารถนา หรือได้ในสิ่งที่ตนไม่ต้องการ และจากการตะเกียกตะกายเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนต้องการให้จงได้ วิธีการปฏิบัติเพื่อออกจากวงจรแห่งความทุกข์ จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เหตุแห่งทุกข์ทั้งหลายเกิดจากความไม่รู้เนื้อไม่รู้ตัว เพราะมนุษย์มักจมอยู่กับความคิด เมื่อมี “ความไม่รู้” สติก็ขาด เมื่อไม่มีสติ พฤติกรรมอันเป็นอกุศลทั้งหลาย เช่นการปราศจาก ศีล ๕ ย่อมเกิดขึ้นเป็นทวีคูณ เช่น การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม การโกหก การดื่มสุราและของมึนเมา เป็นต้น วิธีการปฏิบัติตนให้ออกจากความคิดคือ การฝึกมหาสติปัฏฐาน ๔ ได้แก่ การเอาจิตไปจับที่กาย (ฐานกาย) มีหลายวิธี ได้แก่ 1. กำหนดลมหายใจ (อาณาปาณสติ) - โดยการทำความรู้สึกสัมผัสที่ปลายจมูก เมื่อหายใจเข้าให้บริกรรมว่าพุท เมื่อหายใจออกบริกรรมว่าโธ ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ในทุกอิริยาบถ - การมีสติในทุก ๆ อิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอน เช่น เมื่อจับหรือสัมผัสสิ่งใดก็ให้รู้สึกถึงความเย็นร้อนอ่อนแข็ง เป็นต้น - การจดจ่ออยู่กับจุดต่าง ๆ ที่ร่างกายสัมผัส จะทำให้จิตถูกถอดถอนจากความคิด - การออกกำลังกายประมาณ 20-30 นาทีเป็นประจำทุกวัน 2. การย้ายจิตไปมองดูอารมณ์ (ฐานเวทนา) พยายามเอาจิตเพ่งมองดูสภาวะอารมณ์และจิตใจของตัวเองตลอดเวลาว่า ขณะนี้สุข ทุกข์ หรือเฉย ๆ มองอย่างเดียวโดยไม่สนใจว่า อารมณ์นั้นจะเป็นอารมณ์บวกหรือลบ เมื่อเกิดความรู้เนื้อรู้ตัวปริมาณอกุศลจิตที่เกิดขึ้น เช่น ความโกรธ จะลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว 3. การรู้เนื้อรู้ตัวว่าตอนนี้เรากำลังรู้สึกอย่างไร (ฐานจิต) เช่น ผ่องใสหรืออึดอัด สุขใจ หรือเศร้าหมอง เป็นต้น 4. เลือกคิดในสิ่งที่ดี มีประโยชน์ และช่วยยกคุณภาพจิตใจให้สูงขึ้น (ฐานธรรม) ให้คิดถึงเรื่องธรรมะ เช่น ศีล ๕ อริยสัจ ๔ ไตรลักษณ์ หรือหลักสัจจธรรมที่ว่า โลกนี้ไม่มีสิ่งใดที่ควรยึดมั่นถือมั่น สิ่งใดที่ควรทำ หรือสิ่งใดเป็นหน้าที่ตามโลกสมมติก็ให้ทำต่อไป เป็นต้น นอกจากการฝึกสติแล้วการทำสมาธิก็เป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติร่วมกันไปด้วยเพื่อช่วยลดปริมาณกิเลสและตัณหาที่เกิดขึ้น หัวข้อ: @คิดจาก..ความว่าง@ เริ่มหัวข้อโดย: Nupu ที่ 11 กรกฎาคม 2550, 16:56:40 ยังคงตามติดและติดตามอยู่ตลอดเวลาจ้า
หัวข้อ: @คิดจาก..ความว่าง@ เริ่มหัวข้อโดย: khesorn mueller ที่ 11 กรกฎาคม 2550, 16:58:15 and I still not get start...it is too long...
p.snaily หัวข้อ: @คิดจาก..ความว่าง@ เริ่มหัวข้อโดย: veekung ที่ 19 กรกฎาคม 2550, 13:41:49 จะหลุดออกจากสังสารวัฏ ได้เข้าใจและรู้ให้ได้ว่าตัวเราไม่มีครับ แต่จะให้เข้าใจเหมือนเราเรียนหนังสือไปได้ครับต้องตามรู้กายตามรู้ใจจนกว่ามันจะเข้าไปในใจเองครับ (ก้คือคำว่าเข้าใจเองครับ) แล้วมันก็จะปล่อยไม่ยึดไม่ถืออีกครับ (ผมก็จำเค้ามาพูดยังไม่เห็นด้วยตัวเองซักที่เหมือนกันครับ)
หัวข้อ: @คิดจาก..ความว่าง@ เริ่มหัวข้อโดย: pandanong ที่ 24 กรกฎาคม 2550, 11:37:00 อ่านแล้วดีมากเลยค่ะ
จะเอาไปใช้ จิตใจจะได้เป็นสุข สบายใจ :wink: หัวข้อ: @คิดจาก..ความว่าง@ เริ่มหัวข้อโดย: iamfrommoon ที่ 24 กรกฎาคม 2550, 16:39:54 ว่างจากความหลง
ถึงฉลาดขนาดไหน ถ้างมในความมืดมิด ก็พลาดผิดได้เสมอ ในความมืดมิด คนฉลาดอาจคิดว่าตนรูปงาม ทั้งที่จริงรูปทรามอย่าบอกใคร ในความมืดมิด คนฉลาดอาจคิดว่ากำลังขึ้นสูง ทั้งที่ถูกจูงไปสู่เหวลึกรำไร ถ้าสำคัญผิด ให้คิดเก่งแค่ไหนก็ไม่ถูก ซ้ำจะผูกปมซับซ้อน ซ่อนเงื่อนปัญหาเกินแก้ ถ้าสำคัญผิด ทั้งชีวิตจะวกวน ต้องจำทนหลงทางไม่รู้จบ ดีแต่พบเรื่องร้ายไม่รู้เลิก ในความสว่าง แม้โง่บ้างอย่างน้อยก็รู้จักหน้าตาตนตามจริง เมื่อจะต้องดิ่งสู่เหวลึกก็หยุดเสียทันก่อนสาย เมื่อเห็นถูกเห็นชอบ แม้ไม่เก่งมากก็ยากจะผูกปมรัดคอตนเอง ต่อให้พลาดหลงก็คลำหาทางออกจนเจอ เพื่อออกมาอยู่ในความสว่าง ต้องรู้จักสละความเคยชินกลางถ้ำ เพื่อเห็นถูกเห็นชอบ ต้องรู้จักสละความคิดหาเรื่องเดือดร้อนใส่ตัว ถ้ายังหลงผิด ไม่มีใครทำผิดได้มากกว่าใคร เรื่องแย่แค่ไหนก็เกิดขึ้นได้ โมหะคือรากแห่งบาปข้อที่สาม บุคคลละความหลงได้แล้ว ย่อมชื่อว่าเป็นผู้กำจัดความมืดจากชีวิต ไม่ทำผิดซ้ำซากได้มากเท่าเดิม แยกแยะออกว่าอะไรเป็นคุณอะไรเป็นโทษ จึงเลือกแต่คุณแล้วละโทษไว้เบื้องหลัง รู้ว่ากำลังหลง ดีกว่าหลงว่ากำลังรู้ หลงน้อย คือเห็นความจริงมาก และเห็นความว่างมาก หัวข้อ: @คิดจาก..ความว่าง@ เริ่มหัวข้อโดย: iamfrommoon ที่ 31 กรกฎาคม 2550, 15:30:22 วันนี้อ่าน "สบายใจ… เลิกเป็นใครที่ไม่ใช่คุณ" จาก ดังตฤณ แล้วได้ข้อคิดอะไรเกี่ยวกับตัวเองเรื่องการใช้เงินในสมัยก่อนๆ นี้ หุหุ...ลดบางสิ่งบ้างก็ดี...อืม ไม่ยากหากตั้งใจทำ...ลองมาอ่านเลยค่ะ
"สบายใจ...เลิกเป็นใครที่ไม่ใช่คุณ" เคยได้ยินไหมครับ ข่าวลูกคนใหญ่คนโตระลึกขึ้นมาไม่ได้กลางถนน ว่าตนเองเป็นใคร ต้องร้องถามคนแถวนั้นดังๆ? ถ้าคุณรู้สึกว่าตัวเองยิ่งใหญ่ ตอนฉุนจนหน้ามืด นึกไม่ออกว่าจะพูดยังไงกับคนที่คุณอยากบีบคอ ก็อาจความจำเสื่อมชั่วขณะ คำรามถามเขาว่า ‘รู้ไหมกูเป็นใคร?’ หรือหากความจำไม่เสื่อม ก็อาจเห็นว่าตนเองมีเรื่องราวให้เรียนรู้มากมาย จึงตวาดแว้ดว่า ‘รู้จักฉันน้อยไปเสียแล้ว!’ คิดดีๆนะครับ สิ่งที่น่าตระหนกคือคนเราไม่ค่อยรู้จักตัวเองว่าเป็นใคร ไม่ค่อยจะมีสักกี่แวบที่เกิดความคิดว่าเรารู้จักตัวเองน้อยไป คนเราแค่อยากคาดคั้นให้คนอื่นเขามารู้จักตัวเอง ตระหนักในอิทธิพลยิ่งใหญ่ของตนเอง ทั้งที่บางทีอาจไม่ค่อยมีอิทธิพลสักเท่าไรในโลกความจริง สิ่งที่ทุกคนมีอยู่จริงคือ ‘หน้าที่’ หน้าที่จะทำให้คุณถูกเรียกว่าเป็นอะไรอย่างหนึ่ง เช่น นักการเมือง เจ้าของโรงแรม ผู้จัดการ หัวหน้าแผนก พนักงานบัญชี เจ้าหน้าที่คุมสต๊อก หน่วยรักษาความปลอดภัย ภารโรง คนกวาดขยะ ฯลฯ ขอบเขตความรับผิดชอบของแต่ละคน มักมีผลกระทบในทางใดทางหนึ่งกับคนอื่นๆ และลงถ้าอยากมีอำนาจเสียอย่าง แม้ขอบเขตความรับผิดชอบเล็กๆ ก็อาจกลายเป็นอำนาจกระเทือนวิถีชีวิตใครต่อใครสมอยากได้เหมือนกัน อย่างผมเคยเห็นคนกวาดขยะกทม.นางหนึ่ง แกคงเห็นคนมานั่งคุยที่ศาลาริมน้ำของวัดมีความสุขมากไปหน่อย น่าจะเป็นทุกข์เสียบ้าง มาถึงจึงกวาดๆๆพื้นดินใกล้ศาลา ซึ่งดูแล้วไม่มีเศษขยะสักชิ้น ขอแค่กวาดแรงๆเพื่อให้ฝุ่นฟุ้งเท่านั้น พอคนในศาลากระสับกระส่าย และส่งเสียงบอกว่าเจ๊ ฝุ่นเยอะจังเลย กวาดอะไรน่ะ แกก็ทำตาเขียวใส่ คล้ายจะตวาดด้วยกระแสตา ว่าฉันกำลังทำงาน เธอเป็นใครยะ มาขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อย่างฉัน! หรืออีกตัวอย่าง พนักงานคนหนึ่งได้รับมอบหมายให้ควบคุมจัดการอุปกรณ์สำนักงาน จำพวกปากกา กระดาษ หมึกพิมพ์ ฯลฯ เดิมทีแกเป็นแม่บ้านและพนักงานเดินเอกสารภายใน ไม่มีบทบาทเท่าใดนัก แต่พอมีสิทธิ์ดูแลการเบิกใช้อุปกรณ์ แกก็ตั้งกฎระเบียบขึ้นมาเอง ว่าจะเบิกได้เฉพาะวันจันทร์และวันพฤหัสบดี ซึ่งกฎใหม่กลายเป็นที่ปวดเศียรเวียนเกล้า เช่นถ้าเลขาฯมาเบิกกระดาษให้เจ้านายในวันอังคาร ก็ได้รับการปฏิเสธ เลขาฯต้องกลับไปฟ้องนาย ร้อนนายซึ่งเป็นถึงดอกเตอร์หุ้นส่วนบริษัท ต้องลงมาขอกระดาษด้วยตนเอง ของจึงค่อยออกจากห้องได้ ที่ยกมาข้างต้นก็เพื่อจะกล่าวว่าแม้คนตัวเล็กที่สุด บางกาลก็มีอำนาจแฝงที่คุณนึกไม่ถึง และถ้าทุกคนอยากออกกำลัง อยากใช้อำนาจในมือกันหมดด้วยความ ‘ลืมตัว’ โลกคงปั่นป่วนและเต็มไปด้วยความติดขัดนานัปการ การนำหน้าที่ไปสนองความอยากใหญ่ อยากมีอิทธิพลเหนือผู้อื่นนั้น มักนำมาซึ่งความไม่สบายใจ ทั้งแก่ตนอื่นและตนเอง เพราะนานวันความสะใจในการใช้อำนาจ จะยิ่งก่อให้เกิดความโลภ อยากได้อำนาจเกินขอบเขตที่ตนมี อำนาจที่ไม่ได้อยู่ในมือจริงนั้น เมื่อใช้ไปแล้ว ย่อมก่อให้เกิดความวุ่นวายในทางใดทางหนึ่ง และความวุ่นวายดังกล่าว ในที่สุดย่อมย้อนกลับมาทำความว้าวุ่นให้กับตนเองจนได้ หลายครั้งนิสัยทำอะไรเกินตัว เกินความเป็นจริง เกินขอบเขตความพอดี ก็โยงไปถึงวิธีใช้เงิน โดยเฉพาะในยุคบัตรเครดิตอันเป็นเสมือนดาบสองคม เพราะเอื้อให้คนไม่ต้องมีเงินสดจ่ายทันที ทว่าขณะเดียวกันก็ทำให้เผลอนึกว่าตนมี ทั้งที่ไม่มี คุณคงรู้จักบ้างนะครับ คนที่ติดหนี้บัตรเครดิตกันหัวโตเป็นหลักแสนหลักล้าน แต่เงินเดือนแค่หลักหมื่น บางทีคุณนึกไม่ถึงหรอกว่าคนจนตรอกเรื่องการเงินเขาทำอะไรได้บ้าง คาดได้แต่ว่าเสี่ยงคุกเสี่ยงตะรางทั้งนั้น คนส่วนใหญ่ที่ยืนกรานว่ารู้จักตัวเองดี แต่ขุดลงไปลึกๆแล้ว จะพบว่าแท้จริงแค่ ‘รู้ว่าใจกำลังอยากได้อะไร’ ต่างหาก นอกนั้นแทบไม่รู้อะไรเลย แม้กระทั่งว่ามีเงิน มีกำลัง มีความสามารถพอจะไปเอาสิ่งที่อยากได้มาเป็นของตนจริงๆไหม ไม่มีแล้วประพฤติตนเสมือนมี ก็คือเสียความเป็นตัวเอง จะมีใครอีกคนเข้ามาสิงสู่ร่างของคุณ เพื่อเสวยสุขจากความมีแบบหลอกๆ พอเขาออกจากร่าง ตัวคุณตัวจริงก็ต้องก้มหน้าระกำ ใช้ทั้งต้น ใช้ทั้งดอกที่บานขึ้นไปเรื่อยๆอย่างไม่รู้อนาคตว่าเมื่อใดจะถึงวันจบวันสิ้น หากคนในโลกหัดถามตัวเองเช่น ‘รู้ไหมเราเป็นใคร?’ หรือ ‘รู้ไหมตัวเองมีแค่ไหน?’ อะไรๆอาจไม่สายเกินไป ไม่ต้องนอนทุรนทุรายทึ้งผม ถามตัวเองอย่างไม่รู้ ว่าเมื่อไหร่จะหลุดจากสถานการณ์ลำบาก ได้สบายใจ ได้เป็นตัวของตัวเองเสียที การมีหนี้ล้นพ้นตัวเป็นที่มาของสารพัดปัญหา ทั้งเครียด ทั้งจ๋อย ทั้งพูดความจริงยาก อาจต้องแก้ผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆด้วยการโกหกมดเท็จ ปั้นน้ำเป็นตัว เสแสร้งแกล้งทำต่างๆนานา จนสุดท้ายต้องสูญเสียตัวตนเดิมๆที่แท้จริงอย่างสมบูรณ์แบบ แต่ละครั้งที่คุณโกหก จิตจะเหมือนสร้างหน้ากากขึ้นมาครอบตัวตนดั้งเดิม ตอนแรกๆอาจครอบได้แค่บริเวณเล็กๆเช่นบริเวณแก้ม บริเวณหู ทว่าส่วนอื่นที่เป็นตัวจริงหลุกหลิกไปหมด ไม่ว่าเป็นนัยน์ตาที่กะพริบถี่ๆ ปากที่สั่นระริก ลมหายใจที่กระตุกเป็นห้วงๆ ตลอดจนมือไม้ที่ไม่อาจนิ่งอยู่เป็นสุข ต่อๆมา หน้ากากจะเริ่มใหญ่ขึ้น สวมได้เนียนขึ้น ครอบทั้งตัวไม่ขัดเขิน ตาไม่ค่อยกะพริบ ปากหุบสนิทหลังโกหกเสร็จ ลมหายใจเป็นปกติ มือไม้นิ่งอยู่กับที่ จนกระทั่งไม่มีใครนอกจากตัวเองที่จับได้ว่ากำลังใส่หน้ากาก ข้อเท็จจริงทางธรรมชาตินะครับ หน้ากากยิ่งโต ใจจะยิ่งเล็ก คับแคบ อึดอัด และห่างไกลจากเนื้อแท้ของความสุขออกไปทุกที โจทย์คือ ทำอย่างไรจึงจะไม่ถลำไปเป็นใครที่ไม่ใช่คุณ? นโยบายง่ายๆที่จะชิงตัดหน้า เอาชนะใครอีกคนที่ไม่ใช่คุณเสียก่อนที่เขาจะโตขึ้นมา และมีอำนาจเหนือจิตใจคุณ ก็คือการหมั่นถามตัวเอง เช่น ๑) ประโยชน์ของหน้าที่คุณคืออะไร? การคำนึงถึงประโยชน์ของคนอื่นอยู่ตลอดเวลา เป็นประกันที่ดีที่สุด ที่คุณจะไม่เผลอใช้หน้าที่ไปเพื่อออกกำลัง ใช้อำนาจในทางเดือดร้อน ๒) คุณมีเงินสดอยู่เท่าไร? แม้จะซื้อของเงินผ่อน ถ้าคุณมีเงินสดเกินราคาของอยู่ก่อน ของที่ซื้อหามาวางไว้ในบ้านจะเย็น ดูนิ่งสง่าสบายตา ไม่ส่งไอร้อนรบกวนคุณให้ระคายตาระคายใจเลย ๓) ความจริงใดบ้างที่พูดได้? ทุกคำลวงเปรียบเหมือนปมเงื่อนที่ถูกผูกซ้อนกันมากขึ้นทุกที ถ้าคุณพูดคำจริง แม้มีปมใหญ่ให้ต้องแก้ ก็จะมีแต่ปมใหญ่อย่างนั้น ไม่ใช่เพิ่มปมย่อยทับซ้อนเข้ามาอีก การเป็นตัวของตัวเอง ที่มีอยู่จริง ที่ไม่ต้องหลอกใคร นั่นแหละครับสบายใจที่สุด ถ้าคุณกำลังเป็นคนอื่นอยู่ก็เลิกเถอะ แล้วจะรู้ว่ามันแสนสบายขนาดไหน ถ้าเป็นตัวของตัวเองได้ คุณจึงจะมีสิทธิ์เข้าถึงแก่นของศาสนาพุทธ ว่าแม้กายใจนี้ก็ไม่ใช่ตัวคุณอย่างแท้จริงหรอก มันเป็นแค่ของหลอกอะไรอย่างหนึ่งที่ปรากฏชั่วคราวด้วยเหตุปัจจัย แล้วต้องเลอะเลือนไปไม่ต่างจากฝัน สำคัญคืออย่าสร้างเหตุปัจจัยให้เกิดฝันร้ายแล้วๆเล่าๆ หาที่สิ้นสุดไม่เจอก็แล้วกัน ความสบายใจ หาใช่เกิดจากการได้ของสมอยาก แต่เกิดจากการปลอดหนี้สิน และหนี้คำเท็จของตนเอง หัวข้อ: @คิดจาก..ความว่าง@ เริ่มหัวข้อโดย: Junphen Juntana ที่ 07 สิงหาคม 2550, 10:12:20 พี่ปุ๊กกี้ที่สวยซำเหมอเจ้าขา
พักนี้ ค่อนข้าง "ว่างจากความคิด" เพ็ญเลยชะแว้บมาอ่าน "คิดจากความว่าง" เข้าทีดีเหมือนกันนะเนี่ย เย้ๆ (http://www.oknation.net/blog/home/album_data/764/764/album/5071/images/38429.gif) |