#การเจริญสติต้องวางใจอย่างไร?
การเจริญสติต้องวางใจให้ถูก ดังนี้
1. ปฏิบัติด้วยความผ่อนคลายสบาย ๆ
ไม่เอาจิตไปเกาะติดกับกายเกินไป
2. ไม่ไหลเข้าไปในความคิดนานเกินไป
การเห็นรูปแบบเคลื่อนตัวสบาย ๆ
จะเห็นเป็นแต่เพียงอาการ
ไม่มีเราอยู่ในนั้น
ฝึกให้คุ้นเคยกับสภาพการรู้แบบนี้
ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเวลาหลับ
ไม่ว่าจะทำกิจกรรมใดๆให้รู้สึกตัว
"กายเคลื่อนไหว ให้ใจรู้ด้วย"
ตามย้ำตามซ้ำ
ให้เกิดความคุ้นชินอันนี้ก่อน
เผลอไปไม่เป็นไร
กลับมารู้สึกตัวใหม่
ให้รู้น้อยๆ ทีละขณะ
รู้ทิ้ง รู้ทิ้ง รู้เบาๆ ผ่อนคลายๆ
เวลาความคิดเกิดขึ้น
ให้รู้ปล่อย รู้ปล่อย
สภาวะใดเกิดขึ้น
อย่าไปเค้นว่ามันคืออะไร
ไม่ต้องเอาเหตุเอาผลอะไร
นั่งก็เพียงเพื่อจะนั่ง
ไม่ต้องคิดว่าเมื่อไหร่จะสงบ
เมื่อไรจะหยุดฟุ้งซ่าน
เมื่อไรจะหายง่วง
ในการฝึก ให้ “รู้สึก” ลงไป
ไม่ใช่แค่ “รู้ว่า”
“รู้ว่า” กับ “รู้สึก” คนละเรื่องกัน
ล้างชามให้รู้ว่าล้างชาม
กระพริบตาให้รู้ว่ากระพริบตา
อันนี้ไม่ใช่ ต้องรู้สึกลงไปด้วย
ขณะกระทบสัมผัสนี่
เวลานั่งตะโพกกระทบพื้นรู้สึกไหม
ถ้าวางใจถูก ไม่นานจิตจะรู้จัก
กับสภาพเปล่าๆ ล้วนๆ ที่อยู่ตรงหน้า
เรื่องง่าย ๆ อย่าทำให้มันยาก
มันยากเพราะเราพยายามเกินไป
หรือไม่พยายามเลย
การเจริญสติคือการซ้อมสร้างความตื่นรู้
ถ้ามันยังไม่พอ มันจะยังไม่แสดงตน
อย่าอยาก ยิ่งอยากรู้ ยิ่งไม่รู้
ถ้าวางใจถูก กายกับใจจะสัมพันธ์กัน
ไม่นานจะเกิดความตื่นโพลงขึ้น
จะมีอาการโปร่งเบา เป็นอิสระ จิตจะคลี่คลาย
ดวงตาเห็นธรรมจะเปิดออก
Direk Saksith
www.buddhayanando.comf: พระพุทธยานันทภิกขุ, พลิกใจให้ตื่นรู้,
หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท, เซนสยาม,
Dynamic Meditation (นวัตกรรมแห่งสติ)