...พ ร ะ นิ พ พ า น เ ป็ น เ ช่ น ไ ร ห น อ !!
[ ก ล อ น บ ท น ฤ ว า น ]
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมด้วยใจที่หมายธรรมทานอันเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ โดยแต่จิตคิดถวายเป็นพุทธปูชิตา...
ปุถุชนทั้งหลายแม้นจักกล่าวถึงพระนฤวาน ก็กล่าวอรรถาธิบายได้เพียงลูบคลำผิวเผินเท่านั้น เพราะว่าพระนฤวานนั้นเป็นสภาวะแห่งจิตที่มิได้มีอันใดสามารถนำมาเปรียบเทียบได้ ด้วยจำเพาะเป็นสภาวะต่างหากจากโลกย์สิ้นเชิง ไม่อาจกล่าวเทียบเคียงได้ด้วยคำพูด เพราะคำพูดเป็นสภาวะปรุงแต่ง แต่พระนฤวานพ้นการปรุงแต่งทั้งปวง เป็นไปไม่ได้ที่จักเอาภาษาของปุถุชนอธิบายคุณลักษณะของโลกุตรธรรมอันเหนือโลกย์ได้ ดั่งกับเช่นให้ปลาอธิบายสภาวะแห่งบนบกฉะนั้น......
__________________________
พระมหาสมณฤาษีพุทธเจ้า ตรัสกับ เกวัฏฏะบุตรคฤหบดี ว่า........
'' ธรรมชาติที่รู้แจ้ง ไม่มีใครชี้ได้ ไม่มีที่สุด แจ่มใส โดยประการทั้งปวงปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในธรรมชาตินี้ อุปาทายรูปที่ยาวและสั้น ละเอียดและหยาบ ที่งามและไม่งาม ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในธรรมชาตินี้ นามและรูปย่อมดับไม่มีเหลือในธรรมชาตินี้ เพราะวิญญาณดับ นามและรูปนั้นย่อมดับไม่มีเหลือในธรรมชาตินี้ ดังนี้....... ''
(พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เกวัฏฏสูตร)
๏ เหนือไตรลักษณ์ตรีโลกพ้นโตรกหล้า
คืออสังขตะธัมมา บ่ อาสาน
เป็นมหาสุญโญอันโอฬาร
คือวิโมกขวิหารญาณวิชชา
๏ พ้นมหาภูตรูปและเจตสิก
โอฬาริกสุขขังวิสังขาร์
ปรากฏให้เห็นรู้อยู่ต่อตา
ผิว์ดับฤทธิ์อวิชชาจนถาวร
๏ สมุจเฉทปหานสังขารจิต
ผิว์สมิทธิ์ถอนฤทธิ์ซึ่งพิษศร
ล้างโอฆะสังโยชน์แห่งโทษบร
จบสังวรจิตเย็นเป็นตถตา ๚ะ๛
.....แม่พลอย มณีตรี อัลตรา
อ ภิ ธ า น ศั พ ท์...
มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุและวาโยธาตุ อันเป็นธาตุตั้งต้น
อุปาทายรูป คือ รูปอาศัย, รูปที่เกิดสืบเนื่องจากมหาภูตรูป, อาการของมหาภูตรูป
อสังขตธรรม คือ ธรรมที่ไม่มีเครื่องปรุงแต่ง ได้แก่พระนิพพาน ตรงข้ามกับสังขตธรรม
อาสาน, โอสาน '' อวสาน
มหาสุญโญ ในที่นี้หมายถึง สูญจากกิเลสเท่านั้น แต่จิตมิได้สูญสลาย
วิโมกข์ '' ความหลุดพ้น, การขาดจากความพัวพันแห่งโลก; พระนิพพาน
เจตสิก '' อาการหรือการแสดงออกของจิต จัดเป็นคุณสมบัติของจิต มีลักษณะที่เกิดดับพร้อมกับจิต เป็นอารมณ์ของจิต
วิสังขาร '' ปราศจากการปรุงแต่ง, นิพพาน
สมุจเฉทปหาน '' ดับกิเลสเด็ดขาด ด้วยโลกุตรมรรค ในขณะแห่งมรรคนั้น ชื่อสมุจเฉทนิโรธ
โอฆะ '' ห้วงนํ้า,
ในพระพุทธศาสนาหมายถึงกิเลสที่ท่วมทับจิตใจของหมู่สัตว์ มี ๔ อย่าง คือ
๑. กาโมฆะ = โอฆะ คือ กาม
๒. ภโวฆะ = โอฆะ คือ ภพ
๓. ทิฏโฐฆะ = โอฆะ คือ ทิฐิ
๔. อวิชโชฆะ = โอฆะ คือ อวิชชา
สังโยชน์ '' กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์, ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์ หรือกิเลสเครื่องร้อยรัดจิตใจให้จมในวัฏฏะ มี ๑๐ อย่าง
บร '' ข้าศึก, ฝ่ายอื่น ( เช่น ปรปักษ์)
ตถตา '' ความเป็นอย่างนั้น, ความเป็นเช่นนั้น, ภาวะที่สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นของมันอย่างนั้นเองคือเป็นไปตามเหตุปัจจัย
( มิใช่เป็นไปตามความอ้อนวอน, ปรารถนาหรือความต้องการของใครๆ ) เป็นชื่อหนึ่งที่ใช้เรียกกฏ ปฏิจจสมุปบาทหรืออิทัปปัจยตา