เราจะสร้างโบสถ์สักหลังหนึ่ง
ยังไม่เท่าเราพลิกมือขึ้นอย่างนี้ครั้งเดียว
แล้วรู้สึกตัว ทำอย่างนี้ดีกว่า
การสร้างโบสถ์หลังหนึ่ง
เพราะอันนี้มันรู้แต่สร้างโบสถ์ ไม่รู้อะไรเลย
กุญแจดอกเอก (ธรรมะของหลวงพ่อเทียน)
“ การแสวงหาพระพุทธเจ้าก็ตาม แสวงหาพระอรหันต์ก็ตาม แสวงหามรรคผลนิพพานก็ตาม อย่าไปแสวงหาที่ๆ มันไม่มี แสวงหาตัวเรานี้ ให้เราทำความรู้สึกตื่นตัวอยู่เสมอ นี่แหละ จะรู้จะเห็น ”
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
ธรรมชาติแห่งพุทธะในตัวคนแต่ละคน อาจเปรียบได้กับผลไม้แต่ละผลหรือเมล็ดข้าวเปลือก ถ้าหากได้เอาลงเพาะในดินที่ชุ่มเย็น มีเงื่อนไขต่างๆ พอเหมาะ ก็จะงอกขึ้นมาเป็นต้น ให้ดอกออกผลได้เช่นกัน ส่วนจะช้าหรือเร็วนั้นขึ้นอยู่กับสภาพของข้าวเมล็ดนั้นๆ เป็นเหตุปัจจัย
การตรัสรู้เหมือนดอกไม้อาศัยแสงตะวัน เมื่อตะวันส่องแสงมายังพื้นโลก เมื่อความร้อนกับความเย็นกระทบกัน จึงเกิดความอบอุ่น ดอกไม้ก็เลยบานได้ตามต้องการ
พุทธะหรือโพธิจิตนี้ เมื่อได้รับการกระตุ้นระดับหนึ่ง จะตื่นขึ้นและผลิบาน จึงเรียกว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ซึ่งมนุษย์ทุกคนไปถึงได้
การเจริญสติ อันเป็นฐานของการเจริญสมาธิ เจริญปัญญา จะทำให้ธาตุพุทธะในตัวเราแตกตัว และเบ่งบาน
การรู้สึกตัวนั้น เป็นไม้ขีดไฟ เทียนไขนั้นก็คือ มันคิดเรารู้ เราพยายามจุดสองอย่างนี้ จุดแล้วก็สว่างขึ้นมา ก็เดินหนีออกจากถ้ำ ไม่เข้าไปอยู่ในถ้ำ ถึงจะต้องเข้าไปอยู่ในถ้ำ ก็ต้องไม่ให้มันมืดต่อไป ต้องรู้สึกตัวทันที นี่แหละคือการปฏิบัติธรรม
การรู้สึกตัวนี้ ให้รู้สึกลงไป เมื่อมันไหวขึ้นมาให้รู้สึกตามความเป็นจริงที่มันเคลื่อนไหวนั้น เมื่อมันหยุดก็ให้รู้สึกทันทีว่ามันหยุด อันนี้เรียกว่า สงบ สงบแบบรู้สึก
เราจะสร้างโบสถ์สักหลังหนึ่ง ยังไม่เท่าเราพลิกมือขึ้นอย่างนี้ครั้งเดียว แล้วรู้สึกตัว ทำอย่างนี้ดีกว่าการสร้างโบสถ์หลังหนึ่ง เพราะอันนี้มันรู้แต่สร้างโบสถ์ ไม่รู้อะไรเลย
ความรู้สึกตัวเป็นรากเหง้าของบุญ ความไม่รู้เป็นรากเหง้าของบาป
การแสวงหาพระพุทธเจ้าก็ตาม แสวงหาพระอรหันต์ก็ตาม แสวงหามรรคผลนิพพานก็ตาม อย่าไปแสวงหาที่ๆ มันไม่มี แสวงหาตัวเรานี้ ให้เราทำความรู้สึกตื่นตัวอยู่เสมอ นี่แหละ จะรู้จะเห็น
ความสงบที่แท้จริงจะเกิดขึ้นต่อเมื่อ เราหยุดการแสวงหา ต่อเมื่อเราไม่ต้องวิ่งหาบุคคลอื่นนั้นเรียกว่า ความสงบ
ความสงบมีอยู่แล้วโดยไม่ต้องทำขึ้น เป็นความสงบจาก โทสะ โมหะ โลภะ เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นแก่เรา สติจะมาทันที เนื่องจากสติ สมาธิ ปัญญา อยู่ที่นั่นแล้ว โทสะ โมหะ โลภะ จึงไม่มี ถ้าบุคคลใดไม่เจริญสติ ไม่ได้ทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น บุคคลนั้นจะไม่มีมัน ทั้งๆ ที่มันมีอยู่ที่นั้นแล้ว
เพียงแต่เคลื่อนไหวทีละครั้งและรู้ เมื่อเธอไม่รู้ปล่อยมันไป เมื่อรู้ปล่อยมันไป บางครั้งเธอรู้ บางครั้งเธอไม่รู้ มันเป็นเช่นนั้น แต่ให้รู้
การรู้สึกถึงความเคลื่อนไหวของร่างกาย คือการเจริญสติ สมาธิคือการตั้งใจ
ใช้สติดูจิตใจ ไม่ว่าความคิดอะไรเกิดขึ้น เห็นมันทันที และเราจะรู้ถึงความหลอกลวง รู้ทันเวลา รู้การป้องกัน และรู้การแก้ไข รู้ถึงการเอาชนะความคิดปรุงแต่ง ศีลจะเกิดขึ้นภายในจิตใจของเราเอง ไม่ใช่คนดอกที่รักษาศีล แต่ศีลต่างหากที่รักษาคน
ให้ลืมตาทำ เคลื่อนไหวโดยวิธีใดก็ให้รู้ มันเป็นการไหลไปตามธรรมชาติของมัน ตาก็ไม่ต้องบังคับให้มันหลับ ให้มันกะพริบขึ้นลงได้ตามธรรมชาติ เหลือบซ้าย แลขวาก็ได้ มันจึงเป็นการปฏิบัติธรรมกับธรรมชาติ และมันก็รู้กับธรรมชาติจริงๆ
ถ้ารู้สึกในการเคลื่อนไหวได้ ก็เป็นการปฏิบัติธรรม ซักเสื้อผ้า ล้างถ้วย ล้างชาม ถ้ารู้สึกที่มันเคลื่อนไหวในขณะนั้น ก็เป็นการปฏิบัติธรรมได้
พุทธศาสนาคือ มารู้สึกต่อการเคลื่อนการไหวในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั่นแหละ คือมันรู้สึกในการเคลื่อนไหวของกายและใจ เป็นญาณเข้ามารู้ รู้สึกที่เนื้อที่ตัวตื่นตัว มันจะเป็นใหญ่ในตัวของมันได้เอง รู้สึกใจตื่นใจ มันจะเปลี่ยนแปลง เป็นใหญ่ในใจของมันได้เอง เมื่อมันเปลี่ยนแปลง มันก็เหมือนกับเราหงายของที่คว่ำขึ้นมา มันก็เห็นว่า มีอะไรอยู่ที่ตรงนั้น
คำว่าติดต่อกันเหมือนลูกโซ่นั้น ไม่ใช่แต่ว่านั่งอยู่ในห้องกรรมฐานเพียงอย่างเดียว จะไปไหนมาไหน อาบน้ำ ซักเสื้อ ซักผ้า ก็ให้มีสติดูการเคลื่อนไหวของรูปกาย และมีสติดูจิตดูใจอยู่เสมอ นั่นแหละท่านเรียกว่า ปฏิบัติให้ติดต่อเหมือนลูกโซ่
ทันทีที่ความคิดเกิดขึ้น ปัดมันทิ้งออกไปทันที และให้มาอยู่กับความรู้สึกตัว
ความคิดยิ่งเร็ว สติปัญญาก็ยิ่งเร็ว ความคิดยิ่งลึก สติปัญญาก็ยิ่งลึก ถ้าทุกวันสองอย่างนี้ยิ่งลึกเท่ากันและกระทบกัน แตกโพละออกมาเลย เรียกว่า โพลงตัวออกมา ซึ่งสภาวะอันนี้มันมีอยู่แล้วในคนทุกคน
วิธีแห่งการปฏิบัติ คือการรู้สึกตัวเท่าทันความคิด ร่างกายของเราทำงานไปตามหน้าที่ แต่จิตของเราจะต้องดูความคิด
การเห็น การรู้ความคิด เป็นสองสิ่งที่แตกต่างกัน การรู้คือการเข้าไปในการคิดและความคิดก็คงดำเนินต่อไป เมื่อเราเห็นความคิด เราสามารถหลุดออกมาจากความคิดนั้นได้
เมื่อเราเห็นความคิดในทุกขณะ ไม่ว่ามันจะเกิดเรื่องใดก็ตาม เราเอาชนะมันได้ทุกครั้งไป แล้วเราจะมาถึงจุดหนึ่ง ที่บางสิ่งภายในจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน
การรู้ความคิด จึงเป็นความรู้ของ อวิชชา สำหรับผู้มีปัญญา การรู้และการเห็น สามารถแยกออกจากกันได้ นั่นคือวิชชา ปัญญาและอวิชชาจะแยกความคิดออกจากกันได้ และนั่นคือที่สุดของทุกข์
ตัวนึกคิดนี่แหละคือสมุทัย มรรคคือการเอาสติมาดูความคิด นี่คือข้อปฏิบัติ
การที่เราเห็นความคิดนี่เอง เป็นต้นทางพระนิพพานแล้ว เมื่อมันคิดวูบขึ้นมา เราก็เห็นปั๊บ อันกระแสความคิดนี้มันไวนัก ไวกว่าแสง ไวกว่าเสียง ไวกว่าไฟฟ้า ไวกว่าอะไรทั้งหมด เมื่อได้เห็นสมุฏฐานความเร็ว ความไวของความคิดแล้ว เรียกว่า อรรถบัญญัติ
ให้เห็นความคิด อย่าไปห้ามความคิด และอย่าไปยึดถือ ให้ปล่อยมันไป นี่คือการเห็นความคิด คิดแล้วให้ตัดปุ๊บเลย เหมือนการวิดน้ำออกไปจากก้นบ่อ ทำอย่างนี้นานๆ เข้า สติจะเต็มและสมบูรณ์ คิดปุ๊บเห็นปั๊บ อันนี้แหละคือระดับความคิด ที่เรียกว่า ปัญญา ซึ่งเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างละเอียด
ให้รู้จักสมุฏฐานของความคิด เมื่อเรารู้จักสมุฏฐานของความคิดแล้ว เราจะได้ปฏิบัติจุดนี้เข้าไป เมื่อเราปฏิบัติจุดนี้แล้ว มันจะไปตามทางของมันเอง เมื่อไปตามทางนั้นแปลว่าเห็นถูกต้อง ก็ต้องถึงจุดหมายปลายทาง
ที่เราต้องการความสงบหรือพุทธะ เราไม่ต้องไปทำอะไรให้มาก เพียงให้ดูต้นตอของชีวิตเมื่อมันคิดมา อย่าเข้าไปในความคิด ให้ตัดความคิดออกให้ทัน
วิธีการยกมือขึ้น คว่ำมือลง เป็นวิธีเจริญสติ เป็นวิธีเจริญปัญญา เมื่อได้สัดได้ส่วนสมบูรณ์แล้ว มันจะเป็นเองไม่ยกเว้นใครๆ อยู่ที่ไหนก็ทำได้ เด็กๆ ก็ทำได้ ผู้ใหญ่ก็ทำได้ นุ่งผ้าสีอะไรก็ทำได้ ถือศาสนาลัทธิอะไรก็ทำได้ เรียกว่า ของจริง
วิธีที่จะจัดการกับ ความโลภ ความโกรธ ความหลงนั้น เราไม่ต้องไปคิดหาว่า ความโกรธ ความโลภ ความหลง อยู่ที่ไหน เราเพียงกลับเข้ามาดูจิตดูใจของเรา ก็จะทำลายความโกรธ ความโลภ ความหลงได้เอง
ศีลคือความปกติ ศีลคือผลของจิตใจที่เป็นปกติ นี้เป็นสิ่งเดียวกับสติ สมาธิ ปัญญา วิธีการปฏิบัติคือ การรู้สึกตัวเท่าทันความคิด เมื่อความคิด ความทุกข์ หรือความสับสนเกิดขึ้น อย่าได้พยายามหยุดมัน แต่ให้สังเกตมัน
หนทางไปสู่ความสิ้นสุดของทุกข์นี้ เป็นหนทางที่ง่าย เหตุที่ยาก เพราะเราไม่รู้มันอย่างแท้จริง เราจึงมีแต่ความลังเล และสงสัย
พระพุทธเจ้าก็คือ คนทุกคน เพราะพืชพันธุ์ที่จะทำให้คนเป็นพระพุทธเจ้านั้นมีอยู่แล้วในคนทุกคนไม่ยกเว้น
ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม พระธรรมนั้นมีอยู่ก่อนแล้ว เมื่อเห็นสิ่งนี้อย่างแท้จริง เราจะอยู่เหนือความเชื่อที่งมงายทั้งหลาย ตัวเราเท่านั้นที่จะนำชีวิตของเราเอง มิใช่ใดอื่น นี้คือ จุดเริ่มต้นของความสิ้นสุดแห่งทุกข์
พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอะไรเลย เพราะมันมีอยู่แล้วทั้งนั้น ขอเพียงว่าให้เรารู้สึกตัวเท่านั้นเอง ความรู้สึกตัวก็มีอยู่แล้ว
แท้จริงแล้วนั้น กิเลสมิได้มีอยู่จริง แล้วเราจะไปชนะมันได้อย่างไร สิ่งที่เราต้องทำเพียงอย่างเดียวคือ เราเพียงแต่ดูจิตใจโดยชัดเจน เผชิญหน้ากับความคิดโดยแจ่มชัด เมื่อเราเห็นใจอย่างชัดเจน โมหะก็จะไม่มีอยู่
ธรรมะคือมนุษย์ เมื่อเรารู้ธรรมะ เราก็จะเข้าใจว่า ทุกๆ สิ่งนั้นไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด ทุกๆ สิ่งคือสมมุติ นี้คือปัญญาที่เกิดขึ้น
การเห็นตัวเราตามที่เป็นจริง คือการเห็นธรรมะ ฉะนั้นการเห็นธรรมก็คือเห็นในขณะที่เรากำลังทำ กำลังพูด กำลังคิด เห็นอย่างนี้เห็นธรรมแท้ๆ ไม่แปรผัน
=================
สติธรรม
(หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ)
การเจริญสติ
• การเจริญสติ เป็นอาชีพทางจิตวิญญาณ มีวิหารธรรมเป็นที่อยู่
• การเจริญสติ เป็นภาวนา ไปสู่ความดี เปลี่ยนผิดให้เป็นถูกในทุกๆ ด้าน
• การเจริญสติ ตามรอยพระพุทธเจ้า
• การเจริญสติ เป็นกีฬาของจิตใจ ทำให้จิตใจมีความพร้อม เกิดความปกติ สะอาด สว่าง สงบ พร้อมที่จะปล่อยวาง หยุดเย็น การเจริญสติเป็นกรรม อาศัยการกระทำ
• การเจริญสติ เป็นเหตุให้ปล่อยวาง หยุดเย็น ปกติ
• การเจริญสติ ทำให้เกิดภูมิมนุษย์ ไปสวรรค์ พรหมโลกจนถึงมรรคผลนิพพาน
• การเจริญสติ นำพาไปสู่จุดหมายปลายทางของชีวิต
• การเจริญสติ เป็นเครื่องมือถลุงอกุศลกรรมให้เหือดหายไปได้อย่างทันตา ไม่ต้องรอ
• การเจริญสติ เป็นการเสียสละ เป็นการทำลายความเห็นแก่ตัว
• การเจริญสติ เป็นการงานที่พัฒนาตนให้มีคุณภาพมาตรฐาน อิสระ หลุดพ้น ไม่มีสิ่งใดครอบงำย่ำยี
• การเจริญสติ เป็นการชาร์จความดีให้ตน
• การเจริญสติ ตามแบบของสติปัฏฐานสี่นี้สมบูรณ์มากที่สุดแล้ว เมื่อผู้ใดตั้งใจศึกษาปฏิบัติ ก็จะเสมือนว่าจุดแสงสว่างในที่มืด บอกคนหลงทาง เปิดของที่ปิด จะพบชีวิตที่ใหม่ ปลอดภัย
• การเจริญสติ คือการทำบุญ รักษาศีล การทำบุญ คือการทำดีทางกายวาจาและใจ
• การเจริญสติ ก็คือทำดีลงไปที่กายวาจาและใจ การเจริญสติทำให้กายวาจาและใจ ปกติ ก็เป็นศีลอยู่ในนั้นแล้ว สติคือความดี เป็นบุญ ใจดี ทำใจดี
• การเจริญสติ เหมือนตลาดนัดแห่งธรรม ทุกอย่างจะมาให้รู้ ให้เห็น
• การเจริญสติ เป็นการรีไซเคิล เปลี่ยนสิ่งไม่ดี ให้เป็นสิ่งดี
สติ
• สติ (ความรู้สึกตัว) เป็นปัจจัยคุมกำเนิดของสังขาร
• สติเป็นมรดกของใจ
• สติเป็นปัจจัยพัฒนากายใจ
• สติจะนำพาเห็นแจ้งเอง มีสติก็คือมีธรรมะ
• สติเปิดตำรากายใจ จนได้คำตอบ กายใจจะบอกความจริงแก่ผู้มีสติเอง ไม่ต้องคิดหาเหตุผลอะไร สติจะนำพาเกิดญาณปัญญา รู้แจ้ง
• สติคือความรู้สึกตัวนี้จะนำพาให้ฉลาดเกิดปัญญาได้ทุกคน
• สติเป็นศัตรูของความหลง เมื่อมีสติดีความหลงก็ไม่มี ถ้ามีสติอย่างต่อเนื่อง ความหลงก็เหือดแห้งหรือหมดไป
• สติสัมปชัญญะ เป็นคุณธรรมที่ทักท้วงตน เฝ้าดูตน ก็จะเห็นตน รู้แจ้งในตน
• สติสัมปชัญญะลิขิตชีวิตของเราไปสู่ความชอบธรรม
• สติสัมปชัญญะเป็นธรรมขูดเกลาให้กายวาจาใจบริสุทธิ์ เป็นการทำดีละชั่วได้ทั้งสามทาง
• สติจะเป็นเจ้าของกายและจิตใจ
• สติเมื่อพัฒนาให้มีมากขึ้นจะเป็นเครื่องมือถลุง เกิดญาณปัญญารู้แจ้ง
• สติเป็นปัจจัยให้ความดี สติทำให้เกิดความสงบ เกิดความหลุดพ้น สติเป็นเหตุไม่ให้เกิดความหลงลืมตัว สติมีมากความทุกข์หมด ผู้ที่พ้นทุกข์ได้เกิดจากการเจริญสติ
• สติเป็นคุณธรรมให้รู้ตื่นและเบิกบาน
• สติจะเป็นกุญแจเปิดเผยตน เห็นผิดเห็นถูก
• สติจะเป็นธรรมเป็นวินัยอย่างยิ่ง สติเป็นความอดทนก็ได้ เป็นความละอาย เป็นเมตตากรุณา เป็นคุณธรรมได้ทุกๆ อย่าง การใช้ชีวิตขอให้มีสติเป็นหลัก คุณธรรมอันอื่นก็เกิดขึ้นตามลำดับ
• สติเป็นธรรมไม่ให้เกิดทุกข์ ขาดสติมักจะเกิดปัญหา
• สติเป็นดวงตาภายใน รู้เห็นทั้งกายและจิตใจตามความเป็นจริง สติจะทำหน้าที่เห็นสภาวะการเห็นของสติเป็นการเห็นชอบ เห็นแล้วหลุดพ้นได้ทุกสิ่งทุกอย่าง และก็เห็นได้ทุกอย่างของเหตุให้เกิดทุกข์ และพ้นจากทุกข์ได้ทุกๆ อย่าง
• สติเป็นปัจจัยเปิดเผยชีวิตของเราให้เข้าสู่อิสรภาพ
• สติเป็นเครื่องขัดใจ มีสติมากเท่าใดใจก็ยิ่งบริสุทธิ์
• สติเป็นธรรมให้เกิดธรรมกุศลอเนกประสงค์
• สติเป็นครูฝึกกายใจ ถ้ากายมีสติ กายก็จะมีคุณภาพ ถ้าจิตใจมีสติ จิตใจก็มีคุณภาพ
• สติเป็นกัลยาณมิตรกับตัวเรา
• สติเป็นนักศึกษา กายใจเป็นตำรา
• สติเหมือนใบมีดรถแทรคเตอร์ปาดทางขรุขระให้เรียบ
• สติสัมปชัญญะเสมือนช้าง โลภโกรธหลงเสมือนหมา
สติสัมปชัญญะเสมือนแมว กิเลสทั้งปวงเสมือนหนู
สติสัมปชัญญะเสมือนนกอินทรีย์ นิวรณ์เสมือนแมลง
หมาเห่าช้างย่อมไม่หวั่นไหว
หนูย่อมกลัวแมว
แมลงย่อมกลัวนกอินทรีย์
การสร้างสติ
• การสร้างสติเป็นบทเรียนที่มีค่าสำคัญ การเฝ้าดู แอบดูจะเห็นความถูกเมื่อเกิดสภาวะการเห็นเกิดขึ้นแก่ตนเองแล้ว ก็เป็นไปเพื่อความหลุดพ้น ละชั่วทำดี จิตใจก็บริสุทธิ์หมดจด
• เราสร้างสติ ต่อไปสติจะเป็นหน้าที่ดู เห็น พบเห็น ไม่ใช่คิดเห็น ได้สัมผัสกับความเห็น และเห็นแจ้ง การคิดเห็นกับการพบเห็นต่างกัน การคิดเห็นเป็นเรื่องของจิตใจ แต่การพบเห็นเป็นเรื่องของสติ เป็นความเห็นชอบ เห็นถูก (เป็นองค์มรรค)
• แต่ก่อนเราสร้างสติ ต่อไปๆ สติมันสร้างขึ้นมาเอง
• เอาสติดูกายใจ จะเห็นแจ้ง มีหลายรส มีทั้งปล่อย ทั้งวาง หยุดเย็น หลุดพ้นสารพัดอย่าง เห็นแจ้งแล้วไม่ได้เอา เห็นแล้วมีแต่หลุดพ้น จะว่าอิ่มหรือว่าเต็มหรือว่าว่างก็ได้ จนในที่สุดดับไม่เหลือแห่งทุกข์ทั้งปวง
• ให้มีสติบริสุทธิ์ มีสติซื่อๆ ตรงๆ ให้มีความรู้สึกตัว ซื่อๆ ตรงๆ รู้สึกที่กาย ซื่อๆ ตรงๆ
• การมีสติเข้าไปรู้กายอยู่เนืองๆ เวลาใดที่จิตใจลักคิดไป ก็ให้รู้ทันไม่ไปตามความคิด ทำใหม่ๆ นี้ อย่าเพิ่งไปเอาเหตุเอาผล ไปเอาผิดเอาถูกจากความคิด อย่าไปเอาอย่างนั้น
• รู้ซื่อๆ นี่ รู้อย่างยิ้มแย้มแจ่มใสนะ
• รู้เบาๆ รู้ยิ้มๆ อย่าไปกดไปคลึง เปลี่ยนฉากใหม่วางหน้าวางตาให้ดี ให้เป็นผู้ดู ไม่ใช่เป็นผู้เป็น
• การปฏิบัติให้ทำเล่นๆ ทำยิ้มๆ ขยันก็ทำ ขี้เกียจก็ทำ
• เขามาแสดงให้เราดู เราไม่ใช่เป็นนักแสดง เราเป็นผู้ดูไม่ใช่พระเอกนางเอก ไม่ต้องหัวเราะร้องไห้ไปตามบทเขา
• ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม ให้กลับมาอยู่กับความรู้สึกตัว
• ภาวะรู้สึก นี่ อือ .. ม์ รู้สดชื่น เห็นมันสุข เห็นมันทุกข์ ก็ อือ .. ม์ เห็นมันร้อน ก็ อือ .. ม์ เห็นมันหนาว ก็อือ .. ม์ นี่เป็นวิปัสสนาน้อยๆ วิปัสสนาน้อยๆ กำลังเกิดขึ้น
• ภาวะที่ดู ภาวะที่เห็นนี่นะ ให้เจริญให้มาก เจริญตัวเห็นให้มาก เวลาใดมันผิด เปลี่ยนรู้ทันที ปฏิบัติ ปฏิคือเปลี่ยน
• อะไรเกิดขึ้นกับกายใจ อย่าเพิ่งด่วนรับด่วนปฏิเสธ อย่างนี้จึงจะเป็นสติปัฏฐานสี่และสติอย่างยิ่ง
• การเจริญสติต้องให้สุขุมรอบคอบจึงจะชำนาญ ถ้าทำแบบหยาบคายจะไม่ใช่สติปัฏฐาน
• การเจริญสติอย่าไปเอาผิดเอาถูก อย่าไปเอาชอบไม่ชอบ อย่าไปหาเหตุหาผล ให้รู้สึกตัวซื่อๆ ไป
• สติปัฏฐานกลายเป็นตัวดูตัวรู้ตัวเห็น ไม่เป็นไปกับกาย เวทนา จิต ธรรม เจริญแต่ตัวรู้จนเป็นมหารู้
• ตั้งใจสร้างสติให้เป็นอาชีพ เป็นงานประจำทุกนาที
• เอาสติเป็นดวงตา ดูกายดูใจ
อานิสงค์ของการเจริญสติ
• ผู้มีสติคือผู้มีความเพียร เวลาใดมันหลงผิดไป มีสติหยุดความคิดเรียกว่าภาวนา เมื่อมีสติจึงจะเห็นคิดเห็นหลง
• ผู้มีสติดี ความโกรธ โลภ หลง หลอกไม่ได้ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หลอกไม่ได้
• ผู้มีสติจะเห็นแจ้งในสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับกายกับใจ
• ผู้มีสติดีจะไม่จนกับอาการของกายและจิตใจ
• ผู้มีสติจะไม่ด่วนรับและไม่ด่วนปฏิเสธ
• ผู้มีสติจะรู้จักทักท้วงความคิด ไม่ทำตามความคิดง่ายๆ
• ผู้มีสติจะเห็นตนทำดี ทำไม่ดีก็เห็น
• ผู้มีสติดีทุกชีวิตก็คือญาติทั้งนั้น แม้แต่ต้นไม้ใบหญ้าก็เป็นหน้าที่ช่วยเหลือ ไม่ได้ถูกแบ่งชั้นวรรณะ ตระกูล เป็นธรรมทายาททั้งหมด
• ผู้ที่มีสติจะไม่เกิดสังขารการปรุงแต่ง
• ผู้มีสติก็เสมือนอยู่บ้านพ่อบ้านแม่
• ผู้มีสติเป็นคนทันสมัย ผู้ขาดสติเป็นคนล้าสมัย เดี๋ยวนี้เขาไม่ทุกข์ ไม่โกรธ ไม่โลภ ไม่หลงแล้ว
• ผู้มีสติรับผิดชอบตนเองได้ รับผิดชอบคนอื่นได้
• ผู้มีสติคือผู้ที่ไม่เป็นอะไร กับอะไร
• อานิสงค์ของการเจริญสติ คือเป็นบ่อเกิดของศีลสมาธิปัญญา เกิดความรู้แจ้ง ล่วงพ้นภาวะเดิม ทำลายความโกรธโลภหลงลงได้ ทุกข์น้อยลง หรือหมดไปตามการมีสติ
• ถ้ามีสติก็จะเป็นคนคนเดียวกัน ถ้าขาดสติก็เป็นผีเป็นโจร เป็นภพภูมิต่างๆ ก่อให้เกิดปัญหาแก่ตนและหมู่คณะ จงเลือกทางมีสติ ปิดทางหลงสติ ถ้ามีสติจะเลวร้ายขนาดไหนก็จะเป็นคนดีได้ทั้งหมด
• ถ้ามีสติดี ความคิดจะขอโอกาสจากสติ
• ถ้ามีสติความคิดก็หยุด ความลักคิดเป็นอาหารของสังขาร
• ถ้ามีสติก็จะได้พบพระ ได้ยินเสียงความสงบก็จะได้รู้แจ้งในสัจธรรม
• ถ้ามีสติก็เป็นโอสถ ไม่หลง ไม่ทุกข์ ปกติ
• มีสติ ปล่อยวาง เสียสละ ตั้งจิตไว้ถูก ไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น เห็นเหตุปัจจัย ทำเหตุให้ดี เห็นอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ทำให้แจ้งได้ในสิ่งต่างๆ นั้น
• มีสติปัญญาจะได้แต่บทเรียน สนุกปล่อยวางอยู่ตลอดเวลา
• มีสติรู้ทันกายใจ กายใจกับสติก็จะเกิดความสมดุล เกิดความปลอดภัย คุ้มครองป้องกันรักษา
• พอมีสติดูรู้เห็น ความคิดก็จบลง
• พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เกิดขึ้นได้เพราะมีสติ สวรรค์นิพพานจะมีได้ก็ต้องมีสติ
• ความมีสติเป็นถิ่นฐานของจิตใจ ความไม่เป็นอะไรเป็นมรดกของจิตวิญญาณ
• ถ้ากายใจขาดสติก็ชื่อว่าประมาท
• ถ้ามีสติจะไม่ทำให้ตนเองทุกข์ ไม่ทำให้ผู้อื่นทุกข์
• ถ้ามีสติชีวิตจะอยู่ที่เลขศูนย์ ไม่เป็นลบไม่เป็นบวก
• ถ้ามีสติเหมือนกับเราเดินทางผ่านแล้ว ละสิ่งต่างๆ ไว้ข้างหลัง อยู่เหนือก้าวข้าม
• มีสติดีเหมือนมีโช้คอัพดี แม้ทางขรุขระก็เหมือนอยู่บนทางเรียบ