สัวสดีครับ คุณน้องหนุ๋งหนิ๋ง และชาวซีมะโด่งที่รัก ทุกท่าน
เช้านี้ขอผมขอตอบคำถามเรื่องความสุข ต่อนะครับ หลักวิชาทางพระพุทธศาสนาที่แสดงว่าความสุขมีเป็นขั้น ๆ ตั้งแต่ต่ำจนถึงสูงสุด ถึง ๑๐ ขั้น คือความสุขในกาม ความสุขในรูปณาน ๔ ความสุขในอรูปฌาน ๔ และความสุขในสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ
เสียดายที่ผมสามารถบอกกล่าวได้เพียงกามสุข หรือความสุขทางโลกเท่านั้น หรืออาจจะก้าวไปสู่ความสุขในรูปฌาน บ้าง แต่ไม่สามารถรับรองได้ จึงยังไม่นับ ขอให้ท่านลองพิจารณาด้วย โยนิโสมนสิการ ด้วยปัญญา ครับ
สวัสดี อย่าลืม เช้านี้ทำจิตให้ผ่องใสนะครับ
รู้ธรรมวันละนิด จิตผ่องใส
ตอน
การบัญญัติความสุขในพุทธศาสนา
๑.
“ดูก่อนอานนท์ ! กามคุณ ๕ เหล่านี้ กามคุณ ๕ เป็นไฉน? กามคุณ ๕ คือรูปที่พึงรู้แจ้งทางตาอันน่าปราถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นรูปที่รัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ; เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ (สิ่งที่พึงถูกต้องได้) ที่พึงรู้แจ้งทางหู, จมูก, ลิ้น และกาย อันน่าปราถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นรูปที่รัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด, ดูก่อนอานนท์ ! นี้แล คือกามคุณ ๕. ดูก่อนอานนท์ ! ความสุขกาย สุขใจอันใด ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณ ๕ เหล่านี้ ความสุขกายใจนี้เรียกว่ากามสุข. ดูก่อนอานนท์ ! คนเหล่าใดพึงกล่าวว่า เขาย่อมเสวยสุขกายสุขใจอันมีอยู่นั้น นับเป็นความสุขอย่างยอดเยี่ยม เราย่อมไม่รับรู้คำกล่าวของคนเหล่านั้น. ข้อนั้นเพราะเหตุไร. ดูก่อนอานนท์ ! เพราะยังมีความสุขอย่างอื่นที่ดีกว่า ประณีตกว่ากามสุขนั้น.”
๒.
“ดูก่อนอานนท์ ! ความสุขอื่นที่ดีกว่า ประณีตกว่าความสุข (กามสุข)นั้นเป็นไฉน? ดูก่อนอานนท์ ! ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าสู่ฌานที่ ๑ อันมีความตรึก (วิตก) ความตรอง (วิจาร) มีความอิ่มใจและความสุข (ปีติสุข) อันเกิดแต่ความสงัดอยู่. นี้แล อานนท์ คือความสุขอื่นที่ดีกว่า ประณีตกว่าความสุขนั้น (กามสุข). ดูก่อนอานนท์ ! คนเหล่าใดพึงกล่าวว่า เขาย่อมเสวยความสุขกายสุขใจอันมีอยู่นั้น (สุขในฌานที่ ๑) นับเป็นความสุขอย่างยอดเยี่ยม เราย่อมไม่รับรู้คำกล่าวของคนเหล่านั้น. ข้อนั้นเพราะเหตุไร? ดูก่อนอานนท์ ! เพราะยังมีความสุขอย่างอื่นที่ดีกว่า ประณีตกว่าความสุข (ในฌานที่ ๑) นั้น.”
๓.
“ดูก่อนอานนท์ ! ความสุขอื่นที่ดีกว่า ประณีตกว่าความสุข (ในฌานที่ ๑)นั้นเป็นไฉน? ดูก่อนอานนท์ ! ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เพราะสงบความตรึก ความตรอง (วิตก วิจาร) ได้ จึงเข้าฌานที่ ๒ อันมีความผ่องใสภายใน มีภาวะแห่งจิต มีอารมณ์เป็นหนึ่งเกิดขึ้น ไม่มีความตรึก ไม่มีความตรอง มีความอิ่มใจและความสุข (ปีติสุข) อันเกิดแต่สมาธิอยู่. นี้แล อานนท์ คือความสุขอื่นที่ดีกว่า ประณีตกว่าความสุข (ในฌานที่ ๑) นั้น. ดูก่อนอานนท์ ! คนเหล่าใดพึงกล่าวว่า เขาย่อมเสวยความสุขกายสุขใจอันมีอยู่นั้น (สุขในฌานที่ ๒) นับเป็นความสุขอย่างยอดเยี่ยม เราย่อมไม่รับรู้คำกล่าวของคนเหล่านั้น. ข้อนั้นเพราะเหตุไร? ดูก่อนอานนท์ ! เพราะยังมีความสุขอย่างอื่นที่ดีกว่า ประณีตกว่าความสุข (ในฌานที่ ๒) นั้น.”
๔.
“ดูก่อนอานนท์ ! ความสุขอื่นที่ดีกว่า ประณีตกว่าความสุข (ในฌานที่ ๒)นั้นเป็นไฉน? ดูก่อนอานนท์ ! ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เพราะคลายความอิ่มใจจึงเป็นผู้วางเฉยมีสติสัมปชัญญะอยู่ เธอเสวยความสุขด้วยนามกาย เข้าสู่ฌานที่ ๓ ซึ่งเป็นเหตุให้พระอริยเจ้ากล่าวถึงผู้เข้าฌานนี้ว่าเป็นผู้วางเฉย มีสติอยู่เป็นสุข. นี้แล อานนท์ คือความสุขอื่นที่ดีกว่า ประณีตกว่าความสุข (ในฌานที่ ๒) นั้น. ดูก่อนอานนท์ ! คนเหล่าใดพึงกล่าวว่า เขาย่อมเสวยความสุขกายสุขใจอันมีอยู่นั้น (สุขในฌานที่ ๓) นับเป็นความสุขอย่างยอดเยี่ยม เราย่อมไม่รับรู้คำกล่าวของคนเหล่านั้น. ข้อนั้นเพราะเหตุไร? ดูก่อนอานนท์ ! เพราะยังมีความสุขอย่างอื่นที่ดีกว่า ประณีตกว่าความสุข (ในฌานที่ ๓) นั้น.”
๕.
“ดูก่อนอานนท์ ! ความสุขอื่นที่ดีกว่า ประณีตกว่าความสุข (ในฌานที่ ๓) นั้นเป็นไฉน? ดูก่อนอานนท์ ! ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เพราะละสุขละทุกข์ได้ (ละสุขกายทุกข์กายได้) เพราะสุขใจ (โทมนัส) ดับไปในกาลก่อน จึงเข้าถึงฌานที่ ๔ อันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีความบริสุทธิ์แห่งสติอันเกิดขึ้นเพราะอุเบกขา (ความวางเฉย). นี้แล อานนท์ คือความสุขอื่นที่ดีกว่า ประณีตกว่าความสุข (ในฌานที่ ๓) นั้น. ดูก่อนอานนท์ ! คนเหล่าใดพึงกล่าวว่า เขาย่อมเสวยความสุขกายสุขใจอันมีอยู่นั้น (สุขในฌานที่ ๔) นับเป็นความสุขอย่างยอดเยี่ยม เราย่อมไม่รับรู้คำกล่าวของคนเหล่านั้น. ข้อนั้นเพราะเหตุไร? ดูก่อนอานนท์ ! เพราะยังมีความสุขอย่างอื่นที่ดีกว่า ประณีตกว่าความสุข (ในฌานที่ ๔) นั้น.”
๖.
“ดูก่อนอานนท์ ! ความสุขอื่นที่ดีกว่า ประณีตกว่าความสุข (ในฌานที่ ๔) นั้นเป็นไฉน? ดูก่อนอานนท์ ! ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เพราะก้าวล่วงความกำหนดหมายในรูป (รูปสัญญา) ด้วยประการทั้งปวงเพราะความดับไปแห่งความกำหนดหมาย ความกระทบกระทั่ง (ปฏิฆสัญญา ได้แก่ความกำหนดหมายในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เมื่ออารมณ์ทั้งห้านี้ ผ่านทางตา หู เป็นต้น) เพราะไม่ทำไว้ในใจซึ่งสัญญาต่าง ๆ (นานัตตสัญญา-หมายความได้ ๒ อย่าง คือสัญญาที่เป็นไปในอารมณ์ต่าง ๆ และสัญญาต่าง ๆ ๔๔ ชนิดดูคำอธิบายในวุสุทธิมรรค อารุปปนิทเทส หน้า ๑๓๙) ทำไว้ในใจว่า “อากาศไม่มีที่สิ้นสุด” เข้าสู่อรูปฌานชื่ออากาสานัญจายตนะ (มีอากาศไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์) อยู่. นี้แล อานนท์ คือความสุขอื่นที่ดีกว่า ประณีตกว่าความสุข (ในฌานที่ ๔) นั้น. ดูก่อนอานนท์ ! คนเหล่าใดพึงกล่าวว่า เขาย่อมเสวยความสุขกายสุขใจอันมีอยู่นั้น (สุขในอรูปฌานชื่ออากาสานัญจายตนะ) นับเป็นความสุขอย่างยอดเยี่ยม เราย่อมไม่รับรู้คำกล่าวของคนเหล่านั้น. ข้อนั้นเพราะเหตุไร? ดูก่อนอานนท์ ! เพราะยังมีความสุขอย่างอื่นที่ดีกว่า ประณีตกว่าความสุข (ในอรูปฌานชื่ออากาสานัญจายตนะ) นั้น.”
๗.
“ดูก่อนอานนท์ ! ความสุขอื่นที่ดีกว่า ประณีตกว่าความสุข (ในอรูปฌานชื่ออากาสานัญจายตนะ) นั้นเป็นไฉน? ดูก่อนอานนท์ ! ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ก้าวล่วงอรูปฌานชื่ออากาสานัญจายตนะ ด้วยประการทั้งปวง แล้วทำในใจไว้ว่า “วิญญาณหาที่สุดมิได้” เข้าสู่อรูปฌานชื่อวิญญาณัญจายตนะ (มีวิญญาณหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์) อยู่. นี้แล อานนท์ คือความสุขอื่นที่ดีกว่า ประณีตกว่าความสุข (ในอรูปฌานชื่ออากาสานัญจายตนะ) นั้น. ดูก่อนอานนท์ ! คนเหล่าใดพึงกล่าวว่า เขาย่อมเสวยความสุขกายสุขใจอันมีอยู่นั้น (สุขในอรูปฌานชื่อวิญญาณัญจายตนะ) นับเป็นความสุขอย่างยอดเยี่ยม เราย่อมไม่รับรู้คำกล่าวของคนเหล่านั้น. ข้อนั้นเพราะเหตุไร? ดูก่อนอานนท์ ! เพราะยังมีความสุขอย่างอื่นที่ดีกว่า ประณีตกว่าความสุข (ในอรูปฌานชื่อวิญญาณัญจายตนะ) นั้น.”
๘.
“ดูก่อนอานนท์ ! ความสุขอื่นที่ดีกว่า ประณีตกว่าความสุข (ในอรูปฌานชื่อวิญญาณัญจายตนะ) นั้นเป็นไฉน? ดูก่อนอานนท์ ! ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ก้าวล่วงอรูปฌานชื่อวิญญาณัญจายตนะ ด้วยประการทั้งปวง แล้วทำในใจไว้ว่า “อะไร ๆ ก็ไม่มี” เข้าสู่อรูปฌานชื่ออากิญจัญญายตนะ (มีความกำหนดหมายว่าไม่มีอะไรเป็นอารมณ์) อยู่. นี้แล อานนท์ คือความสุขอื่นที่ดีกว่า ประณีตกว่าความสุข (ในอรูปฌานชื่อวิญญาณัญจายตนะ) นั้น. ดูก่อนอานนท์ ! คนเหล่าใดพึงกล่าวว่า เขาย่อมเสวยความสุขกายสุขใจอันมีอยู่นั้น (ความสุขในอรูปฌานชื่ออากิญจัญญายตนะ) นับเป็นความสุขอย่างยอดเยี่ยม เราย่อมไม่รับรู้คำกล่าวของคนเหล่านั้น. ข้อนั้นเพราะเหตุไร? ดูก่อนอานนท์ ! เพราะยังมีความสุขอย่างอื่นที่ดีกว่า ประณีตกว่าความสุข (ในอรูปฌานชื่ออากิญจัญญายตนะ) นั้น.”
๙.
“ดูก่อนอานนท์ ! ความสุขอื่นที่ดีกว่า ประณีตกว่าความสุข (ในอรูปฌานชื่ออากิญจัญญายตนะ) นั้นเป็นไฉน? ดูก่อนอานนท์ ! ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ก้าวล่วงอรูปฌานชื่ออากิญจัญญายตนะ ด้วยประการทั้งปวง แล้วเข้าสู่อรูปฌานชื่อเนวสัญญานาสัญญายตนะ (มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่) อยู่. นี้แล อานนท์ คือความสุขอื่นที่ดีกว่า ประณีตกว่าความสุข (ในอรูปฌานชื่ออากิญจัญญายตนะ) นั้น. ดูก่อนอานนท์ ! คนเหล่าใดพึงกล่าวว่า เขาย่อมเสวยความสุขกายสุขใจอันมีอยู่นั้น (ความสุขในอรูปฌานชื่อเนวสัญญานาสัญญายตนะ) นับเป็นความสุขอย่างยอดเยี่ยม เราย่อมไม่รับรู้คำกล่าวของคนเหล่านั้น. ข้อนั้นเพราะเหตุไร? ดูก่อนอานนท์ ! เพราะยังมีความสุขอย่างอื่นที่ดีกว่า ประณีตกว่าความสุข (ในอรูปฌานชื่อเนวสัญญานาสัญญายตนะ) นั้น.”
๑๐.
“ดูก่อนอานนท์ ! ความสุขอื่นที่ดีกว่า ประณีตกว่าความสุข (ในอรูปฌานชื่อเนวสัญญานาสัญญายตนะ) นั้นเป็นไฉน? ดูก่อนอานนท์ ! ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ก้าวล่วงอรูปฌานชื่อเนวสัญญานาสัญญายตนะ แล้วเข้าสู่สัญญาเวทยิตนิโรธ (สมาบัติดับสัญญาและเวทนาเป็นสมาบัติสูงสุดที่พระอนาคามีกับพระอรหันต์เท่านั้นทำให้เกิดได้) อยู่. นี้แล อานนท์ คือความสุขอื่นที่ดีกว่า ประณีตกว่าความสุข (ในอรูปฌานชื่อเนวสัญญานาสัญญายตนะ) นั้น.
สรุปความ
“ดูก่อนอานนท์ ! มีฐานะอยู่ที่นักบวชเจ้าลัทธิอื่นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมกล่าวถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ ย่อมบัญญัติสัญญาเวทยิตนิโรธในความสุข ข้อนั้นคืออะไรกัน? ข้อนั้นจะเป็นได้อย่างไรกัน? (คือสัญญเวทยิตนิโรธ ดับความจำ ดับความรู้สึก แล้วจะว่ามีความสุขได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีความรู้สึก) ดูก่อนอานนท์ ! นักบวชเจ้าลัทธิอื่นผู้กล่าวอย่างนี้พึงเป็นผู้อันท่านชี้แจง “ผู้มีอายุ ! พระผู้มีพระภาคย่อมไม่ทรงบัญญัติในความสุข หมายเอาเฉพาะสุขเวทนาอย่างเดียว ในที่ใด ๆ ย่อมหาความสุขได้ ในฐานะใด ๆ มีความสุข พระผู้มีพระภาคย่อมทรงบัญญัติฐานะนั้น ๆ ในความสุข”
กายเดือดร้อน อย่าให้จิตเดือดร้อน
“ดูก่อนคฤหบดี ! เพราะเหตุนั้น ท่านพึงสำเนียกอย่างนี้ว่า เมื่อกายของเราเดือดร้อนอยู่ เมื่อกายของเราเดือดร้อนอยู่ จิตของเราจักไม่เดือดร้อน. ดูก่อนคฤหบดี ! ท่านพึงสำเนียกอย่างนี้แล.”