อรุณสวัสดิ์ครับ ชาวซีมะโด่งที่รักทุกท่าน
ขอบคุณท่านขุน ๒๘ ที่ได้เข้ามาย้ำเตือน ให้ผู้ที่สนใจธรรมะของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ เชิญชวนไปร่วมงาน ครับ สงสัยพี่สิงห์จะยังไปไม่ได้ครับ ยังได้รับเวทนาจากการไอมากๆ หลอดลมอักเสบอยู่ ช่วงนี้ต้องพักอยู่บ้านและปฏิบัติธรรม เพื่อไม่ให้ใจฟุ้งซ่านจากทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการเจ็บป่วยครับ ต้องขออภัยจริงๆ เดี๋ยวนี้พี่สิงห์ชอบหาธรรมด้วยตัวเองด้วยการปฏิบัติ ตามที่หลวงพ่อเทียน ท่านสอน ไม่นิยมไปฟัง อ่าน กราบพระ ทำบุญ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่ได้เพียงเปลือก สู้หาแก่นเอาเองจากการปฏิบัติธรรม หรือน้อมนำธรรมมาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างสม่ำเสมอ ดีกว่าครับ
ขอบคุณ คุณน้องตู่ ที่เข้ามาอ่าน แต่อย่างที่หลวงพ่อเทียน ท่านกล่าวไว้ คนชอบหรือติดกับการทำบุญ ไม่สนใจปฏิบัติธรรม จริงๆแล้วธรรมะของพระพุทธเจ้า คือแนวทางในการดำเนินธุรกิจ การบริหาร กิจวัตรประจำวัน ทำให้ครอบครัว และสังคมเป็นสุข ได้ ถ้านำไปปฏิบัติ
คุณน้องหนุ๋งหนิ๋ง สามารถปฏิบัติได้จริง แต่ระวัง ถ้า ดร.สามีเธอปฏิบัติแล้ว เธอจะไม่มีคนหาเงิน เพราะฝรั่งเขาทำจริงและพบความจริงได้แน่ๆ แต่อย่างไรก็ดี เขาสามารถนำมันไปประยุกต์ในการทำงานได้ ครับ
พี่สิงห์ยังได้รับเวทนาจากการไอมากๆ หวัดลงคอ หลอดลมอักเสบ ยังกินได้ ช่วยตัวเองได้ในการไปหาอาหารรับประทาน ยังออกกำลังกายเดินจงกรมได้ เพียงแต่กลางคืนไอมากๆ ต้องใช้การสร้างความรู้สึกตัว ให้เกิดภวังค์เผลอหลับไป จึงจะนอนหลับได้เป็นช่วงๆ ตื่นเพราะไอ ก็ต้องบังคับด้วยธรรมปฏิบัติจึงหลับ ต่อสู้กันไป ได้แต่อาศัยธรรมะของหลวงพ่อเทียน นี้ละเอาชนะเวทนา และใจตนเอง ให้ยอมรับความจริง ปฏิบัติตัวตามธรรมชาติ จิตสงบ ไม่ฟุ้งซ่านไปกับมัน ครับ
สุดท้ายลองอ่าน ถาม-ตอบ ความมหัศจรรย์ของพระธรรมดา ต่อนะครับ ขอให้ทุกท่านไตร่ตรองด้วยปัญญาของตัวเองครับ
เช้านี้ทำจิตให้ผ่องใสนะครับ จะห่างไกลทุกข์และโรค ครับ
สวัสดี(30271)
รู้ธรรมวันละนิด จิตผ่องใส
ตอน
หลวงพ่อเทียน
ความมหัศจรรย์ในพระธรรมดา
น.พ. วัฒนา สุพรหมจักร ถ้าท่านทั้งหลายได้พบหลวงพ่อเทียน ก็คงจะมีความเห็นคล้ายกันว่า ท่านเป็นหลวงตาที่มีความสงบ และพูดน้อยเช่นเดียวกับหลวงตาที่พบเห็นทั่วๆ ไป แต่ถ้าได้สังเกตตัวท่านบ้าง ก็จะรู้สึกว่า ท่ามกลางความสงบนั้น ท่านมีความตื่นตัว รู้ตัวเองอยู่ตลอดเวลา และเมื่อมีโอกาสซักถามปัญหาต่างๆ ก็ได้ประสบกับความมหัศจรรย์ของหลวงตา ผู้ที่เกือบจะเรียกได้ว่าไม่รู้หนังสือ ที่เน้นสอนเรื่องสติอย่างเดียวมาตลอด ได้แสดงออก ถึงปัญญาอันหลักแหลม โดดเด่นในการตอบปัญหา แทบจะเรียกได้ว่า “เหลือเชื่อ” สำหรับผู้ที่ ไม่เคยผ่านการศึกษาเล่าเรียนในรูปแบบที่เรายอมรับและยกย่องกัน จะสามารถตอบชี้แจงด้วยคำพูดที่ง่าย กระชับ เต็มไปด้วยความหมายเข้าใจได้ชัดเจน หมดข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเรียกขานท่านในชื่อใด สมญานามใดก็ตาม ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่สิ่งที่ท่านสอนหรือตอบนั้น แม้ในคำถามพื้นๆ ธรรมดาที่เราสงสัยก็เต็มไปด้วยคุณค่า เปรียบได้ดังกับการจุดไม้ขีดไฟให้ความสว่างในความมืด ทำให้เห็นหนทางหรือเกิดความสว่างในปัญญาอันเป็นประโยชน์แก่ผู้ต้องการและแสวงหา ที่อยู่ท่ามกลางความมืด ความไม่รู้ ความสงสัย และความไม่เข้าใจทั้งหลายไม่มากก็น้อย คำตอบและข้อคิดเห็นต่อไปนี้ได้จากคำถามที่ข้าพเจ้า และคณะแพทย์ผู้รักษาได้ถามท่านในช่วงเวลา ๕ ปี สุดท้าย ขอบันทึกไว้เพื่อว่าจะเป็นประโยชน์บ้าง ทั้งนี้ ไม่ได้หวังเพื่อยกย่องเชิดชู หรือ ชักจูงให้เลื่อมใสโดยปราศจาก วิจารณญาณไตร่ตรอง ซึ่งเป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละบุคคลที่เราพึงเคารพ
(๑). ศาสนา
หลวงพ่อกล่าวถึงศาสนาว่า “ศาสนา คือ คน” เมื่อฟัง หรืออ่าน แล้วก็ยังไม่เข้าใจ
จึงได้ถามท่านว่า ศาสนา คือ “คน” จริงหรือไม่ ท่านตอบว่า
“ศาสนา เป็นเพียงคำที่เราเรียก คำสอน คน โดย คน ที่ถือว่าเป็นผู้รู้ มีหลายอย่าง ถ้าจะให้พูดเรื่องศาสนา จะมีแต่ทำให้เกิดข้อสงสัยและโต้เถียงกันขอไม่พูด แต่ถ้าอยากรู้ว่าความจริงของชีวิตเป็นอย่างไร จะเล่าให้ฟัง เมื่อรู้แล้วจะหมดสงสัยในคำว่า “ศาสนา”
(๒). ทำไมจึงแสวงหาธรรมะ
ข้าพเจ้าเคยเรียนถามท่านว่า ท่านมีความบันดาลใจอย่างไรจึงแสวงหาธรรมะ
ท่านตอบว่า
“ท่านเคยทำบุญทำทานมาตลอด ทอดกฐินอยู่เสมอ ครั้งสุดท้ายในงานทอดกฐิน ท่านได้มีปัญหาในเรื่องจะทำบุญกับคนในบ้าน ท่านจึงคิดว่าทั้งๆ ที่ท่านทำบุญให้ทานมาก็มากแล้ว ทำไมจึงยังมีความทุกข์เกิดขึ้นได้อีก ท่านจึงตัดสินใจที่จะแสวงหาธรรมะที่จะพ้นทุกข์ได้ตั้งแต่บัดนั้น”
(๓). ธรรมะไม่ใช่เสื้อผ้า
หลวงพ่อเคยกล่าวว่า
“ท่านเคยมีความเข้าใจผิดคิดว่า ธรรมะ เป็นสิ่งนอกกาย เหมือนกับเสื้อผ้าที่จะต้องเสาะแสวงหามาห่อหุ้มสวมใส่ แท้ที่จริงแล้วธรรมะนั้นมีอยู่ในตัวเรานี่เอง”
(๔). การศึกษาธรรมะ
ท่านเคยกล่าวถึงการศึกษาธรรมะว่า
“การศึกษาธรรมะเพียงเพื่อเอาไว้ พูด คุย และถกเถียงกันนั้น ได้ประโยชน์น้อย เราต้องนำมาใช้และปฏิบัติให้ถึงที่สุด จะได้ประโยชน์มากกว่า”
(๕). เรื่องของพระอานนท์
ข้าพเจ้ามีความสงสัยตลอดมาว่า ทำไมพระอานนท์ จึงไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ทั้งๆ ที่ได้ยิน ได้ฟัง รู้คำสอนของพระพุทธเจ้ายิ่งกว่าใครๆ หลวงพ่อตอบว่า
“พระอานนท์รู้เรื่องพระพุทธเจ้ามากก็จริง แต่ยังไม่รู้จักตนเอง เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว ได้เรียนรู้ตนเอง จึงสำเร็จเป็นพระอรหันต์”
(๖). หลวงพ่อเทียนสอนแบบฉีกตำรา ?
ข้าพเจ้าได้เรียนถามท่านว่า คนทั่วไปย่อมยึดถือพระไตรปิฎกเป็นตำราในการศึกษาพุทธศาสนา แต่เวลาหลวงพ่อสอนไม่ค่อยเห็นพูดถึงเลย ท่านให้ความเห็นว่า
“พระไตรปิฎกนั้นจารึกหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานหลายร้อยปีและคัดลอกต่อกันมานับพันปี คนเขียนคงเขียนดีแล้ว แต่คนอ่านจะเข้าใจเหมือนคนเขียนหรือไม่ ยังสงสัย ถ้าจะเอาแต่อ้างตำรา ก็เหมือนกับว่า เราต้องรับรองคำพูดของคนอื่น ซึ่งหลวงพ่อไม่แน่ใจ แต่สิ่งที่เล่าให้ฟังนั้น ขอรับรองคำพูดของตัวเอง เพราะจากประสพการณ์จริงๆ”
“ตำราเปรียบเสมือนแผนที่ เหมาะสำหรับผู้ที่ยังไม่รู้ทางไป หรือ ยังไปไม่ถึงจุดหมาย ผู้ที่ไปถึงแล้วแผนที่ก็หมดความหมาย”
“พระไตรปิฏกเขียนด้วยภาษาอินเดีย เหมาะสำหรับคนอินเดีย หรือคนเรียนภาษาอินเดียอ่าน แต่ธรรมะของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เรื่องผูกขาดของคนใดคนหนึ่ง เป็นเรื่องอยู่เหนือ ภาษา เชื่อชาติ เพศ และ เวลา ถ้าเรารู้ธรรมะที่แท้จริงแล้ว จะต้องรู้และเข้าใจในภาษาของเราได้”
“การศึกษาพระไตรปิฎกนั้นดี แต่อย่าให้ ติด และ เมาในตัวหนังสือ มะม่วงมีชื่อเรียก หลายอย่าง หลายภาษา อย่ามัวแต่ถกเถียง ตีความ หรือยึดถือว่าจะต้องเรียกอย่างไร แล้วปล่อยให้มันเน่า ใครที่ได้กินมะม่วงก็ย่อมรู้ว่า รสมะม่วงเป็นอย่างนั้นเอง ไม่ว่าจะเรียกชื่ออะไร หรือไม่มีชื่อเลยก็ตาม”
(๗). หลงในความคิด
หลวงพ่อเคยกล่าวว่า
“คนเรานั้น คิดอยู่เสมอเหมือนกระแสน้ำ การหลงติดกับความคิดก็เหมือนการตักน้ำมาเก็บไว้ แต่ถ้ามีสติ รู้เท่าทันความคิดนั้นๆ ก็เหมือนกับน้ำที่ไหลมา แล้วก็ผ่านไป การหลงติดในความคิด ทำให้เกิดทุกข์”
(๘). ทุกข์
เคยมีคนถามท่านว่า ทุกข์คืออะไร ท่านได้เอาของใส่มือให้กำไว้ แล้วคว่ำมือและแบมือ ท่านได้ชี้ไปที่ของซึ่งหล่นจากมือไปสู่พื้นว่า
“นี่คือ ทุกข์”
ผู้ถามก็เข้าใจทันทีว่า ทุกข์เป็นสิ่งสมมติที่เราสร้างขึ้น และยึดถือไว้ ปล่อยวางได้ ท่านได้กล่าวถึงผู้ที่เข้าใจโดยเร็วนี้ว่า
“เป็นผู้มีปัญญา”
(๙). เชือกขาดเป็นอย่างไร
เมื่อได้อ่านประสบการณ์ของท่านที่กล่าวว่า ในช่วงสุดท้ายมีความรู้สึกเหมือนเชือกขาด จากกันนั้น เข้าใจได้ยาก ท่านได้อธิบายเพิ่มเติมว่า
“คำพูดเป็นเพียงการสมมติ ว่าเสียงนั้นๆ หมายถึงอะไร มันไม่มีคำพูดที่จะอธิบายภาวะดังกล่าว ถ้าเราเอาสีขาวกับสีดำซึ่งห่างกันเพียง ๑ เซนติเมตร ค่อยๆ ผสมให้กลืนกัน ตรงกลางเราเรียกว่าสีเทาใช่ไหม แต่ถ้าหากสองสีนี้ห่างกัน ๑๐ เมตร แล้วให้สีทั้งสองค่อยๆ กลืนกัน จะให้อธิบายว่าจุดๆ หนึ่งระหว่างนั้นเรียกว่าสีอะไร มันไม่มีคำพุดจะกล่าวให้เข้าใจ ต้องรู้เอง”
“เคยเห็นเมฆหน้าฝนไหม มองดูคล้ายเป็นรูปเงาต่างๆ แต่ถ้าเรานั่งเครื่องบินเข้าไปอยู่ในก้อนเมฆนั้นๆ เราไม่เห็นอย่างที่เห็นก่อนเข้ามาดอก ภาวะดังกล่าว ไม่มีคำพูดที่จะอธิบาย มันอยู่เหนือตัวหนังสือ การประมาณคาดคะเน หรือความเข้าใจ ไปเองว่าจะเป็นอย่างนี้ ต้องรู้เองเห็นเอง”
(๑๐). ปัญหาปลีกย่อย
หลวงพ่อเคยเล่าให้ฟังว่า คนจำนวนไม่น้อยที่มาหาท่านแล้วถามแต่ปัญหาปลีกย่อย เช่น ทำบุญเช่นนี้ได้บุญแค่ไหน ชาติหน้ามีจริงหรือไม่.....ฯลฯ
มีน้อยครั้งที่จะมีคนถามว่า พุทธศาสนาสอนอย่างไร จะเอาไปใช้ได้อย่างไร หรือที่จะ
ทำให้ทุกข์น้อยลง ควรทำอย่างไร ครั้นจะให้หลวงพ่อถามเอง ตอบเอง ก็ดูกระไรอยู่
(๑๑). จริง สมมติ
ท่านกล่าวว่า คนมีอายุยืน มีความจำ และ ความคิด มากกว่าสัตว์ ครั้นอยู่กันเป็นหมู่มาก จำเป็นต้องตั้ง หรือ สมมติกฎเกณฑ์ขึ้นมา เพื่อให้มีความสงบในสังคม
เมื่อเวลาผ่านไป คนรุ่นหลังย่อมหลง ยึดว่าสิ่งสมมตินั้นเป็นความจริง เมื่อมีคนบอกว่า
สิ่งที่เขาว่าจริงนั้น แท้จริงแล้วมันเป็นสิ่งสมมติ คนส่วนใหญ่จะไม่ยอมเชื่อ ซึ่งก็เป็นธรรมดา
“ที่เรียกว่าเงินนั้น ที่จริงแล้วเป็นกระดาษ เมื่อใช้แล้วมีคนยอมรับจึงมีค่า ถ้าไม่ยอมรับ ก็เป็นกระดาษ ในสังคมปัจจุบัน เราใช้เงินเป็นตัวกลางเพื่อแลกเปลี่ยน ชีวิตใดครอบครัวใดไม่มีเงิน จะอยู่ได้ด้วยความเดือดร้อน เงินซื้อความสะดวกและความพอใจได้ แต่ซื้อความหมดทุกข์ไม่ได้”
(๑๒). การปฏิบัติธรรม
เคยถามท่านว่า ทำไมการสอน และ การปฏิบัติธรรม จึงมีความแตกต่างกันไปตามสำนักต่างๆ ทั้งๆ ที่ มีพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน ท่านตอบว่า
“เรื่องนี้เป็นธรรมดา แม้ในสมัยพุทธกาลก็มีคนกล่าวว่า มีตั้ง ๑๐๘ สำนัก แต่ละแห่งก็ต้องว่าของตัวถูกต้อง อีก ๑๐๗ แห่งเป็นมิจฉาทิฏฐิ ตัวเราเอง จะต้องเป็นคนไตร่ตรอง พิจารณาเอง การที่เป็นคนเชื่อง่าย หรือ เป็นคนเชื่อยาก ไม่ฟังคนอื่น ต่างก็ไม่ดีทั้งนั้น
ถ้าการปฏิบัติดังกล่าวทำให้ทุกข์หมดไป ถือว่าใช้ได้ สำหรับเรื่องธรรมะนั้น คนที่รู้ธรรมะที่แท้จริง จะต้องรู้อย่างเดียวกัน
เมื่อมีคนถามถึงการปฏิบัติธรรมะในรูปแบบอื่นๆ ว่าดีหรือไม่ ท่านกล่าวว่า “ดีของเขา ไม่ใช่ดีของเรา”
(๑๓). วิปัสสนาแล้วเป็นบ้า
ได้เรียนถามท่านว่า การนั่งวิปัสสนาทำให้คนเป็นบ้า ตามที่มีจิตแพทย์บางคนกล่าว จริงหรือ ท่านตอบว่า
“คนที่ไม่รู้จักจิตใจตัวเองนั้นแหละคือคนบ้า การนั่งวิปัสสนา เป็นการศึกษาให้รู้จักจิตใจตัวเอง ถ้านั่งแล้วเป็นบ้า ไม่ใช่วิปัสสนา”
(๑๔). นิพพาน
ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า เคยถามโยมผู้ที่เคยอธิษฐานหลังการทำบุญว่าขอให้อานิสงส์
การทำบุญทำให้เขาเข้านิพพานในอนาคตกาลด้วยนั้นว่า
ท่านถามว่า “โยมเข้าใจว่าจะไปถึงนิพพานเมื่อใด”
ชาวบ้านตอบว่า “เมื่อตายไปแล้ว”
ท่านถามต่อว่า “อยากไปถึงนิพพานจริงๆ หรือ”
ชาวบ้านตอบว่า “อยากไปถึงจริงๆ”
ท่านจึงพูดว่า “ถ้าเช่นนั้นโยมควรตายเร็วๆ จะได้ถึงนิพพานไวๆ”
ชาวบ้านตอบด้วยความงงว่า “ยังไม่อยากตาย”
ท่านจึงชี้แจงให้ฟังว่า “นิพพานก็อยากไป แต่ทำไมไม่อยากตายเร็ว นี่โยมเข้าใจผิดแล้ว พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้คนไปนิพพานเมื่อตายแล้ว แต่สอนคนเป็นๆ ให้ไปถึงนิพพานขณะที่มีชีวิตอยู่”
(๑๕). ทำไมจึงบวช
ตามที่ทราบ ท่านได้รู้ธรรมะตั้งแต่เป็นฆราวาส ทำไมท่านจึงบวช ท่านตอบว่า
“พระภิกษุ เป็นสมมติสงฆ์ การบวชทำให้สอนคนได้ง่ายขึ้น”
(๑๖). หินทับหญ้า
ข้าพเจ้าเคยถามเรื่องการนั่งสมาธิหรือกรรมฐานว่าเป็นอย่างไร ท่านตอบว่า
“การนั่งสมาธิมีมาก่อนสมัยพุทธกาล ทำให้เกิดความสงบชั่วคราว เมื่อออกมาจากสมาธิก็ยังมีความโลภ โกรธ หลงอยู่ จิตใจไม่เปลี่ยน เปรียบเหมือนกับหินทับหญ้า แม้หญ้าจะฝ่อลง เมื่อหญ้าต้องแสงอาทิตย์ หญ้าก็งอกขึ้นมาอีก ต่างกับวิปัสสนาที่ทำให้เกิดปัญญา จิตใจเปลี่ยนแปลงดีขึ้น”
(๑๗). พระเวสสันดร
เคยเรียนถามเรื่องพระเวสสันดร ซึ่งเป็นตัวอย่างทานบารมี แต่ดูคล้ายกับว่า
“เป็นคนไม่รับผิดชอบต่อบุตร ภรรยา การให้ทานเช่นนี้ ทำให้ได้เป็นพระพุทธเจ้า”
จริงหรือ ท่านตอบว่า
“เรื่องพระเวสสันดร เป็นเรื่องเล่าต่อกันมา ถ้าเราคิดว่าจริง เราควรบริจาคทานภรรยาและลูกของเราเอง ให้แก่ กรรมกร หรือชาวนา ไปช่วยเขาทำงานแล้วเราก็จะได้เป็นพระพุทธเจ้า ถ้าจะเปรียบเทียบใหม่ว่า สิ่งที่ติดตัวเรา ผูกพันเหมือนบุตร ภรรยา ก็คือ ความโลภ ความโกรธ และ ความหลง เราบริจาค หรือทานสิ่งนี้ไปเสีย จะพอเข้าใจได้ไหม”
(๑๘). การเชื่อ
หลวงพ่อได้กล่าวอยู่เสมอว่า เราไม่ควรด่วนเชื่อทันที และไม่ควรปฏิเสธทันทีเช่นกัน ควรพิจารณาไตร่ตรองให้ดี หรือทดลองเสียก่อน จึงจะ เชื่อ หรือไม่เชื่อ
ในพุทธประวัติก็มีตัวอย่าง เช่น องคุลีมาล เป็นคนที่เชื่อง่าย อาจารย์สั่งให้ฆ่าคนตั้งมากมายก็ยังทำ หรือ เมื่อปริพาชกพบพระพุทธเจ้า ทั้งๆ ที่พระองค์มีลักษณะน่าเลื่อมใส แต่ก็ไม่เชื่อว่า พระองค์ตรัสรู้ได้ด้วยตัวเอง จึงหลีกไป ไม่มีโอกาสได้ศึกษาจากพระพุทธเจ้า
(๑๙). ผู้ที่เข้าใจท่านพูด
เคยถามท่านถึงจำนวนผู้ที่เข้าใจหลังจากที่ได้แสดงธรรมะ หรืออบรมว่ามีสักเท่าใด
ท่านตอบว่า
“คงจะได้สัก ๑๐-๑๕% เรื่องนี้เป็นธรรมดา คนที่พร้อมจึงจะเข้าใจได้ คนส่วนใหญ่ติดการทำบุญ”
(๒๐). คนรักษาศีล หรือ ศีลรักษาคน
ทำไมจึงต้องคอยรักษาศีล เหมือนรักษาแก้วไม่ให้มันแตก
ทำไมเราจึงไม่ประพฤติปฏิบัติตัวให้มีศีลเล่า ศีลจะได้รักษาเรา แล้วจะได้ไม่ห่วงคอยรักษาศีล
(๒๑). บุญ
เมื่อข้าพเจ้าถามท่านว่า “ทำบุญได้บุญจริงหรือ” ท่านได้ถามว่า “เข้าใจว่าบุญเป็นอย่างไร”
เมื่อเรียนให้ท่านทราบว่า บุญนั้นเข้าใจว่าเป็นผลดี ตอบแทนเมื่อเราตายไปแล้ว ท่านถามว่า
“เคยฟังพระสวดอานิสงส์การทอดกฐินหรือไม่ ที่ว่าจะได้วิมาน และนางฟ้าเป็นบริวาร ห้าร้อยองค์ หรือพันองค์ จงคิดดูว่า วัดในเมืองไทยมีกี่วัด ถ้ามีการทอดกฐินทุกวัด ทุกปี จะไปหานางฟ้าที่ไหนมาให้จึงจะพอ เราคิดว่าพระเป็นเสมือนพนักงานธนาคารที่คอยคิดดอกเบี้ยให้เวลาเราตายอย่างนั้นหรือ” ข้าพเจ้าได้ถามท่านต่อว่า ถ้าเช่นนั้นการทำบุญด้วยวัตถุ อย่างที่เป็นอยู่ทั่วไปนั้น ท่านเห็นเป็นอย่างไร ท่านตอบว่า
“การทำบุญด้วยวัตถุก็เป็นสิ่งที่ดี แต่เป็นเพียงข้าวเปลือก เอาไว้ทำพันธุ์ ถ้าเราจะกินข้าวให้ได้ประโยชน์ ต้องกินข้าวหุงหรือข้าวนึ่งสุก ไม่ใช่ข้าวสาร หรือ ข้าวเปลือก
การหลงติดอยู่กับการทำบุญด้วยวัตถุอย่างงมงาย เป็นความหลงที่อยู่ในความมืดที่เป็นสีขาว”
“บุญเหนือบุญก็คือ การรู้จักตัวเอง ไม่มีทุกข์ นี้แหละ”
(๒๒). หนา
ข้าพเจ้าเคยนิมนต์ท่านให้ไปสอนผู้ที่เคารพนับถือท่านหนึ่งที่คิดและเลื่อมใสในการทำบุญตามประเพณีมาก เมื่อได้ถามท่านหลังจากที่ท่านกลับมาแล้ว ท่านตอบว่า
“โยมคนนี้เป็นคนหนา เราเคยอ่านพุทธประวัติหรือไม่ เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ ก่อนที่จะไปโปรดปัญจวัคคีย์ พระองค์ได้ระลึกถึงอุทกดาบส และอาฬารดาบส แต่แล้วก็ทราบว่าท่านทั้งสองได้ตายเสียแล้ว หลวงพ่อสงสัยว่าพึ่งจากกันไม่นาน จะตายทางร่างกายหรือไม่นั้น ยังสงสัย แต่ที่ตายแน่ๆ คือ ความคิด”
(๒๓). สมณศักดิ์
เคยถามท่านว่าสมัยพระพุทธเจ้าไม่มีสมณศักดิ์ แต่ทำไมปัจจุบันในเมืองไทยจึงมีมากนัก ดี หรือ ไม่ ท่านตอบว่า
“สมณศักดิ์เป็นเรื่องของสังคม จะเรียกว่าดีก็ได้ หรือไม่ดีก็ได้ แต่เราอยู่ในสังคมของเขา”
(๒๔). การศึกษาทำให้คน ดี ชั่ว จริงหรือไม่ ?
เคยถามว่า ทำไมผู้ที่เคยบวชเรียนมามาก บางคนเมื่อสึกไปแล้ว กลับประพฤติตัวเหลวไหล ยิ่งกว่าชาวบ้านที่ไม่เคยบวชเรียนเลย หลวงพ่อตอบว่า
“คนเหล่านั้นเรียนแต่ตัวหนังสือ ไม่เคยเรียนรู้ตัวเอง”
(๒๕). กราบผ้าเหลือง
ข้าพเจ้าเคยกล่าวกับท่านว่า เราเองไม่ทราบว่าพระองค์ไหนจะเป็นพระแท้ หรือ เป็นเพียงกาฝากของศาสนา เพียงเห็นผู้ที่โกนศรีษะห่มผ้าเหลืองก็กราบแล้ว
ท่านให้ความเห็นว่า
“ถ้าหากจะกราบเพียงผ้าเหลือง เวลาผ่านไปแถวเสาชิงช้า มิต้องกราบตามร้านที่ขายเครื่องพระ ตั้งแต่หัวถนนจดท้ายถนนหรือ”
(๒๖). มงคล
ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า ท่านเคยถูกนิมนต์ไปเพื่อสวดมงคลในบ้าหลังหนึ่ง ท่านขอร้องให้เอากะละมังขนาดใหญ่ใส่น้ำ เพื่อจะทำน้ำมนต์แทนบาตร หลังจากท่านได้ทำให้แล้ว ท่านกลับเอาน้ำมนต์ในกะละมังสาดไปทั่วบ้าน
แล้วบอกว่า
“ช่วยกันเก็บช่วยกันถู อันนี้แหละเป็นมงคล การที่เราใช้น้ำมนต์ประพรหมตัวเราอาจจะแพ้ลูกไม้ใบหญ้าที่ใส่ไว้ในน้ำมนต์ มีอาการผื่นคันขึ้นมาต้องเปลืองเงินทองซื้อหยูกยารักษาอีก แล้วมันจะเป็นมงคลได้อย่างไร”
(๒๗). บังสกุล
เคยถามท่านว่า “เวลาเราบังสกุลให้ผู้ตาย เขาได้หรือไม่” ท่าตอบว่า
“การบังสกุลเป็นเพียงประเพณีที่คนอยู่ทำขึ้น เนื่องจากยังห่วงใยในคนที่ตายไปแล้ว ที่ว่าคนตายจะได้หรือไม่ ยังสงสัย แต่ผู้ที่ได้แน่ๆ คือ พระ เราคิดว่าพระทำหน้าที่แทนบุรุษไปรษณีย์ได้หรือ ?”
(๒๘). พระกราบโยม
ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อท่านไปประเทศลาว ได้รับนิมนต์สวดต่ออายุให้แม่ของชาวบ้าน
หลวงพ่อไม่สวด เจ้าภาพเขาจึงไม่ถวายจตุปัจจัย หลวงพ่อได้ชี้แจงเรื่องการต่ออายุพ่อแม่ว่า ต้องกระทำดีต่อพ่อแม่ ไม่ใช่เพียงแต่มีการสวดมนต์แล้วหวังจะให้พ่อแม่มีอายุยืน และได้พาลูกๆ กราบพ่อแม่เป็นครั้งแรกตามท่าน ชาวบ้านที่อยู่ในเหตุการณ์ก็ฮือฮากันว่า ผิดประเพณี ไม่เคยเห็นพระกราบโยม ซึ่งหลวงพ่อกล่าวว่า
“ที่อาตมาพาลูกกราบแม่ตามอาตมานั้น อาตมาไม่ได้กราบโยม แต่อาตมากราบตัวเอง ที่สามารถสั่งสอนคนให้เข้าใจได้ว่า การต่ออายุที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร”
(๒๙). ศาลพระภูมิ
เมื่อข้าพเจ้าได้ถามถึงเรื่อง เจ้าที่ ศาลพระภูมิ ว่ามีอิทธิฤทธิ์ให้คุณให้โทษแก่เจ้าของบ้าน จริงหรือไม่ ท่านตอบว่า
“จงคิดดู ถ้าเจ้าที่นั้น มีอิทธิฤทธิ์จริงแล้ว ทำไมจึงไม่เนรมิตรบ้านอยู่เอง เนรมิตรอาหารกินเอง ทำไมจึงต้องคอยให้คนสร้างให้ หรือคอยอาหารเซ่นไหว้ ซึ่งน้อยนิดเดียว จะกินอิ่มหรือ”
(๓๐). พระเครื่อง
ก่อนที่จะทราบว่าท่านเป็นใคร ข้าพเจ้าได้พบท่านในขณะที่ข้าพเจ้ากำลังสนใจพระเครื่องเป็นอย่างยิ่ง ได้เอาพระนางพญาพิษณุโลกมาอวด เพื่อที่จะได้ถือโอกาสขอพระเครื่องจากท่านโดยอวดว่า พระนางพญาพิษณุโลกนี้เป็นพระเครื่องที่เก่าแก่สร้างมาตั้ง ๗๐๐ ปีแล้ว ท่านถามว่า
“พระองค์นี้ทำจากอะไร”
เมื่อข้าพเจ้าตอบว่า ทำจากเนื้อดินเผา แกร่ง สีเนื้อมะขามเปียกมีแร่ต่างๆ ปรากฏอยู่เต็ม ท่านตอบด้วยความสงบว่า
“ดินนั้นเกิดมาพร้อมกันตั้งแต่สร้างโลก พระองค์นี้ ไม่ได้เก่าแก่ไปกว่าดินที่เราเหยียบก่อนเข้ามาในบ้านนี้หรอก”
เพียงประโยคเดียวที่ทำให้ข้าพเจ้าถอดพระเครื่อง ออกจากคอได้อย่างมั่นใจที่สุด
มีคนถามท่านว่า แขวนพระดีหรือไม่ ท่านตอบว่า
“ดี แต่มีสิ่งที่ดีกว่าแขวนพระ จะเอาไหม”
ในโอกาสหนึ่งมีคนถามเรื่องเครื่องรางของขลังของเขาว่า มีอานุภาพตามที่เล่าลือหรือไม่
ท่านถามว่า “คนทำตายหรือยัง” เมื่อตอบว่าคนที่ทำได้ตายแล้ว เพราะเป็นมรดกตกทอดกันมา ท่านตอบว่า
“คนที่ทำยังตายเลย แล้วเราจะหวังสิ่งนี้ ช่วยไม่ให้เราตายได้อย่างไร”