รู้ธรรมวันละนิด จิตผ่องใส
ตอน
การเจริญสติในอิริยาบถเดิน(คัดลอกมาจากหนังสือ อารมณ์การปฏิบัติ
ของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ) หลวงพ่อ : หนูทำงานอะไร
ผู้ฟัง : เป็นครูค่ะ
หลวงพ่อ : เดินไปโรงเรียน บัดนี้น่ะ ถ้าหากหนูมีรถจักรยาน หรือนั่งรถก็ตาม ถ้านั่งรถจักรยาน ขาก็ย้ายไปอย่างนี้ เหยียบบันไดมันมีความรู้สึก ถ้าไม่มีรถจักรยาน เดินก็เดินไปเฉยๆ นี่แหละ เดินไปเดินก้าวไป ก้าวสัก ๑๐ ก้าว รู้ครั้งหนึ่ง ก็ยังดี ดีกว่าไม่รู้ เอาอย่างนี้ ถ้าเดินไป ๑๐ ก้าว รู้ ๕ ครั้งก็ยังดี ถ้าไม่รู้สักเที่ยว ก็เต็มทีแล้ว เป็นอย่างนั้น ต้องรู้ รู้ก้าวหนึ่ง สองก้าวก็ดี ไปถึงโรงเรียนคงจะมีสักร้อยก้าวนะ รู้สักสิบก้าวก็ดี ดีกว่าไม่รู้ นี่แหละทำอย่างนี้ มันจะสะสมเอาไว้ ความรู้อันนี้มันจะค่อยๆ มากขึ้นๆ มันจะรู้เรื่อยๆ ไป
วิธีที่พูดกันวันนี้ ก็ต้องพูดกันอย่างนี้ คือ รู้เรื่องรูปนามแล้ว อย่าเอาสติมาใช้รูปนาม ให้เอาสติมาคอยดูความคิด บัดนี้หนูเดินไปโรงเรียน ไปสอนนักเรียน เดินไป อย่าเอาสติมากำหนดเท้ามากเกินไป ให้คอยดูความคิด ดูต้นไม้ หรือดูคนเดินผ่านไปตามถนนหนทางก็ได้ แล้วมันแวบคิดขึ้นมา
“อุ้ย ! คิดแล้ว”
ทิ้งไปเลย อย่าเข้าไปในความคิด ถ้าเข้าไปในความคิด มันจะพาคิด
“โอ้ย ! คนนั้นผู้หญิง ผู้ชาย ดูหน้า ดูตา คนดำ คนขาว นุ่งเสื้อสีนั้นสีนี้”
ไม่ต้องเอา อันนั้นมันวิตก วิจารณ์ เห็นผู้หญิงก็ช่าง ผู้ชายก็ตาม เฉยไปเลย เห็นต้นไม้ โอ้ แล้วไปเลย ไม่ต้องว่า
“โอ้ ! ต้นไม้เป็นกิ่งนั้นกิ่งนี้”
ไม่ต้องวิพากษ์ วิจารณ์ อันนั้น
อันนี้เป็นวิธีหนึ่ง คือว่า มันคิดก็แล้วไป มันคิดก็แล้วไป
แต่ต้องวิพาก วิจารณ์นะ อันนี้สมมุติพูดนะ ถ้ามีเรื่องขึ้นมาจะแก้ปัญหาไม่ได้นะบัดนี้ อันนี้มันต้องเป็นอย่างนั้น ถ้าคนไปลักของบัดนี้ นุ่งเสื้อสีนั้นสีนี้ ก็ รู้จักอีกแล้ว บัดนี้ อันนี้มันต้องเป็นปัญญานะนี่นะ คือว่าต้องรู้คน ผู้ชาย ผู้หญิง คนมีอายุกี่ปี ประมาณเอานะให้รู้
แต่อาตมาพุดนี้ ไม่ได้พูดเรื่องอันนั้น คือพูดให้รู้ความคิด เมื่อกำลังมันคิด แวบขึ้นแล้ว ตัดทันทีอย่าไปวิพาก วิจารณ์ คิดดี คิดชั่ว ไม่ต้องคิด
บัดนี้ เราจะสร้างบ้านสร้างเรือน ต้องมีโครงการ คิดอันนั้นน่ะ หนูจะไปสอนนักเรียน ต้องมีโครงการจะสอนเรื่องอะไร วันนี้ต้องสอน ต้องคิด
แต่ความคิดชนิดหนึ่ง อันคิดขึ้นมาแวบเดียว มันไปเลย อันนั้นเป็นเรื่องความคิด ความคิดตัวนี้มันนำ โทสะ โมหะ โลภะ เข้ามา อันที่เราตั้งคิดขึ้นมานั้น มันไม่นำโทสะ โมหะ อันนั้น มันตั้งคิดมาด้วยสติปัญญา ความคิดจึงมีสองอย่างด้วยกัน
ความสงบก็มีสองอย่างด้วยกัน สงบจากอันความคิดแวบอันนั่นแหละ แล้วก็สงบมาอยู่ด้วยสติปัญญาตัวนี้ อันนี้สงบแบบการเห็นแจ้ง สงบแบบไม่เห็นความคิดแวบ อันนั้น(สงบแบบความคิดแวบ) เขาว่าสงบใต้ โมหะ เพราะมันสงบมืดๆ อันนั้นสงบไม่รู้ อันนั้น
เดินไปก็ให้รู้ นั่งกินข้าวก็ให้รู้ นี่เป็นวิธีเดินจงกรม ไม่ใช่ว่าเดินจงกรม เดินทั้งวัน ไม่รู้สึกตัวเลย อันนั้นก็เต็มทีแล้ว เดินไปจนตายมันเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่เดินอย่างนั้น เดินก้าวไปก้าวมารู้นี่ว่าเดินจงกรม
เดินจงกรมก็หมายถึง เปลี่ยนอิริยาบถนั่นเอง ให้เข้าใจว่า เดินจงกรมเพื่ออะไร เปลี่ยนอิริยาบถ คือ นั่งนานมันเจ็บแข้งเจ็บขา บัดนี้ เดินมาก มันก็เมื่อยหลัง เมื่อยเอว นั่งด้านหนึ่งเราเรียกว่า เปลี่ยนอิริยาบถ เปลี่ยนให้เท่าๆ กัน นั่งบ้าง นอนบ้าง ยืนบ้าง เดินบ้าง อิริยาบถทั้งสี่ให้เท่าๆ กัน หรือไม่แบ่งเท่ากันก็ได้ เพราะว่าเราไม่มีนาฬิกานี่ น้อยมากอะไรก็พอดี พอควร เดินเหนื่อยแล้วก็ไปนั่งก็ได้ นั่งเหนื่อยแล้ว โอ้ย! ลุกเดินก็ได้ หรือนอนก็ได้ แต่อย่าไปนอนหลับนะ ถ้านอนหลับทั้งวันทั้งชาติก็เหมือนหมู หมูมันนอนอยู่ในคอกมัน เป็นอย่างนั้น อย่าไปทำ ที่พูดๆ นี่ เข้าใจไหมวิธีพูดนะ เข้าใจไหม วิธีทำจังหวะ
ผู้ฟัง : งั้นสรุปว่า ความคิดที่อยู่ใต้โมหะนี่ เราต้องปัดไป
หลวงพ่อ : ปัดไปเลย
ผู้ฟัง : แต่ความคิดที่เป็นไปด้วยสติปัญญาเพื่อการ เพื่องานของเรา เราต้องคิด
หลวงพ่อ : อันนั้นถ้าเราไม่คิดก็ทำไม่ได้ ก็บ้าแล้ว ต้องเป็น ต้องคิด เราจะทำอะไร จะปลูกบ้าน หรือจะซื้อของ เสื้อผ้า หรือจะซื้ออะไรก็ตาม มันต้องคิด มันจะคุ้มค่าเงินเราไหม เราซื้อไปแล้ว จะไปทำอะไร มันต้องคิดอันนั้น ไม่คิดเขาว่าคนบ้าอันนั้น ให้เข้าใจอย่างนั้น ต้องใช้สติปัญญา
สรุป
(มานพ กลับดี)
เดินจงกรม ให้เรารู้สึกตัวว่า กำลังเดินจงกรมไปทีละก้าว แต่อย่าไปเพ่ง อย่าไปจ้องเวลาเดิน เดินสบาย ๆ สายตามองไกล รับรู้ทุกสิ่งที่มากระทบทางอายตนะได้ แต่อย่าไปคิดตาม ให้รู้สึกตัวทั่วพร้อมตลอดเวลา ณ ขณะเดินจงกรม
ความคิด มีสองอย่าง คือ
ความคิดแวบ เป็นความคิดภายใต้โมหะ ที่มันนำ โทสะ โมหะ โลภะ เข้ามา ให้ปัดทิ้งไปเลย เพราะความโลภ ความโกรธ ความหลง นั้น มันเกิดจากความคิดแวบนี่แหละ ดังนั้น เราจึงต้องตัดทิ้ง ปัดไปเลย ไม่ต้องปรุงแต่งใดๆ ทั้งสิ้น เพราะความคิดแวบจะเป็นตัวก่อทุกข์มาให้
ความคิดด้วยสติปัญญา เป็นความคิดที่เราต้องคิด ต้องใช้ในการทำงาน ทำการ เป็นความรู้
ตาปัญญา หรือปัญญาญาณ ยิ่งต้องให้มันคิดเพราะ เราจะรู้ขึ้นมาเกี่ยวกับกาย – ใจ ที่เราคอยเฝ้าดูความคิดนี่แหละสำคัญมาก มันคิดขึ้นมาเราก็จะรู้ได้
ความสงบ มีสองอย่าง คือ
สงบจากอันความคิดแวบ เป็นความสงบที่เกิดภายใต้โมหะ ตัดทิ้งเลย (เหมือนหญ้าที่ถูกก้อนหินทับไว้ มันจะไม่เจริญงอกงาม แต่พอเรายกหินออกไป หญ้าได้รับแสงแดด อากาศ มันก็จะเจริญงอกงามขึ้นได้ ฉันใด ความสงบแบบแวบก็เป็น ฉันนั้น) เพราะเป็นความสงบที่เราไม่รู้
สงบด้วยสติปัญญา เป็นความสงบแบบการเห็นแจ้ง สงบแบบไม่เห็นความคิดแวบ เป็นความรู้ สงบแบบรู้ซื่อ ๆ คือ รู้อยู่กับอิริยาบถที่กำลังกระทำอยู่ ณ ปัจจุบัน เป็นความสงบแบบรู้สึกตัวทั่วพร้อมตลอดเวลา ไม่คิดปรุงแต่งใดๆ ทั้งสิ้น