ของน้องโด่ง ต้องการเป็นแบบ คุณแม่เป้า เกตุเล็ก ที่จากไปด้วยการมีสติ จิตไร้ความกังวล จิตอยู่เหนือเวทนา ขออนุโมทนา
สวัสดีครับ คุณโด่ง (พรชัย เกตุเล็ก) และชาวซีมะโด่งที่รักทุกท่าน
เมื่อวานนี้วันพุธที่ ๘ มิถุนายน ภายหลังเสร็จพิธีมอบทุนให้นิสิตหอพัก พี่สิงห์เดินไปจามจุรีสะแควร์กับคุณโด่ง คุณโด่งได้ตั้งคำถามกับพี่สิงห์สามข้อด้วยกันคือ
คำถามแรก คงเป็นคำถามที่คุณโด่ง อัดอั้น กังวลในใจมานานแล้ว คือ พี่สิงห์โกรธผม หรือเปล่าเรื่องจัดไปเยี่ยมค่ายที่โรงเรียนบ้านหนองหว้า ผมตอบทันทีว่าไม่โกรธเลย นั่นเป็นความจริงผมไม่เคยโกรธโด่งเลย มีแต่ความเมตตาให้เสมอ(ลองไปทบทวนดู) ยิ่ง ณ เวลานี้ ผมลืมไปหมดแล้ว เพราะมันเป็นอดีต ที่เรียกกับมาไม่ได้ ถ้าผมไปโกรธ ผมไม่ได้อะไรเลย มีแต่ทุกข์ใจ สู้รับรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้น ปล่อยมันไปตามวิถีของมันดีกว่า อย่างนี้ไม่มีทุกข์ครับ โด่งกับผมมีนิสัยเหมือนกันอย่างหนึ่ง คือเวลาพูด หน้าตาเครียดเอาจริงเอาจัง จนทำให้ทุกคนกลัว คิดมากไปเองทั้งนั้น ซึ่งการพูดจริงจังแบบนี้ มันไม่ดี แต่มันเป็นธรรมชาติแบบนี้ ทุกวันนี้ คนคิดไปเองว่าผมโกรธคนโน้น โกรธคนนี้ ไม่พูดกับคนโน้น ไม่พูดกับคนนี้ คิดไปเองทั้งสิ้นเพราะ "อวิชชา" ความไม่รู้ ผมเองทุกวันนี้จะพูดน้อย หรือไม่พูดเลยกับใคร ขออยู่กับตัวผมด้วยการมีสติ ใครอยากพูดด้วย ทักทายด้วย ก็จะทักทายตอบเสมอ พยายามอุเบกขาให้มาก เพราะจะจำกัดเรื่องคิดให้อยู่เฉพาะตนคือกาย-ใจของเรา เรื่องอื่นเป็นเรื่องนอกตัว ไม่ต้องสนใจมากนัก ผมยึดอย่างนี้มานานแล้ว คนจึงว่าผมโกรธคนนั้น ไม่พูดกับคนนั้นคนนี้ ผมไม่ไปแส่หาทุกข์มาใส่ตัวแล้วครับ ขออยู่เฉย ๆ อุเบกขา ดีกว่าครับ
คำถามที่สอง พี่สิงห์ปฏิบัติธรรม ต้องการตายไปแล้วไปอยู่สวรรค์ชั้นไหน? ผมก็ตอบทันทีเหมือนกันแบบไม่ต้องคิด ไม่ต้องการสวรรค์ชั้นไหนทั้งสิ้น ต้องการความสงบ อยู่อย่างพอเพียงได้ เพราะการฝึกจิตจะทำให้รู้จักปล่อยวางได้ อยู่กับจิตที่มันว่างๆ ไม่คิด เมื่อไม่คิดก็ไม่ทุกข์ ผมต้องการความสงบในชาตินี้ ไม่หวังชาติหน้าเพราะไม่รู้ว่ามีจริงหรือเปล่า แต่ถ้าสวรรค์มันมี จริงผมถือศีล ๕ เจริญสติ มันย่อมมีอานิสงส์ไปเกิดในภพที่ดีกว่าเดิมแน่ๆ ครับ
คำถามที่สาม ตอนนี้ผมมีเวลาแล้ว เพราะแม่จากไปแล้ว อยากปฏิบัติธรรม พี่สิงห์ว่าผมจะเริ่มต้นที่วิธีการของสำนักไหน เช่นวัดพระธรรมกาย ผมก็ตอบทันทีเหมือนกัน ให้ลองไปวัดสนามใน มีการบรรยายธรรมทุกวันเวลา 9:00 น. และ 13:00 น. หลังจากฟังบรรยายแล้วจะมีการปฏิบัติ ให้ไปลองดูก่อนว่าชอบไหม? ถูกกับจริตเราไหม? เพราะการปฏิบัติธรรมนั้นเราต้องหาวิธีด้วยตัวของเราเอง อย่ายึดติดกับอาจารย์และวิธ๊การ ต้องหาด้วยตัวของเราเอง รู้ด้วยตัวของเราเอง คือรู้ว่ามันถูกต้องตาม "ธรรม" ซึ่งถ้าไม่มีอคติจะตัดสินใจได้
นั่นคือคำถามสามข้อจากคุณโด่ง ที่ถามพี่สิงห์ อย่ากระนั้นเลยวันนี้ เป็นวันพระ พี่สิงห์ถือศีล ๘ เป็นโอกาสดี จึงอยากให้คุณโด่ง ลองวิธีปฏิบัติธรรมแบบเคลื่อนไหว ง่ายๆ ทางลัดของหลวงพ่อเทียน นี่ละ ลองทำดู ครับคุณน้องโด่ง ที่รัก
ธรรมเพื่อการตรัสรู้เป็น "พุทธ" ย่อมเป็นธรรมที่เกื้อหนุนในการเป็น "พุทธ"
ธรรมนั้นคือ ต้องมีความศรัทธา และเชื่อมั่น ต้องมีความเพียร และอดทนในการปฏิบัติ และต้องใช้ปัญญาในการไตร่ตรอง และให้เกิดปัญญาญาณ เพื่อการเป็น "พุทธ" ครับ ลองดูครับ
รู้ธรรมวันละนิด จิตผ่องใส
ตอนที่ ๘
การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว
ตามแนว หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
วิธีเจริญสติในอิริยาบถนั่ง เมื่อเรามีเวลาว่างจะเดินจงกรม สลับกับการนั่งสร้างจังหวะก็ได้ การฝึกสติแบบนี้ ทีแรกต้องนั่งอย่างนี้ นั่งพับเพียบก็ได้ นั่งเหยียดขาก็ได้ นั่งขัดสมาธิก็ได้ นั่งเก้าอี้ห้อยเท้าอยู่ก็ได้ ไม่ต้องนั่งหลับตา เพราะการนั่งหลับตาจะทำให้เกิด “จิตนาการ” คิดไปเอง เห็นไปเอง และก็คิดเข้าข้างตัวเองว่า ไปเห็นอะไรมาบ้าง ทั้งๆ ที่ความจริงเราก็นั่งอยู่นี่ แต่ใจมันไปเห็นเองในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง แต่มันมีอยู่ในใจ ที่ใจเราคิดว่ามันมี การลืมตาจะทำให้เรารู้สิ่งที่จะเกิดกับกายเราได้(เป็นการพิจารณา “กาย” ตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ที่พระพุทะองค์ บัญญัติไว้ให้พิจารณา) และสัมผัสได้ทางอายตนะ ๖ แต่ขอให้มันผ่านไปเพียงรับรู้เท่านั้น (กำหนดรู้) ทำจิตให้อยู่เหนือมัน คือไม่คิดตามสิ่งที่อายตนะ ๖ สัมผัสได้ และสิ่งที่เกิดขึ้นกับกาย(ทุกข์) พยายามดูใจให้มาก ๆ ไว้ ว่าเกิดอะไรกับจิตของเราบ้าง จิตมันคิดอะไร ทำไมมันคิด ความคิดนั้นเกิดอย่างไร มันอยู่ของมันอย่างไร มันดับของมันอย่างไร มันมีผลต่อเราอย่างไร พยายามดูใจของเราให้ออกด้วยตัวของเราเอง การปฏิบัติธรรม คือ การมีเวลาดูจิตของเรา แต่ดูด้วยการมีสติ การดุด้วยการมีสตินั้น เราจะไม่มีความหลง(เข้าข้างตัวเอง) มาเป็นตัวลำเอียง (คือพิจารณา เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม)
เริ่มต้น เอามือวางไว้ที่ขาทั้งสองข้าง .........คว่ำไว้
๑. พลิกมือขวาตะแคงขึ้น .....ทำช้า ๆ .....ให้รู้สึกตัว
๒. ยกมือขวาขึ้นครึ่งตัว .....ให้รู้สึก .....มันหยุดก็ให้รู้สึก
๓. ยกมือขวามาที่สะดือ .....ให้รู้สึก
๔. พลิกมือซ้ายตะแคงขึ้น .....ให้รู้สึก
๕. พลิกมือซ้ายตะแคงขึ้น .....ให้รู้สึก
๖. เอามือซ้ายมาที่สะดือ .....ให้รู้สึก
๗. เอามือขวาขึ้นหน้าอก .....ให้รู้สึก
๘. เอามือขวาออกตรงข้าง .....ให้รู้สึก
๙. ลดมือขวาลงที่ขาขวา ตะแคงไว้ .....ให้รู้สึก
๑๐. คว่ำมือขวาลงที่ขาขวา .....ให้รู้สึก
๑๑. เลื่อนมือซ้ายขึ้นหน้าอก .....ให้รู้สึก
๑๒. เอามือซ้ายออกตรงข้าง .....ให้รู้สึก
๑๓. ลดมือซ้ายลงที่ขาซ้าย ตะแคงไว้ .....ให้รู้สึก
๑๔. คว่ำมือซ้ายลงที่ขาซ้าย .....ให้รู้สึก
ทำต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ .....ให้รู้สึกตัวทุกจังหวะ นานเท่าที่เราอยากจะกระทำ แต่อย่าไปตั้งเป้า หรือความหวังว่าจะนานเท่าไร ? จะได้อะไร? ทั้งสิ้น จะหยุดก็ต่อเมื่อมันสมควรแก่เวลา แต่ขอแนะนำให้ทำมากกว่าหนึ่งชั่วโมงในแต่ละครั้งที่นั่งสร้างจังหวะ พยายามทนเวทนาที่เกิดขึ้น(ทุกข์)ให้ได้พอสมควร กำหนกรู้ว่านี้คือทุกข์ที่เกิดขึ้นกับเรา เราจะต้องแก้ทุกข์ แต่ต้องเป็นทุกข์จริง ๆ ดูให้ออกว่ามันทุกข์กายจริงๆ (ชา ปวดขามาก) ก็เปลี่ยนอิริยาบถ สลับไปเดินจงกรมแทน) แต่ถ้าเป็นที่ทุกข์ใจ ต้องไม่กระทำตามที่ใจคิด ต้องทำตรงกันข้าม คือทำต่อเนื่องไปอย่างเดิม
ระหว่างการทำ ท่านจะมีอาการหงุดหงิด กระสับกระส่าย มีอาการหาว ง่วงนอน จะหลับ ท่านต้องเอาชนะมันให้ได้ด้วยการกระทำต่อเนื่องให้ผ่านให้ได้ รับรองผ่านได้ครับอุปสรรคนี้ มันเป็นเบื้องต้นเท่านั้น นั้นเป็นอาการของจิตอย่างหนึ่งที่จิตมันไม่ต้องการกระทำ จิตไม่นิ่งอยู่กับการรู้สึกตัวในการสร้างจังหวะ จิตส่งออกนอก คือคิดเรื่องนอกตัวที่กำลังกระทำอยู่ไปกับ อดีต อนาคต จิตไม่อยู่กับปัจจุบันที่กำลังนั่งสร้างจังหวะอยู่ ถ้าจิตคิดนอกสิ่งที่กำลังกระทำอยู่ ให้นำจิตนั้นกลับมาอยู่กับการรู้สึกตัวที่เรากำลังสร้างจังหวะอยู่นั้น ให้ได้ พยายามกลับมาให้เร็วที่สุด คือเรารู้ว่าจิตส่งออกนอก ก็นำมันกลับมาสู้การรู้สึกตัวในการสร้างจังหวะใหม่ให้ได้ ทำอยู่อย่างนี้ จิตมันจะยอมแพ้ เราสามารถจะอยู่กับการรู้สึกตัว ณ ปัจจุบันได้นาน ๆ เป็นสมาธิ และเกิดญาณ หรือ “ตาปัญญา” หรือ “ปัญญาญาณ” คือ “ตัวรู้” เกิดขึ้นเองกับตัวของเรา ซึ่งเราสามารถรู้ด้วยตัวเองได้
การที่เรารู้อยู่กับการสร้างจังหวะรู้สึกตัว ณ ปัจจุบันอย่างนี้ หลวงพ่อเทียน ท่านว่า “ความไม่รู้มันจะหายไป” คือจิตจะไม่ส่งออกนอก(ไม่คิดนอกในสิ่งที่กำลังกระทำ) จิตมันจะว่างจากการคิด เป็นสติปัฏฐาน หลวงพ่อคำเขียนท่านว่า นี่ละ เป็นการ “รู้ซื่อ ๆ “ การรู้ซื่อ ๆ แบบนี้อยู่ตลอดเวลานี่ละ ความโลถ ความโกรธ ความหลง มันจะหายไปเอง การปฏิบัติธรรมเจริญสติ ปฏิบัติง่ายๆ อย่างนี้ละ ไม่ต้องถือศีล ไม่เลือกผู้หญิง ผู้ชาย ไม่เลือกศาสนา ไม่มีพิธีการ ไม่เจาะจงเวลาใด ๆ ทั้งสิ้น ว่างก็นั่งสร้างจังหวะเลย ถ้ามันเหมื่อยก็สลับสับเปลี่ยนไปเดินจงกรมแทน
แต่มีเทคนิคที่จะต้องกระทำคือ เมื่อเราสร้างจังหวะอยู่กับการรู้สึกตัว เป็นสติ สมาธิ แล้ว ขอให้นำสตินั้น มาดูกาย มาดูใจของท่านเป็นอย่างมาก ดูกายให้รู้ว่าทุกข์ที่เกิดขึ้น ให้กำหนดรู้ ว่านี่ละทุกข์ และต้องหาวิธีแก้ทุกข์(เป็นการพิจารณากาย ตามหลักสติปัฏฐาน) เมื่อท่านแก้ทุกข์เป็น และรู้จักมันแล้วนั่นละเป็นการพิจารณาเวทนาในเวทนา ตามหลักสติปัฏฐาน อย่าไปหลงอยู่กับเวทนา ตามที่หลวงปู่ดูลย์ท่านว่าไว้ คือไปนั่งทรมารสังขาร จนร่างกานพิการ นั่นจะทำให้เรากายพิการจริงๆ ไม่ควรหลงอย่างนั้น การปฏิบัติธรรมต้องยึดหลักทางสายกลาง กสยไม่เป็นทุกข์ เพียงกำหนดรู้ทุกข์ และหาทางแก้ทุกข์
หลังจากนั้นให้ท่านดูความคิด คือปล่อยให้มันคิด หลวงพ่อเทียน หลวงปู่ดูลย์ ท่านบอกไว้ “จะรู้ได้ เพราะความคิด” (คือเกิดปัญญา) อย่างไปหลงติดอยู่กับความสงบ เมื่อดูความคิด เราจะเห็นความจริงที่อยู่ในตัวเรา ซึ่งก็คือความจริงตามธรรมชาติ หลักธรรมชาติ ตามกฏไตรลักษณ์นี่ละ คือ สังขารทั้งหลาย เป็นอนิจจัง สังขารทั้งหลาย เป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลาย เป็นอนัตตา ความคิดมันเป็นเช่นนั้น ธรรมมันเป็นเช่นนั้น เราก็สามารถจะเห็น รูป-นาม ที่แท้จริง เห็นการทำงานของจิต เห็นอาการที่จิตสั่งให้รูปกระทำ เห็นความจริงที่เราตกเป็นทาสหรือหลงกระทำตามที่จิตมันสั่ง เห็นอาการของการเกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ว่ามันเกิดขึ้นอย่างไร คงอยู่อย่างไร และจะทำอย่างไรกับมัน หรือปล่อยให้มันดับไปเองเพราะมันต้องดับไปเองตามธรรมชาติ อยู่แล้ว ถ้าเราไม่คิดปรุงแต่ง และกระทำตามที่มันคิดสั่งให้กระทำ ทุกข์ก็ไม่เกิดขึ้นกับเรา เราจะรู้ว่ารอบๆตัวเรานั้นมีแต่ “สมมติบัญญัติ” ทั้งนั้น จิตของเราจะคลายลง เบาลง รู้จักการปล่อยวาง(อุเบกขา) ความยึดมั่นถือมั่นต่างๆ ก็คลายลง เราก็จะมีชีวิต จิตที่ต่างไปจากเดิม มาก
ทดลองทำดูครับ สวัสดี
การเจริญสติในอิริยาบถเดิน
(เดินจงกรม)
สำหรับการเดินจงกรม ไม่มีอะไรมากเดินสบาย ๆ กอดอกก็ได้ มือไขว้หลังก็ได้ เอามือสำรวมไว้หน้าสะดือก็ได้ สอดสายตาไปทั่วๆเวลาเดินก็ได้ แต่จิตต้องอยู่เหนือ อายตนะ ๖ ที่ไปสัมผัส ให้สติ(ความระลึกได้) อยู่กับการเดินแต่ละอย่างก้าว แต่ไม่ต้องภาวนาใดๆ ทั้งสิ้น หรือจะสัมผัสนิ้วเพิ่มงานให้กายมันทำอีกแบบพี่สิงห์ก็ได้ จะได้รู้สึกตัวเพิ่มขึ้น ไม่ปล่อยให้จิตออกนอก(คิดนอกเหนือจาอที่อิริยาบถของเรากำลังทำงานอยู่) เดินสัก ๑๕ – ๑๘ ก้าวก็พอ กลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้ หาวิธีให้เข้ากับจริตของเรา(สิ่งที่เราทำแล้วคิดว่าดีกับเรา) เป็นการสลับกับการเจริญสติในอิริยาบถนั่ง
และอย่าลืมเมื่อมีสติ เป็นสมาธิแล้ว ให้นำสตินั้นมาดูกาย ดูจิต ดูความคิดของท่าน ท่านจะพบธรรมชาติที่แท้จริงของจิต การเดินจงกรมนี้มีประโยชน์อย่างมาก “ปัญญาญาณ” เกิดขึ้นเสมอจากการเดินจงกรม เพราะทุกข์ไม่เกิดกับกาย ให้เป็นกังวล ปัญญามันจึงมี เดินจงกรมให้นานเท่านานที่อยากเดิน ไม่กำหนดเวลา อย่าลืมการปฏิบัติธรรม นั้นทำให้เป็นธรรมชาติ สบายๆ ง่ายๆ จิตว่างๆ ไม่คิดอย่างนี้ละ ถ้าจะคิด ดูให้ออก ต้องคิดภายในตัวของเรานี่ละ เราจะพบความสงบ ความจริงจากตัวเรานี้ละ ไม่ต้องกังวลในการไปอ่านหนังสือธรรม ไปหาหลวงพ่อ ให้หาจากตัวเรา ที่บ้านเรา ครับ
สวัสดี