จาริกแสวงบุญ พุทธสถาน ๔ แห่ง
วันที่ ๔ ตรงกับวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ เป็นวันเกิดพี่สิงห์ ตามที่ได้บรรยายให้ทราบแล้ว คณะไปเข้าชมและนมัสการสักการะ "ปาวาฬเจดีย์" สถานที่พระพุทธเจ้าทรงปลงพระชนมายุสังขารว่า "อีกสามเดือนเราจักปรินิพพาน" ตามที่พญามารมาเข้าเฝ้าขอให้ปรินิพพาน ซึ่งพระอานนท์ไม่ทราบความในที่พระพุทธองค์เคยบอกไว้เลยไม่ได้อาราธนาให้พระพุทธเจ้าจักยังไม่ปรินิพพาน
คณะได้ไปสวดมนต์ นั่งเจริญสติ วิปัสสนา และเวียนเทียนรอบ ปาวาฬเจดีย์สามรอบ
เชิญชชมภาพ
ที่ตั้งเมืองไวสาลี
เมืองไวสาลี ตั้งอยู่ทางฝั่งทิศเหนือของแม่น้ำคงคา ในเมือง มูซัฟฟาปูร์ ห่างจากเมืองปัตนะ เมืองหลวงของรัฐพิหาร ประมาณ ๕๖ กิโลเมตร มีแม่น้ำคงคากั้นกลางเป็นพรมแดนธรรมชาติ ระหว่างแคว้นมคธ กับแคว้นวัชชีในอดีตทิศเหนือจดภูเขาหิมาลัย ทิศใต้จดแม่น้ำคงคา ซึ่งกันระหว่างวัชชี ทิศตะวันออกจดแม่น้ำโกสี (เกาสิกี) ทิศตะวันตกจดแม่น้ำคันฑัก
ประวัติเมืองไวสาลี
เป็นเมืองหลวงของแคว้นวัชชี ซึ่งมีการปกครองด้วยระบบประชาธิปไตยในสมัยของพระเจ้าลิจฉวี คือการปกครองตามหลักอปริหานิยธรรม คือธรรมที่มีแต่ความเจริญไม่เสื่อมถอย เป็นเมืองใหญ่หนึ่งในเจ็ดของอินเดียโบราณ ที่ได้ชื่อว่า ไวสาลี เพราะเป็นเมืองของพระเจ้าวิสาละ ในชาดก กล่าวว่า เมืองไวสาลีล้อมรอบด้วยกำแพง ๓ ชั้น แต่ละชั้นห่างกัน ๑ คาวุต ที่กำแพงมีประตูหอคอยและคฤหาสน์ ใกล้เมืองไวสาลีมีป่ามหาวัน ในป่านั้นมีวัดอยู่วัดหนึ่งชื่อกูฏาคารศาลา ในมหากาพย์รามายณะกล่าวว่า โอรส ของอิกสวากุ เทพบุตร และอลัมพุษเทพธิดาเป็นผู้สร้างเมืองนี้
ปัจจุบันมีสะพานขนาดใหญ่ข้ามแม่น้ำคงคาทางทิศใต้ไปจรดเมืองปัตนะ และมีเรือยนต์ข้ามฝากขนาดใหญ่มีสองชั้น และมีสถานีรถไฟชื่อ สถานีโสณปุระ หรือสถานีเมืองท่าทอง ซึ่งเป็นสถานีชุมชนที่ใหญ่แห่งหนึ่ง และมีชานชาลาที่ยาวที่สุดในอินเดีย เมื่อข้ามฝากไปแล้วนั่งรถโดยสารประจำทางไปอีก ๔๕ กิโลเมตร
ความเกี่ยวกับพุทธประวัติ
สมัยหนึ่งเมืองไวสาลีเกิดอหิวาตกโรคขึ้นทำให้ประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก เจ้าลิจฉวีนามว่า มหาลิ ได้ไปกราบทูลนิมนต์ให้พระพุทธเจ้าจากกรุงราชคฤห์เสด็จไปยังเมืองไวสาลี พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปพร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูป เพื่อโปรดระงับโรคระบาดด้วยพระพุทธบารมี พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกได้สวดพระพุทธมนต์ และสวดรัตนสูตร ทำน้ำพระพุทธมนต์ ระหว่างกำแพงสามชั้นในเมืองไวสาลี แล้วให้พระอานนท์นำไปประพรมทั่วเมืองไวสาลี ด้วยอำนาจแห่งพุทธานุภาพบันดาลให้ฝนตกห่าใหญ่ ตกลงมาท่วมเมืองกวาดล้างซากศพและโรคร้ายลอยไปตามกระแสน้ำฝนจนหมดสิ้น โรคระบาดก็พลันหายไป พระพุทธองค์ได้ตรัสรัตนสูตรโปรดเวไนยสัตว์อยู่ ๗ วัน มีผู้บรรลุธรรมเป็นจำนวนมาก เมืองนี้จึงเป็นที่เกิดแห่งพระปริตรและเกิดประเพณีการทำน้ำพุทธมนต์มาจนถึงปัจจุบัน
กำเนิดภิกษุณี
นอกจากนั้นยังเป็นเมืองกำเนิดภิกษุณีในพระพุทธศาสนา โดยพระนางปชาบดีโคตรมีพระน้านางที่เป็นผู้เลี้ยงเจ้าชายสิทธัตถะราชกุมารตั้งแต่ประสูติได้เพียง ๗ วัน หลังจากพระนางสิริมหามายาพระมารดาทิวงคต เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวชจนได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกจำนวนมากได้เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์เพื่อโปรดพุทธบิดา และพระญาติทั้งปวง พระนางปชาบดีโคตมี มีความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแรงกล้าปรารถนาจะเสด็จออกบวช จึงพร้อมด้วยหญิงบริวารจำนวน ๕๐๐ คน พร้อมใจกันปลงผมและนุ่งผ้ากาสายะเข้าไปเฝ้าพระพุทธจ้าเพื่อขออุปสมบทที่เมืองกบิลพัสดุ์ แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต พระนางก็ทรงพยายามเข้าอ้อนวอนขออุปสมบทถึงสามครั้ง พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงอนุญาต ถึงแม้อย่างนั้นพระนางปชาบดีโคตรมีก็ไม่ทรงละความพยายาม เมื่อพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกเสด็จออกจากเมืองกบิลพัสดุ์ พระนางพร้อมด้วยบริวารก็พากันตามเสด็จมาจนจึงเมืองไวสาลี และได้ยืนร้องไห้อยู่ใกล้ประตูพระวิหาร พระอานนท์ได้มาพบและสอบถามทราบความแล้ว ก็อาสาว่าจะไปกราบทูลขออนุญาต พระอานนท์เจ้าไปกราบทูลขออนุญาตต่อพระพุทธเจ้าเพื่อทรงอนุญาตให้พระนางได้อุปสมบท พระพุทธเจ้าก็ทรงปฏิเสธถึงสามครั้ง พระอานนท์จึงกราบทูถามว่า หากสตรีได้บวชแล้วจะได้บรรลุมรรคผลหรือไม่ พระพุทธเจ้าก็ทรงยอมรับว่าสามารถบรรลุมรรคผลได้เช่นเดียวกับบุรุษ พระอานนทจึงทูลถามว่า ถ้าเช่นนั้นเหตุใดจึงไม่ทราบอนุญาตให้สตรีบวช พระพุทธเจ้าทรงจำนนด้วยเหตุผล จึงทรงยอมให้พระนางปชาบดีพร้อมด้วยบริวารได้อุปสมบทเป็นภิกษุณี โดยการรับครุธรรม ๘ ประการ โทษเท่ากับปาราชิกของพระภิกษุ และทรงบัญญัติให้ภิกษุณีต้องอุปสมบทในพระสงฆ์สองฝ่าย คือเมื่อได้รับอุปสมบทจากภิกษุณีสงฆ์แล้ว ก็ต้องมารับการอุปสมบทจากภิกษุสงฆ์อีกครั้งหนึ่ง จึงเป็นภิกษุณีที่สมบูรณ์ได้
ทรงปลงมายุสังขาร
ในขณะที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่วัดโฆษิตาราม พระองค์ได้ทรงปลงมายุสังขารว่า ต่อแต่นี้ไปอีกสามเดือน ตถาคตจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน แล้วเสด็จออกจากเมืองไวสาลี พอพ้นประตูเมืองพระองค์ทรงหันพระพักตร์มาทอดพระเนตรนครเวสาลีเป็นครั้งสุดท้าย แล้วเสด็จสู่เมืองกุสินาราต่อไป
ในพรรษาที่ ๕ พระพุทธองค์ได้เสด็จจำพรรษาในกรุงไวสาลี ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน มีพระสูตรหลายสูตรและหลายชาดกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่เมืองไวสาลี เช่น มหาลิสูตร ชาลิยสูตร มหาสีหนาทสูตร จูฬสัจจกสูตร มหาสัจจกสูตร เตวิชชสูตร สุนักขัตตสูตร รัตนสูตร สิคาลชาดก เป็นต้น
ทำสังคายนาครั้งที่ ๒
ในเมืองไวสาลีนี้ยังเป็นที่ทำสังคายนาครั้งที่ ๒ กระทำที่วาลิการาม พระยสะกากัณฑบุตร เป็นผู้ชักชวน พระเถระที่เป็นผู้ใหญ่ร่วมมือในการนี้ ที่ปรากฏชื่อมี ๘ รูป คือ ๑. พระสัพพกามี ๒. พระสาฬหะ ๓. พระขุชชโสภิตะ ๔. พระวาสภคามิกะ ทั้งสี่รูปนี้ เป็นชาวปาจีนกะ (มีสำนักอยู่ทางทิศตะวันออก) ๕. พระเรวตะ ๖. พระสัมภูตะ สาณวาสี ๗. พระยสะ กากัณฑกบุตร และ ๘. พระสุมนะ ทั้งสี่รูปนี้เป็นชาวเมืองปาฐาในการนี้พระเรวตะเป็นผู้ถาม พระสัพพกามีเป็นผู้ตอบปัญหาทางวินัยที่เกิดขึ้น มีพระสงฆ์ประชุมกัน ๗๐๐ รูป กระทำอยู่ ๘ เดือนจึงแล้วเสร็จ สังคายนาครั้งนี้ กระทำภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วได้ ๑๐๐ ปี ข้อปรารภในการทำสังคายนาครั้งนี้ก็คือ พระยสะกากัณฑกบุตร ปรารภข้อปฏิบัติย่อหย่อน ๑๐ ประการทางพระวินัยของพวกภิกษุวัชชีบุตร เช่น ถือว่าควรเก็บเกลือไว้ในแขนง (เขาสัตว์) เพื่อเอาไว้ฉันได้ตะวันชายเกินเที่ยงไปแล้ว ๒ นิ้ว ควรฉันอาหารได้ ควรรับเงินทองได้ เป็นต้น พระยสะกากัณฑกบุตร จึงชักชวนพระเถระต่าง ๆ ให้ช่วยกันวินิจฉัย แก้ความถือผิดครั้งนี้
สถานที่สำคัญ
๑. หลักศิลาที่ค้อธนา
มีเสาหินตั้งเด่นเป็นสง่า ซึ่งได้จัดทำขึ้นโดยพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านมาสาธ ออกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ ๓ กิโลเมตร เป็นเสาหินทรายขัดมัน มีเจดีย์ตั้งอยู่เรียงรายรอบเสาหินของพระเจ้าอโศก บนเสาหินมีรูปสิงโตตัวเดียว ซึ่งถือว่ายังสมบูรณ์ที่สุดในภูมิภาคนี้ที่ไม่ถูกทำลาย
๒. พระสถูปองค์ที่ ๑
พระถังซัมจั๋งได้ บันทึกไว้ว่า อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเสาหิน พระเจ้าอโศก เป็นกองเนิน ดินอิฐเป็นที่รู้กันว่าเป็น สถูปที่ ๑ มีความ สูงประมาณ ๑๕ ฟุต ในที่ไม่ห่างออกไปนัก ได้มีการค้นพบผอบบรรจุ พระอังคารของพระพุทธองค์ แต่ในคัมภีร์กล่าวว่า กษัตริย์ชาววัชชีได้รับพระบรมสารี ริกธาตุของพระพุทธองค์ ส่วนหนึ่งจากแปดส่วน ที่เมืองกุสินารา
๓. พระสถูปองค์ที่ ๒
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ กรมศิลปากร ของประเทศอินเดีย ได้ทำการ ขุดค้น และพบผอบบรรจุพระอังคารของพระพุทธเจ้าเหมือนกัน ชาวญี่ปุ่น ได้สร้างหลังคาครอบองค์สถูป เพราะเหลืออยู่แต่ส่วนฐานอยู่ระดับเดียวกับ พื้นดิน
๔. สระน้ำราชาภิเษก
เป็นสระน้ำของกษัตริย์ลิจฉวี เป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นสระ ต้องห้ามประจำเมืองไวสาลี สำหรับราชตระกูลกษัตริย์ผู้ปกครองเมืองไวสาลีเท่านั้นที่จะใช้สรงสนาน และน้ำที่นำมาใช้สำหรับกษัตริย์ที่จะขึ้นครองราชย์จะต้องนำน้ำจากสระนี้มาประกอบพิธีมุรธาภิเษกเป็นกษัตริย์
๕. วาลิการาม
เป็นวัดในเมืองไวสาลี แคว้นวัชชี เป็นที่ประชุมทำสังคายนาครั้งที่ ๒ ปัจจุบันมีเฉพาะส่วนที่เหลือจากการทำลายพอเป็นหลักฐานคือตรงส่วน เป็นรูปบาตรคว่ำของฮินดูตั้งไว้บูชา เพราะไม่มียอดจึงดูเหมือนศิวลึงค์ แต่มีพระพุทธรูปปรากฎอยู่รอบ ๆ เป็นหลักฐานว่านี้คือ วัดของพุทธ
๖. โกลเหา
เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองบาร์ชาร์ ๒ ไมล์ เดิมเป็นชานเมืองของไวสาลีได้พบเสาศิลาของพระเจ้าอโศกมหาราชที่หมู่บ้านนี้ทางทิศใต้ของเสาศิลานั้นไปประมาณ ๕๐ ฟุต มีบ่อน้ำบ่อหนึ่ง เรียกกันว่า รามกุนท นักโบราณคดี เซอร์ คันนิ่งแฮม มีมติว่า เขาขุดบ่อน้ำนี้ถวายพระพุทธเจ้า ไปทางทิศตะวันตกของเสาศิลาประมาณ ๑๕ ฟุต ฐาน กว้าง ประมาณ ๖๕ ฟุต เชื่อกันว่า พระเจ้าอโศกโปรดให้สร้างไว้ พระสถูปใช้อิฐก่อเป็นห้องแบบใหม่ มีบันไดหลายชั้นเลียบผนังขึ้นไปประดิษฐาน พระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นศิลปะสมัยปาละ
๗. มัญฌิ
เป็นหมู่บ้านอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของฉัประ ประมาณ ๑๒ ไมล์ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของมัญฌิ มีรากฐานป้อมโบราณ ที่อนุสาวรีย์ เล็กในป้อมมีพระพุทธรูปองค์หนึ่งสูง ๑๓ นิ้ว อนุสาวรีย์นั้น เรียกว่า มาเธศวร
๘. เกสรียา
เป็นเมืองที่ค้นพบใหม่ ห่างจากปัตนะประมาณ ๑๒๐ กม. มีพระสถูปสูงประมาณ ๑๔๕ เมตร สูงกว่าพุทธคยาและมีพระพุทธรูปประทับนั่ง ปางมารวิชัยเป็นประธานในวิหาร แต่เสียดายเศียรพระพุทธรูปถูกทุบทำลายที่ค้นพบใหม่ในเร็วนี้ สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นหมู่บ้านของชาวเกสปุตตนิคม แล้วจึงเรียกเพี้ยนจาก เกสปุตตนิคม มาเป็น เกสริยา และน่าจะเป็นพุทธสถานที่สำคัญแห่งใดแห่งหนึ่งแน่นอน
๙. กำแพงและตัวเมืองไวสาลี
ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำคัณฑกะ ต่อมาน้ำเปลี่ยนทิศทางเดิน แม่น้ำเก่า กลายเป็นทะเลสาบ กำแพงของเมืองเป็นเนินดินสูงใหญ่และยาว ทางการไม่ได้ขุดแต่งอะไรมากนัก มีเสาหินใหญ่เสาหนึ่งตั้งอยู่หน้ากำแพงเมือง ไวสาลี สูงประมาณ ๒๐ ฟุต เป็นเสาหินสร้างใหม่ มีภาษาฮินดีจารึกไว้ บนเสาว่า “รัฐบาลพิหาร” เป็นผู้สร้างนำมาประดิษฐ์ ณ ที่ตั้งเมืองไวสาลีโบราณ เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙ บนยอดเสาทำเป็นฉัตร ๓ ชั้น คูเมืองหน้ากำแพงก็ปรากฏ อยู่เป็นคูตื้นเขินตามกาลเวลามีกำแพงสูงจาก พื้นดินข้างละประมาณ ๘ เมตร มีความแข็งแรงมาก วัดโดยรอบเกือบ ๑ ไมล์
๑๐. วัดไทยไวสาลี
เป็นวัดที่กำลังดำเนินการก่อสร้างขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘ มีเนื้อที่ ๖ ไร่เศษ อยู่ภายใต้การดำเนินการของวัดไทยพุทธคยา มีพระเทพโพธิวิเทศ (ทองยอด ภูริปาโล ป.ธ.๙, Ph.D.) หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย เป็นประธานที่ปรึกษา มีพระครูปลัด ดร.ฉลอง จนฺทสิริ เลขานุการพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย เป็นประธานในการดำเนินการ ซึ่งปัจจุบันกำลังก่อสร้างศาลาที่พักขนาด ๓ ชั้น เป็นที่พัก ที่อบรม และที่ปฏิบัติธรรม และมีโครงการที่จะดำเนินการสร้างโบสถ์ อาคารที่พักเพิ่มเติม และสร้าง อโรคยาศาลา (อาคารรักษาพยาบาล) และโรงเรียนสำหรับพระภิกษุสามเณรและเด็กที่ยากไร้ด้วย โดยได้รับการอุปถัมภ์จากพุทธศาสนิกชนทั่วไป