สวัสดีครับ ชาวซีมะโด่ง และแขกผู้มาเยือน ที่รักทุกท่าน
ลองพิจารณาดู ด้วยปัญญา ครับ
สวัสดีสาระน่ารู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์โครงสร้างคอนกรีตอัดแรง
โดย
มานพ กลับดี
เครื่องลากลวด ตัดลวด PC wire
เครื่องเขย่า แต่งหน้าคอนกรีต
ตอนที่ ๒
ตอบคำถาม เกี่ยวกับการผลิต ผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงหล่อสำเร็จ วาระสารฉบับนี้ ผมขอตอบคำถามแทน เพราะเป็นคำถามที่น่าสนใจทั้ง ๔ คำถาม ประกอบกับผมบริหารเวลาของตนเองผิดพลาด คือมีเวลาไม่เพียงพอทั้ง ๆ ที่คุณบัว ได้บอกล่วงหน้าแล้ว แต่เนื่องด้วยต้องทำงานติดพันทำให้เวลาหายไปหมด เขียนไม่ทันตามที่ตั้งใจเอาไว้
ผมเองเวลาของตนเองมีน้อย กีฬากอล์ฟที่ชอบก็ห่างเหิรไม่ได้เล่น เพราะปัจจัย ๔ เป็นเหตุ จึงต้องยังทำงานอยู่ มีเวลาว่างวันจันทร์ – อังคาร ในหนึ่งอาทิตย์ ก็ไม่ว่างจริงสักวัน มีทั้งงานราษฎร์และงานหลวง อย่างอาทิตย์ที่ผ่านมาช่วงเทศกาลวิสาขะบูชา วันพฤหัสบดี ถึง วันเสาร์ ก็ไปปฏิบัติธรรม และช่วยหลวงพ่อ ดร.พระมหาสุเทพ อากิญจโณ หรือพระปลัดสุวัฒน โพธิคุณ เจ้าอาวาสวัดสมานราษฎร์ ตำบลหนองรี อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี เจ้าอาวาสวัดไทยมคธพุทธวิปัสสนา และเจ้าอาวาสวัดไทยสาวัตถีพุทธวิปัสสนา ประเทศอินเดีย ไปช่วยท่านสอน ชิกง – โยคะ ให้กับผู้ปฏิบัติธรรม ทั้งเช้า-เย็น ที่วัดสมานราษฎร์ เป็นต้น
สำหรับคำถาม ที่มีท่านลูกค้าสนใจ สอบถามเข้ามา มีดังนี้
1. วิธีการลดต้นทุนในการผลิต Prestressed Concrete
2. นวัตกรรมในการผลิต Prestressed Concrete แบบใหม่
3. สาเหตุที่ทำให้ระยะยืดที่ดึงได้ไม่ตรงกับที่คำนวณ ทั้งๆ ที่มีการcalibrate เครื่องดึงตรงตามกำหนด
4. เทคนิคการตัดลวดหลังจากชิ้นงานแข็งตัว
คำถามแรก “วิธีลดต้นทุนในการผลิต Prestressed Concrete : วิธีลดต้นทุนการผลิตนั้น มีด้วยกันมากมาย หลายวิธี แต่วิธีที่จะแนะนำนั้น ผมจะไม่ลดต้นทุนการผลิตด้วยการลด PC. Wire หรือ ลดปริมาณปูนซิเมนต์ที่จะต้องใช้ลง เพราะถ้าท่านลดลง ปัญหาด้านคุณภาพจะตามมาทันที ผลคือ กลับเป็นการเสียหายมากกว่าการลดต้นทุนเสียอีก สู้การลดต้นทุนด้วยการไม่ทำให้คุณภาพเสียไป แต่ลดการสูญเสียของวัสดุ และแรงงาน เป็นหนทางที่ประเสริฐกว่า และยั่งยืน
การใส่จำนวนลวด PC.wire และ ปูนซิเมนต์ที่จะต้องใช้นั้น ขอให้เป็นเรื่องของวิศวกร ที่จะไม่ทำให้คุณภาพของผลิตภัณฑ์ลดลง อย่าไปลดแบบคิดเอาเอง มันจะมีแต่ผลเสีย
การควบคุมปริมาณการใช้ PC. Wire ที่ดี คือการลดการสูญเสียปลายลวดที่แท่น ต่างหาก เป็นวิธีหนึ่งที่ท่านจะสามารถลดต้นทุนได้มาก คือ ความยาวที่ใช้ในแต่ละวัน แต่ละเส้น ลวด PC. Wire ที่ใช้จะมีความยาวคงที่ แต่คนงานไม่สามารถลากลวดและตัดลวดให้คงที่พอดีกับการใช้งานจริงได้ กล่าวคือ ด้านที่ไม่ได้ดึงต้องการให้ปลายลวดโผล่เพียง 50-100 mm. และด้านดึงลวดให้ปลายลวดโผล่จากแท่นเพียง 150-200 mm. เท่านั้น แต่เอาเข้าจริงแต่ละโรงงานสูญเสียตรงจุดนี้มากมายนัก
การที่จะตัดลวดให้เท่ากันนั้น ทำด้วยคนไม่มีทางทำได้ แต่โชคดีผมได้รับความกรุณาจากท่านหนึ่งให้ไปชมโรงงานของเขา ได้แสดงเครื่องมือให้ผมได้ชม สามารถลากลวด และตัดลวด ได้ความยาวตามที่ต้องการ เช่นความยาว 102 เมตร สามารถลากลวด ตัดลวด โดยใช้เวลาเพียงไม่เกิน 20 วินาทีและไม่ใช้คนเลย เป็นเครื่องมือง่ายๆ แบบคาดไม่ถึง สามารถใช้งานได้จริง เพราะเขาใช้มาแล้วสามปี ยิ่งผลิตแผ่นพื้นท้องเรียบด้วยแล้ว สบายจริง ๆ ถ้าเราเอาเครื่องมือชุดนี้มาใช้ในการตัดลวด PC wire ได้ความยาวตามต้องการ ก็จะเป็นการลดต้นทุน ประหยัดแรงงาน ประหยัด PC wire อย่างแท้จริง ซึ่งตอนนี้ผมกำลังให้พรรคพวกทำขึ้นมาใช้สำหรับตัดลวด PC strands, PC wire ได้ตามความยาวที่ต้องการในการผลิตชิ้นส่วนคอนกรีตอัดแรง การลากลวดที่ตัดเอาไว้แล้ว มันง่ายกว่าการลากลวดออกจากขด ท่านว่าจริงไหม ?
การลดต้นทุนอีกวิธีหนึ่งคือ การลดปริมาณคอนกรีตที่หกเรี่ยลาด สูญเสีย ตั้งแต่ขนส่งจากเครื่องผสมคอนกรีต จนกระทั่งเทลงแบบ รวมทั้งทำอย่างไรไม่ให้เครื่องเขย่าคอนกรีตเสีย แพล้นผสมคอนกรีตเสีย เครนยกเสีย และรถขนส่งคอนกรีตเสีย ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการทำงานเลย ด้วยการทำ 5ส. และกำหนดระเบียบวิธีใช้ วิธีบำรุงรักษาเครื่องมือให้คงสภาพการใช้งานตลอดเวลา ต่างหาก จะลดต้นทุนเป็นอย่างมาก
และสุดท้ายที่อยากจะแนะนำคือ ท่านละเลย ทำให้ชิ้นส่วนของท่านไม่มีคุณภาพ เสียหาย คือ การไม่ทดสอบกำลังรับแรงอัดของคอนกรีต การไม่บ่มน้ำให้ชิ้นส่วนคอนกรีต และการไม่ตรวจสอบแรงดึง จนเป็นเหตุให้เกิดการเสียหายที่หน้างาน ต่างหาก ที่ทำให้สูญเสีย เป็นอย่างมาก ถ้าท่านกระทำตรงกันข้ามกับที่ปัญหามันเกิด จะเป็นการลดต้นทุนที่แท้จริงครับ
ขอตอบเพียงแค่นี้ก่อนครับ เอาไว้ต่อในโอกาสหน้า สำหรับการลดต้นทุนการผลิต
คำถามที่ ๒ นวัตกรรมในการผลิต Prestressed Concrete แบบใหม่ ผมขอตอบเท่าที่รู้ และสามารถกระทำได้จริง โดยแบ่งออกเป็น ๒ กรณี คือ
กรณีแรก ที่ท่านมีโรงงานอยู่เดิม และสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ สิ่งแรก คือระบบการจ้างงานว่า ทำอย่างไร? ท่านจะมีคนงาน และทำอย่างไร? ราคาต้นทุนแรงงานจะถูกกว่าที่โรงงานอื่น ๆ มันเป็นความสามารถเฉพาะบุคคลจริง ๆ และผมก็พบมาแล้วว่าเขามีความสามารถ สามารถมีต้นทุนแรงงานที่ต่ำจริง ๆ กระทำได้จริง คงไม่เหมาะที่จะตอบ ขอให้ท่านไปพิจารณาเอาเอง ถ้าท่านเป็นคนงาน ท่านต้องการอะไร และทำงานอย่างไร ? ท่านจะพบคำตอบเอง เพราะจิตมนุษย์นั้น มีพฤติกรรมการชอบเหมือนกัน แต่ต่างกันที่ความยึดมั่นถือมั่น จึงมีความคิดต่างกัน
ถ้าท่านมีโรงงานอยู่เดิม ท่านต้องปรับปรุงโรงงานของท่าน โดยนำเครื่องจักรมาใช้ สอง ส่วน คือ การลากลวด ตัดลวด ตามที่ผมบอกไปแล้วข้างต้น จะสามารถลดคนงานและรวดเร็วเป็นอย่างมาก กับการนำเครื่องจักรมาใช้ในการสั่นเขย่า ทำบัว และแต่งหน้าปูน สามารถลดคนงาน และคนงานไม่เหนื่อย ลดคนงานลงได้มากกว่า ๔ คน ในชุดเทคอนกรีต ผมกำลังให้พรรคพวกทำขึ้นมาใช้งานจริง เพราะไม่มีคนทำงาน แต่ถ้าท่านทำโรงงานใหม่ ผมสามารถออกแบบโรงงานรองรับเครื่องจักรดังกล่าวได้ ก็ถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ได้ อย่างหนึ่ง ในการปฏิวัติกระบวนการผลิตเสาเข็มให้มีต้นทุนถูกลง ใช้คนงานไม่มากนัก ซึ่งโรงงานที่มีอยู่เดิม ทำไม่ได้ เพราะไม่ได้ออกแบบรองรับระบบ
ผมเชื่อว่าโรงงานเดิม ถ้านำเครื่องจักรทั้งสองอย่างนี้มาใช้งาน ก็จัดว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ในการผลิตคอนกรีตอัดแรงได้ประการหนึ่ง แบบไม่ยากนัก กระทำได้จริง ๆ
กรณีที่สอง ที่เป็นนวัตกรรมใหม่จริง ๆ คือ ทำโรงงานใหม่แบบเมืองนอกที่เขากระทำกัน ต้องใช้เงินลงทุนสูง ทำโรงงานใหม่ และให้เขาออกแบบเครื่องจักรมาให้ใหม่เลย กรณีเสาเข็ม ผมได้ดูมาแล้วจาก VDO คือการผลิตเสาเข็มแบบรีดเป็นต้น ๆ ครั้งละหลายต้น และตัดตามความยาวที่ท่านต้องการแล้วนำไปตอกใช้งานได้จริงๆ สำหรับความยาวเสาเข็มนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนลวด PC wire ด้วย แต่ต้องเป็นเสาเข็มแบบใช้งานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล คือดินอ่อนนั่นเอง สามารถรีดเสาเข็มได้จริง ๆ ตอกได้จริง ๆ เพราะเดี๋ยวนี้อุปกรณ์ในการตอกมันไม่ต้องตอกแบบเดิมที่เสาเข็มต้องทนทานมาก สามารถใช้ไฮดรอลิคกดได้ จะทำให้เสาเข็มไม่ต้องใส่เหล็กปลอกได้ เพราะการใส่เหล็กปลอกเป็นอุปสรรคในการรีดเสาเข็ม ใครสนใจเอาไว้คุยนอกรอบกับผมได้ครับ แต่ทำได้จริงเพราะผมเห็นมาแล้ว
คำถามที่ ๓ สาเหตุที่ทำให้ระยะยืดที่ดึงได้ไม่ตรงกับที่คำนวณ ทั้งๆ ที่มีการ calibrate เครื่องดึงตรงตามกำหนด คำถามนี้ ถ้าท่านมีปัญหาจริง ๆ มาพาผมไปดูโรงงานท่าน จะตอบได้ถูกใจท่าน เพราะต้นเหตุ คือ ต้องถามตัวท่านว่า ท่านเข้าใจพฤติกรรมการดึงลวดแท้จริงหรือยัง และท่านเข้าใจพฤติกรรมเครื่องดึงลวดของท่านแท้จริง หรือยัง เพราะต้นเหตุมันเกิดจากสองสิ่งนั้น ผลคือ ระยะยึดจึงไม่ได้ตามที่ท่านต้องการ ผมมีเนื้อที่ไม่มากในวาระสาร ต้องตอบยืดยาว เอาไว้โอกาสหน้า กรณีรีบร้อน มาพาผมไปโรงงานท่าน ผมว่างวันจันทร์-อังคาร ในแต่ละอาทิตย์ จะขอตอบละเอียดฉบับหน้าครับ กรณีนี้
คำถามที่ ๔ เทคนิคการตัดลวดหลังจากชิ้นงานแข็งตัว คำถามนี้ก็เป็นอีกคำถามหนึ่ง ที่ผมเน้นและสอนเสมอ ในการสัมมนาที่ผ่านมาของทาง SIW เช่นเดียวกับการทดสอบระยะยึดของลวดในการดึงลวด แต่เป็นเพราะผมสอนไม่ดี อธิบายไม่เข้าใจ หรือท่านไม่สนใจเวลาบรรยาย ผลคือ ไม่รู้เรื่องกัน
การปล่อยลวดที่ดึงไว้จากแท่นผลิตมาสู่ชิ้นส่วนที่หล่อที่เรียกว่า การตัดลวดนั้น ทำอย่างไรก็ได้ ที่จะไม่ทำให้ชิ้นส่วนเสียหาย แตกร้าว แบบหล่อไม่พัง และไม่ก่อเกิดอันตรายตามมา ถูกทั้งนั้น
วิธีที่ดีที่สุดคือ ปล่อยลวดออกมาทั้งยวงโดยใช้ไฮดรอลิค ซึ่งวิธีนี้เขาไม่ทำกันในการผลิตเสาเข็ม แผ่นพื้น และเสาไฟฟ้า มันแพง และไม่มีความจำเป็น เขาทำกันเฉพาะงานที่ต้องการคุณภาพ เพราะต้องลงทุนสูงในการทำหัวแท่นสูง จึงไม่ขอตอบในรายละเอียด ยกเว้นท่านต้องการทำจริง ให้มาหาผมเอง
วิธีที่นิยม ถูกต้องตามหลัก คือ
๑. ตัดลวด PC wire ครั้งละ 20% ของจำนวนลวด PC wire ที่จะต้องตัด และปรับให้เป็นเลขคู่ เพื่อให้สมมาตรตามแกน X และแกน Y
๒. ในแต่ละ 20% นั้น ท่านจะต้องตัดลวดเส้นนั้นตลอดแท่นผลิต ไม่ให้ลวดยึด รั้งกับหัวแท่น ให้ถ่ายแรงเข้าชิ้นส่วนคอนกรีตที่หล่อ ข้อควรระวังคือ ช่วงหัวแท่น กริปจับลวดจะกระเด็นหาย ท่านต้องหาทางป้องกัน เช่นทำกล่องเหล็กครอบไว้ที่ปลายลวด หรือใช้ยางในรถยนต์มัดให้แน่น
๓. จะตัดเส้นไหนใน 20% นั้น ให้นึกถึงหลักสมมาตรแกน X แกน Y และตัดเส้นตรงข้ามกัน
๔. ให้ตัดลวดเส้นที่อยู่รอบนอกก่อน
๕. ให้เริ่มตัดตรงจุดกลางแท่นก่อน แล้วมาตัดปลายแท่นเป็นลำดับที่สอง และตัดส่วนที่เหลือในลำดับที่สาม ทั้งหมดในเส้นเดิมนั้น
๖. การตัดให้ใช้กรรไกรตัดลวด หรือไฟจากหัวแก๊ส ไฟเชื่อมควรหลีกเลี่ยง
๗. ตัดจนหมด จะพบว่า ไม่มีลวดเส้นใดขาดก่อน และชิ้นส่วนจะไม่วิ่ง เสียหาย
กรณีตัดลวดแผ่นพื้นหล่อสำเร็จ ตัดอย่างใดก็ได้ เพราะมันมีแรงเสียดทานสูงมาก ระหว่างคอนกรีตกับแบบที่หล่อ การเคลื่อนตัวนิดหน่อยจะเป็นผลดี ทำให้ยกออกจากแบบได้ง่าย แต่แนะนำให้แบ่งเป็นสี่ช่วงก่อน คือกลางสองช่วง และหัวท้ายอีกสองด้าน เป็นสี่ครั้งก่อน แล้วจึงตัดที่เหลือทั้งหมด
กรณีเสาเข็มคำนวณไม่เป็น ทำไม่เป็น เอาแบบง่าย ๆ ตัดครั้งละ ๒ หรือ ๔ เส้น ตัดเส้นเดิม ระหว่างต้น และปลายแท่น ก็แล้วกัน ง่ายดี และใช้ได้ แต่เสียเวลานิดหน่อยในการตัด
กรณีเสาไฟฟ้า ก็ใช้แบบที่กล่าวมาแล้ว แต่ขอเป็นครั้งละ ๔ – ๘ เส้น เพราะเสาไฟฟ้าใส่ลวดแยะ
แต่กรณีของ คานสะพานใช้ลวดจำนวนมาก ท่านต้องกระทำตามที่กล่าวมาข้างต้น ครับ
เป็นอันว่าผมเอาตัวรอดไปได้ สำหรับวาระสารฉบับนี้ ที่ใช้ตอบคำถามแทน ผมยอมไม่ไปตีกอล์ฟเช้าวันนี้เพื่อเอาเวลามานั่งตอบคำถามที่ถามมา หวังว่าการตอบของผมจะพอเป็นประโยชน์บ้าง
อย่าลืม อย่าเชื่อผม แต่จงเชื่อโดยให้ยึดหลัก “กาลามสูตร” สิบประการเอาไว้ให้มั่น ท่านจะประสบความสำเร็จ ครับ
ขอบุญจงรักษา เทวดาจงคุ้มครอง ทุกท่านเทอญ
สวัสดี