สวัสดียามเช้าครับ ชาวซีมะโด่งที่รักทุกท่าน
เช้ามืดฝนตก อากาศเย็นสบายหายใจโล่ง พี่สิงห์มี "รู้ธรรมวันละนิด จิตผ่องใส" มาฝากครับ พี่สิงห์จะเขียนตามทำนองนี้แต่เผอิญนึกขึ้นได้ว่ามีผู้ที่เขียนได้ดีกว่าพี่สิงห์ คือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ คงศักดิ์ ตันไพจิตร ผมจึงถือวิสาสะคัดลอกมาให้พวกเราได้อ่านกัน ท่านคงไม่ว่าหรอกเพราะท่านก็ปฏิบัติธรรม ไม่ยึดมั่นถือมั่นอยู่แล้ว
ผมตรวจสอบแล้วมันก็เป็นความจริงตามที่คุณหมอเขียนทุกประการยกเว้นอาการที่จิตยิ้มได้ ผมไม่ทราบเพราะผมก็ยังเป็นปุถุชน คนสามัญอยู่ครับ เพียงแต่บางสิ่งเคยประสพพบด้วยตัวเอง บางสิ่งเช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันหายไปมาก อยู่กับการสร้างความรู้สึกตัว
ข้อเขียนของคุณหมอ ผมอ่านแล้ว เข้าใจแทงตลอดครับ จึงอยากให้ทุกท่านได้อ่านกันในเช้าวันนี้ครับ
อย่าลืมช่วยกันตอบปัญหา ด้วยนะครับ ผิดถูก ไม่สำคัญ แต่ทำให้เราได้คิด และจะจำมันได้ดีในภายหลังถ้าทราบคำตอบที่แท้จริงแล้ว อย่าอาย คิดอย่างไร ก็ตอบตามที่เราคิด
อรุณสวัสดิ์ทุกท่านครับ
ธรรมวันละนิด จิตผ่องใส
ตอนที่ ๓
ธรรมชาติของจิต
(คัดลอกมาจาก หนังสือพุทธอัจฉริยะ เขียนโดยศาสตราจารย์นายแพทย์คงศักดิ์ ตันไพจิตร)
พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผ่องใส (ประภัสสร) แต่ว่าจิตนั้นแลเศร้าหมองแล้ว ด้วยอุปกิเลส (สิ่งที่ทำให้จิตใจเศร้าหมองขุ่นมัว) ที่จรมา ปุถุชนผู้มิได้สดับ ย่อมจะไม่ทราบจิตนั้นตามความเป็นจริง ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า ปุถุชนผู้มิได้สดับ ย่อมไม่มีการอบรมจิตภาวนา” นั่นคือจิตถูกย้อม ห่อหุ้มไว้ด้วยอำนาจ ของความโลภ ความโกรธ หรือความหลง ที่จรแฝงซ่อนเร้นมากับความคิด ทำให้จิตหม่นหมองไป และบดบังความประภัสสรผ่องใส อุปกิเลสเหล่านี้เป็นเพียงแขกอาคันตุกะที่จรเข้ามาเยือน ทำให้จิตเศร้าหมอง ไม่ประภัสสรตามธรรมชาติที่มีมาแต่เดิม
จิตประภัสสรเป็นจิตที่มีธรรมชาติพื้นฐานธรรมดาๆ ของจิต ไม่มัวหมอง (แต่เป็นจิตที่ยังไม่หลุดพ้น มิใช่จิตบริสุทธิ์) หากทราบความจริงในสภาพที่แท้ของจิต ย่อมต้องคอยหมั่นอบรม ด้วยจิตภาวนา ให้จิตทรงความผ่องใส ไม่ให้มืดบอดโง่เขลาเศร้าหมอง
(การทำวิปัสสนาภาวนาก็ดี การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวก็ดี ต้องมีความระลึกได้ในสิ่งที่กำลังกระทำอยู่ในอิริยาบถหลักและอิริยาบถย่อย ให้รู้ตัวทั่วพร้อมตลอดเวลาคือตื่นตัวรับรู้สิ่งที่มากระทบทางอายตนะ แต่ไม่ปรุงแต่งตามเพียงรับรู้แล้วปล่อยให้ผ่านไป เมื่อจิตระลึกได้ถึงสิ่งที่กำลังกระทำอยู่ จิตมันจะว่างเปล่าไม่คิดปรุงแต่งสิ่งใดเลยเป็นจิตประภัสสร ให้ทรงสภาพอย่างนี้ไว้ให้นานเท่าที่จะทำได้ ต้องฝึกทำบ่อยๆ การที่เรารู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลาแบบนี้นั้น หลวงพ่อคำเขียน ท่านว่า “การรู้ซื่อๆ แบบนี้ละมันจะไม่ทุกข์ เพราะจิตมันไม่คิด เมื่อจิตไม่คิดมันก็ไม่ทุกข์” หลวงพ่อเทียน ท่านว่า การที่มันรู้สึกตัวอยู่นี้ละ มันจะไม่ทุกข์ เพราะขณะเมื่อเรารู้สึกตัวอยู่นั้น ความไม่รู้มันจะหายไป มีแต่ความรู้สึกตัวเข้ามาแทนที่ จิตมันก็ไม่คิด เมื่อไม่คิดมันก็ไม่ทุก ท่านว่าให้ทำบ่อยๆ สักวันความไม่รู้จะหายไปหมดสิ้น เพราะเราจะมีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันจะหมดหายไปเอง เพราะความรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลานี่ละ : มานพ กลับดี)
พระพุทธองค์ได้ทรงเน้นถึงจุดสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้พุทธศาสนาต่างจากศาสนาอื่นๆ คือ ทรงเน้นให้ทำใจให้ผ่องแผ้ว ซึ่งเป็นหลักสำคัญข้อ ๓ ที่นอกเหนือไปจากหลัก ๒ ข้อแรก ในไตรสิกขา คือ การละชั่ว และการทำดี ซึ่งมีสอนทั่วไปในศาสนาอื่น ๆ
หลักทั้งสามข้อนี้ คือหัวใจของพระพุทธศาสนา
การละชั่ว(ไม่ทำชั่วทั้งปวง คือศีล)
กระทำดี(ทำความดีให้ถึงพร้อม คือสมาธิ)
ทำจิตให้บริสุทธ์ผ่องใส(นิพพาน คือปัญญา รู้ด้วยตัวเองว่าจิตหลุดพ้นแล้ว ไม่มีกิจใดต้องทำอีกในภพนี้)
การทำใจให้ผ่องแผ้วนั้น จะมีผลให้จิตตั้งมั่นอยู่เหนือสมมติบัญญัติ เหนือทุกข์เหนือสุข เหนือโลกธรรม ๘ (คือ ได้ลาภ – เสื่อมลาภ ได้ยศ – เสื่อมยศ สรรเสริญ – นินทา สุข – ทุกข์) สามารถทำได้ด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ให้เกิด
สติ – สัมปชัญญะ – ความรู้สึกตัว เกิดสมาธิ เกิดปัญญา หลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่น ยังผลให้จิตผ่องใสบริสุทธิ์ ปราศจากทุกข์ ปัจจุบันนี้ ทัศนะแนวใหม่ของนักวิทยาศาสตร์ทางระบบประสาท อาทิ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดามาซิโอ หัวหน้าภาควิชาประสาทวิทยา ณ มหาวิทยาลัยไอโอวา ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แสดงความเห็นว่า “สมองไม่ใช่เป็นเพียงแค่ศูนย์ความคิดเท่านั้น” เพราะตรวจพบว่าอารมณ์ต่างๆ ที่รับรู้และสัมผัสอยู่ เช่น ความโกรธ ความสุข ความกลัว ความเสียใจนั้น ก็มีการทำงานของสมองส่วนต่างๆ สัมพันธ์กันอยู่ เป็นวงจรแยกแยะแตกต่างกันไป
และสรุปผลว่า สมองเป็นอวัยวะรับรู้ ความรู้สึก (เทียบได้กับวิญญาณ) ที่ทำหน้าที่คิด (เทียบได้กับจิต) ซึ่งเป็นการพิสูจน์ถึงขบวนการกลไกการทำงานของกายและจิตที่พระพุทธองค์ได้ทรงค้นพบมากว่า 2,600 ปีแล้ว ในระบบที่ทรงเรียกว่า ขันธ์ ๕ แห่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และระบบที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน คือ อายตนะ ๑๒ (อายตนะภายนอก ๖ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ กับอายตนะภายใน ๖ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) และธาตุ ๑๘ (คือ อายตนะ ๑๒ กับวิญญาณ ๖ ได้แก่ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ)
ทั้งๆที่พระองค์ไม่ได้ทรงมีเครื่องมือกลไกที่ทันสมัยอย่างในปัจจุบันแต่อย่างไร แต่ทรงอาศัยกายและจิตนี้เป็นเครื่องมือสำราจ พระพุทธองค์จึงทรงเป็นบุคคลแรกในโลกที่ทรงใช้กายและจิตนี้เป็นเครื่องมืออุปกรณ์ ทำหน้าที่กลับเข้ามาตรวจวัดสำรวจตัวกายและจิตเอง ด้วยการตามดูรู้ทันด้วย “สติ” และ “ความรู้สึกตัว” ทำให้ทรงรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงที่กำลังเกิดและสัมผัสอยู่ที่กาย ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรม ซึ่งรวมเป็นหลักของกรรมวิธีปฏิบัติให้รู้ธรรมความจริงที่เรียนกว่า
“วิปัสสนากรรมฐาน” พระองค์ทรงค้นพบและเห็นสภาพที่แท้จริงของจิตว่าเป็น “อนัตตา” และเห็นกลไกการทำงานของจิตซึ่งส่ายแส่ออกไปสู่โลกภายนอกทางอายตนะ ๖ ก่อให้เกิดความดิ้นรนทะยานอยาก แต่ขาดการรู้การเห็นตัวของมันเอง จึงเป็นทุกข์เพราะไม่รู้เท่าทันความคิดและอารมณ์ที่เกิดจากการยึดมั่นในวัตถุและสมมติบัญญัติต่าง ๆ ที่กำลังสัมผัสอยู่นั้น
(สมมติบัญญัติ คือ ทุกสิ่งรอบๆตัว ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ วัตถุ สิ่งมีชีวิต หรือไม่มีชีวิตทั้งหมด เราตั้งชื่อขึ้น เพื่อให้ สัญญา(ความจำได้หมายรู้)มันจำได้เมื่อสัมผัสทางอายตนะอีกครั้งหนึ่ง เช่น ดร.สุริยา ต้องมีหน้าตาแบบนี้ สีแดง สีเขียว รถยนต์ .....เป็นต้น : มานพ กลับดี)
พระพุทธองค์ได้ทรงค้นพบว่า นอกจากจิตจะทำหน้าที่ของความเป็นธาตุรู้ต่ออารมณ์ทั้งปวงที่ผ่านมาทางอายตนะทั้ง ๖ (เครื่องติดต่อ หรือสัมผัสได้ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) แล้ว หากตามดูรู้ทันตนเองด้วยสติและความรู้สึกตัว ลงที่ตัวกายและที่ตัวจิตของตนเอง ( สติ เปรียบประดุจยามเฝ้าประตูเมืองแห่งจิต จับผู้ต้องหาหรือเรียกตัวผู้ต้องสงสัย คือ อารมณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านประตูอายตนะใดเข้ามา ให้นายด่านหรือสัมปชัญญะ คือความรู้สึกตัว ตรวจสอบว่า มีอะไรแปลกปลอมซ่อนเร้นมาหรือไม่) จิตจะเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง และจะสามารถทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสำรวจกลไกการทำงานของกายและจิตของตนเองพร้อมกันไปด้วย เห็นชัดใน จิต เจตสิก(เวทนา สัญญา สังขาร คืออารมณ์ของจิต : มานพ กลับดี) รูป นิพพาน คือ
“ปรมัตถธรรม” สามารถเห็นจิตใจของตนเอง เห็นสภาพที่แท้จริงของจิตเองว่าปราศจากอัตตา ไม่มีตัวตนที่แท้จริงแต่อย่างใด หากเป็นเพียงมายาหรือเสมือน Hologram คือภาพลอยลวง หลอกล่ออยู่ ประดุจว่ามีอยู่จริง ซึ่งปุถุชนไม่รู้เท่าทัน หลงติดว่า เป็นอัตตาที่เที่ยงแท้ถาวร และผ่านสุขทุกข์ไว้กับ ตัณหา และ ทิฏฐิ
ด้วยพระปัญญาญาณซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการตามดูรู้ทัน รู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง ไม่ถูกบดบังปรุงแต่งด้วยกิเลส ตัIหา และอุปาทาน พระองค์ทรงเห็นว่าโดยสภาพที่แท้จริงแล้ว มันเป็นเพียงขบวนการทำงานและการประชุมกันของขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และความทุกข์ คือ ขันธ์ ๕ แห่งความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นอัตตาตัวตน เป็นของ ๆ ตนด้วยความที่ไม่ทราบความจริงว่า ขันธ์ ๕ ที่รวมกันอยู่เป็นบุคคลนี้ โดยสภาพที่แท้จริงล้วนปราศจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา-เขา แต่ละขันธ์ล้วนปราศจากจากอัตตาตัวตน ต่างเป็นเพียงปรากฎการณ์แห่งสภาวธรรมที่เกิดดับอยู่ตลอดเวลาตามกฎพระไตรลักษณ์(สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยง สังขารทั้งหลาย เป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลาย เป็นอนัตตา)
ขันธ์ ๕ และอายตนะ ๖
ระบบขันธ์ ๕ (ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นบุคคลหนึ่ง ๆ) และอายตนะ ๖ (คือเครื่องติดต่อ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เป็นขบวนการทำงานประสานกันระหว่างระบบกายและจิตในการดำรงชีวิต ให้รับทราบข้อมูลที่รับส่งต่อมาจากทางทวารทั้ง ๖ ให้รู้ถึงความหมาย คุณค่าของสภาวธรรมต่าง ๆ ในสิ่งแวดล้อม เป็นเพียงการประชุมเข้ากันของขันธ์ต่าง ๆ เพื่อการดำรงชีวิตโดยธรรมดาตามธรรมชาติ รักษาตนตามสัญชาตญาณในการหาอาหารเลี้ยงชีพ รักษาตนให้พ้นภัยในธรรมชาติต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งโดยธรรมชาติปราศจากอัตตาตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวร
หากไม่เห็นความจริงในสิ่งเหล่านี้ จะหลงติดอยู่ในความยึดมั่นถือมั่น ในสภาวธรรมต่าง ๆ เกิดความเป็นอัตตาตัวตนอย่างรุนแรง ชีวิตนั้นจะเป็นไปด้วยความหลงใหลในตน เต็มไปด้วยความอยาก ตลอดถึงความโลภ ความโกรธ ความอาฆาตแค้นเคือง และความหลงโง่เง่างมงายน้อยเนื้อต่ำใจ ยึดติดในความเป็นตัวตน บางครั้งรุนแรงถึงกับทำร้ายตนเองได้ เพราะไม่รู้เท่าทันความจริงว่า แท้ที่จริงไม่มีอัตตาตัวตน ล้วนแล้วแต่เป็นอนัตตา ปราศจากตัวตน ปัญญาที่เกิดจากการภาวนาวิปัสสนากรรมฐาน จะทำให้หายโง่ จะปล่อยวาง ว่างจากความคิดที่แฝงไว้ด้วยโลภ โกรธ หลง ซึ่งคอยปรุงแต่งจิต ว่างจากอารมณ์ ว่างจากทุกข์
ความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องต่อกันในระบบอายตนะ ๖ นี้
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ได้เมตตาเน้นให้เห็นความสำคัญและอธิบายไว้ดังนี้
อเหตุจิต ๓ ประการ
๑.ปัญจทวารวัชนจิต คือ กิริยาจิตที่แฝงอยู่ตามอายตนะ หรือทวารทั้ง ๕ มีดังนี้
ตา ไปกระทบกับรูป เกิด
จักษุวิญญาณ คือการเห็น จะห้ามไม่ให้ ตา เห็นรูปไม่ได้
หู ไปกระทบเสียง เกิด
โสตวิญญาณ คือการได้ยิน จะห้ามไม่ให้ หู ได้ยินเสียงไม่ได้
จมูก ไปกระทบกับกลิ่น เกิด
ฆานะวิญญาณ คือการได้กลิ่น จะห้ามไม่ให้ จมูก รับกลิ่นไม่ได้
ลิ้น ไปกระทบกับรส เกิด
ชิวหาวิญญาณ คือการได้รส จะห้ามไม่ให้ ลิ้น รับรู้รสไม่ได้
กาย ไปกระทบกับโผฏฐัพพะ เกิด
กายวิญญาณ คือการสัมผัส จะห้ามไม่ให้ กาย รับสัมผัสไม่ได้
วิญญาณทั้ง ๕ อย่างนี้ เป็นกิริยาที่แฝงอยู่ในกายตามทวาร ทำหน้าที่รับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่มากระทบเป็นสภาวะแหธรรมชาติของมัน เป็นอยู่เช่นนั้น ก็แต่ว่า เมื่อจิตอาศัยทวารทั้ง ๕ เพื่อเชื่อมต่อรับรู้เหตุการณ์ภายนอกที่เข้ามากระทบ แล้วส่งไปยังสำนักงานจิตกลาง
(อาลยะ) เพื่อรับรู้ เราจะห้ามมิให้เกิดเป็นเช่นนั้น ย่อมกระทำไม่ได้
การป้องกันทุกข์ที่จะเกิดจากทวารทั้ง ๕ นั้น เราจะต้องสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๕ ไม่เพลิดเพลินในอายตนะเหล่านั้น หากจำเป็นต้องอาศัยอายตนะทั้ง ๕ นั้นประกอบการทางกาย ก็ควรจะกำหนดจิตให้ตั้งอยู่ในจิต เช่นเมื่อเห็นก็สักแต่ว่าเห็น ไม่คิดปรุง ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน ไม่คิดปรุง ดังนี้ เป็นต้น (ไม่คิดปรุง หมายความว่า ไม่ให้จิตเอนเอียงไปในความเห็นดี-ชั่ว) ๒.มโนทวารวัชนจิต คือ กิริยาจิตที่แฝงอยู่ที่มโนทวาร มีหน้าที่ผลิตความคิดนึกต่าง ๆ นานา คอยรับหตุการณ์ภายนอกมากระทบ จะดีหรือชั่วก็สะสมเอาไว้ จะห้ามจิตไม่ให้คิดในทุก ๆ กรณีย่อมไม่ได้
ก็แต่ว่าเมื่อจิตคิดปรุงไปในเรื่องราวใด ๆ ถึงวัตถุสิ่งของ บุคคลอย่างไรก็ให้กำหนดรู้ว่า จิตคิดถึงเรื่องเหล่านั้น ก็สักแต่ว่าความคิด ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เรา เขา ไม่ยึดถือวิจารณ์ความคิดเหล่านั้น
ทำความเห็นให้เป็นปกติ ไม่ยึดถือความเห็นใด ๆ ทั้งสิ้น จิตย่อมไม่ไหลตามกระแสอารมณ์เหล่านั้น ไม่เป็นทุกข์ ๓.หสิตุปบาท คือ กิริยาที่จิตยิ้มเอง โดยปราศจากเจตนาที่จะยิ้ม หมายความว่า ไม่อยากยิ้มมันก็ยิ้มของมันเอง กิริยาอันนี้เฉพาะเหล่าพระอริยเจ้าเท่านั้น ในสามัญชนไม่มี
สำหรับ
อเหตุกจิต ข้อ ๑ และ ๒ มีเท่ากันในพระอริยเจ้า และในสามัญชน นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เมื่อตั้งใจปฏิบัติตนออกจากทุกข์ควรพิจารณา อเหตุกจิต นี้ให้เข้าใจด้วย เพื่อความไม่ผิดพลาดในการบำเพ็ญปฏิบัติธรรม
อเหตุกจิต นี้ นักปฏิบัติทั้งหลายควรทำความเข้าใจให้ได้ เพราะถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว เราจะพยายามบังคับสังขารไปหมด ซึ่งเป็นอันตรายต่อการปฏิบัติธรรมมาก เพราะความไม่เข้าใจใน อเหตุกจิต ข้อ ๑ และ ๒ นี้เอง
อเหตุกจิต ข้อ ๓ เป็นกิริยาที่จิตยิ้มเองโดยปราศจากเจตนาที่จะยิ้ม เกิดในจิตของเหล่าพระอริยเจ้าเท่านั้น ในสามัญชนไม่มี เพราะกิริยาจิตนี้เป็นผลของการเจริญจิตจนอยู่เหนือมายาสังขารได้แล้ว จิตไม่ต้องติดข้องในโลกมายา เพราะความรู้เท่าทันเหตุปัจจัยแห่งการปรุงแต่งได้แล้ว เป็นอิสระด้วยตัวมันเอง
พระพุทธองค์ทรงเปรียบเทียบขันธ์ ๕ ไว้ใน เผณปิณฑสูตร ว่า
รูป นั้นเปรียบได้กับฟองน้ำ (ซึ่งเปราะ แตกง่าย) ,
เวทนา นั้นเปรียบได้กับต่อมน้ำ (ดุจน้ำค้างบนใบหญ้าที่เหือดแห้งเมื่อต้องแสงแดด),
สัญญา นั้นเปรียบได้กับพยับแดด (เป็นเพียงเงาที่หลอกลวงเสมือนจริงว่ามีน้ำอยู่ข้างหน้า) ,
สังขาร นั้นเปรียบได้กับต้นกล้วย (มีแต่กาบไม่มีแกน เนื้อในที่แท้จริง) ,
วิญญาณ นั้นเปรียบได้กับนักมายากล (เล่นกลหลอกลวง ให้เห็นอย่างที่เขาต้องการให้เราเห็น)
ทุกอย่างล้วนทรงสภาพอยู่ชั่วขณะ แล้วแตกสลายทำลายไป แต่ละขันธ์ล้วนปราศจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นเพียงการประชุมรวมตัวกันอยู่ ไม่ใช่อัตตาตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวร แต่เป็น
อนัตตา (ไม่มีตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวร) ,
สุญญตา (เป็นเพียงแต่ความว่าง), อิทัปปัจจยตา (อาสัยเหตุปัจจัยจึงอยู่ได้),
ตถตา (ไม่พึงยึดมั่นถือมั่น)
แต่ขันธ์ ๕ นี้เองเป็นบ่อเกิดของความยึดมั่นถือมั่น ด้วยปุถุชนต่างปฏิเสธไม่ยอมรับสภาพที่แท้ของมัน ซึ่งคอยแต่จะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดกาลตามกฎพระไตรลักษณ์ และกลับเห็นอย่างเข้าข้างตนเองไปในทางตรงข้าม ซึ่งต่างไปจากลักษณะความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง คือกลับยึดมั่นถือมั่น เห็นผิดไปว่า
เที่ยงเป็นสุข และเป็นของตน ดังนั้นจึงเป็นการเห็นที่ถูกย้อมไว้ด้วยการสร้างจินตนาการมโนภาพที่เข้าข้างตนเอง (สัญเจตนา) ขึ้นมาแทนที่ความเป็นจริงที่กำลังประสบอยู่แล้วเฉพาะหน้า ปิดบังความจริงไว้เสีย และกลับเห็นอย่างชนิดที่แฝงไว้ซึ่งความยึดมั่นถือมั่น และเป็นการฝืนธรรมชาติความเป็นจริง
การที่จิตไม่ยอมรับความจริง ปฏิเสธความจริงเหล่านี้ สืบเนื่องด้วยความยึดมั่นถือมั่นในอัตตาตัวตน จึงทำให้ทุกข์ด้วยเป็นการฝืนธรรมชาติ และธรรมชาติย่อมไหลต่อเนื่องกันไปตามกฎไตรลักษณ์อย่างไม่หยุดยั้ง ไม่มัวรีรอ และไม่อาจหยุดยั้งให้เป็นไปตามคำวิงวอนของบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ จึงเป็นทุกข์กฎไตรลักษณ์
สังขาร ทั้งหลาย เป็นอนิจจัง(ไม่เที่ยง)
สังขาร ทั้งหลาย เป็นทุกข์(ทนอยู่ได้ยากทั้งกาย-ใจ)
ธรรม ทั้งหลาย เป็นอนัตตา(ไม่มีตัวไม่มีตน)
การรู้ซื่อ ๆ จากการสร้างความรู้สึกตัวทั่วพร้อมนี่ละ จิตเป็นประภัสสร
เพราะจิตมันจะว่างเปล่า ไม่คิด มันก็ไม่ทุกข์
ทำบ่อย ๆ จนติดเป็นนิสัย
ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันจะหายไปเองตามธรรมชาติ
และจิตเป็นประภัสสร ครับ