"ความอยาก" ในพระพุทธศาสนา
( ปัญหาและความเข้าใจ เรื่อง "ความอยาก")
"เราในหมู่ชาวพุทธนี้มักจะกลัวเรื่อง "ความอยาก" แล้วก็มีความรู้สึกว่า..ถ้าพูดถึง"ความอยาก"แล้ว ชาวพุทธจะต้องปฏิเสธ จะต้องพยายามเลี่ยงเว้น พวกชาวพุทธเป็นคนไม่มีความอยาก ปฏิบัติเพื่อละความอยาก อยากอะไรไม่ได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ถ้าหากว่าระวังระแวงเกินไป อาจจะทำให้เสียแก่พระพุทธศาสนาได้เหมือนกัน เพราะว่า"ความอยาก"นี้เราไปหมายถึง"ตัณหา" เราบอกว่าพุทธศาสนานี้เป็นศาสนาที่สอนให้ละตัณหา เพราะฉะนั้น จะอยากอะไรไม่ได้
ทีนี้ ก็มีฝ่ายตรงข้ามเขาก็บอกว่า
โอ…พระพุทธศาสนาสอนให้คนไม่อยาก
เมื่อไม่อยากก็เลยไม่ต้องการอะไร
ไม่ต้องผลิตสร้างสรรค์
ทำให้ขัดถ่วงการพัฒนา
เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีการแยกแยะให้เห็นว่า "ความอยาก"ในพระพุทธศาสนานี้ มันเป็นสิ่งที่ถูกประณามแท้จริงหรือไม่
ขอเข้าสู่หลักเลย ท่านบอกว่า "ปตฺถนา" แปลว่า ความอยากหรือความปรารถนา
"ปตฺถนา"นั้น มี ๒ อย่าง
๑. ตัณหาปัตถนา ปรารถนาหรืออยากด้วย"ตัณหา"
๒. ฉันทปัตถนา ปรารถนาหรืออยากด้วย"ฉันทะ"
"ตัณหาปัตถนา" อยากด้วยตัณหานั้น เป็น อกุศล
"ฉันทปัตถนา" อยากหรือปรารถนาด้วยฉันทะ เป็น กุศล ฉันทะนี้เป็นองค์ธรรมสำคัญ เช่น ในอิทธิบาทเป็นข้อแรกทีเดียว ก็เป็นอันว่าที่จริงฉันทะนี้ ซึ่งเราจะแปลอย่างไรก็ตาม อาจจะพยายามเลี่ยงหน่อย ไม่อยากใช้คำว่า"อยาก" แปลเป็นอย่างอื่นก็ตาม แต่ก็ต้องให้รู้ว่าสาระของมันมีอยู่ว่า ในทางพระพุทธศาสนานี้ ความปรารถนา หรือความต้องการอย่างหนึ่ง ท่านสอนและสนับสนุนให้มี คือ ความต้องการที่เรียกว่า "ฉันทะ"
ที่จริง"ฉันทะ"นี้ก็เป็นไวพจน์(คำสำหรับเรียกแทนกันได้)ของ"ตัณหา"ได้เหมือนกัน ฉันทะมีหลายอย่างอีกแหละ มี...
"กัตตุกัมยตาฉันทะ" ฉันทะคือความอยากที่ต้องการจะทำ
"ตัณหาฉันทะ" หรือ "อกุศลฉันทะ" คือความอยากที่เป็นตัณหา
และมี "กุศลฉันทะ" หรือกุศลธรรมฉันทะ ความอยากหรือความต้องการตัวธรรม หรือต้องการสิ่งที่เป็นกุศล
ในแง่ของฉันทะที่เป็นกุศล จะมีพุทธพจน์แม้แต่ว่า..ฉันทะในนิพพาน คือ อยากนิพพานก็มี แต่ต้องแยกให้ถูก ระหว่าง อยากนิพพานด้วยตัณหา กับ อยากนิพพานด้วยฉันทะ
อย่างไรก็ตาม ในที่นี้ ต้องการเพียงแสดงหลักการให้เห็นว่า มี"ความอยาก"ประเภทหนึ่งที่พระพุทธศาสนาสนับสนุน และเป็นตัวสำคัญในการปฏิบัติ ในการดำเนินชีวิตตามหลักการของธรรม
ฉะนั้น เราควรจะต้องแยกแยะให้ถูกก่อน เมื่อแยกถูกแล้ว จะสนับสนุนคนให้อยากด้วยซ้ำไป ฉะนั้น ชาวพุทธไม่ควรจะมากลัวนักกับคำว่า "อยาก" แต่ต้องเข้าใจคำว่า"อยาก"นี้ให้ถูกต้อง และแยกให้ถูกและสอนให้ชัดว่า อันไหนควรอยาก อันไหนไม่ควรอยาก ควรอยากในแง่ไหน และก็สนับสนุนความอยากที่ถูกต้อง เพื่อหลีกเลี่ยงความอยากที่ไม่ถูกต้อง ถ้าจะเอาแต่ไปกดกำหราบละความอยาก เราอาจจะไม่สำเร็จผลและเกิดโทษก็ได้ นี้ก็เป็นข้อที่ควรจะเน้นอันหนึ่ง"
#สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
( ป. อ. ปยุตฺโต )
ที่มา : ธรรมนิพนธ์ "หลักทั่วไปของพุทธศาสตร์"
หมายเหตุ : เพิ่มเติม
ตัณหา กับ ฉันทะ ต่างกันอย่างไร?
"ตัณหา" มุ่งประสงค์เวทนา และ จึงต้องการสิ่งสำหรับเอามาเสพเสวยเวทนา หรือสิ่งที่จะปรนปรือตัวตน ตัณหาอาศัยอวิชชาคอยหล่อเลี้ยงและให้โอกาส พัวพันเกี่ยวเนื่องอยู่กับเรื่องตัวตน เอาอัตตาเป็นศูนย์กลาง และนำไปสู่ปริเยสนาคือการแสวงหา
"ฉันทะ" มุ่งประสงค์อัตถะคือตัวประโยชน์ (หมายถึงสิ่งที่มีคุณค่าแท้จริงแก่ชีวิต) และ จึงต้องการความจริง สิ่งที่ดีงาม หรือภาวะที่ดีงาม ต้องการทำให้ดีงามสมบูรณ์ เต็มสภาวะ ฉันทะก่อตัวขึ้นจากโยนิโสมนสิการ คือความรู้จักคิดหรือคิดถูกวิธี คิดตามสภาวะและเหตุผล เป็นภาวะกลางๆของธรรม ไม่ผูกพันกับอัตตา และนำไปสู่อุตสาหะหรือวิริยะ คือทำให้เกิดการกระทำ
เพื่อจะแยกว่า เมื่อใครคิดพูดทำอะไร จะเป็นตัณหาหรือไม่ ถึงตอนนี้จะเห็นชัดว่า ความต้องการหรือกิจกรรมใดไม่เกี่ยวกับการหาสิ่งมาเสพเสวยเวทนา ไม่เกี่ยวกับการปกป้องรักษาหรือเสริมขยายความมั่นคงถาวรของอัตตา (ลึกลงไปแม้แต่การที่จะบีบคั้นลิดรอนอัตตา) ความต้องการหรือกิจกรรมนั้นไม่ใช่เรื่องของตัณหา
ข้อความว่า ตัณหานำไปสู่การแสวงหา ฉันทะทำให้เกิดการกระทำ นี้เป็นจุดสำคัญ ที่จะให้เข้าใจความแตกต่างระหว่างตัณหากับฉันทะได้ชัดเจน"
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
(ป.อ. ปยุตฺโต)