พุทธคยา
********
ที่ตั้งปัจจุบัน
พุทธคยา อยู่ในแคว้นมคธ มีเมืองหลวงชื่อ ราชคฤห์ เป็นแคว้นมหาอำนาจหนึ่งในสี่ของชมพูทวีป อันมี แคว้นโกศล วังสะ และ อวันตี มีเมืองหลวงคือ สาวัตถี โกสัมพี และอุชเชนี
พุทธคยา ถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดแห่งหนึ่งในสี่แห่งของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เพราะเป็นสถานที่ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเนรัญชรา ณ ตำบลโพธิคยา หรือ พุทธคยา มีอาณาเขตติดต่อกับตำบลตารดิตถ์ จังหวัดคยา รัฐพิหาร ซึ่งมีเมืองปัตนะเป็นเมืองหลวงอยู่ห่างจากตัวเมืองคยาไปทิศใต้ประมาณ ๑๒ กม. ห่างจากเมืองกัลกัตตา ๔๕๘ กม. (โดยทางรถไฟ) และห่างจากกรุงเดลีไปทางตะวันออกประมาณ ๙๘๕ กม. (โดยทางรถไฟ) ก่อนจะเดินทางถึงบริเวณสถานที่ตรัสรู้คือ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เราจะมองเห็นพระวิหารมหาโพธิ์ (พระเจดีย์ ๔ เหลี่ยม) ตั้งตระหง่านสูงประมาณ ๑๗๐ ฟุต จากพื้นดิน
เมื่อเดินเข้าใกล้เราจะมองเห็นว่าสถานที่รอบ ๆ ที่ตรัสรู้นี้ ตั้งอยู่ในที่ต่ำลึกจากระดับพื้นดิน บริเวณรอบ ๆ ที่ถูกสร้างเป็นกำแพงในปัจจุบันประมาณ ๕ เมตร ที่เป็นเช่นนี้เพราะบริเวณพระศรีมหาโพธิ์ในอดีต มีวิหารใหญ่ ๓ หลัง เฉพาะทางประตูด้านทิศเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์มีวิหารชื่อมหาโพธิสังฆาราม ซึ่งกษัตริย์ชาวศรีลังกาได้มาสร้างไว้ มี ๖ ห้อง ๔ ยอด มีพระสงฆ์อยู่อาศัยถึง ๑,๐๐๐ รูป แต่ใน พ.ศ. ๑๗๔๗ วิหารทั้ง ๓ หลัง รวมทั้งกำแพงได้ถูกทำลายลงโดยกษัตริย์มุสลิม ดังนั้น บรรดาซากอาคารวัตถุที่ปรักหักพังได้แตกสลายไป ทำให้เกิดการทับถมกันของแผ่นดิน บริเวณนี้ จึงอยู่ต่ำจากระดับกำแพงและบริเวณโดยรอบ ซึ่งเป็นซากวัดในอดีต และประมาณ ๕ เมตร
เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๕ ที่ผ่านมาองค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศยกย่องให้บริเวณเจดีย์พุทธคยา เป็นมรดกโลก (World heritage)
สถานที่ตรัสรู้
เจ้าชายสิทธัตถะ หรือดาบสสิทธัตถะ ในขณะนั้นหลังจากที่ทรงใช้ความวิริยะอุตสาหะ เพื่อแสวงหาโมกขธรรมอยู่เป็นเวลา ๖ ปี จึงทรงตรัสรู้ อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า ณ ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เมื่อวันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา (วันวิสาขบูชา) ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี พุทธคยาจึงจัดเป็นสถานที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา บริเวณสถานที่ตรัสรู้นี้ ในครั้งพุทธกาลเรียกว่า ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม
๑. ต้นพระศรีมหาโพธิ์
ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นสถานที่ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับนั่งตรัสรู้ในคืน วันเพ็ญวิสาขปุรณมีก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี ณ สถานที่นี้ได้เคยมีพระพุทธ เจ้าองค์อื่น ๆ ในอดีตกาล ได้ทรงมาตรัสรู้แล้วถึง ๓ พระองค์ คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า กกุสันธะ พระนามว่า โกนาคมนะ พระนามว่า กัสสปะ ส่วนพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันมีพระนามว่า โคตมะ และในอนาคตกาลจะเป็นที่ตรัสรู้ของ พระศรีอริยเมตไตรย ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันเป็นต้นที่ ๔ มีประวัติโดยสังเขป ดังนี้
ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่ ๑
คือต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พระพุทธองค์ได้ประทับนั่ง เพื่อตรัสรู้ พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นสหชาติกับพระพุทธเจ้า เมื่อพระศรีมหาโพธิ์ต้นนี้อายุประมาณ ๓๕๒ ปี ก็ถูก พระนางมหิสุนทรี มเหสีองค์ที่ ๔ ของพระเจ้าอโศกมหาราช ราดยาพิษและน้ำร้อนจนตาย พระเจ้าอโศกทรงเสียพระทัยมาก ทรงอธิษฐานและสั่งให้เอาน้ำนมวัวถึง ๑๐๐ ตัวมารดหน่อ ของพระศรีมหาโพธิ์จึงงอกขึ้นมาใหม่
ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่ ๒
คือต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่แตกหน่อจากต้นเดิม ด้วยอำนาจสัตยาอธิษฐานของพระเจ้าอโศก เมื่อ พ.ศ. ๒๗๒
เมื่อปี พ.ศ. ๑๑๔๓ - ๑๑๖๓ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่ ๒ มีอายุ ประมาณ ๘๗๑ - ๘๙๑ ปี กษัตริย์ชาวฮินดูแห่งแคว้นเบงกอลชื่อศะศางกา ได้ทำลายเสีย ต่อมากษัตริย์แคว้นมคธ ชื่อ พระเจ้าปูรณวรมัน กษัตริย์องค์สุดท้ายในราชวงศ์ของพระเจ้าอโศกทรงทราบข่าว จึงเสด็จมาที่พุทธคยา ได้ทรงเห็นต้นพระศรีมหาโพธิ์ถูกทำลาย จึงทรงให้เอาน้ำนมวัว ๑,๐๐๐ ตัว มารดจนหน่อของพระศรีมหาโพธิ์เกิดใหม่อีก
ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่ ๓
ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่ ๓ ได้เจริญงอกงามมาตามลำดับ มีอายุ ประมาณ ๑,๒๕๖ - ๑,๒๗๖ ปี ก็ตายลงด้วยถูกพายุพัดโค่น เพราะอายุแก่มากแล้ว ต่อมา เซอร์ คันนิ่งแฮม นักโบราณคดีชาวอังกฤษ (พ.ศ.๒๔๒๓) ได้เห็นหน่อของต้นพระศรีมหาโพธิ์งอกขึ้นมา ๒ หน่อ จึงเอาหน่อที่สูง ประมาณ ๖ นิ้ว ปลูกไว้ที่เดิมหน่อที่สูง ประมาณ ๔ นิ้ว ปลูกไว้ทางทิศ เหนือขององค์พระเจดีย์
ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่ ๔
ท่าน เซอร์ คันนิ่งแฮม ได้นำมาปลูกไว้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ ณ ตำแหน่งเดิมของต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นแรก พระศรีมหาโพธิ์ต้นนี้มีอายุ ประมาณ ๑๒๔ ปี (พ.ศ. ๒๕๔๗) นับแต่ปลูกมา ปัจจุบันต้นพระศรีมหาโพธิ์ก็ยังแข็งแรงและสมบูรณ์ดี มีการกั้นรั้วทองเหลืองไว้โดยรอบ มีประตูเหล็ก ดัดสูง ๒ เมตร สร้างถวายโดยชาวพุทธศรีลังกา
๒. พระแท่นวัชรอาสน์
ที่ประทับนั่งตรัสรู้ของสมเด็จพระ สัมมาสัมพุทธเจ้าที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ในครั้งนั้น พระพุทธองค์ทรงใช้หญ้ากุสะ ๘ กำมือ (คล้ายหญ้าคา) ที่โสตถิยะพราหมณ์ถวายให้มาปูลาดนั่ง และเมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วบัลลังก์ที่นั่งนั้น จึงถูกเรียกว่า อปราชิต บัลลังก์ หรือ รัตนบัลลังก์ ต่อมาพระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างเป็นแท่นหินสลักเรียกว่า พระแท่นวัชรอาสน์ ประดิษฐานไว้ระหว่างต้นพระศรีมหาโพธิ์กับองค์ พระเจดีย์ เพื่อให้เป็นอนุสรณ์สถานที่ถาวรยาวนาน พระแท่นนี้สร้างขึ้น โดยใช้แผ่นหินทรายเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวประมาณ ๗ ฟุต ๑๐ นิ้วครึ่งกว้าง ๔ ฟุต ๗ นิ้วครึ่ง ความหนา ๖ นิ้วครึ่ง แกะสลักเป็นรูปแหวนเพชร นอกจากนั้นยังมีรูปดอกบัว รูปพญาหงษ์ และดอกมณฑารพด้วย
๓. พระมหาเจดีย์พุทธคยา หรือพระวิหารโพธิ์
พระมหาเจดีย์พุทธคยานี้ ก่อสร้างด้วยหินทรายสีน้ำตาลนวล มีลักษณะเป็นทรงสี่ เหลี่ยมจัตุรัส ยอด แหลม คล้ายยอดพระเจดีย์ทั่วไป มีความ สูงประมาณ ๑๗๐ ฟุต ฐานวัดโดยรอบ ได้ ๑๒๑ เมตร พระเจ้า หุวิชกะทรงสร้าง ต่อมาจากสมัยพระเจ้า อโศกมหาราชและมี การซ่อมแซมบูรณะ โดยท่านผู้เลื่อมใส ในพระพุทธศาสนา เรื่อยมานอกจากนี้ ยังมีองค์ เจดีย์เล็ก ๆ ลดหลั่นกันไปอยู่โดยรอบพระเจดีย์องค์ใหญ่ จึงทำให้พระเจดีย์ มีความงามยิ่งขึ้น มีห้องสำหรับปฏิบัติธรรมอยู่ชั้นบน
ส่วนชั้นล่างนั้นประดิษฐาน พระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ สูงประมาณ ๑.๖๖ เมตร หน้าตักกว้าง ๑.๔๗ เมตร แกะสลักด้วยด้วยหินตามแบบศิลปะสมัยปาละ มีอายุประมาณ ๑,๔๐๐ ปี องค์พระพุทธรูปทาด้วยสีทองสวยงามมาก คนไทยนิยมเรียกว่า พระพุทธเมตตา
๔. สถานที่เสวยวิมุตติสุข ๗ สัปดาห์
หลังจากตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระองค์ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขอยู่ ๗ แห่ง ตลอด ๗ สัปดาห์ ดังนี้
สัปดาห์ที่ ๑ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ประทับนั่งที่พระแท่นวัชรอาสน์พระองค์ได้ประทับนั่งใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์พิจารณาปฏิจจสมุปบาท โดยอนุโลมและปฏิโลมตลอดสัปดาห์
สัปดาห์ที่ ๒ ที่อนิมิสเจดีย์ เทวดาบางพวกเกิดความปริวิตกว่า “แม้วันนี้พระสิทธัตถะยังมีกิจที่จะต้องทำอยู่เป็นแน่ เพราะยังไม่ละความอาลัยใน บัลลังก์ ด้วยพระองค์ทรงตั้งสัตยาธิษฐานไว้ก่อนประทับนั่งว่า ถ้าไม่ได้ ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ จะไม่เสด็จลุกขึ้นจากบัลลังก์นี้” ในวันที่ ๘ ทรงออกจากสมาบัติ ทรงทราบความปริวิตกของเทวดาเหล่านั้น แล้วเหาะขึ้นไปในอากาศ เพื่อกำจัดความสงสัยของเทวดาเหล่านั้น ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์
ครั้นแสดงยมกปาฏิหาริย์กำจัดความสงสัยของเทวดาเหล่านั้นแล้ว จึงประทับยืนทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือเยื้องจากบัลลังก์เล็กน้อย ทรงจ้องดูบัลลังก์และต้นโพธิ์สถานที่บรรลุผล แห่งพระบารมีทั้งหลายที่ ทรงบำเพ็ญมาถึงสี่อสงไขยแสนกัปป์ ด้วยดวงพระเนตรที่ไม่กระพริบว่า “เราบรรลุสัพพัญญุตญาณเหนือบัลลังก์นี้” ทรงยับยั้งอยู่ ๗ วัน สถานที่นั้น จึงชื่อว่า อนิมิสเจดีย์
ปัจจุบันได้สร้างเป็นเจดีย์องค์ใหญ่มีสีขาว อยู่ทางด้านขวามือของ บันไดที่จะลงสู่มหาโพธิสถาน หรือทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระ เจดีย์มหาโพธิ์ ดูผิวเผินมีรูปทรงคล้ายกับเจดีย์องค์ใหญ่ แต่ลวดลายหยาบกว่า
สัปดาห์ที่ ๓ ที่รัตนจงกรมเจดีย์ พระองค์ทรงเนรมิตที่จงกรมระหว่างบัลลังก์ที่ ประทับนั่งตรัสรู้กับ อนิมิสเจดีย์ ทรงจงกรมบนรัตนจงกรม จากทิศตะวันออกจรดทิศตะวันตกอยู่ตลอดสัปดาห์ สถานที่นั้นจึงชื่อว่า รัตนจงกรมเจดีย์ ปัจจุบันมีหินแกะสลักทำเป็นดอกบัวศิลปะภารหุต ๑๙ ดอก บนแท่นหินสูง ๑ เมตร ยาว ๑๒ ศอก วางเรียงกันเป็นแนวยาวตลอดอยู่ทางด้านซ้ายมือ ข้างองค์พระมหาเจดีย์พุทธคยาหรืออยู่ทางทิศเหนือ สร้างเป็นแท่นหินสูง ๑ เมตร มี ๑๙ ดอก
สัปดาห์ที่ ๔ ที่รัตนฆรเจดีย์ เทวดาทั้งหลายเนรมิตเรือนแก้วด้านทิศตะวันตก เฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนั่งขัดสมาธิใน เรือนแก้วนั้นทรงพิจารณาอภิธรรมคือ พระสมันตปัฏฐานอนันตนัยในพระ อภิธรรมปิฎกโดยพิเศษทรงยับยั้งอยู่ตลอดสัปดาห์
ส่วนนักอภิธรรมกล่าวว่า ที่ชื่อว่า เรือนแก้ว ไม่ใช่เรือนที่ทำด้วยแก้ว ๗ ประการ แต่สถานที่ที่ทรงพิจารณาปกรณ์ทั้ง ๗ เรียกว่า เรือนแก้ว ท่านประยุกต์เรื่องทั้งสองเข้าไว้ในที่นี้โดยปริยาย จึงควรถือเอาทั้งสองนัย สถานที่นั้นจึงชื่อว่า รัตนฆรเจดีย์
ลักษณะที่ปรากฏในปัจจุบัน เจดีย์นี้สร้างเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาตัดตรงด้านหน้า มีประตูทางเข้าหันหน้าไปทางกำแพงด้านทิศเหนือ ภายในมีพระพุทธรูปทองเหลืองขนาดใหญ่องค์หนึ่ง ประดับอย่างสวยงาม ประดิษฐานอยู่
สัปดาห์ที่ ๕ ที่ต้นอชปาลนิโครธ (ต้นไทร) พระพุทธเจ้าประทับอยู่ใกล้ ๆ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ๔ สัปดาห์ แล้วในสัปดาห์ที่ ๕ เสด็จออกจากบริเวณควงไม้โพธิ์เสด็จข้ามแม่น้ำเนรัญชรา ไปทางทิศตะวันออก ประทับนั่งพิจารณาพระธรรม และเสวยวิมุตติสุขที่ต้นอชปาลนิโครธนั้น ณ ที่ตรงนี้ พราหมณ์ผู้ทิฏฐมังคลิกะ เที่ยวตวาดว่า หึ หึ ด้วยอำนาจความถือตัวได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “บุคคลชื่อว่าเป็น พราหมณ์ด้วยเหตุเพียงเท่าไร ธรรมเหล่าไหนทำให้บุคคลเป็นพราหมณ์” พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทาน แสดงเหตุและธรรมที่ทำให้บุคคลเป็นพราหมณ์ และได้มีธิดามาร ๓ นาง คือ นางตัณหา นางอรตี นางราคา มาแสดงอาการยัวยวนพระพุทธองค์ทรงเอาชนะด้วยพระพุทธบารมี
สัปดาห์ที่ ๖ ที่สระมุจจลินท์ ครั้นประทับนั่ง ณ อชปาลนิโครธตลอด ๗ วัน ในสัปดาห์ที่ ๕ แล้ว จึงเสด็จไปประทับ ณ โคนต้นมุจจลินท์ (ต้นจิกนา) อีกสัปดาห์หนึ่ง พอประทับนั่งในที่นั้นเท่านั้น มหาเมฆซึ่งมิใช่ ฤดูกาลก็เกิดขึ้น เมื่อมหาเมฆเกิดขึ้นแล้ว พญานาคชื่อมุจจลินท์คิดว่า “เมื่อพระพุทธเจ้ามาสู่สถานที่ของเรา มหาเมฆก็เกิดขึ้น พระองค์ควรได้อาคารที่ประทับ” พญานาคแม้จะสามารถเนรมิต วิมานทิพย์เหมือนกับเทพวิมาน แต่คิดว่า “เมื่อเราสร้างวิมานอย่างนี้ จักไม่มีผลมากแก่เรา เราจะขวนขวายด้วยกายตนเองเพื่อพระทศพล” จึงทำอัตภาพให้ใหญ่ยิ่งล้อมพระพุทธเจ้าไว้ด้วย ขนด ๗ ชั้น แผ่พังพานไว้ข้างบน พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ บัลบังก์ก็มีค่ายิ่ง
เมื่อฝนหยุดแล้ว พญานาคราชจึงคลายขนดจำแลงเป็นมาณพยืน ประคองอัญชลีถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าทางเบื้องพระพักตร์ ลำดับนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงเปล่งอุทานปรารภความสุข ๔ ประการ
สระมุจจลินท์อยู่ห่างจากเจดีย์พุทธคยาไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ ๒ กิโลเมตร ห่างจากแม่น้ำเนรัญชราประมาณครึ่งกิโลเมตร มี สระน้ำอยู่ใกล้หมู่บ้านชื่อมุจจลินท์ ในปัจจุบันทางการได้จำลองสระมุจจลินท์ไว้ที่บริเวณเจดีย์พุทธคยา มีพระพุทธรูปปางนาคปรกอยู่กลางสระติดกับ กำแพงด้านวัดป่าพุทธคยา
สัปดาห์ที่ ๗ ที่ต้นราชายตนะ ในสัปดาห์สุดท้ายแห่งการเสวยวิมุตติสุขพระพุทธองค์เสด็จเข้าไป ประทับนั่ง ณ ราชายตนะ (ต้นเกด) ทรงยับยั้งอยู่ด้วยสุขในฌานและสุขในผล
สมัยนั้นพ่อค้า ๒ คน ชื่อ ตปุสสะ และ ภัลลิกะ ได้เข้าไปถวาย สัตตุผงและสัตตุก้อน พระพุทธองค์ทรงอธิษฐานบาตรทั้ง ๔ ที่ท้าวมหาราชทั้ง ๔ นำมาถวายให้เป็นบาตรเดียว แล้วรับสัตตุผงและสัตตุก้อนมาเสวย ครั้งนั้นพ่อค้าทั้ง ๒ ก็เปล่งวาจาขอถึงพระพุทธเจ้าและพระธรรม เป็นสรณะ
๕. แม้น้ำเนรัญชรา
แม่น้ำเนรัญชรา (ยาวประมาณ ๑๕๐ ไมล์) หรือที่ชาวบ้านแถวนั้นเรียกว่า “ลิลาจัน” ซึ่งเป็นคำเพี้ยนมาจากคำในสันสฤตคือ “ไนยุรัญจนะ” แปลว่า แม่น้ำที่มีสีใสบริสุทธิ์สะอาด แม่น้ำสายนี้ไหลมาจากเมืองฮาชารบัด ซึ่งอยู่ทางใต้ของเมืองคยา ไหลคดเคี้ยวมาบรรจบกับแม่น้ำโมหนี ห่างจากที่ตรัสรู้ประมาณ ๒ ไมล์ครึ่ง ที่บรรจบของแม่น้ำสองปัจจุบันเรียกว่า “แม่น้ำฟันกุ” แล้วไหลผ่านตัวเมืองคยา เป็นแม่น้ำที่พระโพธิสัตว์ได้ทรงลอยถาดทอง (ที่นางสุชาดาได้มาถวายข้าวมธุปายาส ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี) แล้วทรงอธิษฐานว่า “ถ้าแม้จะได้ ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วไซร์ ก็ขอให้ถาดทองนี้ จงลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไป” ทันใดนั้น ถาดทองคำก็ลอยทวนกระแสน้ำไปได้ประมาณ ๘๐ ศอก และไปหยุดจมลงในเส้นดิ่ง ให้พระองค์ทรงเชื่อมั่นว่า ต้องได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน
จากนั้นพระองค์จึงได้เสด็จมายังฝั่งตรงข้ามซึ่งอยู่ตรงทางทิศตะวันตกอันเป็นตำบลพุทธคยา เสด็จมายังต้นพระศรีมหาโพธิ์
แม่น้ำเนรัญชราในปัจจุบันช่วงฤดูร้อน น้ำจะแห้งไปหมด เหลืออยู่แต่ทรายเท่านั้น แต่ในฤดูฝนก็จะมีน้ำไหลมากท่วมล้นตลิ่งทุกปี บางปีเกือบท่วมสะพานที่ญี่ปุ่นสร้างให้ความกว้างของแม่น้ำประมาณครึ่งกิโลเมตร แม่น้ำเนรัญชรากว้างแต่ไม่ลึกนัก เพราะทรายที่พัดมาจากบริเวณที่ราบสูง ทับถมกันนาน ๆ เข้า ทำให้แม่น้ำนี้ตื้นเขินมากขึ้น จนในที่สุดก็เกือบจะไม่เป็นร่อง หรือทางให้น้ำได้ไหล เมื่อสังเกตดูจะเห็นว่า ท้องน้ำกับฝั่งมีพื้น ราบเกือบจะเสมอกัน
๖. บ้านนางสุชาดา
ข้ามสะพานแม่น้ำเนรัญชรา ไปฝั่งตรงข้ามของพระเจดีย์ จากฝั่งแม่น้ำไปประมาณ ๒๐๐ เมตร จะมองเห็นเนินดินสูงกว้างใหญ่ ซึ่งมีอิฐที่เรียงทับถมพื้นที่ดินอยู่ ตามหลักฐานยืนยันว่า ณ บริเวณนี้ คือบ้านนางสุชาดา ซึ่งเป็นบุคคลที่ร่ำรวยคนหนึ่งในตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เป็นธิดาของนายบ้าน สังเกตได้จากที่นางถวายถาดทองแก่พระโพธิสัตว์โดย มิได้เสียดาย หรือจากข้อความในที่หลาย ๆ แห่งนั้น บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า นางเป็นธิดาของบุคคลที่ร่ำรวยคนหนึ่ง มีบ้านใหญ่โต
นางสุชาดาเป็นผู้ถวายข้าวมธุปายาสแด่พระโพธิสัตว์ที่ใต้ต้นไทร เพื่อแก้บนที่ตนเองได้ แต่งงานกับชายที่มีชาติเสมอกัน และได้บุตรชายในครรภ์แรก และอาหารมื้อนี้เป็นอาหารมื้อสุดท้ายก่อนที่พระโพธิสัตว์จะได้ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างสถูปเพื่อเป็นเกียรติแก่นางสุชาดาด้วย แต่สถูปนั้น ได้พังทลายด้านบนยอดสถูป แต่ฐานสถูป ยังสมบูรณ์อยู่ ปัจจุบันทางการได้ล้อมรั้วรอบบริเวณ เนินดินของบ้าน และได้ขุดดินที่อยู่รอบบริเวณสถูปออก เห็นแล้วมีความสวยงาม
๗. ต้นไทรที่นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส
จากบ้านนางสุชาดา ต้องเดินผ่านหมู่บ้านที่เต็มไปด้วยสัตว์เลี้ยง พืชผักสวนครัว ปศุสัตว์ ทุ่งนาที่เต็มไปด้วยข้าวกล้าในฤดูฝน แต่ถ้าฤดูร้อน ก็จะร้อนอบอ้าว ประมาณครึ่งกิโลเมตร ก็จะถึงต้นไทรที่เชื่อกันว่าเป็น ต้นไทรที่ประทับของพระโพธิสัตว์ และนางสุชาดาได้ถวายข้าวมธุปายาส ที่แห่งนี้
๘. เสาหินพระเจ้าอโศก
เสาหินพระเจ้าอโศกอยู่บริเวณหน้าวิหารสระมุจจลินท์เป็นเสาที่เป็นสัญลักษณ์ที่โสตถิยพราหมณ์ถวายหญ้ากุสะ ๘ กำมือ เพื่อเป็นที่ปูลาดประทับนั่งตรัสรู้ ส่วนยอดได้ชำรุดแล้ว เหลือแต่ตัวเสาสูงประมาณ ๔ เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒ ฟุต
๙. อาศรม “อุรุเวลกัสสปะ”
อาศรมอุรุเวลกัสสปะ (พี่คนโต) เป็นที่บำเพ็ญเพียรของพวกชฎิล ๕๐๐ คน มีอุรุเวลกัสสปะเป็นหัวหน้า ถือลัทธิบูชาไฟ ต่อมาถูกพระพุทธเจ้าทรงทรมานจนยอมและได้ฟังธรรมจนเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงได้ขอบวชในปัจจุบันอาศรมนั้นมีทรายมาก และมีต้นตาลขึ้นเต็ม มีสิ่งก่อสร้างของชาว ฮินดู เป็นบ่อน้ำสำหรับทำพิธีกรรม และยังเป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนา ของชาวฮินดูด้วย
๑๐. อาศรม “นทีกัสสปะ”
อาศรมของนทีกัสสปะ เป็นอาศรมที่ตั้งอยู่ตรงที่แม่น้ำเนรัญชรากับ แม่น้ำโมหณีบรรจบกัน มีนทีกัสสปะเป็นหัวหน้า ปกครองชฎิล ๓๐๐ คน
๑๑. อาศรม “คยากัสสปะ”
อาศรมของคยากัสสปะ ตั้งอยู่ตรงกับบริเวณศาสนสถานของชาว ฮินดูในปัจจุบัน คือ วิษณุบาท มีคยากัสสปะเป็นหัวหน้า ปกครองชฎิล ๒๐๐ คน
๑๒. ภูเขาดงสิริ หรือถ้ำดงคศิริ
เป็นถ้ำที่อยู่ในภูเขาดงคสิริ มีขนาดเล็กพอบรรจุคนได้ ๕ คน เป็นสถานที่พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญเพียรของพระโพธิสัตว์ เพื่อทรงทำทุกรกิริยา ทรมานพระวรกายอยู่นานถึง ๖ ปี ซึงมีพระปัญจวัคคีย์คอยปรนนิบัติ ในปัจจุบันมีวัดธิเบตสร้างอยู่หน้าปากถ้ำ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระเจดีย์ อยู่ห่างกันประมาณ ๗ กิโลเมตร
๑๓. วัดไทยพุทธคยา
วัดไทยพุทธคยา ตั้งอยู่บริเวณมณฑลพุทธคยา อำเภอคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ห่างจาก สถานที่ตรัสรู้ประมาณ ๕๐๐ เมตร บนเนื้อที่ ๑๒ ไร่ ซึ่งรัฐบาลอินเดีย จัดสรรให้เช่า ในระยะ เวลา ๙๙ ปี ต่อสัญญา ได้คราวละ ๕๐ ปี นับได้ว่าเป็นวัดไทยแห่งแรกในต่างประเทศ ที่อยู่ในความอุปถัมภ์ของรัฐบาล ไทย ภายใต้พระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ ปัจจุบัน (รัชกาลที่ ๙)
วัดไทยพุทธคยาเป็นไทยแห่งแรกในต่างประเทศ ภายใต้การอุปถัมภ์ของรัฐบาลไทย ได้สร้างขึ้นในดินแดนพุทธภูมิ ถือว่าเป็นต้นกำเนิดพระพุทธศาสนา ในโอกาสที่เป็นมงคลสมัยแห่งปีฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรต พุทธศักราช ๒๕๐๐ ซึ่งได้ดำเนินการก่อสร้างตามคำเชิญของรัฐบาลอินเดียสมัยนั้น คือ ฯพณฯ ศรี เยาวหราล เนห์รูห์ นายกรัฐมนตรี เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาศิลปวัฒนธรรมและประเพณีไทยในแดนพุทธภูมิคือ การก่อสร้างเริ่มเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เสร็จตามโครงการขั้นแรกเมื่อ ปลายปี พ.ศ. ๒๕๐๓ การก่อสร้างเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมศิลปไทย พระอุโบสถจำลองแบบมาจากวัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ และมีภาพวาดศิลปกรรมภาพพระมหาชนก ซึ่งได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นวัดแรกในต่างแดน โดยช่างจากกรมศิลปากร
ปัจจุบันมีพระธรรมทูตประจำ ๕ รูป มีพระเดชพระคุณพระเทพโพธิวิเทศ (ทองยอด ภูริปาโล ป.ธ.๙, Ph.D.) เป็นเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา และเป็นหัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย โดยมีพระครูปลัด ดร.ฉลอง จนฺทสิริ (ป.ธ.๔, Ph.D.) เป็นเลขานุการพระธรรมทูต และมีพระราชรัตนรังสี (วีรยุทธ์ วีรยุทฺโธ Ph.D.) พระสมุทร ถาวรธมฺโม Ph.D. และพระมหาพิรุฬห์ พทฺธสีโล ปธ. ๕, M.A.
การทอดกฐินประจำปี เป็นกฐินพระราชทาน เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
๑๙. พระพุทธรูปใหญ่ วัดญี่ปุ่น
พระพุทธรูปองค์นี้ สร้างจำลองจากพระพุทธรูป ใหญ่ในประเทศ ญี่ปุ่น เป็น พระพุทธรูป แกะสลักสูง ประมาณ ๘๐ ฟุต ด้วยหิน ทรายแดง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ มีรูปของพระมหาสาวกอยู่ รอบ ๆ ปัจจุบันจัดเป็น สัญลักษณ์อย่างหนึ่งของพุทธคยา คนทั่วไปเรียกว่า หลวงพ่อใดบุตสุ
๒๐. วัดชาวพุทธนานาชาติ
วัดต่าง ๆ ที่อยู่ในบริเวณพุทธมณฑล สร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาของชาวพุทธ ตามแบบ ศิลปะของแต่ละ ประเทศ และตามคำเชิญชวน ของประเทศอินเดีย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ จนถึงปัจจุบันมี วัดทั้งหมด ๒๒ วัด ดังนี้ คือ :-
วัดไทยพุทธคยา วัดป่าพุทธคยา (ไทย) วัดเนรัญชราวาส (ไทย) วัดไทยมคธพุทธวิปัสสนา(ไทย) วัดมหารัชมังคลาจารย์ (ไทย) วัดสิขิม (มหายาน) วัดภูฐาน (มหายาน) วัดญี่ปุ่น ๒ วัด (มหายาน) วัดธิเบต ๓ วัด (มหายาน) วัดพุทธอินเดีย (ชาวพุทธใหม่) วัดพุทธอินเดียบารัว (International Buddhist Centre) วัดจักม่า (ชาวพุทธ เก่าอินเดีย) วัด บังคลาเทศ วัดจีน (มหายาน) วัดไต้หวัน (มหายาน) วัดศรีลังกา วัดพม่า วัดไทโพธิคำ วัดเวียดนาม (มหายาน) วัดเกาหลี (ใต้) (มหายาน)
ต้นพระศีมหาโพธินี้เป็นต้นที่สี่ในปัจจุบันที่ปลุกโดยท่านเซอร์คันนิ่งแฮม ชาวอังกฤต ผู้บูรณะปฏิสังขร
พุทธศาสนาต้องขอบคุณ
- พระเจ้าอโศกมหาราชที่เปลี่ยนจากการใช้ดาบ มาเป็นใช้พุทธศาสนาในการขยายดินแดน พระเจ้าอโศกมหาราชโดยการชักนำของพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ พระอรหันต์ ที่ได้โปรดจนพระเจ้าอโศกมานับถือพุทธศาสนา และได้ไปยังที่ประสูต ตรัสรู้ ปฐมเทศนาปรินิพพาน และทุกที่ได้ไปกับพระเถระ ไปปักเสาอโศกที่ทำด้วยหินทราย บูรณะพุทธสถานทั้งหมด
- พระสังกำจั๋ง พระภิกษุ จีนที่ไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทา และได้บันทึกเรื่องราวพุทธศาสนาตามที่พระเจ้าอโศหมหาราชได้ไปบูรณะและปักเสาอโศกไว้ ทำบันทึกไว้ทั้งหมดที่ประเทศจีน
- เซอร์คันนิ่งแฮมที่ไปพบบันทึกของพระสังกำจั๋ง แล้วได้ไปสำรวจพุทธสถานทั้งหมด พบว่าเป็นจริงตามที่พระสังกำจั๋งได้บันทึกไว้ ได้ทำการปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่
- ท่านธัมมปาละ ที่พยายามทุกวิธีที่จะเอาพุทธคยา กลับคืนมาจากพวกมหันต์เจ้าของพื้นที่
วันแรกคณะเพียงไปนมัสการพระเมตตา พ้นพระศรีมหาโพธิ์ สวดมนต์ วิปัสสนา เวียนเทียน เท่านั้น เพราะเหนื่อยจากการเดินทางไกลทั้งคืน คณะมารับประทานอาหารเย็น พักผ่อน ยกเว้นพี่สิงห์อดอาหารเย็นแต่นั่งเจริญสติอยู่บนห้องพักโดยหันหน้าไปที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ครับ
รูปถ่ายน้อยเพราะ ตั้งใจปฏิบัติธรรม ส่วนรูปทั่วไปไม่ได้ถ่ายครับ เพราะไม่ควรกระทำ แออัดไปด้วยผู้คน ขอทาน ขายของ เต็มไปหมด เราต้องมีขันติ เขามีหน้าที่ขอทาน ขายของ เรามีหน้าที่ขันติ อดทน ไม่ซื้อ ไม่ให้ แล้วแต่ใครจะมีขันติแรงกว่ากัน
สวัสดี