ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์ 6 มิถุนายน 2552
ขณะนี้ การใช้งานอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยได้เติบโตขึ้นจากหลายปีก่อน จากเดิมเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว เคยพูดถึงบรอดแบนด์ 1 ล้านพอร์ต แต่ปัจจุบันเมื่อจำนวนการใช้งานเพิ่มสูงขึ้น สิ่งที่เป็นเป้าหมายต่อไปคือ การทำให้พื้นที่บริการครอบคลุมไปยังทุกส่วนของประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สาย หรือไวแมกซ์ ที่ล่าสุดได้ทดลองให้บริการนำร่องในพื้นที่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และพื้นที่ใกล้เคียงในจังหวัดเชียงราย โดยบริษัททีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีไวแมกซ์ใช้งาน แต่ส่วนหนึ่งยังไม่ทราบว่าไวแมกซ์นำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ประเทศไทยพร้อมให้บริการหรือไม่ แล้วเมื่อผู้ให้บริการได้รับอนุญาตจาก กทช.ให้ดำเนินการให้บริการเชิงพาณิชย์ จะพร้อมเปิดให้บริการได้เมื่อใด
ผู้ที่ตอบคำถามนี้ได้ คงหนีไม่พ้น ดร.มนตรี เจริญศรี ผู้อำนวยการโครงการไวแมกซ์ บริษัททีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) ผู้รับผิดชอบโครงการ และเป็นแกนหลักคนหนึ่งของไทยในไวแมกซ์ฟอรัม ส่วนมุมมองต่อภาพรวมโครงสร้างอินเทอร์เน็ตเมืองไทย และการนำไวแมกซ์ไปใช้งานจะเป็นอย่างไร เชิญติดตามได้ ณ บัดนี้...
IT Digest: มุมมองภาพรวมของโครงสร้างเครือข่ายบรอดแบนด์เมืองไทย
ดร.มนตรี: ขณะนี้ ตลาดอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีศักยภาพ (Potential Market) เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมีอัตราส่วนประชากรต่อจํานวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในปี 2551 อยู่ที่ 20.5% และจํานวนผู้ใช้บริการมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2551 มีจํานวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งสิ้น 13,416,000 ราย เพิ่มสูงขึ้นถึง 483.3% เทียบกับปี 2543 สําหรับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ บรอดแบนด์ มีแนวโน้มขยายตัวแบบก้าวกระโดด ด้วยอัตราส่วนประชากรต่อจํานวนผู้ลงทะเบียนใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในปี 2551 อยู่ที่ 1.6% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 17.3% ในปี 2556 ในขณะที่ตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วต่ำ มีจํานวนผู้ใช้งานลดลงอย่างชัดเจนนับจากปี 2548 เป็นต้นมา
เนื่องจากผู้ให้บริการโทรศัพท์ประจําที่ หรือ ฟิกซ์ไลน์ เช่น ทีทีแอนด์ทีเห็นว่า โทรศัพท์ประจำที่มีศักยภาพตลาดที่ลดลง จึงหันมาให้ความสนใจ และเตรียมที่จะส่งเสริมกิจกรรมการตลาดในบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมากขึ้น และต้องการขยายไปสู่การให้บริการ IP-based transit แก่ผู้ให้บริการรายย่อย รวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้บริการไวแมกซ์ (WiMAX) ในอนาคต เพื่อกระตุ้นความต้องการใช้บริการอินเทอร์เน็ต ความเร็วสูง และขยายจํานวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตให้เพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มดังกล่าว ชัดเจนในเขตพื้นที่เมืองใหญ่ หรือ พื้นที่เชิงพาณิชย์มากกว่าในระดับภูมิภาคที่ การใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ยังคงขยายตัวเข้าแทนที่อินเทอร์เน็ตความเร็วต่ำได้ช้ากว่า เนื่องจากข้อจํากัดด้านโครงข่ายและเทคโนโลยี
IT Digest: ปัญหาและอุปสรรคในการขยายโครงข่าย และการให้บริการรอดแบนด์
ดร.มนตรี: สำหรับในประเทศไทย รูปแบบการให้บริการบรอดแบนด์ ยังเป็นการให้บริการที่เน้นในเขตชุมชนอยู่ เนื่องจากพิจารณาในเชิงความคุ้มค่าต่อการลงทุน (Return on Investment) และปัญหาหลักๆ คือ สายเคเบิลทองแดงของไทยนั้น มีประสิทธิภาพที่ไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด โดยจุดนี้แก้ปัญหาได้โดยการเปลี่ยนจากสายทองแดง เป็นเคเบิลไยแก้วนำแสง หรือ ไฟเบอร์ออปติคแทน แต่ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นในขณะนี้ WIMAX เป็นคำตอบของทางเลือกที่ดีที่สุด สำหรับการขยายการบริการ และโครงข่ายที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
IT Digest: ไวแมกซ์ เหมาะสมกับเมืองไทยมากน้อยแค่ไหนและอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทยได้ใช้ไวแมกซ์ช้ากว่าเพื่อนบ้าน
ดร.มนตรี: จากเหตุผลที่เล่าไปแล้ว ด้วยข้อจำกัดของการใช้งานระบบ ADSL ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจำกัดชุมสาย ระยะทางระหว่างผู้ใช้กับชุมสาย รวมถึงจำนวนของโอเปอเรเตอร์ที่ให้บริการได้ ทำให้กลุ่มผู้ใช้ตามที่อยู่อาศัยถูกจำกัด ไม่สามารถให้บริการได้เพียงพอกับความต้องการ รวมถึงการพยายามทำให้สัญญาณอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์เข้าถึงพื้นที่ในชนบท
ดังนั้น การนำ WiMAX มาใช้จะตอบโจทย์ดังกล่าว และเกิดบริการต่างๆ ที่เรียกกันว่า ทริปเปิ้ลเพลย์ คือ บริการเสียง บริการภาพ และบริการเนื้อหา ในเครือข่ายเดียวได้มากขึ้นด้วย เช่น การพูดคุยผ่านทางอินเทอร์เน็ต (VoIP) เป็นต้น ซึ่งก้าวต่อไปของการพัฒนาคือการทำให้เป็น Home Gateway ขณะนี้ ในกลุ่มยุโรป และสหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศที่เจริญแล้วในเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือไต้หวัน ได้มีการเปิดให้บริการแล้ว สำหรับไวแมกซ์แล้วจำเป็นต้องได้รับไลเซนต์ หรือ ใบอนุญาตการให้บริการ หากยังไม่มีไลเซนต์ ก็ยังไม่สามารถให้บริการไวแมกซ์ได้ นั่นคือสาเหตุที่คนไทยได้ใช้งานไวแมกซ์ช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน
IT Digest: จากการลองใช้งานจริงที่ ม.แม่ฟ้าหลวง ตอบสนองความต้องการได้อย่างไรบ้าง
ดร.มนตรี: โครงการที่ ม.แม่ฟ้าหลวงมีชี่อว่า “โครงการต้นแบบศูนย์ทางไกลเพื่อการศึกษาและพัฒนาชนบท เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550” เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และ กทช. โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อให้เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา อีกทั้งยังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง สู่โรงเรียนมัธยมศึกษาในพื้นที่ชนบท ส่งเสริมและพัฒนาเครือข่ายครู ในการพัฒนาการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี และ เพื่อพัฒนารูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัย โรงเรียน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน เพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาอาชีพของชุมชนในชนบท
จากโครงการฯ นี้เยาวชนไทยในชนบทจะได้รับการยกระดับคุณภาพทางการศึกษา โดยสาระสำคัญคือการสร้างเครือข่ายทางการศึกษา โดยโครงการต้นแบบนี้ เริ่มจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยเทคโนโลยีหลักที่ใช้ คือ ไวแมกซ์ ที่เป็นเทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารบรอดแบนด์ไร้สายความเร็วสูงที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบันนี้ ซึ่งจะช่วยให้เด็กนักเรียนจำนวนหลายหมื่นคน บริเวณพื้นที่รัศมีโดยรอบมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จำนวนทั้งสิ้น 21 โรงเรียนจะเป็นเยาวชนกลุ่มแรกที่ได้ใช้งานไวแมกซ์
การนำไวแมกซ์ มาใช้ในด้านการศึกษา จะช่วยเติมเต็ม และต่อยอดด้านการศึกษาให้กับเยาวชนไทย ช่วยลดช่องว่างด้านการเรียนรู้ เนื่องด้วย ไวแม็กซ์ เป็นเทคโนโลยีการสื่อสารบรอดแบนด์ไร้สายความเร็วสูงที่มีรัศมีการรับส่งสัญญาณกว้างไกล สามารถครอบคลุมพื้นที่ให้บริการได้หลายตารางกิโลเมตร และยังมีความเร็วสื่อสารข้อมูลสูงกว่าเทคโนโลยีไร้สายในปัจจุบันหลายเท่า ทั้งนี้ ไวแมกซ์ สามารถรองรับการให้้บริการระบบงานต่างๆ ได้เป็นอย่างดี อาทิ การสื่อสารข้อมูลอินเทอร์เน็ต (Internet) ข้อมูลภาพ (Video) และข้อมูลเสียง (VoIP) อีกทั้ง ไวแม็กซ์ ยังสามารถติดตั้งได้อย่างรวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการบริการแบบมีสายเช่นในอดีต
ไวแม็กซ์ในโครงการฯ นี้ใช้เพื่อการสื่อสารและประยุกต์ ใช้ร่วมกับการเรียนการสอนแบบออนไลน์ อาทิเช่น การใช้งานระบบห้องสมุดดิจิตอล (E-Libraries) ระบบห้องเรียนเสมือนจริง (Virtual Classroom) ซึ่งเป็นการจำลองห้องเรียน บทเรียน องค์ความรู้ตลอดจนรูปแบบการเรียนการสอนในปัจจุบันมาเรียนกันผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์และเครือข่ายสื่อสารไร้สายไวแม็กซ์ ซึ่งจะส่งผลให้ลดข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ก่อให้เกิดการเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere-Anytime) ในลักษณะปฏิสัมพันธ์จริงระหว่างคุณครู และนักเรียนด้วยสื่อผสม (Multimedia-Edutainment) ทั้งภาพ เสียงและเนื้อหา ก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนไปในคราวเดียวกัน เป็นการส่งเสริมและพัฒนาเครือข่ายครู อาจารย์และนักเรียนในการพัฒนาการเรียนการสอน การพัฒนาองค์ความรู้และศักยภาพของครู อาจารย์และนักเรียน เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษา ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ จังหวัดเชียงราย
โครงการนี้ อาศัยรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โรงเรียน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน ร่วมมือกันพัฒนาการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนในชุมชนทั้ง 21 โรงเรียน ด้วยการสนับสนุนจาก กทช.ทั้งนี้นอกเหนือจากจะเป็นการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาที่ เด็กจะไม่เป็นเพียงผู้เรียนแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถที่จะนำความรู้ที่ได้เรียนรู้จากคุณครู (Supply-Side Learning) มาทำการแลกเปลี่ยนแบ่งปันกับคุณครูผู้สอน และระหว่างเพื่อนนักเรียนด้วยกัน แบบไม่จำกัดแต่เพียงในห้องเรียนเท่านั้น แต่ยังแลกเปลี่ยนแบ่งปันระหว่างเพื่อนต่างห้องเรียน และแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันระหว่างโรงเรียน (Collaboration) ได้อีกด้วย
สิ่งที่กล่าวมาก่อให้เกิดการเรียนรู้ และสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ระหว่างเด็กนักเรียนด้วยกันเอง (Demand-Side Learning) นำไปสู่กระบวนการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital Development) ในที่สุด ในอนาคตยังขยายรูปแบบและหลักการ ปฏิบัติในลักษณะของสังคมแห่งการเรียนรู้และการแบ่งปัน เช่นนี้ เพื่อการสร้างความรู้ การสร้างงาน การพัฒนาอาชีพของชุมชน โดยหลักการที่กล่าวมาแล้วข้างต้นทั้งหมดนี้ ได้อิงตามแนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนม์มายุครบ 80 พรรษา
IT Digest: ทิศทางของทีทีแอนด์ที กับการใช้บรอดแบนด์ ผ่านไวแมกซ์
ดร.มนตรี: หาก กทช. ได้รับอนุญาตให้สามารถใช้เทคโนโลยี WiMAX ในเชิงพาณิชย์ได้แล้ว ทีทีแอนด์ที จะดำเนินการต่อยอดโครงข่าย WiMAX ให้ครอบคลุมพื้นที่อย่างครบถ้วนพัฒนาเป็นโซลูชั่นด้านการศึกษา คือ สมมุติว่า กทช.ออกใบอนุญาตภายใน ก.ค.2552 ทีทีแอนด์ทีจะให้บริการไวแมกซ์ได้ภายใน 6 เดือน หรือปลายปี 2552 หลังจากปรับปรุงโครงข่ายเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้แล้ว ยังจะสร้างโซลูชั่นเพื่อนำไปต่อยอดทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการตั้งแต่รายเล็กจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ได้ โดยจะนำประโยชน์จาก WiMAX มาพัฒนาเป็นโซลูชั่น ที่จะยังประโยชน์ให้แก่ลูกค้าในเชิงธุรกิจอีกด้วยโดยยึดหลัก 3 ประการสำหรับลูกค้าคือ 1.ลดค่าใช้จ่าย 2.สะดวกสบาย และ3.เพิ่มรายได้ เช่น ห้างสรรพสินค้า เมื่อลูกค้าของห้างเดินเข้ามาในห้างสรรพสินค้าจะมี Pop-up โฆษณาสินค้า ประชาสัมพันธ์โปรโมชั่นของทางห้าง ตลอดจนสามารถเลือกซื้อสินค้าผ่านแคตตาล็อคออนไลน์ ที่ปรากฏบนหน้าจออุปกรณ์เคลื่อนที่ อาทิ เน็ตบุ๊คหรือ โทรศัพท์มือถือที่รองรรับไวแม็กซ์ ได้ทันที
นอกจากนี้ สามารถนำประโยชน์จากไวแมกซ์ มาช่วยการในการติดต่อสื่อสารขององค์กรที่มีสำนักงานสาขาจำนวนมากได้ด้วย โดยใช้การสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต หรือ VoIP ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนค่าโทรศัพท์ขององค์กร รวมถึงการพัฒนาโซลูชั่นด้านความปลอดภัยเช่นระบบกล้องวงจรปิดไร้สาย ซึ่งจะทำให้ระบบการรักษาความปลอดภัยมีประหยัดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะ เป็นต้น
IT Digest: กลยุทธ์ของทีทีแอนด์ที ต่อการผลักดันสังคมไทยสู่องค์ความรู้เป็นอย่างไร
ดร.มนตรี: การผลักดันสังคมไทยสู่สังคมแห่งความรู้ หรือ Knowledgebase Society นั้นจำเป็นต้องร่วมมือกันจากหลายภาคส่วน สำหรับทีทีแอนด์ที มองแนวคิดในเชิงของสังคมแห่งการเรียนรู้และการแบ่งปัน โดยพื้นฐานนั้นสอดคล้องกับแนวคิดและการดำเนินการในโครงการต้นแบบฯ ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และกทช. โดยการเริ่มจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT การพัฒนาทรัพยากรบุคคล การพัฒนาสื่อและองค์ความรู้ การสนับสนุนจากเครือข่ายทางสังคม ผลผลิต (Productivities) และคุณภาพการศึกษาและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชุมชนตลอดจนความยั่งยืนของโครงการฯ
IT Digest: หาก กทช.ไม่ออกใบอนุญาตไวแมกซ์ในปีนี้ ยังมีเทคโนโลยีทางเลือกอื่นๆ เพื่อให้บริการลูกค้าอีกหรือไม่
ดร.มนตรี: ขณะนื้ ระหว่างรอใบอนุญาตไวแมกซ์ ทีทีแอนด์ทีได้จับมือกับพันธมิตรคือ อินเทลและเบนคิว จัดทำโครงการ “MAX IQ โน๊ตบุ๊คอัจฉริยะ” “Max IQ โน๊ตบุ๊กอัจฉริยะ – ใช้เน็ตไม่อั้น” ผ่านบริการ Maxnet บรอดแบนด์และไวไฟ “Max IQ โน๊ตบุ๊กอัจฉริยะ – โทรหากันฟรี” บนบริการ VoIP และ “MAX IQ โน๊ตบุ๊คอัจฉริยะ – ความรู้ดีๆจาก E-Book Online” เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพใน การสอบเข้ามหาวิทยาลัย การเรียน และความรู้ทั่วไป ที่น่าสนใจอีกมากมาย เพื่อการสร้างสรรค์สังคมแห่งความรู้
จากประสบการณ์ที่เราได้ร่วมทำโครงการศูนย์ต้นแบบทางไกลเพื่อการศึกษาและพัฒนาชนบทเฉลิมพระเกียรติ โดยมีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและกทช. เป็นผู้ริเริ่ม นั้น เราพบว่าการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตในโครงการฯ เพื่อการเข้าถึง หนังสือหรือบทเรียนออนไลน์ เยาวชนจะได้รับการยกระดับคุณภาพทางการศึกษา โดยสาระสำคัญ คือ การสร้างเครือข่ายทางการศึกษา การแลกเปลี่ยนและแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน
สิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้ลดข้อจำกัดด้านเวลา และสถานที่ก่อให้เกิดการเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere-Anytime) ในลักษณะปฏิสัมพันธ์จริงระหว่างครู และนักเรียนด้วยสื่อผสม (Multimedia-Edutainment) ทั้งภาพ เสียงและเนื้อหา ก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนไปในคราวเดียวกัน ถือเป็นการเตรียมบริการและคอนเทนท์ต่างๆ ให้พร้อมรอรับการให้บริการ เพื่อที่เมื่อมีการให้บริการจริง จะได้ไม่ต้องเริ่มต้นนับ 1 ใหม่
IT Digest: มองการทำงานของกระทรวงไอซีที และกทช.ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และอยากให้เร่งดำเนินการด้านใดบ้าง
ดร.มนตรี: อยากให้กำลังใจคนทำงานทุกคนทั้งภาครัฐบาล เอกชน หรือ กทช. เวลานี้สังคมไทยของเรา ต้องให้กำลังใจกัน เหมือนกับเราเชียร์นักกีฬาไทย ที่ต้องออกไปแข่งขันกับต่างประเทศ เพื่อนำชัยชนะมาสู่ประเทศของเรา เมื่อ 28-29 เม.ย.2552 ที่ผ่านมา ส่วนตัวได้รับเกียรติเชิญ เข้าร่วมการบรรยายในงาน WiMAX Forum Congress ASIA ณ ประเทศสิงคโปร์ ร่วมกับอีกหลายประเทศทั่วโลก สิ่งที่พบคือความตื่นตัวในการประยุกต์ใช้ ICT เพื่อการพัฒนาประเทศของหลายๆประเทศ อย่างเป็นรูปธรรม ในส่วนของไวแมกซ์หากมองไปรอบๆบ้านเราพบว่า (ข้อมูลจาก WCIS: World Cellular Information Services) มาเลเซีย เริ่มให้บริการเมื่อ มิ.ย.2548 กัมพูชา เริ่มให้บริการเมื่อ ก.พ.2549 พม่า เริ่มให้บริการเมื่อ พ.ย.2550 และ ลาว เริ่มให้บริการเมื่อ ก.ย.2551
ในเมื่อประเทศไทยต้องแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในเวทีโลก จึงต้องพยายามรู้เขารู้เรา พิจารณาดูว่าเพื่อนบ้านเขาไปถึงไหน แล้วเราอยู่ในอันดับที่เท่าไหร่ ทั้งภาครัฐและเอกชน อะไรที่ช่วยเหลือเสริมกันได้ควรจะลงมือทำ โดยทุกประเทศที่อยู่ในไวแมกซ์ฟอรัม ต่างมีนโยบายการใช้ไอซีทีพัฒนาประเทศเป็นวาระแห่งชาติ เมืองไทยอาจจะนำเอาตัวอย่างเหล่านี้ มาปรับใช้ ตรงไหนทำได้ หรือไม่ได้ต้องมาช่วยกัน ดังนั้นที่กล่าวมานี้จึงมองว่าเป็นเวลาที่คนไทยต้องให้กำลังใจกัน และช่วยกันมากกว่า
IT Digest: อยากฝากอะไรถึงผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์บ้าง
ดร.มนตรี: ผมมีแนวคิดว่าอยากจะมอบ ซอฟแวร์ห้องเรียนเสมือนจริง และการสนับสนุนที่เกี่ยวข้องให้กับ โรงเรียนต่างๆ ที่ต้องการ นำไปใช้ในการเรียนการสอน เพราะเชื่อว่าสิ่งที่ทำขึ้นมานี้ จะมีประโยชน์มากพอสมควร อีกทั้งยังเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษา สร้างการเรียนการสอนแนวใหม่ ไม่น่าเบื่อเด็กๆ ไม่ต้องมาอ่านตำราเพียงอย่างเดียว แต่สามารถใช้คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ตร่วมด้วยได้ ขณะเดียวกันเมื่อกลับมาที่การใช้อินเทอร์เน็ต ต้องใช้ให้คุ้มค่ากับประโยชน์ที่มีอยู่ เวลานี้การนำไวแมกซ์มาใช้งานยังไม่ช้าเกินไป เพราะเทคโนโลยีนี้ยังใหม่อยู่ได้อีกหลายปี
ขณะที่ การแข่งขันที่มากขึ้นของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจากนี้ไป ก็เป็นโอกาสของผู้บริโภค ที่จะเลือกสินค้าที่คุ้มค่า และบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น ไม่เป็นการผูกขาด อย่างไรก็ตามอยากให้ทุกคนในสังคมอยู่ในโลกความเป็นจริง เปิดใจมองว่าสังคมกำลังก้าวไปทางไหน แล้วเราเดินไปร่วมกัน เพราะหากคนในประเทศทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน ก็จะเกิดแนวทางการพัฒนาประเทศที่ชัดเจน และการที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ จะไม่ใช่เรื่องยากที่จะไปให้ถึง...