โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ : บุญวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 เวลา 19:11:51 น
บุญวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา
โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์
เพิ่งผ่านเทศกาลวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาที่พวกทำงานราชการและรัฐวิสาหกิจได้หยุดงานกัน 4 วันเปรมปรีดิ์ ก็เลยพากันไปเที่ยวและทำบุญกันยกใหญ่โดยเฉพาะพวกที่ชอบทำบุญ (ทำทาน) ก็พากันเข้าวัดทำบุญ (ทำทาน) มีบางคนก็แวะมาแบ่งบุญให้กับผู้เขียนด้วยโดยผู้เขียนก็อนุโมทนาบุญไปด้วย ทำให้สุขใจกันไปทั้ง 2 ฝ่าย
"บุญ" หรือ "ปุญญ" แปลว่า "ชำระ" หมายถึงการทำให้หมดจดจากมลทินเครื่องเศร้าหมอง อันได้แก่ โลภะ โทสะ และโมหะ ในทางพระพุทธศาสนาได้สอนไว้ว่า บุญกิริยาวัตถุ 10 ประการ คือสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ หรือกล่าวอย่างง่ายๆ ว่าการกระทำที่เกิดเป็นบุญแก่ผู้กระทำ ดังมีดังต่อไปนี้
1) บุญสำเร็จได้ด้วยการบริจาคทาน การให้สิ่งของ เงินทองแก่ผู้อื่นบางทีก็ไม่ได้บุญนะครับ เพราะเป็นการให้กำลังโจรไปทำชั่วมากๆ ก็เยอะไป การให้ทานนี่เป็นการชำระมลทินในใจตัวเองคือ ความตระหนี่ หวงของ เมื่อให้สิ่งของไปช่วยขัดเกลาจิตใจ และข้อควรระวังคือการให้ทานแบบค้ากำไรเกินควรนั้น เป็นความโลภ กลายเป็นบาปไป เช่นทำบุญ 50 บาท ขอให้ถูกหวย 10 ล้านบาทอย่างนี้ ไม่ได้บุญหรอกครับ
2) บุญสำเร็จได้ด้วยการรักษาศีล อยู่กับบ้านรักษาศีล 5 ศีล 8 ก็ได้บุญสำเร็จเป็นอย่างดีแล้วครับ แต่ถ้าอยากจะเที่ยวอยากจะสมาคมโดยออกไปรักษาที่วัดก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด
3) บุญสำเร็จได้ด้วยการภาวนา ปัจจุบันนี้เห็นคนทำกันเยอะคือการไปนั่งสมาธิกัน แต่ต้องระวังหน่อยเพราะบางทีนั่งสมาธินานๆ แล้วเกิดสำคัญผิดว่าตัวเองวิเศษกว่าคนอื่นก็จะไม่ได้บุญ เพราะไม่ได้ชำระล้างจิตจากมลทินเนื่องจากการคิดว่าตัวเองดีวิเศษกว่าคนอื่น นี่มันอติมานะเป็นอุปกิเลสที่ลึกมากนะครับ ชำระล้างลำบาก พวกเราคนไทยมีเยอะที่ไปนั่งสมาธิแล้วดูหมิ่นเกลียดชังคนอื่น พวกอื่นแทบจะฆ่าแกงกันให้ได้เลยทีเดียว
4) บุญสำเร็จได้ด้วยการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ คือนอบน้อมต่อผู้ที่ควรนอบน้อม เพราะว่าการกระทำการโอหังต่อผู้คนย่อมไม่ใช่การชำระมลทินแน่นอน
5) บุญสำเร็จได้ด้วยการขวนขวายในกิจการที่ชอบ อันนี้คือทำงานที่ควรต้องทำ อย่าทิ้งไว้ให้คั่งค้างก็ได้บุญแล้วครับ ดังนั้นพวกที่ทิ้งงานไปทำบุญนั่นแหละจะไม่ได้บุญ
6) บุญสำเร็จได้ด้วยการให้ส่วนบุญ (ปัตติทานมัย) คือ การอุทิศส่วนบุญกุศลที่ได้กระทำไว้ให้แก่สรรพสัตว์ทั้งปวง การบอกให้ผู้อื่นได้ร่วมอนุโมทนาด้วย พูดง่ายๆ คือไม่ขี้เหนียว ไม่ตระหนี่บุญนั่นเอง
7) บุญสำเร็จได้ด้วยการอนุโมทนา คือการมีส่วนร่วมในความดีของบุคคลอื่น ถึงแม้ว่าเราไม่มีโอกาสได้กระทำก็ขอให้ได้มีโอกาสได้แสดงการรับรู้ด้วยใจปีติยินดีในบุญกุศลนั้น ผลบุญก็จะเกิดแก่บุคคลที่ได้อนุโมทนาบุญนั้นเองด้วย ทำนองมุทิตานั่นแหละคือพลอยยินดีไปกับเขาด้วย (ดีกว่าอิจฉาริษยาแน่นอน)
บุญสำเร็จได้ด้วยการฟังธรรม คือการศึกษาธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ เมื่อรู้แล้วเข้าใจแล้วก็จะสุขใจได้บุญ แต่ต้องควรปฏิบัติด้วย
9) บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม เมื่อทราบแล้วธรรมของพระพุทธองค์แล้วก็ถ่ายทอดให้คนอื่นด้วย อย่างนี้เรียกว่าวิทยาทานซึ่งเป็นทานที่สูงกว่าอามิสทานที่ให้แต่สิ่งของเงินทองมาก
10) บุญสำเร็จได้ด้วยการทำความเห็นให้ตรง แปลอีกอย่างหนึ่งคือสัมมาทิฐินั่นแหละ คือมีความเห็นเชื่อเรื่องบุญ-บาป และผลของบุญ-บาป เชื่อหลักไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นเอง ถ้าความเห็นตรงแล้วเรื่องที่จะข่มขืนเด็กแล้วฆ่าบนรถไฟตู้นอนก็ย่อมจะไม่มี เพราะคนที่จะทำย่อมเกรงกลัวต่อบาป
สังเกตได้เห็นชัดทั่วไปในปัจจุบันที่วัดในทางพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมากหันมาทำธุรกิจขายบุญกันเป็นล่ำเป็นสัน ทำกันเป็นขบวนการสร้างสรรค์ประดิษฐ์สารพัดความเชื่อขึ้นมาเพื่อโน้มน้าวให้คนจ่ายเงินบริจาค ไม่ต่างกับคนทั่วไปที่ทำธุรกิจบันเทิง คนที่ทำบุญแบบนี้แล้วมีความสุข ทำมากและถี่ก็ยิ่งมีความสุขทุกครั้ง ความสุขแบบนี้ก็ไม่ต่างกับความสุขที่ได้จากการไปเที่ยวสถานเริงรมย์นั่นแหละ เป็นใจที่เพลิดเพลินไปกับสิ่งภายนอกเหมือนฟังดนตรี ดูภาพยนตร์ หรือเที่ยวผับ ก็คล้ายกันคือเป็นความสุขชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น
คนไทยปัจจุบันนี้หลงบุญกันจังเลย เพราะคนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิด เกี่ยวกับคิดว่าการทำบุญก็คือเฉพาะการตักบาตร, การถวายทรัพย์, ปัจจัย, การถวายสังฆทาน ฯลฯ เพียงเท่านี้ เป็นต้น ยิ่งบางพุทธพาณิชย์เน้นสอนให้บริจาคทรัพย์ หรือร่วมสร้างความยิ่งใหญ่อลังการเข้าวัดจนเกินตัว มียอดบริจาคมากเท่าไหร่ถือว่ายิ่งได้บุญหนักศักดิ์ใหญ่ รวยล้นฟ้าซึ่งไร้สาระโดยสิ้นเชิง
ว่าที่จริงที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สอนไว้ถึงบุญกิริยาวัตถุมี 10 ข้อ และมีเพียงข้อแรกเพียงข้อเดียวเท่านั้นที่ต้องใช้สตางค์................
(ที่มา:มติชนรายวัน 16 ก.ค.57)
[/size]