ประมงสหรัฐฯ อ่วมคราบน้ำมันทำพิษ วันพฤหัสบดีที่ 06 พฤษภาคม 2010 เวลา 08:42 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ
อุตสาหกรรมประมงในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ป่วนหนัก หลังรัฐบาลสั่งห้ามเรือประมงในเขตพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกออกจับสัตว์น้ำอย่างน้อย 10 วัน ทำเอาตลาดอาหารทะเลและธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการประมง รวมทั้งสันทนาการทางทะเล ได้รับผลกระทบลูกโซ่กันทั่วหน้า โอบามายอมรับภัยพิบัติครั้งนี้ร้ายแรงกว่าที่เคยมีมาและอาจต้องใช้เวลาเยียวยาสภาพแวดล้อมยาวนาน
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (2 พ.ค.) รัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาได้ประกาศห้ามทำการประมงนอกชายฝั่งในอ่าวเม็กซิโกส่วนที่ได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมันที่แผ่กระจายออกมาเป็นวงกว้างจากแท่นขุดเจาะน้ำมัน "ดีพวอเตอร์ ฮอไรซัน" (Deepwater Horizon) เป็นเวลาอย่างน้อย 10 วัน เพื่อทางการจะทำการตรวจสอบอย่างละเอียดว่าคราบน้ำมันที่ปนเปื้อนอยู่ในทะเลได้ส่งผลกระทบต่อปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ในเขตดังกล่าวอย่างไรบ้าง แม้ว่าในขณะนี้จะยังไม่มีการตรวจพบการปนเปื้อนของสารพิษจากคราบน้ำมันในอาหารทะเลแต่อย่างใด
คำสั่งระงับการทำประมงซึ่งกินเวลามากกว่า 1 สัปดาห์และประกาศโดยรัฐบาลกลางในครั้งนี้มีขึ้นหลังจากรัฐบาลมลรัฐหลุยส์เซียนาได้สั่งปิดแนวชายฝั่งเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาครอบคลุมพื้นที่กว้างบริเวณชายฝั่งทางด้านเหนือของอ่าวเม็กซิโกเริ่มจากปากแม่น้ำมิสซิสซิปปีในรัฐหลุยส์เซียนาไปบรรจบชายฝั่งอ่าวเพนซาโคลาในมลรัฐฟลอริดา ทำให้อุตสาหกรรมประมงโดยเฉพาะเรือประมงจับกุ้งซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของรัฐหลุยส์เซียนา ต้องได้รับผลกระทบหนักอีกระลอกเพราะก่อนหน้านี้ไม่นานก็เพิ่งถูกจำกัดพื้นที่ห้ามจับกุ้งบริเวณฝั่งตะวันออกของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำมิสซิสซิปปีที่ได้ชื่อว่าเป็นบริเวณที่มีปริมาณกุ้งทะเลมากที่สุดบริเวณหนึ่งในสหรัฐอเมริกา สถานการณ์ดังกล่าวเชื่อว่าจะส่งผลกระทบลูกโซ่ต่อธุรกิจร้านอาหารซีฟูดซึ่งเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ในรัฐหลยุส์เซียนา และมีการจ้างงานรวม 140,000 อัตรา ทำรายได้โดยรวมปีละไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์
เจน ลุบเชนโก ผู้บริหารศูนย์อำนวยการข้อมูลด้านสมุทรศาสตร์และอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือ เอ็นโอเอเอ เปิดเผยว่า ในการพบปะกับกลุ่มชาวประมงจำนวนกว่า 100 คนในเมืองเวนิซซึ่งเป็นเมืองชายฝั่งแห่งหนึ่งของมลรัฐหลุยส์เซียนาที่อยู่ใกล้บริเวณที่แท่นขุดเจาะดีพวอเตอร์ ฮอไรซันระเบิดและจมลงมากที่สุด จึงเป็นที่คาดหมายว่าจะเป็นเมืองแรกที่ได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมันที่กำลังเคลื่อนตัวเข้าหาชายฝั่ง ทางเอ็นโอเอเอได้แจ้งกับชาวประมงว่ารัฐบาลกำลังพยายามหาจุดที่สมดุลระหว่างการให้ความคุ้มครองประชาชนผู้บริโภคในแง่ความปลอดภัยและความเสียหายทางเศรษฐกิจที่มีต่ออุตสาหกรรมประมงจากมาตรการปิดชายฝั่งดังกล่าว ในระหว่างนี้ชาวประมงที่ประสงค์จะเรียกค่าเสียหายให้ติดต่อโดยตรงไปที่บริษัทบีพีฯ (บริติช ปิโตรเลียม) ซึ่งเป็นเจ้าของแท่นขุดเจาะน้ำมันต้นเหตุ
ข่าวระบุว่า เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่แท่นขุดเจาะน้ำมันดีพวอเตอร์ ฮอไรซัน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่แท่นขุดเจาะเสียชีวิต 11 คนและเกิดเพลิงลุกไหม้ยาวนานถึง 36 ชั่วโมงก่อนจะจมลงในทะเลพร้อมทั้งมีน้ำมันดิบรั่วไหลออกมาเห็นเป็นคราบน้ำมันชัดเจนบนผิวน้ำ ทั้งนี้มีการประเมินในเบื้องต้นว่า น้ำมันดิบที่รั่วไหลออกมาปนเปื้อนในน้ำทะเลจะมีปริมาณเฉลี่ยอย่างน้อยวันละ 5,000 บาร์เรล
ด้านประธานาธิบดี บารัก โอบามา ที่ออกตรวจพื้นที่ในรัฐหลุยส์เซียนาโดยล่องไปตามแม่น้ำมิสซิสซิปปีจากเมืองนิวออร์ลีนไปยังเมืองเวนิซซึ่งอยู่ใกล้จุดเกิดเหตุมากที่สุดในช่วงสุดสัปดาห์ ยอมรับว่า สหรัฐฯกำลังเผชิญกับภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางมากและอาจจะร้ายแรงกว่าที่เคยมีมาในอดีต แต่ก็ให้คำมั่นว่ารัฐบาลจะพยายามกระทำทุกวิถีทางที่จะจำกัดขอบเขตความเสียหายทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและทางเศรษฐกิจ ผู้นำสหรัฐฯ ยังกล่าวชัดเจนด้วยว่า บริษัทบีพีฯ เจ้าของแท่นขุดเจาะ จะต้องเป็นผู้แบกรับค่าใช้จ่ายทั้งหมด "บีพีเป็นผู้รับผิดชอบการรั่วไหลครั้งนี้ ฉะนั้นบีพีจะเป็นผู้ชำระค่าเสียหาย" ประธานาธิบดีโอบามากล่าว
สิ่งที่ทางการสหรัฐฯกำลังกังวลคือวงคราบน้ำมันที่กำลังเคลื่อนที่เข้าหาชายฝั่งใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลต่อแหล่งอาศัยและแพร่พันธุ์ของสัตว์น้ำไม่ว่าจะเป็นปู หอย กุ้ง ปลา และอื่นๆ บ๊อบ เคนนี่ กัปตันเรือประมงรายหนึ่งซึ่งไม่สามารถออกเรือเนื่องจากคำสั่งห้ามดังกล่าว แสดงความเห็นว่า ทั้งรัฐบาลกลางและบริษัทบีพีฯควรจะต้องเร่งมือแก้ปัญหาให้เร็วกว่านี้ เพราะปัญหาที่เกิดจากคราบน้ำมันรั่วไหลที่แผ่กระจายอย่างกว้างขวางนั้น ไม่ต่างกับการถูกถล่มด้วยพายุเฮอร์ริเคน แคทรินาอย่างช้าๆ ซึ่งในครั้งนั้นรัฐบาลของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าตัดสินใจให้ความช่วยเหลือช้ามาก ทำให้ประชาชนเกิดความสูญเสียมากกว่าที่ควรจะเป็น "บีพีเองก็เชื่องช้า เพราะถ้าลงมือจริงก็คงทำให้น้ำมันหยุดไหลออกมาได้ตั้งนานแล้ว"
สิ่งที่บีพีกำลังเร่งมือทำอยู่ในขณะนี้ก็คือ การสร้างเครื่องมือสกัดกั้นน้ำมันลักษณะเป็นโดมขนาดใหญ่ในทะเล 3 อันด้วยกัน โดมดังกล่าวทำจากโลหะและคอนกรีตความสูง 40 ฟุต กว้างราว 24 ฟุต และมีส่วนที่ดิ่งลึกลงในทะเล 14 ฟุต มีน้ำหนักแท่งละ 74 ตัน ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า แท่งโดมสกัดกันน้ำมันที่รั่วไหลมาจากชิ้นส่วนของแท่นขุดเจาะซึ่งอยู่ใต้น้ำที่ระดับความลึกราว 5,000 ฟุต จะได้ผลหรือไม่นั้นยังเป็นเรื่องที่ไม่อาจคาดเดา แต่อุปกรณ์ลักษณะนี้ก็เคยประสบความสำเร็จมาแล้วในการแก้ไขปัญหาที่ระดับน้ำตื้นกว่านี้ สตีฟ ไรน์ฮาร์ท โฆษกของบีพีกล่าวว่า การก่อสร้างโดมแท่งแรกใกล้เสร็จแล้ว การทำงานของมันก็คือเมื่อน้ำมันไหลเข้าสู่ช่องกักเก็บของโดมก็จะถูกดูดเข้าสู่ท่อที่จะสูบน้ำมันเข้าไปเก็บไว้ในเรือบรรทุกน้ำมันที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ
ศูนย์ป้องกันภัยชายฝั่งของหลุยส์เซียนาประเมินว่า นับจากวันที่เกิดระเบิดบนแท่นขุดเจาะและมีน้ำมันดิบรั่วไหลออกมา คาดว่าปริมาณน้ำมันที่รั่วออกมาปะปนอยู่ในอ่าวเม็กซิโกขณะนี้จะอยู่ที่ราวๆ 1.6 ล้านแกลลอนเป็นอย่างน้อย หรือเทียบเท่าการเทน้ำมันเต็มสระว่ายน้ำมาตรฐานการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกจำนวน 2 สระครึ่ง ซึ่งเชื่อว่าจะมากกว่าเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในปี 2532 เมื่อเรือบรรทุกน้ำมันเอ็กซอน วอลเดซ ของบริษัท เอ็กซอนฯ จมลงในมหาสมุทรทำให้น้ำมันดิบไหลออกมาเป็นจำนวนมากจนได้รับการบันทึกไว้ว่าเป็นอุบัติภัยเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา แต่เมื่อมองจากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอ่าวเม็กซิโกเวลานี้ นักวิเคราะห์เชื่อว่าอุบัติภัยเอ็กซอน วอลเดซ เมื่อสองทศวรรษที่ผ่านมา ได้ถูกทุบสถิติลงแล้วโดยอุบัติภัยครั้งล่าสุดนี้
http://www.thannews.th.com/index.php?option=com_content&view=article&id=29800:2010-05-06-01-45-28&catid=90:2009-02-08-11-24-34&Itemid=425